เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328788 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 20 มิ.ย. 10, 19:01

ขอบพระคุณที่ปักหมุดให้กระทู้นี้อย่างรวดเร็วน่าชื่นใจนะครับ

และผมจะขอพักยก ให้ท่านทั้งหลายตั้งตัวนิดนึง จะได้หาประเด็นมาเสริมให้กับเรื่องนี้ของผมด้วย

แต่นี่ ยังไม่ได้เฉียดเรื่องในหนังสือที่ขึ้นหัวข้อไว้เลยนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 20 มิ.ย. 10, 19:35

กระทู้นี้ น่าจะยาวถึง ๕๐ ได้ไม่ยาก    แต่ดิฉันตั้งใจจะปั่นให้ได้ถึง ๑๐๐  ยิงฟันยิ้ม

ลากเสื่อมาปูนั่งแถวหน้า   รอฟังเมกะโปรเจคเรื่องของพระยาทรงสุรเดช  จากคุณนวรัตนต่อไปนะคะ    ชีวิตของพระยาทรงฯ ดิฉันไม่ทราบมากนัก ก็จะไม่แตะต้อง
ระหว่างนี้ ขอย้อนกลับมาปูแบคกราวน์  ถึงบรรยากาศในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองก่อน

ย้อนกลับไปถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อสยามตัดสินใจเปิดประตูรับประเทศมหาอำนาจด้วยมิตรไมตรี   เพื่อรักษาตัวให้รอด     นโยบายเท่าทันตะวันตกอย่างหนึ่งคือ ส่งนักเรียนไทยไปเรียนในยุโรป     เพื่อจะรับความศิวิไลซ์มาพัฒนาประเทศ
นโยบายนี้สืบต่อมาเรื่อย อย่างแข็งขันในรัชกาลที่ ๕  และเรื่อยต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๖  บรรดานักเรียนไทยหัวนอกทยอยกันกลับมาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ ๕   
ในรัชกาลที่ ๖ และ ๗  พวกนี้ก็กระจายกันอยู่ในราชการหลายหน่วยงาน ทั้งทหารและพลเรือน
ความคิดที่เข้มข้นและแข็งขันของอดีตนักเรียนนอกเหล่านี้ จะหนักไปทางพัฒนาประเทศมากน้อยแค่ไหน  ยังไม่เห็น  แต่ที่เห็นก็คือความคิดว่า คนเก่งสามัญชนไม่สามารถขึ้นถึงยอดได้  เพราะว่ามีบุคคลที่เกิดมาเป็น "เจ้า" ครองพื้นที่ส่วนยอดในราชการไว้แล้ว   และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆได้ก็เพราะโหน "เจ้า" อยู่ 
สังคมไทยแบบเดิม จึงไม่ถูกต้องในสายตาของนักเรียนไทยหัวนอกพวกนี้  ส่วนเรื่องความประสงค์จะเปลี่ยนสังคมเพื่อราษฎรส่วนใหญ่ที่ด้อยโอกาส   อาจมองเห็นร่องรอยได้ในนโยบายของดร.ปรีดี พนมยงค์ 
ความมุ่งหวังจะเห็นประชาธิปไตย คือประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงสมกับเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่
เห็นได้อีกครั้งในหนังสือ "ความฝันของนักอุดมคติ" หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว

บรรยากาศที่ไม่ค่อยมีใครพูดกันเต็มปากนัก จึงเป็นบรรยากาศ เกลียดเจ้า ที่แพร่สะพัดอยู่ในต้นรัชกาลที่ ๗ จนถึงวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หาอ่านได้ในพระนิพนธ์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ของม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล    เดี๋ยวจะขอเวลาย่อยมาให้อ่านกันค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 20 มิ.ย. 10, 20:37

ตัดตอนมาบางส่วน จากพระนิพนธ์ สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น

" ถึงรัชกาลที่ ๗  เป็นเวลาที่นักเรียนนอกกลับมาเต็มบ้านเต็มเมือง   แบกเอาความเห็นเข้ามาต่างๆชนิด  ซึ่งดูเหมือนจะยังขาดอยู่แต่เรื่อง anarchism อย่างเดียว    ทั้งประจวบเวลาที่น้ำใจคนรวนเรผันแปรด้วยเรื่องตัดรายจ่ายของแผ่นดิน    เป็นต้นเหตุให้เกิดความไม่พอใจ discontentment  ขึ้นในหมู่ข้าราชการ    เพราะต้องถูกึดออกจากตำแหน่งบ้าง   ถูกลดรายได้ลงบ้างตามฐานะ   จึงเป็นโอกาสให้พวกที่อยากเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่แล้วด้วยความฟุ้ง   ด้วยเกลียดในหลวง   ด้วยเห็นเป็นโอกาส  หรือเห็นดีเพราะไม่รู้จักเมืองไทยก็ตาม  เข้าส่งเสริมและชี้แจงได้ถนัด"

พระยามโนปกรณ์ฯ นายกคนแรกได้รับสารภาพกับข้าพเจ้าเองที่ปินังว่า "ที่จริงใครๆก็รู้กันดีทั้งนั้นแหละว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง    แต่เขากำลังเบื่อ   เขาก็พากันเมินๆทำไม่รู้เสีย" ข้าพเจ้าถามว่า "เบื่ออะไร?" เจ้าคุณตอบว่า " ก็เบื่ออ้ายการปกครองอย่างที่เป็นอยู่น่ะซี"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 20 มิ.ย. 10, 20:56

อีกตอนหนึ่งที่น่าจะเป็นบทสรุปได้  ถึงคลื่นใต้น้ำเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

"เมืองไทยมีโรคหลายอย่างดังที่เล่ามา   เหมือนคนที่เจ็บเป็นโรคเรื้อรังไม่มีทางรักษา    เพราะแก้การศึกษาไม่ทันเสียแล้ว    พอหมดกำลังลงก็พอดีเชื้อโรคลุกลามมาทุกทิศทุกทางดังแกล้งให้เกิดขึ้น
ทางฝ่ายพระราชวงศ์ ก็อ่อนแอลงเพราะการแข่งดีกันเอง   โดยไม่ทำดีอะไรให้คนนับถือ    ก็เลยเป็นเครื่องมือให้พวกก่อการยุยงคนให้เกลียดชังได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น     เสียงเกลียดเจ้าค่อยๆเริ่มขึ้นจนถึงแสดงกิริยาเปิดเผยขึ้นทุกที   แล้วก็ลามขึ้นไปถึงพวกเสนาบดี-กับอภิรัฐฯ    มีเรื่องขุ่นเคืองกันแทบจะทุกประชุม    เมื่อเถียงทะเลาะกันแล้วก็นำเอาออกมาเล่า ด้วยเห็นว่าตัวเป็นฝ่ายถูก    เรื่องเหล่านั้นก็กึกก้องต่อเติมกันยิ่งขึ้นทุกที"


มีข้อความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่องนี้  ที่เวลาพิมพ์  บรรณาธิการเว้นชื่อบุคคล เหลือแต่ ............ ก็เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร
ข้อความตอนนี้พูดถึงความขัดแย้งเรื่องเลื่อนยศนายทหาร และเงินเดือนก็ต้องขึ้นไปโดยปริยาย   แต่นโยบายในตอนนั้นคือการตัดทอนงบประมาณลงให้มากที่สุด  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลกและกระทบถึงไทยด้วย   จึงไม่มีการอนุมัติให้กระทรวงกลาโหม
ผลก็คือ  บุคคลสำคัญที่เว้นชื่อนั้น  ก็.."แถลงการแก่นายทหารต่างๆ  และมี at-home-day  ทุกอาทิตย์ที่บ้านถนนวิทยุ   มีพวกนายทหารทุกชั้นทุกวัยไปเล่น tennis  แล้วอยู่กินน้ำชา   กินดินเน่อร์แล้วก็เลยประชุมกันหนักขึ้นทุกที    นายทหารที่ไปประจำคือ  พระยาอินทราวุธ(อาวุธ อาวุธ)   พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)  และพระยาทรงสุรเดช  (เทพ พันธุมเสน) นี้อยู่ภายหลังดินเนอร์เสมอ"
เดาว่า บุคคลสำคัญที่นัดนายทหารไปบ้านถนนวิทยุ   เพื่อประชุมกันหนัก(คงจะหมายถึงพูดกันเรื่องไม่พอใจการปกครองในตอนนั้น) คือพระองค์เจ้าบวรเดช
ฝากผู้รู้ในนี้ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 20 มิ.ย. 10, 21:16

คลื่นใต้น้ำที่ซัดแรงอยู่ในสังคมไทยตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๕  พอจะประมวลได้ว่าเกิดจาก
๑  การตัดทอนงบประมาณโดยรัฐบาล  ที่เรารู้จักกันในชื่อ "ดุลยภาพ" เพื่อรักษารายรับรายจ่ายของท้องพระคลังไว้ให้สมดุลย์      เป็นผลให้เกิดการยุบหน่วยราชการหลายหน่วยในรัชกาลที่ ๖    โดยเฉพาะพวกบันเทิงมหรสพที่เคยเฟื่องฟูในรัชกาลก่อน     ส่วนในกระทรวงและกรมสำคัญๆแม้ไม่ได้ยุบ ก็มีคำสั่งให้ตัดทอนงบประมาณ   ข้าราชการถูกลดทอนเงินเดือน หรือบางคนก็ต้องถูกออกจากราชการ โดยไม่ได้ทำผิด   ก็ทำให้เดือดร้อน ไม่พอใจกันไปทั่ว
ตัวอย่างอยู่ในสี่แผ่นดิน  คุณเปรมเป็นคนหนึ่งที่ "ถูกดุลย์"
๒  ความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ ที่ไปรับการศึกษามาจากเมืองนอก   ทำให้ไม่พอใจกับระบอบและความเป็นอยู่หลายๆอย่างในสังคมไทย  
๓  ความแตกแยกภายใน    จากพระนิพนธ์ของม.จ.พูนพิศมัย  เห็นได้ชัดว่าเจ้านายระดับสูงก็ขัดแย้งกันเอง  ทั้งส่วนพระองค์และเรื่อยไปถึงงานในหน้าที่    แม้แต่พระเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงลำบากพระราชหฤทัยกับความขัดแย้งดังกล่าว
ปัจจัยพวกนี้แหละ ทำให้คนที่ระแคะระคายแต่ต้นว่า น่าจะเกิดปฏิวัติขึ้นในไม่ช้า ก็เพิกเฉย   ถือว่าธุระไม่ใช่ หรือไม่ก็ระอากับสภาพที่เป็นอยู่  ก็เลยไม่กระตือรือร้นจะตัดไฟแต่ต้นลม     ในที่สุดเมื่อเจอเสนาธิการใจกล้าอย่างพระยาทรงสุรเดช จู่โจมทำสิ่งที่คนอื่นๆตั้งตัวไม่ทันเข้า  การเปลี่ยนแปลงการปกครองก็เกิดและจบลงอย่างง่ายดาย    
แต่จะถือว่าเป็นการปฏิวัติที่สงบเรียบร้อย ไม่เสียเลือดเนื้ออย่างที่มักจะอ้างกัน  ก็ไม่ใช่    เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นเพียงจุดสตาร์ทเท่านั้น   ส่วนลู่วิ่งที่ยาวเหยียดนั้น ปูด้วยเลือดและชีวิตของคนจำนวนมาก ทั้งผู้เกี่ยวข้องและผู้บริสุทธิ์     กว่าจะเรียกว่าจบได้ก็สังเวยชีวิตไปมากมาย ทั้งกบฏบวรเดช และนักโทษประหาร ๒๔๘๒
ไม่มีตรงไหนเลยที่เรียกได้ว่าเรียบร้อย  หมดจด  และจบลงด้วยดี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 07:18

อ้างถึง

ผลก็คือ  บุคคลสำคัญที่เว้นชื่อนั้น  ก็.."แถลงการแก่นายทหารต่างๆ  และมี at-home-day  ทุกอาทิตย์ที่บ้านถนนวิทยุ   มีพวกนายทหารทุกชั้นทุกวัยไปเล่น tennis  แล้วอยู่กินน้ำชา   กินดินเน่อร์แล้วก็เลยประชุมกันหนักขึ้นทุกที    นายทหารที่ไปประจำคือ  พระยาอินทราวุธ(อาวุธ อาวุธ)   พระยาพหลพลพยุหเสนา(พจน์ พหลโยธิน)  และพระยาทรงสุรเดช  (เทพ พันธุมเสน) นี้อยู่ภายหลังดินเนอร์เสมอ"
เดาว่า บุคคลสำคัญที่นัดนายทหารไปบ้านถนนวิทยุ   เพื่อประชุมกันหนัก(คงจะหมายถึงพูดกันเรื่องไม่พอใจการปกครองในตอนนั้น) คือพระองค์เจ้าบวรเดช
ฝากผู้รู้ในนี้ช่วยตรวจสอบให้ด้วยค่ะ

ผมเอาบางตอนจาก “นักเรียนนายร้อยไทยในเยอรมันยุคไกเซอร์” ของ สรศัลย์ แพ่งสภา มาให้อ่าน

.....มีปัญหาว่าทำอย่างไรจึงจะยึดกรุงเทพฯ ได้ โดยปราศจากการเสียเลือดเนื้อ พูดง่ายๆ ก็คือ คณะราษฎรต้องพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้ทุกวิธีทาง รู้ตัวดีว่าจะไม่มีทางต้านพลังความจงรักภักดีในพระมหากษัตริย์ของประชาชนทุกหมู่เหล่าได้ เอาไงดี ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่ว่า "เอาแน่" แต่จะด้วยวิธีใดและเมื่อไหร่ ยังตั้งเป้าหมายวันเวลาไม่ได้ ปีนึงสองปีสามปี เมื่อไหร่ไม่มีใครตัดสินใจวันหนึ่ง พระยาพหลฯ มีโอกาสเฝ้า พลเอกพระองค์เจ้าบวรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหมซึ่งกราบบังคมลาออกจากราชการ ตั้งแต่ พ.ศ. 2473 ก็เปรยทูลเชิงตลกไร้แก่นสารว่ากรุงเทพฯ นี่ถ้าจะยึดให้ได้ง่ายๆ เงียบๆ จะทำอย่างไรดี

พระองค์เจ้าบวรเดชรับสั่งตอบทันควัน รับสั่งต่อเหมือนทรงรู้อะไรดีอยู่แล้ว ยึดกรุงเทพฯได้แล้วเราจะทำอะไรต่อไป จะให้อะไรที่ดีขึ้นแก่ราษฎร และพรรคพวกของเราจะรักษาสัจจะได้แค่ไหน หัวใจมันอยู่ตรงนี้...



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 07:24

หลังจากเหตุการณ์ในขั้นวางแผนดำเนินมาถึงวันที่24 มิถุนายน อันเป็นวันที่คณะราษฎรปฎิบัติการ ลวงทหารออกมาชุมนุม และจับเจ้านายและนายทหารชั้นผู้ใหญ่มาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม


และก็เช้าวันนั้นนั่นแหละ .....พลเอกท่านหนึ่งที่คณะราษฎรไม่เอ่ยถึงทั้งๆ ที่เคยเป็นถึงเสนาดีกระทรวงกลาโหม และไม่มีการจับมาเป็นตัวประกัน ท่านมาถึงลานพระบรมรูปทรงม้าในชุดกีฬา(สมัยนั้น) คือ เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงขาสั้น หมวกกะโล่ สวมถุงน่องรองเท้าคาบกล้องยาเส้น เข้ามาพบนายทหารรักษาการณ์ ขอพบหัวหน้าคณะราษฎร ท่านก็ได้พบเจ้าคุณพหลฯท่านผู้นั้นก็คือ พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ที่ประทานแผนจับตัวประกันให้เจ้าคุณพหลฯ


ชัดไหมครับ  ..แต่ก็ไม่มีใครให้ความสนใจท่านมากไปกว่านั้น สักครู่ก็จากไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 07:37

ที่น่าสนใจต่อไปก็คือ ประโยคหนึ่งในบทสนทนาระหว่างร้อยโท ประยูร ภมรมนตรีกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ในเช้าวันนั้น ซึ่งผมค้ดจากหนังสือ “ชีวิต๕แผ่นดินของข้าพเจ้า”

…..ท่าทางของข้าพเจ้าคงป่าเถื่อนอยู่มาก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ทรงจ้องมองข้าพเจ้าด้วยความหวาดระแวง พอข้าพเจ้าสำนึกก็วางปืนลง แล้วกราบขอพระราชทานอภัย
รู้สึกว่าทรงคลายความวิตก แล้วทรงรับสั่งถามคำแรกว่าใครเป็นหัวหน้า พระองค์บวรเดชใช่ไหม ข้าพเจ้ากราบทูลว่าไม่ใช่ ทรงถามว่าแล้วใครเล่า ข้าพเจ้าก็ตอบว่า ยังกราบทูลไม่ได้พะย่ะค่ะ…..



ผมยังเจอในที่อื่นๆอีกหลายแห่ง และแน่ใจว่า พระองค์บวรเดชมีพระทัยอยากจะปฏิวัติอยู่นานแล้ว เป็นความลับที่ทุกฝ่ายรู้ แต่ไม่มีใครเอาด้วยเพราะนิสัยการวางองค์ข่มผู้อื่นของท่านเอง การก่อกบฏในปีต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่การสอดแทรกองค์ท่านเข้ามาเป็นแม่ทัพทหารหัวเมืองแทนพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ นายทหารแม่ทัพนายกองในกรุงเทพเลยกลับใจหมดไม่มีใครเอาด้วย กบฏบวรเดชจึงปิดฉากลงแบบที่พวกคณะราษฏร์สรุปว่า “ไอ้เดชหนี..ไอ้ศรีตาย”


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 08:11

ในความเห็นที่ ๑๒  ท่านพี่นวรัตนได้กล่าวไว้ถึงเรื่อง "“ลอบประชุม” มิให้พระยาพหลรู้เห็น เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการของกองทัพบก" 
การเปลี่ยนแปลงโครงการกองทัพบกนั้นคงจะหมายถึงการปรับลดสายการบังคับบัญชาทหาร  จากเดิมที่เสนาธิการทหารบกเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหาร  แล้วถัดลงมาเป็นกองทัพน้อย (ปัจจุบันคือ กองทัพภาค)  กองพล  กรม  และกองพัน ตามลำดับ  แต่โครงสร้างที่จัดใหม่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นยุบเลิกกองทัพน้อย  กองพล และกรมเสียทั้งหมด  คงเหลือแต่หน่วยกำลังระดับกองพันขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการทหารบก  ส่วนยศนายทหารชั้นนายพลก็เลิกหมดในคราวเดียวกันนั้น

เมื่อเกิดสงครามอินโดจีนในปี พ.ศ. ๒๔๘๓  มีปัญหาการประสมกำลังทางยุทธการ  จึงทำให้ต้องรื้อฟื้นสายการบังคับบัญชาระดับกองทัพ  กองพล และกรมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง  พร้อมกับการรื้อฟื้นยศนายพลขึ้นมาใหม่  และในคราวเดียวกันนี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์พิเศษ  มีนายทหารท่านหนึ่งมีความชอบพิเศษได้เลื่อนยศจากนายพลตรีเป็นจอมพลเลยทีเดียว   


ในความเห็นที่ ๑๘  ท่านอาจารย์เทาชมพูได้กล่าวถึงพระนิพนธ์ในหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย  ดิศกุล ว่า
ข้อความตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่องนี้  ที่เวลาพิมพ์  บรรณาธิการเว้นชื่อบุคคล เหลือแต่ ............ ก็เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร
ข้อความตอนนี้พูดถึงความขัดแย้งเรื่องเลื่อนยศนายทหาร และเงินเดือนก็ต้องขึ้นไปโดยปริยาย   แต่นโยบายในตอนนั้นคือการตัดทอนงบประมาณลงให้มากที่สุด  จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำไปทั่วโลกและกระทบถึงไทยด้วย   จึงไม่มีการอนุมัติให้กระทรวงกลาโหม

บุคคลในจุดๆ นั้น คือ นายพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในตอนต้นรัชกาลที่ ๗  และได้ทรงเสนอให้ขึ้นเงินเดือนทหารในที่ประชุมเสนาบดีสภา  แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วยเพราะอ้างถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  พระองค์บวรฯ จึงทรงลาออกจากเสนาบดีกลาโหม  กล่าวกันว่าในการประชุมวันนั้นกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินกับพระองค์บวรฯ ทรงโต้เถียงกันดุเดือด  ถึงกับในกรมกำแพงฯ มีรับสั่งว่าจะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองหงสาวดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 08:16

อ้างถึง
กงกรรมกงเกวียน การเมืองก็มีแต่เรื่องอย่างนี้ ผู้ก่อการคณะราษฎรหลายคนก็ต้องชะตากรรมเช่นเดียวกัน บางคนแม้ไม่ได้ไปเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ก็ถูกรถชนตายข้างถนน ลูกหลานไปพบก็อยู่ในสภาพของศพไม่มีญาติเสียหลายวันแล้ว ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าท่านที่ผมกล่าวถึงตอนท้ายนี้คือใคร

ยังจำได้ว่าใคร   เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น น่าจะเป็นช่วงที่ดิฉันเรียนจบจากจุฬาแล้ว     คลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นรถเมล์ที่ราชประสงค์

อ้างถึง
การสอดแทรกองค์ท่านเข้ามาเป็นแม่ทัพทหารหัวเมืองแทนพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ นายทหารแม่ทัพนายกองในกรุงเทพเลยกลับใจหมดไม่มีใครเอาด้วย

เรื่องนี้จริง   เหตุผลที่ยกมาเป็นทางการ คือนายทหารแม่ทัพนายกองเหล่านั้นรู้สึกว่า  ก็จะเป็นการนำระบอบกษัตริย์กลับมาอีก   จึงไม่มีใครเอาด้วย
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ น่าจะทรงทราบเรื่องราวมาแต่ต้น   จึงไม่มีพระราชประสงค์จะให้นำชื่อพระองค์ท่านเป็นข้ออ้าง

กำลังจะส่งข้อความก็ชนกลางอากาศกับคุณ V_Mee พอดี   
ยินดีมากที่เข้ามาร่วมวงเร็วทันใจค่ะ   ดิฉันกำลังนึกถึงอยู่ทีเดียวว่าถ้าได้คุณ V_Mee มาเล่าเสริมถึงประวัติศาสตร์ช่วงรัชกาลที่ ๖ ต่อเนื่องจน รัชกาลที่ ๗  กระทู้ก็คงจะปั่นได้ถึง ๑๐๐
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 08:40

อ้างถึง
กล่าวกันว่าในการประชุมวันนั้นกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินกับพระองค์บวรฯ ทรงโต้เถียงกันดุเดือด  ถึงกับในกรมกำแพงฯ มีรับสั่งว่าจะส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเมืองหงสาวดี

มาขยายความให้คุณ V_Mee
" มีเรื่องหนึ่งที่รู้กันดีว่า กรมพระกำแพงเพชรฯ เสนาบดีกระทรวงคมนาคม  กับพระองค์เจ้าบวรเดช(กฤดากร)เสนาบดีกระทรวงกลาโหม  เกิดวิวาทกันขึ้นด้วยเรื่องเครื่องบินพาณิชย์     กรมพระกำแพงเพชรฯเห็นว่าควรอยู่ในความควบคุมของกระทรวงคมนาคม    แต่พระองค์บวรเดชว่า-การบินเกี่ยวกับแก่การทำแผนที่ได้สะดวก  จะปล่อยให้อยู่ในมือผู้อื่นที่ไม่ใช่ทหารไม่ได้    กรมพระกำแพงเพชรฯกริ้วขึ้นมา  ถามว่า "ทหารจะไปรบกับใคร? จะไปตีเมืองหงสาฯ หรือ?"  พระองค์บวรเดชก็โกรธว่ากรมพระกำแพงเพชรฯ ด่า ...เพราะเมืองหงสาวดีเป็นเมืองมอญ   และ..ท่านบวรเดชเป็นมอญจริงๆ   แต่นั้นมา  ความไมตรีในระหว่างท่านทั้งสองนี้ก็ขาดอย่างเปิดเผย"  (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น-ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล)

คำว่า "ท่านบวรเดชเป็นมอญ" หมายถึงเชื้อสายทางเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่นหรือเปล่าคะ   ดิฉันค้นหนังสือพระมเหสีเทวี ของคุณส.พลายน้อย ไม่เจอ  ต้องขอถามคุณวันดี
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 13:00

ขอร่วมมือปั่นเรตติ้งด้วยคนครับ
อ่านแล้ว  ก็เห็นภาพว่า ผู้อยู่เบื้องหลังปฏิวัติ   ไม่ได้มีแต่สี่ทหารเสือเท่านั้น  แต่มีเสนาบดีวางเค้าโครงแผนการด้วยอีกองค์หนึ่ง    แต่เมื่อลงมือกระทำจริงๆ  สี่ทหารเสือก็ไม่เอาท่านเข้ามาเอี่ยวด้วย  ทำการกันไปเองจนสำเร็จ 
เมื่อสำเร็จแล้วจะเอาท่านมาทีหลัง ก็ยังไงๆอยู่  เพราะท่านก็เป็นเจ้า  ก็เลยไม่เอาให้มันตลอดรอดฝั่ง

ความสำเร็จอย่างง่ายดายของปฏิวัติ น่าจะทำให้ชุลมุนกันอยู่พักใหญ่หลังจากนั้น    อำนาจไม่เข้าใครออกใคร
เมื่อได้มาแล้วใครๆก็อยากได้เป็นของตัวเอง  เพราะต่างก็มีข้ออ้างที่จะแบ่งเค้กไม่ลงตัว

รออ่านต่อด้วยความระทึกใจครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:07

      " ก็ไม่มีอะไรแล้วนี่ขอรับ  คุณพ่อ" คุณพระผู้เป็นลูกเขยตอบด้วยเสียงค่อนข้างมั่นใจ "ก็ตกลงกันได้ด้วยดี   คณะราษฎร์ก็กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษด้วยวาจาในวันเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวแล้ว     กระผมได้ยินเขาพูดกันว่าจะขอพระราชทานขมาลาโทษอย่างเป็นทางการ   อีกไม่นานนี่แหละขอรับ"
      "พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงเป็นนักประชาธิปไตยแท้" คุณพระผู้เป็นลูกชายเสริมด้วยเสียงนิยมชมชื่น " มิฉะนั้น เลือดอาจจะนองแผ่นดินก็ได้  ใครจะรู้"
      " ดูไปก่อนเถอะ  อย่าเพิ่งคิดง่ายๆ" เสียงคุณปู่ยังคงเข้มงวด "เจ้าสองคนรู้จักฝิ่นมากน้อยแค่ไหน บอกพ่อซิ"
       ลูกชายกับลูกเขยมองสบตากันอย่างงงๆ   แปลกใจที่ท่านเปลี่ยนเรื่องกะทันหัน
        " ฝิ่นหรือขอรับ คุณพ่อ"
       " ฝิ่นน่ะสิ    คนที่จะได้ฝิ่นได้ก็ต้องเป็นหมอใช่ไหมเล่า    รู้คุณรู้โทษของมันอย่างเจนจบแล้วถึงจะใช้รักษาคนไข้ได้    แต่ถึงกระนั้นก็ต้องระวังให้มาก     ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้ฤทธิ์ของฝิ่นเป็นอย่างดี    ลองได้ฝิ่นมามากๆเต็มมือ  เสพเข้าไปเมื่อไร   ถึงเวลาก็ลงแดงตายกันทุกคน..."
       ท่านหยุดพูดนิดหนึ่ง   ก่อนจะต่อท้ายอย่างสั้นๆว่า
        "อำนาจก็เหมือนฝิ่นนั่นแหละ"   
                                                             จาก "สองฝั่งคลอง"
                                                                ของ ว.วินิจฉัยกุล
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:28

กระทู้ชักสนุก
 
คุณ bookaholicครับ คือระบอบการเมืองมันเหมือนแฟชั่น ตอนนั้นทุกคนเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชนั้นล้าสมัยเต็มที แม้เจ้านายเองท่านก็มีความคิดเช่นนั้น ที่ช้าอยู่ก็เพราะแก้ปัญหาใหญ่แบบไทยๆไม่ตก คือเมื่อเปลี่ยนระบบแล้ว จะมีคนจำนวนไม่น้อยส่วนหนึ่ง ปรับตัวไม่ได้ หรือต่อต้านไม่ยอมปรับ จะเอาคนที่ว่านี้ไปไว้ไหน ในประเทศคอมมิวนิสต์เขาเอาคนเหล่านี้ไปทำปุ๋ย การปฏิวัติตามความหมายแท้จริงจึงจะสำเร็จ พระเจ้าอยู่หัวท่านทรงหวังให้เปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังเช่นการเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ห้า ที่สำเร็จอย่างนิ่มนวลปราศจากการขัดแย้งนองเลือด เรื่องการเปลี่ยนระบอบการปกครองของไทยเป็นประชาธิปไตยนั้น คนระดับชั้นปกครองของประเทศทราบดีอยู่ว่ายังไงๆก็เปลี่ยนแน่ จะเมื่อไหร่เท่านั้น ดังนั้น การที่พระองค์บวรเดชจะทรงหลุดๆในเรื่องปฏิวัติบ้าง เจ้านายท่านจึงไม่อยากจะถือ ทรงทราบๆกันดีว่าท่านกำลังทรงอกหักกับตำแหน่งใหญ่ทางการทหาร และไม่ค่อยจะทรงมีความคิดที่ดีๆกับผู้บังคับบัญชานัก ส่วนผู้ก่อการเขาก็ไม่เอาด้วย เขาหลอกให้ทรงเผยไต๋ต่างหาก ไม่ใช่ถึงกับคบคิดกันหรอกครับ เพราะความเป็นเจ้าอย่างพระองค์บวรเดชเป็นจุดอ่อน ไม่มีฝ่ายไหนไว้พระทัยสักคน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 14:40

ผมจะพาท่านผู้อ่านติดตามเรื่องราวของพระยาทรงต่อไปเรื่อยๆนะครับ เรื่องข้างเคียงจะได้เปลี่ยนแนวตามไปกับท้องเรื่อง ก่อนที่ดวงชะตาของท่านจะโคจรเข้าสู่ช่วงตกอับแบบกู้ไม่ขึ้นนั้น พระยาทรงท่านทำอะไรลงไปบ้าง

เรามาดูจุดยืนทางการเมืองของท่านก่อน เรื่องนี้ร้อยโทประยูรเขียนไว้ว่า


ก่อนการปฏิวัติ พระยาทรงขอพบหลวงประดิษฐ์เป็นพิเศษเพื่อปรึกษาเรื่องรัฐธรรมนูญ …..ข้าพเจ้าได้นั่งฟังอยู่ด้วยโดยตลอดเวลา หลวงประดิษฐ์มนูธรรมพยายามบรรยายถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการปฏิวัติให้ครบรูป ทางด้านการปกครอง การเศรษฐกิจ และการสังคมประกอบกันไป ได้สาธยายลัทธิโซเชียลิสม์ และแนวเศรษฐกิจของศาสตราจารย์ซาร์ยิด อย่างพิศดารกว้างขวาง พระยาทรงสุรเดชนั่งฟังอยู่สักครู่ใหญ่ และในที่สุดก็ได้ปรารภพูดตัดบทว่า ที่มาพบกันวันนี้ต้องการฟังเรื่องหลักการที่จะร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นสำคัญ ขอให้งดเว้นเอาเรื่องเศรษฐกิจการสังคมมาพัวพัน หน้าที่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มีจุดมุ่งหมายเพียงสร้างรัฐธรรมนูญขึ้นมาป็นกฏหมายสูงสุดในการบริหารประเทศชาติ ให้มั่นคงและรุ่งเรือง ส่วนเรื่องการเศรษฐกิจการสังคมเป็นเรื่องปัญหาลัทธิการเมือง อันเป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎรที่จะได้รับเลือกตั้งมาซึ่งจะต้องตกเป็นภาระของรัฐบาลตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญต่อไป หาใช่หน้าที่ของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จะมากำหนดบีบบังคับไว้ล่วงหน้าประการใดได้ไม่ และได้ย้ำในวาระสุดท้ายว่า ให้ร่างรัฐธรรมนูญตามแนวของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ดังเช่นประเทศอังกฤษ  แล้วก็ลุกลาออกมาบ่นกับข้าพเจ้าว่าร้อนและยุงกัด ทนฟังตาขรัวอาจารย์ปรีดีของลื้อพูดจานอกเรื่อง ดูจะร้อนวิชาอยู่มาก ขอให้ช่วยติดตามฟังดูเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำมาปรึกษากันใหม่ แล้วลากลับไป


นี่คือมุมมองของทหารแท้ที่เห็นว่า “เมื่อสมควรจะต้องกระทำการยุทธเพื่อชาติแล้ว ก็พึงกระทำไป แต่เมื่อกระทำการนั้นสำเร็จแล้ว ก็ให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองในการแก้ปัญหาต่อ ทหารต้องกลับกรมกอง หาควรมาเป็นนักการเมืองเสียเองไม่”
 
แต่ทหารส่วนหนึ่งมีโอกาสแล้วก็อดที่จะลอง “ฝิ่น” ของ ว.วินิจฉัยกุลไม่ได้ และเมื่อลองเข้าไปแล้วก็เมากลับเข้ากรมกองไม่ถูกอย่างที่เห็นๆ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง