เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328775 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
ธีร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 54



ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 17:10

ขออนุญาติคิดต่างจากท่าน นวรัตน์ หน่อยครับ
เรื่องน้ำตาลจากต้นตาลกับน้ำตาลจากมะพร้าว เพราะว่าที่บ้านต้นตระกูลมาจากเมืองเพชร ปัจจุบันย้ายมาแล้วก็ยังมีลุงเขยทำอยู่ครับ
ความหวานของน้ำตาลจากต้นตาลนั้นจะละมุนลิ้นกว่าน้ำตาลจากมะพร้าวครับ ถ้ารสมะพร้าวจะหวานโดดกว่าครับ สีที่ได้ก็จะขาวกว่าของต้นตาลซึ่งจะคล้ำกว่านิดหน่อย สีของน้ำตาลจะมะพร้าวจะคล้ายๆน้ำจากน้ำต้มหอย(สำนวนบ้านนอกจริงเรา  ยิงฟันยิ้ม)

แต่ว่าปัจจุบันน้ำตาลโตนดจากเมืองเพชรแท้ๆเจอพวกเพชรรุ่นใหม่หัวเสธเข้าให้ครับ เอาน้ำตาลทรายผสมรสชาดจะไม่อร่อยอย่างตาลโตนดแท้ๆครับ

น้ำตาลสดแท้ๆนั้นต้องรีบกินเพราะยังไม่ได้ต้มจะเสียเร็วมาก แต่ต้องระวังเปลือกพยอม(คิดว่าจำไม่ผิด)ที่อยู่ในกระบอกใส่ไว้กันเสียหน่อยแล้วกัน
อีกอย่างคนรุ่นใหม่(ผมด้วย)กินน้ำจากกระบอกไม่เป็นยกทีเดียวหกหมดครับ  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 17:17

มาขยายความเรื่องที่ นายพันโท ประยูร  ภมรมนตรี รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถปลุกนิสิตให้ลุกขึ้นเรียกร้องดินแดนได้มากเช่นนั้นก็เพราะท่านเป็นเจ้ากรมยุวชนทหารด้วย  แล้วนิสิตจุฬาฯ ทุกคนในเวลานั้นก็ต้องเป็นยุวชนนายทหารอยู่แล้ว  จึงไม่ใช่เรื่องยาก

ยุวชนนายทหาร (สำหรับนิสิต นักศึกษา)และยุวชนทหาร หรือยุวชนนายสิบนั้นเป็นนักเรียนมัธยม  แนวความคิดในการฝึกยุวชยทหารนี้สืบเนื่องมาจากการฝึกเสือป่าและลูกเสือในรัชกาลที่ ๖  ถึงรัชกาลที่ ๗ เสือป่าถูกปล่อยเข้าป่าไปหมด  คงเหลือแต่ลูกเสือที่ยังคงฝึกวิชาทหารเบื้องต้นอยู่  แต่ที่โรงเรียนวชิราวุธนั้นในสมัยรัชกาลที่ ๖  โปรดให้นักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ทั้ง ๔ โรงเรียน คือ มหาดเล็กหลวง  ราชวิทยาลัย มหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ และพรานหลวง เป็น "นักเรียนเสือป่าหลวง"  หรือชาวบ้านท่านเรียกกันว่า "นักเรียนนายร้อยเสือป่า"  พอยุบรวมโรงเรียนในสมัยรัชกาลที่ ๗ กรมนักเรียนเสือป่าหลวงก็ถูกปล่อยเข้าป่าไปพร้อมกับเสือเฒ่า  นักเรียนวชิราวุธก็เลยต้องกลับมาฝึกลูกเสือกันใหม่  แต่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ มีพระราชดำริว่า นักเรียนวชิราวุธเคยฝึกวิชาทหารกันมาก่อนควรจะให้ฝึกต่อไปเพราะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ  จึงโปรดให้นักเรียนวชิราวุธฝึกวิชาทหารตามแบบ R.O.T.C Resrve Officer Training Corp ของอังกฤษ  หรือ R.T.C. ของอเมริกา  ก็ฝึกกันมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง  รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณหลวงพิบูลสงครามคงจะได้ข่าวเรื่องยุวชนนาซีของฮิตเลอร์ซึ่งสอดคล้องกับการฝึกของนักเรียนวชิราวุธ  จึงได้มอบหมายให้นายพันโท ประยูร  ภมรมนตรี ซึ่งเป็นข้าเก่าในพระราชสำนักมาแต่รัชกาลที่ ๖  มีความคุ้นเคยกับบรรดาเสือเฒ่าทั้งหลายมาเป็นเจ้ากรมยุวชนทหาร  เลยให้นักเรียนมัธยมกลาง คือ ตั้งแต่มัธยม ๔ (ปัจจุบันคือ ม.๒) เลิกฝึกลูกเสือแล้วเปลี่ยนมาฝึกยุวชนทหาร  จนสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงกรมยุวชนทหารจึงถูกยุบเลิกตามยุวชนนาซีไป  แล้วกลับมาฝึกลูกเสือกันใหม่  แต่ให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายและนิสิตนักศึกษาฝึกวิชาหารที่เรียกกันว่า ร.ด. แทน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 19:59

ขอสลับฉากด้วย ความใน "สามกรุง" พระนิพนธ์ น.ม.ส. ตามเนื้อเรื่องบรรยายถึงเจ้าพระฝาง แต่สอดแทรกความรู้สึกอัดอั้นต่อพฤติการณ์ของท่านผู้นำ ตัวเอนตามต้นฉบับนะครับ ผมไม่ได้ใส่เอง

๏ ครานี้จะกล่าวบทถึง             เถรหนึ่งฐานะเจ้าพระฝาง
ไม่ใช่พระไม่ใช่เจ้าเข้าระวาง       ตัวอย่างผิดแผกแปลกกฎเกณฑ์
เคยเป็นบรรพชิตศิษย์เลื่อมใส     เด็กผู้ใหญ่ศรัทธาขรัวตาเถร
ครั้นโชคมาชตาโยนก็โอนเอน     เป็นเถนทุราจารพาลเสเพล
คราวกรุงยุ่งยับอับวาศนา          อยุธยาธิปตัยก็ไขว้เขว
สังฆราชเมืองสวางต่างทำเล       สมคเนน่าที่เป็นผีบุญ
ครองไตรยสีแดงแผลงนักหนา    สถาปนาตนเผ่นขึ้นเป็นขุน
สาวกฉกฉวยร่ำรวยทุน            เจ้าประคุณพระฝางวางตำรา
จัดวงไพบูลย์ภูลโภค              ใช้โฉลกอำนาจวาศนา
ฉาว ๆ ป่าวประโยชน์โฆษณา      จูงใจไพร่ฟ้าประชากร
อ้างเหตุบ้านเมืองเคืองเข็ญ        เป็นทางวาจาอุทาหรณ์
พูดอะไรพูดได้ไม่อาวรณ์          ราษฎรโง่เง่าเหมือนเต่าปลา
ห่มจีวรสบงเหมือนทรงศีล         แต่ป่ายปีนไปปราศสาสนา
ฆ่ามนุษย์รบพุ่งมุ่งจินดา           อทินนาทายีไม่มีอาย
เสพย์สตรีมีรศไม่หมดรัก          เยื้องยักแยบอย่างทางฉิบหาย
เป็นพระปลอมเจ้าปลอมจอมอุบาย   อันผายแผ่ตนเพื่อผลพาล
โฆษณาจูงใจได้ทุกสิ่ง             เหล่าหญิงยอมกายถวายท่าน
พวกถูกปล้นไม่ชอบระบอบการ    แต่ทัดทานไม่ไหวจำใจยอม
ผูกขาดค้าขายถ่ายทรัพย์สูญ      ไปเข้าวงไพบูลย์โดยลม่อม
ปวงราษฎรปราศฤทธิ์ต้องอิดออม  อำนาจย่อมอยู่ในมือผู้ถือปืน
เทศน์ให้คนสมัคทาง รักชาติ      รักจนขาดลมหายใจอย่าใฝ่ฝืน
บ้านเมืองคับขันต้องยันยืน         ชีวิตยื่นให้ชาติปราศกีดกาง
เข้าเงินเรี่ยไรไม่รู้เบื่อ              ต้องเชื่อ ผู้นำ ทำต่างต่าง
ไม่ให้ทำไม่ทำอย่าอำพราง        ทุกอย่างไว้ใจได้ในผู้นำ
จะนำไปทางไหนไม่ต้องบอก      แซกซอกไม่หยุดมุดให้หนำ
แม้ลำบากยากแค้นแสนระกำ      ก็ต้องทำ เพื่อชาติ ปราศจำนรรจ์
ฉันเป็นผู้นำชาติอาจนำให้          ทั้งชาติได้ประจักษ์ศักดิ์สุขสันต์
ฉันนี่แหละเป็นผู้รู้เท่าทัน           เพราะว่าชาตินั้นคือฉันเอง
ท่านรักชาติแม้จะม้วยต้องช่วยชาติ   ไม่บังอาจพูดโป้งทำโฉงเฉง
ฉันคือชาติ ๆ คือฉันหันตามเพลง  จงยำเยงจอมโยธีผู้มีปืน ฯ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 20:12

 ยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 20:22

คำว่า "วงไพบูลย์" เกิดขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒     หลังจากไทยยอมจำนนให้ญี่ปุ่นยกทัพผ่านประเทศไทยได้    คนทั่วไปใช้คำนี้ในความหมายถึงการกระชับมิตรระหว่างไทยกับญี่ปุ่น
ต่อมาก็กว้างออกไป ใครร่วมวงคบหา สมาคมกับใครก็เรียกว่าร่วม "วงไพบูลย์" กัน

แต่ความหมายใหญ่ มาจากวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา  หาอ่านได้จากวิกิ
 
วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา (อังกฤษ: The Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) เป็นความพยายามของญี่ปุ่นที่จะรวบรวมและสร้างแนวป้องกันแห่งชาติเอเชียเพื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลของชาติตะวันตก     โดยเป็นความคิดริเริ่มของนายพลฮาชิโร่ ฮาริตะ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมีอุดมการณ์ทางการทหารอย่างแรงกล้าที่จะสร้าง มหาเอเชียตะวันออก "Greater East Asia"

ในระหว่างที่สงครามกำลังดำเนินอยู่นั้น ญี่ปุ่นได้พยายามโฆษณาชวนเชื่อ โดยมีประโยคที่ว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" (Asia for Asians) โดยเนื้อหานั้นจะพูดถึงเกี่ยวกับการปลดปล่อยชาติในเอเชียให้หลุดพ้นจากลัทธิจักรวรรดินิยม โดยทำการบุกประเทศเพื่อนบ้าน และขับไล่ทหาร อังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกา ออกไปจากภูมิภาคนี้

 ปัจจัยที่ผลักดันให้ญี่ปุ่นคิดสร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา
1.มีความคิดที่ว่าญี่ปุ่นมีชาติพันธุ์ที่เหนือกว่าชาติอื่นในเอเชีย ในเมื่อปกครองโดยพระจักรพรรดิผู้ทรงสืบเชื้อสายมาจากพระอาทิตย์มาอย่างไม่ขาดสาย จึงมีสิทธิชอบธรรมที่จะเป็นใหญ่คุ้มครองชาติอื่น
2.ญี่ปุ่นคิดว่าวัฒนธรรมตะวันตกหรือปรัชญาตะวันตกเป็นยาพิษของตะวันออกและเป็นวัฒนธรรมที่เสื่อมทราม จึงจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูระเบียบสังคมและวัฒนธรรมตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของตะวันออกที่เป็นแบบอำนาจนิยมขึ้นมาแทนระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพื่อให้เอเชียเป็นของชาวเอเชียเท่านั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 08:08

ตัดกลับมาที่บ้านพระยาทรงในไซ่ง่อน

คนทั้งสิบประชุมกันแล้วเห็นว่า มาอยู่กันเยอะๆแล้วน่าจะทำขนมกล้วยแบบไทยๆลองขายให้คนญวนดู เพราะลงทุนน้อย ทำไม่ยาก แต่ต้องใช้แรงงานมาก และต้องโม่แป้งซึ่งเป็นงานหนักเท่านั้น ผมเกิดทันพอที่จะได้เห็นการใช้โม่หินในภาพข้างล่าง เขาจะเอาข้าวสารแช่น้ำสักพักแล้วหยอดลงไปในรูด้านบน หลังจากนั้นก็ใช้ด้ามไม้หมุนหินตัวบนบดกับแท่นด้านล่าง จนข้าวละเอียดเป็นแป้งเหลว ใหลออกมาลงภาชนะที่รองรับ พระยาทรงท่านรับหน้าที่คนบด วันละ1ชั่วโมง ท่านบอกว่าได้ออกกำลังกายดี ส่วนงานเอาผลกล้วยสุกงอมมาขยำกับแป้งและน้ำตาลท.ส.เป็นคนทำ ผู้หญิงมีหน้าที่เอาใบตองมาตัดเป็นชิ้นๆและห่อขึ้นรูป เพื่อเอาไปนึ่ง แรกๆลองทำวันละ300-400ห่อ ให้ร้อยโทผล นายทหารม้าที่ตามพระองค์เจ้าบวรเดชมาอยู่เมืองญวนหลายปีแล้ว พูดภาษาญวนได้ พาออกตลาดเพื่อฝากขายตามแผงขายขนมต่างๆห่อละ1เซนต์ ก็พอขายได้และเริ่มขยับยอดขายขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยถึงพันห่อสักครั้งเดียว งานขายขนมกล้วยเป็นงานที่ใช้แรงงานมาก แม้ต่อมาจะทำขนมถั่วกวน ข้าวเหนียวตัดออกเสริม แต่ก็ขายไม่ดีเท่าจึงเลิกไป กำไรจึงมีแค่พอเป็นค่าอาหารวันหนึ่งๆ คำนวณรายได้เฉลี่ยต่อคนแล้วถูกกว่าค่าแรงกรรมกรเสียอีก แต่ก็ยังดีที่มีกิน และมีงานทำ มีโอกาสสนทนากันถึงเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกและในเมืองไทย เป็นการบำรุงสุขภาพจิตของทุกคน

ปกติพระยาทรงจะมีแขกที่เป็นชาวญวนชาวฝรั่งเศสที่เคยรู้จักสมัยที่ท่านยังมีตำแหน่งราชการในเมืองไทยแวะมาเยี่ยมบ้าง แต่วันหนึ่งขณะที่กำลังทำขนมกล้วยเป็นการใหญ่ อดีตข้าหลวงฝรั่งเศสเมืองพระตะบองมาเยี่ยม เขาแสดงท่าทางเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งที่ได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของท่าน แม้ตลอดเวลาของการสนทนา ท่านจะมิได้ปริปากเพียงนิดเดียวถึงความทุกข์ยากที่กำลังประสพอยู่  วันรุ่งขึ้นชาวฝรั่งเศสผู้นั้นให้คนถือจดหมายมาพร้อมเงิน800เหรียญบรรจุอยู่ในซอง มีข้อความสั้นๆว่า เขาขออภัย โปรดอย่าคิดว่าเขาหมิ่นเกียรติของท่านเลย แต่หลังจากเมื่อวันวานแล้วเขาคิดว่า เขาจะผ่านไปโดยไม่ช่วยเหลือท่านอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้ ขอให้ท่านกรุณารับความปรารถนาดีของเขาด้วย

พระยาทรงท่านตอบขอบคุณเขาฝากไปกับคนเดินหนังสือ

เงิน800เหรียญมากเท่ารายได้จากการขายขนมกล้วยเกือบหนึ่งแสนห่อ มีค่าเท่ากับค่าใช้จ่ายของคนทั้งบ้าน4เดือน แต่ไม่ทำให้ชายผู้นี้เปลี่ยน แม้ท่านจะรู้สึกขอบคุณ และมิได้ตำหนิความเมตตาของผู้ให้ แต่คนอย่างท่านไม่สามารถรับเงินจากใครที่ไม่ทราบที่มาที่ไป เงินก้อนนี้อาจจะมาจากรัฐบาลอินโดจีนก็ได้ พระยาทรงตัดสินใจยอมอดตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติ

คนฝรั่งเศสที่คบหาเป็นเพื่อนผู้น้อยของท่านคนหนึ่งชื่อ มองซิเออร์ วิกเตอร์บูเกย เคยอยู่เมืองไทยเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านเรียกตามชื่อเล่นที่เพื่อนตั้งให้เขาตอนเป็นเด็กว่าอาบู ท่านติดต่ออาบูให้พาท่านนำเงิน800เหรียญที่ได้มานี้ ไปบริจาคให้สภากาชาดของอินโดจีน และตามที่คาดไว้ว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องถึงหูคนของรัฐบาลอินโดจีนจนได้ ต่อมาอาบูได้มาเล่าให้ฟังว่า มองซิเออร์เซมเปรทราบเรื่องเข้าก็ได้กล่าวติเตียนผู้ที่นำเงินมาให้ท่านว่า คนอย่างพระยาทรงไม่มีวันจะรับเงินด้วยวิธีนี้เป็นอันขาด

ดังนั้น อีกต่อมาไม่นาน จึงมีนายทหารฝรั่งเศสมาที่บ้านของท่าน หลังจากแสดงความเคารพแล้วแจ้งว่า พลเรือเอก ญัง เดอกูซ์ (Admiral Jean Decoux) ผู้สำเร็จราชการใหญ่แห่งอินโดจีนให้มาขอนัดหมาย เพื่อขอเรียนเชิญพันเอก พระยาทรงสุรเดชไปพบ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 09:52

ครั้นถึงเวลานัดหมาย พระยาทรงในชุดสากลผูกหูกระต่าย เดินนำหน้านายทหารฝรั่งเศสผู้มารับไปขึ้นรถเก๋งคันยาวที่ท่านผู้สำเร็จราชการส่งมาเพื่อไปดินเนอร์ร่วมกัน
การสนทนาใช้ล่ามภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน เริ่มจากการโอภาปราศรัยสารทุกข์สุกดิบตามวิธีทางการทูต มีการแสดงความเสียใจและแสดงความขอบคุณต่อกันและกัน แล้วเชิญดื่มเล็กๆน้อยๆให้ผ่อนคลายอารมณ์ ก่อนจะเข้าเรื่องสงครามระหว่างฝรั่งเศสและไทยที่กำลังจะเกิดในวันสองวันนี้ ท่านผู้สำเร็จราชการถามพระยาทรงว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไร

พระยาทรงตอบคำถามนี้ตามความจริงใจของท่านว่าท่านไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่เลือกใช้วิธีการก่อสงคราม เพราะปัญหาของไทยจะต้องเผชิญกับการคุกคามในอนาคตอันใกล้มิใช่ฝรั่งเศส แต่เป็นประเทศมหาอำนาจซึ่งกำลังแสดงอิทธิพลอยู่แถบนี้จะเป็นมือที่3ที่จะได้รับประโยชน์จากสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับไทยอย่างแท้จริง แต่ในระยะยาวแล้ว ท่านคิดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีประเทศมหาอำนาจผนึกกำลังกันมากกว่า จะเป็นฝ่ายชนะ

ตามข้อเท็จจริง  พระยาทรงท่านไม่ใช่คนพูดมาก และท่านต้องระมัดระวังคำพูดเป็นพิเศษมิให้เสียหายต่อประเทศชาติ เมื่อถูกถามเกี่ยวกับกำลังรบของไทย ท่านก็จะเปิดเผยแต่สิ่งที่คิดว่าฝรั่งเศสรู้อยู่แล้ว หลวงพิบูลเคยเอาอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่งสั่งซื้อเข้ามา แสดงอวดที่ท้องสนามหลวง แนวที่5ของฝรั่งเศสก็ถ่ายภาพส่งมาไซ่ง่อนจนไม่เป็นความลับแล้ว ท่านก็ให้ความเห็นไป ส่วนคำถามคำตอบเรื่องที่เกี่ยวกับการทหารอื่นๆ ท่านอาจจะพูดไปบ้าง แต่เชื่อเถอะ เรื่องการรักษาความลับของนายทหารผู้นี้ ต้องดูคราวก่อนหน้า24มิถุนายน เพื่อนฝูงพยายามจะซักถามว่าเสธฯ.จะเอาทหารที่ไหนมาทำการปฏิวัติ ท่านก็ชวนคุยเรื่องอื่น ขนาดพระยาพหลหัวหน้าคณะผู้ก่อการยังได้ทราบเอาในเช้าตรู่ของวันที่ปฏิบัติการนั้นเลย ดังนั้น เรื่องที่พลเรือเอก ญัง เดอกูซ์ จะได้อะไรจากท่านไปได้บ้างนั้น ขอให้วางใจเกษม

ไม่นานเกินรอ หลังจากการรับประทานอาหารค่ำในคืนนั้น กองทัพไทยก็บุกข้ามพรมแดนอินโดจีนต่อจากปฏิบัติการที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันเรื่องการส่งเครื่องบินรบเข้าไปก่อกวนอีกฝ่ายหนึ่ง สงครามที่มิได้ประกาศระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้เริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบ เกิดการรบทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ที่ต่อมาเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กรณีย์พิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส”



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 11:17

ผมมีหนังสือเล่มนี้อยู่ มีเรื่องราวของกรณีพิพาทอินโดจีนที่รัฐบาลต้องการเผยแพร่อย่างละเอียดลออ โปรดสังเกตุความหนา ผมอ่านส่วนที่นำ“ข่าวทหาร”ทุกฉบับที่รัฐบาลแถลงให้ประชาชนทราบทุกวันในช่วงรบกัน ผมอ่านแล้วก็ไม่อยากจะวิจารณ์เขาหรอก รัฐบาลระหว่างสงครามประเทศไหนก็ต้องออกข่าวจริงบ้างยกเมฆบ้างเพื่อเรียกขวัญกำลังใจประชาชนฝ่ายตน แต่อ่านข่าวการรบทางเรือแล้ว เข้าใจเรื่องที่เล่ากันในครอบครัวเลย ทำไมคุณยายพอได้ข่าวจากวิทยุว่า เรือรบฝรั่งเศสบุกเข้ามาทางเกาะช้างแล้วรล.ธนบุรีเข้าต่อตีด้วยความกล้าหาญจนฝรั่งเศสล่าถอยไป คุณยายก็ร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวรเพราะเป็นห่วงลูกชายที่เป็นนายป้อมปืนท้ายบนเรือลำนั้น ไม่มีใครอยากเชื่อ“ข่าวทหาร”ว่าทหารไทยได้รับชัยชนะอย่างงดงามโดยสูญเสียเพียงเท่าที่รัฐบาลแถลง

ความเป็นจริงเฉพาะส่วนนี้ ไทยต้องสูญเสียเรือปืนใหม่เอี่ยมที่เพิ่งสั่งต่อมาจากญี่ปุ่นไป1ลำ เรือตอร์ปิโดใหญ่สั่งต่อจากอิตาลี ถึงจะไม่ใหม่ขนาดแกะกล่องแต่ก็ถือว่าทันสมัย2ลำถูกยิงจมขณะยังไม่ได้ติดเครื่องด้วยซ้ำ เรือหลวงธนบุรีนั้นยิงกับฝรั่งเศสหูดับตับไหม้ โดนลูกฟลุ็คของฝรั่งเศสในช่วงสิบนาทีแรกของการสู้รบ หัวกระสุนลอดช่องหน้าต่างสพานเดินเรือ(หอบังคับการ)ที่มีเกราะหนาถึง4นิ้วเข้าไประเบิดข้างใน ผู้บังคับการเรือตายคาที่ เครื่องบินของกองทัพอากาศที่ส่งออกมาจากฐานบินจันทบุรีเพื่อโจมตีข้าศึกตามข่าว เห็นเรือหลวงธนบุรีอยู่ในม่านควัน นึกว่าเป็นเรือรบฝรั่งเศสก็ดำทิ้งระเบิดโดนดาษฟ้าทะลุพื้นไประเบิดกลางลำเรือ

วันหลังค่อยเล่าต่อแล้วกันนะครับ วันนี้พอก่อน อ้อบอกท่านที่เป็นห่วงนิดนึงนะครับ ลุงผมรอดชีวิตมาได้ หลายวันต่อมานุ่งกางเกงกลาสีขาสั้นเดินยิ้มเผล่เข้ามาในบ้าน คุณยายก็ร้องไห้อีกยกใหญ่ คราวนี้เป็นด้วยความดีใจ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 12:46

ระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังรบกับไทยอยู่นั้นเอง ญี่ปุ่นก็ถือโอกาสเพิ่มกำลังพลเข้ามาในญวนจนเต็มไซ่ง่อนไปหมด พอเห็นว่าทั้งคู่ซัดกันพอหอมปากหอมคอ สูญเสียทั้งสองฝ่ายพอประมาณแล้วก็ดำเนินการเข้าไกล่เกลี่ยทันที เรือประจันบานนาโตริที่ลอยลำอยู่ในทะเลหลวงก็แล่นเข้าไปทอดสมอบีบฝรั่งเศสถึงแม่น้ำหน้าเมืองไซ่ง่อน แปลกที่ไม่ยักต้องออกแรงขู่ไทย แค่แจ้งให้ทราบหลวงพิบูลรีบส่งคณะทูตไปเซ็นสัญญาหยุดยิงบนเรือรบของญี่ปุ่น การเจรจาดำเนินต่อไปเล็กน้อยก็ได้ข้อยุติ ไทยได้ดินแดนกลับคืนมาบางส่วน 4 จังหวัด คือ จำปาสัก ศรีโสภณ มงคลบุรีและพระตะบอง รวมเป็นพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 24,039 ตารางกิโลเมตร ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพที่กรุงโตเกียว เมื่อ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 หลวงพิบูลประกาศเป็นชัยชนะของไทย และเริ่มต้นโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่ยังดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้

พระยาทรงเห็นความเคลื่อนไหวทางการทหารของญี่ปุ่นแล้วทหารระดับท่านก็เดาออก ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสคุยกับท่านในระหว่างการรับประทานอาหารคืนวันนั้นว่า ถ้าพระยาทรงจะรวบรวมคนไทยจัดตั้งขบวนการแบบฝรั่งเศสเสรีแล้ว เขายินดีจะสนับสนุน ขณะที่ไทยกำลังจะรบกับฝรั่งเศสอยู่ท่านจึงได้แค่รับฟังเพราะไม่แน่ใจว่าฝรั่งเศสต้องการกระทำเพื่อรักษาดินแดนในครอบครองของตนหรือไม่ แต่เมื่อศัตรูของทั้งสองชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ท่านจึงอยากจะหาคนที่จะเป็นตัวกลางประสานงานกับคนในเมืองไทย เพื่อทำอะไรสักอย่างเตรียมต่อต้านญี่ปุ่น ในเมืองจีนท่านมีเพื่อนที่พบกันครั้งสุดท้ายในปี2457 เชื่อว่าจะเป็นผู้เชื่อมความคิดของท่านได้จึงติดต่อกับมองซิเออร์ เซมเปรให้รายงานท่านผู้สำเร็จราชการ ขอเพียงพาหนะนำท่านไปส่งที่ชายแดนจีน หลังจากนั้นท่านเชื่อว่าจะได้รับความช่วยเหลือต่อจากเพื่อนคนนั้น มองซิเออร์ เซมเปรใช้เวลาพักหนึ่งแล้วมาแจ้งว่าฝรั่งเศสยินดีจะช่วย แต่ครั้นถึงวันนัดหมายที่จะเดินทาง ฝรั่งเศสมาบอกข่าวว่าญี่ปุ่นได้ปิดทุกช่องทางที่จะเข้าสู่เมืองจีนหมดแล้วเพื่อตัดการติดต่อทุกอย่าง ขอเลื่อนแผนการณ์ดังกล่าวออกไปก่อน

 ระหว่างนั้น อันที่จริงความเป็นอยู่ของท่านได้แย่ลง เริ่มจากการที่ขนมกล้วยขายไม่ดีเท่าแต่ก่อน ไม่ทราบว่าเพราะคนเบื่อหรือประหยัดในภาวะสงคราม ท่านจึงได้ย้ายออกไปอยู่บ้านนอกที่ก่อนหน้านั้นไม่กล้าไปเพราะน้อยคน จะป้องกันบ้านจากโขมยขโจรไม่ได้ แต่คราวนี้ลูกน้องมาอยู่หลายนาย ย้ายออกไปหาที่ถูกๆกว้างขวางหน่อยจะดีกว่า ห้องเช่าเดิมในไซ่ง่อน หลวงรณกับครอบครัวขอรับช่วงต่อไม่ได้ไปด้วย การออกไปอยู่บ้านนอกในช่วงนี้แหละที่เป็นข่าวว่าพระยาทรงตกอับถึงกับต้องเดินท่อมๆทอดแหหาปลามากินไปวันๆ ข้อเท็จจริงคือร.อ.สำรวจมีความชำนาญในการใช้แหมาตั้งแต่เด็ก เห็นหมู่บ้านที่ย้ายไปอยู่ใหม่มีหนองน้ำคลองบึงมากมายจึงไปซื้อแหจากตลาดมาลองจับปลาดู ได้ผลน่าพอใจ สมาชิกในบ้านมีอาหารโปรตีนเสริมแทนการกินผัดผักกับกุ้งแห้งโดยไม่ต้องซื้อ พระยาทรงท่านเห็นดีด้วย เขาออกไปทอดแหกันท่านก็ไปกับเขา เริ่มจากการช่วยเอาปลาออกจากแหจนถึงกับลงมือทอดแหเองเลย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 13:03

ขอพักเชคชื่อหน่อยนะครับท่านผู้อ่าน
วันนี้เงียบๆชอบกลทั้งอาจารย์ทั้งนักเรียน หายกันไปหมด

ไม่รู้ว่าจะทิ้งโดดให้ผมบรรเลงเดี่ยว หงอยเหงาไปคนเดียวหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 13:28

แอบอยู่ครับ  เจ๋ง
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 14:34

ภาพปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน(ป.ต.อ) ในความเห็นที่ ๒๔๖ พร้อมโคมไฟฉายนี่ ถ้ายึดตามข้อมูลหนังสือลุงสรศัลย์ ท่านว่าเป็นแนวคิดของ ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ) แล้วก็โคมไฟฉายนี้เอง ที่เป็นที่มาของคำว่า "สามแยกไฟฉาย" เพราะว่าที่พ่อตาผมเล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนเขาเอาโคมไฟแบบนี้ไปตั้งไว้ตรงนั้น ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า "สามแยกไฟฉาย" ครับ

บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 15:10

สมาชิกใหม่ค่ะ แอบอ่านมานานแล้ว แต่ต้องสมัครเพราะกระทู้นี้

ขอกราบขอบพระคุณคุณลุง NAVARAT อย่างสุดซึ้งค่ะ กระทู้นี้นอกจากจะได้ความรู้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว ยังได้อ่านภาษาไทยในสำนวนราบรื่นนุ่มนวลเป็นที่สุด

เปิดกระทู้นี้ทั้งวัน และหมั่น refresh เสมอค่ะ
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 15:38

มาเช็คชื่อเข้าห้องเรียนสายไปหน่อย ขออภัยนะคะ^^
แต่ไม่ได้โดดเรียนนะคะ แค่นั่งหลังห้องไปหน่อยเท่านั้นเองค่ะ

อีกอย่าง อาจารย์เล่นเอาขนมไทยๆมาเล่าให้อยากทาน ยิ่งคิดถึงอาหารไทยอยู่ด้วยค่ะ  ร้องไห้
ต้องแวบออกนอกห้องไปหากล้วย มาทานแทนขนมกล้วยค่ะ  เศร้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 06 ก.ค. 10, 19:05

ครูประจำชั้น หยุดเลกเชอร์กะทันหัน       หันมาเช็คชื่อทั้งครูและนักเรียนที่เข้าชั้น 
นักเรียนยกมือกันพรึ่บพรั่บ   ครูที่โดดเรียนไปประชุุม  ก็ต้องรีบกลับมารายงานตัว ก่อนจะถูกหักคะแนนตามไปด้วย

ดิฉันกำลังอ่าน ประวัติและผลงานของคุณหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ค่ะ   ในนั้น มีรายงานการประชุมของรัฐบาลในครั้งที่ญี่ปุ่นบุกไทย     
ถ้าคุณนวรัตนเล่าต่อไปถึงสงครามมหาเอเชียบูรพา    ก็คงอ่านจบเล่มพอดี  จะเอารายงานมาแจมด้วย

     ในกระทู้นี้ สงครามอินโดจีนกำลังร้อนระอุ  มาอ่านกันดีกว่า ว่าสมัยนั้นเขาเขียนถึงจอมพล ป.ว่ายังไง
     ในหนังสือ "จอมพลป.พิบูลสงคราม" โดย อ.พิบูลสงคราม   เล่าว่า
      "..น่าสังเกตว่า ยกเว้นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ  น.อ. พระเวชยันต์รังสฤษดิ์  พ.อ.พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ  ขุนสมาหารหิตะคดี และหลวงวิจิตรวาทการ  รวม ๕ ท่าน  รัฐมนตรีทั้งหมดรวม ๒๐ ท่าน ล้วนเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น    เป็นการยืนยันว่า  ความรักใคร่สามัคคีกลมเกลียว ของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังคงเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นอยู่อย่างมั่นคง   หลังจากได้ผ่านชีวิตร่วมทุกข์ยากด้วยกันมาเป็นเวลานานกว่า ๖ ปี   ในการร่วมมือ ร่วมใจ  กันสร้างความรุ่งเรือง ให้แก่ประเทศชาติ   และในการยืนหยัดต่อสู้กับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช   ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในขณะนั้น"

      พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ ดูเหมือนจะถูกลืมไปเสียแล้วว่ายังมีตัวตนอยู่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง