เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329658 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:44

อย่างไรก็ดี  ในคณะรัฐบาลชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร(นายกรัฐมนตรีที่เรียกตามศัพท์ของหลวงประดิษฐ์) คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร นอกนั้นเป็นบุคคลภายนอกผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อประชุมสภาครั้งแรก ในวาระ2นั้น พระยาพหลได้แถลงต่อที่ประชุมดังนี้ “…บัดนี้มีรัฐธรรมนูญและสภาผู้แทนราษฎรขึ้นสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าขอมอบอำนาจผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารให้แก่สภาฯแต่บัดนี้…”

แม้จะฟังดูดี แต่นั่นก็เป็นเพียงพิธีการ สภานั้นก็คือพวกของคณะราษฎรนั่นเอง ความเป็นจริงก่อนหน้านั้นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เกิดรายการวิ่งเต้นกันตีนขวิดในระหว่างพวกผู้ก่อการ ต่างคนก็ต่างมีลูกสมุนจะต้องขุนเลี้ยง เมื่อตำแหน่งในสภาหมดก็เอาตำแหน่งราชการที่หาเรื่องไล่คนของพวกเจ้าออกไป ให้คนของตนเข้าเสียบแทน พวกที่หางานหลักให้ยังไม่ได้ก็มอบงานเฉพาะกิจให้กินไปพลางๆก่อน ที่ชอบกันมากคืองานเป็นสายลับให้ตำรวจ แต่ที่โด่งดังที่สุดคืองานของหน่วยโฆษณา มีหน้าที่ออกไปชี้แจงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้แก่ข้าราชการและประชาชนในท้องที่ต่างๆ เมื่อไม่ใช้มืออาชีพแต่ใช้คนแบบต่างตอบแทน พวกนี้พอถูกซักถามหนักๆเข้าตัวเองก็ตอบไม่ได้ เลยออกแนวตีรวนสร้างความหมั่นไส้พวกคณะราษฎร์ขึ้นแทนที่จะเป็นศรัทธา บางรายจบด้วยการตบโต๊ะ  แล้วประกาศกึกก้องว่า ถ้าผู้ใดยังไม่เข้าใจสงสัยก็ให้ถามปืนกระบอกนี้ดู กว่าผู้ก่อการจะรู้เรื่องและเลิกโครงการนี้ไป ความดีที่พอจะมีอยู่บ้างก็ตกหล่นไปเยอะ เป็นที่รู้กันว่า พวกสาวกของคณะผู้ก่อการสายพลเรือนนั้นแสบมาก ชอบนั่งรถตระเวนกรุงควงปืนแสดงความยิ่งใหญ่ พูดจากร้าวร้าวเอะอะโวยวายกับคนทั่วไป  


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:55

อ้างถึง
พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนิ่มนวลปราศจากการขัดแย้งนองเลือด

มีคำถามนี้อยู่ในใจเหมือนกันว่า  ถ้าเรามีประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่นเดียวกับเลิกทาส   ก็จะไม่เสียเลือดเนื้อ    และคงไม่ล้มลุกคลุกคลานต่อมาอีกหลายสิบปี
แม้แต่วันนี้ก็เถิด   เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ ก็ยังมีการเรียกร้องประชาธิปไตยแบบตามใจฉัน   และจบลงด้วยการเสียเลือดเนื้อและเศรษฐกิจพังพินาศ   จนเกิดคำถามกับตัวเอง  ว่าเราเคยมีประชาธิปไตยกันจริงๆด้วยหรือ   หรือมีแต่ระบอบรัฐสภาที่เลือกตั้งกันเข้ามาด้วยวิธีการสารพัดรูปแบบ   จนกลายเป็นธุรกิจการเมือง
เดี๋ยวจะออกนอกเรื่อง กลับมาที่ปี ๒๔๗๕ ดีกว่าค่ะ

การเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดิฉันมองว่าในช่วงเวลานั้น  ฝ่ายคัดค้าน หรือมีอำนาจคานกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นไม่มี    ความตึงเครียดกับวังหน้า หรืออำนาจของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็จบสิ้นไปแล้ว   ผู้บริหารงานแผ่นดินก็เป็นพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหลาย ที่พร้อมจะสนองพระบรมราโชบายไปในทางเดียวกัน  พระบารมีจึงแผ่ไพศาล
ในเมื่อทรงเลิกทาสอย่างนิ่มนวล  ไม่หักหาญน้ำใจ  คนจะหือจะโวยก็เลยไม่มี  ขุนนางคนไหนพอใจบ้าง  คนไหนไม่พอใจบ้างก็ย่อมสงบเสงี่ยมตามที่ตามทาง   ไม่มีผลกระทบอะไรในวงกว้าง
แต่ในรัชกาลที่ ๗  แค่อ่านพระนิพนธ์บันทึกของท่านหญิงพูนฯ เล่มเดียวก็รู้สึกว่าข้างในราชสำนักนั้นปั่นป่วนไม่ใช่เล่น     ทำนองสนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อในตน    
บุคคลสำคัญที่บริหารงานแผ่นดินเป็นพระหัตถ์ขวาของรัชกาลที่ ๕ อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ดูเหมือนว่าจะไร้สิทธิ์และเสียงเท่ากับอีกพระองค์หนึ่ง ที่เป็นจุดจุดจุดจุดอยู่ในหนังสือ    แล้วพระองค์นั้นก็ไม่ทรงป๊อบปูล่าเอาเสียเลย    
ข้อนี้ก็อาจเป็นการบั่นทอนพระบารมีสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงไปไม่มากก็น้อย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:58

พระยาทรงเองก็ไม่เบา แม้จะไม่เล่นการเมือง แต่ในฐานะนักวิชาการทหาร คงอยากทำโครงการเปลี่ยนแปลงกองทัพบกสยามโดยจะปรับปรุงโครงสร้างให้เล็กลง ยกเลิกยศนายพล เหลือยศสูงสุดแค่พันเอกเหมือนสวิตเซอร์แลนด์มานานแล้ว แต่ไม่มีโอกาส ก่อนปฏิวัติแย้มขึ้นมาทีนึงก็ทะเลาะกับหลวงพิบูล จนฝ่ายหลังประท้วงด้วยการวอร์คเอ้าท์กลับบ้านไปเฉยๆก็ทีนึง ต่อมาปรับความเข้าใจกันนึกว่าจะไม่เอาอีก ที่ไหนได้พอปฏิวัติเสร็จก็รีบดำเนินการในระหว่างที่ตนมีอำนาจเต็มที่ คงกลัวว่าถ้าใจเย็นไปอาจจะไม่ทันการ รายละเอียดนอกจากที่คุณวีมีของผมจะสาธยายไปแล้ว ยังแหวกแนวด้วยการตั้งคณะกรรมการเลือกผู้บังคับบัญชาขึ้น วงการทหารก็ปั่นป่วน ถูกกล่าวหาเป็นการทำลายจิตใจ และระเบียบการปกครองของทหารอย่างยิ่ง ที่เลวร้ายที่สุดคือการสั่งการโยกย้ายหน่วยทหารอย่างสายฟ้าแลบ เมื่อเข้าไปในกองทัพก็สั่งให้เป่าแตรเรียกแถว แล้วออกเดินทางไปต่างจังหวัดโดยทันที ครอบครัวนายสิบให้ติดตามกันไปเองทีหลัง เรื่องนี้ทำให้หลวงพิบูลของขึ้นมาก สงสัยลูกน้องตนคงโดนเข้าไปด้วยหลายคน เพื่อนฝูงต้องคอยดึงไว้ให้ใจเย็นๆ  พระยาทรงทำอย่างนี้ไปแล้วก็ระวังตัวเต็มที่ สั่งตั้งบังเกอร์รังปืนกลล้อมรอบวังปารุสก์ฯที่ทำงานของตนอย่างแน่นหนา

ความวุ่นวายไปหมดทุกวงการทหาร ตำรวจ พลเรือนเช่นนี้ ทุกคนก็ย่อมจะเห็นได้ แต่ขณะนั้นแล้ว ใครจะกล้าพูดกล้าวิจารณ์อย่างไร เห็นจะมีก็แต่ในนวนิยาย  เมื่อรุ้ง จิตเกษมได้ขึ้นเวทีอภิปรายต่อต้านคณะราษฎร์ว่า “…ท่านสุภาพบุรุษผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าซื่อสัตย์สุจริตและมีเกียรติยศ แต่ท่านได้เอาความยุ่งเหยิงมาสถิตแทนความมีระเบียบ เอาความแตกก๊กแตกเหล่ามาแทนความสามัคคี การรักษาตัวให้ปลอดภัยโดยตั้งป้อมค่ายขึ้นที่วังปารุสกวัน โดยจัดตำรวจลับออกลาดตระเวนจับคนที่ไม่ยอมเป็นพวกพ้อง โดยโยกย้ายนายทหารจัดรูปกองทัพสำหรับปราบจลาจล โดยบรรจุคนของตนเข้าดำรงตำแหน่งชั้นหัวหน้าอย่างไม่คำนึงถึงวุฒิความสามารถ…” ขนาดเป็นนวนิยาย นายรุ้งก็ถูกตำรวจลับจดบันทึกรายงานไปยังกรม เป็นเหตุให้ถูกติดคุกอยู่ดี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 15:02

อ้างถึง
บุคคลสำคัญที่บริหารงานแผ่นดินเป็นพระหัตถ์ขวาของรัชกาลที่ ๕ อย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็ดูเหมือนว่าจะไร้สิทธิ์และเสียงเท่ากับอีกพระองค์หนึ่ง ที่เป็นจุดจุดจุดจุดอยู่ในหนังสือ    แล้วพระองค์นั้นก็ไม่ทรงป๊อบปูล่าเอาเสียเลย     
ข้อนี้ก็อาจเป็นการบั่นทอนพระบารมีสมเด็จพระปกเกล้าฯ ลงไปไม่มากก็น้อย


องค์นี้ จุด จุด จุด จริงๆเลยครับ สุดยอด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 15:14

อ้างถึง
แต่ทหารส่วนหนึ่งมีโอกาสแล้วก็อดที่จะลอง “ฝิ่น” ของ ว.วินิจฉัยกุลไม่ได้
  ตกใจ ตกใจ ตกใจ

เรียนท่านประธานที่เคารพ
เอ่อ....ดิฉันขอใช้สิทธิ์พาดพิงเจ้าค่ะ   เศร้า
ขอยืนยัน นั่งยันว่า"ฝิ่น" อยู่แต่ในนิยายเท่านั้นนะคะ    ถ้าอยู่ในเรือนไทยละก็   เจ้าของเรือนคงต้องขาดงานปั่นกระทู้ไปอีกหลายปี กว่าจะหลุดออกมาได้

อ้างถึง
คณะสี่เสือซึ่งเดิมตกลงกันว่าจะยุติบทบาทของตนหลังปฏิวัติสำเร็จก็ทนการอ้อนวอนร้องขอจากหลายฝ่ายไม่ไหว ยอมได้รับเลือกให้เป็นกรรมการราษฎรหรือรัฐมนตรีพร้อมๆกับผู้ก่อการคนสำคัญอื่นๆ รวมกันแล้วประมาณสองในสามของคณะกรรมการราษฎร

ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้ เท่านั้นเอง

ชนกันกลางอากาศกับคุณนวรัตน  ขอแถมเพิ่มเติมว่า คนบางคนนอกจากลงจากหลังเสือไม่ได้  ก็ยังลำพองที่อยู่บนหลังเสืออีกด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 15:31

ครับ...ท่านประธาน ด้วยความเคารพท่านประธานจริงๆนะครับ ไม่ได้เหวง
ถ้าท่านจะบังคับพ้มให้ถอนคำว่า "ฝิ่น" ละก็ พ้มจะขอเปลี่ยนให้เบาลงหน่อยเป็นยาบ้า..จะได้ไหมครับ

อ้าว ยิ่งแรงใหญ่เลยหรือครับ งั้นยาหม่อง..ไหนครับ ครับๆๆๆ ถอนครับ ถอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 15:52

เรียนท่านประธานที่เคารพ
ถ้าถอนจนเหลือแต่ยาน้ำแก้ไอละก็    ขอเล่าเป็น sideline ควบคู่กันไปแทนดีกว่าค่ะ  ยิ้ม

มีเกร็ดเล็กๆเกร็ดหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจของนักประวัติศาสตร์      ก็รู้กันแต่เฉพาะคนไม่กี่คน    บังเอิญพอจะเกี่ยวกับกระทู้นี้บ้าง จึงขอบันทึกลงไว้
ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕   เมื่อคณะราษฎร์นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรียกทหารที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่มารวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้  ก็อ่านประกาศปฏิวัติให้ฟัง  แล้วถามความสมัครใจประกอบปืน ชี้ถามนายทหารแต่ละคนว่าจะร่วมด้วยไหม   เจอเข้าแบบนี้ใครจะตอบปฏิเสธ
ในจำนวนนั้นมีนายทหารรักษาพระองค์ยศพันตรีคนหนึ่ง  อยู่แถวหลัง  ไม่ยอมเข้าด้วย  ก็แอบหลบออกจากตรงนั้นไปได้  ออกไปทางสนามเสือป่าแล้วกลับเข้าไปในกรมทหารรักษาพระองค์   รายงานผู้บังคับบัญชาชื่อพันเอกพระยาสุรเดชให้ทราบ
พระยาสุรเดชตั้งใจจะขัดขืน   แต่มาได้ข่าวว่าฝ่ายปฏิวัติจับกรมพระนครสวรรค์ไปคุมขังไว้ได้แล้ว   ก็เลยไม่กล้าทำการโดยพลการ    แต่เมื่อพระยาพหลฯเรียกไปพบในฐานะเพื่อนเก่าด้วยกัน เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เป็นพวก
พระยาสุรเดชฯก็ปฏิเสธ   จึงถูกปลดออกจากราชการ
ส่วนนายทหารยศพันตรีคนนั้นยังอยู่ในราชการต่อมา    จนถึงเกิดการจับกุมกวาดล้างครั้งใหญ่ ปี ๒๔๘๑ ที่กรมขุนชัยนาทฯโดนร่างแหเข้าไปด้วย     ตำรวจขึ้นลิสต์นายทหารคนนี้ว่าอยู่ในข่ายปรปักษ์ของรัฐบาล     ก็ไปถึงบ้านเพื่อจับกุมเอาตัวไปสอบสวน
ตอนนั้นเช้ามาก ยังไม่ได้แต่งตัว  เขาตอบว่าขอเข้าห้องไปแต่งกายให้เรียบร้อยก่อน    พอเดินเข้าไปในห้อง ตำรวจก็ตามเข้าไป แล้วยิงตายตรงนั้นเอง  ต่อหน้าลูกเมีย   โดยไม่มีการต่อสู้หรือสอบสวนอย่างใดเลย
นายทหารรักษาพระองค์คนนั้นชื่อ พันตรี หลวงราญรณกาจ (พุฒ วินิจฉัยกุล)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 16:16

ผมเคยอ่านเรื่องนี้ครับ

และ เดี๋ยวคงมีในกระทู้นี้
ลูกน้องคนสำคัญสองสามคนของพระยาทรงก็ได้รับชะตากรรมคล้ายๆกัน
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 17:23

สวัสดีค่ะ   ยิ้ม

ไม่มีความรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย ตอนเรียนหนังสือ ก็ไม่มีการสอนถึงเรื่องราวเบื้องลึกถึงขนาดนี้

โชคดีมากเลยค่ะที่ได้มาพบเวปฯนี้ ทำให้ได้ความรู้เรื่องราวในอดีตมากมายเหลือเกินค่ะ ต้องขอบพระคุณ
ทุกท่านจริงๆ ที่กรุณาเสียสละเวลา มาบอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ กว่าจะมีวันนี้ของประเทศไทย

ขอเข้ามานั่งเป็นนักเรียนแถวหน้าๆนะคะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 17:56

เจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นซึ่งเป็นเจ้าจอมมารดาในกรมพระนเรศวรฤทธิ์ ต้นราชสกุลกฤดากรนั้นท่านเป็นมอญ จริงๆ ครับ

สำหรับจุดๆๆๆที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกล่าวถึงนั้น  ท่านเป็นขมิ้นกับปูนกับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาแต่ยุคปฏิรูปราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ แล้วครับ  แล้วก็เป็นที่ทราบกันโดยเปิดเผย  แม้ในคราวที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จะทรงจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมเมื่อปลายปี ๒๔๕๔  ก็ยังมีรับสั่งในที่ประชุมเสนาบดีสภาว่า ถ้าให้จุดๆๆๆ ท่านนั้นมาเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก็คงจะทำให้เสนาบดีสภาแตกเป็นเสี่ยงๆ  จึงทรงเลี่ยงให้ท่านที่จุดๆๆๆ นั้นไปเป็นอธิบดีศาลฎีกา  ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี  เจ้าตัวท่านจึงเรียกตำแหน่งของท่านเสียโก้หรูว่า ประมุขตุลาการ  เพราะในการจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรมคราวนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงแยกอำนาจตุลาการเป็นอิสระจากอำนาจบริหาร  เสนาบดียุติธรรมคงมีอำนาจปกครองแต่งานธุรการของกระทรวง

แล้วอธิบดีศาลฎีกาท่านนั้นก็สร้างเหตุร้ายแรงจนต้องถูกปลดออกจากราชการ  และล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ถึงกับมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเป็นเด็ดขาดห้ามมิให้กลับเข้ารับราชการอีกเลย  แต่พอถึงรัชกาลที่ ๗  แม้ท่านที่จุดๆๆๆ นั้นจะไม่ได้กลับเข้ารับราชการก็ตาม  แต่คณะอภิรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยเจ้านายผู้ใหญ่ก็ยังต้องเกรงใจท่านจุดๆๆๆ ท่านนั้น

เรื่องที่พูดกันว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ ทรงส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกแล้วกลับมารับราชการ  แต่ไม่มีโอกาสเติบโตในราชการนั้นดูจะเป็นการกล่าวที่เกินจริงไปสักนิด  เพราะในรัชกาลที่ ๖ นั้น  เจ้านายที่มีฝีมือในราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่างก็สิ้นพระชนม์หรือทรงพระชราทุพพลภาพไปเกือบหมด  ในรัชกาลที่ ๖ จึงเป็นยุคที่ที่นักเรียนที่จบการศึกษาจากต่างประเทศได้เติบโตในราชการจนถึงเป็นเสนาบดี  ปลัดทูลฉลอง  และอธิบดี กันเป็นอันมาก  ยิ่งตำแหน่งเจ้ากรมที่เป็นตำแหน่งชั้นรองลงมาก็เป็นนักเรียนนอกกันเกือบหมด  แม้แต่เสนาบดีกลาโหมต่อจากกรมหลวงนครไชยศรี คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (ม.ร.ว.อรุณ  ฉัตรกุล) ก็ไต่เต้ามาจากพลทหาร  และเสนาบดีกลาโหมคนถัดมาก็เป็นสามัญชนคือ เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม  ณ นคร)  แต่มีข้อสังเกตว่านายทหารที่สำเร็จการศึกษาจากเยอรมันกลัยไม่ค่อยเจริญก้าวหน้าในราชการ เมื่อเทียบกับผู้ที่จบจากประเทศอื่นๆ  ในข้อนี้อาจจะเป็นเพราะหลักคิดของทหารเยอรมันค่อนข้างจะแปลกแตกต่างไปจากหน่วยทหารของชาติอื่นๆ ซึ่พอดีไม่มีเอกสารหลักฐานอยู่ในมือจึงไม่กล้าฟันธงว่า แตกต่างอย่างไร

เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จสวรรคต  เสนาบดีที่รับราชการมาด้วยดีในรัชกาลที่ ๖ ต่างพากันลาออกไปถึง ๗ คน  จาก ๑๑  คน  แล้วผู้ที่เข้ามาเป็นเสนาบดีแทนที่ส่วนใหญ่เป็นเจ้า  เมื่อเข้ามาเป็นเสนาบดีแล้วก็ไม่สามารถทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ  ต้องมีการเปลี่ยนตัวหรือสลับตำแหน่งกัน  ซึ่งผิดกับในสมัยรัชกาลที่ ๖  เมื่อทรงตั้งเสนาบดีแล้ว  ผู้ที่เป็นเสนาบดีนั้นก็คงรับราชการไปจนชราทุพลลภาพหรือสิ้นพระชนม์หรือถึงแก่อสัญกรรม  จึงจะมีการเปลี่ยนเสนาบดีกัน  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 มิ.ย. 10, 18:01 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 17:58

 ยิงฟันยิ้ม คุณ proudtobethai


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 18:16

กระทู้วิ่งเหยียบ ๔๐ แล้วใน ๒ วัน  เห็นทีจะได้ ๑๐๐ ตามเป้าในอีกไม่นาน
ขอบคุณคุณ V_Mee ที่เข้ามาตอบให้หายข้องใจค่ะ

เห็นทีจะมองข้ามท่าน จุดจุดจุดจุด ไปไม่ได้แล้ว  แต่จะเอ่ยชื่อก็กระไรอยู่  เอาเป็นว่าเพิ่มด้วยก๊อสสิปที่ไม่มีในหนังสือก็แล้วกัน   ดิฉันฟังมาจากท่านผู้หญิงท่านหนึ่งวัยเกือบ ๙๐  แล้วแต่ความจำยังดีอยู่
ท่านเล่าว่าเมื่อทูลกระหม่อมเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมาสิ้นพระชนม์  หม่อมแผ้ว หม่อมของท่านซึ่งยังสาวมากและไม่มีโอรสธิดา   ถูกบังคับให้ออกจากวัง   
ท่านจุดจุดจุดจุดนั้นเข้ามายึดกุญแจเซฟ    นำเครื่องประดับและของมีค่าไปทั้งหมด     
หม่อมแผ้วท่านต้องออกจากวังไปโดยไม่มีทรัพย์สิน   ไปอาศัยอยู่บนที่ดินของท่านที่ปทุมธานี    แต่นายทหารราชองครักษ์ที่เคยถวายรับใช้ทูลกระหม่อมมาก่อนก็สงสาร เลยช่วยเหลือดูแล  ไม่ทอดทิ้ง   ต่อมาท่านก็ได้สมรสกับนายทหารท่านนั้น
ชะตากรรมคล้ายคลึงกันนี้     พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖  ก็ทรงประสบทำนองเดียวกัน เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๖  คุณ V_Mee คงทราบรายละเอียดดีกว่าดิฉัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 19:16

จะว่าไป โอรสของท่านจุด จุด จุด จุด พระนามว่าจุด จุด และจุด จุด ที่อยู่ใกล้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็จุด จุด จุดเหมือนกัน

เอ้า..คุณวีมี ช่วยเฉลยหน่อยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 19:24

เรียนท่านประธานที่เคารพ
ดิฉันขอแปรญัตติจาก  ฝิ่น เป็น แปะฮวยอิ๊ว แทนได้มั้ยเจ้าคะ    
เห็นจะต้องขอใช้รีบด่วน ในค.ห.นี้แล้วละ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 22 มิ.ย. 10, 07:05

เรื่องการริบทรัพย์สินหม่อมแผ้วดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงนั้น  น่าจะเป็นเพียงหนังตัวอย่างครับ
เพราะเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖  สวรรคต  ปฏิบัติการจองเวรก็เริ่มขึ้น  ดังที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา ซึ่งเพิ่งประสูติก็ต้องทรงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับหม่อมแผ้ว  แล้วยังเลยไปถึงสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี  ซึ่งพระธิดาของท่านจุดๆๆๆนั้น ท่านออกพระนามว่า "...อิน"  ตลอดจนเครือญาติในสกุลสุจริตกุล  ซึ่งเป็นญาติสนิทของท่านนั้นก็พลอยโดนริบทรัพย์สินทั้งที่ดินและเครื่องประดับที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ พระราชทานไว้  

เพราะการกระทำที่เลยเถิดของท่านจุดๆๆๆ นี้เอง  พระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ  สุจริตกุล) เนติบัณฑิตอังกฤษจึงได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องท่านจุดๆๆๆ นั้นในฐานะเป็นประธานจัดพระราชทรัพย์หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า ผู้จัดการมรดกในรัชกาลที่ ๖  ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นการฟ้องในหลวงรัชกาลที่ ๗  เพื่อเรียกเงินตามพระราชพินัยกรรมพระราชทานเงินเลี้ยงที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงกำหนดไว้  แล้วท่านจุดๆๆๆ มายกเลิกไม่จ่ายเสียดื้อๆ  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้พระพิบูลย์ฯ ชนะคดี  คดีขึ้นศาลอุทธรณ์แล้วเลยกลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๗ ทรงโต้ตอบกับคณะราษฎรว่า ถ้าทรงแพ้คดีพระพิบูลย์อีกจะทรงสละราชสมบัติ  สุดท้ายศาลอุทธรณ์พิพากษาแบบประนีประนอมให้พระคลังข้างที่จ่ายเงินให้ผู้มีรายชื่อตามพระราชพินัยกรรมแบบไม่เต็มจำนวน  แต่คุณพระพิบูลย์ฯ ผู้ฟ้องคดีได้เข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาได้รับเงินเดือนมากกว่าเงินพระราชทานเลี้ยงชีพแล้ว  ให้งดไม่ต้องรับพระราชทานเงินเลี้ยงชพตามพระราชพินัยกรรม  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มิ.ย. 10, 08:06 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง