เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 60803 อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 00:01

ตอนที่บิดาจัดงานแต่งงานให้พี่ๆทั้ง5คน ตวนกู อับดุล เราะห์มานอายุไม่ถึง3ขวบ ท่านเป็นลูกคนที่20 ของสุลต่าน  ที่เกิดจากมารดาเดียวกันก็มีถึง12คนแล้ว แต่เหลือแค่8คนเป็นพี่ชาย3 น้องชาย1น้องสาว3  นอกนั้นเสียตั้งแต่ยังเป็นเด็ก มารดาของท่านชื่อเดิมว่าเนื่อง เป็นลูกสาวหลวงนราบริรักษ์ (เกล็บ นนทะนาคร) นายอำเภอเมืองนนทบุรีในรัชสมัยรัชกาลที่5 กับคุณนายอิ่ม เล่ากันในตระกูลว่า ท่านเกล็บสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยามหาโยธา( เจ่ง-อดีตเจ้าเมืองเมาะตะมะที่พาครัวเรือนมอญหนีพม่ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร กับท่านผู้หญิงทรัพย์) หลังสมรสกับสุลต่าน อับดุล ฮามิดแล้ว หม่อมเนื่องผู้เป็นเอกภรรยาเพราะถือว่าเป็นภรรยาพระราชทาน ได้รับการสถาปนาเป็นปะดูกา ซรี เจ๊ะ เมินยาราลา ชาวเมืองทั้งปวงเรียกสั้นๆว่ามะเจ๊ะ(คุณแม่ใหญ่)

แม้นามสกุลนทนาครดังกล่าวจะบันทึกในหนังสือนามสกุลพระราชทานว่า สมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯพระราชทานให้ ขุนรามัญนนทเขตรคดี (เจ๊)  นายอำเภอปากเกร็ด  จังหวัดนนทบุรี  บิดาชื่อพระรามัญนนทเขตร์คดี (เทียม)  ปู่ชื่อหลวงรามัญนนทเขตร์คดี (ทับ) แต่เข้าเค้าว่าทั้งสองสายเป็นมอญทั้งคู่ อาจเป็นญาติกันทางใดทางหนึ่ง จึงใช้นามสกุลร่วมกัน

อีกกระแสหนึ่งแจ้งว่า การที่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และกรมพระยาดำรงฯ ทรงเห็นพ้องกันให้ส่งเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์  เจ้ากรมพลัมภังกระทรวงมหาดไทย ไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เพราะเห็นว่าทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และทรงเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับข้าหลวงใหญ่อังกฤษในมลายูด้วย  น่าจะเป็นประโยชน์ในทางไมตรีอยู่
และบังเอิญว่า หม่อมเนื่อง เอกภรรยาของเจ้าพระยาไทรบุรี (สุลต่าน อับดุล ฮามิด) เคยเป็นคนในวังของพระมารดาของ กรมขุนลพบุรีฯ ซึ่งหากจะนับกันไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครือญาติที่สนิทสนม ทำให้น่าจะเข้ากับเจ้านายทางหัวเมืองมลายูได้ดี 

เอกสารทางมาเลย์บอกว่า ตนกู อะมีนา พี่สาวคนโตของสุลต่าน อับดุล ฮามิด ได้เป็นผู้ไปพบและเห็นว่าคุณเนื่องเป็นเด็กน่ารัก เลยขอกับหลวงนราบริรักษ์มาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรม และนำมาอยู่กับมารดาของตนในวังที่เคดะห์ ซึ่งนางก็โปรดคุณเนื่องมากเช่นกัน เลยชักนำให้แก่สุลต่านบุตรชาย ให้เป็นชายาคนที่4



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 00:14

ทั้งสามเรื่องที่ผมยกเล่าข้างต้น แม้จะไม่ปะติดปะต่อ แต่พอจะสอดคล้องกันอยู่

ก่อนที่ตนกู อับดุล เราะห์มานจะเกิดนั้น สุลต่านจับได้ว่าผู้ที่ตนมอบหมายให้รักษาตราประทับ(ตราลัญจกร) กระทำการคอร์รัปชั่นโดยแอบเอาตราสำคัญนี้ไปประทับออกโฉนดให้ผู้คน  โทษถึงประหารชีวิต และลูกเมียทั้งหมดทุกคนจะต้องถูกตัดนิ้วหัวแม่มือขวาเพื่อประจาน ตามกฏหมายของรัฐ

ภรรยากรมวังคนนั้นมาร้องห่มร้องไห้กับเมินยาราลา นางเกิดสงสารเลยคิดเสี่ยงตัวเองลงไปช่วย อาศัยที่เป็นคนโปรดนางไปหาสุลต่านเพื่อกระซิบว่าสงสัยน้องจะท้อง(อีกแล้ว)

มีความเชื่ออย่างหนึ่งของมุสลิมมาเลย์ว่า ระหว่างที่ลูกจะเกิด พ่อแม่จะต้องไม่ฆ่าแกงทำร้ายใครมิฉนั้นวิญญาณร้ายจะรบกวนลูกในท้อง อีตาคนโกงเลยรอดตายได้ลดโทษเป็นจำคุก ลูกเมียก็ยังเหลือนิ้วกันครบ ความจริงตอนนั้นหม่อมเนื่องยังไม่ได้ท้อง แต่หลังจากนั้นก็เกิดท้องขึ้นมาได้ดังใจหมาย เด็กเกิดเป็นผู้ชายลักษณะดีผิดพี่ผิดน้องจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่าตนกูปุตรา(ลูกชายที่จะช่วยพ่อแม่ไม่ให้ตกนรก) เชื่อว่าเด็กจะเป็นอภิชาตบุตร เป็นเพราะกุศลกรรมที่ให้อภัยทานชีวิตคนนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 08:58

ในรูปนี้เป็นลูกๆของสุลต่าน ตอนเขาถ่ายรูปกันตนกูอับดุล เราะห์มานยังแบเบาะ หม่อมเนื่องไม่ยอมเอามาถ่ายกับเขาด้วย(ต่อไปนี้ ผมจะเรียกตนกูอับดุล เราะห์มาน สั้นๆว่าตนกูเฉยๆนะครับ ถ้าเป็นตนกูคนอื่นจะใส่ชื่อด้วย)

ชีวิตตอนเด็กๆของตนกูทั้งหลายในเคดะห์ก็ไม่ค่อยต่างกับเด็กที่อยู่นอกวังนัก หลายคนตายเสียยังเล็กเพราะโรคระบาด ตนกูเองก็ย่ำแย่ เกือบพิการเพราะความซุกซน เมื่ออายุได้6ขวบ ก็ได้เข้าเรียนชั้นประถมในโรงเรียนที่มีอยู่แห่งเดียวในเคดะห์นั้นเอง แต่กิจกรรมที่โปรดไม่ใช่การเรียน แต่เป็นฟุตบอลที่เตะกันในทุ่งกว้างนอกกำแพงวัง ต่อมาโรงเรียนนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสุลต่านอับดุล ฮามิด ตามชื่อคนตั้งและอุปถัมป์ในยุคต้น เดี๋ยวนี้เจริญ สอาดสอ้านดูดีมาก



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 09:01

ขอบคุณสำหรับเรื่องดีๆและหาอ่านยาก ที่นำมาเล่าสู่กันฟัง ยิ้มกว้างๆ

เคยได้ยินชื่อ"ตวนกูอับดุลรามาน" (ตอนเด็กๆ  เขาออกเสียงกันอย่างนี้) มาตั้งแต่อยู่ชั้นม.ต้น    ทราบว่าท่านเคยเรียนในร.ร.ไทย   แต่ไปเข้าใจว่าเป็นร.ร.สวนกุหลาบ
ท่านเป็นผู้ที่สื่อมวลชนไทย กล่าวขานถึง ว่าท่านสนิทกับไทย  และสื่อไทยก็ชอบท่าน     แต่ตอนนั้นดิฉันยังเด็กเกินกว่าจะจำรายละเอียดได้

ไปเที่ยวมาเลย์เซียเมื่อปีก่อน    ความเจริญในกัวลาลัมเปอร์นำหน้าไปไกลลิบ     ไปถึงรัฐเคดะห์  (ซึ่งหลายวันกว่าจะรู้ว่านี่คือไทรบุรี)  ชมพิพิธภัณฑ์ของเขา  มีภาพบันทึกถึงการสู้รบระหว่างสยามกับไทรบุรีด้วยค่ะ  ตั้งแต่อยุธยา มาจนถึงรัชกาลที่ ๓  ท่าทางจะดุเดือดเอาการ
จำได้ว่าแปลกใจ ว่าทำไมเรารู้ประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านน้อยมาก     ไม่เคยได้เรียนในร.ร. หรือมหาวิทยาลัย นอกจากรู้ว่ามลายูเคยเป็นส่วนหนึ่งของไทยเท่านั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 09:39

ขออนุญาตเสริมคุณนวรัตนด้วยเรื่อง "เมื่อ ตนกู อับดุล ราห์มัน  เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์" จากหนังสือชุด เงาหลังภาพ  ของ  ลาวัณย์  โชตามระ

เด็กชายสองคนวัยไล่เลี่ยกัน  ราว ๆ สิบสองสิบสามปีทั้งคู่  เด็กทั้งสองคนนี้ต่างกันทั้งเชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา แต่ทว่าได้มีความสนิทชิดชอบกันมาก จนได้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน  และได้ถ่ายรูปคู่กันไว้เป็นที่ระลึก  ก่อนที่คนหนึ่งจะต้องเดินทางกลับมาตุภูมิของตน

รูปนี้ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๕๗  คนยืนด้านขวามือคือ ตนกู อับดุล ราห์มัน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ส่วนคนที่ยืนด้านซ้ายมือคือ หลวงถวิลเศรษฐพณิชย์การ ทั้งสองท่านแต่งเครื่องแบบลูกเสือของโรงเรียนมัธยมวัดเทพศิรินทร์ซึ่งท่านทั้งสองเป็นนักเรียนอยู่ในเวลานั้น


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 09:48

ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดสโมสรสถานของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ที่ถนนราชดำริได้มีการจัดทำหนังสือชื่นชุมนุมเป็นอนุสรณ์ในงานนี้

คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือและหาโฆษณา ได้ติดต่อ "ขอเรื่อง" ไปยังนักเรียนเก่าเพื่อนำมารวมลงในเล่ม  ท่านตนกู อับดุล ราห์มัน ซึ่งขณะนั้นกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นนักเรียนเก่าผู้หนึ่งซึ่งได้รับหมายเกณฑ์ประเภทนี้  และท่านก็ได้ส่งข้อเขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีผู้แปลเป็นภาษาไทยไว้ดังต่อไปนี้

สาส์นจากนายกรัฐมนตรีแห่งมาเลเซีย

ในวโรกาสที่สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแห่งประเทศไทย ได้เสด็จทรงกระทำพิธีเปิดสโมสรสถานหลังใหม่ของสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ ในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้ามีความปลื้มปีติด้วยเป็นล้นพ้นที่จะส่งคำอวยพรและความปรารถนาดีอย่างยิ่งมายังสมาคมฯ

ข้าพเจ้ารู้สึกเสมือนว่าเพิ่งจะเป็นเพียงเมื่อวานนี้เองที่ข้าพเจ้าได้เป็นนักเรียนอยู่ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่ซึ่งข้าพเจ้าได้มีชีวิตที่เป็นสุขและสนุกสนานได้รับความสำราญใจในทุกชั่วโมงยาม ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกโรงเรียน

ข้าพเจ้าไปเข้าโรงเรียนเมื่ออายุสิบขวบ พักอยู่สองปีที่กรุงเทพฯกับพี่ชายข้าพเจ้า ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ ผู้เป็นนายทหารในกองทัพบกไทย ขณะนั้นเข้าใจว่าเรียกกันว่า  ตำรวจภูธร แต่ก่อนที่ข้าพเจ้าจะสามารถก้าวหน้าไปได้มากที่โรงเรียน พี่ชายข้าพเจ้าได้สิ้นชีพตักษัยลง ทำให้การเรียนของข้าพเจ้าที่นั่นต้องสะดุดหยุดลงด้วยทั้งยังกำหนดอนาคตของข้าพเจ้าโดยที่ข้าพเจ้ามิได้คาดหวังมาก่อนเลย กล่าวคือข้าพเจ้าได้กลับมาไทรบุรี  แล้วก็ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล

บางคราวข้าพเจ้าเคยคิดว่า หากพี่ชายข้าพเจ้าทรงมีชีวิตอยู่ต่อมา ชีวิตของข้าพเจ้าเองคงจะดำเนินไปในวิถีที่แตกต่างไปจากนี้ ข้าพเจ้าอาจได้ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในประเทศไทย แต่นั่นคือโชคชาตา ขณะนี้แทนที่จะมีชีวิตสะดวกสบายในวัยที่อายุย่างเข้า ๖๓ ปี ข้าพเจ้ายังต้องทำงานหนักอยู่แทบทุกเวลา

อย่างไรก็ดี การทำงานหนักนั้นก็สมค่า ถ้างานของข้าพเจ้าช่วยให้สายสัมพันธ์แห่งภราดรภาพและความรักระหว่างประชาชาวไทยกับมาเลเซียที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นแล้วนั้นประสานกันได้สนิทแนบแน่นยิ่งขึ้นอีก และช่วยให้ห่วงสัมพันธ์อันมั่นคงนี้เป็นสิ่งประกันให้ภูมิภาคซีกนี้ของโลกดำรงอยู่ได้ในสันติภาพและความผาสุก

ข้าพเจ้าระลึกถึงชีวิตเด็กที่เทพศิรินทร์ด้วยความปีติเป็นอันมาก การศึกษาที่ข้าพเจ้าได้รับจากที่นั่นและชีวิตที่เคยอยู่ในประเทศไทย นับเป็นทุนทรัพย์อันมีค่าอย่างแท้จริงในการปฏิบัติงานปัจจุบันของข้าพเจ้าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพราะความรักในชีวิตไทยของข้าพเจ้าช่วยอำนวยให้เกิดความร่วมมืออันใกล้ชิด  ระหว่างประเทศทั้งสองของเรา

อันประเพณีไทยถือว่า "ช้า ๆ ได้พร้าสองเล่มงาม  ด่วนผลีผลามมักพลิกแพลง" อีกทั้งท่าทีของมะลายูที่จะไม่กุลีกุจอทำอะไร เว้นแต่ที่จำเป็นจริง ๆ นั้น  ข้าพเจ้าเคยนิยมชมชอบอยู่เสมอ  ในสมัยก่อนคนอังกฤษในครั้งโน้นเคยต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนใจเมื่อมาติดต่อกับข้าพเจ้า

บัดนี้เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เปลี่ยนไปแล้ว  สิ่งข้าพเจ้าอยากจะรอเอาไว้ไปทำวันพรุ่งนี้ก็จำต้องกระทำในวันนี้  นี่คือวิถีของโลก  กาลสมัยผิดแผกไปและเราต้องเคลื่อนไหวไปพร้อมกับกาลสมัยนี้ด้วย เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงดีใจมากที่ศิษย์เก่าเทพศิรินทร์เคลื่อนไหวไปพร้อมกับกาลสมัยโดยมีการสร้างสโมสรสถานหลังใหม่สำหรับนักเรียนเก่าขึ้น

บรรดานักเรียนเก่าทั้งหลายได้บำเพ็ญประโยชน์อันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศของตน ท่านเหล่านี้บ้างก็กำลังเป็นรัฐมนตรี เอกอัครราชทูต ทหารชั้นนายพล ข้าราชการผู้ใหญ่ นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหรือเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความรู้สึกร่วมด้วยกับท่านเหล่านี้ในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระมหากษัตราธิราชแห่งประเทศไทยที่ได้เสด็จเปิดสโมสรสถานแห่งนี้ ข้าพเจ้ามีความสุขใจเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกับนักเรียนเก่าทั้งหลาย เพื่ออวยพรให้โรงเรียนเทพศิรินทร์และสมาคมนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ซึ่งทุกคนภูมิใจที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเจริญวัฒนาถาวรและประสบความสำเร็จรุ่งโรจน์ต่อไปชั่วกาลนาน

จบสาส์นของท่านตนกู อับดุล ราห์มัน  นายกรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียขณะนั้น




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 09:58

คุณหลวงถวิลเศรษฐพณิชย์การ ได้เขียนถึงท่านตนกู อับดุล ราห์มัน ว่าท่านเจ้าคุณอนุสาสน์พณิชย์การพี่ชายของท่าน กับตนกู ยูซุฟ พี่ชายของตนกู อับดุล ราห์มัน  เป็นนักศึกษารุ่นเดียวกันในประเทศอังกฤษ ทั้งสองท่านรักใคร่สนิทสนมกันมาก ระหว่างที่อยู่ในอังกฤษ ตนกู ยูซุฟ ได้สมรสกับมาดามยูซุฟ ซึ่งเป็นหญิงอังกฤษ  และเมื่อสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ.๒๔๕๖ ทั้งสามท่านก็เดินทางกลับด้วยกัน และได้แวะที่เมืองไทรบุรีเพื่อเยี่ยมเคารพท่านเจ้าพระยาไทรบุรี สุลต่านอับดุลฮามิดและคุณหญิง ผู้เป็นบิดามารดาของตนกู ยูซุฟ  และตนกู อับดุล ราห์มัน

ตนกู ยูซุฟ พักอยู่ในไทรบุรีไม่นานนักก็เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อรับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่เป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง  และได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิชาในประเทศอังกฤษ ในโอกาสนี้ท่านบิดได้ส่งตนกู อับดุล ราห์มัน มาด้วย และทุกคนก็ได้มาพักอยู่กับเจ้าคุณอนุสาสน์ในบ้านของท่านบิดาข้าพเจ้าที่ถนนอนุวงษ์

เวลานั้นข้าพเจ้าศึกษาอยู่ในโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตนกู ยูซุฟก็เห็นดีที่จะให้ตนกู อับดุล ราห์มัน เข้าศึกษาในโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วย เรามีจักรยานคนละคัน จึงได้ไปโรงเรียนด้วยกันและเที่ยวด้วยกันไกล ๆ เสมอ ตนกู ยูซุฟ และครอบครัวพักอยู่ที่บ้านท่านบิดาข้าพเจ้าจนบ้านที่หลัง โรงเลี้ยงเด็ก(๑) แล้วเสร็จ  จึงย้ายไป

ตนกู ยูซุฟ เข้ารับราชการในกรมตำรวจ เวลานั้นมียศเป็นร้อยเอก เป็นผู้ที่กล้าหาญ อดทน และปฏิบัติงานเพื่อผลเยี่ยมเสมอ เจ้าคุณอนุสาสน์เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า  ครั้งสุดท้ายที่ ตนกู ยูซุฟออกไปจับผู้ร้ายในต่างจังหวัด ตนกูต้องกรากกรำทนแดด ทนฝนมาก หลังจากจับผู้ร้ายได้แล้วก็ล้มป่วยด้วยปอดบวม แพทย์พยายามเยียวยารักษาทุกทางก็ไม่สำเร็จ ตนกู ยูซุฟ ถึงแก่กรรมที่บ้านหลังโรงเลี้ยงเด็กใน พ.ศ.๒๔๕๗

ความเศร้าสลดที่มาดามยูซุฟ และตนกู อับดุล ราห์มัน ได้รับในครั้งนั้นเกินกว่าจะหาถ้อยคำมากล่าวได้ ทั้งสองคนไม่มีจิตใจที่จะอยู่ต่อไปในบ้านหลังนั้น  จึงกลับมาอยู่กับท่านบิดาข้าพเจ้าอีกระยะหนึ่งจนกว่าญาติทางไทรบุรีเดินทางมารับ

ตนกูอับดุล ราห์มัน มีหม่อมมารดาเป็นคนไทยชื่อ หม่อมเนื่อง เป็นบุตรีหลวงบุรานุรักษ์ เจ้าเมืองนนทบุรี สมัยรัชกาลที่ ๕ แม้ท่านสุลต่านจะมีภรรยาได้หลายคนตามธรรมเนียมศาสนา แต่ก็ได้ยกหม่อมเนื่องเป็นภรรยาเอก เพราะภรรยาพระราชทานไปจากเมืองไทย หม่อมเนื่องเป็น มะเจ๊ะ  อันแปลว่า คุณแม่  ในภาษามะลายู แต่บางทีคนมะลายูก็เรียกทับศัพท์ภาษาไทยว่า หม่อม ด้วยเช่นกัน


(๑) โรงเลี้ยงเด็ก ของพระวิมาดาเธอฯ คือแถบที่สวนมะลิ แถวโรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ซึ่งรื้อทิ้งไปแล้วนั่นเอง "โรงเลี้ยงเด็ก" นี้ เปิดดำเนินการเมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๔๓๒



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 10:15

สาสน์ของ ท่านตนกู อับดุล ราห์มาน
เพื่อระลึกถึง และอวยพรในโอกาสที่โรงเรียนเทพศิรินทร์มีอายุครบ ๑๐๐ปี วันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘

โรงเรียนเก่าของข้าพเจ้า โรงเรียนเทพศิรินทร์ จะฉลองครบรอบศตวรรษในวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ นี่ต้องนับเป็นสถิติอันสำคัญอย่างแท้จริงสำหรับโรงเรียนที่มีชื่อเสียงและเกียรติประวัติอันเป็นที่ทราบกันดีใน หมู่คนไทยทั่วไป และ โดยเฉพาะได้รับความเคารพนับถือจากนักเรียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ข้าพเจ้าเองเป็นนักเรียนเก่ามานานหนักหนาแล้ว จะพูดให้แน่ก็คือ ข้าพเจ้ามาเข้าโรงเรียนนี้ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนเก่ามากว่า ๗๐ปีแล้ว และข้าพเจ้ามีความภูมิใจอย่างแท้จริงที่ได้มีส่วน เกี่ยวข้องกับโรงเรียนนี้ ข้าพเจ้ายังจำความเมตตาปราณีและความเอาอกเอาใจของคุณครู และ เพื่อนนักเรียน และเพื่อนเล่นด้วยกันที่แสดงต่อข้าพเจ้าได้ดีมาจนทุกวันนี้ ชีวิตสมัยนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสนาน เพราะว่า เราไปโรงเรียนกันตอนแปดโมงเช้า และกลับเวลาบ่ายโมงเราจึงมีเวลาสำหรับเล่นสนุกกันตลอดทั้งบ่าย

ข้าพเจ้ามีรถจักรยานคันหนึ่ง และข้าพเจ้าพร้อมด้วยเพื่อนสนิทมากคือ ถวิล คุปตรักษ์ หลวงถวิลเศรษฐพาณิช ยการ โดยขี่จักรยานไปเที่ยวทั่วกรุงโดยไม่มีควันน้ำมันมาทำให้อากาศอันบริสุทธิ์เป็นพิษหรือกีดกั้นหนทาง ของเรา มันช่างผิดกับทุกวันนี้เหลือเกิน

เราเคยไปหาของรับประทานที่บริเวณเชิงสะพานยศเส และข้าพเจ้าจำได้ว่า เนื้อสะเต๊ะไม้หนึ่งเคยมีราคาเพียง สตางค์เดียว และในเวลากลางคืนบางทีเราก็ไปที่ถนนราชวงศ์ เพื่อรับประทานข้าวต้ม ทั้งหมดนี้นับเป็นชีวิตที่ แสนสนุกสบาย ในฐานะที่เป็นลูกเสือ เรามักจะมีการพบปะและชุนนุมกันในเมื่อมีบุคคลสำคัญมาเยี่ยมโรงเรียน ข้าพเจ้าเคยมีความภูมิใจในการที่ได้แต่งเครื่องแบบลูกเสือ

โรงเรียนได้เติบโตและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาเรื่อยๆ และโรงเรียนนี้ได้ผลิตนักเรียนเก่าซึ่งได้เป็นนักการเมือง นายพล นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และบุคคลในวงการทูตมาแล้วมากมาย ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ใน ปัจจุบันคงจะต้องมีความภาคภูมิใจในโรงเรียนเก่าของเขาเช่นเดียวกับข้าพเจ้าใรวาระที่ครบรอบร้อยปีนี้ เพื่อน นักเรียนรุ่นข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่อีกสักกี่คนข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่คงจะมีไม่มากนัก ชีวิตของข้าพเจ้าตอนที่เป็นนัก เรียนอยู่ที่นี่จะยังคงอยู่ในความทรงจำอย่างผาสุกยิ่งตลอดไป

ข้าพเจ้าไม่สามารถจะมาร่วมกับท่านทั้งหลายในโอกาสอันเป็นมงคลและเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญยิ่งสำ หรับนักเรียนเก่าและใหม่คราวนี้ได้ ข้าพเจ้าจึงขอตั้งความปรารถนาให้ โรงเรียนประสบความสุขเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ข้าพเจ้ามีความยินดีที่จะร่วมกับนักเรียนปัจจุบันและนักเรียนในอดีตที่จะตั้งความปรารถนาให้โชคดี และสำเร็จบังเกิดแก่โรงเรียนของเราตลอดไป

  
 
  
 
 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 10:59

ขอบคุณทั้งสองท่านที่มาช่วยให้ผมหายเหงานะครับ ไม่งั้นก็เขียนไปเรื่อย ไม่ทราบว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจพระเดชพระคุณอย่างไร

เรื่องของท่านตนกูเล่ากันมาหลายVersion (แหะ แหะ ครับ เมื่อก่อนผมก็เรียกตวนกูเหมือนกัน เพิ่งจะมาเรียกตนกูก็ตอนเขียนเรื่องนี้แหละ จะได้เหมือนกับที่เขาเขียนกันเป็นทางราชการ) ผมขอว่าของผมต่อไปตามทีหาเรื่องราวต่างๆมาได้ เอามายำๆปนๆกันไปให้สนุกเข้าว่า…ต่อนะครับ
.
.
ครั้นมีอายุได้ประมาณสิบขวบ พี่ชายพ่อแม่เดียวกันคนโตชื่อตนกูยูซุฟ เรียนจบจากอังกฤษและแวะกลับมาเยี่ยมบ้าน พี่ชายสองคนของท่านไปอยู่สยามตั้งแต่เล็กและคนนี้ได้รับทุนพระราชทานหรือเรียกสั้นๆว่าทุนคิงส์ ไปเรียนวิชาทหารช่างที่วูลลิช เรียนจบติดยศแล้วสมัครใจจะกลับไปรับราชการที่สยาม(ทั้งๆที่เคดะห์เป็นเมืองขึ้นอังกฤษแล้ว อาจจะเป็นเพราะเอาเมียแหม่มกลับมาด้วยและท่านสุลต่านไม่ยอมรับก็เป็นได้) อย่างไรก็ตามเมื่อตนกูยูซุฟเห็นน้องคนนี้แล้วก็ส่ายหน้า ถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปเห็นจะเอาดีไม่ได้ จึงขอแม่ให้ไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพดีกว่า หม่อมเนื่องเองก็เห็นด้วย ท่านตนกูจึงได้เดินทางไกล จากบ้านจากเมืองครั้งแรก

ท่านตนกูพูดเองว่า ถ้าโชคชะตาไม่เปลี่ยนอีกครั้งในสองปีต่อมา ท่านคงจะได้อยู่และเป็นคนกรุงเทพไปเลย เพราะท่านไม่รู้สึกแปลกถิ่นหรือคิดถึงบ้าน ไม่เคยขาดเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนที่นิยมชมชอบฟุตบอลด้วยกัน ทุกเย็นก็มาชวนกันไปเตะบอลอย่างสนุกสนานเหมือนครั้งยังเป็นหัวโจกอยู่เคดะห์

ร้อยเอกยูซุฟเป็นนายทหารที่ขยันขันแข็ง จบทหารช่างแต่ทางราชการสยามก็บรรจุเข้าหน่วยไหนก็ไม่ทราบ ท่านตนกูเล่าว่ามีหน้าที่ราวกับเป็นตำรวจภูธร ต้องออกจากบ้านไปตามจับผู้ร้ายที่บ้านนอกคราวละหลายๆวัน ครั้งสุดท้ายเป็นไข้หนักกลับมาเพราะไปเปียกฝน และถึงแก่กรรมอย่างรวดเร็วด้วยโรคปอดบวม (โรคนี้สมัยยังไม่มียาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพเป็นโรคที่ประมาทไม่ได้นะครับ ตอนนั้นเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถหลังหย่าขาดพระชายาแหม่มแล้วทรงสมรสใหม่กับหม่อมเจ้าหญิงองค์หนึ่ง ขณะกำลังไปฮันนิมูนกันที่สิงคโปรแต่เปียกฝนตอนขึ้นเรือ เมื่อไปถึงสิงคโปรก็ไข้สูงเกินแก้ แล้วสิ้นพระชนม์ที่เสียนั่นอย่างรวดเร็วเกินที่ใครจะคาดคิด)

ศพของร้อยเอกยูซุฟถูกฝังไว้ที่กุโบร์แถวมหานาค แหม่มแม่หม้ายและท่านตนกูก็ต้องเดินทางกลับเคดะห์ พี่ชายอีกคนหนึ่งชื่อตนกูยิหวามิได้กลับมาด้วย เพราะเรียนอยู่ราชวิทยาลัยซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ท่านผู้นี้เหมือนคนไทยมุสลิมที่น่ารักทั้งหลาย หาความแปลกแยกระหว่างคนไทยด้วยกันเชื้อสายอื่นๆไม่ได้เลย ผมคงจะได้เขียนถึงท่านอีกในตอนหลังๆ

หม่อมเนื่องเอาเก๋งคันโตของสุลต่านมารอรับบุตรชายและพี่สะใภ้ที่ท่าเรือสงขลากลับไปเคด่ะห์ สุลต่านไม่ยอมรับสะใภ้แหม่มอยู่แล้วแต่ก็ยังใจดีจัดการส่งนางกลับไปอังกฤษ

ท่านตนกูระลึกถึงพี่ชายคนโตนี้มาก เมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเคยประสานมาทางเพื่อนคนไทย เดินทางเป็นการส่วนตัวมาขุดเอาอัฐิร้อยเอกยูซุฟห่อผ้าขึ้นเครื่องบินกลับไปบรรจุไว้ในสถูปของตระกูลที่เคด่ะห์อย่างเรียบร้อย สบายใจ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 11:24

ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องท่านตนกู      ถ้าคุณ N.C. ไม่คิดว่าการเข้ามาผสมโรงบางครั้งเป็นการขัดจังหวะให้เสียสมาธิ     ก็จะพยายามยกมือให้รู้ว่ายังติดตามอยู่
เรื่องราวของท่านตนกูยูซุฟ  กับสยาม    คุณศุภร บุนนาคได้ดัดแปลงเป็นตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในนวนิยายเรื่อง เกลียวทอง    ซึ่งหาอานได้ยากมาก
ตอนอ่านในสตรีสาร  ก็สงสัยว่าคนเขียนได้เรื่องมาจากไหน   เพราะดูหนักแน่นในรายละเอียด เกินกว่าจะคิดว่าท่านสมมุติขึ้นมาเอง  ตอนนี้รู้แล้ว
ถือว่าเป็นบายโปรดัคจากกระทู้นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 12:07

ไม่ขัดจังหวะครับ ชอบครับ
เอ้า..เล่าต่อ

ถวิล คุปตารักษ์ เป็นลูกชายเจ้าของบ้านที่พี่ชายท่านตนกูไปเช่าอยู่ระหว่างปลูกบ้านของตนเอง คุณถวิลกำลังเรียนอยู่เทพศิรินทร์ ท่านตนกูจึงได้ไปเข้าที่โรงเรียนที่นั่นด้วย ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนรักที่ขี่จักรยานไปโรงเรียนด้วยกันทุกวัน
ถวิล คุปตารักษ์ ต่อมารับราชการ ทำงานอยู่กรมรถไฟ(ตอนนั้นใครทำงานที่นั่นต้องถือว่าโก้มาก)ได้บรรดาศักดิ์เป็นหลวงถวิลเศรษฐพณิชการ เคยได้จัดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชเสด็จทอดพระเนตรรถไฟที่หัวลำโพง คราวเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรก เมื่อพ.ศ.๒๔๗๓

โรงเรียนเทพศิรินทร์เคยเป็นโรงเรียนที่ผลิตเด็กระดับหัวกะทิแข่งกับโรงเรียนสวนกุหลาบ ท่านตนกูเรียนอยู่ที่นี่น้อยไปหน่อย เพียงสองปี แต่นั่นก็เพียงพอสำหรับสิ่งดีๆที่เป็นความประทับใจของท่านถึงกับยอมรับว่าตนเองเป็นคนสยาม

และจุดนี้เลยเป็นจุดใหญ่ที่พรรคบาส ฝ่ายค้านหัวรุนแรงของมาเลย์ได้นำไปโจมตีระหว่างการรณรงค์หาเสียงว่าท่านเป็นพวกมาเลย์เทียม ขายชาติให้ประเทศไทย เพราะจุดยืนที่ท่านคัดค้านนโยบายที่พรรคบาสเสนอให้รวมสี่จังหวัดภาคใต้เข้ากับสหพันธรัฐมลายู ซึ่งผมจะได้เขียนเรื่องนี้อีกครั้งในตอนหลัง




บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 13:07

ขอบพระคุณมากครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 14:50

ยินดีครับคุณvirain


สมัยนั้น พวกเจ้านายของรัฐต่างๆจะส่งลูกไปเรียนที่The Malay College ในกัวลากังซาร์ และผู้ดีมีเงินจะลูกไปเรียนที่ปินังกัน ไม่ใช่แต่คนมาเลย์นะครับ นายหัวชาวจีนทางปักษ์ใต้เกือบทั้งหมดก็ให้ลูกนั่งเรือไปเรียนที่ปินังทั้งนั้น ความนิยมนี้ลากยาวมานานจนถึงสมัยผมเป็นวัยรุ่นทีเดียว ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์เทาชมพูจะจำได้หรือเปล่า ตอนอาภัสราขึ้นเวทีประกวดนางสาวไทยนั้น เธอให้สัมภาษณ์อย่างเหนียมอายว่ากำลังเรียนวิชาเลขานุการอยู่ที่ปินังเหมือนกัน ดูดี้ดี

ท่านตนกูก็ถูกเลือกให้ส่งไปเรียน Penang Free Schoolที่ดำเนินการโดยคนอังกฤษ เด็กเก่งบางทีก็เพราะครูดีด้วย ตนกูได้ครูชื่อMr. H.R.Cheeseman (ชื่อน่าจะทำของกินขายมากกว่าเป็นครูนะ ผมว่า) จุดประกายให้เด็กชายที่มีแววปราชญ์เปรื่องสนใจภาษาอังกฤษ แม้จะเป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน(นั่งกลางที่ไม่ได้ถือลูก) แต่ท่านก็เรียนดีถึงกับได้passชั้นถึงสองครั้ง เข้าสูตรเรียนดี-กีฬาเด่นตามสเป๊กของคนอังกฤษทีเดียว

 ก่อนหน้านั้น สุลต่าน อับดุล ฮามิด สุขภาพทรุดลงไปอีกครั้ง คราวนี้ย่ำแย่ถึงกับต้องตั้งตนกู อิบราฮิม บุตรชายคนโตให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทน แม้ตนเองจะมีการศึกษาแค่ภาคบังคับ แต่ตนกู อิบราฮิมก็มีสายตายาวไกลหลายเรื่อง รวมทั้งการศึกษาของน้องๆ ข่าวการเรียนดีของท่านตนกูทำให้ท่านต้องผลักดันให้คณะสมาชิกรัฐสภา(ที่ตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยที่กรมพระยาดำรงท่านทรงเล่นบทIMF) อนุมติทุนการศึกษาให้ส่งนักเรียนเรียนดีไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ท่านตนกู ตอนนั้นอายุ16ปี เป็นผู้ชนะการคัดเลือกชิงทุนดังกล่าว



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 15:00

ปีนั้นตรงกับพ.ศ.2463 สงครามโลกครั้งแรกเพิ่งสงบลงได้เพียงปีกว่าๆ เรือโดยสารหายาก จะมีคิววิ่งมาแถวนี้สักลำหนึ่งคนก็จองกันข้ามปีข้ามเดือน ด้วยเส้นใหญ่ขนาดเส้นก๋วยจั๊บ ราชสำนักเคดะห์ก็สามารถหาตั๋วไปอังกฤษให้ท่านตนกูได้หนึ่งใบ แต่เป็นเรือสินค้าที่แบ่งเคบินมาขายให้ผู้โดยสารเพียง12คนเท่านั้น เรือลำนี้จะออกจากท่าที่สิงคโปร์ แวะรับสินค้าในท่าเรือมลายูมาเรื่อยๆจนถึงปินัง แล้วจึงจะมุ่งสู่ยุโรป แทนที่จะรอขึ้นที่ปินังเพราะใกล้บ้าน ท่านตนกูก็ถูกแนะนำให้ไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์ เพราะตอนนั้นโรคมาเลเรียระบาดมาก บริเวณท่าเรือของปินังสกปรกน้ำเน่า ยุงชุมมาก ควรหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ดี แม้จะไปลงเรือที่สิงคโปร์ แต่พอเรือมาเทียบท่ารับสินค้าที่กลัง ท่ามกลางป่าจากที่เต็มไปด้วยยุงก้นปล่อง ท่านตนกูจึงติดเชื้อมาเลเรียไปจนได้ ระหว่างอยู่ในเรือก็จับไข้ เป็นๆหายๆไปตลอดทาง กว่าจะทุเลาก็เกือบที่เรือจะถึงท่าทิลบุรี่ในลอนดอนแล้ว



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 15:25

ขออนุญาตเสริมคุณนวรัตน (อีกแล้ว)

 ยิ้มเท่ห์

คุณวิกรม กรมดิษฐ์สรุปเกี่ยวกับการศึกษาของตนกูไว้ใน “ตนกู อับดุล ราห์มานบิดาแห่งประเทศมาเลเซีย” คอลัมน์ “มองซีอีโอโลก”

ตนกู อับดุล ราห์มาน เริ่มเรียนหนังสือตอนที่ท่านมีอายุได้ ๖ ขวบ โดยในชั้นแรกนั้นท่านเริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียน “จาลาน บาฮารู” ในเมืองอลอร์สตาร์ เมืองหลวงของรัฐเคดาห์ ซึ่งในปีนั้นตรงกับปี ค.ศ. ๑๙๐๙ และเป็นปีที่สยามต้องจาใจยกเมืองไทรบุรีให้กับอังกฤษไป ดังนั้น เมืองไทรบุรีหรือรัฐเคดาห์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของบริติชมาลายาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ

ต่อจากนั้น ท่านย้ายไปเรียนที่โรงเรียนของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อว่า Sultan Abdul Hamid College ช่วงเวลาตอนเช้าท่านจะเรียนหนังสือทั่ว ๆ ไปแล้วพอตอนบ่ายท่านก็เรียนคัมภีร์กุรอ่าน เล่ากันว่าตอนที่ท่านได้ไปโรงเรียนตอนแรกนั้น ผู้ติดตามรับใช้ในวังจะแบกท่านไปโรงเรียน ท่านก็กรีดร้องใส่ไม่ยอมให้แบก สมัยนั้นลูกหลานสุลต่านถือว่าเป็นผู้สูงศักดิ์ระดับเจ้าชายบ้านเราและเท้าจะเปื้อนดินไม่ได้ดังนั้นเวลาไปไหนมาไหนต้องให้คนแบก ท่านมีความสุขมากที่ท่านไม่ต้องถูกแบกเวลาไปและกลับจากโรงเรียน

บิดาแห่งประเทศมาเลเซียผู้นี้มีความใกล้ชิดกับไทยมาก เพราะนอกจากที่ท่านจะมีมารดาเป็นคนไทยแล้ว สมัยเด็ก ๆ ท่านยังเคยถูกส่งตัวให้มาอาศัยอยู่ที่เมืองไทยเป็นระยะเวลาหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๑ ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ ๘ ขวบ และอยู่ที่กรุงเทพนาน ๒ ปี โดยพักกับพี่ชายของท่าน คือ ร้อยเอกตนกู ยูซุฟ ขณะนั้นรับราชการในกรมตารวจ ท่านทั้งสองได้พักอยู่ที่บ้านของเจ้าคุณอนุสาสน์ที่ถนนอนุวงษ์

ตนกู อับดุล ราห์มาน เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ท่านถูกบิดาส่งตัวมาอยู่ที่กรุงเทพเพื่อเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้เมื่อประมาณ ปี ค.ศ. ๑๙๑๓ ท่านจะไปเข้าเรียนตอนประมาณ ๕ โมงเช้าแล้วเลิกเรียนตอนบ่ายโมง หลังจากโรงเรียนเลิกเป็นเวลาสาหรับการเที่ยวเล่นสนุกไปตามประสาเด็กผู้ชาย ด้วยการขี่จักรยานเที่ยวกับเพื่อนสนิทชื่อ ถวิล คุปตรักษ์เป็นบุตรของเจ้าคุณอนุสาสน์เจ้าของบ้านที่ท่านและพี่ชายเคยไปพักอยู่ด้วยระยะหนึ่ง หรือไม่ก็ขี่จักรยานไปหาของกินที่บริเวณเชิงสะพานยศเส ซื้อเนื้อสะเต๊ะกินกัน แต่หลังจากนั้นเมื่อพี่ชายของท่านสิ้นชีพตักษัยลงเมื่อ ค.ศ. ๑๙๑๔ เนื่องจากป่วยเป็นปอดบวมหลังจากที่เดินทางไปจับผู้ร้ายที่ต่างจังหวัดต้องกราแดดกราฝน ตนกู อับดุล ราห์มาน เสียใจมาก และเมื่อสิ้นพี่ชายไปจึงทาให้ญาติของ ตนกู อับดุล ราห์มาน เดินทางมารับตัวท่านกลับไปอยู่ที่รัฐเคดาห์ดังเดิม

เมื่อกลับไปอยู่ที่รัฐเคดาห์ ท่านเข้าเรียนที่โรงเรียนปีนังฟรีสกูล (Penang Free School) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๕ แล้วได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลรัฐเคดาห์เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยเซนต์แคทเธอรีน (St Catharine's College) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยท่านเป็นนักเรียนคนแรกที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลของรัฐเคดาห์ให้ไปศึกษาต่อยังสหราชอาณาจักร แต่ก่อนที่ท่านจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น ท่านต้องไปอยู่ที่หมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งชื่อว่า Little Stukeley ใน Huntingdon เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมกินนอนเสียก่อน แล้วจากนั้นก็เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ท่านเรียนจบได้รับปริญญาศิลปศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ค.ศ. ๑๙๒๕

สมัยที่ตนกู อับดุล ราห์มาน ใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษ กล่าวได้ว่าท่านเป็นหนุ่มที่คึกคะนองมาก เพราะท่านเป็นคนที่รักการขับรถเร็วเป็นชีวิตจิตใจมาก จนถูกจับในข้อหาที่เกี่ยวกับการจราจรถึง ๒๘ ครั้ง

http://www.vikrom.net/update/file/pttonguabdul300809%5Bedit%5D.pdf


บน -  Sultan Abdul Hamid College
ล่าง - St Catharine's College



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 20 คำสั่ง