เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9205 หนังสืองานศพ
sally chu
อสุรผัด
*
ตอบ: 38


 เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 09:19

ใครพอจะเล่าให้ฟังได้มั้ยคะ ว่าคนไทยเริ่มประเพณีแจกหนังสืองานศพกันเมื่อไร  รู้สึกว่าเป็นประเพณีที่ดีมากๆ ที่ชาติอื่นไม่เคยเห็นทำกัน  หรือว่าใครทำบ้าง ช่วยให้ความกระจ่างหน่อยนะคะ  ขอบคุณค่ะ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 10:57

http://www.lib.ru.ac.th/nana/viewdetail.php?id=16

หนังสือนุสรณ์ งานศพ
 
          พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
           โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
           นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
           สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
         
           พระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใน “กฤษณาสอนน้องคำฉันท์” บทนี้ ถือเป็นบทพระนิพน์ธ์ที่มีความหมายเตือนสติมนุษย์ทุกผู้ทุกนามถึงสัจจธรรม แห่งการดำรงชีวิต โดยให้ระลึกไว้เสมอว่าเมื่อมีลมหายใจอยู่นั้นให้เพียรกระทำแต่ความดี และคุณประโยชน์ให้กับสังคมเพื่อคนที่อยู่ข้างหลังจะได้จดจำ จารึกถึงคุณงามความดี และคุณประโยชน์ที่ได้กระทำไว้เมื่ออำลาจากโลกนี้ไปแล้ว
           หนังสืออนุสรณ์งานศพ สิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่งที่ทำขึ้นเพื่อแจกเป็นอนุสรณ์ ระลึกถึงผู้วายชนม์ และประกาศคุณงามความดี หรือผลงานของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้กับผู้ที่มาร่วมงานศพ เป็นหนังสือที่มีคุณค่า ซึงบางเล่มจัดเป็นหนังสือหายาก เนื่องจากมีจำนวนพิมพ์จำกัดและไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายหนังสือทั่วไป นอกจากร้านหนังสือเก่าซึ่งก็มีราคาค่อนข้างสูง
           หนังสือที่พิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในงานศพเล่มแรกคือ สาราทานปริยายกถามรรค เป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระเมรุพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์เมื่อ พ.ศ. 2423 สำหรับการเรียบเรียงประวัติผู้วายชนม์พิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์งานศพเพื่อแจก เป็นที่ระลึกเริ่มเป็นที่นิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และหนังสืออนุสรณ์งานศพที่ลงอัตชีวประวัติของผู้ตายล้วนๆเล่มแรก คือ ศรีสุนทราณุประวัติ ซึ่งเป็นชีวประวัติของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อ ร.ศ. 114 หรือ ปี พ.ศ. 2438 ปัจจุบันการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพก็เป็นที่นิยมกระทำกันมาก นอกเหนือการแจกของที่ระลึกอื่นๆในงานศพ โดยเฉพาะผู้วายชนม์ที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ เช่นนักการเมือง ศิลปิน นักวิชาการและข้าราชการระดับสูงเป็นต้น
           เนื้อหาในหนังสืออนุสรณ์งานศพนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ชีวประวัติของผู้วายชนม์ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต การศึกษา ประวัติการทำงาน หรือเนื้อหาสาระอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชีพและหน้าที่การงานเมื่อยังมีชีวิต อยู่ บางเล่มจะเป็นการบันทึกความรู้ทางวิชาการซึ่งอาจเป็นผลงานของผู้วายชนม์เอง หรือผลงานของผู้อื่นที่เป็นประโยชน์ ประสบการณ์ในแต่ละอาชีพเป็นต้น พร้อมภาพประกอบในแต่ละช่วงของชีวิต ที่ถ่ายร่วมกับผู้ใกล้ชิด ตลอดจนคำไว้อาลัยของเหล่าญาติมิตร และบุคคลสำคัญเพื่อบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไป มักจะเป็นการพรรณนาด้วยข้อความที่มีความหมายลึกซึ้ง กินใจ แสดงถึงความผูกพัน อาลัยอาวรณ์ ทั้งในลักษณะร้อยแก้ว ร้อยกรอง ซึ่งถือเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวรรณกรรมอีกประเภทหนึ่ง และทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ถึงอัตชีวประวัติของผู้วายชนม์อันหลากหลายของแต่ ละชีวิตในแง่มุมต่างๆกันได้เป็นอย่างดี
         
           ชีวิตคืออนัตตาอย่าวิตก สวรรค์นรกต้อนรับเมื่อดับขันธ์
           ทุกอินทรีย์หมักหมมทับถมกัน เลวดีนั้นจะประทับอยู่กับใจ
         
           บรรณานุกรม
         
           ธัมมาภิสมัย อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายแพทย์พิพัฒน์ คุมเกษ ณ เมรุวัดเครือวัลย์
           วรวิหาร วันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 . กรุงเทพฯ : ส่องศยาม, 2542.
           รัตนา เดชามหาชัย. “หนังสืออนุสรณ์งานศพ ในหอสมุดปรีดี พนมยงค์,” โดมทัศน์ . 22,11
           (ม.ค. –มิ.ย.), 49-56.
           สุภัคลักษณา, นามแฝง. กฤษณาสอนน้อง. กรุงเทพฯ : สำนักงานหอสมุดกลาง 09 , 2521.
           โดย ดวงพร พงศ์พานิชย์
          ข่าวรามคำแหง ปีที่ 33 ฉบับที่ 20 วันที่ 8-14 กันยายน 2546
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 11:30

นับแต่มีการพิมพ์หนังสืออนุสรณ์งานศพของสยาม ฉบับที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันคือ หนังสือ " สวดมนต์ รวมพระสูตรและพระปริตต่าง ๆ " หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หลวงในพระบรมมหาราชวัง พิมพ์เสร็จสิ้นเมื่อวัน ๕ เดือน ๓ แรม ๔ ค่ำ ปีมะโรงโทศกศักราช ๑๒๔๒ หรือเมื่อ จ.ศ. ๑๒๔๒ ( พ.ศ. ๒๔๒๓ ) จำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ เล่มทีเดียว
          หนังสือนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อให้พิมพ์ขึ้นเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ หรือสมเด็จพระนางเรือล่ม กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ

เราขอเรียกฉบับนี้ว่า " สวดมนต์ฉบับพระนางเจ้าฯ "





บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 11:33

ต่อจากนั้น ๗ ปีคือ พ.ศ. ๒๔๓๐ ( จ.ศ. ๑๒๔๙ ) หนังสือเล่มดังกล่าวได้ถูกพิมพ์ซ้ำอีกครั้งจำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม สำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อ วัน ๗ เดือน ๑ แรม ๓ ค่ำ ปีกุนนพศก ศักราช ๑๒๔๙ การพิมพ์คราวนี้มีเหตุแห่งการพิมพ์ที่น่าสนใจคือ

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จออกบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ ณ หอธรรมสังเวช พระองค์ได้ทรงสดับพระสงฆ์สวดมหาสติปัฏฐานสูตรและคาถาต่าง ๆ เรียบร้อยดีเป็นที่ทรงพระโสมนัสเฉลิมพระบรมราชศรัทธาที่ได้ทรงสร้างหนังสือสวดมนต์ขึ้นในครั้งก่อน เป็นประโยชน์แพร่หลายออกไปเป็นอันมาก จึงทรงพระราชดำริห์จะทรงสร้างหนังสือสวดมนต์อย่างเดิมขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

          ในคราวนี้ พระองค์ทรงพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นส่วนพระราชกุศลในการพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัยฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรุตมธำรงฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ และ พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ ฯ ณ ท้องสนามหลวง

          โดยมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์ฯ ตรวจแก้พระสูตรและพระปริตต่าง ๆ ให้ถูกต้อง มีพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นแม่กองพิมพ์อักษรไทยแทนอักษรขอม และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมตอมรพันธุ์เป็นผู้สอบทานให้ถูกต้องตามหลักภาษามคธ ( บาลี )

เราขอเรียกฉบับที่ปรับปรุงนี้ว่า " สวดมนต์ฉบับเจ้าฟ้าศิริราชฯ "




บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 16:23

ในความเห็นที่ ๑  คุณ CVT ได้กล่าวถงการเขียนประวัติผู้ตายไว้ในหนังสืองานศพ  ชวนให้ระลึกถึงประวัติของท่านผู้วายชนม์ที่ตีพิมพ์ในหนังสืองานศพช่วงรัชกาลที่ ๖  ที่สภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นผู้เรียบเรียง  และไม่ว่าจะเป็นประวัติของท่านผู้ใดหากทายาทของผู้วายชนท์มาขอให้หอพระสมุดสำหรับพระนครเลือกหนังสือให้จัดพิมพ์แล้ว  ก็มักจะได้คำนำที่นอกจากจะกล่าวถึงประวัติของผู้วายชนม์แล้วยังจะมีเกร็ดประวัติของสภานายกหอพระสมุดสำหรับพระนครที่เกี่ยวเนื่องกับท่านผู้วายชนม์แทถมมาด้วย  ฉะนั้นหนังสือพิมพ์ ดุสิตสมิต ฉบับที่ ๔  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑  จึงหยิบยกเอาการเขียนประวัติผู้วายชนม์นั้นมาล้อเลียนในชื่อเรื่อง "ตำนานบุหรี่ไทย"  ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

ตำนานบุหรี่ไทย
พิมพ์แจกในงานศพ
หลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊  อุคคานนท์) ฯ
------------------

คำนำ

ท่านตุ่ย  ภรรยาหลวงจำนงนิตยภัต  มาแจ้งความต่อกรรมการห่อพระตำหรับสำหรับพระบุรีว่า  พร้อมใจกับรองอำมาตย์ตรี (อึ๊ม อุคคานนท์) ผู้บุตร  จะทำการศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต (อึ๊ด  อุคคานนท์) ผู้สามี และบิดา  มีความศรัทธาจะรับพิมพ์หนังสือในหอพระตำหรับเป็นของแจกสักเรื่องหนึ่ง  ขอให้กรรมการเลือกเรื่องหนังสือให้  อยากจะให้เป็นหนังสือซึ่งเนื่องด้วยเรื่องบุหรี่  เพราะหลวงจำนงนิตยภัตเป็นผู้ชอบสูบบุหรี่อย่างชำนิชำนาญจนมีชื่อเสียงในทางนั้น  ข้าพเจ้าเห็นชอบอนุโมทนาด้วยได้คุ้นเคยชอบพอมากับหลวงจำนงนิตยภัตตั้งแต่ข้าพเจ้ามีอายุได้ครึ่งเดือน  ได้ทราบเรื่องประวัติของคุณหลวงจำนงนิตยภัตอยู่แก่ใจ  มีเรื่องราวดังจะกล่าวต่อไปนี้พอเป็นสังเขป

หลวงจำนงนิตยภัต  นามเดิมอึ๊ด  นามสกุลอุคคานนท์  เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๓๘๑  ตระกูลคนดง  บิดาชื่อนายโอ๊ย  มารดาชื่อก๊าว  บ้านเดิมอยู่ที่ในดงพญาไฟ  เมื่ออายุได้ ๘ ปีได้ไปเรียนหนังสืออยู่ในสำนักพระอาจารย์อินวัดคอกหมู  ตำบลสูงนอน  และอายุ ๑๔ ปีได้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่ในสำนักพระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้า (โคม)  วัดลิงกัด  และได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักนั้นจนอายุครบอุปสมบทก็ได้อุปสมบท  พระครูประทีปแก้วเตร็จฟ้าเป็นอุปัชฌาย์  พระสมุห์เปิ่นเป็นกรรมวาจาจารย์  พระใบฎีกาเซี้ยวเป็นอนุสาวนาจารย์  ครั้นมื่ออุปสมบทอยู่ได้ ๒๐ พรรษาแล้ว  จึงลาสิกขาบท  แล้วเข้ามาฝากตัวอยู่กับข้าพเจ้าที่บ้าน  ข้าพเจ้าได้ใช้กวาดชลาบ้านอยู่ประมาณ ๖ เดือน  แล้วจึงได้จัดการให้เข้ารับราชการในกรมปาฐะกะถาธิการ  เมื่อครั้งข้าพเจ้ายังเป็นอธิบดีกรมนั้นอยู่   เพื่อข้าพเจ้าจะได้ไม่ต้องให้เงินเดือนเลี้ยงอีกต่อไป  ครั้นรับราชการอยู่ได้ ๑๐ ปี  นายอึ๊ดได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนจำนงนิตยภัต  และต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดทุย  ขุนจำนงนิตยภัตก็ได้ย้ายตามข้าพเจ้าไปรับราชการในกระทรวงนั้น  ในตำแหน่งเสมียนกวาดห้องเสนาบดี  ได้ทำราชการในตำแหน่งนั้น ๕ ปี  แล้วได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนขึ้นเป็นหลวงในนามเดิม  และคงรับราชการในตำแหน่งนั้นต่อมาจนอายุครบ ๖๓ ปี  มีความชราทุพพลภาพ  จึงออกจากราชการรับพระราชทานเบี้ยบำนาญสืบมาจนถึงแก่กรรม  เมื่อวันที่  ๒๙  กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๔๕๘  อายุได้ ๗๗ ปี

ตลอดเวลาที่รับราชการอยู่กับข้าพเจ้า  หลวงจำนงนิตยภัต  ได้แสดงตนปรากฏว่า  เป็นผู้มีความสามารถในทางสูบบุหรี่หาตัวจับได้ยาก  แต่ใช่แต่จะได้สามารถในทางนี้  ต่อเมื่อเข้ามารับราชการอยู่กับข้าพเจ้าแล้วเท่านั้นก็หามิได้  ข้าพเจ้าได้เคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า  หลวงจำนงนิตยภัตเป็นผู้ที่ชอบสูบบุหรี่มากมาตั้งแต่ยังหนุ่ม  จนได้มีชื่อเสียงเรียกกันมาแต่เมื่อยังอุปสมบทอยู่นั้นว่า  คุณอึ๊ดปล่องไฟ  การที่สูบบุหรี่จนมีชื่อเสียงเช่นนี้ที่จริงไม่ใช่ของใหม่  เพราะได้ปรากฏมาแล้วแต่โบราณว่า  นายโข่ง  มหาดเล็กในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์  เป็นผู้ที่สูบบุหรี่เก่ง  ได้เคยสูบประชันกับทหารฝรั่งเศสในสมัยนั้น  พวกทหารฝรั่งเศสนอนกลิ้งกันเป็นแถวไปจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกขุนกำแหงบุหรี่  และราชทินนามนี้เองภายหลังเลื่อนเป็นพระกำแพงบุรี  ต่อลงมาในแผ่นดินสมเด็จพระเพ็ทราชาออกขุนกำแหงบุหรี่หรือกำแพงบุรี  จึงติดอยู่ในกรมช้างต้นสืบมา

(เรื่องออกพระกำแพงบุหรี่นี้เก็บมาแสดง  เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ข้าพเจ้าเชี่ยวชาญปานใดในทางพงศาวดาร)

ส่วนบุหรี่จะได้เกิดมีขึ้นในกรุงสยามเมื่อใดนั้น  ไม่ปรากฏชัด  ในหอพระตำหรับก็มีหนังสือเรื่องนี้อยู่ฉบับเดียว  แต่ที่พิมพ์คราวนี้เท่านั้น  และไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้แต่ง  แต่เทียบดูสำนวนโวหารกับหนังสืออื่นๆ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า  พระเจ้าเหา  หรือบางทีจะก่อนนั้นหรือภายหลังนั้นก็ได้  แต่ข้อนี้ข้าพเจ้าไม่ได้มีโอกาสปฤกษากับนาย ม.ส.ว. ยี่สุ่น  จึงกล่าวแน่นอนไม่ได้

อนึ่ง ข้าพเจ้าได้คิดไว้ว่าจะแต่งคำนำนี้ให้ยืดยาวกว่านี้อีก  แต่เสียใจที่ได้ทราบข่าวากโรงพิมพ์ว่า  กระดาษของเราเหลือน้อยเกรงจะพิมพ์ไม่พอ  จึงจำต้องระงับไว้ที ๑  แต่คงจะหาโอกาสแต่งคำนำให้ยาวยิ่งกว่านี้จงได้ในหนังสือคาวหน้าที่จะมีใครมาขอพิมพ์  เพราะฉะนั้นท่านผู้อ่านอย่าเสียใจเลย
ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลบุญราศี  ซึ่งท่านตุ่ย  และรงอำมาตย์ตรีอึ๊ม  อุคคานนท์  ทำการปลงศพสนองคุณหลวงจำนงนิตยภัต  ผู้สามีและบิดา  และให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าแต่งคำนำนี้  และเชื่อว่าท่านทั้งหลายที่รับหนังสือนี้ไปอ่าน  ก็คงจะอนุโมทนาอย่างเดียวกัน

(ลายเซ็นแกะไม่ทัน)
สภานายก
หอพระตำหรับสำหรับบุรี
วันที่  ๑๔  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๖๑

ตำนานบุหรี่ไทย

๏  บุหรี่ไทยท่านใช้สำหรับสูบ  สูดควันเข้าอมไว้ในปากแล้วพ่นออกมา  ช้าบ้างเร็วบ้างตามวิสัยและอัธยาศัยของบุคคลผู้สูบ  ส่วนยาที่ใช้นั้นคือยาเกาะกร่าง  หรือยาเพชรบูรณ์   มวนด้วยใบจากบ้าง,  ใบตองอ่อนบ้าง,  ใบตองแก่บ้าง,  กลีบบัวแดงบ้าง,  กลีบบัวขาวบ้าง.

๏  เมื่อจะสูบใช้จุดด้วยดุ้นแสมจากครัวไฟบ้าง  ชุดบ้าง  เหล็กไฟบ้าง  ไม้ขีดไฟบ้าง  เมื่อจุดล้วจึ่งดูดสูดควันเข้าไปในปาก  สตรีสูบบ้างก็มี  แต่ทารกสูบมักวิงเวียนอาเจียนแม่นแล.

๏  จบตำนานบุหรี่ไทยตามฉบับเดิมเพียงเท่านี้.

ลองทายกันดูนะครับ  สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี  และ นาย ม.ส.ว.ยี่สุ่น  นั้นหมายถึงใครกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 18 มิ.ย. 10, 19:22

ตำนานบุหรี่ไทย ในดุสิตสมิต  อ่านสนุกมากค่ะ  คุณ V_Mee มีเรื่องดีที่หายากมาถ่ายทอดให้ฟังกันเสมอ 



อ้างถึง
สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี  และ นาย ม.ส.ว.ยี่สุ่น  นั้นหมายถึงใครกัน
สภานายกฯ เคยเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดทุยมาก่อน เดาว่าหมายถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ
นายม.ส.ว. ยี่สุ่น เดาว่าเป็นนายกุหลาบ   ดอกยี่สุ่นคือกุหลาบชนิดเล็ก
บันทึกการเข้า
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 มิ.ย. 10, 14:49

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   ชื่อ ประมวลสุนทรพจน์ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2507


บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 มิ.ย. 10, 14:57

หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ  มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เมื่อวันที่ 11  กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2479  




บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 มิ.ย. 10, 15:13

พระธรรมเทศนาในงานพระศพ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา
หนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ  เจ้าดารารัศมี พระราชชายา



บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 มิ.ย. 10, 15:23

เขาบอกเอาไว้ว่าเป็นหนังสืองานศพที่เก่าที่สุด
หนังสือแจกในงานพระเมรุ รัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๔๑๑ คือเรื่อง “พระอะไภยมะณี” พิมพ์ที่โรงพิมพ์ครูสมิท (มิชชันนารีอังกฤษ) พิมพ์จำนวนเพียง ๑๒๐ ชุด แต่ละชุดมี ๒๐ เล่มจบ 


บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
werachaisubhong
องคต
*****
ตอบ: 449



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 มิ.ย. 10, 15:29

หนังสือแจกงานศพ บราเดอร์
ภายในหนังสือประกอบด้วยประวัติของท่าน, ตัวอย่างวรรณกรรม, และรูปภาพพิธีบางส่วน โดยฉบับจริงจะเป็นกระดาษอาบมัน ขนาดเล็กกว่ากระดาษ A4 เล็กน้อย

ตัวอย่างปกหน้าหนังสือ


บันทึกการเข้า

ฅนเมียงแป้ มาอยู่ เจียงฮาย
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 มิ.ย. 10, 08:27

จากบทพระราชนิพนธ์ "ตำนานบุหรี่ไทย" นั้น  ถ้าสังเกตชื่อ ผู้วายชนม์คือ หลวงจำนงนิตยภัต  นามเดิมอึ๊ด  บิดาชื่อนายโอ๊ย  มีบุตรชื่อ รองอำมาตย์ตรี อึ๊ม  อุคคานนท์แล้ว  จะเห็นได้ว่า ทรงมุ่งล้อเลียนบุคคลในสกุลบุนนาค  ที่มักจะตั้งชื่อกันพยางค์เดียวและใช้พยัญชนะหลักตัวเดียวกัน  เช่น เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร  บุนนาค)  มีบุตรชื่อ เพ่ง  บุนนาค  มีหลานชื่อ พืชน์  บุนนาค  มีเหลนชื่อ พีร์  บุนนาค

วัดลิงกัด คือ วัดลิงชบ ปัจจุบันคือ วัดบวรมงคล
กระทรวงมหาดทุย คือ กระทรวงมหาดไทย
สภานายกหอพระตำหรับสำหรับบุรี คือ สภานายกหอพระสมดสำหรับพระนคร คือ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
นาย ม.ส.ว.ยี่สุ่น  คือ นาย ก.ศ.ร.กุหลาย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง