เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 12504 ตัวตายแต่ชื่อยัง ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 25 พ.ค. 10, 06:33


     หนังสืออนุสรณ์   ๑๕  มกราคม  ๒๕๑๓


จัดว่าเป็นหนังสืออนุสรณ์ที่ให้ความรู้ เกร็ดในพระราชวังสวนดุสิต   โรงเรียนนายร้อย และเกร็ดการรับราชการทหารที่เกรียงไกร

ชีวิตของท่านหลังจากนั้น  ได้อ่านมาจากหนังสือของ ไทยน้อยอีก ๓ เล่ม(กวาดยืม มิใช่กวาดซื้อ 
มาจากร้านขายหนังสือเก่าแห่งหนึ่งแถวราบ ๑๑  สองลัง)

แผนต้นไม้ตระกูลไกรฤกษ์ ๕ แผ่น  ในตอนแรกของหนังสืออนุสรณ์เล่มนี้  กว้างขวางและกระจ่าง

จะขอคัดลอกเรื่องที่น่าสนใจ  สนุกสนาน  มาเล่า  แม้นว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย     

เคยอ่านเรื่อง คุณพูนเพิ่ม  และ คุณนิ่ง  ไกรฤกษ์  ที่ได้รับการเลี้ยงดูในตำหนักเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในเวลาไล่เลี่ยกัน   
ชีวิตของ จงกล  ไกรฤกษ์ สนุกสนาน  บ้าบิ่น   เปิดเผย  ผจญภัย   
สมกับหนังสือที่ท่านเขียนไว้ว่า "ตัวตายแต่ชื่อยัง"  (หาอ่านยังไม่ได้ค่ะ)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 06:40



เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๔๔

บิดามารดา         ขุนเสาวรักษบรรณาคม(ชิต  ไกรฤกษ์)และคุณลิ้นจี่ ไกรฤกษ์

เมื่ออายุ ๙ ขวบ  ได้เป็นพลทหารราบ ๒๑ ของทูลกระหม่อมอัษฎางค์

อายุ ๑๔ ปี  เข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า      สำเร็จเป็นนายทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 07:33


เมื่อมีแผนผังตระกูล  ก็ต้องเล่าย้อนความกันเล็กน้อย

คุณปู่ ของ จงกล  คือ  นายนวม  ลูกพระยาโชฎึก(ทองจีน)     

น้องของนวม คือ  พระมงคลรัตน์(ช่วง)  เป็น  บิดาของ เจ้าจอมมารดาชุ่ม  พระยาบุรุษรัตน์(นพ)  พระยาประเสริฐศุภกิจ(เพิ่ม)   
(ขอยกตัวอย่างแต่บางท่าน)


เมื่อขุนเสาวรักษบรรณาคม(ชิต) คุณพ่อ       ถึงแก่กรรมด้วยโรคฝีในท้อง  เป็นหนี้เจ้าจอมมารดาชุ่มลูกพี่ลูกน้อง อยู่  ๔๐ ชั่ง
ยืมมารักษาตัวเพราะเจ็บป่วยอยู่นาน       ได้ขอร้องให้คุณแม่ ไปรับใช้การงาน หรือจะพูดตรง ๆ  ก็ไปเป็นบ่าวเพื่อหักหนี้

ด.ช. จงกล  อยู่ชั้นมัธยม ๑ โรงเรียนเบญจมบพิตร  กลุ้มใจเพราะไม่เข้าใจว่าทำไมมารดาต้องไปเป็นบ่าวคนอื่น  เพื่อรักษาความซื่อสัตย์ของบิดา
หลักฐานการกู้เงินก็ไม่มี


จงกลไปอยู่กับคุณท้าวนารีวรคณารักษ์(แจ่ม  ไกรฤกษ์) ที่ตำหนักสวนกุหลาบ

แม่ในเวลานั้นได้เงินลดหนี้ ๔๐ ชั่ง เดือนละ ๔ บาท  และได้ประทานเงินเดือน เดือนละ ๘ บาท  ทำงานเป็นนายห้องเครื่อง
ทำกับข้าวเสวยและเลี้ยงคนในตำหนัก ซึ่งมีอยู่ ๘๐ คน  เป็นคนไปจ่ายตลาดวันละ ๖๐ บาท

เป็นของแน่นอนว่าตงต้องกินเศษกินเลยวันหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า ๕ บาท    แม้จะมีฐานะเป็นบ่าวหรือขี้ข้าแต่การเงินไม่เลวนัก
ดีกว่าคุณ ๆ ในวังทั้งหลาย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 10:57

พระราชวังสวนดุสิตอยู่ห่างวังสวนกุหลาบราว ๕๐๐ เมตร  ประตูเข้าวังเรียกว่าประตูสี่แซ่


    เมื่อจงกลได้เข้ามาพึ่งพระบารมีสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมาได้ ๓ วัน  ก็ได้รับหมายเกณฑ์ทหารของ ร. ๒๑

ที่ทูลกระหม่อมอัษฎางค์เป็นผู้บังคับการกรม   สมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถทรงแนะนำให้จัดขึ้น

ด้วยพระประสงค์จะอบรมบ่มย้อมพระอนุชา  ในแนวเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าปีเตอร์มหาราชแห่งรัสเซียได้ทรงมา

ตั้งแต่ทรงพระเยาว์เป็นการเอาอย่างรัชทายาทประเทศรัสเซีย



เครื่องแบบพลทหารใหม่  มีกางเกงผ้าหนาแบบทหารรัสเซียสีน้ำเงิน  ที่ปลายขากางเกงมรชัตติงหรือเข็มขัดรัดให้สูง

แค่น่อง  กับผ้าพันแข้งเป็นรูปสามเหลี่ยม



หลวงบริหารทัยราช(สุ่น  ไกรฤกษ์) นายร้อยเอกผู้บังคับกองร้อย  สั่งว่า

"เอ็งลองนุ่งกางเกง  แล้วหัดพันแข้งให้เรียบร้อย        พรุ่งนี้ต้องตื่นตีห้า  ไปเข้าแถวฝึก"


      จงกล  อายุ ๙ ขวบตอบ  "เค้าไม่นุ่ง        เค้าไม่หัด"
บันทึกการเข้า
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 13:46





อายุ ๑๔ ปี  เข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า      สำเร็จเป็นนายทหารเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ 
คุณwandeeครับ สมัยนั้นน่าจะเรียกว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก ครับ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 16:19

ขอบคุณค่ะ  คุณ overhaul    เดี๋ยวดิฉันแก้ใน ประวัติ ตอนตันของหนังสือเลยนะคะ

อันที่จริงท่านเล่าเรียนหนังสือไว้ละเอียดค่ะ   ยังไปไม่ถึง


เรานักอ่านหนังสือเก่าต้องอ้างอิงให้มากที่สุด และช่วยเหลือกันโดยแก้ไขข้อมูล กล่อมเสาให้เนียนเป็นเนื้อแพรให้ได้

ตอนนี้ดิฉันใช้หนังสืออนุสรณ์เป็นหลัก  และต่อไปจะใช้หนังสือของไทยน้อยค่ะ




       คุณท้าวนารีีีวรคณารักษ์(แจ่ม  ไกรฤกษ์)พระพี่เลี้ยงของทูลกระหม่อม ผู้เป็นพี่สาวต่างมารดาของแม่  อยู่ที่นั่นด้วย

"เอ็งจะดื้อดึงอะไรมิได้   ทุกคนที่นี่แม้ตัวข้า       ก็เป็นขี้ข้าทูลกระหม่อมทุกคน        ท่านต้องพระประสงค์อะไร

ทุกคนต้องทำตาม   เอ็งจงก้มลงหมอบกราบถวายบังคมท่านเสียเดี๋ยวนี้"



       ข้าพเจ้าหันไปมองดูคนที่เรียกว่าทูลกระหม่อม   ประทับอยู่บนเก้าอี้ทาสีทองตัวใหญ่       มีคนหมอบคลานโบกพัด

คุณท้าวนารี ฯ หมอบอยู่ข้าง ๆ       เต็มไปด้วยพระอิสริยายศน่าเกรงขาม    แล้วก้มลงกราบ บังเอิญมิได้แบมือ    เป็นที่สบพระทัย รับสั่งว่า


      "อ้ายเด็กคนนี้ฉลาด  สมเป็นหลานคุณท้าว      เอ็งไม่อยากเป็นทหารแล้วอยากเป็นอะไร"



       ข้าพเจ้าทูลว่า

       "เขาอยากเป็นนักเรียนนายร้อยอย่างหม่อมเจ้าลักษณเลิศ(ชยางกูร) และ หม่อมเจ้า"ไปรมากร(วรวรรณ)"

        ตามสายตาของข้าพเจ้าเห็นว่าหม่อมเจ้าสององค์แต่งเครื่องแบบนักเรียนนายร้อยสวยสะดุดตาสะดุดใจ

แถมมีหน้ามีตากว่าเด็กคนอื่น ๆ


        "ไม่เจียมกะลาหัว     อยากตีตัวเสมอเจ้า      เอ็งรู้ไหม   แม่ของเอ็งก็ต้องไปเป็นขี้ข้าเสด็จพระองค์อาทร

เอ็งเป็นอะไรมานักหนา   จะเลือกเป็นนั่นเป็นนี่       ประเดี๋ยวจะหยิกให้เนื้อเขียว"



     ทูลกระหม่อมทรงพระสรวลอย่างพระทัยดี  แล้วตรัส

"เอ็งเข้าใจเลือก - เอ็งฉลาด    เอาเถอะข้าจะให้เอ็งได้เป็นนักเรียนนายร้อยตามใจเอ็ง 

แต่ต้องเป็นพลทหารราบ ๑๑ ของข้าก่อน    ต่อไปถ้าเอ็งทำตัวดีก็จะให้เป็นนักเรียนนายทหารเหมือนกัน"


"ไม่เอา    เขาไม่อยากเป็พลทหาร        เขาจะเป็นนักเรียนนายร้อย"

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 18:47

อ่านความเห็นที่ ๓ ของคุณ Wandee เขียนถึง ร.๒๑ ว่าจะเรียนว่าสมัยรัชกาลที่๖ มี ร.๑ - ร.๒๐  ก็พอดีมาเห็นในความเห็นที่ ๕ ว่า ร.๑๑  จึงขออนุญาตเรียนว่า ที่ถูกคือ ร.๑๑ ครับ  ทูลกระหม่อมอัษฎางค์ทรงเป็นผู้การกรม ๑๑  ยังมีพระรูปทรงเครื่องราบ ๑๑ ทรงฉลองพระองค์สีน้ำเงิน  ประดิษฐานที่ท้องพระโรงวังสวนกุหลาบ

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นจัดหน่วยทหารเป็น ๑๐ กองพล  แต่ละกองพลจะมี ๒ กรมทหารราบ  ๑ กองทหารม้า หรือกองทหารพราน (ราบเบา = Light Infantry)  ๑ กองทหารปืนใหญ่  ๑ กองทหารสื่อสาร  ๑ กองทหารช่าง  และ ๑ กองทหารพาหนะ (ปัจจุบันเรียกขนส่ง)

กรมทหารราบที่ ๑ และ ๑๑ สังกัดกองพล ๑  กองพลที่ ๒ เป็นกรมทหาราบที่ ๒ แลพ ๑๒  เรียกลำดับกันไปเช่นนี้ตนถึงกองพลที่ ๑๐ มีกรมทหารราบที่ ๑๐ และ ๒๐ ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 19:41

ขอบคุณ    คุณ วีมี ค่ะ    ต้นฉบับพิมพ์ผิด และดิฉันก็คัดลอกอย่างมิได้ระมัดระวัง   ขอรับผิดค่ะ


ร.ท. จงกลเป็นนายทหารที่เก่ง  เรียนเสธสอบได้ที่สอง    และได้รับราชการใกล้ชิด พลตรีหม่อมเจ้าปรีดิเทพย์พงษ์  เทวกุล

มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมาก        ตั้งใจจะเล่าแต่เรื่องที่เป็นเกร็ดชาววัง  เพราะสนุกสนานน่าฟัง   อ่านแค่คำอาลัยก็

บอกอะไรได้อีกมาก     ท่านเรียก ท่านผู้หญิงแผ้ว ว่า หม่อมพี่  เพราะโตมาทันเล่นกัน    ท่านไม่ได้เล่าเรื่องนี้  แต่ท่านผู้หญิงเล่าเองในคำอาลัย


      

      ข้อบกพร่องคงมีเพราะ คุณ จงกลเขียนงานไว้ไม่น้อย   ในหนังสือฉบับนี้เอง  แผนภูมิสกุลก็ยังมีที่ดิฉันตีความไม่กระจ่างอยู่บ้าง



      
       การทหารของประเทศไทยสมัย พ.ศ. ๒๔๕๕    มีทหารราบ ๒๐ กรม

เฉพาะกรมรวม ๑๕ กับกรมราบ ๑๑  มีปืนกลกรมละ ๑ กองร้อย  เป็นปืนกลแบบแมกซิมและแบบ

ลูอิสของเบลเยี่ยม     กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม  เป็นผู้เปลี่ยนแปลง

ทหารไทยสมัยใหม่ครั้งเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ฯ(เจิม  แสงชูโต)ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น       งานสำคัญคือกฎหมายเกณฑ์ทหาร

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 20:46


            ต่อมา  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ  จักกองทัพบกเป็น ๑๐ กองพล  ในขณะที่ไทยมีพลเมือง ๗ ล้านคน

ส่งนักเรียนนายร้อยไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น


       ทหารบกไทยสมัยนั้น  แต่งกายสวมกางเกงสีน้ำเงินเข้ม ยาวปกเข่า  มีผ้าพันแข้งหนาพันทับขอบขากางเกงจนถึงข้อเท้า 

ไม่สวมรองเท้า  ใช้เสื้อนอกสีเทา  กระดุม ๕ เม็ด  สวมหมวกแก๊ป  ใช้ปืนเล็กยาวมีเกลียวในลำกล้องเป็นอาวุธประจำกาย 

ทหารไทยรุ่นเก่าใช้ปืนปัศตันไม่มีเกลียว   แม้ทหารฝรั่งก็เพิ่งใช้ปืนมีเกลียว(ซ้สโปร)ในกองทันนโปเลียนเป็นเริ่มแรก

มีการซ้อมรบแทบทุกปลายปี    เป็นทหารหัวเมืองมาซ้อมรบที่ทุ่งส้มป่อย  ซึ่งบัดนี้เป็นพระราชวังสวนจิตรลดา


     ในขณะที่ประเทศชาติกำลังอลวน เพื่อจะรักษาเอกราชให้พ้นจากฝรั่งล่าเมืองขึ้น  และไทยรีบก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองนี้

ชีวิตของเด็กชายอายุ ๙ ขวบก็อลวน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 21:16


       ข้าพเจ้าอยู่ในฐานะครึ่งๆกลางๆ ของคำว่า "หลานผู้กำพร้าผู้ยาก"  หรือ "เด็กที่เขายกให้"

ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิเช่นหลานคนอื่นๆของท่าน เช่นบุตรพระยาจรรยายุติกฤต(สวน ไกรฤกษ์)(พี่ชายเจ้าพระยามหิธร(ลออ))

ซึ่งเขาเป็นนักเรียนมหาดเล็กหลวงมีสิทธิเท่าเทียมกับหม่อมเจ้าสององค์ ที่เป็นนักเรียนนายร้อยที่เล่าไว้แล้ว



       ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ในฐานะเด็กรับใช้  แต่ก็มีงานประหลาดและน่ารังเกียจอยู่อย่างหนึ่ง  คือจะต้องจับจิ้งจกให้ได้วันละ ๓ ตัว

เอาไปให้เจ้าหน้าที่  แล้วเขาจะจ่ายบุหรี่ชมชื่นให้ในอัตราบุหรี่ตัวหนึ่งต่อจิ้งจกตัวหนึ่ง       

งานนี้แม้พี่ๆของข้าพเจ้าผู้มีฐานะสูงก็ต้องจับจิ้งจกทั่วกันหมด  เพราะทูลกระหม่อมทรงเกลียดจิ้งจก

จึงเกิดกฎนี้ขึ้น




       เจ้าจอมมารดาชุ่ม(ไกรฤกษ์)นั้น    สวยมากถึงกับโปรดให้ตามเสด็จคราวประพาสชวา   

ออกแขกเมืองได้รับคำชมเชยว่าเป็นหญิงไทยที่งามอย่างไม่มีใครเทียบ   พระธิดาสองพระองค์คือ

พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา  และ พระองค์เจ้าสุจิตราภรณี



       อยู่มาเจ้าจอมมารดาชุ่มวายชนม์ลง  ตั้งโกศที่ตำหนักหลังหนึ่งทางโรงช้างใกล้บริเวณเขาดิน

มีการเลี้ยงพระเป็นจำนวนมากทั้งเช้าและเพล    ตลอดจนเลี้ยงกรมวังและเจ้าพนักงานต่าง ๆ ด้วย

มารดาข้าพเข้าต้องจ่ายเครื่องกับข้าววันละ ๑๒๐ บาท    จึงกินเศษกินเลยร่ำรวย

ข้าพเจ้าซึ่งเป็นลูกชายคนเดียวของท่านจึงมีเงินไปโรงเรียนวันละ ๒ บาท    สมัยนั้นข้าวแกงจานละ ๕ สตางค์

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 21:31

ส่งรูปนี้มาประกอบเรื่องก่อนครับ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 22:00

     เสด็จพระองค์อาทร ฯ     โปรดปรานมารดาของข้าพเจ้ามาก   นอกจากยกหนี้ ๔๐ ชั่งให้แล้ว

ยังประทานแก้วแหวนเงินทอง  ทรงมอบอำนาจในการปกครองข้าหลวงทั้งหลายให้ด้วย

เวลานั้นข้าพเจ้าอายุ ๙ ขวบ  ยังไม่เกินกฎของพระราชวังที่ห้ามเด็กชายมีอายุ ๑๐ ขวบเข้าไปในพระราชวัง

ข้าพเจ้าจึงเป็นเด็กชายคนเดียวที่ปนอยู่ในหมู่เด็กหญิงทั้งรุ่นสาวและสาวใหญ่ราว ๘๐ คน

วันใดที่ข้าพเจ้าไม่ได้ไปโรงเรียน    ก็หางานทำถวาย  เช่นอ่านหนังสือพิมพ์  หมอบเฝ้าคอยรับใช้   วิ่งไปตามคนนั้นคนนี้ที่มีรับสั่งหา



งานที่โปรดปรานที่สุดคือจับจิ้งจกบนตำหนักไปปล่อยที่อื่น  เพราะเสด็จทรงเกลียดและกลัวจิ้งจกมากกว่าทูลกระหม่อมอัษฎางค์เสียอีก




       มื่อถึงเวลาเสวย   มารดาซึ่งเป็นนายเครื่องหมอบเฝ้าทูลแนะนำกับข้าวจานโน้นจานนี้อร่อย  ลองชิมหน่อยเถิดเพคะ

ปลาร้าหลนนี้ทำอย่างพระยา..... ที่ทำถวายพระพุทธเจ้าหลวงใส่มาในกะลามะพร้าวใช้ไฟรุม ๆ  พอไหม้หอมเกรียมอร่อยเพคะ

ทอดกุ้งนั่นก็เหมือนกัน  ต้องทำด้วยครกดิน  สากไม้ค่อยๆบุบให้เมือกกุ้งจับตัวกัน  ถึงจะเหนียว

ปีนี้อย่าเสวยผักหวานเลยเพคะ  ฝนลงแล้วเขาว่าผักหวานมีพิษ



ส่วนข้าพเจ้านั้นก็หมอบเฝ้าอยู่ข้างมารดา  หาแซ่มาคอยปัดแมลงวัน     บางทีก็โปรดแบ่งกับข้าวเช่นข้าวตั้งหน้าตั้งประทาน

แล้วรับสั่ง "เอ็งกินเสียเดี๋ยวนี้แหละ   อร่อยไหม?"



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 22:12


     ขอบคุณ คุณ  Navarat. C  ค่ะ

     อ่านคุณจงกล  เลยไปคุณ ไทยน้อย   หลงไปตะรุเตา และเกาะเต่า  กลับมาอ่านประวัติคุณไทยน้อยใหม่

ท่านเล่าซำ้เป็นบางครั้ง  กบฎสันติภาพค่ะ(อ่านมาจากสวนหนังสือ)


     สหายติดต่อมาว่า มีเจ้าคุณศราภัยไหม   ตอบว่าไม่มีแต่จำอะไรพอได้


     ตอนคุณจงกลเป็นเสธ พลตรี  ท่านปรีดิเทพย์พงษ์  เทวกุล   คุณจงกลท่านเล่าอย่างร่าเริง ว่าท่านได้เรียนรู้การทำงานที่ละเอียดรอบคอบปานใด

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 26 พ.ค. 10, 05:08

   
       เสวยเสร็จแล้วก็รับสั่งสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ ถึงคนโน้น-คนนั้น     บางทีก็เร่งให้ข้าหลวง

กินข้่าวเร็วๆจะทรงมโหรี     บางทีทรงอ่านหนังสือ   และมักจะโปรดให้ข้าพเจ้าอ่านถวาย

โปรดเเรื่องอิเหนา  และพงศาวดารโรมัน   ทรงฉลองพระองค์ผ้าลายอย่างดีสีเขียวตั้งแช(ค้นมาว่าคือสีเขียวสนิม)

และห่มสไบสีเกษรชมพู่อบร่ำหอมกรุ่น       



พอแดดร่มลมตกเสด็จลงมาที่สนามหญ้าหน้าตำหนัก     ทรงออกกำลัง  เล่นมอญซ่อนผ้า  หมาไล่ห่าน

รับสั่งให้ข้าพเจ้าปีนขึ้นไปเก็บดอกลำดวนซึ่งบานอยู่บนต้นมาถวาย



สองทุ่มถึงเวลาเสวย        เสร็จแล้วมักทรงดนตรี       

ถ้าเดือนหงายก็เสด็จลงมาที่สนามโคนต้นกาหลงที่ส่งกลิ่นให้ถวิลหา....



ตำหนักที่ประทับ ๒ ชั้นกว้างขวาง      มีห้องทองซึ่งทาสีเหลือง   ในตู้เต็มไปด้วยพานทองหรือเครื่องทองทั้งห้อง

ห้องสีชมพูก็มีทุกสิ่งสีชมพูไปทั้งหมด         พื้นดินอันเป็นอาณาเขตตำหนักราวสองไร่   มีชื่อว่า "สวนภาพผู้หญิง"

บริเวณพื้นดินเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้ดอกนานาชนิด      เช้าดอกกรรณิการ์บานสะพรั่ง  เก็บมาร้อยมาลัย

ก้านสีแดงเอามาขยี้แก้ม  ทำให้แก้มสีแดงเรื่อน่ารัก           



กุหลาบมีทุกชนิด   แต่โปรดกุหลาบมอญมากกว่าอื่น

มีสระและคลองส่งน้ำถ่ายเทได้         มีผู้ชายที่เป็นจีนทำสวน ๒ คน         มีพลทหารรักษาวังคุมเข้ามาทำงาน ๒ โมงเช้า กลับ ๕ โมงเย็น

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 26 พ.ค. 10, 06:25


       เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ  ต้องออกจากวัง      เสด็จพระองค์อาทรฯ   ประทานพลับพลาส่วนนอกที่สี่แยกถนนซางฮี้ให้เป็นที่อยู่

และทรงอนุญาตให้มารดาข้าพเจ้าออกจากวังมาดูแล  คงให้เข้าไปอยู่ในวังแต่เฉพาะเวลากลางวัน



       ข้าพเจ้าอยู่คนเดียวก็คบค้ากับพวกคนขับรถในละแวกนั้น  มั่งมีเงินพอจะฟุ่มเฟือย   ก็ติดตามพวกคนขับรถ

เข้าไปแทงโปในโรงบ่อน        เข้าซ่องโสเภณีที่ชื่อว่ากุหลาบเหลือง           ข้าพเจ้าเป็นเด็กจึงยังไม่ได้ลงไม้ลงมือไปกับเขาด้วย

การเล่าเรียนก็เลวลง       หนีโรงเรียนเป็นอาจินต์          แต่เมื่อจวนสอบไล่   ก็สนใจเรียนเสียพักหนึ่ง

สามารถสอบไล่ได้ในอันดับจวนตกอยู่เสมอ          มารดาข้าพเจ้าเมื่อมีเงินก็สังคมกับนักการพนันถั่วโปและไพ่





       พออายุ ๑๔ ปี  ได้เข้าโรงเรียนนายร้อย         เสด็จรับสั่งให้หลวงบริหารทัยราช  ปลัดกรมของกรมหลวงนครราชสีมา

เป็นผู้จัดการนำไปฝากโรงเรียนนายร้อย   ให้จัดเครื่องใช้ไม้สอยให้อย่างเดียวกับที่เคยจัดถวายหม่อมเจ้า เช่นที่นอนแพร-ท๊อปบูท

และหมวกสักหลาดขาวที่ตัดโดยห้างบีกริม           ของใช้หรูเช่นนั้นเชิดหน้าชูตานัก


       โรงเรียนนายร้อยสมัยโน้นมี ๘ ชั้น    แบ่งเป็นปฐม ๖ ชั้น    ตั้งอยู่เชิงสพานช้างโรงสี ซึ่งต่อมาเป็นที่ตั้งของกรมแผนที่

เป็นมัธยม ๒ ชั้น  อยู่ถนนราชดำเนินนอก


       ข้าพเจ้าเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่สอง  จึงต้องเรียนอยู่ ๗ ปีถึงจะได้เป็นนายร้อยห้อยกระบี่   

ชั้นประถมปีที่ ๖  ก็เทียบเท่ามัธยมสามัญปีที่ ๘


นอกจากวิชาสามัญก็มีวิชาหน้าที่ของทหาร  เช่น ระเบียบข้อบังคับ   และฝึกหัดให้เหนื่อยจนลิ้นห้อย

โดยนายทหารพลรบซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา          ส่วนครูวิชาสามัญนั้นเป็นนายทหารผู้ช่วยรบติดอินทรธนูทอง

ภายใต้ความอำนวยการของอาจารย์ใหญ่พันโทพระสารสาสน์พลขันธ์(ลอง  สุนทานนท์) ผู้มีนามปากกาว่า ๕๕๕





(ราชทินนาม สารสาสน์พลขันธ์  เท่าที่จำได้ มีถึง ๓ ท่านที่มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่ในวงวรรณกรรม    สหายในวงนักอ่านส่วนมาก
จะรู้จัก เยรินี ผู้พยายามจะสร้างลูกกระสุนแต่ทำไมได้ จึงแอบสั่งดินปืนจากสิงคโปร์เข้ามา    และ ๕๕๕ ผู้ที่ไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในต่างประเทศ
ไม่รู้จักหรืออ่านข้ามตำนานสามก๊กไป จึงไม่รู้จักพระสารสาสน์พลขันธ์(สมบูรณ์) ผู้เขียนสามก๊กอีกหนึ่ง สำนวน จบ  แต่โรงพิมพ์ทำหายช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
สหายที่นับถือในเรือนไทย  เมื่ออยากอ่านอะไรมาก ๆ  จะบ่นว่า  ...แล้วจะได้อ่านไหมนี่......          เรื่องนี้เป็นอันจนใจนะท่าน)
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง