เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 60944 อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 23 พ.ค. 10, 11:13

ในหนังสือที่ผมเอามา ไม่ได้กล่าวชื่อไว้ครับ

ค้นในอินเทอเน็ตก็ไม่มี หรือมี แต่ผมหาไม่เจอก็เป็นได้

กำลังจะต่อเรื่องท่านตนกู แต่เสียเวลาต้องทำการบ้านมากหน่อย ผมอยากตรวจสอบกับสำนวนอื่นๆด้วย
ตอนนี้เนื้อเรื่องเริ่มไปพันกับการเมือง เขียนลึกมากไปก็ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของผม นั่นใครอยากทราบก็สามารถค้นหาได้อยู่แล้ว
ผมต้องการจะคัดเอาเกร็ด และอะไรๆที่ท่านทำเกี่ยวข้องกับเมืองไทย หรือเรื่องที่คนไทยควรรู้

รออีกสักนิดนะครับ สักครู่(ใหญ่ๆ)จะกลับมา
ตอนนี้ใครจะเป็นผู้อุปถัมภ์รายการก็เชิญนะครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:35

ต่อ

เพื่อให้เกิดสำนึกของคนในชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับของอังกฤษที่จะให้อิสระในการปกครองตนเอง
ดาโต๊ะ ฮุสเซน ออนน์ หัวหน้าพรรคอัมโน จึงมีความคิดที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิใช่ชาวมาเลย์เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคอัมโนได้ แต่ผลของมติที่ประชุมใหญ่คว่ำแนวทางนี้ ดาโต๊ะ ออนน์ จึงต้องลาออกจากพรรคอัมโน  และไปก่อตั้งพรรคใหม่เพื่อที่จะดำเนินการทางการเมืองตามแนวความคิดของตน (ซึ่งต่อมาก็พิสูจน์ว่าไม่มีทางสำเร็จได้ในประเทศนั้น)

พรรคอัมโนก็ต้องสรรหาหัวหน้าพรรคคนใหม่ ท่านตนกูมิได้เคยมีความคิดที่จะเสนอตนเข้าแข่งขันแม้น้อย แต่อับดุล ราซักเพื่อนรุ่นน้องที่เลื่อมใสท่านตั้งแต่ครั้งอยู่ด้วยกันในอังกฤษได้รวมสมัครพรรคพวกในพรรคมาเกลี้ยกล่อม

อับดุล ราซักนี้มีความไผ่ฝันที่จะเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่ที่โน่นแล้ว ท่านตนกูเคยดูเขายืนซ้อมพูดหาเสียงอยู่หน้ากระจกเงาบานใหญ่อย่างขันๆ เมื่อกลับมาและเข้าเป็นสมาชิกพรรคอัมโนก่อนถือว่าแก่พรรษาทางการเมืองกว่าท่าน อยู่ในกลุ่ม(ดูเหมือนศัพท์ภาษาไทยจะเรียกว่ามุ้ง)ที่มีเสียงดังในพรรคพอสมควร เมื่อท่านตอบตกลง ราซักจึงเป็นหัวคะแนนสำคัญที่ทำให้ท่านตนกูได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งขันชนิดไม่เห็นฝุ่น อับดุล ราซักจึงถือเสมือนเป็นมือขวา ซึ่งต่อมาได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี และได้รับแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นตน(Tun) เมื่อมลายูได้รับเอกราชสมบูรณ์
เมื่อท่านตนกูวางมือจากการเมือง ตนอับดุล ราซักได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากท่านสมอยาก

ออกนอกเรื่องนิด บรรดาศักดิ์ของสามัญชนมาเลย์นี้แต่ไหนแต่ไรมาสุลต่านแต่ละรัฐสามารถแต่งตั้งให้ใครก็ได้เป็นดาโต๊ะ(Dato) และจะกี่คนก็ได้ ตอนนี้ในมาเลเซียมีดาโต๊ะนับเป็นพันๆคน คนไทยก็มีเยอะที่แอบไปเป็นกับเขาด้วย แต่อยู่เมืองไทยเขินที่จะใช้บรรดาศักด์นี้นำหน้าชื่อตัว ท่านตนกูเห็นว่าเมื่อเป็นสหพันธรัฐมลายูแล้ว ข้าราชการและผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติก็ควรจะได้รับอะไรที่เหนือกว่านั้น รัฐบาลจึงสร้างบรรดาศักดิ์สามัญชนขึ้นใหม่ให้สูงกว่าระดับดาโต๊ะ บรรดาศักด์ใหม่นี้สูงสุดคือตน รองลงมาคือตันศรี (Tan Sri) มีคนพยายามจะเทียบว่าดาโต๊ะเท่ากับพระยา ตันศรีคือเจ้าพระยา ตนคือสมเด็จเจ้าพระยา ผมจึงคิดว่าไม่เหมือนกันด้วยประการฉนี้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:42

หัวหน้าพรรคคนใหม่มีแนวทางที่เหมือนแต่แตกด่างกับคนเดิม ด้วยสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรระหว่างพรรคการเมืองต่างเชื้อชาติ  โดยมีเป้าหมายร่วมกันอยู่ที่การต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราช ด้วยสันติวิธี ท่านตนกูประสพความสำเร็จในการผนึกกับพรรคสมาคมจีนมลายู(MCA) ที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ทั้งสองพรรคใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันตีร่วมกันโต” ส่งสมาชิกลงสนามเลือกตั้ง

ระหว่างที่ทุกพรรคระดมหาเสียงอยู่นั้น โจรจีนคอมมิวนิสต์ได้ปฏิบัติการก่อกวนไม่หยุด(กิตติศัพท์ในทางร้ายนี้ถึงขนาดที่รัฐบาลไทยยืมไปใช้ เมื่อสี่ส.ส.อิสานถูกตำรวจสันติบาลจับกุมขึ้นรถ และไปปรากฎว่าถูกกระสุนปืนกลมือพรุนทั้งๆที่ถูกใส่กุญแจมือตายอยู่หน้าวัดพระศรีมหาธาตุ ทางการแถลงว่าตำรวจถูกโจรจีนคอมมิวนิสต์ซุ่มโจมตี แล้วทั้งสี่คนโดนลูกหลง) ที่นั่นรัฐบาลอังกฤษควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มแข็ง สนธิกำลังจำนวนมากจากเครือจักรภพเข้ามาปราบปรามจนกองโจรคอมมิวนิสต์แตกพ่ายมาหลบซ่อนอยู่ในดินแดนไทย (และเป็นหนามยอกอกคนไทยอยู่หลายสิบปี แม้บัดนี้ก็ยังไม่จบเรื่อง) การเลือกตั้งครั้งแรกผ่านไปได้ ผลปรากฏว่าสมาชิกของทั้งสองพรรคได้รับการเลือกตั้งเข้าสภาท้องถิ่นอย่างท่วมท้น

ปีต่อมาเมื่อความตึงเครียดทางการเมืองผ่อนคลายลง คนทำมาหากินได้เศรษฐกิจก็เริ่มกระเตื้อง บรรยากาศเช่นนี้ทำให้ท่านตนกูชวนหลงจู้หัวหน้าพรรคสมาคมคนจีนมลายูไปอังกฤษด้วยกันเพื่อแสวงหาแนวทางที่จะได้เอกราช แม้จะไม่ประสพความสำเร็จเท่าที่ควร แต่ต่อมาอังกฤษก็ยอมให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหพันธรัฐมลายา และยอมให้สัดส่วนของสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งมากกว่าเดิมที่ได้กำหนดไว้ ประการหลังนี้มีการประลองเกมการเมืองกันเล็กน้อยด้วยการขู่ของพรรคอัมโนว่าจะถอนตัวไม่สมัครเข้ารับเลือกตั้ง จนในที่สุดอังกฤษก็ต้องยอม เรื่องนี้ทำให้ได้ใจคนมาเลย์มาก นอกจากนั้นท่านตนกูยังได้ดึงพรรคสภาอินเดียมลายา (Malaya Indian Council: MIC) เข้ามาร่วมพันธมิตรอัมโนอีก ทำให้เป็นองค์ประกอบสมบูรณ์ที่จะให้อังกฤษยอมรับว่าพรรคนี้เป็นตัวแทนของสังคมหลากหลายเชื้อชาติด้วย
              
เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปสู่สภานิติบัญญัติของมลายาในเดือนกรกฎาคมพ.ศ.2498 พรรคพันธมิตรที่นำโดยพรรคอัมโนได้รับการยืนยันความยอมรับของประชาชน ด้วยการลงคะแนนเสียงให้ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย พรรคอัมโนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และตนกู อับดุล เราะห์มาน ได้เป็นChief Minister ผมแปลว่าหัวหน้ารัฐมนตรีตรงๆดีกว่าที่จะเรียกว่านายกรัฐมนตรี (Prime Minister) ที่ต่อไปท่านก็จะได้เป็นคนแรกของประเทศนี้อีกเหมือนกัน




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:44

เงื่อนไขที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งไว้ว่าหากปัญหาเหล่านี้หมดไป จึงจะให้มลายาเป็นเอกราชได้มีสองประการ
1. มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างเชื้อชาติอันหลากหลายในสังคม
2. การจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์

สำหรับปัญหาแรกนั้นถือว่าหมดไปส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ไม่หมดก็เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาที่สอง
แม้ว่ากองกำลังโจรจีนจะถูกบดขยี้ทำให้ศักยภาพลดลง แต่คนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาก็หลบลงใต้ดินและมีอิทธิพลต่อคนจีนรากหญ้าอีกจำนวนไม่น้อย ท่านตนกูได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์  ด้วยการประกาศว่าพร้อมที่จะเจรจากับจีนเป็ง โดยยกเรื่องที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉิน และนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการร้ายมาเป็นตัวชูประเด็น

จีนเป็งตอบรับที่จะเจรจาด้วยในหมู่บ้านแห่งหนึ่งติดกับชายแดนไทย ท่านตนกูไปที่นั่นกับนายเดวิด มาร์แชล หัวหน้ารัฐมนตรีของสิงคโปร์ในขณะนั้น เมื่อเข้านั่งโต๊ะเจรจาแล้ว ท่านขอกล่าวก่อนสองเรื่องคือ หนึ่ง..เรื่องของประกาศนิรโทษกรรม ถ้ายังข้องใจประเด็นไหน ท่านยินดีที่จะทำให้กระจ่าง สอง..ท่านมาเจรจาแทนประชาชนมลายู ไม่ใช่ฐานะตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษ หลังจากนั้นจึงเชิญให้จีนเป็งกล่าวบ้าง จินเป็งตอบว่าตัวเขาจะไม่ยอมรับประกาศนิรโทษกรรม เพราะไม่เปิดโอกาสให้พวกคอมมิวนิสต์ในป่าให้มีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกับพวกมลายัน(คนมลายูแท้ๆ) เขาต้องการให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการยอมรับว่าเป็นพรรคการเมืองโดยชอบด้วยกฏหมาย และขู่ว่าทุกคนในป่าจะไม่มีวันยอมแพ้หากไม่ได้ตามเงื่อนไขนี้ การเจรจาดำเนินไปจนค่ำก็ยังไม่มีแววว่าใครจะยอมใคร เดวิด มาร์แชลถามจีนเป็งว่าถ้ามลายามีเอกราชแล้ว พวกโจรจีนจะยอมวางอาวุธหรือไม่ จีนเป็งก็ยืนยันว่า ถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะวาง การเจรจายุติลงด้วยความล้มเหลวเมื่อเวลาล่วงเลยสี่ทุ่มไปแล้ว

ท่านตนกูกลับบ้านเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อเตรียมตัวจะนำคณะเจรจาเพื่อเอกราชไปอังกฤษในสองวันต่อมา ท่านบันทึกไว้ว่า การพบกันครั้งนี้สอนอะไรให้ท่านบางอย่าง “มลายากับระบอบคอมมิวนิสต์ไม่มีทางที่จะอยู่ร่วมแผ่นดินกันได้”



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:49

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2491 คณะตัวแทนจากพรรคพันธมิตรและตัวแทนบรรดาสุลต่านโดยการนำของท่านตนกูก็ได้เดินทางไปลอนดอนอีกครั้งหนึ่งเพื่อเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ มุ่งประเด็นไปสู่การเป็นเอกราชอย่างเดียว โดยไม่นำเงื่อนไขคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องค่อยๆแก้ไขมาประกอบ อังกฤษเห็นว่าความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆจึงยอมรับฟัง และสนองด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิก5คน เลือกสรรมาจากบรรดาประเทศในเครือจักรภพ ให้ท่านลอร์ด รีด เป็นประธาน มีหน้าที่รับฟังความเห็นของชาวมลายาและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ นำมาร่างรัฐธรรมนูญที่มีชื่อว่าเมอร์เดกา(ภาษามาเลย์แปลว่าเอกราช) ที่สำเร็จลงอย่างไม่มีใครได้ทุกสิ่งที่คาดหวัง แต่ทุกคนก็พอใจ สภานิติบัญญัติจึงได้ให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญนี้เมื่อวันที่15 สิงหาคม พ.ศ.2500



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:51

31 สิงหาคม พ.ศ.2500 เป็นวันประกาศเอกราชของสหพันธรัฐมลายา รัฐพิธีที่ทุกคนรอคอยนี้กระทำในสนามเมอร์เดก้า สเตเดียมที่สร้างขึ้นใหม่เอี่ยมเพื่อการนี้ วันนั้นฝูงชนเข้าไปเบียดเสียดยัดเยียดเพื่อรอดูตนกู อับดุล เราะห์มาน เอกบุรุษของพวกเขาจะประกาศเอกราช ทุกคนร่วมกันเปล่งเสียงเมอร์เดก้า..เมอร์เดก้า..เมอร์เดก้า..เป็นจังหวะ บนพื้นยกระดับกลางสนามนั้น สุลต่านทั้ง9รัฐได้มานั่งเป็นสักขีภายใต้กรดสีเหลือง ท่านดยุ๊กแห่งโกลสเตอร์ ผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองและภรรยาเป็นหัวหน้าคณะนำบุคคลสำคัญฝ่ายอังกฤษเข้าร่วมพิธีก็พร้อมแล้ว ท่านตนกูเองอยู่ในชุดเครื่องแต่งกายไหมแท้สีดำหนาที่ทอสอดด้วยด้ายทองคำ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับเจ้านายแห่งรัฐเดด่ะห์เท่านั้น ท่านออกไปยืนตรงหน้า และอ่านประกาศเอกราชในท่ามกลางเสียงประสานคำว่าเมอร์เดก้าอย่างกึกก้องของประชาชน

ตนกู อับดุล เราะห์มานได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย และได้รับสมญานามว่าบิดาแห่งเอกราช (Bapa Merdeka) ณ บัดนั้น



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:55

ผมใกล้จะจบเรื่องที่อยากเขียนเกี่ยวกับท่านตนกูแล้ว เพราะหลังจากนี้ประวัติของท่านจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง อันเป็นเกมแห่งอำนาจที่ไม่มีผู้ชนะยั่งยืน

หลังจากที่ดำรงตำแหน่งยาวนานสิบกว่าปี ฝีที่กลัดหนองในเรื่องปัญหาเกี่ยวกับคนจีนก็แตกออกในวันที่13 พฤษภาคม พ.ศ.2512 (พ.ศ.นี้คนไทยก็เริ่มกันฆ่ากันเอง นำไปสู่การเผาบ้านเผาเมืองในวันที่และเดือนเดียวกันนี้เหมือนกัน) ปีโน้นเป็นวันที่คนจีนกับคนมาเลย์เริ่มปะทะกันในกัวลาลัมเปอร์ แล้วลุกลามเป็นการจลาจลเผาบ้านเผาเมืองไปทั่วประเทศ รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วส่งทหารตำรวจเข้ารักษาความสงบด้วยวิธีการรุนแรง แต่ใช้เวลาร่วมเดือนกว่าจะยุติ ตัวเลขทางการบอกมีผู้เสียชีวิต184คน แต่ข่าวที่หลุดมานอกประเทศบอกว่าเหตุมิคสัญญีนี้มีคนจีนถูกฆ่าตายนับเป็นพันๆคน ศพได้ถูกนำไปฝังกลบด้วยแบคโฮว์ในค่ายทหารต่างๆอย่างรีบเร่ง

ก่อนหน้าที่อุบัติการณ์จะเกิด ขณะอุณหภูมิค่อยๆร้อนขึ้นๆ ท่านนายกรัฐมนตรีต้องการจะแก้ไขปัญหาด้วยความประนีประนอมตามแบบฉบับของท่าน แต่ไม่ทันใจกลุ่มหัวรุนแรงของทั้งสองฝ่าย ต่างก็ยั่วยุซึ่งกันและกันจนได้เรื่อง เหล่าคนที่ท่านไว้วางใจที่สุดในพรรคก็เริ่มกล่าวหาท่านว่าเป็นมะเขือเผา ดีแต่เอาใจพวกคนจีน เล่นมาจองกันทุกวันจนไม่กล้าที่จะเด็ดขาดกับพวกนี้ เมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินท่านจึงมอบอำนาจสั่งการทุกอย่างให้ตนอับดุล ราซัก และหลังจากเหตุการณ์สงบลงแล้ว ท่านคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ท่านจะวางมือจากการเมือง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 13:59

ผมจะยังจบเรื่องนี้ไม่ได้หากมิได้กล่าวถึงครั้งที่ท่านตนกูต้องการผนวกดินแดนของคนมาเลย์ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษที่เหลืออยู่ มารวมเข้าเป็นประเทศใหม่ชื่อว่ามาเลเซีย ขณะนั้นเป็นปีพ.ศ.2504 ดินแดนเหล่านั้นนอกจากสิงคโปร์แล้ว ก็อยู่บนเกาะบอร์เนียวใต้จมูกของอินโดนีเซียทั้งสิ้น คือรัฐซาราวัค และรัฐซาบาห์ และรัฐบรูไน แต่บรูไนนั้นอังกฤษก็ไม่อยากให้หลุดไปรวมเป็นมาเลเซียเพราะเจอน้ำมันในรัฐนี้ตั้งแต่ปี2473 แต่อีกสองรัฐนั้น อังกฤษคิดว่าให้อยู่กับมาเลเซียดีกว่าปล่อยให้อินโดนีเซียขม้ำไป จึงใช้อิทธิพลช่วยผลักดันเต็มที่จนประเทศมาเลเซียเกิดขึ้นได้ แต่ก็เจอปฏิกิริยาของอินโดนีเซียที่ประกาศนโยบายเผชิญหน้า ส่งทหารยกพลขึ้นบกในซาราวักแต่อังกฤษก็ช่วยมาเลเซียรบ เกิดสงครามที่ไม่ได้ประกาศนี้เป็นการปะทะกันประปรายไปทั่ว ตึงเครียดกันอยู่สักสามสี่ปี ประธานาธิบดีซูการ์โนหมดอำนาจแล้ว ทั้งสองประเทศจึงค่อยเลิกลาต่อกัน แต่นานๆก็ยังฮึ่มใส่กันอยู่สักทีเรื่องเส้นเขตแดนทั้งในทะเลและบนบก คล้ายเขมรกับไทยยังไงยังงั้น

ระหว่างนั้นพรรคพาสของพวกมุสลิมหัวรุนแรงซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้โจมตีว่า ทีสี่จังหวัดภาคใต้ของไทยก็เป็นมาเลย์เหมือนกัน ทำไมจึงไม่คิดจะรวมเสียด้วย เลยเถิดไปจนถึงว่า แม่เป็นคนไทย สงสัยท่านตนกูจะเป็นมุสลิมเทียม และยื่นเรื่องเข้าสู่สภาในเดือนสิงหาคม 2504 อาศัยจังหวะที่มีการก่อหวอดปฏิบัติการของกลุ่มขบถแบ่งแยกดินแดนที่พรรคสนับสนุนไว้ในปัตตานี เรียกร้องให้ผนวกดินแดนทั้งสี่จังหวัดนั้นเข้ากับดินแดนมลายูเสียเลย

นายกรัฐมนตรี ตนกู อับดุล เราะห์มาน แถลงตอบฝ่ายค้านว่า ปัตตานี นราธิวาส สตูล และยะลา เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทย ย่อมจะไม่ยอมให้ดินแดนของตนไปเป็นของชาติอื่นอย่างแน่นอน ถ้าหากปฏิบัติไปตามคำเรียกร้องเช่นนั้นแล้ว ก็เป็นที่น่าวิตกว่าจะต้องเกิดสงครามขึ้นอย่างแน่นอนระหว่างไทยกับมลายู (โปรดสังเกตุว่า ท่านตนกูมิได้กลัวยักษ์ใหญ่อย่างอินโดนีเซีย แต่เกรงใจไทย)

“และถ้าหากเกิดสงครามขึ้นระหว่างสองประเทศแล้ว ประชาชนทั้งสองชาติจะต้องกลายเป็นศัตรูกันต่อไปชั่วกาลนานทีเดียว ในกรณีเช่นนี้อะไรเล่าจะเกิดขึ้น นอกจากชัยชนะของพวกคอมมิวนิสต์เท่านั้น” 

เรื่องในสภาจบแค่นั้น แต่นอกสภาไม่จบ พรรคพาสกล่าวหาว่าท่านตนกูขายชาติให้คนไทย ถึงกับประกาศต่อต้านไม่ให้ท่านเหยียบเข้าไปในแผ่นดินของกลันตันเป็นอันขาด มิฉนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย และพรรคนี้ก็เดินหน้านโยบายที่จะสร้างประเทศมุสลิมมลายูแท้ที่ประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส สตูล และยะลา ปะลิศ เคด่ะห์ กลันตัน ตรังกานู ต่อไปอย่างไม่ลดละ

ท่านตนกูประสพความสำเร็จในการผนวกดินแดนที่ท่านเห็นว่าเป็นของคนมลายูเข้ารวมเป็นประเทศเดียวกัน ท่านจึงได้ฉายาว่าเป็นบิดาของประเทศมาเลเซียด้วย แม้ว่าต่อมาสิงคโปร์จะแยกตัวออกไปตามความปรารถนาร่วมกันทั้งของสองฝ่ายก็ตาม




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 14:05

เวลาคนไทยมองมาเลเซียว่าอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายในสี่จังหวัดภาคใต้ของเรา ผมหวังว่าเรื่องทั้งหมดที่ผมเขียน จะทำให้ท่านเข้าใจเพื่อนบ้านของเราเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะตอนนี้สามารถนำเอาความแตกแยกทางการเมืองในบ้านเรามาเป็นอุธาหรณ์ว่าทำไมรัฐบาลมาเลเซียจึงแก้ไขเรื่องที่ฝ่ายค้านบ้านเขามายุยงสนับสนุนคนบ้านเราไม่ได้

ผมติดค้างเรื่องคนมุสลิมสยามอีกท่านหนึ่งไว้ ซึ่งก็คือ พี่ชายแท้ๆของท่านตนกูอับดุล เราะห์มาน มีนามเต็มว่า ตนกู มูฮัมหมัด ยิหวา ในรูปท่านยืนอยู่ด้านซ้ายของท่านบิดา อีกข้างหนึ่งคือน้องชายคนสำคัญ ท่านผู้นี้เรียนหนังสือในเมืองไทย เป็นนักเรียนเก่าราชวิทย์รุ่นโรงเรียนอยู่นนทบุรี และเทพศิรินทร์ พูดไทยเขียนไทยเหมือนคนไทยที่มีการศึกษาสูงอย่างไม่ผิดเพี้ยน จบมัธยมแล้วท่านได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมารับราชการในตำแหน่ง นายอำเภอ ผู้พิพากษา อธิบดีกรมศุลกากร และอธิบดีกรมสรรพสามิต ตามลำดับ  หลังเกษียณอายุแล้วจึงได้รับตำแหน่ง “ตำมะหงง” (เสนาบดี) แห่งรัฐเคดาห์

 เพื่อนคนไทยผู้ใดผ่านไปผ่านมาและแวะเยี่ยม ท่านก็จะให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ในคราวที่มีปัญหาการเมืองในเมืองไทยเช่นเมื่อปี2475 มีเจ้านายไทยลี้ภัยผ่านทางปีนังหลายพระองค์ ท่านตนกูยิหวาจะไปเฝ้า ติดตามสารทุกข์สุกดิบตลอดเวลาที่อยู่ในดินแดนของเคดะห์

ท่านตนกูยิหวา เป็นอิสลามมิกชนที่มีจิตใจประเสริฐ ท่านมักจะเข้าวัดไทยที่นั่น เพื่อพบปะสนทนากับพระสงฆ์อยู่เสมอ การสนทนาก็เป็นเรื่องของมิตรภาพและความปรารถนาดีต่อกัน สิ่งที่ประทับใจคนไทยที่ไปจากกรุงเทพฯ และคนไทยในมาเลเซียก็คือ ทุกปีที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่นำคณะสงฆ์จากกรุงเทพเอาข้อสอบนักธรรมไปสอบไล่พระสงฆ์ในมาเลเซีย ท่านตนกูยิหวาจะถือเป็นธุระจัดการต้อนรับ  และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงภัตตาหารแก่พระสงฆ์สามเณรที่เข้าสอบด้วยความเต็มใจ และที่น่าชื่นชมก็คือ เมื่อท่านมาต้อนรับคณะสงฆ์ ทุกคนจะเห็นท่านทำตัวเสมือนดังคนไทยทั่วไป เวลาเดินกับพระท่านตนกูจะแบกร่มสนทนากันไปไม่กางไว้เหนือศรีษะ คนที่โน่นไม่มีใครไม่รู้จักท่านตนกูยิหวา ผู้อุปัฏฐากวัดไทยและเป็นที่พึ่งของคนไทยมาตลอดชีวิตของท่าน

ท่านตนกูยิหวาได้จัดสรรมิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมโลกแต่ต่างศาสนา กับความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าของท่านได้ถูกต้องดีเยี่ยม ท่านเป็นมุสลิมที่ดี และท่านก็สอนให้บุตรธิดาของท่านเป็นอิสลามมิกชนที่ดีอย่างไม่บกพร่อง ตนกู มูฮัมหมัด ยิหวาถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองอลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ เมื่อ ปี พ.ศ.2520 สิริอายุกว่า83 ปี





บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 14:11

จบเรื่องที่ผมอยากเขียนแล้วละครับ ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาช่วยให้หายเหงา และขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาติดตามอ่านอย่างเงียบเชียบ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 14:46

ขอบคุณครับ

ผมต้องกลับไปหยิบหนังสือ ไทยในมาเลเซีย ของ ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ มาอ่านอีกรอบแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 15:05

เข้ามาต่อจากคุณ CVT ที่เร็วปานจรวด     ขอบคุณมากค่ะ  อ่านด้วยความสนใจและอิ่มใจ
เดี๋ยวจะติดหมุดให้  จะได้ไม่ตกจอเร็วนัก

ขอบคุณที่ย่อยประวัติศาสตร์ที่ยืดยาวและยุ่งยากของมาเลย์เซียให้อ่านกันง่ายขึ้น  และเห็นภาพท่านตนกูได้ชัดเจน
ในเรือนไทยยังไม่เคยมีเรื่องเกี่ยวกับมาเลย์เซีย  หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆก็ไม่มี
หวังว่าคงจะมีกระทู้ดีๆอย่างนี้ให้อ่านกันอีก   อย่าหาว่าได้คืบจะเอาศอกเลยนะคะ

อ่านบางตอนแล้วจุดประกายความคิดเกี่ยวกับการเมืองประเทศเพื่อนบ้านของมาเลย์เซียขึ้นมาได้   อาจจะเข้ามาแสดงความเห็นในโอกาสต่อไป 
หวังว่าจะมีคนเข้ามานั่งล้อมวงแจมบ้าง   ไม่ใช่พูดกันแค่ ๒-๓ คน  เจ้าของเรื่องจะเหงา  ยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 15:18

เข้ามาเพิ่มเรตติ้ง ด้วยการเอาบทความที่เกี่ยวข้องกันนิดหน่อยมาลง  ได้จากโอเคเนชั่น

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=185347คนสยามในมาเลเซีย
คนสยามในมาเลเซีย

ผมเองมีเพื่อนๆที่เป็นชาวสยามมาเลย์หลายท่าน ทุกท่านล้วนมีนิสัยดีกันทั้งนั้นครับ  ถึงแม้จะคุยภาษาเดียวกัน(ใต้) แต่ท่านเล่นคำโบราณจนผมแอบอมยิ้มอยู่เสมอ  วันนี้ก็เลยขอนำเรื่องราวที่น่าสนใจของคนสยามในมาเลเซียมาเล่าให้เพื่อนผองชาวบลอกได้อ่านประดับความรู้กันนะครับ

เรื่องราวความเป็นมาของชาวสยามในอาณาจักรมาลายูซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร  มีที่มาที่ไปอย่างไร และเขาอยู่กันอย่างไรนั้น ขอเชิญทุกท่านอ่านกันตามอัธยาศัยครับ

ว่ากันว่าชาวสยามในมาเลเซียเป็นคนเชื้อสายเดียวกับคนในประเทศไทย  ่ซึ่งได้อพยพมาตั้งแต่ครั้งอาณาจักรศรีวิชัย (Srivijaya)  และจากบันทึกตำราของคุณธำรงศักดิ์  อายุวัฒนะ (ฉบับปรับปรุงปีค.ศ. 2004)  ได้กล่าวไว้ว่ามีชาวพุทธเชื้อสายสยามอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนมลายูเมื่อประมาณ 300-500 ปีมาก่อนแล้ว  ซึ่งตรงกับช่วงที่สยามยาตราทัพเข้าไปยึดเมืองปาหัง  โดยที่ผู้ที่ติดตามพร้อมกับกองทัพสยามได้เข้าไปอยู่อย่างกระจัดกระจายไปทั่ว  ท่านได้บันทึกไว้ว่าชาวพุทธเชื้อสายสยามอพยพเข้าไปในรัฐกลันตันหรือทางตะวันออกตอนเหนือของคาบสมุทธมลายูประมาณ 300 ปีแล้ว  และอพยพเข้าไปอยู่ในรัฐเคดาห์หรือไทรบุรีซึ่งตั้งอยู่ตะวันตกตอนเหนือของคาบสมุทรมลายูเมื่อประมาณ  500  ปีมาก่อนแล้ว

จากประวัติศาสตร์พบว่าเมือง ไทรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีมาช้านานแล้ว  (หาอ่านเพิ่มเติมได้ใน wikipedia) ดังมีปรากฏหลักฐานว่าเป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตร เมืองไทรบุรีใช้ตรานักษัตรงูใหญ่ ต่อมาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยาตั้งเมืองชัยนครขึ้นใหม่ เมื่อไทยยกไปตี เมืองมะละการะหว่าง พ.ศ. 1998-2003 จึงขนานนามเมืองนี้ว่าเมืองไชยบุรี และมีราษฎรทางหัวเมืองเหนืออพยพมาอยู่กันมาก จึงออกเสียงแบบสำเนียงเหนือเป็นไซบุรี ต่อมาปี พ.ศ. 2067 เมืองไชยบุรีได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอาเจะห์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประชากรจึงได้หันไปนับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีคนที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเช่นเดียวกัน ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ราว พ.ศ. 2173 จึงได้เมืองไชยบุรีกลับมาตามเดิม ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ยังเขียนชื่อเป็นไซบุรีอยู่ ต่อมาภายหลังจึงเขียนเป็น ไทรบุรี

ต่อมารัฐไทรบุรีได้ทำการแบ่งการปกครองออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ เมืองสตูล ปะลิส ไทรบุรีหรือรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน และกุบังปาสู

ในสมัยยุคล่าอาณานิคม ไทยถูกบังคับให้เซ็นสนธิสัญญายกไทรบุรี ปะลิส กลันตัน ตรังกานู เประตอนบนให้อังกฤษ ในวันที่ 10 มีนาคม 2451

ยังมีชาวสยามที่อาศัยอยู่ในเมืองตุมปัด ในรัฐกลันตันเนื่องจากการแบ่งเขตดินแดนกับอังกฤษ ในการยึดครองมลายู โดยใช้แม่น้ำโก-ลกเป็นเขตแดน โดยใช้สิ่งแสดงว่ามีชาวไทยอพยพอาศัยมาช้านานแล้วคือ วัดชลธาราสิงเหซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนาราธิวาส นอกจากนี้ยังมีชาวสยามกระจัดกระจาดอยู่ที่อื่นๆอีก แต่ที่เป็นกลุ่มเป็นก้อนก็จะอยู่ในรัฐและเมืองที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ถึงแม้ว่าจะอยู่ในมาเลเซียมาช้านานคนสยามเหล่านี้ก็ยังคงธำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรม และภาษาของตนเองไว้ได้ตราบจนถึงทุกวันนี้  และเขายังเรียกตัวเองว่าเซียมหรือสยาม ภาษาไทยไทรบุรีกับปะลิสคล้ายกับภาษาไทยถิ่นใต้ของจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ส่วนของกลันตันจะคล้ายกับของภาษาไทยถิ่นใต้แถบตากใบ 
คาดว่าชาวสยามในมาเลย์เซียมีอยู่ประมาณ 50,000 คน

ชาวสยามในมาเลเซียมีการรวมตัวกันเป็นสมาคมเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างที่พึงจะได้รับจากทางการ (หาอ่านเพิ่มเติมได้จาก The Politics of ERthnic Representation: Malay-Muslim in Southern Thailand and Thai Buddhists in Northern Malaysia by Dr. Suria Saniwa) ในปี 1960s (พ.ศ. 2503) เริ่มมีสมาคมสยามเคดาห์-เปอร์ลิสที่เพื่อคงไว้ซึ่งภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในมาเลเซีย  มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษาไทยและมีการสอนให้รักชาติไทย  รักศาสนาพุทธเทิดทูลพระมหากษัตริย์ไทยองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  มีการยกธงชาติไทยควบคู่กับธงชาติมาเลเซีย

ในช่วงนี้ขอนำเสนอข้อเรียกร้องที่เป็นประเด็นสำคัญๆที่สมาคมไทยกลันตันและสมาคาสยามมาเลเซียเสนอมายังรัฐบาลก็คือ

-การขอมีสิทธิเป็นภูมิบุตรา
-การขอมีพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นที่สักการะบูชาของชาวพุทธจากทั่วโลก
-การขอแก้ไขให้มีการระบุชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวไทยในแบบฟอร์มการขอเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐ 
-การขอประกาศวัฒนธรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแห่งชาติและขอประกาศวันสงกรานต์เป็นวันหยุดราชการ
-การขอมีสิทธิในกองทุนช่วยเหลือด้านการศึกษาและด้านการประกอบทางธุรกิจ
ตลอดจนการขอมีสิทธิเป็นสมาชิกของพรรค UMNO

จากข้อเรียกร้องดังกล่าวรัฐบาลได้ตอบสนองดังต่อไปนี้

- ถึงแม้ชาวสยามจะไม่ได้สถานภาพเป็นภูมิบุตร  แต่สิทธิต่างๆ  ในด้านการเมืองเศรษฐกิจและสังคม  จะเหมือนกับภูมิบุตรที่เป็นชาวมลายูทุกประการ  ปัจจุบันนี้  ชาวพุทธเชื้อสายไทยจึงมีสถานภาพพิเศษซึ่งถือว่าเป็นสถานภาพที่สูงกว่าชาวจีนและชาวอินเดียในมาเลเซีย
-ปัจจุบันนี้ประเทศมามาเลเซียมีพระพุทธรูปทรงนั่งที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกรองจากพระพุทธรูปทรงนั่งของประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งพระพุทธรูปทรงนั่งในประเทศมาเลเซียจะประดิษฐานอยู่ที่วัดมัชชิมาราม  หมู่บ้าน Tereboh  อำเภอ Tumpat รัฐ Kelantan  ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาเลเซียจากฝั่งอำเภอตากใบ  จังหวัดนราธิวาส  ก็จะพบเห็น  พระพุทธรูปดังกล่าวทางด้านซ้ายมือห่างจาก Pengkalan Kubor ริมฝั่งแม่น้ำตรงกันข้ามอำเภอตากใบประมาณ 5-8 กิโลเมตร
- รัฐจัดการให้มีการแก้ไขให้มีการระบุกลุ่มชาติพันธ์สยามในแบบฤอร์มการเข้ามหาวิทยาลัย (หากไม่มีการระบุกลุ่มชาติพันธุ์ที่ชัดเจน  จะทำให้ลูกหลานชาวพุทธเชื้อสายไทยหมดสิทธิในการเข้าศึกษาต่อในสถาบันของรัฐ  เพราะการเข้าสถาบันการศึกษาของรัฐในมาเลเซียนั้นมีการจัดการเข้าศึกษาตามระบบ  PR ซึ่งเป็นอัตราส่วนตามจำนวนกลุ่มชาติพันธุ์)
- รัฐบาลมาเลเซียจึงประกาศให้วัฒนธรรมการละเล่นกลองยาว  การฟ้อนรำไทย  และประเพณีวันสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมแห่งชาติ
- รัฐจัดให้มีกองทุนต่างๆแก่ชาวพุทธเชื้อสายสยามเท่ากับชาวมาเลเซียทุกประการ
- นับตั้งแต่มีการต่อสู้การเรียกร้องสิทธิทางการเมือง  มี คุณเจริญ  อินทร์ชาติ  คุณซิวชุน  เอมอัมไพซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติล้วนแต่เป็นสมาชิกของพรรค UMNO ทั้งสิ้น

จะเห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียไม่เพิกเฉยต่อการเป็นชนกลุ่มน้อยชาวสยามที่อยู่ในแระเทศของตน  นับตั้งแต่การให้มีการจัดตั้งองค์กรกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อที่จะได้ปกป้องสิทธิของพวกเขาเอง  และรัฐบาลยังได้สัญยากับชาวสยามมาเลย์ว่าจะสงวนสิทธิในตำแหน่งสภานิติบัญญัติไว้สำหรับชาวสยามหนึ่งที่นั่งต่อประชากร 60,000 คน  และชาวสยามมาเลย์คนแรกที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าวในปี 2002 คือ นายเจริญ  อิทรชาติ

ทุกวันนี้ชาวสยามมาเลย์ได้ดำเนินวิธีชีวิติตามวิธีแห่งตนท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลายในมาเลเซียและจากการต่อสู้เรียกร้องตามวิถีครรลองแห่งประชาธิปไตยด้วยความสันติ รวมถึงการเปิดโอกาศที่เป็นธรรมและยุติธรรมและไม่ทอดทิ้งของรัฐบาลยังทำให้พวกเขายังเป็นชาวสยามในมาเลเซียที่ดำเนินวิถีแห่งชาวสยามต่อไป

หวังว่าคงมีประโยชน์นะครับ
 
โดย สนต้นที่เก้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 16:02

ดิฉันแยกกระทู้ตามความประสงค์ของคุณ CVT แล้วนะคะ  แต่เพราะโลว์เทค  เลยทำให้ค.ห.คุณ CVT หายไปจากกระทู้นี้ด้วย
ตามไปอ่านได้ที่
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3321.0
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 24 พ.ค. 10, 21:42

ผมมีเรื่องจะขอแก้ไขเพิ่มเติมที่เขียนไปแล้วหน่อยครับ

ที่จะแก้ไขก็คือ พระรูปเจ้านายไทยที่เสด็จไปร่วมงานสยุมพรลูกชายและลูกสาวของท่านสุลต่านอับดุลฮามิดทีเดียวห้าคู่นั้น ไม่ใช่สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ตามที่เดิมผมสันนิฐานเอาเองจากบทความที่คุณวศินสุขเรียบเรียงไว้ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น ทรงพิจารณาร่วมกันแล้ว มีพระราชดำริเห็นพ้องต้องกันว่า ควรที่จะส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ (ต้นราชสกุลยุคล) เจ้ากรมพลัมภัง กระทรวงมหาดไทย ไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช เนื่องจากพระองค์สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี ด้วยทรงสำเร็จการศึกษาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง วิชาประวัติศาสตร์ (เกียรตินิยม) ระดับปริญญาตรี และปริญญาโททางด้านภาษาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และทำให้พระองค์ทรงเข้าพระทัยสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปกครองหัวเมืองมลายูของอังกฤษกับการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทยเป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้น พระองค์ทรงเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกับข้าหลวงใหญ่สหพันธรัฐมลายูที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษมาก่อน แม้แต่เจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด) ก็ได้สมรสกับคุณหญิงเนื่อง ซึ่งเป็นคนในวังของพระมารดาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งหากจะนับกันไปแล้วก็เปรียบเหมือนเครือญาติที่สนิทสนม ทำให้เข้าพระทัยวัฒนธรรมประเพณีอิสลามเป็นอย่างดี”

ผู้ที่ทักท้วงมาว่าผมผิดก็คือคุณวี-มี

 “พิจารณาจากเค้าพระพักตร์และลักษณะเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนชั้นโท (เทียบชั้นนายพันทหารบก) ในภาพแล้ว คิดว่าบุคคลในภาพนั้นน่าจะเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ซึ่งทรงเป็นพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้ารุ่นแรกๆ ที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และกลับเข้ามารับราชการในตอนปลายรัชกาลที่ ๕


บ่ายวันนี้ผมออกไปเดินเล่นมา เห็นร้านหนังสือใหญ่เลยเข้าไปดู เจอหนังสือเล่มใหญ่เขียนโดยคนสิงคโปรเรื่อง Through the eyes of King Chulalongkorn ผมพลิกๆดูมีภาพเยอะมาก และมีภาพที่ผมนำมาลงในคคห.11 ด้วย ใต้ภาพบรรยายความว่าผู้ที่ประทับติดกับท่านสุลต่านคือ Prince Charoon. ผมกลับมาเปิดคอมดูเห็นที่คุณวี_หมีเขียนไว้ จึงต้องขอยกนิ้วให้ ขอบคุณมากครับ
ท่านที่จะเอาเรื่องที่ผมเขียนนี้ไปโพสต์ต่อ(ผมพบว่ามีในเน็ทแล้ว) ผมไม่ว่าหรอกครับ แต่กรุณาแก้ไขใหม่ให้ถูกต้องกับความเป็นจริงด้วย

ส่วนเรื่องที่จะขอเพิ่มเติม คือเรื่องท่านตนกูยี่หวา ผมนำเนื้อหาส่วนใหญ่มาจากที่คุณภูวดล แดนไทยเขียนไว้ในเวป แต่เอาข้อมูลจากที่อื่นเติมลงไปบ้างตามสำนวนของผม ยกเว้นบางตอนที่ผมประทับใจสำนวนที่คุณภูวดลเขียนไว้มาก ไม่อยากแตะต้องให้ด้อยลง ผมก็ลอกมาไว้ทั้งประโยค แต่ลืมแจ้งไว้ในกระทู้นั้น นึกขึ้นมาได้ก็แก้ไขไม่ทันเสียแล้ว ต้องขอบอกกล่าวกันด้วยวิธีนี้

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่เอากระทู้นี้ไปปักหมุด ..หายเหนื่อยเลยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง