ดิฉันเคยถามเพื่อนด้วยความทึ่ง ว่า คุณตาของเธอเรียนจบจากเมืองนอกหรือ ถึงเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษขนาดแปลงานได้อย่างวิจิตรถึงเพียงนี้
เพื่อนบอกว่าคุณตาไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก แต่ท่านเป็นคนสนใจใฝ่รู้เรื่องหนังสือหนังหา เคยไปดูงานรอบโลกมาแล้วสมัยรับราชการ
ไปเปิดประวัติของท่านดู นึกถึงที่ผู้ใหญ่เคยเล่าว่า นักเรียนในโรงเรียนดังๆของกรุงเทพ ในยุครัชกาลที่ ๖ หรือที่ ๗ แค่จบมัธยมปลาย ก็แตกฉานภาษาอังกฤษ สามารถแปลหนังสือและบทหนังได้สบาย
นึกถึงคำบอกเล่านี้ได้อีกครั้ง เมื่ออ่านประวัติท่าน" แสงทอง"
" แสงทอง "มีชื่อจริงว่า อรุณ บุณยมานพ เป็นบุตรคนแรกของมหาอำมาตย์ตรี พระยาสัตยพรตสุนันท์ (บุ๋น บุณยมานพ) กับคุณหญิงปุก เกิดเมื่อ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๖
ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนแหม่มศรี ซึ่งอยู่ใกล้บ้านเป็นแห่งแรก แล้วย้ายไปศึกษาต่ออีกหลายแห่งคือ ที่โรงเรียนบำรุงสตรีวิทยา โรงเรียนมัธยมวัดราชบูรณะ โรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ และไปจบมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปากคลองตลาด จากนั้นจึงเข้าศึกษาต่อที่ โรงเรียนกฏหมาย ของกระทรวงยุติธรรม ในช่วงพ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๒
*ท่านเป็นศิษย์เก่าร.ร.เดียวกับท่านตนกูอับดุล เราะห์มาน ด้วย*

เริ่มรับราชการในโรงภาษี หรือ กรมศุลกากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ จากนั้นได้ย้ายไปทำงานในกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเศรษฐการ แล้วโอนไปเป็นหัวหน้ากองการสังคีต และที่ปรึกษาการละครกรมศิลปากร ซึ่งขึ้นตรงกับ สำนักนายกรัฐมนตรี ต่อมาโอนไปเป็น หัวหน้ากองกระจายเสียง กรมประชาสัมพันธ์ จากนั้น ลาออกจากราชการมาประกอบอาชีพส่วนตัว
เนื่องจาก"แสงทอง" เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน เมื่อไปรับราชการที่กรมศุลกากร ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ จึงได้เริ่มทดลองประพันธ์ โดยสมัยนั้นละครปรีดาลัย และคณะปราโมทัย เป็นมหรสพที่ได้รับความนิยมมาก โดยมีพระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตศิริ) แห่งคณะปราโมทัยซื้อบทประพันธ์ในราคาเรื่องละ ๕๐บาท แสงทองจึงได้แต่งบทละครชื่อว่า "ซ้อนกล" ส่งไปชิ้นแรกและปรากฏว่าใช้ได้
ในประวัติของท่านที่ลงในเว็บไซต์ร.ร.เทพศิรินทร์ เล่าถึงนามปากกาของท่านผิดเพี้ยนไปเล็กน้อย คือเล่าว่า
"หลวงประสานอักษรพรรณ ผู้ตรวจบทละคร ได้ถามว่าจะใช้นามปากกาว่าอะไร จึงตอบไปว่า "แสงทอง" และใช้นามปากกานี้เรื่อยมา"
ความจริง "แสงทอง" เล่าถึงนามปากกาของตัวเองว่า
"เมื่อข้าพเจ้าแต่งละครไปให้โรงปราโมทัยเล่น ข้าพเจ้ายังไม่มีนามปากกา หลวงประสานอักษรพรรณ(ช่วง อิศรภักดี) ผู้ตรวจรับบทละครถามว่า จะให้ลงนามปากกาว่าอะไร ข้าพเจ้าตอบว่าอะไรๆที่คล้ายนามตัวข้าพเจ้า คือ อรุณ ก็ได้ คุณหลวงประสานฯ ก็ตั้งให้ว่า "แสงทอง" และได้เริ่มเป็นนามปากกาของข้าพเจ้ามาตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๕๕"
สมัยนั้นหนังสือพิมพ์สนามมวย ออกเป็นรายเดือนประกาศค่าเขียนหน้าละ ๑บาท แสงทองจึงแปลเรื่อง "นักสืบสตรี" ส่งไปเป็นเรื่องแรก และมีกำลังใจเขียนต่อไปเพราะทุกๆเรื่องได้พิมพ์หมด ถึงขนาดที่รับเงินเดือนจากกรมศุลกากร ๕๐ บาทแต่ได้รับจากบทละครเดือนละ ๒๕๐ บาทเลยทีเดียว
ดิฉันก็ไม่รู้ว่าค่าของเงินสมัยรัชกาลที่ ๗ เมื่อเทียบกับสมัยนี้ จะต้องคูณเข้าไปกี่เท่า ลองสมมุติบนพื้นฐาน ว่าคุณหลวงเป็นข้าราชการกรมศุลกากร ทำงานจนอายุสามสิบปลายๆ ถ้าเป็นปัจจุบัน เงินเดือนอาจจะประมาณสองหมื่นห้าพันบาท
๕๐ อดีต = ๒๕,๐๐๐ ปัจจุบัน
๒๕๐ คือ ๕ เท่าของเงินเดือน เท่ากับท่านได้ค่าบทละคร ๑๒๕,๐๐๐ บาท ต่อเดือน
