เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 60918 อดีตชาวสยามผู้ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของประเทศมาเลเซีย
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:18


ตอนเป็นเด็กสิบกว่าขวบยังนุ่งกางเกงขาสั้น(ใส่หมวกมุมซ้ายของรูปรถทัวร์) แม่พาผมไปทัศนาจรประเทศสหพันธรัฐมลายู เพิ่งได้รับอิสรภาพจากอังกฤษได้ไม่นาน คณะที่ไปจัดโดยคุรุสภา จึงเป็นครูและครอบครัวด้วยกันทั้งหมด นั่งรถไฟจากหัวลำโพงไปลงที่อลอร์สะตาร์ แล้วนั่งรถทัวร์ที่ยังไม่มีแอร์ให้ติด แต่หน้าตาเทห์กว่ารถเมล์ขาวในกรุงเทพมาก ตะเวนดูโรงเรียนและเที่ยวไปหลายเมือง รวมทั้งสิงคโปร์ซึ่งตอนนั้นรวมอยู่กับสหพันธรัฐมลายู โดยมีคนสำคัญของสมาคมครูที่นั่น เป็นมัคคุเทศน์กิตติมศักดิ์ร่วมเดินทางไปกับรถด้วยอีกคนหนึ่งตลอด

ทัวร์คณะนี้คงจะไม่มีอะไรตื่นเต้นถ้ามิสเคอร์ไก๊ด์กิติมศักด์ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว เป็นคนจีนแต่คงจะเส้นใหญ่เอาการอยู่ ได้กระซิบท่านอาจารย์ถนอมจิต หุตะสิงห์หัวหน้าคณะที่ปินังว่า ตอนที่ไปถึงกัวลาลัมเปอร์ อาจจะโชคดี ท่านตนกู อับดุล เราะห์มาน นายกรัฐมนตรีอาจจะอนุญาตให้คณะครูจากคุรุสภาของไทยเข้าพบเป็นกรณีย์พิเศษ

เอาละซี ไม่มีใครทราบและเตรียมการมาก่อน แต่คุณครูในคณะก็ล้วนแล้วแต่เก๋ากึ้ก มีเวลาเตรียมตัวคืนเดียวระหว่างแวะนอนพักที่ไทปิง ก็แต่งกลอนยอเกียรติท่านตนกู แล้วใส่ทำนองไทยเดิม ซ้อมขับร้องให้หลานสาวตัวปุ๊กลุ๊กของท่านหัวหน้าคณะเป็นผู้รำอวยพร งานนี้ผมหลบสุดชีวิตไม่ยอมออกจากห้องนอนไปร่วมซ้อมด้วย เพราะกลัว(ไปเอง)ว่าเขาจะให้บทผมไปทำอะไรสักอย่าง ที่ผมจะรู้สึกว่าเด๋อมาก

ปรากฏว่าพอรถถึงชานเมืองหลวง มิสเตอร์เส้นใหญ่ก็ลงไปโทรศัพท์สักครู่ แล้วยิ้มร่ามาบอกยืนยันฟันธงว่า ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นคนไทยดอกนะ จึงยินดีเปิดทำเนียบให้เข้าพบในเย็นวันนั้น

คณะครูก็ตื่นเต้นดีใจกันเป็นอันมาก



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:21

ท่านตนกู อับดุล เราะห์มานมีมารดาเป็นคนไทย จึงมีน้ำใจให้คนไทยอยู่แล้ว ผมสังเกตุว่าท่านโอภาปราศัยอย่างเป็นกันเอง  แม้เวลาจะรัดตัวเพราะท่านจะต้องรีบออกไปปฏิบัติภารกิจอื่น  ก็ยังอุตส่าห์ยืนยิ้มชมรำอวยพรที่คณะครูไทยร่วมกันขับร้องหมู่เสียงใส ผมแอบอยู่หลังแถวในรูปโผล่หน้ามาให้เห็นเพียงเสี้ยวเดียว(รูปหล่อที่ใส่เสื้อขาวนั่นไม่ใช่ผมนะครับ) ดูไปขนลุกไป รู้สึกว่ามันยาวนานเหลือเกินกว่าจะจบลงได้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:24

ท่านพูดอะไรในตอนนั้นบ้างผมก็ไม่เข้าใจ เพราะภาษาอังกฤษยังได้แค่เยสโนโอ้แทงคิ่ว แต่ยังจำได้ที่ผู้ใหญ่มาเมาส์กันบนรถอย่างประทับใจหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว ตอนที่ท้าวความครั้งที่ท่านอยู่กรุงเทพ เรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ท่านบอกว่าแต่ท่านเป็นชาวสยามนะ แต่ท่านไม่ใช่คนไทย

ผมยังจำถ้อยคำดังกล่าวได้จนถึงบัดนี้  ไปมาเลย์อีกในครั้งใดก็นึกถึงรัฐบุรุษที่ยิ่งใหญ่และคำพูดนั้นของท่านตลอด บัดนี้มีโอกาสทำสิ่งที่อยาก คือมีเวลาเขียนเรื่องราวของท่านตนกู อับดุล เราะห์มานบิดาแห่งมาเลเซียที่อยากจะทำมานานแล้ว  ให้ท่านอ่านกันสนุกๆเป็นความรู้เกี่ยวกับมิตรประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว แต่ยังรู้สึกว่า ห่างไกลกันเหลือเกิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:26

นอกจากหนังสือหนังหาและเวปทั้งภาษาไทยและอังกฤษที่โหลดมาดูจนตาแฉะ  ข้อมูลหลักของผมก็ได้มาจากหนังสือเล่มนี้ บทต้นๆเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองไทรบุรี ประเทศราชของไทย และตระกูลสุลต่านเจ้าเมืองที่ทางพระเจ้าแผ่นดินสยามจะโปรดเกล้าให้เป็นพระยาหรือเจ้าพระยาไทรบุรี แล้วแต่ความดีความชอบ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจะทรงมีพระราชดำรัสว่า “เราไม่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษแต่อย่างใดในบรรดาหัวเมืองเหล่านี้ หากเราต้องสูญเสียให้แก่อังกฤษ เราจะขาดแต่เพียงดอกไม้เงินดอกไม้ทองประจำปี ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น “


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:31

ตนกู อับดุลเราะห์มานเป็นบุตรของสุลต่าน อับดุล ฮามิด แห่งมลรัฐเคดะห์ หรือเจ้าพระยาไทรบุรี เจ้าประเทศราชของสยาม  ในฝ่ายหัวเมืองมลายูนั้น ยังมีปัตตานี แป-ระ กลันตัน และตรังกานู เช่นเดียวกับทางเหนือที่มีลำปาง เชียงใหม่ แพร่ น่าน สมัยที่ยังมีเจ้าผู้ครองนครเป็นเอกเทศ

“ตนกู”เป็นฐานันครศักดิ์เช่นเดียวกับ "เจ้า”ของเมืองทางเหนือ ใช้นำหน้านามทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงโดยลูกหลานจะไม่ถูกลดชั้น ลูกของตนกูผู้ชาย เกิดมาก็เป็นตนกูด้วย ท่านตนกู อับดุล เราะห์มานเคยบอกกับเพื่อนนักเรียนเก่าเทพศิรินทร์ที่ไปเป็นเอกอัครราชทูตที่กัวลาลัมเปอร์ว่า "สักวันหนึ่งถ้าคุณจะมีคนสวนเป็นตนกู ก็ขออย่าได้แปลกใจ" ตนกูของรัฐต่างๆในมาเลเซียรวมกันแล้วอาจมากกว่าคนที่ใช้ ณ อยุธยาข้างหลังนามสกุลในเมืองไทยด้วยซ้ำ

นครรัฐทั้งหลายในแหลมมลายู (เขาใช้คำในหนังสือที่ผมอ่านนี้ว่าเป็นCountry ที่อื่นใช้ Stateบ้าง Kingdom บ้าง ที่ใช้Sultanateก็พบเหมือนกัน) แม้จะมีวัฒนธรรมคล้ายกันมากแต่คงจะไม่มีทางรวมเป็นประเทศเดียวกันได้ ถ้าไม่มีมหาอำนาจมาจัดการให้ สุลต่านเมืองใหญ่ๆเช่นยะโฮว์ หรือซารังงอร์เคยพยายามจะรวบรวมเมืองมุสลิมเหล่านี้มาไว้เป็นราชอาณาจักรเดียวกัน ก็ไม่เคยสัมฤทธิ์ผลยั่งยืน หัวเมืองมลายูทางเหนือ มักจะหันไปพึ่งพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาให้ปกป้อง แต่สมัยรัตนโกสินทร์สยามแผ่แสนยานุภาพมารวมนครรัฐเหล่านี้ไปเป็นประเทศราช

กำแพงและประตูเมืองของไทรบุรีในสมัยโบราณ ทำอย่างแข็งแรง เดี๋ยวนี้ไม่มี ถูกรื้อทิ้งไปแล้วอย่างน่าเสียดาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:35

ความต่อไปนี้ ผมย่อมาจากพงศาวดารที่ทางสยามบันทึกไว้ พอให้เป็นพื้นฐานของสัมพันธภาพระหว่างเคดะห์กับพระราชอาณาจักร ศัพท์แสงสำเนียงต่างๆก็จะคงไว้ตามแบบไทยๆในช่วงนี้

เมืองไทรบุรีกลับมาเป็นเมืองขึ้นของสยามตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว แต่ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อเจ้าเมืองไทรบุรีแก่กรรมลง ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งตวนกูปะแงรันเป็นพระยาไทรบุรี และทรงแต่งตั้งตวนกูปัศนู เป็นพระยาอภัยนุราช ตำแหน่งรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง)

ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พม่ายกทัพมาตีเมืองถลางในปี พ.ศ. 2352 พระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ได้ส่งกองทัพจำนวน 2,500 คน ไปช่วยรบกับข้าศึก และในปี พ.ศ. 2355 ได้ยกกองทัพไปตีได้เมืองแป-ระ ทำให้ได้เมืองดังกล่าวมาขึ้นต่อกรุงเทพด้วย ความดีความชอบทั้งสองครั้งนี้ จึงทรงโปรดให้เลื่อนยศพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี

ไม่นานนักต่อมา เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เกิดแตกร้าวกับพระยาอภัยนุราช (ตวนกูปัศนู) ผู้เป็นรายามุดา ในเรื่องผลประโยชน์ โดยรายามุดาขอเอาที่กวาลามุดาเป็นบ้านส่วย เจ้าพระยาไทรบุรีไม่ยอม ต่างฝ่ายก็ทำเรื่องราวกราบบังคมทูลฟ้องร้องกันขึ้นมากรุงเทพ ทรงโปรดเกล้าให้พระยาพัทลุงเป็นข้าหลวงออกไปไกล่เกลี่ย แต่ทั้งสองไม่ยอมสมานฉันท์กัน จึงให้ย้าย พระอภัยนุราชไปเป็นรายามุดาเมืองสตูล ซึ่งเป็นเมืองออกของเมืองไทรบุรี และทรงตั้งตวนกูอิบราฮิมเป็นรายามุดาเมืองไทรบุรีแทน เรื่องก็สงบกันไป พระยาอภัยนุราชจึงขาดจากเมืองไทรบุรี มาอยู่ใต้บังคับบัญชาของเมืองนครศรีธรรมราชตั้งแต่นั้น

พ.ศ.2363 มีข่าวว่าพม่าเตรียมทัพจะยกมาตีเมืองสยาม และส่งคนมาเกลี้ยกล่อมเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เป็นพวก  จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครสืบสวนและให้ส่งกองทัพเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ไปต่อเรือที่เมืองสตูล เพื่อคุมเชิงเมืองไทรบุรีไว้ด้วย ขณะนั้นตนกูม่อม น้องคนหนึ่งของเจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) ให้ข่าวต่อเจ้าพระยานครว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) มีใจให้แก่พม่าข้าศึกจริง จึงโปรดให้เรียกตัวเจ้าพระยาไทรบุรีเข้ากรุงเทพเพื่อไต่ถาม เจ้าพระยาไทรบุรีแม้ได้ทราบท้องตราแล้วก็ยังแข็งขืน พอดีถึงเวลาจะต้องส่งบุหงามาศ(ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง ดังรูปถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติของมาเลเซีย) ที่ต้องส่งไปทูลเกล้าถวายทุกๆสามปี ก็ไม่ส่ง  จึงโปรดให้พระยานครตีเมืองไทรบุรี เกิดการสู้รบเพียงเล็กน้อย กองทัพนครศรีธรรมราช ก็ยึดเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) หลบหนีไปอยู่ที่เกาะหมาก(ปีนัง) ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีแต่ให้อังกฤษเช่าไปโดยมิได้ขอพระบรมราชานุญาตแต่ครั้งแผ่นดินก่อน  ซึ่งสยามก็จำต้องปล่อยให้เลยตามเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:40

พระยานครศรีธรรมราชได้ให้บุตรของตน คือพระยาภักดีบริรักษ์ (แสง) เป็นผู้รักษาเมืองไทรบุรี และให้นายนุช มหาดเล็ก (บุตรอีกคนหนึ่ง) เป็นปลัดเมือง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระภักดีบริรักษ์เป็นพระยาอภัยธิเบศร์ และเป็นเจ้าเมืองไทรบุรี นายนุชปลัดเมืองไทรบุรี เป็นพระยาเสนานุชิต จวบจนพ.ศ.2373 ตนกูเดน ซึ่งเป็นบุตรของตนกูรายาพี่ชายต่างมารดาของตนกูปะแงรัน ซ่องสุมไพร่พลได้จำนวนมากจึงยกเข้าตีเมืองไทรบุรีคืน พระยาอภัยธิเบศร์เจ้าเมืองไทรบุรีและคนไทยในเมืองต้องหนีร่นไปตั้งหลักที่เมืองพัทลุง เจ้าพระยานครมีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดให้จัดทหารลงไปช่วย4ทัพ แต่กำลังไม่พอ เนื่องด้วยเมืองกลันตันและเมืองตรังกานู ได้ยกทัพขึ้นมาช่วย จึงโปรดให้เจ้าพระยาคลัง (ดิศ บุนนาค หรือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์) สมุหพระกลาโหมและกรมท่า เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกองเรือตามลงไปอีก กองทัพสยามได้เข้าล้อมพวกมลายูไว้ ตนกูเดนกับพวกนายกองทั้งหลายเห็นว่าจะหนีไม่พ้นแน่ก็พากันฆ่าตัวตายทั้งหมด (บันทึกทางมาเลย์ว่าเป็นการสังหารหมู่) เมืองไทรบุรีจึงยังคงอยู่ใต้สยามต่อไป

ปีพ.ศ.2381 ในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้เกิดความยุ่งยากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากตนกูมะหะหมัดสหัส ตนกูอับดุลละ ซึ่งเป็นหลานอดีตเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้ตั้งตนเป็นนายโจรสลัดรวบรวมสมัครพรรคพวกมากระทั่งถึงพวกมุสลิมที่เกาะยาวที่พังงา ได้มากพอควรแล้วก็เข้าตีเมือง พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) เจ้าเมืองไทรบุรีกับพระยาเสนานุชิต (นุช) ปลัดเมืองไทรบุรีเห็นว่าเหลือมือ จึงหนีมาอยู่ที่พัทลุงอีกก่อนจะมีหนังสือบอกเข้ามายังกรุงเทพ
             
 เมื่อตีได้เมืองไทรบุรีคืนมาได้แล้ว ตนกูมะหะหมัดสหัสก็ได้ใจ เห็นว่าเจ้าเมืองฝ่ายสยามทางปักษ์ใต้ส่วนมากขึ้นไปช่วยงานออกพระเมรุพระศพสมเด็จพระศรีสุลาไลยในกรุงเทพฯ จึงได้ยกทัพมาทางทะเลเข้าปล้นเมืองตรัง(อำเภอกันตัง) แล้วเตรียมจะไปตีเมืองสงขลาต่อไป สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าฯทรงโปรดให้เจ้าเมืองทั้งหลายรีบกลับไปรักษาเมืองโดยทันที และทรงเกรงว่าพวกเมืองปัตตานีและเมืองบริวาร รวมทั้งเมืองกลันตัน ตรังกานู จะกำเริบขึ้นมาอีก จึงทรงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัด บุนนาค ต่อมาเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกกำลังทางเรือไปป้องกันเมืองสงขลา  เมื่อทัพใหญ่เดินทางไปถึงนั้น ทัพหน้าจากนครศรีธรรมราชก็ยึดเมืองไทรบุรีคืนได้แล้ว

เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนโกษาพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะจัดการเมืองไทรบุรีให้เป็นที่เรียบร้อยต่อไปแล้ว หากตั้งคนไทยเป็นเจ้าเมืองก็คงจะมีความยุ่งยากไม่จบ  พวกบุตรหลานของตนกูปะแงรัน คงจะยกมารบกวนอีก จึงได้จัดแบ่งเมืองไทรบุรีออกเป็น 4 เมืองเล็ก แต่งตั้งตนกูเชื้อสายเจ้าเมืองเก่าให้เป็นเจ้าเมืองเหล่านี้ ส่วนเมืองไทรบุรีนั้น ให้พระยาอภัยธิเบศร์ (แสง) รักษาราชการอยู่ตามเดิม โดยมีตนกูอาหนุ่ม เป็นรายามุดา (ผู้ว่าราชการเมือง) เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์จัดราชการเรียบร้อยแล้ว จึงยกทัพกลับมาพักที่เมืองสงขลาและได้สถาปนาพระเจดีย์อีกองค์หนึ่งคู่กับองค์เดิมที่พี่ชายของท่านได้สร้างไว้บนยอดเขาแดง ปากทะเลสาปเมืองสงขลา ชาวบ้านเรียกเจดีย์สองพี่น้อง เสร็จแล้วจึงได้ยกกองทัพกลับเข้ากรุงเทพ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 22:42

เหตุการณ์บ้านเมืองในไทรบุรีก็คืนสู่ความสงบ เมื่อสิ้นพระยาอภัยธิเบศร์(แสง) ตนกูอะมัดได้เป็นพระยาไทรบุรี ถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามต่อมาจนถึงรัชสมัยของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระยาไทรบุรี(อามัด)ได้แสดงความจงรักภักดี เข้าออกมากรุงเทพเนืองๆ เหมือนดังเจ้าเมืองคนไทยแท้ๆ ท่านโดยสารเรือกลไฟมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง เดินทางมาลงเรือที่สงขลาบ้าง ถึงกรุงเทพแล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า คุ้นเคยสนิทสนมต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าพระยาไทรบุรี

เมื่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นเสวยราชย์ และเสด็จประพาศหัวเมืองมลายูครั้งแรกในปีพ.ศ.2415 ได้เสด็จเมืองไทรบุรี เจ้าพระยาไทรบุรี (อามัด) ถวายการต้อนรับ

ในปี 2419 กุลีเหมืองแร่จีนเมืองภูเก็ตก่อการจลาจล เผาบ้านเผาเมือง ฆ่าฟันทำร้ายราษฎรแตกตื่นเป็นอันมาก เจ้าพระยาไทรบุรี ร่วมกับเจ้าเมืองอื่นๆทางฝั่งทะเลอันดามัน ยกกองกำลังลงไประงับเหตุร้ายในครั้งนั้นสำเร็จ ได้รับความดีความชอบในราชการแผ่นดินด้วย



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:01

พงศาวดารไทยบันทึกไว้ว่า

ในปีพุทธศักราช 2422 เจ้าพระยาไทรบุรี (อามัด) ถึงแก่อสัญกรรม มีท้องตราโปรดเกล้าฯ ให้พระมนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงเมืองตรังรับไปฟังราชการ ณ เมืองไทรบุรี พระยามนตรีสุริยวงศ์ ข้าหลวงมีหนังสือบอกให้หลวงโกชาอิศหากถือมา ว่าราชการเมืองไทรบุรีเรียบร้อย พระยาสตูล พระยาปลิส พระอินทรวิไชย พระเกไดสวรินทร์ พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ พระเกษตรไทยสกลบุรินทร์ ตนกูอาเด ลงชื่อประทับตราปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า เจ้าพระยาไทรบุรีมีบุตรชายใหญ่ 2 คน คนหนึ่งชื่อ ตนกูไซนาระชิด อายุได้ 22 ปี คนหนึ่งชื่อ ตนกูฮามิด อายุ 16 ปี ตนกูไซนาระชิด เป็นที่ควรจะได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณแทนเจ้าพระยาไทรบุรีต่อไป ตนกูฮามิดเป็นน้อง ควรรับราชการรองลงมา จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งตนกูไซนาระชิด เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราช-มุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี พระราชทานพานทอง ตนกูฮามิด เป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา พระราชทานพานครอบทอง

  ในปีพุทธศักราช 2424 พระยาไทรบุรีไซนาระชิดถึงแก่อสัญกรรม พระเสรีณรงค์ฤทธิ์ (ตนกูฮามิด) รายามุดา เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสรีณรงค์ฤทธิ์ รายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี และต่อมาเลื่อนเป็นเจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี ศรีศุลต่านมะหะหมัด รัตนราชมุนนทร์ สุรินทรวิวังษา ผดุงทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขต ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี


ผมขอจบส่วนที่ย่อมาจากพงศาวดารของสยามไว้ตรงนี้  เพื่อเริ่มส่วนที่เป็นบันทึกของทางมาเลย์ ตามคำบอกเล่าของคนในตระกูลสุลต่านแห่งเคดะห์ต่อไป
เมื่อตนกูฮามิดได้เป็นพระยาไทรบุรีนั้นเขาได้จดบันทึกว่าตนกู อับดุล ฮามิดได้เป็นสุลต่านคนใหม่ และสุลต่าน อับดุล ฮามิดนี้เอง คือท่านบิดาของอภิชาตบุตรแห่งมลายู ตนกู อับดุล เราะห์มาน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:30

ย้อนหลังขึ้นไปนิดนึง เมื่อสุลต่านอาหมัดถึงแก่อสัญกรรมนั้น เจ้านายของเคดะห์ก็แบ่งออกเป็นสองฝ่ายแย่งชิงกันเป็นสุลต่านองค์ใหม่ ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนตนกู ไซนัล ราชิด ลูกของชายาคนที่หนึ่ง แต่อีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนตนกู อับดุล ฮามิด ลูกของชายาคนที่สอง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้จึงต้องยกพวกขึ้นไปกรุงเทพ เอาผู้หลักผู้ใหญ่ขึ้นไปฝ่ายละหลายคนเพื่อล็อบบี้ ซึ่งสยามฟังความแล้วก็เลือกตนกู ไซนัล ราชิดให้เป็นสุลต่าน และตนกู อับดุล ฮามิดเป็นรายามุดา สมดังที่พงศาวดารฝ่ายไทยบันทึก

แต่เกมแย่งชิงอำนาจยังไม่จบสนิท สุลต่าน ไซนัล ราชิดเป็นคนไม่เอาไหน ติดฝิ่น และว่าราชการไม่เป็น อาสองคนที่ขึ้นไปกรุงเทพด้วยก็ขอให้สยามตั้งตนทั้งสองเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมกัน หลังจากนั้นเพียงสองปีสุลต่าน ไซนัล ราชิดเกิดอายุสั้นผิดปกติ หนึ่งในสองผู้สำเร็จราชการ คือตนกู เซียอุดดินก็นำคณะขึ้นไปกรุงเทพอีก คราวนี้วิ่งเต้นขอให้ตนได้เป็นสุลต่าน ฝ่ายชายาคนที่สองมารดาของตนกู อับดุล ฮามิด ก็สู้ยิบตา นำเครื่องเพชรเครื่องทองของตนไปจำนำกับเถ้าแก่ที่ปินัง เอาเงินพาคณะของตนขึ้นไปสู้กับฝ่ายนั้นถึงกรุงเทพเช่นกัน

ตรงนี้ต้องชมคนไทยด้วยกันเองสักหน่อย ไม่ทราบว่าเป็นใครแต่คงต้องยกเครดิตให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์โต ท่านหาข่าวจนได้ความว่าตนกู เซียอุดดินนี้ทรงอิทธิพล ถึงจะแก่แต่ยังทะเยอทะยานอยาก เคยเป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองที่ซารังงอร์ เพราะเป็นลูกเขยสุลต่านที่นั่น เมื่อญาติของเมียตีกันเรื่องแบ่งเขตเก็บเงินภาษี ก็นำทหารเคดะห์ไปช่วยฝ่ายหนึ่ง พอแขกรบกันเจ๊กเหมืองแร่ดีบุกที่นั่นก็พลอยแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ยกพวกจับกังเข้าช่วยเจ้านายฝ่ายตน เกิดสงครามกลางเมืองโดยมีพ่อค้าอังกฤษที่หวังผลประโยชน์จากท่าเรือเมืองกลังของซารังงอร์หนุนหลังฝ่ายเคดะห์ รบรากันอยู่หลายปีกว่าจะรู้แพ้รู้ชนะ เศรษฐกิจของซารังงอร์ก็พังครืนเพราะไม่มีใครกล้าทำเหมือง เป็นเหตุหนึ่งที่อังกฤษได้โอกาสเข้าแทรกแซงจนได้ซารังงอร์ไปอยู่ใต้อำนาจในที่สุด

เมื่อสยามเผยท่าทีว่ารังเกียจภูมิหลัง ตนกู เซียอุดดินจึงเสนอน้องอีกคนหนึ่งแทน ก็ไม่สำเร็จ ทรงโปรดเกล้าให้ตนกู อับดุล ฮามิดขึ้นเป็นสุลต่าน โดยให้เหลือผู้สำเร็จราชการเพียงคนเดียวเพราะตนกู เซียอุดดินจำต้องถอนตัว(แล้วหลบไปอยู่ที่ปินัง) ตำแหน่งรายามุดาเดิมที่ตนกู อับดุล ฮามิดครองอยู่นั้นให้ว่างไว้ เมื่อตนกู อับดุล อาซิส น้องแท้ๆของสุลต่านคนใหม่บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ให้ขึ้นเป็นแทน



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:36

สุลต่าน อับดุล ฮามิด เป็นคนทันสมัย ชอบท่องเที่ยวดูความเป็นไปของบ้านเมืองตามรัฐต่างๆ เคยไปถึงสิงคโปร์และอินเดียของอังกฤษ กรุงเทพนั้นไม่ต้องกล่าวถึงไปๆมาๆไม่รู้ว่าจะสักกี่ครั้ง นับถือสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมากเช่นเดียวกับความจงรักภักดีที่ผู้เป็นบิดาถวายต่อพระมหากษัตริย์ไทย ขณะนั้นสยามได้เริ่มปฏิรูปประเทศแล้ว หลายอย่างสุลต่านอยากจะนำกลับไปทำที่เคด่ะห์บ้าง แต่ระบบราชการที่ล้าหลังของที่นั่นยังไม่เปิดโอกาส

เคด่ะห์บริหารรายได้ของตนเอง การที่มีฐานยุทธเศรษฐศาสตร์สำคัญคือเกาะปินังที่ชาวตะวันตกใช้เป็นท่าเรือน้ำลึกและลำเลียงสินค้าลงเรือเล็กเข้าแม่น้ำสุไหงเคดะห์ไปถึงกลางของแผ่นดินใหญ่  แต่ก่อนเจ้าเมืองไทรบุรีตั้งด่านเก็บภาษีอยู่ที่อลอร์ สะตาร์เท่านั้นก็มีรายได้แผ่นดินเป็นกอบเป็นกำแทบไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่นเลย ต่อมาอังกฤษขอเช่าปินังไป แล้วเปิดเป็นเขตปลอดภาษี กิจการต่างๆก็หลั่งไหลเข้าไปตั้งอยู่ที่นั่น รายได้ของเคด่ะห์ก็ตกวูบ ต้องหันไปเก็บภาษีจากข้าว  ฝิ่น และเหล้าแทน แต่ก็รั่วไหลมาก สุลต่าน อับดุล ฮามิดจึงใช้วิธีการของสยาม ตั้งนายอากรขึ้นโดยเอาคนจีนมาเป็นผู้บริหารการคลัง สุลต่านขยันลงมาดูบัญชีรายรับรายจ่ายเองแทบทุกวัน จึงทำท่าจะร่ำรวยขึ้นมามาก

เป็นสุลต่านได้หกเจ็ดปี ไม่ทราบว่าทำงานมากไปหรือเที่ยวมากไป แต่ญาติๆโทษว่าเพราะชอบไปสยาม(ปัตตานี-คนมาเลย์จะถือปัตตานีว่าเป็นสยาม) เพื่อกินวิสกี้ดีๆกับเจ้านายที่นั่นแบบไม่บันยะบันยัง วันหนึ่งเลยเกิดฟุบลงไปเฉยๆ ต้องรักษาตัวกันอยู่ถึงสามปีกว่าจะเป็นปกติ เฉียดตายคราวนี้สุลต่านเลยเพี้ยน เปลี่ยนพฤติกรรมไปเป็นเพลย์บอย การงานไม่อากูร ชอบไปเล่นม้าแข่งที่ปินัง และติดบิลเลียดขนาดตั้งสโมสรขึ้นในอลอร์ สะตาร์ แล้วเชิญแชมป์จากอังกฤษมาแสดงฝีมือ  สุลต่านชักติดการพนัน ชอบเล่นหนักๆกับพวกอาเสี่ยที่เป็นนายอากรและเสียให้เซียนพวกนี้มากกว่าจะได้ เงินในคลังหลวงจึงร่อยหรอไปโดยสุลต่านไม่รู้สึกตัว ตวนกู อับดุล อาซิส น้องชายของสุลต่านขณะนั้นเป็นรายามุดาแล้ว  เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้อยู่บ้างแต่ยังมีอำนาจไม่พอที่จะทำอะไรได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:38

แล้วฟองสบู่ก็แตกเผล่ะ ในปีพ.ศ.2447 สุลต่านจัดพิธีแต่งงานให้ลูกที่มีอายุถึงวัยอันสมควรทีเดียวพร้อมกัน5คน เป็นชาย2หญิง3 โดยจัดเป็นงานช้างแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เชิญบุคคลสำคัญทั้งสยามและอังกฤษ ตลอดจนเจ้านายของนครรัฐมลายูต่างๆพร้อมหน้า โดยเป็นเจ้าภาพรับรองการกินการอยู่ถึง10ทิวาราตรี มีโปรแกรมสำเริงสำราญทุกวันรวมถึงพาขี่ช้างไปล่าเสือด้วย ข้าวของที่สั่งมาตกแต่งอาคารสถานที่และการบริโภคทั้งหลาย สั่งจากห้างใหญ่ๆในปินังแบบระบบเงินเชื่อทั้งสิ้น

ภาพข้างล่างนี้ไม่เคยเห็นกันในเมืองไทยเลย เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมขุนลพบุรีราเมศวร์ประทับนั่งอยู่กับเจ้านายมลายู นายห้างอังกฤษ และข้าราชการของเคด่ะห์ ในวันหนึ่งของพิธีการดังกล่าว

การเลี้ยงมีวันที่ต้องเลิกลา และสิ่งที่ตามมาคือใบแจ้งหนี้ ทั้งที่ไปเซ็นเชื่อเขาไว้ และที่หยิบยืมจากบรรดาเถ้าแก่ในปินังมาทดรองจ่าย รวมกันแล้วติดลบอยู่กว่าหนึ่งล้านริงกิต



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:42

ตวนกู อับดุล อะซิส รายามุดา เป็นอีกคนหนึ่งที่คุ้นเคยสนิทสนมกับราชสำนักสยาม เคยเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทบ่อยๆ ในรูปเป็นคราวที่ไปรับเสด็จสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่สิงคโปร คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก

ตวนกู อับดุล อะซิสสติแตกไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ (ผู้เขียนใช้คำว่า Prince Damrong, the enlightened Minister of the Interior) ขอกู้เงินมาชำระหนี้ ดูเหมือนว่ากรมขุนลพบุรีจะทรงรายงานเรื่องนี้ถวายแล้ว จึงทรงแสดงท่าทีว่าสยามจะช่วยเหลือวิกฤติการณ์ทางการเงินครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าจะทรงรออะไรสักอย่างจากอังกฤษในสิงคโปร์ ก่อนที่จะทรงตอบตกลงให้กู้ซึ่งมีรายละเอียดราวกับIMF   รายามุดาจะต้องตกลงจะปฏิบัติก่อนจะได้เงินจากสยาม กล่าวคือ

1 ต้องทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะขอกู้เงิน2.6ล้านริงกิตจากสยาม ลงนามโดยสุลต่านแห่งเคดะห์
2 เคดะห์ต้องตกลงที่จะยอมรับที่ปรึกษาทางการเงินที่สยามจะส่งลงไปคนหนึ่งเพื่อควบคุมการบริหารการเงินของเคดะห์จนกว่าจะใช้หนี้หมดสิ้น
3 เคดะห์ต้องตกลงที่จะตั้งบุคคลรวมทั้งสิ้น5คน เป็นคณะรัฐสภา เพื่อรองรับกับการทำงานของที่ปรึกษาทางการเงิน
4 คณะรัฐสภามีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินทั่วไป
5 สุลต่านไม่มีอำนาจที่จะกระทำการแต่ผู้เดียวโดยเด็ดขาดสืบไป

ตวนกู อับดุล อะซิสเป็นผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าวร่วมกับมารดาของสุลต่านในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทนสุลต่าน แม้จะไม่มีตราสำคัญประทับแต่กรมพระยาดำรงทรงเห็นว่ามีผลผูกพันธ์ตามกฏหมายแล้ว หนังสือสัญญากู้เงินดังกล่าวจึงได้กระทำกันที่กรุงเทพในวันที่16มิถุนายน 2448 และตวนกู อับดุล อะซิสได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะสมาชิกสภาดังกล่าว

สุลต่าน อับดุล ฮามิดยอมรับสภาพการณ์ครั้งนี้โดยดุษฎี และวางมือในทุกสิ่ง หันไปทำงานด้านสังคมและศาสนา



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:49

ช่วงระหว่างที่ตนกู อับดุล อาซิส กำลังลุ้นกรมพระยาดำรงฯเรื่องเงินที่จะขอกู้จากสยาม ซึ่งดูเหมือนว่าทรงยินดีที่จะให้ แต่ก็เหมือนกับจะรีรออะไรบางอย่างจากสิงคโปรอยู่

โดยข้อเท็จจริง ช่วงดังกล่าวสยามกำลังเจรจากับอังกฤษอย่างเข้มข้น ที่จะแลกอธิปไตยทางศาล และสิทธิอำนาจเต็มเหนือดินแดนภาคใต้จากเมืองบางสะพานลงไปจรดชายแดนมลายูที่ไปพลาดให้อังกฤษในสนธิสัญญาบาวริง กับทั้งจะกู้เงินก้อนใหญ่ดอกเบี้ยถูกจากธนาคารในมลายูมาลงทุนทำรถไฟเอง แทนที่จะให้สัมประทานแก่อังกฤษดังเสนอ ทั้งหมดแลกกับการยกหัวเมืองมลายูทั้งสี่ที่สยามเห็นว่าไม่มีผลประโยชน์ใดอื่น เอาไว้ก็จะมีแต่เรื่องที่อังกฤษชวนทะเลาะเพราะชายแดนที่ไม่ชัดเจนกับสหพันธรัฐมลายูของอังกฤษ  ดังนั้นเงินที่จะให้ไทรบุรีกู้นี้ ทางอังกฤษจะต้องรับทราบ และรับรองว่าสยามจะได้คืน เมื่อมีสัญญาณว่าอังกฤษตกลงว่าหลังการผนวกดินแดนแล้วจะให้สหพันธรัฐมลายูเป็นผู้ชำระเงินกู้นี้แทน หนทางจึงปลอดโปร่ง

การที่สยามได้ตกลงส่งมอบการปกครองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส ให้แก่อังกฤษในครั้งนี้ สุลต่านของรัฐเหล่านั้นไม่ทราบล่วงหน้าเลย แม้เคดะห์จะได้แว่วข่าวมาบ้างก็ไม่ชัดเจน จึงได้มีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงจากรัฐบาลสยาม แต่ก็เงียบหาย ไม่มีหนังสือตอบกลับไปแต่อย่างใด สุลต่าน อับดุล ฮามิด จึงโกรธเคืองมากเมื่อได้รับหนังสือของเซอร์ จอห์น แอนเดอสัน ผู้สำเร็จราชการอังกฤษในสิงคโปร์ เอาใส่พานทองตั้งขบวนแห่มาให้ยังท้องพระโรง ซึ่งสุลต่านได้อ่านดังๆให้ทุกคนในที่นั้นฟังว่า บัดนี้สยามได้โอนสิทธิต่างๆอันพึงได้จากเคดะห์ให้อังกฤษแล้ว รวมทั้งเงินกู้ส่วนที่ยังคงค้างด้วย  และระบายอารมณ์กับเอเธอร์ ซี. อดัมส์ ที่ปรึกษาทางการคลังที่ส่งมาจากสยามตามข้อตกลงสัญญากู้เงินว่า

"ประเทศของฉัน ประชาชนของฉัน ถูกขายไปเหมือนกับขายลูกวัว…

…..ฉันให้อภัยคนซื้อซึ่งมีพันธะกับฉันได้ แต่ฉันให้อภัยคนขายไม่ได้…
.
…สยามมีสิทธิที่จะยกหนี้ไปให้ผู้อื่นได้ แต่ไม่มีสิทธิจะยกตัวลูกหนี้ให้ใคร"


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 พ.ค. 10, 23:51

สุลต่านกลันตัน และสุลต่านตรังกานู ต่างก็มีปฏิกิริยาคล้ายกัน ไม่มีใครอยากไปเป็นข้าฝรั่งที่เอาแต่ผลประโยชน์ของตัว การรวมนครรัฐต่างๆเข้าเป็นสหพันธรัฐมลายูเมื่อสิบกว่าปีก่อนหน้านั้น อังกฤษได้แสดงความเหี้ยมโหดกับคนมาเลย์เหมือนกัน นับตั้งแต่การใช้ปืนเรือยิงถล่มซารังงอร์ ให้ทหารล้อมยิงชาวบ้านที่มีแต่หอกดาบเป็นอาวุธ สุลต่านกลันตันจึงส่งผู้แทนเข้าไปเจรจาที่กรุงเทพทันที  ส่วนสุลต่านตรังกานูรีบส่งต้นไม้เงิน ต้นไม้ทองมาถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แต่ไม่ปรากฏว่าสยามชี้แจงว่าอย่างไร

นอกเหนือจากปฏิกิริยาดังกล่าวของสุลต่านดังกล่าวแล้ว เหตุการณ์ทุกอย่างได้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สนธิสัญญา พ.ศ.2451 ได้เสริมสร้างให้สัมพันธภาพ ระหว่างสยามกับอังกฤษให้ดีขึ้น และสยามเอาตัวรอดจากกรงเล็บสิงโตอังกฤษได้อีกครั้งหนึ่ง



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง