เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328790 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 22:29

คราวนี้เฉลยให้คุณ P.T.B.T.ผู้อยู่ไกลบ้าน

น้ำตาลที่ทำจากจั่น หรือดอก ของมะพร้าว หรือตาล จะคล้ายกันมาก ยากที่จะบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร เริ่มจากปีนต้นขึ้นไปตัดส่วนปลายของจั่นด้วยมีดคมๆ มันจะมีน้ำไหลออกมาเหมือนยางไม้ แต่มีรสหวานจัดเรียกว่าน้ำตาลสด เอากระบอกไม้ไผ่ผูกรองรับไว้ แล้วกลับไปนอนเล่นที่บ้าน ได้เวลาก็ปีนขึ้นไปเทเอามา รวมได้ปริมาณเยอะๆแล้วก็กรองเอาสิ่งแปลกปลอมออก เทน้ำตาลสดใส่กระทะใบบัวใหญ่ๆเคี่ยวไฟ หมั่นเอาใบพายกวนไปเรื่อยๆจนข้น ต้องระวังอย่าให้ไหม้

เอาน้ำตาลที่ข้นเกือบแข็งนี้บรรจุใส่ปี๊บ เรียกน้ำตาลปี๊บ
เอาไปใส่ถ้วยแล้วคว่ำ หรือหยอดออกมาเป็นก้อน เรียกน้ำตาลปึก
เอาไปหยอดใส่วงแหวนที่ทำจากใบตาลออกมาเป็นแว่นๆ เรียกน้ำตาลแว่น

สีที่ต่างกันเพราะไฟอ่อนไฟแก่ด้วยครับ
แต่รูปน้ำตาลแว่นข้างล่างอาจจะเป็นน้ำตาลที่ทำมาจากอ้อยก็ได้ครับ ใช้น้ำอ้อยผสมจะออกสีคล้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นแว่นแล็กๆบางๆเพราะแพงน่ะครับ
ถ้าทำจากน้ำอ้อย ทางปักษ์ใต้จะเรียกว่างบน้ำอ้อย



บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 05:40

ขอบพระคุณค่ะ  ยิ้มกว้างๆ

เข้ามาเวปนี้ไม่ผิดหวัง ความรู้รอบตัวมากมายให้ศึกษา เลยไปป่าวประกาศให้เพื่อนๆที่ชอบเรื่องราวเหล่านี้
มาเป็นนักเรียนด้วยกัน อาจารย์ทุกท่านในสถานศึกษานี้ใจดีมากๆเลยค่ะ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 08:48

ขนมไทย ใส่น้ำตาลปิ๊บละลาย รสหอมหวานอร่อยมาก    อย่างขนมปลากริมไข่เต่า    ไม่สามารถหาน้ำตาลอื่นมาแทนที่ได้
แต่ตอนนี้หากินได้ยากมาก   ไปร้านอาหารไทย ไม่เจอเมนูปลากริมไข่เต่าเลยค่ะ    เจอแต่ทับทิมกรอบกับลอดช่อง

งบน้ำอ้อย เป็นสำนวนหมายถึงอะไรที่เล็กๆน่าเอ็นดู      ดิฉันเคยได้ยินผู้ใหญ่เปรียบเทียบเด็กหน้าเล็กๆ ว่า "หน้าเท่างบน้ำอ้อย"

ในเมืองหนาวอย่างอเมริกา น้ำตาลปึก ทำจากต้นเมเปิ้ล    ในหนังสือ Little Houses ของลอร่า อิงกัลส์ ไวลเดอร์ เรียกน้ำตาลปึกจากต้นเมเปิ้ลว่า  mapple sugar cake

จากชีวิตรันทดในบั้นปลายของพระยาทรงสุรเดช  กระทู้นี้ก็ยังหาของหวานๆมาเจือรสขมให้คลายลงได้บ้าง   นี่คือเอกลักษณ์ของเรือนไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 11:04

^
กินขนมเสร็จแล้วใช่ไหมครับ เสร็จแล้วเชิญกินบอระเพ็ดผัดพริกขี้หนูราดน้ำปลาต่อเลย

1 กันยายน 2482 เกิดสงครามในยุโรป เยอรมันโดยการนำของฮิตเลอร์ผู้นำต้นแบบจอมเผด็จการ ยกกองทัพเข้าตีโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ 3 กันยายน อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมัน แต่ไม่สามารถสนับสนุนกำลังทหารได้ทัน โปแลนด์แตกในเวลาเพียง 27 วัน เยอรมันหยุดชั่วคราวเพื่อจัดทัพและดำเนินวิธีการทูตกับรัสเซียเพื่อซื้อเวลาหาพันธมิตร
 
พระยาทรงได้ติดตามข่าวสงครามด้วยความสนใจยิ่งยวด ท่านยอมลงทุนซื้อแผนที่ทวีปยุโรปหลายฉบับ และซื้อหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสที่ออกในไซ่ง่อนมาอ่านเหมือนแฟนฟุตบอลโลกที่คลั่งไคล้การทำศึกลูกหนังในอาพริกาใต้  พอถึง9 เมษายน 2483 เยอรมันบุกเดนมาร์ก และนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส ท่านใช้เวลาวันละ4-5 ชั่วโมงอยู่กับการวิเคราะห์แผนที่ว่าใครจะดำเนินกลยุทธ์อย่างไร  เมื่อสิ่งที่ท่านคิดเกิดเป็นเช่นนั้นจริงๆ ท่านจะหัวเราะรื่นเริง มันทำให้เวลาของท่านไม่ถูกครอบงำกับวิตกจริตได้เป็นอย่างดี

12 พฤษภาคม กองทัพเยอรมันนำด้วยรถถังอันทรงอานุภาพก็แปรขบวนข้ามแนวต้านทานของฝรั่งเศสที่แนวชายแดน บุกตลุยมุ่งสู่ปารีสทันที
14 กรกฎาคม ปารีสแตก ฮิตเลอร์บินไปฉลองชัยชนะเพื่อขีดเส้นพรมแดนใหม่ผนวกบางแคว้นของฝรั่งเศสเข้ากับอาณาจักรไรซ์ที่3 แบ่งเค็กส่วนหนึ่งให้สหายศึก อิตาลีของมุสโสลินีไป แล้วเชิดนายพลอองรี เปไตน (Henri Petain) ทหารเกษียณแก่งั่กวัย83 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลหุ่นฝรั่งเศสที่เรียกว่ารัฐบาลวีชี (Vichy government) สำหรับดูแลกิจการทั่วไปภายใต้อาณัติ แต่รัฐบาลนี้ไม่สามารถครอบงำคนฝรั่งเศสทั้งหมดได้
17กรกฎาคม วิทยุBBCออกอากาศในกรุงลอนดอนได้กระจายเสียงของนายพลชาร์ล เดอ โกลล์รับฟังได้ทั่วโลก ประกาศตั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรี(Free French)ให้คนหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสร่วมมือกับกองทัพอังกฤษต่อต้านเยอรมันในทุกรูปแบบ ชั่วเวลาปลายเดือนนั้นเองประชาชนรวมแล้วกว่าเจ็ดพันคนได้อาสาจับอาวุธเข้าร่วมกับขบวนการใต้ดินนี้ สร้างความเสียหายให้แก่กองทัพเยอรมันมาก

ขบวนการฝรั่งเศสเป็นต้นแบบของเสรีไทยในการต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นในอีกไม่นานต่อมา

ความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสต่อเยอรมันไม่มีผลถึงอินโดจีน ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสยังปกครองอินโดจีนอยู่ภายใต้ค่ำสั่งการของรัฐบาลหุ่นวีชี แม้จะไม่ชอบหน้าเลยก็ตาม




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 11:11

ก่อนหน้าที่กองทัพเยอรมันจะบุกยึดกรุงปารีสได้ รัฐบาลไทยและอินโดจีนฝรั่งเศสได้ตกลงทำสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ยังไม่ได้ลงนามเพราะทางอินโดจีนส่งไปให้รัฐบาลแม่ที่ปารีสให้สัตยาบัน ก็จะลงนามอย่างไรได้ คนเซนต์กำลังวิ่งหนีตายจากกองทัพเยอรมันอยู่ ต่อมาพอเยอรมันจัดตั้งรัฐบาลวิชีเสร็จ ญี่ปุ่นมหามิตรของเยอรมันก็เข้าเจรจาขอให้กองทัพญี่ปุ่น ใช้เมืองฮานอย และเมืองไฮฟอง เป็นฐานทัพเพื่อเตรียมรุกใหญ่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ฝรั่งเศสถูกเยอรมันบีบคอให้ตกลงยินยอม

3 สิงหาคม 2484  ญี่ปุ่นส่งทหารเข้าไปในอินโดจีน35,000คน ทำให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกับไทยถึงลงนามไปก็ไร้ความหมาย รัฐบาลไทยได้ประท้วงไปยังรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสอย่างรุนแรงว่าการยินยอมของฝรั่งเศสเช่นนั้นเป็นอันตรายแก่ประเทศไทย ฉะนั้นหากฝรั่งเศสจะรักษาอธิปไตยในอินโดจีนไว้ไม่ได้ ไทยก็จำต้องเรียกร้องเอาดินแดนคืน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันประเทศ และมิให้คนไทย ที่อยู่ในเขตปกครองของฝรั่งเศส ต้องตกเป็นอยู่ในปกครองของประเทศที่ 3 (หมายความถึงญี่ปุ่นที่ชอบเกณฑ์แรงงานทาสจากเกาหลีเมืองขึ้นของตนไปรบในจีน) รัฐบาลไทยส่งคณะทูตไปเจรจากับรัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสที่กรุงฮานอย  แต่ก็กลายเป็นวิวาทะเผ็ดร้อน ฝรั่งเศสประนามไทยว่ากำลังใช้มีดแทงข้างหลัง(สำนวนนี้ฝรั่งหมายถึงการทรยศต่อเพื่อน) ในขณะที่ตนเพลี่ยงพล้ำ  และพูดรุนแรงว่ายกดินแดนที่ยึดจากไทยให้ญี่ปุ่นดีกว่าที่จะคืนให้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 11:22

ในเมืองไทยระหว่างนี้เริ่มมีการปลุกกระแสขึ้นแล้วว่า ถึงเวลาที่ลูกหลานไทยจะต้องเอาคืนจากฝรั่งเศสบ้างหลังจากที่ได้ข่มเหงย่ำยีไทยไว้ตั้งแต่ร.ศ.112 ในคณะรัฐบาลหลวงพิบูลเองมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นายปรีดีได้ค้านความคิดของหลวงพิบูลโดยมีเหตุผลว่า การเรียกร้องดินแดนของไทยคืนจากฝรั่งเศสเป็นสิทธิโดยชอบธรรมก็ถูกอยู่ แต่ควรจะกระทำในขอบเขตสันติวิธีและการดำเนินการทางการทูต มิใช่การทหาร การบในยุโรป เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบก็จริง แต่ก็เร็วเกินไปที่จะมั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะสงคราม ขณะนั้นสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ขยับปืนเลย หากปรากฏภายหลังว่าฝรั่งเศสกลับมาเป็นฝ่ายชนะ ไทยจะต้องเสียหายหนักเข้าไปใหญ่ แต่หลวงพิบูลก็เพียงแต่รับฟัง หาได้เชื่อไม่ คงปลุกระดมในทุกสื่อจนเลือดรักชาติของคนไทยเดือดพล่าน ควันไฟออกหู รอเมื่อไหร่ท่านผู้นำจะชักธงรบให้เข้าประจัญบาน

ครั้นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีสแจ้งกลับมาว่า รัฐบาลวีชีขอให้สนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสมีผลใช้บังคับได้เลย ไม่ต้องเสียเวลารอการลงนามแลกเปลี่ยนสัตยาบัน รัฐบาลไทยจึงตอบฝรั่งเศสกลับไป เมื่อ11กันยายน 2483 ว่าไทยยินดีจะรับตกลง หากฝ่ายฝรั่งเศสยอมรับเงื่อนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้คือ

1 ให้วางแนวเส้นเขตแดนลำแม่น้ำโขงใหม่ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ (แทนที่จะกำหนดให้เกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงเป็นดินแดนของฝรั่งเศส)

2 ปรับปรุงเขตแดนใหม่ให้เป็นไปตามธรรมชาติ คือ ใช้แม่น้ำโขงเป็นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับอินโดจีน ตั้งแต่ทิศเหนือในลาวมาจนทิศใต้ต่อกับชายแดนเขมร โดยให้ฝ่ายไทยได้รับดินแดนทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับหลวงพระบางและตรงข้ามกับปากเซคืน

3 ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าหากอินโดจีนเปลี่ยนจากอธิปไตยฝรั่งเศสไป ฝรั่งเศสจะยกอาณาเขตลาวและเขมรที่ได้จากไทยไป คืนให้แก่ไทยทั้งหมด


5 ตุลาคม 2483 ฝรั่งเศสได้ตอบบันทึกของไทยกลับมาดังนี้

1 รัฐบาลฝรั่งเศสไม่รับหลักการที่จะยกดินแดนที่กล่าวมานั้นคืนให้ไทยทั้งสิ้น โดยให้เหตุผลว่า เขตแดนที่เป็นอยู่เป็นข้อตกลงที่ถึงที่สุดแล้ว ตามสนธิสัญญาที่กระทำกันไว้ในวันที่ 23มีนาคม 2450 (สมัยรัชกาลที่ 5)

2เพื่ออนุโลมตามคำของไทย รัฐบาลฝรั่งเศสจะจัดการให้ผู้เชี่ยวชาญจากอินโดจีนมาประชุมในปัญหาเรื่องเกาะในลำน้ำโขง ตามที่ฝรั่งเศสเคยยินยอมว่าจะให้มีการหยิบยกขึ้นมาเจรจาต่อได้ เพราะไทยได้ให้คำมั่นในตอนนั้นว่า จะไม่เสนอข้อเรียกร้องอื่นๆเกี่ยวกับดินแดนอีก

3 ฝรั่งเศสจะรักษาสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนอินโดจีนไว้ต่อข้ออ้างสิทธิ์ทั้งปวง และต่อการรุกราน ไม่ว่าจะมาจากทิศทางใด
.
.
.
8 ตุลาคม 2483 นิสิตจุฬาลงกรณ์เป็นผู้นำเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลใช้กำลังทหารยึดดินแดนคืน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 11:33

ทำไมจึงเป็นจุฬา ผมอยากจะเชื่อว่าเป็นเพราะหลวงพิบูลคือท่านอธิการบดีที่นั่น แต่คนที่มีบทบาทกระตุ้นให้คือพันโทประยูร ภมรมนตรีผู้เป็นรองอธิการบดี และมีบทบาทใกล้ชิดกับนิสิตมากกว่า ส่วนที่ธรรมศาสตร์นั้น นักศึกษาที่นั่นก็ตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน ที่ทุกสื่อของเมืองไทยต่างระดมกันปลุกกระแสสงครามตามทิศทางที่ท่านผู้นำชี้ไปข้างหน้าเหมือนกัน พอมีข่าวว่านิสิตจุฬาจะเดินขบวน ธรรมศาสตร์เองซึ่งมีการจัดตั้งแกนนำขึ้นมาเคลื่อนไหวจะเข้าร่วมด้วยอยู่แล้ว ท่านอธิการบดีปรีดีเลยเรียกประชุมนักศึกษาในเวลาเดียวกับกำหนดเดินขบวน นักศึกษามากันล้นห้องประชุม นึกว่าท่านจะพูดอุ่นเครื่องก่อนเวลาให้ แต่ท่านก็กลับเลกเช่อร์เรื่องสงครามยุโรป ใครจะแพ้ใครจะชนะ ไทยคือใครในสังคมโลก ควรจะวางตนเองอย่างไร ยังไม่ทันจบ ขบวนของจุฬาเดินร้องเพลงกึกก้องมาทางถนนราชดำเนิน มุ่งสู่กระทรวงกลาโหม นักศึกษาธรรมศาสตร์ในห้องประชุมก็เฮไปร่วมกับแกนนำเดินขบวนแบกป้ายไปสมทบกับจุฬา

หลวงพิบูลรอรับการเดินขบวนเรียกร้องนี้อยู่ที่กระทรวงกลาโหม กำลังลุ้นว่านักศึกษาธรรมศาสตร์จะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าอธิการบดีเรียกประชุมด่วนดักหน้าไว้ พอมีเสียงตะโกนแว่วๆว่าขบวนนักศึกษาธรรมศาสตร์เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยแล้ว หลวงพิบูลถึงกับยิ้มออก และออกไปยืนรอรับบทพระเอกบนระเบียงตึก



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 12:35

มาเพิ่มเรตติ้งกระทู้ค่ะ

โชว์รูปด้านหน้า ของหลวงพิบูล  บนระเบียงตึกชั้นบนของกระทรวงกลาโหม วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 12:54

ตามรูปคุณเทาชมพูไปพบเรื่องนี้

http://iseehistory.socita.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711046&Ntype=1

๘  ตุลาคม  ๒๔๘๓  การเดินขบวนได้เริ่มขึ้น  ประชาชนนับหมื่นทุกเพศทุกวัย พากันมาจากทุกสารทิศ คนเฒ่าคนแก่ อุ้มลูกจูงหลาน ร้องไห้ฟูมฟายด้วยความเคียดแค้นที่ไทยต้องเสียดินแดนไป ความรู้สึกนี้ได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ เป็นการแสดงมติมหาชนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั้งชาติ



ขบวนการเรียกร้องดินแดนคืนของยุวชนนายทหาร ไหลหลากมาเต็มหน้าพระลานและท้องสนามหลวง และได้มาหยุดชุมนุมกันหน้ากระทรวงกลาโหม

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  พันเอก หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต รองผู้บัญชาการทหารบก เจ้ากรมยุวชนทหาร และรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาต้อนรับที่หน้ากระทรวงกลาโหม ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา ให้พี่น้องชาวไทยที่อยู่ในดินแดนดังกล่าวได้กลับมาร่วมเป็นบ้านพี่เมืองน้องของไทยตามเดิม และยุวชนนายทหาร ทั้งสองมหาวิทยาลัย จะมอบชีวิตไว้เป็นชาติพลี

พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ได้กล่าวปราศรัยต้อนรับ และสรรเสริญสดุดีในความรักชาติ ความสามัคคี และความเสียสละ เพื่อประเทศชาติของชาวไทยทั้งมวล และได้ร่วมกันกล่าวปฏิญาณตน หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จบแล้วได้กล่าวอวยชัยให้พร ไชโยสามครั้ง เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นที่สุด

 

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 13:04

จุลลดา ภักดีภูมินทร์เล่าเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง เดินขบวนครั้งแรก พุทธศักราช ๒๔๘๓

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=5127&stissueid=2715&stcolcatid=2&stauthorid=13

         ทว่า เมื่อถึงวันที่ ๘ ตุลาคม บรรดานิสิต นิสิตา นักเรียนเตรียมจุฬาฯ ก็รวมตัวกันที่บริเวณมหาวิทยาลัยแต่เช้า พากันเดินขบวน ชูป้ายที่ช่วยกันทำช่วยกันเขียนด้วยถ้อยคำต่างๆ คน ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ คน เดินกันไปตะโกนเสียงลั่นสนั่นไปตามท้องถนน เป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ผู้คนจึงพากันตื่นเต้น และพลอยถูกปลุกให้เกิดความรู้สึกรักชาติขึ้นมาด้วย
         เดินกันไปร้องตะโกนกันไปตามถนนจนถึงกระทรวงกลาโหม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ไปกล่าวปราศรัยท่ามกลางเสียงโห่ร้อง แล้วจึงพากันเดินขบวนกลับ
         ตอนบ่ายประมาณ ๑๕.๐๐ น. วันนั้น นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็รวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยบ้าง แล้วเดินขบวนไปที่กระทรวงกลาโหม ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มาปราศรัยเช่นกัน และได้นำนักศึกษา กล่าวคำปฏิญาณตนหน้ากระทรวงกลาโหม หันหน้าไปยังวัดพระแก้ว
         ตั้งแต่วันที่ ๘ เป็นต้นมา ก็มีการเดินขบวนกันคึกคักทั่วพระนครแล้วลุกลามออกไปตามต่างจังหวัด พากันเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืนกันอย่างครึกโครม
         แต่การเดินขบวนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คือการเดินขบวนของประชาชนหลายหมื่นคน ซึ่งมีทั้งองค์การต่าง ๆ และประชาชน ซึ่งมาชุมนุมกัน ณ ท้องสนามหลวง แล้วออกเดินถือป้ายแห่แหนไปทั่วพระนคร
         เวลานั้นผู้เล่ายังเด็ก ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอก แต่ผู้คนในบ้านนั้นหลายคนออกไปดูเขาบ้าง บางคนที่เป็นเด็กชายคะนองใกล้หนุ่มก็อาจพลอยไปสมทบเดินกับเขา โดยเฉพาะเด็กชายวัยรุ่นซึ่งมีหน้าที่รับใช้พ่อ ลุง อา กลับมาทำท่าเดินถือป้ายให้พวกทางหลังบ้านดู ปากก็ร้องว่า
         “พูดดี ๆไม่ชอบต้องปลอบด้วยปืน”
        ประโยคนี้ดูจะ ‘ฮิต’ ที่สุดขณะนั้น
         ร้องถามว่า “ไปไหน”
         แล้วตอบเอง “ไปปากเซ”
         ถามอีก “ไปทำไม”
         ตอบเอง “ไปรบกับมัน”
         ย่าเดินออกมาจากทางหน้าเรือนพอดี ร้องถามว่า
         “ปากเซอยู่ไหน เอ็งรู้กะเขาเรอะ”
         เขาทรุดลงนั่งคุกเข่า หัวเราะแหะ ๆ
         “ไม่ทราบครับผม”
         ย่าด่าคำหนึ่งด้วยความเคยปากอย่างคนแก่สมัยโบราณ แต่ก็อดหัวร่อไม่ได้
         ขบวนประชาชนหลายหมื่นคนนั้น มีอยู่คณะหนึ่งใช้ชื่อว่า ‘คณะเลือดไทย’ เขาแจกใบปลิวด้วยมีข้อความปลุกใจ และขอให้รัฐบาลดำเนินการเรียกร้องเอาดินแดนคืนมา
         อ่านให้ย่าฟังแล้วแต่จำไม่ได้เลย จำได้แต่เนื้อเพลงปลุกใจที่หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้แต่ง ที่ว่า
         “เลือดไทยไหลริน ทาแผ่นดินไว้ชื่อ
         ให้โลกได้รู้ร่ำลือ ว่าเลือดไทยกล้าหาญ”
         เมื่อเด็ก ๆ เคยร้องได้จบ ส่วนมากร้องได้จบเกือบทุกเพลง เช่นเพลง ‘ข้ามโขง’
         ต่อมายังไม่ทันได้ดินแดนคืน ก็เกิดรบกันขึ้นตามชายเขตแดนก่อน แล้วเลยเป็นสงครามใหญ่เหมือนกัน ที่เราเรียกว่าสงครามอินโดจีน รัฐบาลส่งกองทัพไปรบ จำได้แม่นยำ ๒ กองทัพ ที่จำได้เพราะมีเพลงปลุกใจออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเราเด็กๆพากันร้องตาม มาถึงตอนนี้เหลือจำได้เพียงกระท่อนกระแท่น
         “ทัพพรหมโยธี ไชโย (ชูกำปั้น) ยกเข้าโจมตี พวกไพรี แตกหนีพ่ายไป ไชโย...ไชโย” ตอนหนึ่ง
         ส่วนอีกตอนหนึ่งจำได้ยาวหน่อย
         “กองทัพเกรียงศักดิ์ ยกเข้าหาญหัก ไชโย (ชูกำปั้น) ได้จำปาศักดิ์ มาสมัครสมาน
         พี่น้องเลือดไทย ล้วนใจชื่นบาน เทอดเกียรติทหารหาญ ของไทยยิ่งเอย”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 13:33

ตามรูปคุณเทาชมพูไปพบเรื่องนี้


ผู้แทนของมหาวิทยาลัยทั้งสองในเครื่องแบบยุวชนทหาร ได้เรียนเสนอการเรียกร้องดินแดนคืนต่อ พลตรี หลวงพิบูลสงคราม ขอให้เป็นผู้นำกองทัพของชาติ เข้ายึดเอาดินแดนของไทยกลับคืนมา 

นึกถึงใจท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันนั้น    ว่าท่านจะรู้สึกอย่างไรบ้าง กับชะตากรรมของประเทศที่ท่านมองเห็นล่วงหน้า
หลวงพิบูลฯ เป็นคนที่สร้างจิตวิทยามวลชนได้เป็นผลสำเร็จดีมาก    ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่จนปีนี้  ท่านจะระดมคนได้กี่สิบล้านกันนะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 13:37

เพลง มณฑลบูรพา
" มณฑลบูรพา      เคยได้เป็นของเรา                       

                  เสียมราฐ    พระตะบอง        บ้านพี่เมืองน้องมาช้านาน   แต่ครั้งโบราณก่อนเก่า
                  ไทย . . . ชาติไทยใจเศร้า     เลือดเนื้อเชื้อเผ่าถูกเขายื้อแย่งไป                                                                 
                  คอย . . . ไทยเราเฝ้าคอย     แต่กำลังเราน้อยสู้เขาไม่ไหว
                  ร่วมสามสิบปี     ทัพไทยก็มี              สมรรถภาพและเข้มแข็งยิ่งใหญ่
                  ทหารภาคบูรพา    ทัพพรหมโยธี        รุกไล่โจมตี   พวกไพรีแตกหนีพ่ายไป                                         
                 กองทัพบูรพา    องอาจเก่งกล้า          เทอดเกียรติก้องหล้า     เลือดทหารชาติไทย "
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 237  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 14:11

คุณเพ็ญชมพูเดินขบวนจากจุฬามาสมทบแล้ว เฮ

ขอตัดแว๊บมาที่พนมเปญนิดนึงครับ

ตั้งแต่คุยกันที่ไซ่ง่อนไม่รู้เรื่อง ฝรั่งเศสก็เตรียมตัวทำสงครามกับไทย ในเขมรแย่หน่อยเพราะอยู่ใกล้ชิดติดกัน คนไทยเยอะแยะจึงถูกฝรั่งเศสเหล่มองไม่ไว้ใจเพราะเป็นชนชาติศัตรูไปแล้ว คนต่างด้าวในอินโดจีนถูกหมายเกณฑ์ให้ไปรายงานตัวเพื่อบรรจุเข้าเป็นพลทหารตามกองพันทหารต่างด้าวต่างๆ พระยาทรงท่านรอดตัวไปไม่โดนหมาย แต่ร.อ.สำรวจและหลวงรณโดนพร้อมๆกับชายไทยอีกหลายคน ไม่ว่าจะทำหนังสือร้องทุกข์ หรือร้องเรียนใดๆก็เป็นผล สุดท้ายจะเอาเป็นทหารก็ยอมละ ขอยศกันหน่อยเพราะเคยเป็นนายทหารสัญญาบัตร อย่าให้ขนาดถึงกับเป็นพลทหารเลย ก็ไม่รับฟัง ใดๆทั้งสิ้น ต้องรายงานตัวตามกำหนด นอนโรงทหารไป1คืน เช้ากำลังรอรับเครื่องแบบนายทหาร มองสิเออร์เซมเปร นายตำรวจผู้ดูแลพวกกบฎลี้ภัยก็ปรากฏตัวเหมือนสวรรค์ส่งมา ส่งหนังสือของผู้สำเร็จราชการอินโดจีนสั่งการให้ผู้บังคับการกรม  ปลดปล่อยตัวนายทหารไทยทั้งหมดเป็นอิสระ

หายใจโล่งอกอยู่ได้สามวัน  พอกองทัพไทยเข้าประชิดตลอดแนวพรมแดนติดต่อระหว่างกัน รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศสก็มีคำสั่งด่วน ให้อพยพอดีตนายทหารทั้งหมดออกจากพนมเปญไปอยู่เมืองญวนภายใน3ชั่วโมง(สามชั่วโมง) เพราะความไม่ไว้วางใจ และในคำสั่งระบุให้ไปรายงานตัวต่อตำรวจในไซ่ง่อนทุกๆ3วันอีกด้วย

ความซวยไม่จบของคนที่บ้านเกิดเมืองนอนไม่ต้องการ ประเทศที่คุ้มกะลาหัวก็กลับไม่ไว้วางใจ บุคคลที่น่าสงสารรวมทั้งครอบครัวจึงบ่ายหหน้าไปหาพระยาทรง สุภาพบุรุษผู้ใจกว้างอาศัย ผู้อยู่อาศัยในห้องแถวแคบๆ ห้องนอนเดียว พื้นที่รวมกว้าง3เมตร ยาว6เมตรนั้น นอกจากเป็นห้องนอนของสามคนพ่อแม่ลูกแล้ว ก็เป็นครัว ห้องอาหาร และห้องรับแขก แต่ท่านก็ยินดีต้อนรับทุกคนด้วยความเต็มใจ รวมทุกชีวิตที่จะอยู่ในรูหนูนั้นแล้ว10คนพอดี และด้วยความเป็นผู้ดีของท่าน ท่านยืนยันให้หลวงรณผู้เป็นแขกนอนในห้อง ส่วนท่านผู้เป็นเจ้าของบ้านออกมากางเตียงผ้าใบนอนนอกระเบียง โดยไม่ยอมฟังเสียงวิงวอนของหลวงรณที่จะขอสลับกัน

คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก การที่มีคนมาอยู่เยอะๆทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปในทางดีขึ้น ในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำมาหากิน

กลับมาทางเมืองไทย ทุกคนใจจดจ่ออยู่กับที่จะได้ล้างแค้น ไชโย ท่านผู้นำของเรา ไชโย เอามันให้ตาย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 238  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 14:53

อ่านพบคำว่า ยุวชนทหาร มาก่อน    เคยอ่านพบว่ามีอยู่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒   คุณวิกี้ให้คำตอบมาว่า
เยาวชนที่ได้รับการฝึกวิชาทหารขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2477 - 2490 เนื่องจากรัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามมีนโยบายพื้นฟูการฝึกวิชาทหารให้แก่ประชาชน โดยทำการฝึกจากนักเรียนและนิสิตนักศึกษาตามอย่างการฝึกยุวชนนาซีของเยอรมนี
ยกเลิกไปเมื่อพ.ศ. ๒๔๙๐

รูปนี้ ยุวชนทหารน่าจะกำลังฝึกกันอยู่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 239  เมื่อ 05 ก.ค. 10, 15:57

เดี๋ยวนะครับยังรบไม่ได้

การที่อยู่ๆกระจอกอย่างไทยจะส่งทหารไปรบกับใครโดยที่มหาอำนาจเจ้าของพื้นที่ไม่รู้ไม่เห็นด้วยนั้น อย่าได้คิดนะครับ ยิ่งสมัยนี้ยิ่งไม่ต้องคิดใหญ่ พอหลวงพิบูลอยากจะรบอินโดจีนฝรั่งเศส ก็ส่งทูตออกเป็นสองสาย สายแรกไปยุโรป เข้าหาเยอรมันเจ้าของฝรั่งเศสที่กลายเป็นเมืองขึ้นเสียเองไปแล้ว อาศัยเส้นพระยาพหลนักเรียนนายร้อยยุคไกเซอร์เพื่อนรุ่นเดียวกับนายพลเกอริง แม่ทัพใหญ่ของนาซีแบบซี้ปึ่ก ให้พระประศาสตร์อดีตผู้ก่อการที่ถูกปลั่งไปอยู่เบอร์ลินประสานให้ นี่ก็นักเรียนนายร้อยเยอรมันเหมือนกัน ท่านผู้อ่านคงจำได้ นายพลเกอริงจึงเปิดอกพูดว่าไอเจรจากับไอ้เศสให้แล้วว่ะ แต่มันไม่ยอม เอายังงี้แล้วกัน มันดื้อนักพวกยูก็อัดมันซะ แต่เอาแต่เบาะๆนะโฟ้ย อย่ารุกเกินดินแดนที่มันเอาจากยูไป  เดี๋ยวจะยุ่งไม่จบ หลังจากนั้นก็ชวนกินเบียร์กับขาหมูทอดหนังกรอบต่อ ไม่พูดการเมืองอีก
 
สายที่ไปญี่ปุ่นนั้น ไม่ไปไม่ได้ เพราะกองทัพญี่ปุ่นอยู่ในเมืองญวนเต็มไปหมด บังเอิญแม่ทัพโตโจก็นักเรียนนายร้อยเยอรมันยุคไกเซอร์ รุ่นเดียวกับเกอริงและพระยาพหลเหมือนกัน น่าจะคุยกันได้ ญี่ปุ่นไม่ค่อยพอใจนักเพราะตามแผนแล้ว เล็งไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศสเป็นพันธมิตร ไม่อยากให้รบกันเองเปลืองไพร่พลและยุทโธปกรณ์  น่าจะถนอมไว้รบกับศัตรูของญี่ปุ่นมากกว่า แต่ก็ไม่อยากขัดใจไทยเพราะกำลังจะจีบให้ร่วมวงศ์ไพบูลย์มหาเอเซียบูรพาด้วยกัน แต่ฝรั่งเศสในอินโดจีนมันทำท่าญวนๆกับญี่ปุ่นอยู่ ญี่ปุ่นอยากจะจับทุ่มสั่งสอนในท่ายูโดนาเงะโนกาตะอยู่ครามครัน จึงพยักหน้าให้ไทย แต่ปากก็พูดว่าญี่ปุ่นจะขอเป็นกลางไม่ยุ่งเรื่องนี้  เพราะรอเวลาจะเข้าตีจีนทางอ่าวตังเกี๋ยไม่มีเวลาสนใจเรื่องของไทย  ทูตทหารทั้งสองคณะก็กลับไปรายงานให้ท่านผู้นำได้รับทราบ เป็นอันว่าทุกอย่างพร้อมที่จะเล่นสงครามสาดกระสุนปืนใส่กันแล้ว


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17 18 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง