เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 20622 หลวงบุณยมานพพาณิชย์ - "แสงทอง"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 30 พ.ค. 10, 19:42

    ก่อนจะถึงวรรณวิจิตร  มีเกร็ดเล็กน้อยที่อยากเล่าถึง "แสงทอง" เสียก่อน      
    เคยอ่านพบว่าสมัยจอมพล ป. ปฏิวัติภาษาไทยในยุค "วัธนธัม" ช่วงสงครามโลก     มีการถามกันในคณะรัฐมนตรีถึงการใช้สรรพนาม "ดิฉัน" ว่าคำนี้มาจากอะไร    " แสงทอง" ตอบว่า ได้ยินว่ามาจาก ดีรัจฉาน
ที่ประชุมจะหัวเราะ ก็หัวเราะไม่ออก

    ท่านไขปริศนาคำนี้ในคอลัมน์ ภาษาและหนังสือ ที่ลงในนิตยสารสยามสมัย  
  "พูดถึงคำแทนชื่อ  ข้าพเจ้าเผอิญพบคำว่า ดิฉัน ในปทานุกรมของกรมตำรากระทรวงธรรมการ พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. ๒๔๗๐    ให้แปลว่า " คำแทนชื่อสำหรับผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย แทนคำว่า เรา ข้า ฉัน" ซึ่งคงจะทำให้ท่านผู้อ่านคอลัมน์นี้เดี๋ยวนี้พิศวง    เพราะสมัยนี้คำว่า ดิฉัน  ล้วนแต่ผู้หญิงใช้เป็นสรรพนามเรียกตนเองทั้งนั้น    มีเจ้านายบางองค์ที่ใช้คำนี้ หมายความถึงตัวท่านเอง พูดกับบุคคลบางประเภทที่ไม่ใช่เจ้า
ในกลอนสุนทรภู่  มีในเรื่องพระอภัยมณี  เป็นต้น   ข้าพเจ้าเคยเห็นใช้ทั้งดิฉันและดีฉาน    เลยทำให้นึกต่อไปถึงเรื่องว่าด้วยประเทศไทย ซึ่งเซอร์ยอน เบาว์ริง   ผู้เคยเป็นทูตเข้ามาในประเทศไทยสมัยปลายรัชกาลที่ ๔   หรือต้นรัชกาลที่ ๕  ซึ่งข้าพเจ้าจำได้ไม่แน่นัก     ได้เขียนถึงสรรพนามที่คนไทยเรียกตนเอง  เป็นข้าของขี้ฝุ่นที่เท้าบ้าง    เอาของสูงในตัวเราเช่นเกล้าเป็นเครื่องหมายแทนตัว    เราพูดแก่สิ่งต่ำที่สุดใต้เท้าของผู้อื่นเป็นต้น       กล่าวเรื่อยเจื้อยต่อไปจนถึงว่า  บางทีก็เรียกตัวเองเป็นสัตว์ไปเลย คือ หนู   และดิฉันหรือดีฉานนั้นก็เป็นคำย่อมาจากดีรัจฉาน     ความตอนหลังนี้   ข้าพเจ้ายังสงสัยว่าเซอร์ยอน   เบาว์ริง  จะรู้ถึงศัพท์ลึกซึ้งจนสันนิษฐานได้อย่างนั้น     หรือได้หลักฐานมาจากไหน   หรือใครคิดวิตถารบอกให้แกเขียนไว้ดังนั้น"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 06:11

วิ่งตึก ๆ ตามคุณเทาชมพูมาพร้อมกับข้อความหนึ่งที่เพิ่งอ่านเจอเมื่อคืนค่ะ

ไปตามหาหนังสือของแสงทองที่กระจายอยู่หลายตู้ได้มาหนึ่งเล่ม


ใน "ภาษาและหนังสือ" ฉบับรวมเล่มของ สำนักพิมพ์รวมสาส์น ๒๔๙๖  หน้า  ๙ - ๑๐

กล่าวถึง น.ม.ส.

     "ข้าพเจ้าทราบว่ากรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ซึ่งในกรมหมื่นพิทยาลงกรณทรงเป็นอธิบดีอยู่ในขณะนั้น
มีตำแหน่งว่าง   ข้าพเจ้าจึงขอให้บิดานำไปฝากเข้าทำงาน

      ในฐานะที่ในกรมทรงคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับบิดาของข้าพเจ้า  เมื่อครั้งเป็นนักเรียนในประเทศอังกฤษสมัยเดียวกัน"


   เอ่อ...แสดงว่าพระยาสัตยพรตสุนันท์(คงบุ๋น  บุณยมานพ) เป็นนักเรียนอังกฤษ

ดังนั้นบรรยากาศในบ้านคงเอื้อเฟื้อแก่การเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง

ตำราที่มี แจ้งว่า ท่านอยู่กระทรวงยุติธรรม

บ้านอยู่ถนนบำรุงเมือง  สี่กั๋กเสาชิงช้า


นามเดิมของท่านเจ้าคุณสับสนอยู่ระหว่างบุ๋น กับ คงบุ๋น   แต่ก็สมควรจะใช้หนังสืออนุสรณ์ของ แสงทองเป็นหลัก  คือ คงบุ๋น

เรียนมาแบบทะเลิ่กทะลั่ก  ชออภัยคุณเทาชมพูด้วยค่ะ  ดูจะขาดมารยาทอยู่สักหน่อย เห็นกำลังเล่าเรื่องเกร็ด  ตั้งใจจะรับฟังและคิดตามให้ชุ่มฉ่ำอุรา  

เลยอ่าน "ภาษาและหนังสือ"  เพลินไป

      
ในฐานะนักพยายามอ่าน  อดคิดไม่ได้ว่าบ้านท่านคงมีตู้หนังสือที่ แหะ ๆ....หนังสือเยอะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 09:35

ขอบคุณค่ะ   ข้อมูลนี้ ไม่ทราบมาก่อน    
เจ้าคุณพ่อเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษ   ลูกชายคงโตขึ้นมาท่ามกลางตำรับตำราฝรั่ง  พ่อคงสอนลูกชายมาแต่เล็ก   ให้อ่านหนังสือฝรั่งจนแตกฉาน    ท่านถึงแปลงานของ Bain ได้
ก่อนจะถึงเรื่องของ Bain   ขอโยกโย้ไปพูดเรื่องที่มาของคุณถึกก่อน     ว่าที่มาของหัสนิยายเรื่องนี้คือ Pickwick Papers ของ Charles Dickens  นักเขียนนวนิยายมือทองของยุควิคตอเรียน  คือยุคที่เจ้าคุณพ่อของท่านแสงทองไปเรียน
Pickwick Papers เป็นเรื่องอารมณ์ขันแบบฝรั่ง    ดิกเกนส์เขียนเรื่องได้หลายแบบ    เรื่องรันทดบีบคั้นหัวใจ  สะท้อนชีวิตเด็กกำพร้าและความยากจนข้นแค้นในสังคม อย่าง Oliver Twist   ก็เป็นเรื่องดังเรื่องหนึ่ง
David Copperfield ที่มีพื้นฐานจากชีวิตของผู้ประพันธ์เอง ก็ขมขื่นลำเค็ญไม่น้อยกว่ากัน   แล้วก็ยังมีเรื่องกดดันหัวใจ อย่าง Great Expectations อีกด้วย
แต่ PP เป็นข้อยกเว้น     เมื่อแสงทองนำมาดัดแปลงเป็นไทย  ก็ได้เรื่องตลกที่ทำให้คนอ่านเบิกบาน ลืมทุกข์ไป   มัวแต่หัวเราะท้องคัดท้องแข็ง


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 13:31

เอาลิงก์หนังสือของCharles Dickens  มาให้ครับ

เล่ม ๑

http://books.google.com/books?id=Ugj2HJU_HgYC&pg=PA19&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


เล่ม ๒

http://books.google.com/books?id=9v0KAAAAYAAJ&pg=PA7&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


เล่ม ๓

http://books.google.com/books?id=_UooAAAAMAAJ&pg=PA111&hl=th&source=gbs_toc_r&cad=8#v=onepage&q&f=false


และหนังสือชีวประวัติของCharles Dickens 

http://www.archive.org/details/lifeofcharlesdic01mack
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 14:29


คุณหลวงอย่าลืมเล่าการใช้พจนานุกรมสันกฤต  อังกฤษนะคะ

คอยให้คุณเทาบรรยายจบเรื่องก่อน   น่าจะทำให้เพื่อน ๆ เห็นแนว

ดิฉันเองต้องอ่านอีกหลายเที่ยวค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 17:16

อุบัติเหตุอีกครั้ง  พิมพ์เสร็จ ส่ง  ขัดข้อง หายหมด  ร้องไห้

"วรรณวิจิตร "ของแสงทอง  แปลจากวรรณกรรมของ F.W.Bain ด้วยกันทั้งหมด 13 เรื่อง  เรียกว่าเรื่องสั้นขนาดยาวหรือเรื่องยาวขนาดสั้นก็ได้ค่ะ
F.W. Bain เป็นใคร   หาอยู่หลายสิบปีถึงพบว่าเขาไม่ใช่นักเขียนหรือกวีอาชีพของอังกฤษ   จบจากออกซฟอร์ด   เป็นคนรู้ภาษาสันสกฤต   ทำงานสอนวิชาประวัติศาสตร์อยู่ที่Deccan College ที่ Poonah ในอินเดีย
เบนเล่าถึงที่มาของวรรณกรรมว่า เขาแปลมาจากต้นฉบับโบราณของฮินดู  เป็นนิทานและเรื่องราวของเทพเจ้า ซึ่งเก็บรักษาไว้อย่างดี   
ได้มาจากพราหมณ์ผู้หนึ่งในเมืองพาราณสี    เมื่อเกิดโรคระบาด   พราหมณ์ผู้นั้นมอบให้เขาไว้ก่อนตาย  เป็นสมบัติที่เก็บรักษากันมาในตระกูล
เขาก็เลยเอามาแปลเป็นภาษาอังกฤษ  พิมพ์จำหน่ายในอังกฤษ

ขอยกชื่อเรื่องมาให้ดูกันบางเรื่อง  ชื่อหยดย้อยมากค่ะ
A Digit of the Moon
 Syrup of the Bees,
Bubbles of the Foam,      อติรูป
Essence of the Dusk,       นางนาครี
Ashes of a God,
Mine of Faults,               ขุมความลวง
Heifer of the Dawn          ทินมาลี
In the Great God's Hair    วนวัลลรี
A Draught of the Blue      อลิจุมพิตา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 17:29

ชาววิคตอเรียนชอบวรรณกรรมต่างชาติ  ยิ่งเรื่องตะวันออก  ยิ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับพวกเขา   
งานของเบนทั้ง ๑๓ เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดู เป็นที่ชื่นชอบของคนอ่าน ในความไม่ซ้ำแบบกับรามเกียรติ์หรือมหาภารตะ     
เพราะเป็นนิทานที่เล่าโดยพระศิวะให้พระอุมาฟัง   มีแง่คิดปรัชญาและคติ  กับบทบาทกระจุ๋มกระจิ๋มระหว่างพระศิวะและพระอุมา ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบของหญิงสาวแสนงอน  เพิ่งจะวิวาห์มาได้ไม่นาน

เมื่อผลงานแพร่หลายออกไป  นักวิจารณ์และนักวิชาการวรรณกรรมก็ตามล่าหาที่มาของเรื่องกันเป็นการใหญ่    ว่ามาจากวรรณคดีเรื่องไหนของฮินดู
ในที่สุด  หากันจนอ่อนใจก็ไม่พบว่า "ต้นฉบับ"ลึกลับของพราหมณ์ผู้มอบให้ก่อนตายนั้น   ตาพราหมณ์แกคัดลอกมาจากวรรณคดีโบราณเรื่องไหน    ผ่านไปหลายสิบปีก็ไม่พบ ก็เลยฟันธงลงไปว่า เบนเป็นคนแต่งขึ้นมาเองทั้งหมด    รวมทั้งตำนานเรื่องได้มรดกจากคนตายด้วย

ดิฉันเคยเรียนถามศ.ดร.ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ผู้สอนวิชาสันสกฤตที่อักษรฯ จุฬา ฯ ว่า เบนแต่งเองหรือเปล่า  ท่านหัวเราะ แล้วตอบว่าแต่งเอง    แต่ว่าก็มีเค้าๆจากนิทานเรื่องโบราณบ้าง  เช่นเอาเทคนิคนิทานซ้อนนิทานมาใช้
ท่านบอกว่าชื่อตัวละครในงานของเบน  ไม่ใช่แบบฉบับใช้กันในวรรณคดีสันสกฤต    ของแท้ ชื่อเขาไม่ยาวเฟื้อยแบบนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 19:32

ถ้าคุณหลวงเล็กและคุณวันดี สนใจเรื่องการแปลภาษา  ขอให้ติดตามตรงนี้
เบนมีเชิงอรรถถี่มาก  ในแต่ละหน้า เขาจะขยายความว่าคำที่ใช้ในนิยาย  มีความหมายถึงใครหรืออะไร
ปานประหนึ่งว่าเขาแปลมาจากศัพท์สันสกฤต คำต่อคำ  แล้วมาทำคำอธิบายเพิ่มไว้อีกที
เช่น
and the Eight Pairs of Petals of the Lotus of the World  a.
เชิงอรรถของเขาคือ:
a The Lord of Time is Shiwa. Panini's grammar is believed to have been revealed to him by the deity. The Lotus of the world is the goddess of beauty.

แสงทอง ไม่ได้แปลเชิงอรรถ  แต่ว่าท่านอาศัยความหมายที่เบนขยายความ มาแปลให้ตรงตัวอีกที

ขอไหว้อัษฎคุณแห่งไทวัตว์ทั้งสี่    หนึ่งคืออัษฏมูรตตี  อีศวร    หนึ่งคือแปดเทพประจำทิศ    หนึ่งคือแปดบทวยากรณ์ของปานินิ     หนึ่งคือแปดคู่กลีบปัทมา

เบนบอกว่า The Lotus of the world is the goddess of beauty.หมายถึงพระลักษมี
แสงทองแปลว่า ปัทมา  ซึ่งแปลได้ ๒ อย่าง คือ ดอกบัว กับ เป็นพระนามหนึ่งของพระลักษมี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 20:19

the seven Rishis เบนแปลในเชิงอรรถว่า The Great Bear.
แสงทองแปลสั้นๆว่า ดาวหมี
Richis ถอดศัพท์ออกมาว่าอะไร   ฝากถามคุณหลวงเล็ก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 20:28

นี่ก็อยู่ในเชิงอรรถของเบน
As, if we may believe Bhartrihari, they often do, for the lives of men.
คำนี้ถอดออกมาว่าอะไรคะ    ภารตริหริ?
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 20:43

ขอบพระคุณค่ะ    นิ่งอ่านแทบไม่ไหวติงเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 20:51

กลับมาที่ตัววรรณกรรม    ดิฉันแบ่งเป็นประโยค  เพื่อจะให้เห็นฝีมือการแปล ของแสงทอง

   And there on his northern face is the home of the Lord of Creatures animate or inanimate.
   บนเขานี้ ทางมุขเหนือ  ประดิษฐานเทวาลัยพระบดีแห่งปวงประชา

(ถ้าให้นักเรียนแปล คงจะออกมาว่า ทางหน้าทิศเหนือคือบ้านของพระเจ้าของสิ่งมีชีวิต เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว)

There one evening, when the light of day was flying before the shadows that rose up pursuing it out of the abysses of the valleys along the mountain sides, the Daughter of the Mountain was playing at dice with her lord.
ณ ที่นี้ เวลาเย็นวันหนึ่ง  ขณะที่แดดกำลังร่นหนีเงาซึ่งกระเถิบขึ้นจากลุ่มลึกแห่งเหวแลหุบเขา   เขยิบขึ้นไปตามข้างผา   ธิดาแห่งขุนเขานี้กำลังทรงสกาอยู่กับพระสวามี
 And she won from him, first his elephant skin, and next his rosary of skulls. And finally she said: Now, then, I will play thee for that which thou dost carry on thy head.
บรรพตีชนะพระอิศวร    ครั้งแรกเทวีได้หนังช้างที่เทวะห่ม    ต่อไปได้สร้อยประคำหัวกระโหลก   ในที่สุดเทพีก็ตรัสว่า " เอาละ   ตานี้ข้าจะพนันเอาสิ่งที่ท่านทูนเศียร"

แสงทอง เชี่ยวชาญเรื่องเทพเจ้าของฮินดูมากพอจะเลือกคำมาใช้ได้ไม่ขัดเขิน   ภาษาอังกฤษ ใช้  she won from him  แทนที่จะแปลดื้อๆว่า นางชนะพระองค์  ท่านแปลว่า "บรรพตีชนะพระอิศวร"  บรรพตีก็คืออีกนามหนึ่งของพระอุมา  ท่านเลือกชื่อนี้มาให้สมกับคำเรียกตอนแรกว่า ธิดาแห่งขุนเขา    
บรรพตีแปลว่านางแห่งขุนเขา เพราะนางเป็นธิดาของท้าวหิมวัต หรือเขาหิมาลัย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 20:58

คนที่แปลงานของเบนได้ ต้องมีพื้นความรู้เรื่องเทพเจ้า แน่นเอาการ  ถึงจะเลือกศัพท์มาใช้ได้ถูกต้อง   นอกจากนี้ต้องมีคลังคำประเภทอลังการ อัดแน่นอยู่ในภูมิหลัง  ถึงจะหยิบมาใช้ได้ตามเจตนารมณ์
นิทานเหล่านี้ ถ้าคำไม่อลังการ  เรื่องจะจืดชืด

พูดถึงความอลังการแล้ว   นอกจากแสงทอง ก็มีพระสารประเสริฐ หรือนาคะประทีป ที่ดิฉันเห็นว่าเล่นกับศัพท์ร้อยแก้วได้แพรวพราย
วิธีการแปลแบบนี้น่าจะหมดไปแล้วในยุคปัจจุบัน

ถามคุณวันดีว่า เคยอ่านงานของ "จาฤก" ที่แปลงานชุดนี้ของเบน เช่นเดียวกันไหมคะ     
ดิฉันมีหนังสืออยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของห้อง   แต่ยังหาไม่เจอ  ถ้าเจอต้องรื้อหมดทั้งห้อง เลยกำลังรอปาฏิหาริย์อยู่
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 31 พ.ค. 10, 21:58

ไม่มีค่ะ

ใครคือจาฤกคะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 07:29

เมื่อคืนรื้อตู้  ได้  ลูกสาวคนที่ ๕  ที่ แสงทองแปลมาจาก Fifth Chinese Daughter  ของ Jade Snow Wong
เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงจีนที่โตมาในนครซานฟรานซิสโกในครอบครัวเคร่งวัฒนธรรม
สำนักพิมพ์อุดมพิมพ์ไว้ เมื่อ ๓๐ พ.ย. ๒๔๙๕  ราคาในตอนนั้น ๑๔ บาท
เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ หนา  ๒๖๓ หน้า

เข้าใจว่า สำนักข่าวสารอเมริกัน กวาดซื้อแจก เพราะมีตราประทับว่า ด้วยอภินันทนาการ ประทับไว้ที่รองปกหน้าและรองปกหลัง
แต่ที่ประทับไว้ที่กลางหน้า ๔๓ ไม่ทราบว่าทำไม
อภินันทนาการแล้ว ยังเกรงคนที่ได้ไปลืมหรือ


แสงทองแปลได้นุ่มนวล เพราะท่านใช้คำว่า "อ่อน"  แทน  เง็กเซาะ
จำได้ว่าคุณศุภร  ก็ใช้ศัพท์นี้

ให้ความรู้สึกที่นุ่มนวลอย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง