สิงโต - ราชสีห์ - lion แต่เดิมนั้น มีความหมายไม่เหมือนกันทีเดียว

ศ. ดร. กาญจนา นาคสกุล เล่าไว้ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๕๗๔ ปีที่ ๕๐ ประจำวัน อังคาร ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เกี่ยวกับราชสีห์ดังนี้
ราชสีห์ เป็นสัตว์หิมพานต์พวกหนึ่ง มี ๔ จำพวก
พวกที่ ๑ คือ เกสรสีหะ หรือไกรสรราชสีห์ คือราชสีห์ที่มีขนสร้อยคอ (น่าจะเป็น สิงโต) เป็นราชสีห์เผือก สีกายขาวดังสีสังข์ปากและปลายเท้าทั้ง ๔ เป็นสีแดงสดใส ขนสร้อยคอสีแดงดั่งผ้ารัตกัมพล ซึ่งมีคำเปรียบว่า “ดังท่านเอาน้ำครั่งละลายด้วยน้ำชาดหรคุณทา” ทั้งปากและท้องก็แดงเช่นนั้น ไกรสรราชสีห์ มีท่วงท่าที่งามสง่าน่าเกรงขาม มีพละกำลังมาก และสามารถเหาะเหินได้ ไกรสรราชสีห์มีเสียงคำรามที่ดังกึกก้องไปได้หลายโยชน์เป็นที่เกรงกลัวของบรรดาสัตว์ทั้งป่า เป็นสัตว์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร
พวกที่ ๒ คือ ติณสีหะ ติณสิงหะ หรือ ติณราชสีห์ คือราชสีห์ที่กินหญ้า (น่าจะเป็นวัวกระทิง) มีสีกาย “หม่นมอ” ทศกัณฐ์มักจะใช้ติณราชสีห์เทียมรถศึกเมื่อออกรบ
พวกที่ ๓ คือ บัณฑุสีหะ บัณฑระสิงหะ หรือ บัณฑูรราชสีห์ คือ ราชสีห์สีเหลือง (น่าจะเป็น เสือ) กินเนื้อเป็นอาหาร
พวกที่ ๔ คือ กาลสีหะ กาละสีหะ หรือ กาลราชสีห์ คือ ราชสีห์สีดำ “เป็นมันหมึกมืด” (น่าจะเป็น หมี) กินเนื้อเป็นอาหาร
สรุปว่า ราชสีห์ซึ่งถือว่าเป็นสัตว์หิมพานต์ ไม่ได้หมายความถึง สัตว์ประเภท lion อย่างเดียว แต่หมายรวมถึงสัตว์ประเภทวัวกระทิง, เสือ และหมี ด้วย