เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 329411 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 09:57

ใช่แล้วครับ ใช่ทั้งความเห็น และคำถาม

พระยาทรงต่อ....ระหว่างอยู่ที่ไซ่ง่อนท่านยังหาทางออกไม่พบว่าจะหาเงินที่ไหนมาตู๊ค่าใช้จ่ายเดือนๆหนึ่งกว่าสองร้อยเหรียญ ในระหว่างการรอคอยเอกสารไปกลับของรัฐบาลอินโดจีนกับประเทศแม่ ที่บอกว่าสองสามเดือนอาจจะหมายถึง4เดือน คิดจะลดค่าใช้จ่ายโดยไปหาที่ราคาถูกกว่านั้น ก็ไม่ปลอดภัยเรื่องชาวบ้านที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมต่ำทราม ทั้งโขมยขโจรและวาจามารยาทของคนญวนระดับล่างสุด ผู้ดีไทยตกยาก พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ ไปร่วมอยู่ในสังคมของเขาก็ผิดสีผิดกลิ่นเป็นอย่างยิ่ง ครั้นท.ส.ย้ายไปอยู่เขมร ท่านมีความคิดที่จะทำการค้าแบบแลกเปลี่ยน เอาของญวนที่คิดว่าคนเขมรต้องการส่งไปขาย ให้ท.ส.หาของเขมรที่คิดว่าคนญวนต้องการส่งกลับมา เริ่มประเดิมด้วยการซื้อผ้าถูกๆแต่ท่าทางจะทนทานไม่ขาดง่าย ส่งไปสองพับใหญ่ๆเพราะคิดว่าจะถูกตลาดเพราะคนเขมรยากจน ท.ส.ไปเดินตลาดเจ็ดวันขายได้สิบกว่าเมตร คนเขมรบอกว่าถูกดีนะ แต่ตัดกางเกงนอกจากค่าแรงแพงกว่าค่าผ้าแล้ว ผ้ามันไม่ดิ้นใส่ไม่เท่เหมือนผ้าฝรั่ง คนเขมรเงินเดือน30เหรียญแต่ยินดีจะตัดกางเกงตัวละ30เหรียญอย่างอาจหาญซื้อความเท่ เงินเดือนไม่พอใช้ก็ไปกู้เขามาก่อนแล้วผ่อนส่งเขาไป พฤติกรรมนี้เหมือนชาติใดหน๊อ ที่รูดบัตรซื้อสินค้าเงินผ่อนจนเงินส่งงวดไม่พอกับเงินเดือน ต่อไปก็ก่อหนี้นอกระบบต่อ
พระยาทรงท่านเป็นทหาร ความจริงนิสัยคนไทยในยุคนั้นก็เหมือนๆกับคนเขมร ไม่รู้ใครเอาอย่างใคร แต่พระยาทรงท่านบอกว่าป็นความรู้ใหม่ของท่าน หลังจากใช้เวลาอีกหลายเดือน ผ้าของท่านขายไปได้ไม่ถึงยี่สิบเมตร

ดังนั้นเพียง6เดือนหลังจากถูกขับไล่ออกจากราชการ ท่านหมดไปแล้วกว่าครึ่งของสมบัติติดตัวที่ท่านมีทั้งชีวิต เครื่องทองน้อยทองหยองทั้งหลายของคุณหญิงได้แปรสภาพเป็นเงินสำหรับปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ทุกครั้งที่คุณหญิงปลดสร้อยออกจากคอหรือรูดแหวนออกจากนิ้ว ท่านจะหัวเราะหึๆประชดตนเอง ฝรั่งเศสแม้จะเสนอให้ที่ทำการเกษตรแถมพันธุ์วัวแพะแกะหมู คนอย่างท่านก็ยอมรับไม่ได้เสียอีก หลังจากสี่เดือนเศษที่ไร้คำตอบจากปารีส สมบัติชิ้นสุดท้าย แหวนที่หัวเป็นเพชรลูกก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นเงิน750เหรียญในวันที่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน เหลือเชื่อจริงๆ คนที่เพิ่งรู้จักกันคนหนึ่ง ฐานะดีอยู่ตึกมีเครื่องเรือนภูมิฐาน พูดดี มีการงานเงินเดือน600เหรียญ มาบอกว่าร้อนเงินขอกู้ท่าน300เหรียญสักเดือนหนึ่ง โดยจะให้ดอก30เหรียญ สองคนสามีภรรยาปรึกษากันแล้วเห็นว่าดีกว่าให้เงินนิ่งอยู่เฉยๆเลยให้ไป แต่พอถึงกำหนดไปทวงคืนบอกว่ายังไม่มี พอทวงครั้งที่สองที่สามบอกว่าไม่มี ไม่ใช้ ไม่หนี อยากจะฟ้องร้องหรือทำอะไรก็เชิญ เป็นอันว่า    จบกัน


ในที่สุดวันตัดสินโชคชะตาของท่านก็มาถึง ล่าช้าประมาณเดือนหนึ่งจากกำหนดเดิม ตำรวจญวนมารับที่บ้าน บอกนายฝรั่งขอเชิญไปพบ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งท่านว่า ปารีสให้คำตอบมาแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้รับเกียรติให้อยู่ในไซ่ง่อนต่อไปโดยไม่มีกำหนด


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 10:34

ไปเจอสัมภาษณ์คุณศุขปรีดา พนมยงค์ พูดถึง พล.ท.ประยูร ภมรมนตรีไว้ดังนี้ครับ

"คือ อย่างนี้ สมัยหลังๆ ท่านไม่ค่อยมีอะไรทำ ก็ไปนั่งตามโรงแรมใหญ่ๆ พวกรุ่นหลังเรียกท่านว่าเจ้ากรม คนหนึ่งเป็นนักเขียน ให้เล่าเรื่องให้ฟังแล้วจะเขียน เขียนออกมาผิดข้อเท็จจริง ท่านปรีดีเลยฟ้อง เขาจะทำเป็นหนังสือแบบเรียนเลยนะ ศาลสั่งเก็บ แต่ว่าถ้าพูดถึง 2475 คนที่ร่วมสองคนแรกคือคุณประยูรกับ อ.ปรีดี เดินด้วยกันบนถนนที่ปารีส คุณประยูรสังเกต อ.ปรีดีแล้วถามว่าอาจารย์คิดอะไรอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด 7 คน"
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 11:41

ที่ฝ่ายนายปรีดีถืออีกเรื่องหนึ่งก็คือ ใครกันแน่ที่เป็นผู้ริเริ่มความคิดที่จะตั้งคณะราษฏรขึ้นมาปฏิวัตินำประชาธิปไตยมาสู่ประเทศไทย พลโทประยูรเขียนฟังดูคล้ายๆกับว่าท่านเป็นต้นคิด ส่วนนายปรีดีก็ว่าท่านเป็นคนแรก บทความของนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ศิษย์คนหนึ่งของท่านได้สะท้อนความรู้สึกที่ว่าออกมาให้ตีความ ดังต่อไปนี้

พลโทประยูร ภมรมนตรี เขียนไว้ในหนังสือ “ ชีวิต 5 แผ่นดินของข้าพเจ้า ” (หนังสือนี้พลโทประยูรได้เอาต้นฉบับให้ผมตรวจก่อนพิมพ์ เฉพาะตอนที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา ตรวจที่ห้องทำงานของท่าน ที่ตึกไทยนิยมผ่านฟ้าประเสริฐ) ว่า

          “ สำหรับข้าพเจ้ากับคุณปรีดี พนมยงค์ก็ได้มีความรักใคร่สนิทสนมกันยิ่งขึ้นตามลำดับ ตอนค่ำลงหลังอาหารก็ออกไปเดินสนทนาคุยกันวันละหลายๆชั่วโมง ในโอกาสนี้ก็ได้วิจารณ์เรื่องการเมืองกันมาเป็นเวลาหลายเดือน จนถึงเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2567 ในขณะที่รับประทานอาหารกลางวันอยู่สองต่อสอง ที่ร้านอาหารเรสทัวรองค์ Des Ecoleav Henry-Martin ข้าพเจ้าได้ชักชวนคุณปรีดี พนมยงค์ว่าเราพูดเรื่องการเมืองมามากแล้ว สมควรจะลงมือกันเสียที ซึ่งคุณปรีดีก็ตะลึงนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง แล้วลุกขึ้นจับสองมือบีบแน่นด้วยความยินดีว่า
“ เอาจริงหรือ? ”  ข้าพเจ้าก็รับรองว่า “ เอาจริงแน่ เอาเดี๋ยวนี้ ”
             “ การคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ได้เกิดขึ้น ณ บัดนั้น...ข้าพเจ้าได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศส ก็ได้พบกับร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ(จอมพลป.พิบูลสงคราม) เป็นเพื่อนที่รักใคร่สนิทสนมกันมาก  ได้ร่วมชั้นในโรงเรียนนายร้อยมาตั้งแต่ปีที่ 2 ได้มาเรียนภาษาในโรงเรียนนี้พร้อมกับ ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี(พ.ต.หลวงทัศนัยนิยมศึก) ซึ่งเป็นญาติโยมสัมพันธ์กับสกุลภมรมนตรีทางสายอินทรกแหง จึงได้ถือโอกาสให้มาอยู่รวมกันในบริเวณ และชักชวนเข้ามาร่วมคิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งท่านทั้งสองได้มีความสนใจอย่างจริงจัง  ส่วนคุณปรีดีได้ชักชวนนายจรูญ สิงหเสนี (หลวงศิริราชไมตรี) ซึ่งเป็นข้าราชการสถานทูตได้อีก 1 คน และข้าพเจ้าได้เดินทางไปชวน ดร.ตั้ว ลพานุกรมจากสวิตเซอร์แลนด์ กับนายแนบ พหลโยธิน ซึ่งศึกษาวิชากฎหมายอยู่ในปารีส เข้ามาอีกผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อรวมได้ 7 คน ก็ได้เริ่มเปิดการประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2467  ที่บ้านพักของข้าพเจ้าที่ 5 Rue du Sommerad ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก ข้าพเจ้าได้ถือเป็นวันอุดมมงคลฤกษ์ ซึ่งตรงกับวันเกิดของข้าพเจ้า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้ ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ เป็นประธานในที่ประชุม...”

                 นี่คือข้อเขียนของพลโทประยูร ซึ่งผ่านสายตาผมก่อนพิมพ์ แต่ข้อความตอนนี้ผมไม่สนใจเพราะเป็นเหตุการณ์ก่อนผมเกี่ยวข้อง

                 ทีนี้ ขอนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือ “ บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย ” เขียนโดยอาจารย์ปรีดีว่า
 
                “ การประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร มีขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1927 ที่หอพักแห่งหนึ่ง ณ Rue du Sommerad ซึ่งเราเช่าห้องใหญ่ไว้เฉพาะการประชุมนั่น ผู้ร่วมประชุมมี 7 คน คือ

                 1. ร.ท.ประยูร ภมรมนตรี นายทหารกองหนุนซึ่งเคยเป็นผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล้กรักษาพระองค์รัชกาลที่ 6  
                 2. ร.ท.แปลก ขีตตะสังคะ สำเร็จวิชาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสยาม แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส
                 3. ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี นายทหารกองหนุน เคยเป็นผู้บังคับหมวดกรมทหารม้าที่ 5 นครราชสีมา แล้วมาศึกษาที่โรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส
                 4. นายตั้ว ลพานุกรม นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์ เคยเป็นจ่านายสิบในกองทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1  
                5. หลวงสิริ ราชไมตรี นามเดิมจรูญ นามสกุลสิงหเสนี ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส เคยเป็นนักเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมและเป็นนายสิบตรีในกองทหาร  อาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
                 6.นายแนบ พหลโยธินเนติบัณฑิตอังกฤษ
                 7.ข้าพเจ้า
 
                 “ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ ให้ข้าพเจ้าเป็นประธานและเป็นหัวหน้าคณะราษฎรจนกว่าจะมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าคณะราษฎรในกาลต่อไป”  นี่เป็นข้อเขียนของอาจารย์ปรีดี  

                 เมื่อนำข้อเขียนของพลโทประยูร กับของอาจารย์ปรีดีมาเปรียบเทียบกันมีข้อแตกต่างกัน เช่น พลโทประยูร เรียกการประชุมนั้นว่าเป็นการประชุมเป็นทางการครั้งแรกของคณะราษฎร สถานที่พลโทประยูรบอกว่าเป็นบ้านพักของท่าน อาจารย์ปรีดีบอกว่า เป็นที่ซึ่งคนเหล่านั้นเช่าไว้เฉพาะการประชุมนั้นชื่อสถานที่ดูจะเป็นชื่อเดียวกัน  แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นที่เดียวกันหรือเปล่า วันเวลาพลโทประยูรบอกว่า วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2467 อาจารย์ปรีดีบอกว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2470 (1927) พลโทประยูรบอกว่าที่ประชุมเสนอ ร.ท.แปลก เป็นประธานอาจารย์ปรีดีบอกว่า ที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ให้ท่านเป็นประธานที่ประชุมและหัวหน้าคณะราษฎร

                 แต่ในความแตกต่างเหล่านี้ ผมขอถือเอาข้อเขียนของอาจารย์ปรีดีเป็นหลัก ของพลโทประยูรเป็นส่วนประกอบ



ผมไม่ได้นำเอาเรื่องการก่อตั้งคณะราษฎรในฝรั่งเศสมาเสนอในกระทู้ของผมเพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับพระยาทรง และนักศึกษาประวัติศาสตร์ก็เข้าไปหาอ่านเองได้ไม่ยากนักทั้งในเวปและในห้องสมุด ส่วนใครเป็นผู้เริ่มคนแรก บ้านของพลโทประยูรจะอยู่ที่5 Rue du Sommeradจริง จะประชุมกันในห้องของตนหรือไปเช่าอีกห้องหนึ่งเพื่อจัดประชุมในวันนั้น ซึ่งจะเป็นวันที่เท่าไรกันแน่ อ่านถึงตรงนี้ก็สรุปไม่ได้นะครับ ถ้าทั้งสองท่านยังไม่ตายก็น่าจะไปเถียงกันในศาลและให้ศาลชี้ออกมานั่นแหละ จึงจะเป็นข้อยุติ บังเอิญเรื่องนี้จบในขั้นศาลอย่างที่เราทราบก็จริงแต่ไม่ถึงขบวนการพิพากษา ก็ท่านเล่นฟ้องบุคคลที่สาม จำเลยคือกระทรวงศึกษาธิการและสำนักพิมพ์ ทั้งข้าราชการ รัฐมนตรีตลอดถึงเถ้าแก่โรงพิมพ์ต่างก็ไม่มีใครอยากจะไปค้าความในเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของตนโดยตรง อะไรยอมได้ก็ยอมความกันไป เรื่องก็จบโดยคนส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่สนใจอะไรเลย
 

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 11:50



อ้างถึง
ในที่สุดวันตัดสินโชคชะตาของท่านก็มาถึง ล่าช้าประมาณเดือนหนึ่งจากกำหนดเดิม ตำรวจญวนมารับที่บ้าน บอกนายฝรั่งขอเชิญไปพบ ผู้บัญชาการตำรวจอินโดจีนแจ้งท่านว่า ปารีสให้คำตอบมาแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้รับเกียรติให้อยู่ในไซ่ง่อนต่อไปโดยไม่มีกำหนด

ที่พระยาทรงได้รับคำตอบเช่นนั้น เหตุผลจริงๆแล้วขณะดังกล่าวเหตุการณ์กำลังตึงเครียดหนักในยุโรป สงครามใกล้ระเบิดในนาทีใดนาทีหนึ่ง ในปารีสไม่มีเรื่องอะไรสำคัญเท่ากองทัพของฮิตเลอร์ที่เคลื่อนไหวอยู่ในแนวชายแดนเยอรมันก็จริง แต่หันกระบอกปืนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องของพระยาทรงกระจี๊ดดดเดียว ตัดบทได้จึงตัดบทไป

ท่านผู้อ่านต้องใจเย็นกับผมสักนิดนะครับ ตั้งใจจะเขียนเรื่องจากเนื้อหาในพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มเดียว ที่ร.อ.สำรวจ กาญจนสิทธิ์เขียนไว้เพียง280หน้า แต่ทำให้ผมต้องไปค้นข้อมูลเพิ่มในหนังสืออีกหลายเล่ม อะไรที่ผมสงสัยก็ไม่อยากทิ้งไว้ให้ท่านผู้อ่านสับสนต่อ วันนี้ครึ้มอกครึ้มใจเลยเอาภาพที่ผมเอาตั้งหนังสือประกอบการเขียนเรื่องนี้มาวางเรียงแล้วถ่ายรูปให้ดู ที่เห็นนี่ยังไม่ครบด้วยซ้ำ ไม่นับที่ค้นจากเวปอีก เรื่องที่ร.อ.สำรวจท่านเขียน ผมก็ต้องตีความตัดความย่อความขยายความ ตอนนี้กำลังจะเข้าเรื่องสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเซียบูรพาที่เกี่ยวกับเมืองไทยและท้องเรื่องผูกไปถึง ผมอยากจะทิ้งความรู้ไว้ให้เยาวชนที่เข้ามาอ่านเรื่องที่ไม่ได้สักแต่ว่ามั่วมา มันคงจะมีประโยขน์บ้างหรอก ประวัติศาสตร์นี่น่ะ

สัปดาห์นี้(เริ่มต้นจากเมือวาน)ผมจะต้องไปวัดทุกคืนเพื่อแสดงความรำลึกเป็นครั้งสุดท้ายต่อน้าผู้หญิงที่ผมรักมากผู้เพิ่งได้จากไป ลูกชายสองคนของน้าก็เหมือนพี่ชายแท้ๆของผม ดังนั้นเรื่องที่กำลังเขียนจึงช้าลงไปอีก ต้องให้เวลากับผมนิดนึงนะครับ


บันทึกการเข้า
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 15:41

เพิ่งสมัครสมาชิกใหม่....ขออนุญาติลงชื่อว่าติดตามอยู่หลายวันแล้วครับ.......
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 16:03

มาร่วมลงชื่อเข้าห้องเรียนอีกคนค่ะ  ยิ้ม

ตามอ่านเกือบทุกวันค่ะ มีบางวันที่คอมพิวเตอร์เกเรบ้าง ก็มารวบยอดอ่านวันหลัง (หรือวันหน้าคะ...?)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 16:42

มาแสดงความเสียใจกับคุณนวรัตน ในการสูญเสียญาติผู้ใหญ่ที่เคารพค่ะ
กระทู้นี้ปักหมุดไว้แน่นดีแล้ว     ถึงกระทู้ไม่ขยับ  กี่เดือนกี่ปี ตราบใดยังไม่ถอนหมุดออก  ก็ยังอยู่ให้คนรุ่นหลังเข้ามาอ่านได้เสมอ
ระหว่างที่เจ้าของเรื่องยังไม่อยู่     ก็ขอคั่นโปรแกรมอยู่หน้าม่านไปพลางๆ
****************************
สังเกตว่า พระยาทรงสุรเดชอาจไม่ลำบากยากแค้นเท่านี้ก็ได้    ถ้าหากว่าท่านยอมรับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสบ้าง   เพราะทางเขาก็ยื่นนั่นยื่นนี่ให้ เพื่อบรรเทาความคับแค้น
แต่ท่านก็ไม่ยอม  อาจเป็นเพราะไม่อยากเป็นหนี้บุญคุณพวกเขา  อันจะทำให้ต้องเกิดภาวะจำยอมในภายหลัง  หากฝรั่งเศสต้องการให้ท่านตอบแทนขึ้นมาบ้าง
คนเราถ้าต้องพึ่งพาอาศัยอีกฝ่าย   ก็มักจะอึดอัด   เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาวางตนเป็นเบี้ยบนขึ้นมา สั่งให้ทำโน่นนี่ตามใจเขา  ยื่นมาให้สิบบาทอาจต้องตอบแทนเป็นร้อยบาท     ไม่ทำก็กลายเป็นอกตัญญู  หรือไม่ก็โดนเช็คบิลล์หนักกว่าที่ได้มา
แม้แต่เพื่อนรักก็ยังหักเหลี่ยมโหดกันได้   นายกับลูกน้องก็ยังทรยศกันได้     แล้วจะหวังอะไรกับคนที่ห่างกันกว่านี้

เรื่องที่สองคือการประหารชีวิตนายดาบพวง      ต่อให้นายดาบพวงไม่ได้บริสุทธิ์อย่างความเป็นจริง  แต่เดินทางขึ้นเหนือไปรับแผนกบฏจริงๆตามที่สายลับรายงาน    โทษก็ไม่น่าจะหนักหนาถึงขั้นประหาร  โดยไม่มีการลดหย่อนใดๆ   
ในเมื่อกบฎพระยาทรงฯ  เป็นกบฎที่ไม่มีการลงมือ    ไม่มีความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินใดๆเกิดขึ้น   เป็นกบฏที่เกิดจาก"ข่าวลับ" รายงานมาถึงรัฐบาลเท่านั้น     การพิจารณาของศาลพิเศษก็แล้วแต่ผู้เป็นใหญ่จะชี้ให้ศาลดำเนินการอย่างใด  ชี้เป็นชี้ตายได้ทั้งนั้น
ดิฉันจึงเข้าใจว่า นายดาบพวง จึงตายในลักษณะที่เรียกว่า "ตีวัวกระทบคราด"  เป็นวัวที่ถูกตีจนตาย หวังให้คราดที่ใกล้ชิด เจ็บปวดพอๆกับถูกตีเสียเอง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 17:25

^
^
แวะเข้ามาเตรียมการบ้านน่ะครับ
ยินดี และขอบคุณทั้งทุกท่านที่เข้ามา รวมทั้งได้แสดงความเสียใจที่น้าของผมได้จากไป

ผมขอเรียนถึงท่านอื่นด้วยนะครับ ถือว่าท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นตัวแทนของมิตรที่แสดงความเสียใจต่อผมแล้ว ไม่จำเป็นต้องกระทำซ้ำอีก
เพราะความจริงแล้ว ผมไม่ได้เสียใจเลยที่น้าพ้นทุกข์จากที่นอนเป็นอัมพาตอยู่แปดปีกว่า การดับของสังขาร เป็นสุข
น้าของผม ท่านทำบุญถือศีลภาวนามาตลอด ยังไงท่านก็ต้องไปดี

เรื่องพระยาทรง ติดตามให้จบนะครับ นี่ท่านยังไม่ได้ลำบากจนถึงที่สุดเลย และท่านก็ยังไม่ได้รับข้อเสนออะไรที่ชัดเจนเป็นเรื่องเป็นราว
 
ส่วนเรื่องดาบพวงหรือคนอีก17คนที่ต้องสังเวยชีวิต ผมไม่ได้คิดว่าหลวงพิบูลและพรรคพวกจะตีวัวกระทบคราดนะครับ ผมคิดว่าท่านเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าคนเหล่านี้เป็นภัยต่อตน ตนจึงมีสิทธฺ์ป้องกันตัว เหมือนมนุษย์กับงู มนุษย์เห็นงูก็มักจะตีงูตายก่อนโดยไม่คิดว่าเป็นบาปด้วยซ้ำ เพราะกลัวว่าถ้าไม่ตีเดี๋ยวงูจะกัดเอาหรือจะไปกัดผู้อื่น ไม่สนใจด้วยว่าเป็นงูพิษหรืองูกินแมลง ยิ่งหลวงพิบูลแล้ว ท่านเป็นคนชนิดที่เห็นว่า "ชาติคือตัวฉัน" ดังนั้นใครที่อาจเป็นภัยต่อท่าน ท่านก็คิดว่าเขาเป็นภัยต่อชาติแล้ว ดังนั้น คนพวกนี้จึงสมควรตาย ซ.ต.พ.

สำหรับคุณภูมิใจไทย(แปลผิดแปลใหม่ได้นะครับ) วันหน้าวันหลังจะเข้ามาอ่านอีกก็เชิญได้ตลอดเวลาเลยนะครับ ไม่ต้องห่วง

บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 18:33

ขอบพระคุณค่ะ ไม่ว่าวันหน้าวันหลัง (ไม่ทราบว่า วันที่ต่อจากวันนี้ไปควรเรียกว่า วันหน้า หรือ วันหลัง คะ)
ก็จะตามอ่านจนจบล่ะค่ะ   ประวัติของแต่ละบุคคล มีอะไรน่าสนใจให้ศึกษา ถึงได้ชอบอ่านเรื่องราวเก่าๆ
และประวัติศาสตร์ นี่แหละค่ะ

ภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยค่ะ ล็อคอินนี้มีที่มา เพราะคนต่างชาติชอบถามว่า บ้านเมืองวุ่นวาย อยู่ที่นี่ คงไม่อยากกลับ
ไปไทยอีกแล้วใช่ไหม และตัวเองก็บอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ถึงยังไงก็เป็นคนไทย บ้านเมืองจะวุ่นวายยังไง ก็จะกลับ
ถ้ามีโอกาส และภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทยเสมอค่ะ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 19:27

ระหว่างพระยาทรงฯ ตกระกำลำบากที่ไซ่ง่อน     ทหารเสืออีกหนึ่งในสี่ คือพระยาฤทธิ์อัคเนย์  ก็ต้องประสบชะตากรรม ลี้ภัยอยู่ในปีนังเช่นกัน  
เจอบันทึกของคุณพโยม โรจนวิภาต จาก oknation.net

"ปีต่อๆมาในเมืองปีนัง  ที่ข้าพเจ้าเนรเทศตนเองมาอยู่โดยพระบรมราชานุญาต  แม้จะไม่เคยมีการเคลื่อนไหวติดต่อกับผู้ใดในเมืองไทย เกี่ยวกับการคิดล้มล้าง หรือคิดร้ายต่อรัฐบาลด้วยประการใดๆเลยก็ตาม แต่ก็ยังถูกรัฐบาลระแวงสงสัยอยู่ตลอดมา  เพราะในเมืองนี้มี อดีตนายกรัฐมนตรี พระยามโปกรณ์ฯ อาศัยอยู่  พร้อมทั้งเจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อยหลายพระองค์เช่น กรมหลวง สิงหวิกรมเกรียงไกร.อดีตเสนาบดีกลาโหม  กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน  อดีตเสนาบดี กระทรวงพานิชย์และคมนาคม ซึ่งประทับอยู่สิงคโปร์  และไปๆมาๆ กับปีนังอยู่เป็นประจำ สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์วัฒนวิศิษฎ์ และหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์  อดีตราชเลขานุการ ในพระ ร. 7 เป็นต้น

           นายพลตรี  พระยาเสนาสงคราม ก็เดินทางจากไซง่อนมาอยู่กับครอบครัวซึ่งมาอยู่ปีนังอีกด้วย  ภริยาและธิดาของพระสารสาสน์พลขันธ์  ก็มาหลบภัยการเมืองเกี่ยวกับ        "กบฎบวรเดช"  อยู่อีกครอบครัวหนึ่ง.

        ภายหลังต่อมาก็มี  พ.อ.พระยาฤทธิ์อัคเนย์  หนึ่งในสี่ เสือของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ถูกลมสลาตันพัดจากวังปารุสก์  ให้กระเด็นออกมาอยู่ปีนัง  ท่านผู้นี้มีค่าตัว  ซึ่งรัฐบาลตั้งเอาไว้ ถึง 1 หมื่นบาท  แต่ก็ไม่เห็นมีใครมาคิดจับส่ง          ในระยะหลังต่อมาอีก  ก็มีคนสำคัญที่หนีจากเกาะตะรุเตามาอาศัยธงอังกฤษที่ปีนังอีก5 คน คือ พ.อ.พระยาสุรพันธ์เสนี, น.อ.พระยาศราภัยพิพัฒ, ขุนอัคนีรถการ, นายหลุยคีรีวัต อดีตผู้อำนวยการ น.ส.พ.กรุงเทพเดลิเมล์  และนายแฉล้มเหลี่ยมเพชรรัตน์ อดีตทนายความที่นครราชสีมา.

         ร.ท.ขุนโรจนวิชัย  พี่ชายข้าพเจ้าซึ่งหนีออกไปอยู่ไซง่อน พร้อมพระองค์เจ้าบวรเดชก็ย้ายมาอยู่กับน้องชายอีกด้วย

         นอกจากนั้น  ยังมีจีนคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับ " กบฎบวรเดช " และถูกจับเนรเทศไปเมืองจีน  ก็เดินทางเรือมาตั้งถิ่นฐานอยู่ปีนังอีกครอบครัวหนึ่ง.    

         ปีนังจึงกลายเป็นเมืองสำคัญ   ที่รัฐบาลสยามต้องจับตาเพ่งเล็งเป็นพิเศษ  ว่าจะมีการ  "ก่อหวอด" เพื่อทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง  แต่เมื่อเบ่งอำนาจออกมาไม่ถึง  รัฐบาลจึงจำต้องส่งสายลับปลอมตัว  ย่องเข้ามาสืบข่าวในลักษณะต่างๆกันเช่นเป็นนักท่องเที่ยว,  เป็นพ่อค้าและเป็นคนไทยชาวใต้  มาอาศัยตามวัดไทยเป็นต้น   สายลับดังกล่าวมักจะไม่พ้นสายตาตำรวจนครบาล  ศิษย์สก็อตแลนด์ยาร์ดของอังกฤษ  ซึ่งจะแอบมากระซิบให้พวกเรา-ผู้ลี้ภัยทางการเมือง-รู้และระวังตัว   แต่ความจริง,  บรรดาผู้ลี้ภัยการเมืองก็ "ได้กลิ่น"  เมื่อเจอะแก๊งสายลับของรัฐบาลไทยไม่ว่าจะปลอมแปลงมาในรูปไหน..

         ข้าพเจ้าขอยืนยันไว้ในประวัติศาสตร์ได้เลยว่าระหว่าง  พ.ศ. 2476  ถึง  พ.ศ.2484อันเป็นปีที่ญี่ปุ่นก่อสงครามอาเซียอาคเนย์ขึ้นนั้น  บรรดาชาวไทยผู้ลี้ภัยในปีนังและสิงคโปร์  มิได้คิดก่อการใดๆที่จะทำการปฏิวัติ-ล้มล้างรัฐบาลในเมืองไทยเลย  ทุกคนคอยแต่เงี่ยหูฟังข่าวว่าเมื่อไรจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เท่านั้น  เพราะนั่นเป็นความหวังชิ้นเดียวที่ยังเหลืออยู่....พอได้ทราบว่าเกิดมีการเปลี่ยนแปลง  แต่ยังคงเป็นรัฐบาลเก่า เหมือนเหล้าในขวดเก่า  เอามาใส่ในขวดใหม่  เราก็พากันเศร้าต่อไป  ความหวังครั้งนั้น ตั้งอยู่บนรากฐานว่า  การพ้นอำนาจของรัฐบาล  "คณะราษฎร์"  แล้วเท่านั้น บรรดาโทษทัณฑ์ทางการเมือง  ที่รัฐบาลเก่ายัดเยียดให้เรา  จึงจะได้รับนิรโทษกรรมเพราะเราอยากเชื่อว่าความยุติธรรมยังคงจะมีอยู่ในโลกนี้บ้างเมื่อเราใช้หนี้ " กรรมเก่า " ที่ติดตามเรามาแต่ชาติปางก่อนจบสิ้นแล้ว...ฟ้าก็จะประทานความยุติธรรมให้แกเราบ้าง..

          เมื่อมีแต่ข่าว  เหล้าขวดเก่ายังคงเปลี่ยนแต่เพียงขวดเท่านั้น เราก็รอ..รอต่อไป..  บรรดาผู้ลี้ภัยการเมืองจากสยามครั้งนั้น  ได้รับความยกย่องนับถือจากรัฐบาลอังกฤษ  ว่าเป็นผู้ดีมีเกีรติสูง  คือเป็นพระราชวงศ์และข้าราชการที่เคารพ พระมหากษัตริย์  เช่นเดียวกับชาวอังกฤษ  ถ้าผู้มีเกียรติเหล่านี้กลับมาประพฤติผิดกฎหมายนานาชาติ  กล่าวคือมาส้องสุมกันเพื่อคิดทำลายล้างรัฐบาลไทย  ก็ย่อมเป็นสิ่งที่เสื่อมเกียรติยศอย่างน่าอับอายที่สุด  น่าเสียดายที่รัฐบาลไทยสมัยนั้น  มิได้คิดเช่นนี้  จึงพยายามส่งสายลับเปลี่ยนหน้ากันมาสืบลาดเลาอยู่เรื่อย...


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 20:23

ตามอ่านบันทึกของคุณพโยม โรจนวิภาต ต่อไปอีก    ก็เลยเจอเรื่องโจรจีนที่ชอบมาแย่งชิงนักการเมืองไทยจนถูกลูกหลงตายกันบ่อยๆ     คำเฉลยก็สอดคล้องกับที่คุณนวรัตนอธิบายไว้

       
          "ขอถือโอกาสเล่าเรื่องประหลาดเกี่ยวกับโฮเต็ลปินกังที่ ฮัตตันแลนด์นี้ไว้สักหน่อยคือเมื่อเกิดการปฏิวัติรัฐประหารในกรุงเทพฯ  ครั้งที่เท่าไร  จำไม่ไหว  ได้มีรัฐมนตรีหนุ่มนายหนึ่ง  หนีออกมาพักอยู่ในโรงแรมนี้  โดยมีนัดหมายกับพรรคพวกทางกรุงเทพฯไว้ว่า  ถ้าเหตุการณ์เรียบร้อยจะกลับเมืองไทยได้  ก็ส่งให้โทรเลขมาบอกเขาตามคำรหัสที่นัดกันไว้....

           ต่อมาเมื่อฝ่ายเหลือบฝูงที่มาครองอำนาจใหม่แอบรู้คำรหัส  จึงโทรเลขปลอมมาหลอกรัฐมนตรีหนุ่มให้กลับกรุงเทพฯ

            พอเขาลงจากเรือบินที่ดอนเมือง  ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามตะครุบตัวไปทันที  แล้วในที่สุดเขาก็ถูกยิงตาย  ขณะมีการโยกย้ายที่คุมขัง  พร้อมกับเพื่อนรัฐมนตรีชุดเดียวกันรวม 4 คน  รัฐบาลแถลงว่า  "โจรมะลายู"  ยกพวกมาชิงตัว  เลยยิงต่อสู้กับตำรวจ  จนตายเฉพาะ 4 รัฐมนตรีหนุ่มเท่านั้น  โจรมะลายูและตำรวจไม่มีใครตายเลย

            คำแถลงนี้เป็นที่น่าอับอาย  ชาวอังกฤษและมะลายูผู้พิศวงงงงันว่า "โจรมะลายู"จะไปปล้นเอาตัวรัฐมนตรีไทยมาทำอะไรกัน....

           เรื่องเกี่ยวกับโฮเต็ลปินกังในตอนนี้  คือ  รัฐมนตรีหนุ่มผู้ถึงฆาตได้บอกกับเจ้าของโรงแรมไว้ว่า  จะกลับมาอีกในไม่กี่วัน  และเขาก็ได้มาตามสัญญา  ในวันรุ่งขึ้นจากที่เขาถูก  โจรมะลายู  รุมยิงตายพร้อมกับรัฐมนตรีเพื่อนเขาอีก 3 คน นั้น เขาได้มาปรากฎตัวที่ประตูที่บนโรงแรม หลายคนได้เห็นเขาอย่างถนัดชัดเจนในเวลากลางวันแสกๆ  จึงตกตะลึงเอะอะขึ้นเพราะนึกว่าเป็นตัวเขาจริงๆ  แต่ชั่วขณะหนึ่งนั้นภาพของเขาก็หายวับไปกับตา  มิได้มีตัวรัฐมนตรีหนุ่มชื่อดัง....อยู่ที่นั่นเลย
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 03 ก.ค. 10, 23:30

ขอแสดงความเสียใจกับคุณ Navarat.C ด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 07:11

^
ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 07:16

อาจารย์ใหญ่สองท่านเข้ามาแต่ไม่ตอบคุณภูมิใจที่เป็นคนไทย (ตกลงภูมิใจไทยไม่เอานะครับ ขอประทานโทษ) สงสัยจะให้สถาปนิกตอบ  ตอนแรกผมไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกัน บางทีคำที่เราเรียนมาสมัยเด็กๆว่าถูก ราชบัณฑิตสมัยหลังประชุมกันแล้วบอกว่าผิด ที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ แล้วผมจะไปทราบได้อย่างไร ไม่ได้ติดตามอ่านพจนานุกรมทุกฉบับ เคยเถียงกับคุณม้าเรื่องฐ.สันฐานมาทีหนึ่งแล้ว ถูกคุณม้าน็อคตกเวทีไป

ยกตัวอย่าง สมัยเป็นนักเรียน จะมีคุณพระหรือพระยาท่านหนึ่งเป็นข้าราชสำนักในรัชกาลที่6มาพูดให้ฟังบนหอประชุมเรื่องวิชามหาดเล็ก ผมยังนึกชื่อท่านไม่ออกแต่คุณวี_มีอาจจะทราบ ท่านบอกว่าทูนเกล้าทูนกระหม่อม สะกดด้วยน.หนู ให้ใช้เวลาถวายของที่ไม่หนัก วางบนหัวแล้วคอไม่หักว่างั้นเถอะ ถ้าหนักเช่นจะถวายช้างหรือรถยนต์จะใช้ทูนเกล้าฯไม่ได้ ต้องน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ส่วนทูล ล.ลิงสะกด แปลว่าพูด ใช้กับคำว่ากราบบังคมทูลเท่านั้น ให้จำเอาไว้
ผมก็ใช้อย่างนั้นมาจนเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว รุ่นน้องไม่ติดฝุ่นมาบอกผมว่าพี่เขียนทูนเกล้าฯถวายผิด ต้องทูลเกล้าฯ ผมก็เลคเช่อร์เรื่องข้างบนให้ฟังซะเลย พ่อหนุ่มนั่นฟังเสร็จก็ถอยออกไปสักครู่แล้วเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาเปิดให้ดู ในนั้นแจ้งว่า การถวายของใดๆก็ตาม ให้ใช้คำว่าทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพียงคำเดียว ผมก็หงายหลังตึง ตกเวทีไปอีกครั้ง

คราวนี้เลยต้องตรวจสอบ ได้ความตามที่ผมเข้าใจและใช้อยู่เป็นประจำละครับ

วันหน้า  คือวันในอนาคตที่ค่อนข้างจะยาวหน่อย เช่น เด็กวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้า
วันหลัง คืออนาคตอันใกล้แทบจะต่อจากวันพรุ่งนี้ หรือมะรืนมะเรื่องกันทีเดียว
วันหน้าวันหลัง เป็นวันในอนาคตแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว

หวังว่าคุณภูมิใจที่เป็นคนไทยจะนำไปใช้ต่อไปด้วยความมั่นใจนะครับ
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 04 ก.ค. 10, 09:11

ขอบพระคุณค่ะ ยิ้มกว้างๆ สงสัยมานานแล้วล่ะค่ะว่า วันหน้า กับ วันหลัง ใช้ต่างกันยังไง คราวนี้คงใช้ได้ถูกซักที..
ตามอ่านเรื่องราวชะตากรรมของพระยาทรงฯต่อไปนะคะ ^^
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง