หนูมีเพื่อนลูกผสมเหมือนกัน อยู่ที่เมืองไทยค่ะแถวๆ วัดในภาคเหนือค่ะ
รู้จักเพื่อนของหนูไหมค่ะ ถามพี่วิกกี้ดูก็ได้ค่ะ พี่วิกกี้ก็รู้จักดีค่ะ
เพื่อนหนู เป็นลูกผสมระหว่าง ? + ? = ?
คุณวิกกี้บอกว่า ราชสีห์ + มังกร = มอม
http://th.wikipedia.org/wiki/มอมแต่ตำนานเรื่องมอมกล่าวแตกต่างกันไป
ขอนำบทความของ "จุลจันทร์ นันทมาลา" ในคอลัมน์ "ของดีของงาม...ตามภูมิปัญญาไทย" นิตยสาร "สกุลไทย" ฉบับที่ ๒๕๑๒ ปีที่ ๔๙ ประจำวันอังคารที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาฝากคุณดีดี
มอม
มอมจ้ะมอม ไม่ใช่มอมแมม

มอมเป็นสัตว์ในจินตนาการของชาวล้านนา มักพบเป็นรูปประดับตามสิ่งก่อสร้างทางศาสนา มอมตัวนี้หล่อเชียว ปากกว้างเหมือนกบ ตาโตเหมือนตุ๊กแก คิ้วยกตั้งเป็นแผงยังกะสิงโตกวางตุ้ง
มอมตัวนี้อยู่ที่โบสถ์วัดบุพาพาราม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ของจริงสวยกว่ารูป สร้างมานานเท่าไรไม่รู้เหมือนกัน ถ้าจะให้เดา ขอเดาเอาว่าไม่น่าจะเกินสมัยรัชกาลที่ห้า
มอมมีรูปร่างคล้ายแมวผสมสิงโต แต่สล่าหรือช่างปั้นบางท่านก็ปั้นมอมดูคล้ายตุ๊กแก บางกิริยากระเดียดไปทางค่างก็มี ความคิดเรื่องมอมมีมาแต่ไหน จากไรไม่รู้ ถามผู้รู้ก็ยังไม่ได้ความที่กระจ่างชัด ค้นจากเอกสารก็ยังไม่เจอที่มา พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม ผู้รู้ระดับปราชญ์ล้านนาท่านหนึ่งสันนิษฐานว่ามอมน่าจะเป็นสัตว์พาหนะของปัชชุนนเทวบุตรซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งฝนในคติล้านนา เพราะว่ามีรูปปูนปั้นสวยหวานหยดย้อยที่หอไตรวัดพระสิงห์เป็นรูปเทวดายืนบนหลังมอม นอกจากนี้เวลาฟ้าฝนทิ้งร้างไม่ตกต้องตามฤดูกาล คนล้านนาแต่เดิมจะแห่มอมขอฝน โดยจะเอามอมที่เป็นไม้แกะสลักหรือมอมที่เป็นดินเผาเข้าพิธีในการแห่ แต่ต่อมาเปลี่ยนจากมอมเป็นแมว เอาแมวจริง ๆ มาเขียนหน้าทาปาก อาจให้นุ่งสายเดี่ยวโชว์อกอวบอึ๋มล่อไอ้เข้ก็ได้ จับแมวใส่ในตะกร้าแล้วมัดปากให้แน่น มัดปากตะกร้านะจ๊ะ ไม่ได้มัดปากแมว แมวมันก็ร้องแงว ๆ ไปตลอดทาง คนก็เอาน้ำมาสาดแมวเป็นที่น่าทุเรศเวทนา
ความคิดเรื่องมอมแพร่หลายกระจายไปหลายถิ่นในเขตวัฒนธรรมล้านนา เคยพบในวรรณกรรมไทลื้อสิบสองปันนา เคยพบลายสักรูปมอมบนผิวพ่อเฒ่าชาวไทใหญ่
พ่อเฒ่าชาวปากะญอคนหนึ่งอยู่ที่วัดพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน พ่อเฒ่าสักรูปแมวไว้หลายตัว ยกขาหน้าทำท่าบ๋ายบาย ถามว่าตัวอะไร พ่อเฒ่าว่ามอม
ความคิดเรื่องมอมอาจไม่ได้มีที่มาจากปัชชุนนเทพบุตรทีเดียว น่าจะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มหิทธามหานุภาพอะไรสักอย่าง เพราะหากเกี่ยวข้องกับฟ้าฝนอย่างเดียว ก็ไม่น่าที่จะไปปรากฏเป็นรอยสักบนผิวหนังของคน น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องข่าม คงกระพันชาตรี ประเภท “ปืนบ่มีลูกยิงกูบ่ออก หอกบ่เหลี้ยมแทงกูบ่ตาย” อะไรจำพวกนั้น อันนี้เดาเอา อย่าทึกทักเชื่อตาม เดี๋ยวก็ได้ความรู้ผิด ๆ ติดตัวไปนะเออ
ดูรูปมอมตามปูนปั้นประดับวัดต่าง ๆ ดูแล้วสนุกสนานไปกับจินตนาการโลดแล่นของช่างปั้น ดูท่านอิสระนะ สบาย ๆ ไม่อึดอัดขัดข้องว่าไอ้นี่ผิด ไอ้นั่นไม่ถูก คงไม่ได้มีแบบแผนตายตัวเคร่งครัด เราจึงได้เห็นมอมบางแห่งเหมือนค้างคาวกำลังบิน บางแห่งเหมือนค่างกำลังโจน และบางที่ก็เหมือนตุ๊กแกกำลังคลานเงียบกริบลงจากฝา ความคิดอิสระโลดแล่นเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานช่างพื้นบ้าน ดูไปก็เดาไปว่าผู้คนยุคนั้นน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เคยนั่งรถเพลิน ๆ แล้วฟังวิทยุเพลิน ๆ อาจารย์ท่านนึ่งอยู่แถวมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ท่านว่าหากอยากรู้ว่าสาวบ้านใดหน้าตาเป็นอย่างไร ให้ดูจากพระพักตร์พระพุทธรูปที่วัดนั้น อันนี้ก็น่าจะมีเค้านะ แต่คงไม่เกี่ยวกับมอมที่เอามาเล่าให้ฟัง
วรรณกรรมประเภทค่าวซอบางเรื่อง...เรื่องไหนก็จำไม่ได้แล้ว กล่าวถึงมอมร่วมกับสัตว์ป่าดุร้ายจำพวกเสือ สิงห์ กระทิง ควาย ทั้งหลาย ยังไม่พบที่กล่าวถึงมอมร่วมกับสัตว์น่ารักอย่างพวก เก้ง กวาง กระต่าย กระแต ในพับสาหรือสมุดข่อยภาคเหนือบางทีก็มีรูปมอมเหมือนกัน มักปรากฏในยันต์ บางรูปเหมือนคิตตี้แคทเลย รูปคนดูคล้ายชินจังเป็นคางทูมก็มี น่ารักน่าเอ็นดูออก ลายเส้นซื่อ ๆ ใส ๆ เหมือนใจเด็ก แต่อย่าเพิ่งทึกทักเอาว่าคนเขียนยันต์ได้อิทธิพลมาจากการ์ตูนญี่ปุ่นนะ เพราะท่านเขียนไว้แต่ร้อยกว่าปีก่อนโน่นแล้ว
ของบางอย่างบังเอิญพ้องกัน อย่าวู่วามวินิจฉัย
ตำนานเรื่อง "มอม" จากเว็บนี้ก็น่าอ่าน
http://www.chiangmai-thailand.net/lanna_Mythology/mom.html