NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 30 เมื่อ 30 พ.ค. 10, 19:56
|
|
พวกเสื้อแดงส่วนมากที่มาร่วมชุมนุมไม่น่าจะเข้าใจความหมายของคำว่าไพร่ อาจจะเข้าใจว่าแปลว่าคนจนหรือคนด้อยโอกาสทางสังคม เขาจึงยอมให้แกนนำเหมาเอาเขาเป็นไพร่ เพราะเขายอมลำบากมาก็หวังจะได้อะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น หรือได้แบงค์พันติดไม้ติดมือกลับบ้านสักปึกนึงก็ยังดี ถ้าเขารู้ว่าความหมายของคำว่าไพร่ในภาษาไทย สมัยนี้นำมาใช้แต่ในความหมายว่าคนกิริยาวาจาต่ำช้ามหาสถุน ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากจะเป็นเหมือนกัน
วิกฤตการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดเนื่องจากความแตกแยกของคนในชาติสองฝักสองฝ่ายในมาเลเซียเกิดก่อนไทยถึงสี่สิบปี แม้ปัญหายังไม่จบแต่ก็ยังไม่เกิดอะไรเลวร้ายเท่านั้นอีก ถ้าเราศึกษาให้ดี ถึงแม้แผลยังไม่หาย เราก็อาจจะทำไม่ให้เลือดไหลออกมามากเหมือนอย่างที่ขึ้นเกิดไปแล้วได้
เหตุการณ์ของเขาครั้งนั้น ตำรวจได้ออกใบอนุญาตให้จัดขบวนแห่ได้โดยให้งดเว้นบางถนน และจำกัดปริมาณคนในขบวนแห่ แถมห้ามใส่หมวกแดงที่พวกนี้เลือกนำมาเป็นสีสัญญลักษณ์เพราะเป็นสีของคอมมิวนิสต์
สายวันรุ่งขึ้น พรรคกรรมกรก็จัดทัพแมงกะไซ500นำขบวน ไพร่จีนเดินโบกธงแดง มีแผ่นป้ายปลุกระดม บ้างก็ชูรูปของพ่อเม๋าเจ้าของท่อน้ำเลี้ยง ร้องตะโกนคำขวัญพร้อมสลับเพลงเพื่อชีวิตที่ชื่อว่า “ตะวันออกคือสีแดง” เคลื่อนพลเป็นไปตามถนนใหญ่ในเมืองหลวง หยุดตามแยกสำคัญๆเพื่อให้แกนนำขึ้นไปด่าอำมาตย์ด้วยถ้อยคำไพร่ๆ จนได้คนมาร่วมเป็นหมื่น รถราติดวินาศสันตะโร แต่คนมาเลย์ก็แสนจะอดทนอย่างน่าชมเชย อาจจะช็อคจนทำอะไรไม่ถูก ปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้ดำเนินไปตั้งแต่สายจนถึงค่ำ พอศพถูกฝังเรียบร้อย แกนนำพรรคกรรมกรก็พากันไปฉลองความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถรวมพลได้เกินที่ตำรวจกำหนดนับหมื่น มากกว่าการชุมนุมทางการเมืองใดๆที่มีมาก่อนในประวัติศาสตร์มาเลเซีย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 31 เมื่อ 30 พ.ค. 10, 21:58
|
|
คงไม่ต้องบอกนะครับว่าคนมาเลย์โกรธแค้นรัฐบาลของเขาแค่ไหน
จากผลการเลือกตั้งของมาเลเซียในวันรุ่งขึ้น ปรากฏว่าพรรคพันธมิตร ได้ที่นั่งลดน้อยลงจากเดิมร้อยละ 58.5 เหลือร้อยละ 49.1 โดยที่พรรคร่วมแต่ละพรรคได้จำนวนผู้แทนลดลง บางพรรคไม่ได้รับเลือกสักคนเดียว พรรคอัมโนเองก็แย่ผู้แทนหลายคนสอบตก หนึ่งในนั้นคือดร.มหาธีร์ ที่โกรธแค้นหนักถึงกับหมดความนับถือท่านตนกูหัวหน้าพรรคของตน
ขณะที่คนมาเลย์หันไปสนับสนุนพรรคอนุรักษ์นิยม ที่เน้นแนวทางอิสลามอย่างและพรรคพาสฝ่ายค้าน กลุ่มคนจีนและคนอินเดียบางส่วน หันไปสนับสนุนกลุ่มพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่พรรคกรรมกรหาเสียงให้
เมื่อผลของการนับคะแนนชัดเจน พรรคฝ่ายค้านของคนจีนก็ออกมาฉลองชัยชนะตามท้องถนนในวันที่ 13 พฤษภาคม เหตุการณ์ร้ายเริ่มขึ้นเมื่อรถบรรทุกของคนจีนถูกเผาที่แถบเมืองที่พวกมาเลย์อยู่ คนจีนในถิ่นนั้นโผล่ออกมาให้เห็นจะถูกทำร้ายถึงตาย มีผู้อ้างว่าคนมาเลย์กลุ่มนี้รวมกันที่บ้านของคนในพรรคอัมโนก่อนที่จะขยายตัวไปฆ่าคนจีนทั้งเมืองด้วยอาวุธทุกอย่างที่หาได้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวในทันทีแต่มันไม่ได้ผลทั้งเมือง ทหารที่ถูกสั่งให้ออกมารักษาความสงบแทนตำรวจ ถูกข้อกล่าวหาว่ายิงใส่คนจีนอย่างไม่มีเหตุผล
14 พฤษภาคม จลาจลยังคงมีอยู่แต่กระจัดกระจาย ทหารยอมผ่อนผันช่วงเวลาเคอฟิวให้คนออกมาซื้อหาอาหาร ศพที่โรงพยาบาลนับได้ประมาณแปดสิบศพ เป็นคนจีนเสียหกสิบ รัฐบาลออกมาประนามว่าเป็นการกระทำของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
15 พฤษภาคม รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน และจัดตั้ง ศอฉ.( National Operations Council) มีตนอับดุล ราซักเป็นผู้อำนวยการ รายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรี แต่อำนาจสั่งการทั้งหมดอยู่ที่รองนายกรัฐมนตรีตนอับดุล ราซัก ศอฉ.ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับจนกว่าจะมีประกาศมาตรการในการเซนเซอร์ข่าว แต่ไม่มีการกระทำใดๆต่อรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ 16 พฤษภาคม สถานการณ์ทั่วไปยังไม่ดีขี้น รถและบ้านเรือนของราษฏรยังคงถูกเผา จำนวนคนตายในกัวลาลัมเปอร์มากขึ้นเป็น89ศพ บาดเจ็บ300 ขยายเคอร์ฟิวตลอด24ชั่วโมงทั่วรัฐซารังงอร์ ปีนัง และเปรัก รวมถึงมะละกา รถสามล้อของท่านอาจารย์เทาชมพูห้ามออกมาวิ่ง ท่านตนกูออกทีวีชี้แจงสถานการณ์และประกาศจะจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครป้องกันชาติ เนื่องจากเกิดข่าวลือว่าทหารมาเลย์ถือโอกาสปล้นสดมภ์และมีอคติต่อชาวจีน จำนวนผู้ลี้ภัยที่สูญเสียที่อยู่เพิ่มขึ้น
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 32 เมื่อ 30 พ.ค. 10, 22:16
|
|
รถสามล้อของท่านอาจารย์เทาชมพูห้ามออกมาวิ่ง  สามล้อประดับดอกไม้ คงจะดุไม่ใช่เล่น น่าจะสั่งมาไว้ในเรือนไทยสักคัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 33 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 07:36
|
|
การจลาจลหลังจากนั้นแม้จะอยู่ในระดับที่รัฐบาลควบคุมได้แล้วก็ตาม แต่การลอบวินาศกรรมเผาที่นั่นที่นี่ และลอบทำร้ายกันทีเผลอยังมีอยู่ การดำรงชีวิตของราษฎรลำบากแสนสาหัสเพราะขาดอาหารเนื่องจากเคอร์ฟิว เหล่ากาชาดต้องทำงานหนักทั้งจัดหาอาหารให้คนกินกันตายและการดูแลผู้ลี้ภัย กว่าที่คนสองเชื้อชาติจะเริ่มเหนื่อยอ่อนและไม่เห็นประโยชน์ต่อการวิวาท ไม่มีรายงานคนตายอีกก็ปาเข้าไปเดือนกรกฎาคม
ตัวเลขที่ทางการประกาศคือ คนตาย184 (เป็นมาเลย์18), บาดเจ็บนอนโรงพยาบาล342 ยานพาหนะถูกทำลาย109 อาคารบ้านเรือนถูกเผา118 คนถูกจับ 8114 ส่งฟ้องศาล4192
ตนกูอับดุล เราะห์มานตกเป็นจำเลยของสังคมมากกว่าคนอื่น เพราะท่านเป็นนายกรัฐมนตรี นักการเมืองหนุ่มคนสำคัญในพรรคแต่สอบตกการเลือกตั้งเป็นคนแรกที่เขียนจดหมายส่วนตัวถึงท่าน แต่สำเนาให้หนังสือพิมพ์นำไปลง ผมแปลท่อนที่สำคัญมาให้อ่านข้างล่าง
“ท่านเองนั่นแหละที่บอกเราว่า การยกโทษประหารให้กับพวกก่อการร้ายจีนทั้ง11คนเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดจลาจล แต่ความจริงมันคือจุดระเบิดของการจลาจล13พฤษภา ซึ่งส่งผลให้เกิดการตายของคนอีกมากกว่ามาก
นโบบาย‘give and take’ของท่านคือการให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนจีนขอ จุดสุดยอดอยู่ที่การยกโทษประหารชีวิตซึ่งทำให้คนมาเลย์ส่วนใหญ่โกรธแค้น ในขณะที่คนจีนเองเขาก็เห็นว่าท่านเป็นคนขี้ขลาดและอ่อนแอสามารถจะปั่นหัวไปทางไหนก็ได้
นั่นทำไมคนจีนและคนอินเดียจึงมีพฤติกรรมกร้าวร้าวต่อคนมาเลย์ ถ้าท่านโดนถ่มน้ำลายรดหน้า ด่าหยาบๆคายๆ และควักของลับให้ดู นั่นแหละท่านจึงจะสำนึกว่าคนมาเลย์เขารู้สึกอย่างไร คนมาเลย์ซึ่งท่านคิดว่าไม่มีวันที่จะขบถต่อท่านได้นั้นสติแตกไปแล้ว พวกเขาเกลียดท่าน เพราะท่านเห็นแก่หน้าพวกมันมากเกิน”
ผลของการกระทำนี้ทำให้ถูกขับออกจากพรรค และนักศึกษามหาวิทยาลัยเดินขบวนประท้วงมตินี้ ทั้งๆที่วิกฤต13พฤษภายังไม่จบสนิท แล้วคนๆนี้ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดถึง20ปี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 34 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 08:41
|
|
ท่านตนกูให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า ต้นเหตุไม่ได้อยู่ที่ท่านกระทำให้เด็กไม่ต้องโทษประหาร แต่อยู่ที่การแห่ศพที่พวกแดงจัดขึ้นแล้วมีการกระทำที่สบประมาทคนมาเลย์อย่างสุดที่จะทานทน ท่านพูดชัดเจนว่าในสถานการณ์การเมืองเช่นนั้น ไม่ควรจะอนุญาตให้ทำได้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดทั้งสิ้น
หลังจากที่ท่านมีเดอะสตาร์แล้ว ท่านเขียนเรื่องนี้ในคอลัมน์ “มองย้อนอดีต” ที่คนทั้งเมืองคอยอ่านว่า
“ตำรวจได้ปฏิเสธคำขอแห่ศพในวันที่จะทำการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลกลับอนุญาตให้แห่ได้ก่อนวันนั้นเพียงวันเดียว เพียงแต่ให้จำกัดขนาด โดยที่ข้าพเจ้าไม่ได้ให้อำนาจหรือเพียงแต่จะได้รับทราบ ข้าพเจ้าอยู่ที่อลอร์ สะตาร์และได้รับการติดต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อเขาเริ่มแห่กันแล้ว
ข้าพเจ้าประหลาดใจมากที่ผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ได้ให้อนุญาตแห่ศพที่จะดึงดูดพวกคอมมิวนิสต์กับกลุ่มเห็นอกเห็นใจนับพันๆคนให้เข้ามาร่วม พวกคอมมิวนิสต์ถูกฆ่าตายมาก็เยอะแล้วแต่ไม่เคยได้รับการยินยอมให้แห่ศพกันยิ่งใหญ่ แล้วครั้งนี้มันเกิดอะไรขึ้นเล่า จึงไปยอมให้อนุญาต
จุดมุ่งหมายที่ข้าพเจ้าค้นพบต่อมาก็คือ เขาต้องการสร้างความลำบากใจให้ข้าพเจ้า ยิ่งหาลึกลงยิ่งเจอว่า พวกที่กระทำเป็นกลุ่มเดียวกับพวกที่ปล่อยข่าวลือทำลายข้าพเจ้า ต้องการที่จะใช้สถานการณ์นี้โค่นล้มข้าพเจ้า”
ท่านชัดเจนว่า ท่านถูกการเมืองของพวกเดียวกันเล่นงานท่านแล้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 35 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 08:50
|
|
ความเห็นเรื่อยเปื่อย ขอให้อ่านด้วยวิจารณญาณ (แปลว่าไม่ควรเชื่อ) ๑ นโยบายปรองดองของท่านตนกู น่าจะมีการเลื่อยขาเก้าอี้อยู่ข้างใต้ จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คนพวกนี้ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือไม่เห็นกับตัวท่านก็ตาม ก็ถือว่าไม่เห็นด้วยอย่างแรง จึงมีการสาดน้ำมันลงบนกองไฟ ให้ลุกลามและรุนแรง เกินควบคุม ไม่ใช่สองฝ่ายโกรธแค้นกันตามปกติวิสัยแล้วก็เลยลุกลาม ๒ การปรองดองนั้นทำได้ผล ต่อเมื่อผู้ปรองดองต้องถือช่อดอกไม้ไว้ในมือหนึ่ง และก็ไม่ลืมจะมีแส้ไฟฟ้าไว้ในอีกมือ คือยื่นมือไปให้จับ แต่ถ้าลื้อไม่เช้คแฮนด์กลับมาดีๆ อั๊วเฆี่ยนนะ ส่วนคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับเช้คแฮนด์ก็อย่าเพิ่งแทรกกลาง ๓ นักการเมืองหนุ่ม- มหาธีร์ พูดแทนใจคนมาเลย์ซึ่งขณะนั้นรวมเป็นหนึ่งเดียว ก่อนหน้านี้อาจมีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับท่านตนกู แต่มาบัดนี้รวมกันเป็นไม่เห็นด้วย เพราะผลพิสูจน์เหตุ ตามหลักของมาเคียวเวลลี คือผลออกมาล้มเหลว แสดงว่าเหตุคือการตัดสินใจผิด ทั้งที่ความจริงอาจจะมีปัจจัยเยอะแยะไปที่ทำให้"ผล" ออกมาเจ๊ง โดย"เหตุ"อาจจะไม่ผิดก็ได้
*ชนกันกลางอากาศ ขณะที่ดิฉันกดส่ง คุณนวรัตนก็ส่งเข้ามาพอดี เลยโพสต์เพิ่มเติมให้รู้ว่า เราก็เดาถูกเหมือนกันแฮะ ขนาดมือสมัครเล่นนะเนี่ย*
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 36 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 11:08
|
|
กลับไปเปิดประวัติ ท่านตนกูขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 1957 จนถึง 1970 ก่อนหน้าเป็นนายกฯ 2 ปี ท่านก็เป็นหัวหน้ารัฐมนตรี แปลว่าท่านครองอำนาจผู้นำประเทศอยู่ถึง 13-15 ปี การกินตำแหน่งใหญ่อยู่ยาวนาน ในภาครัฐ (แม้แต่ในภาคเอกชนก็เถอะ) เท่ากับว่าหัวแถวไม่ขยับ กลางแถวและหางแถวก็เลื่อนไม่ได้ ลองนึกว่าถ้ามีผบ. เหล่าทัพไหนก็ได้ที่กินตำแหน่งอยู่ 15 ปี ไม่เกษียณสักที กองทัพจะปั่นป่วนสักแค่ไหน นายพลจำนวนมากเท่าไรต้องเกษียณไปโดยไม่ได้ตำแหน่งที่เขาควรได้ ตั้งแต่พลเอกลงไปถึงพลตรี หรืออาจจะลงไปถึงนายพันด้วย ยังไม่รวมว่าเวลาสิบกว่าปี ยาวนานจนสถานการณ์เปลี่ยน นโยบายและความคิดอ่านที่ทันสมัยในยุคหนึ่ง ก็อาจจะไม่ทันการณ์ในอีกยุคหนึ่งก็ได้ การตัดสินใจของคนหนึ่งที่ถูกต้องในยุคหนึ่ง อาจไม่ใช่ ในอีกยุคหนึ่ง
ประเทศประชาธิปไตยจึงกำหนดวาระของผู้นำไว้ ไม่ให้นานมากนัก ต่อให้เป็นผู้นำที่เก่งและดีขนาดไหน ก็ต้องลงจากเก้าอี้ไปตามวาระ เพื่อให้คนอื่นมาทำงานบ้าง ส่วนพวกที่ยังกินตำแหน่งผ่านนอมินีคนแล้วคนเล่า ไม่จัดเข้าประเภทลงจากเก้าอี้ให้คนอื่นขึ้นมาเป็นแทนนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 37 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 12:58
|
|
การเมืองมันแย่ตรงที่มันมีธรรมชาติของการแย่งชิงอำนาจโดยไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามทำนองคลองธรรม การที่ผู้นำจะก้าวพลาดจนคนอื่นเห็นว่าสมควรจะถูกเปลี่ยนแล้วเป็นความชอบธรรมที่ควรจะเกิดขึ้นได้ แต่การสร้างสถานะการณ์ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ตน หรือกลุ่มของตนขึ้นมาเสวยอำนาจแทนเป็นสิ่งน่ารังเกียจ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่เล่นกับความพินาศของบ้านเมืองและชีวิตของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ
ผมอยากให้ท่านอ่านบทความของตนกูอับดุล ราห์มันอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผมแปลมาให้อ่านอีกบทหนึ่งดังนี้
บ้านในปินัง 2515
“มันเป็นความเข้าใจแจ่มแจ้งของข้าพเจ้าและตำรวจว่าบรรยากาศการเมืองได้ถูกกระตุ้นสู่จุดอันตรายเมื่อตำรวจจำเป็นต้องยิงเด็กลูกจีนของพรรคการเมืองในวันที่4พฤษภาคม คล้ายกับแนวโน้มที่จะเกิดการละเมิดกฏหมายในช่วงค่ำของวันเลือกตั้ง เนื่องจากคนจีนในกัวลาลัมเปอร์จะแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาล ดังปรากฏให้เห็นในการแห่ศพของนายคนนี้เมื่อวันที่9พฤษภาคมเป็นตัวอย่าง ซึ่งรัฐบาลต้องเผชิญกับฝูงชนที่กร้าวร้าวที่สุดกว่าที่เคยพบเห็น
ดังนัน เมื่อพรรคฝ่ายค้านทำหนังสือขออนุญาตตำรวจเพื่อจะจัดการเดินขบวนฉลองสำเร็จจากผลของการเลือกตั้ง ข้าพเจ้าจึงคัดค้านอย่างแข็งขันเพราะตำรวจมั่นใจว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ยากลำบากแน่
ข้าพเจ้าแจ้งความเห็นให้ตุนราซักทราบในเรื่องนี้และเขาก็มีท่าทีว่าเห็นด้วย คราวนี้ โดยข้าพเจ้าไม่เคยทราบ ทั้งที่ความจริงสิ่งที่พวกเขากระทำกันก็ “ข้างหลังของข้าพเจ้า”นั่นเอง มีกลุ่มผู้นำทางการเมืองในตำแหน่งสูงๆต้องการจะกดดันให้ข้าพเจ้าพ้นจากตำแหน่งนายก ข้าพเจ้าไม่ต้องการจะแจงรายละเอียด แต่ถ้าพวกเขาจะเข้ามาหาแล้วบอกกันตรงๆ ข้าพเจ้าก็ยินดีที่จะก้าวลงอย่างสง่างาม
น่าเสียดาย ที่พวกเขาชัดเจนว่าได้ตัดสินใจเลือกแผนการที่จะนำไปสู่การใช้วิธีบังคับให้ข้าพเจ้าลาออก และโอกาสนั้นมาถึงพวกเขาเมื่อคำถามที่ตำรวจส่งมาให้เรื่องการขออนุญาตสมควรจะได้รับการอนุมัติหรือไม่
ตนราซัก และฮารุน ไอดิส ตอนนี้กลับรู้สึกว่า สมควรจะให้อนุญาตและรู้เต็มเปี่ยมว่าจะเกิดความปั่นป่วนขึ้นแน่ๆ ข้าพเจ้าอนุมานว่าเขาเชื่อว่าหากมันเกิดขึ้นจริงแล้ว จะนำไปสู่การที่ พวกเขาจะเรียกร้องการลาออกของข้าพเจ้าได้
กระทั่งบัดนี้ ข้าพเจ้าก็ยังยากที่จะเชื่อว่าราซัก ผู้ที่ข้าพเจ้ารู้จักมาแสนจะยาวนาน จะยอมตกลงกระทำต่อข้าพเจ้าเช่นนี้ โดยข้อเท็จจริง ตอนนั้นเขาอยู่ในบ้านของข้าพเจ้าด้วยซ้ำ ขณะเตรียมของจะกลับไปเคดะห์ ข้าพเจ้าได้ยินเขาพูดโทรศัพท์กับฮารูนว่าเขายินดีจะอนุมัติใบขออนุญาตให้หลังจากที่ข้าพเจ้าไปแล้ว ข้าพเจ้าไม่อยากจะเชื่อหูตนเองแต่ก็เลือกที่จะคิดว่าเขาพูดกันเรื่องใบอนุญาตอื่นที่ไม่เกี่ยวกัน อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรี และจะรักษาการนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่งระหว่างที่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เขาก็จะสามารถกลับความเห็นของข้าพเจ้าอย่างไรก็ได้ ด้วยเหตุนั้น ระหว่างอยู่ที่บ้านเคดาห์ ข้าพเจ้าจึงได้ยินจากวิทยุว่าคำขออนุญาตเดินขบวนได้รับการอนุมัติแล้ว
มันดูเหมือนว่า การจลาจลที่คาดไว้แล้วว่าจะเกิดนั้น ได้รับการวางแผนและดำเนินการโดยฮารูนกับกลุ่มหนุ่มอัมโน หลังการกระทำสิ่งอัปยศของกลุ่มไม่ใช่มาเลย์ โดยเฉพาะพวกคนจีน คนมาเลย์รู้สึกว่าได้สูญเสียอำนาจทางการเมืองให้แก่พวกนี้แล้ว เขาก็พร้อมที่จะกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดบ้างเพื่อระบายแค้น การชุมนุมกันที่บ้านของฮารูน และได้ฟังคำพูดเผ็ดร้อนของฮารูนเองและของผู้นำพรรคอื่นๆหลายคน พวกนี้ก็เอาผ้ามาคาดที่หัวแล้วแยกย้ายกันออกไปเข่นฆ่าคนจีน เหยื่อที่น่าสงสารสองคนแรกอยู่ในรถตู้หน้าบ้านของฮาริมนั่นเอง นั่งดูไม่รู้อิโหน่อิเหน่ว่าเขาทำอะไรกัน ไม่รู้ตัวสักนิดว่าจะถูกสังเวยชีวิตในที่นั้น”
ในเมืองไทยมีสถานการณ์คล้ายกันเกิดขึ้น เราดูกันให้ออกนะครับว่าฝ่ายใดต้องการอะไร ประโยชน์ของชาติดังที่อ้าง หรือประโยชน์ส่วนตน ที่มีเดิมพันนับนับหมื่นนับแสนล้าน
เรื่องของมาเลเซีย ที่สู้กันทุกรูปแบบเพื่อป้องกัน หรือแย่งชิงผลประโยชน์ให้แก่ชนเชื้อชาติเดียวกับตน กลายเป็นเกมของเด็กๆไปเลย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 38 เมื่อ 31 พ.ค. 10, 13:37
|
|
ภาพข้างล่างนี้ชื่อ Death of Caesar วาดโดย Vincenzo Camuccini จูเลียส ซีซาร์ ท่านผู้นำของจักรวรรดิโรมัน ถูกกลุ้มรุมฆ่าโดยฝีมือของสมาชิกสภาสูงกลุ่มหนึ่ง ในตอนแรก ซีซาร์ก็ฮึดสู้ แต่พอเหลือบเห็นหนึ่งในนั้นเป็นนักการเมืองหนุ่มชื่อบรูตัส บรูตัสไม่ใช่สหายธรรมดา ซีซาร์เมตตาเขาประดุจลูกบุญธรรม
ซีซาร์ก็หลุดปัจฉิมวาจาออกมาว่า "Et tu, Brute?" แปลเป็นไทยว่า "แม้แต่เจ้าด้วยหรือ บรูตัส?" จากนั้นซีซาร์ก็หมดกำลังใจ ถูกสังหารตรงนั้นเอง คำนี้ เชคสเปียร์นำมาใส่ไว้ในละคร จากนั้นกลายเป็นอมตะสำนวน แค่เอ่ยคำนี้ออกมาในภาษาเดิม ไม่ต้องขยายความ ก็เข้าใจกันดีว่าหมายถึงการทำร้ายหักหลังขั้นสูงสุด เพราะทำโดยผู้ที่เหยื่อไว้ใจมากที่สุด อ่านบันทึกของท่านตนกูแล้ว ไม่รู้ว่า "Et tu, Brute?" ในภาษามาเลย์เรียกว่าอะไร แต่นักเรียนอังกฤษอย่างท่านน่าจะรู้จักสำนวนนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 39 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 09:37
|
|
บรูตัส…อืมมม..ครับชายผู้นี้ปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของทุกชาติด้วยนามที่แตกต่างกันออกไป ในเมืองไทยก็มีจนนับไม่ถ้วนตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อ2475นั้น เจ้านายทอดพระเนตรเห็นคนที่คณะปฏิวัติส่งมาเผ้าแล้วทรงอุทานว่า “ตา...นั่นแกด้วยหรือ”
แต่ตนอับดุล ราซัก จะเป็นบลูตัสหรือไม่ ประวัติศาสตร์มาเลเซียหาได้สรุปไว้ไม่ หนังสือชีวประวัติของท่านตนกูที่ผมใช้ข้อมูลมาเป็นหลักในการเขียนกระทู้นี้ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องในบทความของท่านตนกูที่แปลไว้กระทู้ล่าสุด ทั้งๆที่หนังสือออกมาหลังวันที่ที่ท่านลงไว้ในบทความ ในหนังสือเอ่ยแต่เรื่องตนราซักอนุมัติให้เดินขบวนแห่ศพในปินัง เพราะเห็นว่าพรรคกรรมกรเตรียมการไว้พร้อมแล้ว ถ้าไม่อนุญาตก็คงมีการแหกกฏหมายกันในวันนั้น บทความก่อนหน้าของท่านตนกูที่ผมเอามาจากเวปบอกที่มาที่ไปว่าท่านเอาลงในเดอะสตาร์ ก็ดูจะเข้าใจตนราซักในทำนองนี้ แต่บทความชิ้นที่ท่านกล่าวหาตนราซักตรงๆอย่างโจ่งแจ้งนั้น อยู่ในบล็อก “มาเลเซียวันนี้”ของ ราชา เพตรา คามารุดดิน (Raja Petra Kamarudin -“ราชา”เป็นฐานันดรศักดิ์ใช้ในบางรัฐที่ต่ำชั้นกว่าตนกู) ซึ่งไม่ได้ระบุว่าได้มาจากไหน แต่คนมาเลเซียส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าเป็นของจริง นายคนนี้เป็นนักเรียนเก่ามาเลย์ คอลเลจ และโยงใยได้กับเครือข่ายการเมืองของนายอันวาร์ อิบราฮิม ที่พยายามจะกลับมาขึ้นเวทีการเมืองใหม่ แปลก ผมเคยบอกไว้ครั้งหนึ่งว่าตนราซักก็เป็นนักเรียนเก่ามาเลย์ คอลเลจเหมือนกัน ตอนที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็มีคุณานุปการทำให้สมาคมนักเรียนเก่ามาเลย์ คอลเลจ ผงาดแข็งแรงขึ้นได้
ในขณะที่หมดความสามารถที่จะติดตามเรื่องราวให้ลึกซึ้งได้ ผมจึงไม่ขอยืนยันความถูกต้องในเรื่องนี้ แต่ขอยืนยันว่า ในการเมือง ไม่มีพี่ ไม่มีน้อง มีแต่หอกข้างแคร่ที่คนอย่างนายบรูตัสถือรอจังหวะไว้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 40 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 13:53
|
|
เมื่อนั้น ทศเศียรสุริย์วงศ์ใจหาญ ต้องศรเจ็บเพียงจะวายปราณ ขุนมารเหลือบเห็นน้องชาย ฯลฯ ปากหนึ่งว่าโอ้พิเภกเอ๋ย ไฉนเลยมาแกล้งฆ่าพี่ ตัวเราก็จะม้วยชีวี ในเวลานี้ด้วยศรพิษ
ในรามเกียรติ์ก็มีบรูตัสเหมือนกัน เพียงแต่เรายกให้เป็นฝ่ายดี เลยไม่ค่อยมีใครคิดสักเท่าไรว่าทศกัณฐ์แพ้พระรามเพราะใคร ****************** กลับมาเรื่องการเมืองมาเลย์ เหตุการณ์ 13 พฤษภาคม 1969 คงจะต้องทิ้งให้เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญหาคำตอบกันไปเอง คุณนวรัตนต้องการแค่"มอง" เพื่อจะ"เห็น"การเมืองไทยไปด้วย ดิฉันยังติดใจตัวละครสำคัญในเรื่องนี้อยู่ ถ้าเป็นดราม่า ก็คงบอกได้ว่ามีดาวรุ่งพุ่งแรงเกิดขึ้นมาจากเหตุจลาจลนั้น คือนักการเมืองหนุ่มคลื่นลูกใหม่ที่บังอาจท้วงท่านตนกูอย่างไม่ปรานี เป็นผลให้ตัวเองถูกขับออกจากเก้าอี้ และออกจากพรรคอัมโนไปด้วย หนึ่งปีหลังจากนั้น เขาเขียนหนังสือชื่อ Malay Dilemma ดิฉันกำลังอ่านเรื่องย่ออยู่ในเน็ต เพื่อจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 41 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 17:42
|
|
ผมขอสนับสนุนท่านอาจารย์เทาชมพูด้วยบทความที่ นสพ.ผู้จัดการตัดตอนเอามาจากสำนักข่าวเอเอฟพี ผมก็ตัดตอนเอามาอีกทีหนึ่งเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวกับกระทู้นี้ ความในวงเล็บคือความเห็นของผมเอง
ตน นายแพทย์มหาธีร์ มูฮัมหมัด ให้สัมภาษณ์ว่า ความสำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาตลอดระยะเวลา 22 ปีในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย คือ การประคับประคองรักษาความสมานฉันท์ระหว่างคนเชื้อชาติต่างๆในประเทศเอาไว้ได้
ส่วนความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวงที่สุดของเขา ก็คือการที่ยังไม่สามารถทำให้คน “ภูมิปุตรา” เกิดความเข้าอกเข้าใจการทำงานของเศรษฐกิจตลาดเสรี และสิ่งที่พวกเขาควรจะต้องทำเพื่อให้อยู่ในเศรษฐกิจระบบนี้ได้ (คือพวกนี้คอยแต่จะเรียกร้องอภิสิทธิ์ หรือรอกินหัวคิวตามที่กฎหมายเอื้อประโยชน์ไว้) แน่นอนทีเดียวว่าเรื่องเชื้อชาติเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในวิสัยทัศน์ต่อประเทศและต่อโลกของมหาธีร์
ย้อนหลังไปในอดีตช่วงที่ยังเป็นหนุ่มใหญ่ เขาเคยถูกขับออกจากอัมโน ก็เพราะไปวิพากษ์ ตนกู อับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคในเวลานั้นว่าไม่ได้ดำเนินนโยบายสนับสนุนชาวมาเลย์เท่าที่ควร เพื่อให้สามารถสู้กับการครอบงำเศรษฐกิจของคนจีนได้
ในการกล่าวปราศรัยครั้งสุดท้ายต่อรัฐสภา เขาก็ยังเปิดเผยมาตรการใหม่ๆ ที่จะเอื้ออำนวยให้ทรัพย์สมบัติความมั่งคั่งไหลเข้าสู่มือคนภูมิปุตราได้มากขึ้น อาทิ กำหนดโควตาอย่างน้อย 60% ในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการของภาครัฐ เพื่อจัดสรรให้แก่ชาวภูมิปุตราที่มีความสามารถจะรับงานได้ การจัดตั้งสถาบันการเงินแห่งใหม่เพื่อเสนอขายหน่วยลงทุนที่จะเป็นการระดมทรัพยากรของชาวภูมิปุตรา ตลอดจนขยายโอกาสทางการลงทุนของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม มหาธีร์ยืนยันว่าเขาไม่ใช่นักลัทธิเชื้อชาติซึ่งมุ่งกดขี่คนเชื้อชาติอื่นศาสนาอื่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา เขาอธิบายว่าสำหรับประเทศเฉกเช่นมาเลเซียที่มีประชากรเป็นภูมิปุตรารวมแล้วเท่ากับ 65% ของประชากรทั้งหมด ชาวจีนกับชาวอินเดียแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมหาศาล มาตรการที่จะต้องเอื้อประโยชน์แก่คนภูมิปุตรามากกว่าย่อมเป็นเรื่องจำเป็น
“ถ้าคุณไม่สามารถสร้างให้เกิดความสมดุลระหว่างผลงานทางเศรษฐกิจของคนภูมิปุตรา กับคนที่ไม่ใช่ภูมิปุตราแล้ว มันก็มีอันตรายเสมอที่จะเกิดการอิจฉาริษยากัน และสิ่งนี้ก็อาจถูกนำไปใช้โดยคนที่ไร้ความรับผิดชอบบางคน” มหาธีร์แจกแจงเหตุผลที่ต้องใช้มาตรการใหม่ ระหว่างแถลงข่าวภายหลังประชุมรัฐสภาวันนั้น (เหล่ดูไทยตอนนี้แล้วก็น่าคิดนะครับ เราไม่มีคนภูมิปุตรา กับคนที่ไม่ใช่ภูมิปุตราแต่เรามี "คนยากจนเพราะด้อยโอกาสกับคนมีเงินจากอำนาจเถื่อนที่ใช้เส้นสายและคอร์รัปชั่น" เอาเข้าไปแทนประโยคในเครื่องหมายคำพูดข้างบนได้เลย)
นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า ระหว่างการดำรงตำแหน่งอันยาวนานของมหาธีร์เขาเคยปรับนโยบายเอียงข้างชาวภูมิปุตรานี้หลายครั้ง โดยเฉพาะเมื่อเห็นชัดว่ามันไม่เอื้อต่อภาวะเศรษฐกิจเฉพาะหน้าในช่วงนั้นๆ
ในขณะที่กำหนดเกษียณลงจากตำแหน่งของมหาธีร์เคลื่อนใกล้เข้ามา มีชาวจีนและชาวอินเดียจำนวนมากแสดงความปรารถนาให้เขาเปลี่ยนใจและนั่งเก้าอี้ผู้นำมาเลเซียต่อไป แต่กลับมีชาวมาเลย์จำนวนมากกล่าวหามหาธีร์ว่ากำลังทอดทิ้งหลักการอิสลาม และเขาควรไปได้เสียที
เรื่องที่มหาธีร์ถูกผู้คนมองด้วยทัศนะซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ตลอดจนสิ่งที่เขาพูดกับผลอันปรากฏออกมา ดูจะขัดแย้งตรงกันข้ามกันเช่นนี้ มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก
อาทิ มหาธีร์เป็นผู้วิพากษ์ทุนนิยมตะวันตกด้วยคารมคมกล้า ทว่าเขาก็เป็นผู้เปลี่ยนแปลงมาเลเซียจากชาติผู้ส่งออกดีบุกและยางพาราที่แสนเอื่อยเฉื่อย กลายเป็นชาติผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งแสนคึกคัก
เขาถูกกล่าวหาว่าทำตัวเป็นผู้เผด็จการ แต่เขาก็กำลังก้าวลงจากเก้าอี้ด้วยความสมัครใจ (ในวัย77ปี) โดยที่ระบบประชาธิปไตยของประเทศยังคงอยู่ในร่องในรอย แม้จะถูกวิจารณ์ว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก
รวมความแล้วมหาธีร์เป็นผู้นำที่มีหลากหลายมิติ และชอบที่จะแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างโผงผางโดยไม่กลัวความขัดแย้งหรือวิวาทะ เขาไม่ได้พิศมัยประชาธิปไตยแบบตะวันตก ดังที่ในการปรากฏตัวต่อรัฐสภาครั้งสุดท้ายของเขาวานนี้ มหาธีร์ได้ตอบกระทู้ของฝ่ายค้านโดยบอกว่า การมีเสรีภาพมากเกินไปจะทำให้สังคมอันประกอบด้วยหลายเชื้อชาติของมาเลเซียตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย (อย่างกับว่า เขามองเห็นสภาพการณ์ของเมืองไทยยุคปัจจุบันอย่างไงอย่างงั้น)
นอกเหนือจากความคิดชาตินิยมมาเลย์แล้ว ใช่ว่าแนวทางของมหาธีร์จะดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหา ข้อวิพากษ์ฉกรรจ์ที่มาเลเซียก็ดูจะยังแก้ไม่ตกก็มีอยู่หลายประการ ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมคนภูมิปุตราได้กลายเป็นการสร้างทุนนิยมแบบพวกพ้องขึ้นมา(แบบนโยบายประชานิยมของนักการเมืองไทยไง) หรือการมุ่งเอกภาพของชาติก็ทำให้เกิดการปราบปรามผู้มีความคิดแตกต่าง(เกิดขึ้นในเมืองไทยเสมอๆทุกยุคทุกสมัย ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไปบ้าง)โดยอาศัยเครื่องมือซึ่งให้อำนาจครอบจักรวาลอย่างกฎหมายความมั่นคงภายใน
บัดนี้มหาธีร์ก้าวลงจากเวทีแล้ว ผู้นำคนต่อไปของมาเลเซีย คือ อับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี ดูไม่มีสีสันและหลายด้านหลากมิติเหมือนกับมหาธีร์ เขาจะทำได้ดีแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป (โดนกดดันจนต้องลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว ด้วยฝีมือของมหาธีร์ผู้สนับสนุนให้ขึ้นมานั่นเอง แต่เขายังโชคดีกว่านายอันวาร์หน่อยที่มิได้ดื้อด้านจนเจ็บตัวหนักเข้าไปอีก)
ใครว่าระบอบประชาธิปไตยไม่มีเผด็จการ?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 42 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 19:07
|
|
ความคิดเห็นของมหาธีร์เมื่อปี 1970 คือการเชิดชูคนมาเลย์ ที่เรียกว่า ภูมิปุตรา หรือภูมิบุตร -บุตรของแผ่นดิน และการบริหารหรือกฎหมายต่างๆก็เป็นไปในทางเอื้ออำนวยผลดีให้คนมาเลย์ ซึ่งมีจำนวนถึง 65% ในประเทศ เรื่องสิทธิ์ต่างๆของภูมิปุตรา คุณนวรัตนอธิบายไว้ชัดเจนแล้วในกระทู้ชาวสยามฯ ดิฉันก็จะฉายหนังซ้ำเพียงแค่สรุปจากหนังสือ Malay Dilemma ว่า...สิทธิอะไรๆ ก็ไปเทลงที่ภูมิปุตรา มีส้มทั้งเข่งก็หล่นลงไปทั้งเข่งที่นั่น ถ้าดิฉันเป็นชาวมาเลย์ในยุค 1970 ที่บ้านเมืองถูกเผาวินาสสันตะโร ญาติพี่น้องเดือดร้อน ทั้งร่างกาย ทรัพย์สินและชีวิต จากคนอีกเชื้อชาติหนึ่งที่ก็อยู่ๆกันแถวนั้นแหละ เราก็ต้องโกรธคนพวกนั้น และนับถือวีรบุรุษคนหนึ่งที่ประกาศองอาจว่า แผ่นดินนี้ พวกเราครอง ไม่ใช่เขา ไม่ต้องมาปรองดองกันซะให้ยาก อารมณ์กำลังคุกรุ่น จะให้ยอมปรองดองกับคนที่ตีหัวเราเลือดอาบ(แม้ว่าเราก็แทงเขาเลือดสาดด้วยก็ตาม) ขอให้จับมือคืนดีกัน เลิกแล้วกันไป ใครจะยอมง่ายๆ ก็มันมาตีหัวเราก่อน เราก็ต้องแทงสวนเข้าไปเพื่อป้องกันตัว อะไรทำนองนี้
ถ้านักการเมืองคนหนึ่งแสดงเปิดเผยว่าเข้าข้างเรา มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือประกอบด้วย ไม่ใช่แค่พ่นลมปากเอาใจไปวันๆ คะแนนนิยมก็พุ่งสูงเป็นธรรมดา เรียกว่าเป็นวีรกรรมที่ถูกจังหวะเวลาอย่างยิ่ง
ประเทศไทยไม่มีภูมิปุตรา และคนที่ไม่ใช่ภูมิปุตรา แต่เรามีช่องว่างค่อนข้างกว้างระหว่างคนรวยกับคนจน (ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาย่อมจะมีเสมอ ถ้าพัฒนาแล้วช่องว่างก็ไม่ถ่างมากเท่าไร) คนจนอาจมีมากกว่า 65% เสียอีก แต่คนจนของไทยไม่เหมือนภูมิปุตราและคนที่ไม่ใช่ภูมิปุตรา ต่างกันตรงที่ว่า ทั้งภ.ป. และ non- ภ.ป. เกิดมาก็ประทับตรา"เป็น" กันเลย ขยับเขยื้อนเลื่อนขั้น หรือยกเลิกไม่ได้ การ"ได้มากกว่า"และ"เสียมากกว่า" ก็เลยเป็นแอกให้แบกติดอยู่กับตัวเขาจนตาย ส่วนคนจนของไทยไม่ได้เกิดมาโดยถูกประทับตรา คุณมีสิทธิ์จะพ้นจากความจนขึ้นไปเป็นไม่ค่อยจน พอมีพอกิน และรวยก็ได้ถ้าคุณหาช่องทางเป็น คนรวยก็เหมือนกัน อาจจะหล่นวูบลงมาหมดเนื้อหมดตัวได้ ถ้าตัดสินใจผิดช่องทาง การดิ้นรนของคนจนประเทศไทย จึงยืดหยุ่นได้และหาช่องทางได้เสมอ อาจต้องใช้เวลานานบ้าง ทำสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ "โอกาส" มีมาให้ ไม่ใช่ไม่มี เพียงแต่ต้องอดทนบากบั่น เศรษฐีไทยมีกี่คนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาแต่เกิดแล้วยังกินช้อนทองไปจนตาย ส่วนใหญ่ที่ลงประวัติกันอย่างภาคภูมิใจก็เสื่อผืนหมอนใบมาจากจีน หรือขับรถบรรทุกส่งของกันตอนหนุ่มๆ หรือแบกหามช่วยพ่อแม่ขายของ เหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาดกันมาทั้งนั้น คนจนก็มีสิทธิ์เรียนสูงได้ มีทุนให้เรียนจบปริญญาได้ ถ้ามุมานะและสติปัญญาไม่ทึบจนเกินไป ไม่มีการกีดกันด้านการศึกษา แต่ต้องเข้าใจว่าการศึกษาคือการพัฒนาสมองให้คิด ไม่ใช่พัฒนาสมองให้จำ ข้อนี้ถ้าจะบ่นต่อ กระทรวงศึกษาธิการคงจะรับไปเต็มๆ อย่าเพิ่งเลย สรุปแล้วคนจนของไทยมีสิทธิ์เงยหน้าอ้าปากได้ มากกว่า non-ภ.ป.
ดิฉันจึงไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีรากหญ้า ว่ามันจะคับแค้นจริงอย่างที่นักวิชาการบางคนระบายสีเอาไว้แบบนั้น แต่ถ้าถามว่าระบบในสังคมไทยเอื้อคนรวยมากกว่าคนจนจริงไหม ก็บอกว่าจริง แล้วไม่ได้แก้ได้ทันทีด้วยพรรคการเมืองพรรคไหนมาเป็นรัฐบาลด้วย
ขอดัดแปลงคำพูด ตามที่คุณนวรัตนเปรยๆ แนวทางไว้
“ถ้าคุณไม่สามารถสร้างให้เกิดความสมดุลทางเศรษฐกิจของพวกคนรวย กับคนจน มันก็มีอันตรายเสมอที่จะเกิดการอิจฉาริษยากัน และสิ่งนี้ก็อาจถูกนำไปใช้โดยคนที่ไร้ความรับผิดชอบบางคน”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 43 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 20:12
|
|
ผมเห็นจะจบกระทู้นี้ได้แล้วกระมังครับ..?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 44 เมื่อ 01 มิ.ย. 10, 20:24
|
|
 งั้นไม่พูดอีกแล้วค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|