เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328780 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 330  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 08:29

เคยเห็นแต่รูปผู้หญิงสมัยก่อนที่สวมงอบเวลาไปทำไร่ทำสวน คราวนี้ได้ดูรูปสวมหมวกบ้าง แปลกตาดีค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 331  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 08:37

คำพูดของจอมพล ป. คือ
"ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต่อต้าน  เพราะเราไม่มีกำลัง . . . "
และอีก ๓ วันต่อมาคือวันที่ ๑๑ ธันวาคม    จอมพลป.ก็ให้ความเห็นประวัติศาสตร์ อีกครั้งหนึ่งว่า
"..แต่ในใจของผมเห็นว่าเมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม  ๑๐๐ %  เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา . . ."

คำพูดนี้ทำให้นึกถึงคำปฏิญาณของทหารหญิงบรรทัดสุดท้ายที่ว่า

ส่วนความเสียสละเพื่อชาติ จะให้เบากว่าปุยนุ่น


แต่กรณี "แมนฮัตตัน" นี่อยู่ราว ๆ 2486 แล้วครับ คงต้องรอ คุณ Navarat.c และ อ.เพ็ญชมพู เล่าอีกสักหน่อยนะครับ  

คิดว่าคุณ samun007 อาจหมายถึงคุณเทาชมพูมากกว่า  แต่เพ็ญชมพูก็เพ็ญชมพู

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่  ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔   ผู้ก่อการกบฏที่เป็นผู้นำสำคัญ คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ นายทหารนอกราชการ อดีตผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ นาวาตรี ประกาย พุทธารี สังกัดกรมนาวิกโยธิน และนาวาตรี สุภัทร ตันตยาภรณ์ สังกัดกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นทหารชั้นผู้น้อย ส่วนผู้นำฝ่ายอื่น ๆ นั้นก็ได้รับการชักชวนจากทหารเรือที่มียศระดับกลาง ๆ โดยไม่มีการให้คำมั่นเท่าที่ควร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกบฏประสบความล้มเหลว

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เวลา ๑๕.๐๐ น. ซึ่งเป็นวันและเวลาที่ทางราชการได้กำหนดให้ประกอบพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนชื่อ แมนฮัตตัน ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้รัฐบาลไทยตามโครงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับมอบ พิธีนี้จัดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ เมื่อประกอบพิธีรับมอบเสร็จแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ได้รับเชิญไปชมเรือ ขณะนั้นเอง นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งนำโดย นาวาตรี มนัส จารุภา ได้ใช้ปืนกลจี้บังคับให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปลงเรือเปิดหัวที่เตรียมไว้ แล้วนำไปยังเรือหลวงศรีอยุธยา และคุมขังจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไว้ ณ ที่นั้น

คณะผู้ก่อการกบฏได้ประกาศยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องทำการครั้งนี้ เพราะการบริหารงานที่เหลวแหลกของรัฐบาลซึ่งใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์และกดขี่ข่มเหงราษฎร แต่ก็ยืนยันว่าจะไม่ปฏิบัติการใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากถูกโจมตีก่อน ต่อมาเมื่อถึงเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน การเจรจาตามมติคณะรัฐมนตรีไม่เป็นผลสำเร็จ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นเมื่อเวลา ๐๔.๓๐ น. ของวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๔ เริ่มจากฝ่ายรัฐบาล โดยกองทัพบกภายใต้การนำของ พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กองทัพอากาศภายใต้การบัญชาของพลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี และกำลังตำรวจโดยพลตำรวจโท เผ่า ศรียานนท์ การสู้รบแพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทหารบกเริ่มโจมตีจากด้านพระนคร กองทัพอากาศเริ่มทิ้งระเบิดที่กรมอู่ทหารเรือ และตำแหน่งคลังเชื้อเพลิง ระหว่างการสู้รบกันนั้น การเจรจาต่อรองก็ยังคงดำเนินอยู่ จนกระทั่งเวลา ๑๕.๐๐ น. เครื่องบินของกองทัพอากาศได้ทิ้งระเบิดเรือหลวงศรีอยุธยา จนกระทั่งไฟลุกไหม้และอับปางลง แต่จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับการช่วยเหลือจากทหารเรือให้ว่ายน้ำขึ้นฝั่ง ณ ที่ทำการกองทัพเรือ ฝั่งธนบุรี ได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายทหารอากาศยังคงโจมตีต่อไปจนกระทั่งเวลา ๑๗.๐๐ น. เรือหลวงคำรณสินธ์ ซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองคลังน้ำมันอยู่ที่บริเวณกรมอู่ทหารเรืออับปางลงอีกลำหนึ่ง

รายละเอียดอ่านได้จาก

กบฎแมนฮัตตัน เรียบเรียงโดย ศุภการ สิริไพศาล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
http://www.thaipoliticsgovernment.org/wiki/กบฎแมนฮัตตัน

คุณวิกกี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังเหตุการณ์ผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์ น.ต.มนัส จารุภา รน. ผู้ทำการจี้จอมพล ป. ได้หลบหนีไปพม่าได้สำเร็จ แต่ถูกจับกุมได้หลังจากลักลอบกลับเข้าประเทศเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕

http://th.wikipedia.org/wiki/กบฏแมนฮัตตัน




        
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 332  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 08:46

อีกวัธนะธัมหนึ่งที่จะแสดงความเป็นไทยก็คือการ "รำวง" ที่โปรโมทขึ้นมาแทนช่ะ ช่ะ ช่ะ อันมาจากละตินอเมริกาโน่น
กลายเป็นกิจกรรมบันเทิงประจำวันที่ขาดไม่ได้ไปทีเดียว

สมัยนี้นักเที่ยวกลางคืนอาจจะไปเข้าโอเกะ แต่สมัยโน้นต้องเข้าโรงรำวง สืบต่อมาจนผมเป็นหนุ่มเข้าไปแล้วแหละหนา นายโรงรำวงจะหาสาวๆหน้าแฉล้มมานั่งรอบห้อง ติดเบอร์ไว้ หนุ่มๆจะพากันมาเหล่ เพ่งไปในความมืดสลัวหาน้องคนไหนตรงสเป็ก ก็จำเบอร์ไว้ พอหมดเพลงนายวงเป่านกหวีดปรี๊ด ก็พุ่งตรงไปหาน้องที่เล็งไว้ โค้งพลางยื่นตั๋วที่ต้องซื้อล่วงหน้าให้เธอ ตั๋วใบหนึ่งสมัยผมวัยสะรุ่นราคา5บาทต่อ1เพลง ใครเงินหนาก็ซื้อไว้ทั้งเล่ม จะให้น้องไปทั้งเล่ม หรือลองรำสักเพลงก่อน ถูกใจแล้วค่อยให้ตอนนายวงเป่านกหวีดปรี๊ดใหม่ก็ได้
เพื่อนผมพ่อเป็นนายหัวเหมืองแร่ดีบุกที่ภูเก็ตเคยพาเพื่อนรุ่นเดียวกันไปทัศนศึกษาภาคค่ำ แล้วแสดงการรำวงแบบดาวล้อมเดือนให้เพื่อนชมเป็นขวัญตา พอเพลงที่เขารำกันอยู่จบลง เป่าปรี๊ดเสร็จ นายวงจะประกาศขออภัยแขก แล้วบอกว่าต่อไปจะเป็นรอบ"ดาวล้อมเดือน" นะคร๊าบ ทุกคน แม้จะถือตั๋วไว้เป็นกำๆแล้วก็ต้องออก ยอมให้น้องของตนไปเข้าแถวรำดาวล้อมเดือน นายหัวน้อยจะไปยืนรำตรงกลาง น้องๆทั้งโรงจะเดินรำไปรอบๆเป็นวงกลมจนหมดเพลง คนรำดาวล้อมเดือนได้ต้องขนาดหลานๆเสี่ยกิมหงวนเพราะน้องๆในร้านมีจำนวนเหยียบร้อย ผมได้แต่ยืนดูกิจกรรมพวกนี้ด้วยความประหวั่นพรั่นใจ สมัยโน้นยังไม่มีระเบิดขวดก็จริงอยู่ แต่เขาว่าขวดเบียรจะบินบ่อยเหมือนกัน เพื่อนอีกคนหนึ่งบอกว่าเพื่อนคนนั้นเขาก็ระวังตัวอยู่เหมือนกัน คืนหนึ่งๆระรำแค่รอบสองรอบก็พอ

เมืองไทยไม่ทราบว่าโรงรำวงสูญพันธุ์ไปหมดแล้วหรือยัง แต่ในเวียงจันทน์ยังมีอยู่แน่นอน ผมจะไม่บอกละว่ากิจกรรมนี้เริ่มในสมัยจอมพลป.เดี๋ยวพี่น้องลาวเข้ามาอ่านจะกล่าวหาว่าผมชาตินิยมจัด  แต่เอาเป็นว่าผมลากเรื่องกลับมาถึงที่ผมค้างไว้ คือวัธนะธัมไทยที่ไปแสดงความเป็นมหาอำนาจกับเพื่อนบ้าน

แต่ เช่นเคยครับ  ขออภัยท่านผู้อ่านที่จะค้างคราวนี้ไว้ก่อน แต่คราวหน้าถึงแน่นอนครับ
ระหว่างนี้ทำตัวตามสบายนะครับ ใครอยากจะถามอะไรก็เชิญ กูรูสีชมพูทั้งสองท่านพร้อมอยู่ที่จะตอบ (ยกเว้นเรื่องรำวงที่ภูเก็ตมั้ง)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 333  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 09:17

แถมให้อีกรูปนึงครับ ดูแล้วได้อารมณ์ไหม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 334  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 09:54

พอท่านนว เดอะ สตาร์กลับคืนมาจับไมค์  เวทีก็ครึกครื้นขึ้นมาทันตาเห็น

ก่อนจะกล่าวต่อถึงนโยบายพลิกล็อค ๑๘๐ องศา ของรัฐบาล  ขอแวะมาเรื่องวัธนธัมรำวงหน่อยค่ะ
แต่เดิมมาชาวบ้านเขาก็รำวงกันเป็น โดยไม่ต้องมีใครสอน  รำตามๆผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกันไป    แต่ว่ารำวงอย่างชาวบ้าน รัฐบาลเห็นว่ายังไม่มีวัธนธัม  ไม่ได้มาตรฐาน ท่านผู้หญิงละเอียดจึงคิด "รำวงมาตรฐาน"  ขึ้นมา ท่านแต่งเนื้อร้องเอง ให้กรมศิลปากรบรรจุทำนอง  และมีท่ารำเฉพาะเพลง ตายตัว พอขึ้นเพลงนี้ต้องรำแบบนี้  จะมารำกันตามใจชอบไม่ได้
ทั้งหมดมี ๑๐ เพลงด้วยกัน    สำนวนภาษาในนั้นก็เป็นไปตามวัธนธัมที่เฟื่องฟู เช่น ดอกไม้ของชาติ  ซึ่งหมายถึงผู้หญิง
เพลงรำวงมาตรฐานนี่แหละที่ข้าราชการต้องไปรำกัน ทุกสัปดาห์ แม้ระเบิดลงตูมๆอยู่บนหัวก็ต้องไปรำ

ส่วนรำวงที่ท่านกูรูใหญ่กว่า ท่านเอ่ยถึง    ถึงไม่เคยไปรำที่ภูเก็ต แต่ทำไมจะไม่รู้จัก    เขาเรียกรำวง "ปี๊ดละบาท" คำนี้รุ่นพี่คนหนึ่งแกเป็นคนเอ่ยขึ้นมาให้ฟัง   ก็เลยจำได้จนบัดนี้
โดยส่วนตัวแล้วดิฉันเป็นคนรำวงไม่เป็น  ที่รำไม่เป็นเพราะครูไม่เคยสอน  ร.ร.ไม่มีวิชานี้อยู่ในหลักสูตร  เพื่อนคนไหนรำเป็น แปลว่าไปเรียนเอาเอง หรือไม่ครูก็จับไปฝึกเป็นพิเศษ ก่อนออกรำในงานละครโรงเรียน
พอโตขึ้นไปเรียนไกลถิ่น  ถึงได้รู้ว่ารำวงเป็นภาคบังคับในงาน Thai Night ของนักเรียนไทย    ในเมื่อนักเรียนไทยมีอยู่น้อยคน   ก็ต้องถูกประธานกวาดต้อนมารำทั้งหมด รำไม่เป็นก็ต้องเป็น  เพราะว่าหลังจากดิสโก้กันแล้ว จะมีฉ็อทสำคัญ  คือพวกเราจะต้องเชิญคณาจารย์ฝรั่งที่มาร่วมงาน  ออกไปรำวงด้วยกัน
อาจารย์ฝรั่งคนไหนคนนั้น ไม่ว่าจะเคยมาเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม  ชอบรำวงเหลือเกิน    พวกเราก็ต้องไปโค้งอาจารย์  พวกผู้หญิงก็เชิญอาจารย์ชาย  พวกผู้ชายเชิญภรรยาอาจารย์ ออกมารำวง  เริ่มด้วยลอยกระทง ต่อด้วยรำวงมาตรฐาน
พอครบ ๑ รอบก็หยุด  อาจารย์ก็ซับเหงื่อกลับไปนั่งที่  ถ้ายังสนุก ไม่ยอมเลิกก็ต่อรอบสองรอบสาม
ตอนนี้ละ พี่คนนั้นแกยืนดูอยู่ ก็เปรยขึ้นมาว่า 
" นี่มันรำวงปี๊ดละบาทนี่หว่า"
พอคุณนวรัตนเล่า  ดิฉันเลยเห็นภาพชัดเจนค่ะ
************************
เรื่องหมวกเป็นเรื่องเล่ากันได้ไม่เลิก     ชาวบ้านบางคนทั้งบ้านมีหมวกใบเดียว เป็นหมวกกะโล่สมัยพ่อ    พอจะไปติดต่อที่อำเภอ   ตาผัวก็สวมหมวกกะโล่ไป    ยายเมียจะต้องออกจากบ้านบ้าง ก็เอาหมวกกะโล่ใบนั้นแหละมาใส่
ราชการเขาไม่เกี่ยงว่าหมวกแบบไหน  ขอให้มีแปะอยู่บนหัวให้ถูกมาตรฐาน ก็ถือว่าใช้ได้
เป็นอันว่า ตากับยายแกออกจากบ้านพร้อมกันไม่ได้  เพราะหมวกเป็นเหตุ

ส่วนเรื่องให้สามีจูบภรรยาก่อนไปทำงาน   ข้อนี้ไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย  แต่ดูเหมือนจะเป็นคำแนะนำให้ปฏิบัติ     ราชการก็คงเขินๆอยู่บ้างถ้าจะไปสอดส่องกันถึงขนาดนั้น
นี่ค่ะ หมวกกะโล่


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 335  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:09

สาวรำวง

อายุสิบห้าได้มาเป็นสาวรำวง
มาใส่กระโปรงวับวับ แวมแวม
ไฟสลัวมัวเหมือนคืนเดือนแรม
อร้าอะแหร่มอยู่บนฟลอร์เต้นรำ
เราเกิดมาเป็นคนต้อยต่ำ
กระด่างกระดำดั่งเม็ดดินเม็ดทราย

สาวน้อยใจกล้าต้องมาเป็นสาวรำวง
นั่งตีคิ้วโก่งรอบัตรโค้งจากชาย
ปากพูดจาขออย่ามากล้ำกราย
นิดเดียวพอได้ อย่ามากไปนะพี่จ๋า
โปรดมองฉันเป็นแค่เพียงอาหารตา
เห็นใจเถิดหนาคู่ขาเต้นรำวง

มีผู้เฒ่ากำลังเฝ้ารอ
ทั้งแม่และพ่อคอยเฝ้ารอใจบุญหนุนส่ง
จึงปล่อยลูกสาวที่รักมาเป็นสาวรำวง
จึงปล่อยลูกสาวที่รักมาเป็นสาวรำวง
ก็คงเข้าใจแล้วว่าไยสาวใจกล้ากระโดดขึ้นบนเวที

กฐินผ้าป่าทั้งงานวัดงานโยม
มาแอ่วมาห้อมมาเต้นฟ้อนรำวง
หนุ่มใหญ่หนุ่มน้อยเข้ามาโค้งนวลอนงค์
สามช่ารำวงตะบึงห้อจนเหงื่อไหล
แต่งสีสันชีวิตชีวาคนบ้านไพร
ชาวนาชาวไร่เป็นสุขใจในงานบุญ


ท้องฟ้าสว่าง ยามรุ่งอรุโณทัย
เราเริ่มต้นใหม่ยามเมื่อฟ้าราตรี
เปลี่ยนเวียนไปรักน้ำใจไมตรี
ร้อยวันพันปีรับไมตรีอยู่เสมอ
จากคืนนี้คงต้องมีวันพบเจอ
แล้วใครที่เหม่อ คราวโบกมืออำลา

เพลงนี้ให้ภาพ "รำวง" ระดับ "รากหญ้า" ได้ดีแท้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 336  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:19

เอาภาพเคลื่อนไหวมาเสริมคุณเพ็ญชมพู   บรรยากาศอาจจะคล้ายๆโรงรำวงที่คุณนวรัตนไปยืนดูอยู่บ้าง  ฉากหนึ่ง  มีดาวล้อมเดือนด้วย



ขอดักคอไว้ก่อนว่า ปี๊ดละบาท ของดิฉันไม่ได้แต่งตัวอย่างนี้หรอกนะคะ  ยังน้อยหน้าสาวน้อยในวิดีโออยู่มาก  
แฟชั่นในยุค 70s เป็นชุดราตรียาวลากพื้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 337  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:27

ถ้าต้นฉบับต้อง อ้อย  (วง)กระท้อน



 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 338  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 10:47

อ้าว มาอีกที อาจารย์ออกไปรำวงกันยกห้องแล้ว สนุกดีค่ะ   ยิ้มกว้างๆ

สมัยเด็กๆ อยู่ต่างจังหวัด ก็เคยเห็นเวทีรำวงอย่างที่อาจารย์เล่าให้ฟังนะคะ แต่ไม่เคยได้ไปดู
พ่อกับแม่ไม่ให้ลูกออกจากบ้านตอนกลางคืน เพราะแถวบ้านเคยเป็นเขตพื้นที่แดงน่ะค่ะ (คนละแดงกับสมัยนี้เหมือนกันค่ะ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 339  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 11:50

แวะรำวงกันพอหอมปากหอมคอแล้ว    จึงขอกลับมาที่การประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง
จากรายงานการประชุม  จอมพล ป. เป็นคนตัดสินใจว่า ขอสั่งให้หยุดยิง "เพราะสู้ไปก็แหลก"  นี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมทหารบางส่วนยกพลออกมาแล้ว มีคำสั่งให้ถอยกลับฐานอย่างกะทันหัน จนงงงวยกันไปหมด
จอมพล ป. บอกที่ประชุมเองว่า ได้ติดต่อกับญี่ปุ่่นมานานแล้ว   เรื่องรบไม่รบก็เคยต่อรองกันมา   ทางญี่ปุ่่นถาม   แบ่งได้เป็น ๓ ข้อ
๑  จะเข้าร่วมเป็นฝ่ายเดียวกันไหม
๒  ถ้าไม่ร่วม  ก็คือต้องรบกัน
๓  ทำเฉยๆ ไม่รู้ไม่ชี้
ยังไม่ได้ตกลงทำทั้ง ๓ ข้อ ญี่ปุ่นก็บุกสายฟ้าแลบ   พร้อมกับข้อเสนอชนิดเหล็กแป๊บน้ำหุ้มกำมะหยี่ ว่าแค่ขอผ่านเฉยๆ ไม่ทำร้ายเมืองไทยอย่างที่ทำกับอินโดจีน    จอมพล ป. ท่านก็ยอมประนีประนอมด้วย
ทีนี้ มีข้อน่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือ ญี่ปุ่นขอมาขั้นเดียวว่า แค่ผ่านประเทศไทย  คือเอาประเทศไทยเป็นทางผ่าน( passage ) แต่คณะรัฐมนตรีพูดกันไปมา กลายเป็นว่านอกจากเป็น passage แล้ว  ไทยคำนึงว่าจะเข้าไปร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นด้วย เป็นขั้นที่ ๒   ข้อนี้นายปรีดีเตือนว่า ให้หยุดแค่ขั้นที่ ๑  

เมื่ออ่านรายงานการประชุม  ดิฉันก็คิดอะไรบางอย่างขึ้นมา   อาจเป็นความคิดที่ผิดก็ได้  ขอเชิญท่านที่รู้ดีกว่ามาแย้ง  จะไม่ว่ากันเลย
คือก่อนอื่น ดิฉันสงสัยว่าการประนีประนอมกับญี่ปุ่นนี้น่าจะมีการตัดสินใจกันล่วงหน้าแล้วอย่างเงียบๆ   แต่จะล่วงหน้านานเท่าไรไม่รู้   อาจจะล่วงหน้าเป็นเดือนๆ หรือแค่ ๒-๓ ช.ม. ก็ได้
จากคำพูดของผู้เข้าประชุมหลายท่าน ไม่ใช่พล ต.ต. อดุลท่านเดียว   ดูเป็นปี่เป็นขลุ่ยสอดคล้องกันว่า  สู้ไม่ไหวแน่  ยอมดีกว่า    ประนีประนอมกับเขายังมีทางรอด
ดิฉันเป็นข้าราชการมาก่อน  พอจะรู้ว่าในการประชุมใหญ่ที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆนั้น   เขาล็อบบี้กันล่วงหน้าทั้งนั้น   เช่นจะเลือกใครลงตำแหน่งไหน รู้กันมาก่อนแล้ว  เผลอๆก็นับคะแนนโหวตกันก่อนแล้วด้วยซ้ำ    การประชุมนั้นคือแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง  ทำทีอภิปรายกันหอมปากหอมคอแล้วก็โหวตอย่างที่รู้ๆกันล่วงหน้าน่ะแหละ  ใครเดินเข้าไปมือเปล่าไม่รู้จักล็อบบี้  ถือว่าชั้นเชิงของการบริหารยังอ่อนมาก

ข้อสองคือ  การประนีประนอมกับญี่ปุ่น ผลดีตกกับใคร
อย่างแรกคือก็ดีที่ว่าประชาชนไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ   ไม่ต้องยับเยินในหลายพื้นที่อย่างที่ประเทศอื่นเจอมาแล้วจากญี่ปุ่น  แต่เราก็อย่าลืมว่า การที่ดินแดนหนึ่งจะเสียท่าญี่ปุ่น ไม่อาจเหมารวมว่าดินแดนอีกแห่งจะต้องแพ้แบบเดียวกัน     คนไทยอาจมีวิธีการต่อสู้แบบค่ายบางระจัน หรือศึกถลาง ยันข้าศึกเอาไว้ก็ได้  จนกว่าจะถอยไปเอง  
แต่ค.ร.ม. ดูจะปิดประตูชนะเอาไว้เลย    เชื่อมั่นว่าสู้ไม่ไหวลูกเดียว
อย่างที่สอง   ถ้ามีการสู้รบแบบแรก   พล ต.ต.อดุลบอกว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะต้องกลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น    ญี่ปุ่นก็จะตั้งรัฐบาลในคอนโทรลขึ้นมา   (ข้อนี้เห็นชัดตามที่เยอรมันทำกับฝรั่งเศส)    รัฐบาลพลัดถิ่นคงเสียเปรียบ สู้ไม่ไหว   ถ้าประนีประนอม ญี่ปุ่นก็จะไม่ตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมา
ข้อนี้แหละที่น่าคิด   ทำให้สงสัยเรื่อยเปื่อยต่อไปว่า การเจรจาก่อนหน้านี้น่าจะมีข้อนี้อยู่หรือเปล่า     คือถ้าท่านร่วมมือกับฉัน  ท่านก็นั่งเก้าอี้ต่อไปตามเดิม ไม่กระทบกระเทือน

ถ้าญาติผู้ใหญ่ของพ่อดอกมะลิทำอย่างนี้จริงๆ ก็ถือว่าชั้นเชิงการทูตเขามืออาชีพเลยเชียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 340  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 13:25

การที่ญี่ปุ่นบอกว่า "ขอใช้ไทยเป็นทางผ่าน" นั้น   ก็น่าคำนึงว่าผ่านแบบไหน เส้นทางไหน  เพราะประเทศไทยกว้างขวาง มีทั้งเหนือใต้ออกตก   ถ้าญี่ปุ่นต้องการผ่านไปพม่ากับอินเดีย   อาจยกพลขึ้นมาทางใต้แล้วเฉียงไปทางตะวันตก   ไม่ต้องเข้ามาทางตะวันออก  และไม่ต้องผ่านกรุงเทพเลยก็ได้
แต่คำขอของญี่ปุ่นคือ "ขอทั่วๆไป"  เพราะต้องการเสบียงและที่อยู่ของทหารญี่ปุ่น      แม้ออกตัวว่าไม่มีเจตนาจะเข้ามาในเมืองหลวง แต่ก็ต้องเข้ามาเพราะต้องการใช้สถานีรถไฟ  และสนามบินดอนเมือง  ก็ต้องการเอาไว้ขึ้นลงเครื่องบินรบ  เผื่ออังกฤษใช้สนามบินร่างกุ้งส่งเครื่องบินมาถล่ม

จอมพล ป.สรุปท้ายการประชุมว่า
"บอกว่าเราพยายามต่อสู้แล้ว    ในที่สุดทางญี่ปุ่นก็ได้มาเจรจาขออย่างนี้ๆ    และเราเห็นว่าการที่จะต่อสู้ต่อไปนั้นก็เป็นการเปลืองชีวิตผู้คนและทรัพย์สมบัติ    เราจึงได้ตกลงผ่อนผันกับเขา     และในที่สุดท้ายก็ขอให้ประชาชนพลเมืองจงเชื่อฟังรัฐบาลต่อไปเถิด"
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 341  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 13:27

ขอเสวนากรณีการตัดสินใจของท่านผู้นำครับ ออกตัวก่อนว่าไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะครับ แค่คนเคยอ่านหนังสือเจอเท่านั้น

ในมุมมองผม คิดว่ามีข้อเสนอจากญี่ปุ่นมานานแล้ว แต่ท่านผู้นำอาจจะรับข้อเสนอแล้วก็สร้างละครฉากหนึ่งขึ้นมา หรือ อาจจะไม่ตกลง(ดึงเกมไว้ก่อน) แล้วรอดูผลงานของทหารไทยก่อนก็ได้  ผลประโยชน์น่าจะตกกับท่านผู้นำครับเพราะ

๑.. การหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในช่วงก่อนหน้าญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกเป็นระยะเวลา ๒ วัน โดยอ้างว่าไปราชการที่อรัญประเทศนั้น ที่อรัญประเทศในช่วงนั้นไม่มีอะไรที่จะต้องห่วง เพราะฝรั่งเศสก็ยอมแพ้ไปแล้ว ถึงจะไม่ยอมแพ้ก็ทำอะไรไม่ได้ญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่แล้ว

๒.. ต่อจากข้อแรก เมื่อทหารญี่ปุ่นเดินกันขวักไขว่ ถ้าอดีตท่านผู้นำไปราชการแถวอรัญฯ จริงตามที่บอกไว้ มันก็น่าสงสัยเข้าไปอีก เพราะ.... แค่เดินข้ามฝั่งไป ก็จะถึงแดนเขมรที่ญี่ปุ่นอยู่กันพรึ่บพรับแล้ว.... สมัยก่อนไม่มีคาสิโน ก็เลยยังไม่น่าจะไปเล่นพนันได้...(ฮา)

๓..พอญี่ปุ่นยกพลบุกขึ้นมาแล้วปะทะกับคุณปู่ คุณลุงทหารหาญและยุวชนทหารแล้ว สถานการณ์ไม่สู้ดี...จู่ ๆ ... ท่านผู้นำก็โผล่มาซะงั้น !!!!! พร้อมกับบอกขอยอมแพ้

ถ้าเป็นละคร ผมว่าท่านอดีตผู้นำควรจะต้องได้อย่างน้อย รางวัลผู้เขียนบทภาพยนต์ยอดเยี่ยม.... เพราะ
สามารถเขียนเนื้อหาของเรื่องให้มีตอนจบได้หลากหลายมาก ๆ ดังเช่น

- กรณีญี่ปุ่นรบชนะ ท่านจอมพลก็จะอ้างได้ว่า เราสู้เต็มที่แล้วแต่ไม่ไหว ยอมแพ้เขาดีกว่า อย่าให้เสียเลือดไปมากกว่านี้เลย...

- กรณีเกิดฟลุ๊ค(ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ)  คือ ทหารไทยยันญี่ปุ่นไว้ได้นานจนมหาอำนาจอื่น ๆ ส่งความช่วยเหลือมาให้  หรืออาจจะเป็นจีนต่อกรกับญี่ปุ่นได้อย่างถึงพริกถึงขิง จนทำให้ญี่ปุ่นต้องรามือจากสมรภูมิืด้านนี้แล้วไปทุ่มใส่แผ่นดินใหญ่แทน  กรณีนี้ ท่านผู้นำจะได้รับรางวัลเสริมคือ ดารานำชายยอดเยี่ยมด้วยครับ เป็นยิ่งกว่า IRON MAN + SUPER MAN เสียอีก.....


เมื่อดีดลูกคิดรางแก้วแล้ว ไม่มีอะไรต้องเสียสำหรับท่านผู้นำ(ยกเว้นชีวิตทหารและพลเรือน)  ก็เล่นตามเกมอำนาจนี้ดีกว่า............






บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 342  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 13:34

ยิ่งถ้าดูผลงานเก่า ๆ ในอดีต ตั้งแต่ความคิดเห็นเรื่อง "ให้ยิงชรับเนลใส่ฝูงชนที่ต่อต้าน" , "การขอเวนคืนที่ดินของท่านเจ้าคุณพหลฯ " ฯลฯ

ผมเชื่อครับว่า ไม่มีอะไรใต้ดวงอาทิตย์นี้ ที่ท่านผู้นำจะทำ(เพื่อตัวเอง)ไม่ได้... ๕๕๕๕ (ขอยืมสำนวนของ อดีตลูกน้องท่านผู้นำมาใช้ประกอบนะครับ ผมว่ามันตรงตัวดี)

ป.ล. ชรับเนล คือ กระสุนปืนใหญ่แตกอากาศครับ ท่านใดงงว่า ข้อความประโยคนี้มาจากไหน ขอให้ย้อนกลับไปดูหน้าแรก ๆ ของกระทู้นี้ครับ คุณ NAVARAT.C ท่านเขียนไว้แล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 343  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 14:00

ขอบคุณคุณสมัน 007 มาทำให้ค.ห.ดิฉันออกรสชาติขึ้นเยอะเชียวค่ะ  
เล่าต่อนะคะ
มติค.ร.ม. ที่ให้ประนีประนอมยอมญี่ปุ่นโดยดีนั้น  ทำให้นายดิเรก ชัยนาม รมว.ต่างประเทศ ต้องไปรับหน้าเอกอัครราชทูตอังกฤษที่พอรู้ก็ถามตรงๆว่าจะทำยังไงกับอังกฤษ    ถ้าไทยไปยอมญี่ปุ่นก็เท่ากับเป็นฝ่ายญี่ปุ่น   กลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับอังกฤษซึ่งเคยเป็นมิตรดีกันมาก่อน    สถานทูตอังกฤษในไทยก็มี   ฝรั่งอังกฤษมาทำงานในไทยก็มากพอดู
ท่านทูตอังกฤษแสดงชั้นเชิงนุ่มนวลในยามคับขัน   ยื่นข้อเสนอว่าถ้าไปยูเป็นพวกญี่ปุ่นก็ไม่ว่าอะไรหรอก   แต่ไอห่วงความปลอดภัยของคนของไอ   ยังไงก็ขอรถขนส่งคนอังกฤษในไทยออกไปให้พ้นเขตแดนได้ไหม  
นอกจากนี้ อีก ๒-๓ วัน อเมริกากับอังกฤษจะไปบอมป์โตเกียวแล้ว     ถ้าอังกฤษจะยกพลมาปะทะกับญี่ปุ่นในตอนใต้ของไทย  ทหารไทยจะยิงอังกฤษไหม
นายดิเรกก็รับรองว่า รัฐบาลไทยสังทหารหยุดยิงเด็ดขาดแล้ว   ไม่ว่าเจอใคร ก็ไม่ยิงทั้งนั้น

ท่านทูตก็ฝากหลังมือมาเบาะๆในตอนท้าย ว่า เท่าที่รัฐบาลเซ็นข้อตกลงให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยได้นั้น  ทางอังกฤษไม่ว่าอะไร   เพราะถ้าญี่ปุ่นรักษาข้อตกลงไว้ได้ว่าทำแค่นี้ก็แค่นี้  ก็ดี  ขออวยชัยให้พรด้วย   แต่ท่านทูตสงสัยว่า "อีก ๒-๓ วัน เขาจะมีมาอย่างอื่นอีก"
ถอดรหัสออกมาว่า ท่านทูตอังกฤษน่าจะดูรัฐบาลไทยออกทะลุปรุโปร่งว่า  คงไม่หยุดไมตรีกับญี่ปุ่นอยู่แค่นี้ ญี่ปุ่นเองก็คงไม่หยุดแค่นี้เช่นกัน    แต่จะบอกตรงๆก็เสียมารยาท  เลยแค่ดักคอไว้แบบไก่เห็นตีนงู

เท่าที่ฟังคำพูดของนายดิเรก   เห็นว่าท่านก็พยายามสุดความสามารถจะให้เห็นว่าไทยอยู่ในภาวะจำยอม   ไม่อยากเป็นศัตรูไม่ว่าฝ่ายไหน    ก็อะลุ้มอล่วยกันมากที่สุดเท่าที่จะให้กันได้
นายดิเรกพาคำเจรจากับทูตอังกฤษกลับมาบอก ค.ร.ม.   คำตอบของ พลต.ต. อดุล ทำให้ดิฉันเห็นว่าท่านทูตนี่ดูออกใสแหนวเชียวว่าใจรัฐบาลไทยไปทางไหนแล้วเต็มตัว
"  ตามหลักที่ผมทำ   ไม่ว่าใครจะเข้ามาทั้งนั้น   ผมสั่งแล้วว่าให้ยิง    ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นเข้ามาเราก็ได้ยิงแล้วเหมือนกัน    แต่เวลานี้เราได้ตกลงกับญี่ปุ่นแล้วให้หยุดยิง    แต่ส่วนทางอังกฤษนั้นเราไม่มีข้อตกลงอะไร   แต่เขาเข้ามาแล้วเราก็ต้องยิง"
นายดิเรกตอบว่า " ผมได้ตอบไปว่า เข้าใจว่าจะไม่มีการยิง"

ถ้าดิฉันเป็นรมว.ต่างประเทศ ก็คงอยากจะเป็นลม   เพราะอุตส่าห์ไปผ่อนสั้นผ่อนยาวกับอังกฤษเอาไว้ ไม่อยากให้ระคายเคือง   พอกลับมารายงาน   รัฐมนตรีด้วยกันบอกเฉยเลย  ว่าจะรบกับอังกฤษ   ถ้าอังกฤษบุกเข้ามาละก็
ดิฉันอ่านรายงานต่อ ค้นหาว่ารัฐบาลตัดสินยังไงในเรื่องนี้   ประนีประนอมกับญี่ปุ่นก็เรื่องใหญ่มากแล้ว    นี่ไม่ทันไร  จะกลายเป็นศัตรูเต็มตัวกับอังกฤษ  ซึ่งไม่เคยมีปัญหาอะไรกันอีกหรือ
แต่..เปล่า ไม่เห็นท่านนายก ป. ตัดสินอะไรเรื่องนี้  กลับเปลี่ยนเรื่องไปพูดเรื่องอพยพกันดีหรือไม่ดี    ในที่สุด  แย้งกันไปมาคนละคำสองคำ  ก็สรุปว่าไม่ย้าย  จบประชุม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 344  เมื่อ 09 ก.ค. 10, 18:14

การเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นนี้เคยได้ฟังพันตรีวิลาศ  โอสถานนท์ ท่านพูดหลังอาหารในที่ชุมนุมผู้สูงอายุรุ่นราวคราวเดียวกับท่าน  สมาชิกรุ่นเด็กที่เคยไปร่วมการชุมนุมนั้นบ่อยๆ ก็เห็นจะมีคุณพี่นวรัตน  กับตัวกระผมที่เป็นเด็กที่สุด

พันตรีวิลาศท่านเล่าว่า ท่านจอมพลท่านทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ญี่ปุ่นจะบุก จึงได้มอบหมายให้คุณวิลาศซึ่งเวลานั้นเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการไปเจรจาซื้อน้ำมันที่สิงคโปร์  แต่วัตถุประสงค์แท้จริงคือ ให้ไปถามรัฐบาลอังกฤษที่สิงคโปรฺว่า หากญี่ปุ่นบุก  อังกฤษยังคงยืนยันที่จะส่งทหารขึ้นมาช่วยตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาลับตั้งแต่ครั้งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ เสด็จยุโรปครั้งแรก  อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยเราไม่มีกองทหารอยู่ในคาบสมุทรมลายูเลย  ทางอังกฤษรับปากรับคำเป็นอย่างดี  เมื่อญี่ปุ่นขึ้นท่านจอมพลจึงหายตัวไปเพื่อรอดูเหตุการณ์ว่า อังกฤษจะส่งทหารขึ้นมาช่วยรบหรือไม่  เมื่อทราบแน่ชัดว่า ไม่มีทหารอังกฤษมาแน่แล้วท่านจอมพลจึงได้เรียกประชุม ค.ร.ม.  เวลานั่งประชุมนั้นคุณวิลาศท่านเล่าว่า จอมพลท่านเอาแส้มาที่ถือติดมือมานั้นเคาะลองเท้าบูทของท่านเป็นจังหวะ  แล้วถาม ค.ร.ม.เรียงตัวทีละคนว่าจะยอมให้ญี่ปุ่นผ่านหรือไม่  ในตอนนี้สาวกหลวงประดิษฐ์ฯ ท่านบันทึกไว้ว่า มีหลวงประดิษฐ์เพียงท่านเดียวใน ค.ร.ม.ที่คัดค้านไม่ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน  แต่คุณวิลาศท่านยืนยันว่า วันนั้นหลวงประดิษฐ์ก็ได้ออกเสียงให้ยอมให้ญี่ปุ่นผ่าน  เรื่องนี้ดูจะตรงกับรายงานการประชุมที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวถึงข้างต้น
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ก.ค. 10, 18:56 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 21 22 [23] 24 25 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 2.432 วินาที กับ 19 คำสั่ง