เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329408 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 09:39

วิชาภาษาไทย ให้คนเรียนสาขาอื่นมาตอบ   อาจจะได้เนื้อถ้อยกระทงความมากกว่าค่ะ   ขอบคุณคุณนวรัตนที่มาอธิบายให้ฟัง
ขอแก้ตัวว่าไม่ได้ตอบคุณ ภ.จ.ท.ด.ป.ค.ท.   เพราะยังหาคำตอบไม่ได้    มันก็คล้ายๆกันไม่ว่าวันหน้าหรือวันหลัง   รอคุณหลวงเล็กก็ไม่เห็นเข้ามา
คือภาษาไทยเป็นภาษาที่ดิ้นได้ โดยเฉพาะภาษาพูด  จะล็อคเอาลงกรอบได้ยาก  รู้มากเลยอธิบายยาก 
เพราะเราก็มีคำว่า "วันหน้าวันหลัง" ที่หมายความอย่างเดียวกัน
" วันหน้าวันหลัง  คุณเทาชมพูกับคุณม้า ก็ระวัง  อย่าไปโยนหน้าที่ให้คุณนวรัตนอีกนะ"
แต่ถ้าจะจำแนกอย่างคุณนวรัตน ดิฉันก็เห็นด้วยค่ะ  วันหน้าเป็นอนาคตไกลกว่าวันหลัง

ส่วนเรื่องทูนเกล้าฯ หรือทูลเกล้าฯ      อาจารย์เจ้าคุณที่สอนในร.ร.เตรียม  สอนแบบเดียวกับที่คุณนวรัตนสอน   ไม่รู้ว่าท่านเดียวกันหรือเปล่า
ของเบาพอยกได้  ใช้ทูนเกล้าฯ    ของหนักยกไม่ไหว หรือเป็นนามธรรม ใช้น้อมเกล้าฯ
เดี๋ยวนี้ใช้ทูลเกล้าฯหมดแล้วหรือไม่ว่าอะไร ?
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 10:28

^
ครับ สำนักพระราชวังเองก็ใช้เช่นนั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 10:49

พระยาทรงเขียนจดหมายไปถึงร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส.ของท่านมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“…..เรื่องกลับพนมเปญเป็นอันล้มเหลว เขาบอกว่าได้รับคำตอบจากปารีสแล้ว ไม่ให้ไป เป็นอันว่ากันเป็นเหี้ยตัวสำคัญทีเดียว ถ้าปล่อยเพ่นพ่านก็จะทำความระยำอัปรีย์ขึ้นได้ กันไม่มีเหตุผลที่จะต้องเสียใจในการที่เขากักตัวไว้ เพราะเป็นความผิดของกันเอง การที่รัฐบาลฝรั่งเศสยังกรุณาให้อยู่ในไซ่ง่อนตามสบายก็เป็นพระเดชพระคุณของเขามากแล้ว ส่วนการไม่รู้จักทำมาหากิน เป็นความบัดซบของกันเอง…..”

ร.อ.สำรวจมาทำร้านขายข้าวแกงและขนมไทยๆแทนคุณหญิงและลูกสาวของเจ้านายอยู่ก็ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย มีแต่ความพยายามแต่ขาดพรสวรรค์ในเรื่องรสชาดที่ยังไม่ค่อยถูกปากคนเขมร แม้อาหารทั้งสองชาติจะมีความใกล้เคียงกันมากไม่เหมือนญวนก็ตาม ก่อนหน้าพระยาทรงจะได้รับข่าวทางปารีสนั้น ร.อ.สำรวจโชคดีนิดหนึ่ง ร.อ. ทวี จันทร์ยิ่งยง เพื่อนรักที่ได้ทุนไปเรียนฟิลลิปปินส์และเคยขอยืมเงินให้ร.อ.สำรวจส่งไปให้เดือนละ30บาท พอทราบข่าวความทุกข์ยากของเพื่อนจึงโอนเงินก้อนใหญ่กลับมาใช้หนี้ แลกได้เกือบ800เหรียญ ผมเลยเห็นควรต้องจารึกชื่อของท่านลงในโลกไซเบอร์ให้เป็นตัวอย่างของคนดี การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหายตราบเท่าที่เราพยายามที่จะใช้หนี้ เป็นหนี้แล้วไม่ใช้เขานี่เป็นบาปเท่ากับการลักทรัพย์ แต่หนี้ที่เกิดจากการพนันเป็นความโงภ(แปลว่าโง่+โลภ)นะขอรับ

เล่ามาถึงตอนนี้ต้องขอเอ่ยเสียหน่อยว่า ในกรุงเทพมีการปล่อยข่าวว่าท่านผู้นำดูแลผู้ที่เคยเป็นศัตรูทางการเมืองมาก่อนอย่างดี ส่งเงินส่งทองไปให้พวกที่โดนเนรเทศใช้สอยไม่ลำบาก ลูกหลานก็ดูแลให้การศึกษาไม่ละเลย มีผู้ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คือร.อ.สำรวจคนหนึ่งละที่เขียนไว้ว่า “อย่าว่าแต่ผู้ก่อการ24มิถุนา75จะให้เงินให้ทองเลย แม้ชีวิตเลือดเนื้อเขาก็จะทำลายให้สิ้น ตายไปเสียโดยเร็ว การที่เริ่มเดินทางจากประเทศเมืองเกิดมาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด หวุดหวิดจะถูกเขาปลิดทิ้งระหว่างทาง ความเมตตาปรานีน่ะหรือ จะหาได้จากพวกเผด็จการเหี้ยมโหด”

เรื่องนี้สอดคล้องกับที่แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ บุตรีของพระยาศรีสิทธิสงคราม(ดิ่น ท่าราบ)ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง“กำศรวลพระยาศรี”ว่าเธอถูกถามเรื่องข่าวลือ ตอนที่สอบติดที่จุฬาแล้ว มหาวิทยาลัยจะไม่ให้เข้าเรียนเพราะเป็นลูกกบฏ เธอจึงหาญไปพบจอมพลป.ๆบอกว่าไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะเป็นการศึกษาไม่น่าจะกีดกัน เธอจึงได้เรียนตามสิทธิ์ และยังได้รับอุปการะเรื่องค่าเล่าเรียนอีกด้วย เธอตอบผู้ถามว่า ไม่จริงหรอก เธอสอบเอนทรานส์ได้ และได้เข้าเรียนโดยปกติเหมือนคนอื่น ค่าเล่าเรียนทั้งหมดก็เป็นเงินของแม่เธอเองทั้งสิ้น คนถามคือคุณณรงค์ จันทร์เรืองก็พอใจในคำตอบ บอกว่าเรื่องนี้คาใจตนมากว่าสามสิบปี “หลงนึกว่าจอมพลป.เขาก็เป็นคนดีนะ”

ยายของผมนามสกุลเดิมว่าไตลังคะ ผมจึงมีญาติอยู่กลุ่มหนึ่งที่เป็นญาติกับณ เณรอีกทีนึง เคยคุยกับพี่ผู้หญิงบอกว่า ลูกของ ณ เณรต้องออกจากโรงเรียน ทั้งแม่และลูกเลยต้องเปลี่ยนนามสกุล ไม่คบหาสมาคมกับญาติพี่น้องคนใดอีกเลย

ขอเล่าเรื่องตัวเองซะหน่อย ตอนผมอายุสัก5ขวบ แม่ไปดูงานอนุบาลศึกษาที่อังกฤษหนึ่งปี ฝากผมไว้กับป้า ตอนนั้นที่บ้านมีญาติผู้พี่ผู้ชายหลายคนสอบเข้าโรงเรียนเซนต์กาเบรียลได้ ผมไม่ได้ไปสอบด้วยหรอกเพราะยังไม่เต็มวัย แต่ป้าพาไปพบอธิการด้วยเผื่อฟลุ๊ก ผมเห็นฝรั่งเครายาวสูงใหญ่ใส่กระโปรงขาวแล้วปวดปัสสาวะจี๊ดขึ้นมาทันที วิ่งออกไปนอกห้องได้ก็ไม่ยอมเข้าไปอีกแล้ว ป้าออกมาเล่าให้พวกรอฟังนอกห้องว่า ตอนแรกเขาก็จะไม่รับ พอบอกว่าเป็นเด็กกำพร้าพ่อ อดีตนักโทษการเมืองเกาะเต่าเท่านั้น ท่านอธิการรับเลยเพราะสงสาร แม่ได้ทราบทางจดหมายตอนป้าฝากตัวชำระค่าเทอมให้ผมเรียบร้อยไปแล้ว ไม่พอใจว่าผมอายุน้อยเกินกว่าจะขึ้นไปเรียนชั้นประถม แต่ป้าบอกไม่เห็นเป็นอะไรเลย เขารับเข้าโดยไม่ต้องเสียแป๊ะเจี๊ยะตั้งพันสองพันก็นับว่าบุญแล้ว ผมขออนุญาตบันทึกเรื่องของท่านอธิการผู้มีพระคุณที่ผมไม่เคยทราบชื่อท่าน ณ ที่นี้ด้วย อยู่โรงเรียนนี้4ปีไปต่อมัธยมที่วชิราวุธ ผู้บังคับการก็รับเข้าโดยไม่ต้องสอบอีก กลายเป็นเด็กเส้นใหญ่ไปเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 10:55

คงเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกขั้นหนึ่ง    ใช้อย่างเดียวกันหมด
ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรถตู้ ๕ คัน เพื่อใช้ในโครงการหลวง....ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายที่ดินจำนวน ๑๐๐ ไร่    ก็"ทูน" หัวกันได้
******************
ปั่นกระทู้ต่อ  ชนกันกลางอากาศกับคุณเจ้าของกระทู้พอดี

อ่านจากที่คุณนวรัตนเล่ามาตั้งแต่ต้นจนค.ห.นี้    ขอสรุปความเข้าใจว่า
๑    เราเริ่มต้นประชาธิปไตยด้วยการปฏิวัติ   เพราะเห็นว่าระบอบที่มีผู้บริหารคนเดียว  ไม่สามารถแก้ปัญหาสังคมในขณะนั้นได้    
ต้องเอาคนกลุ่มใหม่ที่มีความคิดใหม่เข้ามาแก้ไข  เพื่อประโยชน์จะตกอยู่แก่ประชาชนซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ

๒   เมื่อได้อำนาจมาแล้ว    การบริหารก็กลายเป็นว่า  มีผู้แทนของประชาชน คือส.ส. ประเภท ๑ ได้    แต่ก็ต้องมีกลุ่มคนที่ปฏิวัติหรือคนที่มีความรู้ดี  คอยกำกับเป็นพี่เลี้ยงให้  เรียกว่าส.ส.ประเภท ๒    ในระยะ ๑๐ ปี   เพราะประชาชนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจระบอบประชาธิปไตยเพียงพอ
ข้อนี้ ในระยะหลัง เมื่อมี ส.ส. ๒ ประเภทนี้อีก   ดูเหมือนสื่อจะเรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบ    
ไม่ทราบว่าผู้ติดตามงานของคุณสุพจน์ ด่านตระกูล  หาคำอธิบายของคุณสุุพจน์ มาเล่าสู่กันฟังได้บ้างหรือไม่ ว่าทำไมผู้นำคณะผู้ก่อการฯ จึงไปคิดตรงกับสมเด็จพระปกเกล้าฯ ว่าประชาชนยังไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย
๓   หลังจากบริหารประเทศอยู่ไม่ถึง ๑ ปี  ก็เกิดการขัดแย้งในหมู่ผู้ก่อการ  จนมีการรัฐประหารเอานายกฯออก   ไม่ได้โหวตเอาออกในสภา  ตามระบอบประชาธิปไตย
๔   เกิดกบฏบวรเดช  ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย
๕   เกิดจากจับกุมคุมขัง พิจารณาโทษโดยศาลพิเศษ  ซึ่งไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม   จำเลยไม่มีโอกาสตั้งทนาย  หรือหาหลักฐานมาต่อสู้
๖   หลังจากนั้น  คณะผู้ก่อการก็แยกย้ายลี้ภัยการเมืองกันออกนอกประเทศไป    เร็วบ้างช้าบ้าง   สาเหตุตั้งแต่กบฏพระยาทรง  ไปจนถึงกบฏวังหลวง ซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบรัฐสภา ของประชาธิปไตย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 11:20

โอ้..ใช่แล้วครับ ขอบพระคุณที่ให้เบาะแส ขอบคุณอินเทอเน็ตที่ผมเอาช่ื่อฟาเธอร์ฮีแลร์ไปค้นหาภาพ ก็ได้มาในชั่วอึดใจ ใช่เลยหนวดเคราอย่างนี้แหละที่ทำเอาผมถึงกับปัสสาวะรดกางเกง ยังจำได้ชัดเจน

ผมเคยพยายามจะค้นหามาก่อนเหมือนกัน แต่สมัยไม่มีอินเทอเน็ตก็ลำบากเกินจะไปเริ่มต้น เอ้อ ดีใจจังครับที่หาผู้มีพระคุณเจอ

อ้าว กระทู้ก่อนหน้านี้หายไปไหน?


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 11:36

ขอโทษที   โพสต์ไปแล้ว เกิดนึกได้ว่าอาจไม่ใช่    ก็เลยลบกระทู้ไปค่ะ    
คุณนวรัตนไวปานความเร็วแสง อ่านเจอเสียก่อน
ถ้าหากว่าใช่คุณพ่อฮีแลร์ก็ดีแล้วละค่ะ   หายค้างคาใจว่าเป็นใคร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 11:48

กลับมาเรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดชอีกครั้งดีกว่าค่ะ
กลับไปอ่านถึงรายชื่อผู้ถูกประหารรวมทั้งนายดาบพวง พี่ภรรยาของพระยาทรงฯแล้ว  สงสารจับใจ ว่าโทษนั้นหนักเหลือเกิน แค่นายดาบพวงถูกกล่าวหาว่าเดินทางไปรับแผนจากน้องเขยที่เชียงใหม่เท่านั้นยังโดนประหาร    อำนาจในสมัยประชาธิปไตยนั้นแรงจริงๆ
ทำให้ย้อนนึกถึงคดีกบฏ ๑๓๐     ในรัชกาลที่ ๖     พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาด สั่งประหารใครก็ได้  นายทหารหนุ่มที่คิดขั้นล้มราชบัลลังก์   วางแผนกันชัดเจนมีหลักฐานยืนยัน  ก็ยังไม่มีใครถูกประหารสักคน
ถูกแค่จำคุก   แล้วต่อมาก็พระราชทานอภัยโทษให้ทุกคน

เรื่องนี้คงต้องถามคุณV_Mee เผื่อจะมาเล่าให้น้องๆหลานๆ ที่สนใจปวศ. ฟังบ้าง    เล่าได้ละเอียดกว่าดิฉันแน่นอน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 12:03

ระหว่างรอคุณวี_มีเข้ามาทำการบ้านที่ถูกพาดพิงไว้ ผมก็ขอกลับมาเดินเรื่องพระยาทรงต่อสักหน่อยนะครับ ไปสนุกกับเรื่องข้างทางซะหลายเรื่อง

เงิน800เหรียญของร.อ.สำรวจ ละลายไปกว่าครึ่งเพราะได้นายพันเอก เสนาธิการหัวกระทิเป็นที่ปรึกษา ขอคำแนะนำว่าระหว่างค้าน้ำตาลปึกกับทำรถสามล้อให้เช่าอะไรจะดีกว่ากัน พระยาทรงเขียนมาบอกว่า น้ำตาลเป็นของกิน สงครามจะเกิดของกินจะหายาก ราคาแพงอย่างไรคนก็ต้องกิน ส่วนรถสามล้อนั้น พอจนเงินเข้า คนก็เลือกที่จะเดิน ไม่ขึ้นรถให้เสียสตางค์ ฟังดูดีมีหลักคิดนะครับ สำรวจก็เห็นด้วยเพราะทำขนมขายอยู่ ยังไงๆน้ำตาลก็คงไม่เน่าไม่บูดขายไม่ออกก็ได้ใช้ แต่ปรากฏว่าพอลงทุนซื้อมาเยอะแยะจึงได้ความรู้ใหม่อีกประการหนึ่งว่า น้ำตาลปึกนั้นไม่เน่าไม่บูดก็จริง แต่เก็บไว้ระยะหนึ่งก็ไหลเยิ้มละลายได้ ความรู้ใหม่ของสำรวจต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพงมาก แต่คนอ่านกระทู้ของผมได้รับฟรีๆ ใครไม่รู้ธรรมชาติของน้ำตาลปึกก็ขอให้รู้ซะ นักเรียนผู้ใดไม่รู้จักน้ำตาลปึกก็สารภาพมาโดยดีจะได้เฉลยให้

หลวงรณสิทธิ (อนาคตอธิบดีกรมศิลปากรในวันหน้า(เห็นไหมครับตรงนี้ใช้ในวันหลังไม่ได้ วันหน้าวันหลังก็ไม่ใช่อีก))เจ้าของไอเดียทำสามล้อให้เช่าสงสารเพื่อนรุ่นน้องมาก เลยยินดีลงทุนร่วม50-50 ให้เกิดความมั่นใจ ซื้อรถเก่าๆมาเพื่อจะเอาทะเบียน แล้วซ่อมแซมตกแต่งด้วยความใจเย็นไม่เร่งร้อน ได้รถสวยมาคันหนึ่งให้เช่าได้เดือนละ80เหรียญ แบ่งครึ่งกับหุ้นส่วนแล้วได้คนละ40เหรียญ ร.อ.สำรวจภาคภูมิใจในน้ำพักน้ำแรงนี้มาก เงินรายได้จากเดือนแรกนี้ร.อ.สำรวจส่งไป ใช้คำว่ากราบเท้าอาจารย์ที่ตกทุกข์ในไซ่ง่อน กรณีย์นี้นี้ท่านยอมรับ ทำให้ศิษย์ดีใจและชื่นใจมาก



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 12:30

เรื่องอาหารการกิน ทำด้วยน้ำตาลปึก คงจะต้องขอคุณวันดีมาเสริมละมัง
อ่านมาถึงชีวิตตอนนี้ของพระยาทรงฯ  สงสัยว่ากำเนิดของท่านคงมาจากครอบครัวผู้ลากมากดี    ท่านถึงไม่รู้วิธีทำมาหากินอย่างชาวบ้านร้านถิ่นเขา   คุณหญิงเองก็คงช่วยไม่ได้มากเท่าไร
นึกถึงประวัติท่านผู้หญิงมหิธรที่คุณวันดีเล่าไว้    เมื่อเจ้าคุณทำท่าว่าจะขาดแคลนรายได้   ท่านผู้หญิงก็ทำเครื่องร่ำน้ำปรุงเป็นการใหญ่ ให้บ่าวหาบไปขาย พอเป็นรายได้เลี้ยงนายและบ่าวกันไปได้

ไม่รู้ว่าท่านอื่นๆทั้งเจ้านายและข้าราชการ  ที่ลี้ภัยไปอยู่ปีนัง สิงคโปร์ ต้องลำบากอย่างนี้บ้างไหม    หารายละเอียดไม่เจอว่าท่านหาเลี้ยงชีพกันอย่างไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 15:52

ไปเจอคำให้สัมภาษณ์ของพ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชายพระยาพหลฯ ในเว็บไทยโพสต์ วันอาทิตย์ที่ 4ก.ค. 2553  เลยลอกมาให้อ่าน สำหรับท่านที่อยากติดตามบั้นปลายชีวิตของเจ้าคุณพหลฯ และครอบครัวของท่าน
 
 
“คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
 ลูกชายคนกลางของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กับท่านผู้หญิงบุญหลง ใส่เสื้อยืดที่ยังเปื้อนจากการทำงานในบ้านยืนคุยกับเราในบ้านเช่าที่เป็นบ้านไม้โทรมๆ อยู่ในซอยลึกย่านรามอินทรา นี่คือลูกอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะราษฎร ผู้นำการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย นำอำนาจมาให้ปวงชนชาวไทย
 
แต่ถึงบ้านจะเก่า ก็เป็นระเบียบเรียบร้อย ในบริเวณยังมีต้นไม้ผลไม้หลายชนิดที่ปลูกไว้ บอกว่าได้มาจากคุณแม่ ท่านผู้หญิงบุญหลง ที่ทำเองทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูก 7 คน หลังจากพระยาพหลถึงแก่อนิจกรรม
 
“เห็นเขาขายกับข้าวกันแล้วนึกถึงคุณแม่ผม ฝีมือท่านถ้าเรียนไว้บ้างคงสบาย คุณแม่ผมทำเองทุกอย่าง แม้แต่น้ำบูดูก็ทำเป็น น้ำปลาก็ทำเอง เผาถ่านเอง เทียนพรรษายังหล่อเอง เพราะมีผึ้งหลวงทำรังอยู่ที่บ้านในตอนนั้น”
 
ลูกนายกฯผู้มีเงิน 25 บาท
 
พระยาพหลถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2490 สิ่งที่ครอบครัวได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐบาลก็คือมีบ้านให้อยู่ เพราะพระยาพหลไม่มีบ้าน อาศัยวังปารุสก์อยู่มาตั้งแต่ 2475
 
“พอหลังจากทำศพคุณพ่อเสร็จ  รัฐบาลจอมพล ป. ก็ไปขอคุณแม่ขอใช้วังปารุสก์เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร และให้คุณแม่ผมไปอยู่ที่ ปตอ. เป็นบ้านเก่าที่ท่านอยู่ตอนเป็น พ.ท. อยู่หัวมุมปตอ. ริมคลองบางซื่อ ใกล้กับสะพานพิบูลฯ ที่จะไปบางโพ อยู่ปีเดียวเพราะตอนนั้นมันไกล เท่าๆ กับชานเมือง ย้ายมาอยู่บ้านสวนอัมพวันที่สี่เสาเทเวศร์ เดิมเป็นบ้านคุณท้าวในรัชกาลที่ 5 มี 2 หลัง ตอนนี้รู้สึกจะเป็นสมาคมจันทบุรีและที่ตั้งของสภาโอลิมปิก ปี 2510 จอมพลถนอมมาขอคุณแม่บอกว่าอยากจะได้บ้านหลังนี้ทำสภาการศึกษาแห่งชาติ แล้วให้ไปอยู่บ้านที่ยึดจากจอมพลสฤษดิ์ที่ซอยจอมพล ที่ให้ภรรยาน้อยอยู่”
 
ตรงนั้นอยู่ได้ไม่นาน ท่านผู้หญิงก็ย้ายไปซื้อที่ดินอยู่ที่นครชัยศรี จนท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี 2531 ทรัพย์สมบัติที่มีบ้างก็คือที่ดินแต่ขายหมด
 
“เช่น ที่บางเขน ใครผ่านไปแถวนั้นจะเห็นชื่อซอยท่านผู้หญิงพหลฯ คุณพ่อซื้อสมัยเป็นร้อยโทร้อยเอก ไร่ละ 20 บาท ขายเพราะไม่มีจะกิน คุณแม่คนเดียวต้องเลี้ยงลูก 7 คน ที่รังสิตก็ขาย บ้านบางซื่อที่คุณพ่อกับคุณป้าปลูกด้วยกันก็ต้องขายเพราะไม่มีเงินจะเลี้ยงพวกผม”
 
“สมัย จอมพล ป. คุณแม่บอกว่า ปรับเงินเดือนข้าราชการ แล้วบำนาญของท่านเจ้าคุณล่ะ โอ๊ย ท่านผู้หญิงอย่าให้ผมไปเกี่ยวข้องกับเงินท่านเจ้าคุณเลยครับ เดี๋ยววิญญาณท่านรู้ท่านจะไม่พอใจผม ถ้าท่านผู้หญิงเดือดร้อนอะไรบอกผม เดี๋ยวผมจัดการให้ แต่อย่าให้ผมไปแตะต้องบำนาญของท่านเลย”
 
“ท่านเป็นคนซาดิสซึ่ม (หัวเราะ) โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ตรงวัดพระศรี เป็นที่ของคุณพ่อ จอมพล ป.เป็นนายกปุ๊บ ออกกฎหมายเวนคืนที่ตรงนั้นสร้างโรงเรียน แล้วมาถามคุณพ่อว่าใต้เท้าโกรธผมหรือเปล่า คุณพ่อก็ถามว่าคุณหลวงถามผมทำไม ที่ผมแกล้งเวนคืนที่ของใต้เท้าทำโรงเรียน เอ๊ะ คุณหลวงผมจะไปโกรธคุณหลวงได้ยังไง คุณหลวงจำได้ไหมเมื่อวันที่ 24 มิถุนา หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ข้อหนึ่งระบุว่าจะบำรุงการศึกษาของชาติให้เจริญ แล้วเมื่อคุณหลวงเห็นที่ของผมจะมีประโยชน์กับการศึกษา ผมควรจะดีใจไม่ใช่ไปโกรธ จอมพลป.ท่านหน้าหงายเลย ท่านแกล้งใครมีแต่โกรธ แต่แกล้งคุณพ่อดันไม่โกรธ”
 
เล่าว่าหลังจากพระยาพหลออกจากราชการก็ไม่มีรายได้อะไรนอกจากบำนาญ
 
“มีที่ก็เก็บค่านาแต่ละปี เป็นข้าวบ้าง ตอนคุณพ่อเสียมีเงินติดบ้านอยู่ 25 บาท เพราะฉะนั้นคุณแม่ยิ่งกว่าประเสริฐ ผู้หญิงคนเดียวตัวเล็กๆ อายุไม่เท่าไหร่ ฟันฝ่าชีวิตเลี้ยงลูก 7 คนรอด รัฐบาลเขาก็ให้อยู่บ้านฟรีบ้าง ให้รถใช้บ้าง แต่ไม่ใช่แค่นั้นแล้วอยู่ได้    จนรัฐบาลคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ คุณแม่ไปหาคุณบุญมา วงศ์สวรรค์ รัฐมนตรีคลัง ไม่เคยรู้จักกัน คุณธานินทร์ก็ไม่รู้จัก    เข้าไปพบคุณบุญมาเล่าว่าบำนาญไม่เคยได้รับการปรับเลย คุณบุญมาก็เรียกปลัดกระทรวงมา ตรวจสอบก็จริง โห ตั้งกี่สิบปีไม่ได้ปรับ คุณบุญมาก็บอกท่านผู้หญิงครับ เราจะพยายามทำให้ถูกต้องแต่ขอร้องท่านผู้หญิง อย่าเรียกดอก รัฐบาลไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาให้ เพราะไม่ได้จ่ายมา 20-30 ปี ตามกฎหมายต้องเสียดอกด้วย แต่จะปรับให้ถูกต้อง”
 
ตอนนั้นเองที่ได้ปรับจากบำนาญ 1,600 บาทมาเป็น 8,000 บาท
 
“เวลาเขาปรับเงินเดือนข้าราชการ ข้าราชการบำนาญจะได้ปรับด้วย แต่ของคุณแม่ไม่เคยได้รับการปรับเลย”
 
กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับ อ.ปรีดี ที่ต่อมาได้ฟ้องรัฐบาลว่าไม่จ่ายบำนาญเลย และเรียกดอกเบี้ยด้วย
 
“ก็ทำกับท่านกับครอบครัวเจ็บปวดแค่ไหน พี่ปาลถูกแกล้งเกณฑ์มาเป็นพลทหาร อยู่บางกระบือ แล้วยังจับเข้าคุก สารพัด ครอบครัวท่านน่าสงสารมาก ทำเพื่อคนทั้งประเทศแต่ตัวเองได้รับกรรมแค่ไหน”
 
ทางพระยาพหลอาจยังเบากว่า เพราะเหมือนเป็นคนกลาง และพ้นจากอำนาจไปก่อน
 
“เหมือนใครจะทะเลาะกันก็คุณพ่อ อย่างคุณอาควง เวลาปีใหม่ก็ไปหา มามานั่งตักอา มีอะไรจะมาคุยกับอาปีนี้ ไหนเขาบอกว่าคุณหลวงพิบูลกับคุณอาควงไม่ถูกกัน ไม่ใช่ อากับตาแปลกเป็นเพื่อนกัน แต่ตาแปลกตอนมันมีอำนาจมันแกล้งอา มันตั้งให้อามียศพันตรีเพื่อจะไปเป็นลูกน้องมัน อาก็ต้องไปรายงานตัวกับมันที่ศูนย์ปืน ลพบุรี วันดีคืนดีมันก็เอารถถังมาจอดหน้าบ้าน เฮ้ยตาควงแกขึ้นเป็นนายก อยู่ไปอยู่มาอารถจิ๊ปติดปืนกลมา บอกเฮ้ยแกลงจากเก้าอี้นายกได้แล้ว คุณอาควงเป็นคนอย่างนี้ แต่ก่อนนี้ผมชอบประชาธิปัตย์ แต่มาตอนนี้ไม่เอาเลย”
 
 จากนายสิบเป็น ผบ.รถถัง
 เชื่อหรือไม่ว่า ลูกอดีตผู้บัญชาการทหารบก แทนที่จะเข้า ร.ร.นายร้อย จปร.กลับเข้า ร.ร.นายสิบ
 
“ผมมาเข้าเป็นนักเรียนนายสิบเพราะประชดแม่ โกรธว่าแม่ไม่รักเพราะผมถูกตีมากกว่าเพื่อน แต่ผมไม่ได้ดูเลยว่าตัวผมเองเกเร สารพัดที่จะทำ คิดว่าตัวเองเป็นคนดี มองเห็นแต่ตัวเองตลอด และก็โทษสิ่งแวดล้อมว่าเขาไม่รักเรา พวกพี่ๆ ล้อว่าผมเป็นเด็กเก็บจากกองขยะ ก็เชื่อเป็นตุเป็นตะ พอถูกคุณแม่ตีมากก็โกรธคุณแม่หาว่าคุณแม่ไม่รัก กว่าจะหายโง่ก็แก่แล้ว”
 
“ผมเข้าโรงเรียนนายสิบ ผู้การชาติชายท่านจะไม่รับตอนนั้นท่านเป็นพลจัตวา ผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ พอเห็นนามสกุลท่านเรียกไปถาม คุณเป็นอะไรกับเจ้าคุณพหล ผมเป็นลูก คุณเป็นลูกแน่ๆ หรือ แน่ครับ แม่คุณชื่ออะไร ท่านผู้หญิงบุญหลง เรียกคุณชายเลย คุณชายมาเข้าทำไมนักเรียนนายสิบ ทำไมไม่เข้าโรงเรียนนายร้อย ผมสอบไม่ได้ครับ ได้สิเดี๋ยวจัดการให้ ไม่เอา แกงงเลย รองผู้บัญชาการ พ.อ.ศรี พาคุณชายไปพบท่านผู้หญิงเดี๋ยวนี้ ให้มาเข้าได้ยังไงนักเรียนนายสิบ พ.อ.ศรีท่านก็พานั่งรถไปที่บ้าน โกรธคุณแม่ ยังไงก็ไม่ยอม อยากจะแต่งเครื่องแบบ เดี๋ยวเอาเครื่องแบบให้แต่ง สิบเอกก็ได้ อยากจะขับรถถังจะพาไปฝึกขับ แต่ไม่ต้องเป็นนักเรียนนายสิบ มันโหดร้ายทารุณ รองศรีบอกว่าดื้อน่าดูเลย ตามใจอยากจะไปเรียนก็ไป ใต้เท้ายอมให้คุณชายไปเรียนหรือครับ คุณแม่บอกตามใจเขา เราก็คิดว่านักเรียนนายสิบเหมือนกับโรงเรียนทั่วไป ที่ครูพูดว่าเธออย่างนั้นเธออย่างนี้ พอไปเจอของจริงมันไม่ใช่ ตรงกันข้ามเลย”
 
เข้า ร.ร.นายสิบปี 2500 จบแล้วก็รับราชการเป็นทหารชั้นประทวนธรรมดา จนปี 2511 ไปรบเวียดนาม ตอนนั้นเป็นสิบเอก บอกว่าอยากได้ประสบการณ์เพราะเป็นทหารก็ต้องไปรบ แม้จะเข้าใจการต่อสู้ของคนเวียดนามและมีเชื้อสายเวียดนาม
 
“ตระกูล ผมทั้งพ่อทั้งแม่ 4 เผ่า ไม่มีเลือดไทยเลย คุณปู่ผมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) เป็นฮกเกี้ยน คุณย่าผมเป็นมอญบางไส้ไก่ คุณตาจีนแต้จิ๋ว คุณยายญวน หลานยาลองหว่าง เฮ ผมไปเวียดนามเพื่อให้ได้ประสบการณ์ว่าฉันได้รบ คิดว่าตายก็ช่างมันเพราะไม่มีใครรักอยู่แล้ว แต่พอไปแล้วหลายสิ่งหลายอย่างสอนให้เรามองเห็นตัวเองว่าเคยทำอะไรไว้บ้าง”
 
“พอกลับ จากเวียดนาม ลงจากเครื่องบิน คุณแม่ยืนรอรับวิ่งไปถึงกราบที่เท้าเลย บุญคุณแม่นี้ใหญ่หลวง เรานี่เลวมาตลอดเลย ไม่เคารพรัก ผมถูกยิงหมวกทะลุ หัวไหล่ทะลุ ตอนนั้นหลับอยู่เวียดกงเข้าตี ฝันว่าคุณพ่อกับคุณแม่มายืนในที่สลัวๆ มา เรียก-แมว! (ชื่อเล่น) ตื่น ข้าศึกกำลังเข้าตี ผมลืมตาเฮ้ยของจริง ปืนครกหล่นปั๊บระเบิดตูมสะเก็ดเฉียดจมูกไปหน่อยเดียว ผมเป็นพลขับรถ คว้าเสื้อเกราะ ใส่รองเท้าแบบไม่ต้องผูกเชือก วิ่งไปเตรียมขับรถ ปรากฏว่าข้างหน้ายิงมากราวใหญ่ขึ้นรถข้างหน้าไม่ได้ ก็มาขึ้นข้างหลัง ต้องกลายเป็นผู้อำนวยการสั่งยิงวันนั้น เพราะผู้หมวดไม่อยู่ บอกระยะเพื่อนให้ยิง ทางนี้ 500 เมตร 10 นัด ขับรถไปยิงไปด้วยขับไปด้วย”
 
เป็น ทหารสังกัด ม.พัน 4 หน่วยที่มีบทบาททางประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในลูกน้องของ พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร สอบจากนายทหารชั้นประทวนขึ้นเป็นร้อยตรี เลื่อนตำแหน่งจนเป็นพันตรีผู้บังคับกองร้อย แล้วลาออกจากราชการเมื่อปี 2529 หลังกบฎ 9 กันยาหน่อยเดียว เพราะถูกไม่ไว้วางใจแม้จะไม่ได้ร่วมกับนายเก่าก่อกบฎ
 
“แกเป็นผู้พัน ผมเป็นจ่า” เล่าถึง พล.ต.มนูญกฤต “เดิมตอนเป็นนักเรียนนายร้อยผมเรียกแกพี่เปี๊ยกๆ พอจบโรงเรียนนายร้อยแกไปอยู่โคราช ม.พัน 8 เจอหน้ากันก็หวัดดีครับพี่เปี๊ยก แกก็ดีกับผม สมัยนั้นแกยังไม่มีบทบาทด้านการเมือง”
 
“เมษาฮาวายผมเกี่ยว แต่ครั้งหลังผมไม่เกี่ยว เพราะผมเห็นแล้วว่าไม่ได้ประโยชน์ เมษาฮาวายนี่อย่าว่าแต่ประตูเลย รูแพ้สักนิดก็ไม่มี เพราะทุกฝ่ายเอาหมด ผมไปเป็นผู้บังคับกองร้อยรถถังขนาดใหญ่อยู่ที่สระบุรี มนูญสั่งให้ผมเตรียมรถถัง มีหน้าที่ลงมาล้อมดอนเมือง วันนั้นผมก็เตรียมรถถัง ตั้งแถวไว้เรียบร้อย เช้าขึ้นประกาศปฏิวัติ พอเที่ยงกว่าๆ ในหลวงเสด็จไปโคราช โห ขบวน 60-70 คัน ยาว 2 กิโลได้ พอตกเย็นพล.ต.อาทิตย์ รองแม่ทัพภาค 2 พูดวิทยุ อยู่สระบุรีฟังชัดทั้ง 2 สถานี โรคประสาทจะกินผม”
 
โชคดีที่ไม่มีคำสั่งให้ลงไปกรุงเทพฯ ครั้งนั้นจึงรอดไป ไม่อยู่ในกลุ่มกบฎ แต่มาโดนครั้งหลัง
 
“เพราะความหูเบาของผู้ใหญ่ หาว่าผมซ่องสุมกำลังปฏิวัติ เชื่อหรือว่าผมทำ เชื่อ เชื่อเพราะอะไร เพราะว่าแมวเป็นลูกคุณพ่อและเป็นลูกน้องมนูญ แค่ 2 อย่างนี้หรือผมต้องปฏิวัติ พี่เห็นไหมผู้การมนูญ ตอนนั้นเขา พ.อ. เขายศอะไร เขาจบมาจากไหน แล้วผมจบมาจากไหน เขายังทำไม่สำเร็จ ผมนี่อย่าว่าแต่ชวนคนเลย ชวนหมาหมาก็ยังไม่เอากับผม แล้วพี่คิดหรือว่าการปฏิวัติทำให้ประเทศเจริญ ไม่จริงหรอก มีปฏิวัติกี่ครั้งผมบอกเลย มีครั้งเดียวที่ผมเชื่อ 24 มิ.ย.2475 เพราะครั้งนั้นมันไม่มีหรอกนิรโทษกรรม ถ้าไม่สำเร็จผมก็ไม่ได้เกิด เพราะ 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นพ่อผมทำด้วยความมุ่งหมายสูงสุด ไม่เหมือนอย่างไอ้พวกนี้ทั้งหลายแหล่ที่มันปฏิวัติโดยอ้าง 3 ประ เหมือนเป็นนะโมตัสสะ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย ประชาชน แต่ 3 ประนี้ไม่เคยได้ประโยชน์จากการอ้างของมันเลย”
 
ย้อนไปสมัยที่สอบนายทหารได้ ก็สอบได้ด้วยตัวเอง หลังจากเป็นนายสิบถึงสิบกว่าปี
 
“ผมสอบนายทหารได้ปี 2517 ทั้งเหล่าทหารม้าไปสอบที่ศูนย์การทหารม้า สระบุรี 425 คน เอา 12 คน วันแรกแต่ละคนคุยนักคุยหนารู้ข้อสอบ มีเส้นสาย เราก็คิดว่าปีนี้หาประสบการณ์ ปีหน้าค่อยสอบใหม่ แต่รุ่งขึ้นหายไป 300 พวกที่หลบจากดอยลงมาพัก อยู่บนดอยเสี่ยงกับผกค. ลงมาพัก 7 วันยังดี แล้วเขาจะเอาเวลาที่ไหนดูหนังสือ ไม่เหมือนกองพันทหารม้าที่ 4 เป็นจอมหลักการ มีวินัย มีความรู้ ก็สอบได้ที่ 1 ใน 425 คน”
 
“นายเปรมท่านเป็นผบ.ศม. (ศูนย์การทหารม้า) วันนั้นท่านแจกประกาศนียบัตรหลักสูตรนายสิบอาวุโส ท่านถามว่านี่เราสอบยังไงถึงได้ที่หนึ่ง ผมก็บอกผมได้ที่ 4 ครับ เพราะผมได้ที่ 4 ของนายสิบอาวุโส ท่านก็ยิ้มพยักหน้า พวกอาจารย์ทั้งหลายแหล่ก็มานั่งเลี้ยงโต๊ะจีนมื้อกลางวัน ดีใจด้วยนะๆ อาจารย์ดีใจกับผมเรื่องอะไรครับ อ้าวไม่รู้เหรอ เราน่ะสอบนายทหารได้ที่ 1 คะแนนรวม 92 กว่า”
 
“ผม สอบได้ปี 2517 ทำหน้าที่นายทหาร 1 ปี ติดนายทหารปี 2518 ไปเป็นผู้หมวดรถถังอยู่อีกองร้อยหนึ่ง มีนายทหารที่ท่านชอบผม จบโรงเรียนเสธมา เป็นผู้กองลาดตระเวน ท่านก็บอกกับผู้พันมนูญ พี่นูญผมขอแมวมาอยู่ลาดตระเวนด้วยกัน ผู้พันมนูญก็บอกแมว อุดมชัยเขาอยากจะได้แมวไปอยู่ ลว.ไปไหม แล้วแต่ผู้พันครับ งั้นพรุ่งนี้ไปอยู่กับเขาเลย ผมก็เลยไปอยู่ลาดตระเวน ได้วิชาความรู้มาอีกเยอะ ก็คือพล.อ.อุดมชัย องคสิงห์ ที่เป็นเลขารัฐมนตรีกลาโหม คุณสมัคร”
  
ต้องรู้ว่าลูกใคร
 
ออกจากทหารได้รับบำนาญเพียงเดือนละ 5 พันกว่าบาท ต่อมาปรับเป็น 8 พันกว่าบาท อาแมวบอกว่าปัจจุบันทรัพย์สินที่เหลือก็มีแต่ที่ของคุณแม่ ที่นครชัยศรี แต่ไม่มีเงินไปปลูกบ้าน
 
“พี่เสียหมดแล้ว เหลือผมและน้องอีก 3 คน น้องชายเป็นนายตำรวจที่ไม่ได้ท่า เพราะยศสูงสุดแค่พ.ต.ท. วันดีคืนดีเขาก็ย้ายไปต่างจังหวัดตั้งนาน เพราะรีดไถคนไม่เป็น อยู่ตรวจคนเข้าเมือง เขาล็อกทุกตำแหน่ง มีว่างไม่ใช่ไม่มี แต่ทุกตำแหน่งไม่เหมาะกับคนอย่างคุณ เพราะไม่รู้จักวันเกิดนาย รีดไถคนไม่เป็น ซองก็ไม่ต้องการ เขาวางไว้ให้บนโต๊ะก็ไม่เอา เพราะคุณแม่บอกว่าแกจะเป็นตำรวจก็เป็นได้ แต่แกต้องรู้ว่าแกเป็นลูกใคร คุณพ่อเคยทำอะไรไว้ไหมที่สกปรก เพราะฉะนั้นแกอย่าทำ”
 
น้อง ชายชื่อ พ.ต.ท.พรหมมหัชชัย “ท่านเจ้าคุณพรหมมุนีซึ่งตอนหลังเป็นสมเด็จพระสังฆราชวัดเบญจฯ ท่านเป็นคน ตั้งชื่อให้ เขาเพิ่งเกษียณเมื่อเร็วๆ นี้ ตอนเขาเป็นร.ต.อ. ผมเป็นร.ท. พอผมร.อ. เขาก็ร.ต.อ. ผม พ.ต. เขาก็ร.ต.อ. จนคุณแม่ต้องไปถามรอง อตร.สมัยนั้น ว่าลูกฉันทำผิดอะไรถึงไม่ได้ยศสูงขึ้น ท่านตกใจก็เรียกกำลังพลมาดู เอ๊ะเงินเดือนเขา พ.ต.ท.แล้วทำไมยัง ร.ต.อ. ก็เรียกหัวหน้า ตม.มา ไหนเอาตำแหน่งมาดูสิ มีตำแหน่งตั้งเยอะแยะทำไมไม่ให้เขา ไปจัดการเดี๋ยวนี้ นั่นแหละติดพ.ต.ต. ไม่ถึง 6 เดือน ก็ติดพ.ต.ท.เพราะเงินเดือนเขา พ.ต.ท. แต่พอคนที่หากินทางวิทยุเสียงสามยอดเป็น อ.ตร.ก็ออกคำสั่งย้าย บอกเจ้าตัวสมัครใจ ย้ายไปอยู่วิเชียรบุรี”
 
“คุณพ่อผมมีแม่ 2 คน คนแรกคุณป้าพิศ เป็นพี่สาวคนโตของคุณแม่ แต่คุณป้าพิศไม่สามารถให้ลูกกับคุณพ่อได้ คุณป้าพิศก็เลยยกคุณแม่ให้กับคุณพ่อ ตอนนั้นคุณแม่ยังเด็กอยู่ ก็มีลูกกับคุณพ่อ 7 คน”
 
“คนโตพี่พาภรณ์ เสียนานแล้ว ไม่มีครอบครัว ตอนหลังท่านเสียสติ หลังจากจบอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ไปอังกฤษแล้วโดนแกล้งคุณแม่ต้องไปรับตัวกลับมา คนที่สองชื่อพรจันทร์ เป็นภรรยานายทหารเรือ พล.ร.อ.วินิจ ศรีพจนาถ คนที่ 3 พี่ชาย พล.ต.ชัยจุมพล ผมเป็นคนกลาง น้องสาวอีก 2 คน พวงแก้ว กับผจี ผจีอยู่ที่นครชัยศรี พวงแก้วอยู่กับสามีและหลานๆ ที่ลาดพร้าว”
 
ความจริงพระยาพหลนามสกุลพหลโยธิน แต่ลูกๆ มาเปลี่ยนเป็นพหลพลพยุหเสนา
 
“คุณ แม่บอกว่าบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อจะสูญหาย พหลโยธินมันเยอะ ดีก็มีชั่วก็เยอะ เพราะฉะนั้นเอาบรรดาศักดิ์ของคุณพ่อมาเป็นนามสกุล ก็ทำขอกระทรวงมหาดไทย ผมกับน้องชาย พี่ชายก็ขอใช้ มาเป็นพหลพลพยุหเสนา”
 
“อาแมว” รับว่า     เอาใจช่วยเสื้อแดง แต่บางอย่างก็ไม่ไหวเหมือนกัน เช่นการยกม็อบไปพัทยา หรือแท็กซี่ปิดอนุสาวรีย์ชัย
 
“ผม เป็นทหารได้คลุกคลีกับชาวบ้าน เห็นความเดือดร้อนของเขา เพราะฉะนั้น 30 บาทรักษาทุกโรคมันอาจจะไม่ได้ดีที่สุดแต่มันก็ยังดีที่ทำให้เขาได้พบหมอ สมัยก่อนผมได้แต่ช้ำใจ เพราะผมช่วยเขาไม่ได้ เนี่ยลุงป้าไม่สบายทำไมไม่ไปหาหมอ ฉันจะเอาเงินที่ไหนไปหา เราได้ยินทีไรเราช้ำใจแต่เราช่วยเขาไม่ได้ แล้ววันดีคืนดีมีคนชื่อทักษิณบอกว่า 30 บาทรักษาทุกโรค” นี่ยอมรับตรงๆว่าชอบทักษิณในบางเรื่อง
 
แล้วที่เสื้อแดงจะชุมนุมวันที่ 24 ให้เป็นวันชาติ
“อย่าพรวดพราดๆ อย่าชิงสุกก่อนห่าม ตื๊อเท่านั้นครองโลก ตื๊อเข้าอย่ารุนแรง ตื๊อเข้าไปจนกว่าคนในประเทศเขาจะเห็นใจ และคนรอบๆ เราเห็นใจจนทั่วโลกเห็นใจ อองซานซุจีดูสิกี่สิบปี แกเจ็บตัวไม่เป็นไร แต่คนทั้งโลกจะมองพม่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นอย่าไปเอาตัวเป็นที่ตั้ง เหมือนอย่างคราวที่แล้วดันไปเอาทักษิณเป็นที่ตั้ง พวกตามล้างตามเช็ดตามกระทืบ ครอบครัวเขาเดือดร้อน ฉะนั้นค่อยเป็นค่อยไป ตื๊อ ฝ่ายนั้นเขามีคนครอบกบาลอยู่ ฝ่ายนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง”
 
ตอนนี้ก็มีคนกลับมาพูดว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ไม่น่ารีบปฏิวัติ
“แล้ว ถามว่าเขาทำอะไรบ้างที่จะทำให้คนได้รู้จักประชาธิปไตย ไม่มีทาง ถ้าเผื่อไม่ทำมันก็ยังเป็นราชาธิปไตย ไม่มีหรอกที่ราชาธิปไตยจะเอาประชาธิปไตยมาให้”
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 17:40

คุณพี่นวรัตนสั่งให้มาตอบเรื่อง "เจ้าคุณ" ที่มาพูดบนหอประชุมโรงเรียนเก่า  เจอโจทย์ข้อนี้ไปเล่นเอามึนเหมือนกัน  เพราะเมื่อคุณนวรัตนจบจากโรงเรียนนั้นผมยังเป็นน้องเล็กเพิ่งเข้าโรงเรียนได้เพียงปีเดียว  พอโตขึ้นมาก็จำได้แต่ "เจ้าคุณภะรต" เจ้าของฝ่ามือพิฆาตที่ผมเกือบจะโดนตัดไฟเสียแต่ต้นลม  ตั้งแต่เรียนประถม ๕ โทษฐานไม่จงรักภักดีเพราะไปรับเสด็จไปทัน  

ท่านเจ้าคุณที่กล่าวถึงเรื่อง "ทูนเกล้าฯ" ถวาย  แม้จะระบุตัวไม่ได้แน่ชัด  แต่ถ้าให้เดาน่าจะเป็น พระยานรเทพปรีดา (จำเริญ  สวัสดิ์ - ชูโต) ซึ่งเดิมท่านเป็นเลขาธิการกรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก  ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานหนังสือของกรมมหาดเล็กทั้งปวง  ท่านผู้เนี้เป็นนักเรียนทุนสมเด็จพระพันปีหลวงไปเล่าเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมพระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว.แปด  มาลากุล)  จำได้ว่าเมื่อมีงานบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่  ๒๕  พฤศจิกายน ทุกปี   ท่านเจ้าคุณนรเทพฯ จะมาร่วมงานทุกปี  และเมื่อเสด็จฯ กลับแล้วก็มักจะได้ยินเสียงท่านเจ้าคุณเอ็ดพระยาภะรตฯ เรื่องวงจุลดุริยางค์บรรเลงเพลง เพลงสรรเสริญพระบารมีบทพระสุบินหรือสรรเสริญเสือป่าในตอนท้ายเสียงดังไป  ท่านว่า ท่อนสุดท้ายของเพลงนั้นต้องค่อยๆ เบาลงจนเลือนหายไปสมกับเป็นบททรงพระสุบิน  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 ก.ค. 10, 17:50 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 17:58

[ นักเรียนผู้ใดไม่รู้จักน้ำตาลปึกก็สารภาพมาโดยดีจะได้เฉลยให้
[/quote]

มายกมือ ยอมรับว่าไม่แน่ใจค่ะ  อายจัง
น้ำตาลปึกนี่ เหมือนกับที่คนใต้เรียกว่าน้ำตาลแว่น ที่นำมาทำขนมโคหรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 17:58

ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะ  คุณV_Mee   คนตามก็ตามเร็ว  คนถูกตามก็มาตอบเร็วทันใจ
ตอนดิฉันเข้าเรียนในร.ร.เตรียมอุดม   มีพระยาท่านหนึ่งมาสอน เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี    เช้คแฮนด์ที่ถูกต้อง ต้องจับหรือสั่นมือแบบไหน  จึงจะถูกแบบ   ถ้าเข้าเฝ้าต้องโค้งหรือถอนสายบัวยังไงแบบไหน
รู้จากผู้ใหญ่ว่าท่านถวายงานใกล้ชิดรัชกาลที่ ๖    เป็นสารถี   หรือไม่ก็ตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่งนี่แหละ
ท่านเป็นพระยา ๒ หน  หนแรกเป็นพระยาราชทินนามอย่างหนึ่ง   ต่อมาเป็นพระยาในราชทินนามอีกอย่างหนึ่ง   ดิฉันจำไม่ได้ถนัด แต่เขียนในค.ห.บนว่า เทพอรชุน  
กำลังสงสัยว่าหรือจะเป็นพระยานรเทพฯ    ท่านเป็นคนผอม สูง  เสียงท่านดังฟังชัด  พูดจากระฉับกระเฉง  ไม่กลัวใครทีเดียว
*************
ถ้าพอมีเวลา   ช่วยเล่าเรื่องกบฏ 130 ให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ   ข้อนี้ไม่เร่งรัดนะคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 21:41

กลับจากวัดเข้ามาตรวจการบ้านคุณวี_มีของผมหน่อย เคยชมเขาต่อหน้าว่าหลังจากท่านหม่อมหลวงปิ่นแล้ว คุณวี_มีนี่แหละที่เป็นเอกะทัคคะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างยากที่หาผู้ใดเสมอเหมือน และทำหน้าที่มหาดเล็กหลวงรักษาพระองค์แทนนักเรียนวชิราวุธได้อย่างดียิ่งในหน้าไซเบอร์ ใครแหลมเข้ามาผิดๆจะโดนคุณวี_มีโต้กลับด้วยข้อมูลแน่นปึ็กตลอด

ที่คุณวี_มีเดาว่าพระยานรเทพปรีดานั้น ผมคิดว่าใช่ เพราะจำได้ว่าพวกเราจะเรียกสั้นๆว่าเจ้าคุณนรฯ ผมจะใส่ชื่อนี้ไปแต่แรกก็ไม่แน่ใจว่าตนไปสับสนกับท่านเจ้าคุณนร องค์ที่เป็นพระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต(ธมฺมวิตโก)หรือเปล่า เลยรอคุณวี_มีมาเฉลยดีกว่า เจ้าคุณนรฯที่เป็นฆราวาสท่านเคยเป็นนักเรียนนอก ตอนแก่แล้วดูผอมสูง ใส่แว่น ศรีษะค่อนข้างล้าน ใบหน้ายิ้มเห็นฟัน  เวลาพูดจะปล่อยมุขตลกอยู่ตลอด เด็กจึงไม่หลับ น่าจะใช่คนเดียวกับที่สอนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เตรียมอุดม เพราะได้ยินว่าท่านได้รับเชิญให้ไปสอนหลายโรงเรียน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 22:21

ขอบคุณค่ะ   ยังระลึกถึงอาจารย์เจ้าคุณที่ร.ร.เตรียมเป็นครั้งคราว     จะถามก็ไม่ทราบจะถามใคร  เพื่อนฝูงที่เรียนมาด้วยกัน ก็นานๆเจอกันทีเฉพาะวันงานนักเรียนเก่า
เห็นด้วยเรื่องภูมิรู้แน่นปึ้กของคุณ V_Mee  ใครอยากรู้อะไรเกี่ยวกับรัชกาลที่ ๖ ก็ถามคุณ V_Mee ได้นะคะ
อีกคนหนึ่งที่ยังนึกถึงอยู่คือคุณ UP      ตอนนี้ไปทำงานบริหาร ไม่ค่อยมีเวลาเข้ามาวิสาสะกันอีกแล้ว   ถ้าอยากถามอะไร   ต้องไปสื่อสารกันที่ facebook

เหลือคำถามเรื่องน้ำตาลปึก  รายการนี้ ลูกพี่มาเอง   ยิ้ม  ไม่ต้องตามคุณ V_Mee
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง