เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 46
  พิมพ์  
อ่าน: 328764 ชะตากรรมของพระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสี่ทหารเสือคณะราษฎร์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:29

วันที่24มิถุนายน2475 มีนายทหารกระหืดกระหอบไปทูลพลตรี หม่อมเจ้า นิลประภัศร เกษมศรี เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก หรือ "ขเด็ท พริ้นซ์ นิล" เพื่อนร่วมรุ่นของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่วังสามย่านว่า คณะราษฎรลากเอานักเรียนนายร้อยออกมา เป็นกำลังกบฎ ท่านนิลตกพระทัยเป็นห่วงเด็ก รีบทรงเครื่องแบบเสด็จมาที่โรงเรียน ที่นั่นไม่มีใคร ท่านนิลฯจึงเสด็จไปพระที่นั่งอนันตสมาคม พบพันเอก พระยาทรงสุรเดช จึงรับสั่งถามว่า ใครเป็นผู้นำนักเรียนนายร้อยออกนอกโรงเรียน ในเมื่อองค์ท่านเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาผู้รับผิดชอบโดยตรง ไม่รู้เรื่องอะไรซักนิด
"กระหม่อมเอง"
เจ้าคุณทรงฯ ทูลตอบ แล้วหันหลังเดินไปเฉยๆ
เมื่อทรงทราบว่าสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ "ผู้สำเร็จราชการพระนคร" ถูกควบคุมอยู่ จึงขออนุญาตเข้าเฝ้า เพื่อดูว่าเพื่อนฝูงเยอรมันจะปฏิบัติถวายท่านประการใด ฝ่ายสมเด็จกรมพระนครสวรรค์ฯ กำลังกริ้วเต็มที่ พอทอดพระเนตรเห็นท่านนิล ก็รับสั่งทันที่
"ไง ตานิล แต่งเครื่องแบบมาตรวจพลสวนสนามฉลองชัยชนะเรอะ มันพวกเดียวกันทั้งนั้นนี่"
ความจริงเปล่าทั้งเพ พลตรี หม่อมเจ้านิลประภัศร เกษมศรี เพื่อนของ ขเด็ทพจน์ ขเด็ทเทพ ขเด็ทดิ่น ก็ถูกรวบตัวไปควบคุมไว้ในห้องไม่ไกลจากทูลกระหม่อมบริพัตรฯ เหมือนกัน เพราะเป็น "เจ้า" และเป็น "นายพล"


ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ครั้งสุดท้ายพบปะกันที่วัง หม่อมเจ้า นิลประภัศรฯ สามย่าน ด้วยความเป็นห่วงเพื่อนเกลอก็ทรงเตือนเจ้าคุณพหลฯ ถึงความใจอ่อน คล้อยตามเรื่อง "ไล่ลดปลดทิ้ง" กำลังพลชั้นดีที่เพียงแต่เห็นว่า "ไม่ใช่พวกคณะราษฎร" ระวังจะเป็นเหยื่อให้เด็กหลอกใช้ หรือดีไม่ดีจะเป็นหุ่นให้กลุ่มเด็กเชิดแล้วจะเสียใจไม่รู้จบ
พระยาพหลพลพยุเสนา หัวหน้าคณะราษฎรหมายเลข 1 โกรธ หาว่าท่านนิลฯ ดูหมิ่นเพื่อนฝูงว่าฉลาดไม่ทันเด็ก โน่น - ท่านตีความไปโน่น
เหตุการณ์ในระยะต่อมา เริ่มฉายให้เห็นความยุ่งยาก รุ่นเด็กอ้างสิทธิ์แสวงตำแหน่งยศ แสวงทรัพย์สิน ผลประโยชน์ ประพฤติรังควานดูหมิ่นข้าราชการเก่าอย่างรุนแรง.ขนาดนายสิบ จ่านายสิบที่เผอิญได้เข้าไปไชโยในวันที่ 24 มิถุนายน ก็กลายเป็นผู้ก่อการฯ ไปด้วย กระด้างไม่ทำความเคารพนายทหารเก่า ไม่ว่าชั้นยศไหน วินัยกองทัพเสื่อมทันที


ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:32

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าใหญ่หมายเลข 1 ของ "คณะราษฎร" ท่านมีอุปนิสัยใจคอโอนอ่อนผ่อนตาม วางเฉยในเกือบทุกกรณีขัดแย้งระหว่างกลุ่ม วางตัวอยู่เหนือปัญหาใดๆ จนไม่สามารถควบคุมสมาชิกรุ่นรอง จนเห็นกันว่าผู้กุมอำนาจแท้จริงนั้นไม่ใช่เจ้าคุณพหลฯ แต่เป็นฝ่ายทหารกลุ่มหนุ่ม มิตรสหายของท่านถูกตีกระจุยไปหมดสิ้น เหลือแต่ตัวท่านโดดเดี่ยว
แต่คณะราษฎรกลุ่มที่หวังอำนาจเด็ดขาดยังต้องพึ่งบารมีพระยาพหลฯอยู่  เผด็จการยังยึดพื้นฐานไม่แน่นพอ แต่ในที่สุดเมื่อทุกอย่างลงตามแผนเต็มที่ รุ่นเด็กครองอำนาจเบ็ดเสร็จ พระยาพหลพลพยุหเสนาก็ถูกสูบลมลอยเคว้งคว้างขึ้นเป็น "เชษฐบุรุษ" หมดอำนาจบังคับบัญชาและอิทธิฤทธิ์ ได้แต่นั่งดูสมาชิกแก่งแย่งชิงดี ละทิ้งสัญญาที่ให้ไว้กับราษฎร บางกลุ่มกอบโกยผลประโยชน์หวังร่ำรวยไปตามกัน มีแต่มิตรสหายของท่านเท่านั้นที่ต่างต้องชะตากรรมระหกระเหิน

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

สงครามมหาเอเชียบูรพางวดหนัก ฝูงบินสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดกรุงเทพฯ ถี่และรุนแรง ชาวกรุงต้องอพยพหนีภัยทางอากาศออกไปอยู่รอบนอก พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ขณะนั้นป่วยเป็นอัมพาตที่ขาบางส่วน ย้ายไปพักอยู่ที่เรือนข้าราชการบริพารในพระราชวังบางปะอิน ผมติดตามท่านผู้ใหญ่ในฐานะพลกรรเชียงเรือจากบางกะสั้น ไปเยี่ยมเจ้าคุณพหลฯ ตอนต้นปี พ.ศ. 2488 ท่านพลเอกหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองผู้แกร่งกร้าว ได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "เชษฐบุรุษ" และขณะนั้นก็ดำรงตำแหน่ง "แม่ทัพใหญ่" อยู่กับท่านผู้หญิงและคนไม่กี่คน เงียบสงบ ไร้บริวารแห่ห้อมเกรียวกราว หลังไหล่ของท่านที่คนอื่นเคยอาศัยเหยียบก้าวผ่านไปสู่อำนาจราชศักดิ์อัครฐาน บัดนี้สิ้นแล้วซึ่งความสำคัญและสิ้นความหมาย"คณะราษฎร"ส่วนที่เสวยอำนาจต่างหันหลังให้โดยสิ้นเชิง
"ขเด็ทพจน์" ชันกายขึ้นนั่งบนเตียงต้อนรับสหายขเด็ทผู้มาเยือน โอบกอดน้ำตาคลอ สหายสนิทที่ต้องห่างเหินไปตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสารทุกข์สุกดิบที่วนมาลงที่ปัญหาบ้านเมือง ตอนหนึ่งท่านน้ำตาไหล
"สอาด ที่เจ้านิลเตือนแต่แรกนั่นน่ะ ถูกทุกอย่าง"
"เจ้านิลว่ากันจะน้ำตาตก ก็ตกจริงๆ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายเปลี่ยนการปกครอง แล้วราษฎรไม่ได้อะไรเลย มีแต่ประชาธิปไตยหลอกๆ ถูกข่มเหงมากขึ้น หันไปพึ่งใครก็ไม่ได้
คณะราษฎรเองกลับหาประโยชน์หาอำนาจใส่ตัว แก่งแย่งชิงดีถึงเอาชีวิต คนบริสุทธิ์ผู้หลักผู้ใหญ่ ขุนนางเก่าเดือดร้อนกันเป็นแถว"
"พวกเขาผลักกันออกนอกทาง หมดทางยับยั้งห้ามปรามประชาธิปไตยไม่เห็นแม้แต่เงา เจ้านิลพูดถูก"

.
.
เจ้าคุณพหลถึงแก่อนิจกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก ขณะนอนแช่ในอ่างน้ำอุ่นเพื่อบำบัดอาการอัมพาต อันเป็จกิจวัตรประจำวันของท่าน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 14:44

พอได้กลับไปอ่านหนังสือที่พี่สรศัลย์เขียนไว้ เลยได้เห็นเรื่องโรงเรียนรบของพระยาทรงที่คุณsamun007ทักมา ว่าดังนี้

พันเอกพระยาทรงสุรเดช หลีกเลี่ยงจากลาภยศทางการเมือง ไปก่อตั้ง "โรงเรียนรบ" ที่เชียงใหม่ แบบ Kriegschule ของเยอรมัน ฝึกอบรมร่วมเหล่าทั้งด้านยุทธการและยุทธวิธีในสนาม โดยใช้ภูมิประเทศจริง หลักสูตร 2 ปี นายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนรบ (ไม่ใช้คำว่านักเรียน) คัดจากหน่วยกำลังรบชั้นยศไม่เกินร้อยเอก เป็นการฝึกผู้บังคับหน่วยให้คุ้นสภาวะแวดล้อมในสนามทุกรูปแบบ


ผมก็ถามคุณวิกี้ว่าKriegschule คืออะไร คุณวิกี้ก็ตอบมาสั้นๆ ผมจะแปลเป็นไทยทั้งหมดก็เกรงว่า ท่านผู้อ่านอ่านแล้วก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี  เอาเป็นสั้นๆว่าโรงเรียนแบบนี้สำหรับฝึกพื้นฐานนายทหาร หลักสูตร8สัปดาห์ มุ่งหมายให้มีความรู้อย่างดีในพื้นฐานของการบังคับบัญชา จบตรงนี้แล้ว นายทหารก็จะโยกย้ายไปฝึกยังโรงเรียนทหารในสาขาต่างๆที่เลือกไว้ต่อไป ฯลฯ

ท่านที่สามารถก็กรุณาอ่านเอง แปลเอง และทำความเข้าใจเอาเองแล้วกันนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร จะละเอียดไปกว่านี้ ผมจนปัญญาจริงๆ

A Kriegschule was a General Military School used for basic officer training in Germany up until the defeat in 1945. All Wehrmacht officers in World War II had passed through a Kriegsschule during their training. The Wehrmacht had five 'Kriegsschulen': at Potsdam, Dresden, München, Hannover, and Wiener-Neustadt. Officer candidates, known as Fahnenjunkers undertook an extensive 8 week course, aimed at giving them a good knowledge of the basics of command. After completion of the course, the officer candidate moved off to his chosen Truppenschule or branch of service school. An example of a Truppenschule is Panzertruppenschule I in Munster, but there were also schools catering for all branches of service. Engineers,
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 15:17


ท่านที่สามารถก็กรุณาอ่านเอง แปลเอง และทำความเข้าใจเอาเองแล้วกันนะครับ ว่าอะไรเป็นอะไร หรือไม่เป็นอะไร จะละเอียดไปกว่านี้ ผมจนปัญญาจริงๆ

A Kriegschule was a General Military School used for basic officer training in Germany up until the defeat in 1945. All Wehrmacht officers in World War II had passed through a Kriegsschule during their training. The Wehrmacht had five 'Kriegsschulen': at Potsdam, Dresden, München, Hannover, and Wiener-Neustadt. Officer candidates, known as Fahnenjunkers undertook an extensive 8 week course, aimed at giving them a good knowledge of the basics of command. After completion of the course, the officer candidate moved off to his chosen Truppenschule or branch of service school. An example of a Truppenschule is Panzertruppenschule I in Munster, but there were also schools catering for all branches of service. Engineers,

เป็นมาตรฐานของกองทัพนาซีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ครับ

วิธีการรับนายทหารของระบบกองทัพเยอรมันในยุคนั้นจะแบ่งเป็น

- รับตรงจากนักเรียนนายร้อย

- เลื่อนขั้นมาจากนายสิบที่มีความสามารถ เช่น จอมพลจิ้งจอกทะเลทราย รอห์มเมล ก็ไต่เต้ามาจากนายสิบ มีนายทหารไทยบางท่านก็ไต่เต้ามาจากนายสิบเหมือนกัน เนื่องจากไปเข้าเรียนไม่ทันตามเกณฑ์อายุของการคัดเลือกนักเรียนนายร้อยของเยอรมัน (อ่านในหนังสือของลุงสรศัลย์ได้ครับ ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว)

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน Kriegschule แล้ว นักเีรียนทั้งหมดก็จะถูกแยกไปฝึกตามที่ตนถนัดอย่างที่คุณ NAVARAT ได้อธิบายมานั่นเองครับ

ซึ่งนักเรียนจากโรงเรียน Kriegschule ที่มาจากสายนักเรียนนายร้อยจาก ริชแตร์เฟลแดร์  นั้น แทบจะไม่ต้องเรียนวิชาพื้นฐานอะไรใหม่มากนัก เพราะเรียนตรงมาอยู่แล้ว

แต่นักเรียนที่มาจากการแต่งตั้งขึ้นมาจากสายนายสิบ ต้องถือว่าปรับตัวพอสมควรครับ

จากนั้นพอเีรียนจบ 8 อาทิตย์ บางคนก็ต้องไปรบเลยก็มี (ตายเสียก็เยอะ, พิการก็มาก)  บางคนโชคดีได้ไปเรียนต่อเฉพาะทางก็มี บางคนไม่ผ่านการประเมินผลต้องกลับไปเป็นพลทหารก็มี(อย่างเช่น เพื่อนคนหนึ่งของ พันเอกวิชา ฐิตวัตร ที่ไม่ยอมทำความสะอาดปืน แล้วจะมามั่วเอาปืนของท่านผู้พันไปใช้ ปรากฏว่า เพื่อน ๆ ในชั้นจับได้ เลยโดนซ่อมเสียคางเหลือง ผลก็คือไม่ผ่านการฝึก ต้องไปเป็นพลนำสารแทนครับ )

สำหรับคนไทยที่ได้เรียนหลักสูตรนี้ ก็เห็นจะมีแต่รุ่นของท่าน ผู้พันวิชา ฐิตวัตร ล่ะครับ มีไปเรียนกัน 4 ท่าน แต่รอดกลับมาเพียง 3 (ทำอัตวินิบาตกรรมไปหนึ่ง)
ที่เรียนมาก็มี เหล่าม้า,เหล่าสื่อสาร(ผู้พันวิชา),เหล่าทหาราบรถถัง(เป็นยังไงไม่รู้เหมือนกันครับ)

ก่อนเีรียนจบ จะต้องออกไปปฏิบัติราชการสนามจริง ๆ ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น ท่านผู้พันวิชา ที่ต้องไปเดินสายโทรศัพท์ที่ตอนใต้ของฝรั่งเศสครับ

เรื่องเนื้อหาหลักสูตรโรงเีรียนนี้ ผมแนะนำให้อ่านหนังสือ "คนไทยในกองทัพนาซี" ของท่านพันเอก วิชา ฐิตวัตร(ยศสุดท้าย) ประกอบครับ จะเข้าใจมากขึ้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 16:01

ขอบพระคุณครับ

เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

แต่.เอ๊ะ..นี่คุณsamun007เป็นอะไรกับน้าเจมส์ของผมหรือเปล่าล่ะครับนี่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 16:46

เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

บทบาทสายลับไทย มีการปฏิบัติการกันอย่างเอาจริงเอาจังมาตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง     
คุณนวรัตนคงจำได้ที่ดิฉันเล่าว่า มีสายสืบเข้าไปถวายรายงานสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ ตั้งแต่ก่อน ๒๔ มิย. ๒๔๗๕ แล้ว ว่ากลิ่นอายปฏิวัติเริ่มโชยมา   แต่ทูลกระหม่อมท่านไม่ทรงเชื่อ
เราอาจมองอีกแง่หนึ่งว่า สายลับในยุคก่อนหน้านั้นน่าจะไม่ได้ทำงานเป็นล่ำเป็นสันเท่าไร    คือมีน่ะมี   แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้เอาใจใส่ข่าวจากสายสืบมากนัก   
แต่เมื่อปฏิวัติได้แล้ว    ผู้ก่อการฯ เห็นความจำเป็นของการสืบข่าวมาก      เพราะไม่รู้ว่ากลุ่มอำนาจเก่า(คือฝ่ายเจ้านาย) จะตีโต้กลับได้เมื่อไร       ก็รู้ๆกันว่าการปฏิวัติเกิดจากนายทหารกลุ่มเดียว ไม่ใช่ทั้งหมดกองทัพ
ข้อสำคัญประชาชนทั่วประเทศก็ไม่รู้เรื่องด้วย      ใช่ว่าลุกฮือขึ้นมาอย่างปฏิวัติฝรั่งเศสเสียเมื่อไร    ถ้าหากว่าประชาชนซึ่งส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ตามที่สืบทอดกันมาชั่วปู่ย่าตายาย เกิดยกพวกไปเข้าข้างอำนาจเก่า   บวกกับทหารส่วนใหญ่ของกองทัพก็เอาด้วย   พวกเขาจะทำอย่างไร
การป้องกันไฟแต่ต้นลมจึงอาศัยสายลับนี่แหละเป็นหลักใหญ่

ด้วยความระแวงและความกลัว  คณะกรรมการราษฎร หรือคณะรัฐมนตรีชุดแรก  จึงหาสายสืบไปสอดแนมตามวังและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เชื่อว่าอยู่ในกลุ่ม"อำนาจเก่า" ถึงกว่า ๕๐ แห่ง
หัวหน้าชื่อหลวงนฤเบศร์มานิต   เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รายงานที่ส่งกลับมา มี ๓ ประเภท  คือ  คนตำหนิติฉินผู้ก่อการ    การเคลื่อนไหวของพวกเจ้า  และการปฏิบัติงานฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
ข่าวเหล่านี้มีทั้งข่าวที่มีหลักฐาน   และข่าวที่ "ฟังเขามาเล่าว่า..."  ทั้งหมดถูกส่งเข้าศูนย์กลาง หมด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 16:56

สายสืบ ไม่ได้มีหน้าที่กลั่นกรองว่าข่าวไหนเชื่อได้ว่าจริง  ข่าวไหนแค่ข่าวลือ   สรุปว่าข่าวอะไรถ้ากระทบถึงคณะกรรมการราษฎรแล้วต้องรายงานหมด   
รายงานข่าวจึงมีข่าวลือเข้ามาเป็นปะปน แทบจะเป็นกระแสหลักก็ว่าได้   
ข่าวหนักสุดคือข่าวลือว่าจะมีการลอบทำร้าย ลอบสังหารคณะผู้ก่อการ      คนที่เจอข่าวลือเข้ามากที่สุดคือพระยาพหลฯ   ขนาดมีการตั้งค่าหัวท่านถึง ๑๐๐๐ บาท  ให้ระวังยาพิษ  อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว  อย่าให้ใครเข้าใกล้ แม้แต่พระสงฆ์องค์เจ้าก็อย่าไว้ใจให้เฉียดเข้ามา
มีแม้แต่ข่าววางแผนสังหารด้วยระเบิด

เป้าหมายที่สองคือพระบรมวงศานุวงศ์ ถูกสายสืบเฝ้าวัง ไม่ได้คลาดสายตา อยู่ประมาณ ๒๐ วัง รวมทั้งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งก็พระชนม์มากถึง ๗๐ แล้ว
มีข่าวลือส่งไปยังรัฐบาลว่า พวกเจ้า นัดหมายรวมตัวกับคนยากคนจน โจร และกุ๊ยเช่นพวกนักเลงเชื้อจีน  ตั้ง"คณะคอมมิวนิสต์" ขึ้นมาเพื่อโค่นล้มรัฐบาล
คือสรุปว่า  ศักดินาพยายามรวมตัวกับไพร่เพื่อโค่นประชาธิปไตย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 18:14

เรื่องสายลับนี้ ผมได้พูดถึงไว้ในคคห.ต้นๆเหมือนกัน
อ้างถึง
สภานั้นก็คือพวกของคณะราษฎรนั่นเอง ความเป็นจริงก่อนหน้านั้นการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท2 ที่มาจากการแต่งตั้ง ก็เกิดรายการวิ่งเต้นกันตีนขวิดในระหว่างพวกผู้ก่อการ ต่างคนก็ต่างมีลูกสมุนจะต้องขุนเลี้ยง เมื่อตำแหน่งในสภาหมดก็เอาตำแหน่งราชการที่หาเรื่องไล่คนของพวกเจ้าออกไป ให้คนของตนเข้าเสียบแทน พวกที่หางานหลักให้ยังไม่ได้ก็มอบงานเฉพาะกิจให้กินไปพลางๆก่อน ที่ชอบกันมากคืองานเป็นสายลับให้ตำรวจ

ฟังที่ท่านอาจารย์เล่าต่อแล้วนั้น ก็นึกถึงที่พี่สรศัลย์เขียนไว้อีกตอนนึงดังนี้

เรื่องมันชักจะข้นๆ เครียดๆ หันมาดูอะไรเบาๆ ซักนิดปะไร เดี๋ยวค่อยกลับไปใหม่ เรื่องสันติบาลเฝ้านี่แหละครับ หัวหน้าหน่วยสั่งให้ไปเฝ้า แกก็ไปเฝ้า วางตัวเป็นสายลับเต็มที่ บ้านหนึ่งมีคลองใหญ่ขนาดคลองแสนแสบอยู่ข้างบ้าน หน้าบ้านเป็นถนนใหญ่มีคูระบายน้ำเล็กนิดเดียวสายลับไปนั่งตกปลามันทุกวันในคู ไม่ยักตกในคลอง บ้านหนึ่งมีคนไปกวาดถนนหน้าบ้าน กวาดมันอยู่แต่แถวนั้น บ้านอื่นก็ไม่ไปกวาด บ้านหนึ่งเจ้าของบ้านมีรถยนต์มีเหตุต้องออกจากบ้านทุกวัน สายลับต้องมีรถยนต์คอยติดตามเหมือนกัน เช้าขึ้นสายลับขับรถมาจอดหน้าห้องแถวคนละฟากถนนกับบ้านลงมาโขกหมากรุกกับเจ้าของห้อง เห็นมั่งไม่เห็นมั่งคนเข้าคนออก พอรถเจ้าของบ้านโผล่ออกมา สายลับก็กระโดดขึ้นรถคอยขับตามไป ไม่นานเจ้าของบ้านเห็นว่ายุ่งยากเปลืองน้ำมันหลวง ท่านเลยขับรถมาแวะรับนั่งไปซะด้วยกัน บ้านหนึ่งมีร้านกาแฟอยู่ติดกับประตูใหญ่หน้าบ้าน เช้าขึ้นสายลับแกก็มาประจำการอยู่ที่ร้านกาแฟอาโก สนิทสนมกับคนในบ้านโดยเฉพาะลูกชายท่านเจ้าของบ้านเป็นอันดี ขนาดที่ว่าวันไหนไม่เห็นสายลับละก็วันนั้นเซ็งเป็นบ้า ว่างั้นเถอะ อยู่ไปก็อาศัยไหว้วานสายลับช่วยขับรถไปธุระปะปังที่โน่นที่นี่ได้ เจมส์ บอนด์ ยุคนั้นเขาดีอย่างนี้ละครับ

มีเรื่องที่ผมว่าไม่รู้จะขันหรือขันไม่ออก ไม่ใช่สายลับ แต่พยานในคดีกบฏ พยานให้การกับเจ้าพนักงานสอบสวนว่าพยานเป็นผู้มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ต้องหา กระทำผิดจริง หลักฐานนั้นเป็นจดหมายนัดแนะจำเลยอีกผู้หนึ่ง พนักงานสอบสวนถามว่าพยานได้จดหมายนั้นมาอย่างไร ได้รับคำตอบหนักแน่นว่าใช้ยางมะละกอติดปลายไม้ แหย่ลงไปในตู้ไปรษณีย์ใกล้บ้านผู้ต้องหา จดหมายที่ติดยางมะละกอขึ้นมาคือจดหมายฉบับนี้ที่ยื่นเป็นหลักฐาน จะด้วยพยานปากนี้หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ เมื่อคดีถึงศาลจำเลยถูกตัดสินจำคุก อันนี้ผมฟังเล่ามาอีกทีหนึ่งนะครับ จริงเท็จอยู่ที่ท่านผู้เล่า

คนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นอยู่กับบ้านยังโดนข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล มีพยานมาเรียบร้อยชี้หน้าว่ารู้จักและเคยเฝ้าติดตามไปตามสถานที่หลายแห่ง เห็นว่าไปประชุมกับผู้ต้องหาอื่นๆ ยืนยันสถานที่ว่าเป็น"ร้านตัดผม" ชื่อ "นิติกร" นักเรียนเยอรมันที่โดนร้านนิติกรเข้าเต็มเปาก็คือ พระยาอานุภาพไตรภพ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 19:51

มาแลกกันฮาเรื่องสายสืบบ้างค่ะ
 วิธีการสืบของสายสืบสมัยนั้น ง่ายสุดคือไปนั่งเฝ้าหน้าบ้านอย่างที่คุณสรศัลย์เขียนไว้    คอยจดเบอร์รถที่เข้าออกวังหรือบ้านขุนนางผู้ใหญ่ว่าใครเข้าออกกันบ้าง 
วันไหนเจ้าของบ้านหรือลูกหลานออกจากบ้าน   สายสืบก็มักจะหมดปัญญาจะติดตาม   จึงมีรายงานกลับไปที่นายว่า
" ด้วยเงินเกล้ากระผมหมด  จึงไม่ได้ติดตามไป"
มีบ่อยครั้ง สายสืบขอเบิกเงินครั้งละ ๕ บาทบ้าง ๑๐ บาทบ้าง   โดยให้เหตุผลกับนายว่า
"จะต้องให้สายของเรา ๓-๔ คน สำหรับตรุษจีน   ครั้นเราจะทำเฉยเสีย ก็จะทำให้ลูกน้องเหินห่างไป"

ข่าวจากสายสืบ มักจะออกมาเป็นแพทเทิร์น   คือถ้ารายงานข่าวว่ามีคนกลุ่มไหนคณะไหนต่อต้านรัฐบาล  ก็จะมีแถมท้ายว่า  กลุ่มนั้นมีสปอนเซอร์เป็นเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  คอยให้เงินอุดหนุนอยู่   เช่นคอลัมนิสต์เขียนบทความคัดค้านรัฐบาล  ก็เพราะได้รับค่าจ้างเป็นเงิน ๔๐๐๐ บาท      สมาคมชาวปักษ์ใต้ได้รับเงินอุดหนุนถึงหนึ่งล้านบาทจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯที่ประทับอยู่เมืองบันดุง ฯลฯ
อดีตข้าราชการสำคัญ ๓ คนที่สายสืบรายงานว่า เป็นหัวหน้ากลุ่มฟื้นฟูอำนาจเจ้านายขึ้นมาอีก คือพระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตอธิบดีตำรวจ     พลตรีพระยาเสนาสงคราม  และพระยาปฏิพัทธภูบาล   คนหลังสุดเป็นคนสนิทของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์

รายงานข่าวทั้งหมดนี้ไม่มีการยืนยันว่าจริงเท็จแค่ไหน   แต่ก็เป็นข่าวที่รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่ไม่น้อย เจ้านายทั้งหลายจึงได้รับคำเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร  ให้อยู่เฉยๆ อย่าได้เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลเป็นอันขาด
บอกรายละเอียดให้อ่านเลยก็ได้ค่ะ
เดือนก.ค. ๒๔๗๖   เจ้านายที่โดน"ตักเตือน"   เป็นระนาว  ก็มีพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์   พระองค์เจ้าบวรเดช  ม.จ.โสภณภราไดย สวัสดิวัตน์   ม.จ.ฉัตรมงคล โสณกุล  ม.จ.ไขแสงระพี รพีพัฒน์ และม.จ.วงศ์นิรชร เทวกุล   ได้รับจดหมายเตือนจากพันโทหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย รัฐมนตรี  กล่าวหาว่า เจ้านายเหล่านี้
" ...ได้มีการประชุม และคิดอยู่เสมอ ในอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง...
จึงเตือนให้สงบจิตเสีย   หากยังจุ้นจ้านอยู่อีก   ก็จะกระทำการอย่างรุนแรง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 20:55

ระบบสายสืบทำงานอย่างเข้มข้นเมื่อสี่เสือหมดอำนาจลงไปแล้ว   หลวงพิบูลขึ้นสู่อำนาจปกครองหลังปราบปรามกบฏบวรเดชจบลง       นายตำรวจอย่างหลวงอดุลเดชจรัสเป็นผู้สานนโยบาย  
ผลก็คือ มีการสืบสวน  และปราบปรามผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นปรปักษ์ของรัฐบาลกันอย่างหนัก ตั้งแต่ปี ๒๔๗๖ จนถึง ๒๔๘๒  เพื่อให้บ้านเมืองราบคาบ
ราบคาบ แต่จะสงบหรือไม่นั้น ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้คงจะอธิบายเองได้

ปรปักษ์ของรัฐบาลถ้าจะแบ่งจริงๆแล้วมี ๒ พวกใหญ่  ฝ่ายแรกคือฝ่ายเจ้า ซึ่งเคยถูกเรียกว่า "อำนาจเก่า" แต่ล่วงมาถึงปี ๒๔๘๑ ก็ไม่มีอำนาจอะไรเหลืออีกแล้ว    พระราชอำนาจหมดไปตั้งแต่วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้วด้วยซ้ำไป
พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่อังกฤษ  พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่ลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศ    เหลือแต่เจ้านายสตรี    ส่วนฝ่ายชายมีเจ้านายระดับพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เดียวคือกรมขุนชัยนาทนเรนทร   ก็ทรงถูกจับกุมและตั้งข้อหาร้ายแรง ทั้งที่ไม่ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง
ส่วนฝ่ายที่สองคือฝ่าย "อำนาจเก่า" ของจริง ได้แก่กลุ่มสี่เสือที่เคยกอดคอกันเสี่ยงตายเปลี่ยนแปลงการปกครอง      ทุกคนต่างก็มีชะตากรรมระเหระหนกันไปคนละทาง    
อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะมองว่าทั้งสองกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มเดียวกัน   การลงโทษจึงปนเปกันไปหมด

ระบบสายสืบในช่วงนั้นทำงานอย่างเข้มข้น  แม้ว่าอำนาจเก่าทั้งสองอำนาจจบไปแล้ว    
มีคนหลายคนที่ถูกฆ่าทิ้ง    ถูกลงโทษจำคุก  ถูกประหาร  ก็เพราะสายลับรายงานไปสู่ศูนย์กลางว่าบุคคลนั้นทำตัวเป็นปรปักษ์รัฐบาล
ไม่จำเป็นต้องลงมือทำ แค่พูด หรือเขียนอะไรที่ส่อให้ตีความลากเข้าความได้   ก็ถือว่าเป็นโทษหนักได้แล้ว
บรรยากาศการเมืองในช่วงนั้น มองว่าเป็น "รัฐตำรวจ" ได้หรือไม่   คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครกล้าตอบออกมาดังๆ   นอกจากรุ้ง จิตเกษม
(จบลงตรงนี้จนได้ ยิ้ม)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 28 มิ.ย. 10, 23:14

ผมได้ตอบคุณ bookaholicไว้ในคคห.ต้นๆของกระทู้ว่า ระบอบการเมืองมันเหมือนแฟชั่น

คือมันเป็นแบบนี้จริงๆ ตอนโน้นเห่อประชาธิปไตยกัน แต่ตอนนี้ในยุโรป ฮิตเลอร์และมุสโสลินีกำลังเป็นฮีไร่ของคนเยอรมันและอิตาลี เพราะความเป็นผู้เผด็จการที่เด็ดขาด ใครค้าน ตาย!

ระบอบเผด็จการสามารถนำประเทศมุ่งไปข้างหน้าในทิศเดียวกันได้เพราะไม่มีฝ่ายค้านคอยกระตุกขา มันก็ไปโลดอยู่ แต่ทิศทางจะถูกหรือผิดตอนนั้นยังไม่รู้ แต่การที่เยอรมันพลิกล็อคจากที่เป็นเบี้ยล่างอังกฤษและฝรั่งเศส กลับมาเป็นมหาอำนาจในเวลาไม่กี่ปีหลังจากที่แพ้สงคราม มันช่างเร้าใจคนอย่างหลวงพิบูลยิ่งนัก อยากจะตามแฟชั่นเป็นท่านผู้นำกับเขาบ้าง

ก่อนอื่นก็ต้องสถาปนาเมืองไทยเป็นรัฐตำรวจเหมือนเยอรมัน มีตำรวจลับที่มีอำนาจตามแบบฉบับของเกสตาโป จะได้จับทุกคนที่คิดว่าเป็นศัตรู เอาไปขจัดเสียบ้าง ขังคุกบ้าง เมื่อไม่มีใครขวางแล้ว ท่านผู้นำจะได้นำไทยไปสู่มหาอำนาจได้สะดวกโยธิน สมัยนั้นคนไทยจึงกลัวตำรวจกันหัวหด ขนาดเด็กร้องไห้โยเย แม่ไกวเปลอยู่ขู่ว่าเดี๋ยวบอกตำรวจจับนะ เด็กยังหยุดร้องไห้ ก็ว่ากันว่าเริ่มในช่วงนี้แหละ

ขั้นต่อไปก็ต้องปลุกระดมลัทธิคลั่งชาติ ถือโอกาสที่ฝรั่งเศสแพ้เยอรมันหมดรูป ส่งทหารบุกเข้าอินโดจีนยึดดินแดนไทยที่เสียไปในสมัยรัชกาลที่ห้าคืน แม้จะเห็นๆอยู่ว่าญี่ปุ่นห้ามทัพให้หยุดรบกัน เพราะเห็นว่ากระสุนของไทยจะหมดคลังแล้ว แต่ก็ทำให้หลวงพิบูลประสพความสำเร็จสูงสุดในชีวิต ได้เป็นพระเอกของชาติเฉกเช่นฮิตเลอร์ จอมเผด็จการตัวพ่อ บรรดาลิ่วล้อแซ่ซ้องสรรเสริญเสนอเลื่อนยศให้จ้าวนายทีเดียวจากพลตรีเป็นจอมพล ยิ่งใหญ่ในประเทศนี้ประหนึ่งพระราชา ประชาธิปไตยกลายเป็นแฟชั่นตกรุ่นไปเลย
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 09:07

ขอบพระคุณครับ

เสียดายหลวงพิบูลสงสัยจะคิดว่าเป็นโรงเรียนฝึกหน่วยล่าสังหารพิเศษแบบเจมส์ บอนด์มาเล่นงานตัวมั้ง เลยรีบชิงจัดการลงมือก่อน

แต่.เอ๊ะ..นี่คุณsamun007เป็นอะไรกับน้าเจมส์ของผมหรือเปล่าล่ะครับนี่

มิได้เป็นญาติหรอกครับ ตั้งไว้ให้มันดูโก้เท่านั้นเองครับ จริง ๆ samun คำนี้มาจากคำว่า "สมัน" ในภาษาไทยครับ

บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 11:11

เข้ามาติดตามอ่านเหมือนเดิมค่ะ
อ่านหลายๆเรื่องในนี้แล้ว บางครั้งก็หลงคิดไปว่า กำลังอ่านนิยายอยู่ ทั้งๆที่ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต
แต่อ่านแล้ว ทั้งสนุกและให้ความรู้ในประวัติศาสตร์ ชอบมากเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 11:46

^
^
ขอบคุณมากเลยครับ ที่คอยส่งเสียงให้กำลังใจ
เดี๋ยวตอนหน้า เราจะเปลี่ยนฉากจากไทยเป็นอินโดจีนกันแล้ว

ผมขอยืนยันตามที่คุณproudtobethaiเข้าใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง แม้สำบัดสำนวนของผมจะออกเชิงนิยายไปบ้าง ก็เพราะไม่อยากให้เรื่องนี้ออกแนวสารคดีเครียดๆแบบบทวิชาการ กลัวจะเสียเรทติ้งพวกวัยรุ่นไป เนื้อหามันหนักนัก ก็เอาลูกเล่นมาเหยาะๆไว้ให้มันเบาๆลงบ้าง

แต่แม้จะเป็นเรื่องจริง ผมก็ยอมรับว่าความจริงทั้งหมดไม่ได้ถูกนำมาเขียนในกระทู้นี้ บางอย่างที่รู้ที่อ่านมา หากจะเอามาเขียนต่อๆกันไปมันไม่ใช่เรื่องดี มีประโยชน์อันใด นอกจากจะทำความเสียหายให้บุคคลบางท่านโดยไม่จำเป็น เยาวชนรุ่นหลังอ่านเรื่องของผมเท่านี้ก็รู้เรื่องที่ควรจะรู้ครบแล้ว ถ้าใครต้องการจะทำวิทยานิพนธ์ เพิ่มดีกรีปริญญาทางประวัติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ก็เชิญไปค้นส่วนที่ผมเหลือไว้เอาเอง

เชิญติดตามต่อนะครับ แล้วอย่าเงียบกันให้มากนัก ผมขี้เหงานะ จะบอกให้
บันทึกการเข้า
ponl
อสุรผัด
*
ตอบ: 5


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 29 มิ.ย. 10, 16:45

อ่านเรื่องราวเก่าๆ ที่ท่านผู้รู้หลายๆท่าน กรุณานำมาเล่าให้ได้ฟังกัน
 สนุกมากเลยครับ  ยิงฟันยิ้ม เลยขอเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับ ยิ้มกว้างๆ

   เมื่ออ่านเรื่องนี้แล้ว บอกตรงๆครับว่าตรงข้ามกับความรู้สึกเดิมที่เคยมีต่อคณะราษฎร์ และจอมพล ป. ไม่เหมือนกับที่เคยเรียนมาสมัยเด็กๆ เลย  การเมืองเป็นเรื่องโหดร้ายจริงๆ    เรื่องที่ได้อ่านในกระทู้นี้ทำให้นึกถึงคำคมซึ่งผมจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนพูด  แต่เคยอ่านผ่านตามาบอกว่า  ความดีของมนุษย์จะสิ้นสุดลงเมื่อเล่นการเมือง  

    ที่ท่านอาจารย์บอกว่าประวัติศาสตร์มักจะย้อนกลับมาเสมอ  อ่านเรื่องนี้แล้วอดคิดไม่ได้จริงๆ ว่าตอนนี้เรากำลังย้อนรอยประวัติศาสตร์อยู่หรือเปล่า  ตกใจ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 46
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.07 วินาที กับ 19 คำสั่ง