เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 12151 นิยานรักของอิงอร กลิ่นยี่โถแดง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 16:12

นิยายรัก  


   รุ้สึกเป็นเกียรติมหึมา ที่มีสมาชิกเรือนไทย คุณ Overhaul  แวะมาชวนคุย  เรื่อง นวนิยายรักของ "อิงอร" เรื่องกลิ่นยี่โถแดง

และถามว่า ตรงกับเรื่องของใคร  บอกได้ไหม


     นวนิยาย เป็นบทประพันธ์เริงรมย์    โดยคมปากาชุบน้ำผึ้ง

ถ้าชุบจริงแล้วก็คงเขียนอะไรไม่ออก และมดทุกชนิกก็จะบุกมาแน่นอน


เมื่อคุณกิ่งแก้ว  ธิดาของเจ้าพระยาเสนาบดีคลัง  รักกับพระยาไวชยนต์บริบาล พระยาพานทองปลัดทูลฉลอง ผู้เคยเป็นเด็กในบ้านนางเอก

พระเอกปลูกเรือนหอชั้นเดียวบนเนิน มีสระรอบบ้าน  ด้านหนึ่งมีป่าตะแบก  อีกด้านหนึ่งเป็นดงยี่โถแดง

พระเอกสั่งลงหญ้าญี่ปุ่นที่นุ่มดีเหลือเกิน(อ่า......หญ้าญี่ปุ่น..อ่าแข็งมากค่ะ)

วิมานที่ได้รับพระราชทานมานี้    ตอนต้นเรื่องอยู่ที่ทุ่งพญาไท   กลางเรื่องย้ายไปทุ่งพระโขนง

นางเอกเคยเรียนหนังสือกับครูแหม่ม  อบผ้าด้วยดอกลำเจียก  ไว้ผมดอกกระทุ่ม  นุ่งผ้าลาย

ขับม้ามาที่เรือนหอที่กำลังปลูกได้เอง  เทียมม้าที่ชื่อเจ้าลายที่วิ่งเรียบ(ไม่เคยได้ยินว่านิยมใช้ม้าวิ่งเรียบเทียมรถ  ม้าเทียมรถต้องแข็งแรง  ไม่ตื่นง่าย)



นางเอกนอนกับพระเอกในบ่ายวันนั้น  ฮ้า!

(ตึก 'ไวชยนต์ '  กลายเป็นพิมานกลางทุ่งพญาไท.....ภายใต้แสงแดดเรืองรองของตะวันบ่าย)


พอตอนกลางคืนนางเอกก็ผูกแพรเพลาะแขวนคอตายกับประตูห้อง

พระเอกอุ้มนางเอกไปฝังระหว่างดงยี่โถแดง และฝังต้วเองลงไปด้วย

ห้ามคนมารบกวน ๔๐ ปี

สาเหตุคือ "พระผู้เป็นเจ้า" ประสงค์ตัวกิ่งแก้วไปเป็นสมบัติประดับพระบารมี


เนื้อเรื่องเท่าที่อ่านมามีประมาณนี้



นวนิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยาย  ที่สับสนเรื่องเวลาอยู่บ้าง  เพราะการที่ชายหนุ่มกว่าจะได้ขึ้นมาเป็นพระยาพานทอง  โดยทั่วไปนานอยู่นะคะ

เจ้าพระยากระทรวงวังเป็นผู้ที่เคร่งครัดธรรมเนียม  จะปล่อยให้ธิดาคนเดียว  นุ่งโจงกระเบนขับรถม้าไปบ้านผู้ชายโดยไม่เอาบ่าว หรือพี่เลี้ยง  หรือญาติไปด้วยเชียวหรือ


ไม่สามารถจะพาไปโยงกับสกุลใดได้  เพราะไม่เคยแว่วพงศาวดารกระซิบเลย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 16:20

หนังสือเล่มที่อ่าน คือ  รวมนิยายรักของ อิงอร ชุดที่ ๒

จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา

พิมพ์ครั้งที่ ๗   ๒๕๑๓

ราคา ๓๙ บาท (น่าจะซื้อได้ในราคาประมาณ ๒๐ บาท เพราะไม่ค่อยจะได้ซื้อนวนิยายราคาเต็มเลยค่ะ)



หนังสือเล่มนี้หนา ๖๔๒ หน้า    ซึ่งเข้าใจว่าหนาอยู่
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 16:26


     เรื่องราวของในฝ่ายในนั้น  เป็นเรื่องที่น่ารู้   น่าค้นคว้าเพิ่มเติม

เรายังขาดข่อมูลอีกมากมาย   คนรุ่นนี้จะปะติดปะต่อไว้ก็ต้องอาศัยคนรุ่นต่อไป  ศึกษาต่อ และใช้ความรู้สมัยใหม่เข้ามาช่วยค้นหา

ถูกค่ะ  ที่ข้อมูลขาดตอน  หายาก  มีจำกัด

แต่ไม่พ้นความตั้งใจของผู้ที่ทรงปัญญาและแน่วแน่

ยินดีสนับสนุนเพื่อนนักอ่านทุกท่าน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 16:40


     นวนิยายบางเรื่อง  ต้วเอกที่ที่มาจากประวัติศาสตร์ไทย    เป็นขุนนางสกุลมหาศาล

มหาศาลในที่นี้ สำหรับขุนนางหมายความว่า สืบเชื้อสายมาหลายชั่วคน  อย่างน้อยก็จากบรรพบุรุษที่ไว้ผมเปีย

สามชั่วคนเป็นข้าราชสำนักไปแล้ว


    นางเอกบางคน เช่น แม่พลอย ก็มีกุลสตรีผู้ทรงศักดิ์คิดว่าเป็นท่านเองแหละ     อ่านประวัติก็ดูคล้าย ๆ


เรานำมาคุยกันได้นะคะ      ในเรือนไทยนี้ เรามีท่านสมาชิกผู้ทรงความรู้และเป็นนักค้นคว้าโดยอาชีพและใจรักหลายสิบท่าน

ขอยกสำนวนจีนจาก อุ้ยเซี่ยวป้อ ที่รุงรังและจำอะไรไม่ค่อยได้ว่า

         "เราไม่ถือสูงต่ำ  มาถกผู้กล้ากัน"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 17:01


หนังสือหาง่าย  ราคาไม่แพง  เมื่อจะศึกษาเกี่ยวกับฝ่ายใน    ขอแนะนำ

ว่า คือ  หนังสือพระบรมนาชินี และเจ้าจอมมารดา  ของ คุณ ส. พลายน้อย  ที่พิมพ์ซำ้หลายครั้ง


ขอยกตัวอย่าง ๑ เรื่อง  ในหน้า สุดท้ายของบทเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑



"๓๓.   เจ้าจอมบุนนาก   หรือที่เรียกว่า  บุนนากสีดา


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ตรัสเล่าว่า

"เมื่อรัชกาลที่ ๑  ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในพระบรมมหาราชวัง  โปรดประทานเบี้ยหวัดถึงปีละ ๑๐ ชั่ง

ทั้งเป็นเจ้าจอมตัวเปล่า  ไม่มีพระองค์เจ้า    และชาติตระกูลหาทราบไม่




ทราบ(แต่)ว่า บิดาเป็นจีน   มารดาเป็นญวน

(บิดามารดา) หาได้เป็นข้าราชการตำแหน่งใดไม่          จะดีอย่างไร  จึงเล่าจึงลือ   จึงโปรดปรานหนักหนาไม่ทราบเลย

ได้เห็นเมื่อชราแล้ว   เอาเป็นแน่ไม่ได้"


สิบชั่งในสมัยโน้น.........คิดค่าของเงินไม่ได้เลยค่ะ



ข้อมูลเพียงแค่นี้  เราก็สามารถค้นคิดอะไรได้อีกมากค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 มิ.ย. 10, 20:41

อ่านแล้วยังมึนๆ  แต่จำได้ว่า กลิ่นยี่โถแดง  พระเอกนางเอกกลับชาติมาเกิดใหม่ แล้วชวนกันไปดูบ้านหลังเก่าในชาติก่อน  จบแฮปปี้เอนดิ้ง
ไม่รู้ว่าชีวิตของคุณกิ่งแก้วกับพระเอก เกิดในรัชกาลไหน     ถ้าเป็นรัชกาลที่ ๕  บ้านน่าจะยังเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง  หรือถ้าเป็นตึกแบบบ้านคุณเปรม  ก็กึ่งจีน  ไม่น่าจะมีเนิน หรือสนามหญ้าญี่ปุ่น

เจ้าจอมบุนนากสีดา   อ่านแล้วเดาต่อว่า ท่านคงเล่นบทสีดาในละครใน รามเกียรติ์ และคงสวยมาก ถึงได้รับบทนี้
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 09:51

            ไม่แน่ใจว่าได้อ่าน กลิ่นยี่โถแดง หรือเปล่า แต่จำได้แน่ว่าได้ดูละครเรื่องนี้ทางทีวีเจ็ดสี
เมื่อนานมากแล้ว (ก่อนยุคคุณแดงมาดูแลเรื่องละคร) ครับ

             หนังสือรวมนิยาย(สั้น) ของ อิงอร เรื่องที่อ่านแล้วจำได้ดีคือ นิทรา สายัณห์ กับ ช้องนาง
โดยเฉพาะเรื่องหลังนี้ ที่จบแบบขนแขนสะแตนด์อัพ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 11:53


เพื่อนๆ อ่าน ดรรชนีไฉไล กันค่ะ เล่ากันคนละยุค  จะตีกันตาย  ตามด้วยเสือน้อย

เมื่อวานไปตามสมาชิกนักอ่านที่เปิดร้านขายหนังสือมือสองอยู่ที่จตุจักร   พรรคพวกก็ออกหาหนังสือกันเป็นกิจวัตร นั่งอยู่แถวนั้น

เลยแย่งกันคุยกันเรื่องอิงอรค่อนข้างยาว

นักอ่านที่รักนวนิยายยุคนั้น  แม้ว่าจะไม่ตามงานของอิงอร   ก็ อ่าน ดรรชนีไฉไลกันแทบทุกคน

ยังตื่นเต้นราวกับได้อ่านเรื่องนี้เมื่อวานนี้

จำไม่ได้แล้วว่าภาชนะที่ใส่"ของขวัญ" วันแต่งงานคืออะไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 18:21

ขอตั้งคำถามกลับไปยังคุณ Overhaul ว่าอะไรทำให้คุณคิดว่านิยายรักเรื่องนี้ มีที่มาจากเรื่องจริง  หรือไปตรงกับชีวิตจริงของใคร
คนเขียนสมมุติขึ้นมาเอง โดยไม่ตรงกับเรื่องของใครเลยสักคน ไม่ได้หรือคะ?

บ้านทรายทอง  ไปตรงกับชีวิตจริงของใคร?
ปริศนา  หรือ คู่กรรม  มีด้วยหรือ  เป็นชีวิตจริงของใคร?
ปีศาจ  ของเสนีย์ เสาวพงศ์ หรือลูกผู้ชายของศรีบูรพา   พระเอกนางเอกมีตัวจริงด้วยหรือ?
บันทึกการเข้า
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 21:15

สวัสดีครับคุณเทาชมพู
เรื่องเป็นอย่างนี้ครับ คือสาม สี่ปีมานี้ คนขายขวดที่ผมผูกขาดอยู่เค้าเอานิตยสารหลายหัวเย็บรวมรายปีมาทยอยขายครับ
เรื่องหนึ่งมีบทความของคุณลาวัลย์เขียนเกี่ยวกับเรื่องกลิ่นยี่โถแดง และเป็นเรื่องบังเอิญที่อิงอรแต่งไปตรงกับชีวิตจริงของใครเข้า
เรื่องนี้เคยมาทำละครเวที ที่วิกศรีอยุธยา(แล้วจะเล่าวิกนี้ทีหลังนะครับ) พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์เสด็จมาชม และแสดงความยินดีกับอิงอร
คล้ายกับว่าพระองค์ทราบว่าตรงกับชีวิตผู้ใด แต่อิงอรไม่เคยรู้เลย จนกระทั้งปี2524
ผมเองถึงอยากรู้ว่าตรงกับชีวิตจริงของผู้ใดเช่นกัน มันเป็นตัวแดงแน่ๆ ถ้าเขียนในที่สาธารณะ หรืออาจเป็น ฉ
เรื่องก็มีประการฉะนี้ครับผม ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 21:34

ถอดรหัสจากคำตอบข้างบน  ออกมาว่า เรื่องนี้บังเอิญไปคล้ายกับชีวิตใครบางคน   โดยที่อิงอรเองก็ไม่ได้ตั้งใจ
จนกระทั่งพระองค์จุลฯ ทรงแสดงอะไรบางอย่าง
คล้ายกับว่าพระองค์ทราบว่าตรงกับชีวิตผู้ใด แต่อิงอรไม่เคยรู้เลย จนกระทั้งปี2524

แปลว่า หลังพ.ศ. 2524 อิงอรถึงรู้  และคุณลาวัลย์ มาเล่าไว้อีกที
 ฮืม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 08:13

คุณ overhaul  คะ


       ดิฉันเก็บหนังสือของคุณลาวัณย์ไว้ได้หลายเล่ม  เพราะเป็นผู้ที่เคารพ ท่านขุนวิศิษฎฐเบียนการ บิดาของเธอ ในฐานะท่านเป็นนักสะสมหนังสือเก่า
ผู้ได้เล่าว่า มีหนังสือ สามก๊กของครูสมิธ  อยู่ในประวัติหนังสือสามก๊กในเมืองไทย


คุณลาวัณย์เขียนไว้ว่า  เธอโดนเข้าใจผิด เพราะข้อมูลบางอย่างที่สุภาพสตรีบรรดาศักดิ์เล่าให้ฟัง  กลายเป็นนวนิยายไป
ทั้งๆที่คุณลาวัณย์ไม่ได้ไปเล่าไว้ในที่ใดเลย

คุณลาวัณย์เล่าว่า นักประพันธ์ใหญ่คนหนึ่ง  เคยโดนเข้าใจผิด เพราะชื่ิอตัวละครและสถานที่  เกิดไปพ้องกับบุคคลมีตัวตนเข้า


ดีจัง...ที่คุณมีคนขายขวด     เพื่อนๆดิฉันมีรถสามล้อแดงที่ต้องไล่ล่าค่ะ  เดินอยู่คลองถม  สามล้อแดงวิ่งมาแต้ป ๆ  เลี้ยวฟ้าบ...มาจอดข้างหน้า
แหะ ๆ      กระโดดเข้ารุมรถสามล้อแดง  ค้นหนังสือกันจ้าละหวั่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 09:11

หมายความว่า กลิ่นยี่โถแดง ไม่ได้มาจากชีวิตใครเลย?
นักประพันธ์ใหญ่ที่โดนเข้าใจผิดเห็นจะเป็นยาขอบ   เขียนเรื่องสมมุติแท้ๆ กลับไปพ้องกับชื่อจริงและสถานที่จริงของสาวน้อยคนหนึ่งเข้า   ทำเอาเสียหายเป็นเรื่องใหญ่โต

ย้อนกลับมาเรื่องคุณกิ่งแก้ว กับพระเอกหญ้าญี่ปุ่น
การคัดเลือกหญิงสาวลูกผู้ดีมีสกุล เข้าไปอยู่ในวังในฐานะนางราชภัฏกษัตรีย์( ไม่ได้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่อย่างใด    ยิงฟันยิ้ม) ย้อนหลังไปได้ถึงสมัยอยุธยา   และดิฉันสงสัยว่าอาจจะมีอิทธิพลมาจากจีนด้วย  ซูสีไทเฮาก็เข้าวังด้วยวิธีนี้
ถ้าหากว่าพ่อแม่ไม่อยากให้ลูกสาวเข้าไปอยู่ในวังไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน   ทางออกก็คือให้ลูกสาวแต่งงานไปเสียก่อน   เพราะการหาคู่ให้ลูกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่อยู่แล้ว ตามหลักพุทธศาสนา
เล่ากันว่าสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ในรัชกาลที่ ๑  เมื่อครั้งเป็นหญิงสาวในตระกูล ณ บางช้าง ก็แต่งงานกับหลวงยกกระบัตร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคัดเข้าวังหลวง

ในเมื่อคุณกิ่งแก้วรักกับพระยาพานทอง    ก็น่าจะรักกันให้เปิดเผย เจ้าคุณพ่อได้เห็นใจ     ถึงฝ่ายชายเป็นเด็กในบ้านมาก่อนก็ไม่เห็นเป็นไร    เก่งขนาดเป็นพระยาได้ตั้งแต่ยังหนุ่ม  พ่อตาน่าจะพอใจ  ยกลูกสาวให้ไม่ยาก
ดีกว่าไปลอบรักกัน  ลอบไปหากันแล้วก็ลงหลุมกันไปทั้งคู่

นวนิยายของคุณอิงอร เรียกตามประเภทวรรณกรรมว่า novel of sentimentality  คือเป็นนวนิยายที่เน้นความฉูดฉาดของอารมณ์ เพื่อก่อความสะเทือนใจแก่คนอ่าน     
ถ้ารักก็รักแบบอภิอมตะนิรันดร์กาล   ถ้าโศกก็โศกจนฆ่าตัวตายทางเดียวไม่มีทางอื่น     ถ้าแค้นก็แค้นจนลุกขึ้นทำร้ายอย่างไม่มีใครเขาทำ
ดรรชนีนางก็เป็นแบบเดียวกัน   นางเอกตัดนิ้วชี้ที่มีแผลเป็นแห่งความหลังใส่ขวดแก้วเล็กๆส่งไปให้พระเอกในวันแต่งงานของเขากับหญิงอื่น
คนอ่านอย่างดิฉันก็ได้แต่สงสารเธอว่า ถูกพระเอกหลอกฟัน  จนเธออกหักอุ้มท้องมีลูกไม่มีพ่อ  ยังไม่พอ  ยังอุตส่าห์ทำร้ายตัวเองให้พิการซ้ำสอง   
พระเอกรอดตัวไม่เห็นเดือดร้อนอะไร  แถมยังขว้างขวดทิ้งไปไม่ไยดีอีกด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 20:52

คุณวันดีมีนิยายของอิงอรที่จะเล่าสู่กันฟังอีกบ้างไหมคะ
ดิฉันเข้าใจว่างานของคุณอิงอรคงไม่ได้พิมพ์ใหม่นานแล้ว    จะมีก็แต่หนังสือมือสอง สำหรับผู้สะสม

ไปหาประวัติมาให้อ่านกัน จากวิกิ
ศักดิ์เกษม หุตาคม (17 พฤษภาคม พ.ศ. 2461 - 21 ธันวาคม พ.ศ. 2529) นักเขียนนวนิยายรัก โศกนาฏกรรม และนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียง เจ้าของนามปากกา อิงอร ได้รับฉายาว่า นักเขียนปลายปากกาจุ่มน้ำผึ้ง [1]

ศักดิ์เกษม หุตาคม เกิดที่จังหวัดสงขลา อาศัยอยู่กับมารดาและยาย เพราะกำพร้าบิดาตั้งแต่เด็ก จบชั้นมัธยมจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา แล้วเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพ พร้อมกับเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนจบอนุปริญญาเมื่อ พ.ศ. 2480 [2]

ช่วงเรียนอนุปริญญา ศักดิ์เกษมทำงานเป็นเสมียนที่กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่รักการเขียน เช่น นายตำรา ณ เมืองใต้ สด กูรมะโรหิต เหม เวชกร วรรณสิทธิ์ ศิษย์เพาะช่าง ใช้เวลาว่างเขียนเรื่องสั้นรวมเล่มอ่านกันเอง ใช้ชื่อว่าชาวคณะ "ริ้วอักษร" ต่อมาได้เขียนส่งหนังสือพิมพ์ "ประชามิตร-สุภาพบุรุษ" ซึ่งศรีบูรพา เป็นบรรณาธิการ ใช้นามปากกา "อิงอร" ผลงานชิ้นแรกคือเรื่องสั้น "สิ่งที่เหลือ" ตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 และเริ่มมีชื่อเสียงจากเรื่องสั้น "นิทรา-สายัณห์" ซึ่งต่อมาถูกขยายให้ยาวขึ้น และรวมเล่มจำหน่ายในปี พ.ศ. 2488 [2]

ผลงานของอิงอรที่มีชื่อเสียง เช่น นิทรา-สายัณห์ ดรรชีนาง ธนูทอง ช้องนาง โนรี บุหรงทอง ราชันย์ผู้พิชิต ริมฝั่งเนรัญชลา กลิ่นยี่โถแดง เกียรติศักดิ์ทหารเสือ มดแดง ปูจ๋า กบเต้น ไทยใหญ่ ฯลฯ ล้วนได้รับความนิยม นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครเวที และละครโทรทัศน์

อิงอรยังมีผลงานประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียง เช่นเพลง รักเธอเสมอ ความหลังฝังใจ ดรรชนีไฉไล หนาวตัก เดือนต่ำดาวตก ภูมิพลมหาราช โดยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน จากเพลง "รักเธอเสมอ" (ลูกกรุง) และ "ความหลังฝังใจ" (ลูกทุ่ง) และรางวัลสังข์เงิน จากเพลง "ภูมิพลมหาราช"

ศักดิ์เกษม หุตาคม เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2529 อายุ 68 ปี ด้วยโรคหัวใจ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 20:57

http://osknetwork.com/modules.php?name=News&file=read_article&sid=671&mode=&order=0&thold=0
ตำนานแห่งความอดอยากปากแห้ง ของนักเขียน นัก นสพ. และศิลปินแห่งชาติ

 ตำนานแห่งความอดอยากปากแห้ง ของนักเขียน นักนสพ.ชื่อ OSK ส.อาสนจินดา
ดัดแปลงและเพิ่มเติมจากบทความโดย ลัดดา ผู้จัดการ Online 9 สิงหาคม 2546 21:46 น.
 

เช้านี้อากาศกรุงเทพฯ สดใสหลังฝนใหญ่ต้นเดือนสิงหา ลัดดาคิดถึงครูหนังสือพิมพ์อีกคน OSK ครู ส.อาสนจินดา
เป็น ครู ส.อาสนจินดา ผู้รู้จักมักคุ้นเป็นอันมากกับความอดอยากปากแห้งแห่งวิชาชีพ
เป็น ครู ส.อาสนจินดา ผู้มีชีวิตพลิกผันจากครูสอนหนังสือชั้นมัธยม เสมียนสหกรณ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ พระเอกละครเวที ผู้กำกับการแสดง ผู้อำนวยการสร้าง กระทั่งถึงศิลปินแห่งชาติ
เป็น ครู ส.อาสนจินดา ที่ในปี2530 ได้รางวัลดาราประกอบยอดเยี่ยมจากเรื่อง " บ้าน " ในงานงานภาพยนตร์แห่งเอเซีย
เป็น ครู ส.อาสนจินดา ผู้ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2531 ในฐานะดาราสนับสนุนดีเด่น (ชาย) และรางวัลอื่นๆอีกมากมาย
เป็นครู ส.อาสนจินดา ผู้กำกับบทภาพยนตร์คลาสสิคเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาที่เป็นตำนานของเมืองไทยอย่าง “7 ประจัญบาน” ในฐานะฮีโร่ซึ่งคนไทยรู้จักกันดี

ลัดดาจะกล่าวเฉพาะเรื่องราวแห่งชีวิตพิสดารของ ส.อาสนจินดา ที่ในความทรงจำของลัดดาคนวัย 73 พอจำได้หลายเรื่อง บังเอิญ 4-5 นาทีนี้นึกได้บางเรื่อง ก็อยากบันทึกไว้

เรื่องแรก เกิดราวปีพุทธศักราช 2492

หลังตกเก้าอี้บรรณาธิการ ‘8 พฤศจิ’ ได้ไม่กี่วัน ส.อาสนจินดา ไม่มีบ้านของตนเอง ต้องกลับไปอาศัยนอนในกุฏิพระวัดมหรรณพฯ
วันหนึ่งเขาสวมเครื่องแต่งกายที่มีอยู่ชุดเดียว นุ่งกางเกงก้นปะตัวเก่า นำต้นฉบับเรื่องสั้นชื่อ ‘หมึกพิมพ์บนฝ่ามือ’ ไปขาย อิศรา อมันตกุล ผู้ให้ความอบอุ่น ให้ความเมตตาเสมอมานับนาน
อิศรา อมันตกุล ช่วงนั้นเป็นบรรณาธิการ ‘เอกราช’ มีสำนักงานอยู่หลังอาคาร 9 ถนนราชดำเนิน
พลันที่ก้าวเข้าไปห้องกองบรรณาธิการ ได้ยินเสียงอิศรา อมันตกุล ดังขึ้นก่อนว่า

“นี่ไง เพื่อนฝูงนี่แหละ ม.จ.นิรันดร์ฤทธิ์ธำรง พระเอกละครเวทีของนาย เขาเดินเข้ามายืนอยู่ต่อหน้าพวกเราแล้ว”

อิศรา อมันตกุล บอกกับ ศักดิ์เกษม หุตาคม เจ้าของนามปากกา ‘อิงอร’ ชาวสงขลา ที่เข้ามารับราชการในกรุงเทพ แล้วเขียนนวนิยายเรื่อง 'ดรรชนีนาง' ลงในหนังสือประชามิตรมีชื่อเสียงโด่งดัง เมื่อนำมาแสดงละครที่ศาลาเฉลิมนคร โดยมีพระเอกนักประพันธ์ คือ ส. อาสนจินดา

ควรทราบว่าไม่กี่นาทีก่อนหน้านั้น ศักดิ์เกษม หุตาคม นั่งตื๊อปั้นหน้าอย่างคนมีปัญหาความคิด ให้อิศรา อมันตกุล ตกลงปลงใจรับบท ม.จ.นิรันดร์ฤทธิ์ธำรง พระเอกละครเรื่อง ‘ดรรชนีนาง’ ที่จะแสดงบนเวทีศาลาเฉลิมนครในอีก 1 สัปดาห์ข้างหน้าแทน สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ พระเอกตัวจริงผู้ตกปากรับคำแล้วกลับถอนตัวอย่างปัจจุบันทันด่วน

เมื่อ อิศรา อมันตกุล ปฏิเสธอย่างหัวเด็ดตีนขาดว่าเล่นไม่เป็น เล่นไม่ได้ ศักดิ์เกษม หุตาคม จึงหันมาร้องขอ ส.อาสนจินดา ให้ช่วยขายผ้าเอาหน้ารอด

ในชั้นต้น ส.อาสนจินดา ขัดข้องว่าตนเองกำลังเตรียมการจะลาบวช ที่พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา ทว่าเมื่อเห็นตัวเลขรายได้ประมาณ 1,000 บาท จากการเล่นเป็นพระเอกละคร 12 วัน 32 รอบ

ส.อาสนจินดา นั่งอึ้งนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบตกลงใจให้เพื่อนฝูงไชโยโห่ร้องกันลั่นโรงพิมพ์

ถามว่า ส.อาสนจินดา คิดอย่างไรกับการตัดสินใจในวันนั้น

ส.อาสนจินดา เคยตอบผู้สนิทสนมบางคนว่า เขาไม่ได้คิดอะไรมากมายหรอก ในความเป็นจริง วันนั้นเขาหิวโหยมากกว่ากินกาแฟ 8 ถ้วยต่างข้าวตั้งแต่เช้า ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินแค่ 6 บาท และดีใจตายโหงเมื่อยินว่าค่าตัวพระเอกจะได้ตั้งพัน

อนึ่ง มีเกร็ดเรื่องเพลงสากลเพลงหนึ่งที่ใช้ทำนองเพลงไทยเดิมนั่นคือเพลง "เดือนต่ำ-ดาวตก"

เดือนต่ำดาวตก (ฮัม) วิหคร้อง เหมือนเสียงน้องครวญคร่ำร่ำเฉลยสารภีโชยกลิ่นเรณูเชย เหมือนพี่เคยจูบเกศแก้วกานดา หอมระรวยชวนชื่นระรื่นจิตถวิลคิดครั้งเมื่อขนิษฐา สละศักดิ์ฐานันดรดวงดอกฟ้าต้องหนีหน้าวงศ์ญาติมาด้วยกัน ณ เวิ้งอ่าวชายฝั่ง ณ ที่นี้ น้องช่วยพี่สร้างห้องหอสวรรค์ กระท่อมน้อย (ฮัม) คอยเตือน เรือนผูกพัน ระลึกวันขวัญสวาท อนาทรัก

เพลงพม่าแปลง อัตราสองชั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ม.ล. ต่วนศรี วรวรรณ ได้ดัดแปลงทำนองมาจากเพลง มอญแปลง และเรียกชื่อใหม่ว่าเพลง มะตะแบ แต่คนทั่วไปเรียกว่า พม่าแปลง ใช้บรรเลงตอนนางเอกโศกเศร้า ต่อมา ศ.ดร. อุทิศ นาคสวัสดิ์ ได้นำเพลงพม่าแปลงสองชั้น มาแต่งขยายเป็นอัตราสามชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียวครบเป็นเพลงเถา เพลงเดือนต่ำ-ดาวตก นี้ ครูแจ๋ว วรจักร หรือสง่า อารัมภีร ได้เขียนเล่าความเป็นมาของเพลงไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2492 “อิงอร” หรือนายศักดิ์เกษม หุตาคม ไปที่บ้านคุณชลหมู่ ชลานุเคราะห์ (ท่านเป็นสามีผู้ล่วงลับของคุณสุวรรณี ศิลปินแห่งชาติอีกท่าน และยังมีศักดิ์เป็นปู่ของ อุ้ม จารุตม์ OSK110) และไปแต่งเนื้อเพลง เดือนต่ำ-ดาวตกใช้เวลาเพียงสั้นๆเท่านั้นก็แต่งได้สำเร็จแล้วนำทำนองเพลงพม่าแปลง สองชั้นมาดัดแปลงบรรจุคำร้อง ให้ชื่อว่าเพลง เดือนต่ำ-ดาวตก

เพลงนี้ ปรีชา บุนยเกียรติ เป็นผู้ร้องหลังฉาก แทนพระเอก ส. อาสนจินดา โดยให้พระเอกทำลิปซิ้ง ทำให้เพลงโด่งดังมาก ปรีชา บุนยเกียรติ ได้นำติดตัวไปร้องตามวิทยุ กรมโฆษณาการ และกรมไปรษณีย์ที่่กระจายเสียงอยูที่ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า แถวๆโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ทำให้ปรีชา บุนยเกียรติ มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วไปนับแต่นั้นมา


***************************


เรื่องที่สอง เกิดระหว่างปี 2490

มีสองเหตุการณ์ที่ ส.อาสนจินดา ไม่เคยลืมความอดอยากปากแห้งแสนสาหัสระหว่างเป็นบรรณาธิการ ‘8 พฤศจิ’ ต้องอาศัยนอนโรงพิมพ์เพราะไม่มีบ้านอยู่

คืนหนึ่งท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เสื้อหนาวไม่มีใส่ ส.อาสนจินดา หลบลงนอนคุดคู้ห่มผ้าผวยอยู่ใต้โต๊ะทำงานที่โรงพิมพ์ 2 คูหาละแวกสะพานผ่านฟ้า กับเพื่อนรุ่นน้องสองคนชื่อ ประทีป โกมลภิส กับ สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช

มีเพื่อนเก่า ตมธ.รุ่น 4 ของ ประทีป โกมลภิส ชื่อ สนิท เอกชัย แวะมาเยี่ยมเยียน

เมื่อยินเสียงขยับเขยื้อนเคลื่อนตัวกุกกักใต้โต๊ะทำงานในห้องที่แสงไฟสลัว สนิท เอกชัย ถาม ประทีป โกมลภิส ว่า

‘เอ็งเอาลูกหมามาเลี้ยงไว้ใต้โต๊ะนี้ด้วยหรือวะ’

ประทีป โกมลภิส รีบบอก

‘ไม่ใช่ลูกหมาโว้ย เขาเป็นลูกพี่อั๊ว เขาเป็นบรรณาธิการ เขาชื่อ ส.อาสนจินดา

พลันที่ สนิท เอกชัย ยินชื่อ ส.อาสนจินดา เขาลิงโลดยินดีว่ารู้จักชื่อเสียงเป็นนักเขียนหน้าใหม่เขียนเรื่องสั้นชื่อ ‘รอยไม้ที่หลังแขน’ กับ ‘เจ็บถึงหัวใจ’ ลงใน ‘สุภาพบุรุษ-ประชามิตร’ เขียนดีมาก ‘อั๊วเพิ่งอ่านวานนี้ อั๊วอยากรู้จัก’

แล้ว สนิท เอกชัย ก็นั่งคุกเข่าลงคารวะบรรณาธิการ ‘8 พฤศจิ’ ที่เลิกผ้าผวยยื่นหน้าในชุดเสื้อกล้าม นุ่งผ้าขาวม้า ขึ้นมารับไหว้ให้เห็นว่าเป็น ส.อาสนจินดา หาใช่ลูกหมาไม่

อีกเหตุการณ์ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อ ส.อาสนจินดา ท้องกิ่วหิวโหย ไม่มีเงินเลยสักบาท ลูกน้องอีก 6-7 คน ก็โรยแรงตั้งแต่เช้าหามีอะไรตกถึงท้องไม่

ส.อาสนจินดา ตัดสินใจถอดนาฬิกาข้อมือให้ สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช นำไปเข้าโรงรับจำนำเยื้องโรงพิมพ์ ฟากถนนฝั่งตรงข้าม

หลงจู๊โรงรับจำนำพิจารณาแล้วบอกนาฬิกาข้อมืออะไรวะ เสียงดังยังกับโรงสี พลางหยิบเงินรับจำนำให้แค่ 2 บาท

สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช บอกหลงจู๊ว่า นาฬิกาเรือนนี้เป็นของลูกพี่บรรณาธิการ คนร่างสูงหล่อผมหยักศก เขาจะเอาเงินไปซื้อข้าวซื้อน้ำให้พวกอั๊วกินแค่ 2 บาท จะพอยาไส้อะไรที่ไหนกัน

ปรากฏว่า หลงจู๊เห็นใจเพิ่มให้จาก 2 บาท เป็น 8 บาท อาหารคนในกองบรรณาธิการ ‘8 พฤศจิ’ เที่ยงวันนั้น จึงมีทั้งข้าวผัด ทั้งก๋วยเตี๋ยว กินอย่างอิ่มหมีพีมันกัน 7-8 ห่อ

ที่มา:
http://www.thaiday.com/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=4621380135416
http://www.dontrithai.com/other/other13.htm# เพลง%20เดือนต่ำ-ดาวตก
http://www.meetingmall.com/society/glad/subject/51.htm
http://www.thaitv3.com/aboutus/about_award-tv1.html
http://www.businessthai.co.th/content.php?data=402619_Media
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 19 คำสั่ง