เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4613 ใครทราบเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระลอดิลก ฉันทพากย์" บ้าง
dingtech
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


 เมื่อ 13 พ.ค. 10, 11:30

ที่บ้านผมมีหนังสือเก่าแบบสมุดข่อย เขียนวรรณกรรมเรื่องนี้
จึงอยากทราบว่ามีใครเคยศึกษาหรือมีข้อมูลบ้างครับ  ขอบคุณ  ^___^
บันทึกการเข้า
dingtech
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 17 พ.ค. 10, 21:44

ขอนำเอาที่คัดลอกสักสามบทแรกมาให้ดู   เผื่อท่านผู้อ่านผู้รู้จะได้กรุณาชี้แนะประเมินสำนวนหรือยุคสมัย

ถ้ามีเวลาจะใส่ตู้หนังสือไว้ครับ



๑๔   
๏   ศีศีวิสารศุขสวัดิ......................ขัติราชฤาไกร
   ผู้ผ่านอยุทธยมไห...................สุรศักดิเจษฎา
   จอมมิ่งมกุฎิธรนินทร์.................นรโลกยฦาชา
   ไชโยตโปฤทธิก็ปรา..................กฏิทั่วทิศาดร
   เสด็จรานณรงคั?รีปูราช..............สูรเดชฦาขจร
   หักโหมมหันตดัษกอร................ก็พินาศประไลลาญ
   รามัญตเลงแลหรพุญ.................ชยย่อบ่อห่อรหาญ
   โยธาคณามคตผลาญ.................ริปุปิ่มทุลีลม
   เสรจ์ล้างอรินฤบดินทร์................อิศเรศปรากรม
   เสด็จคืนคณาพิริยสม.................ศุขเสวยนครวร
   แสนสนุกพิศรีอยุทธเยศ..............ยศโยคเอมออร
   ทุกทวยประชานิกรสอร...............มนศาธุเปรมปรี
   นานาประเทศทสทวา.................สรรเสริญบูรีศรี
   ถวายกองผกากรชุลี..................บทรัตนภูมินทร์
   ทรงเกรีษฏิกรุงอุกฤฐยิ่ง..............สุวภาคยเมืองอินทร์
   ผู้เบจบรมวรนริน......................ทรเทพเหมือนหมาย
   จักถาปันนานิยมกล่าว................พระลอเลิศฦาสาย
   กลอนกล่อมประนอมยุบลถวาย......อนุโดยบุราณการ   

๏   เริ่มเรื่องพระลอลักษณบดี............เสน่ห์สรองสุดามาลย์
   แม้ยลจอำมฤตยสาร..................ศุภโสตบดายดู

๑๖
๏   สรวมสฤษดิสร้อยสยมภู..............วรารัตนไตรตรู.......................ประเวษภานศิโว
   สรวมศระสุรินทรพรหมโม.............จตุโลกยสุรีโย.......................จันทรจรัศไพบูรรณ์
   สรวมสวัสดิเนาวเทพอดูร   .............เวศสุวรรณ์ไวกูลท์....................มกุฏเกล้สเมาฬี
   สรวมเกตตรอารักษ์เรืองศรี...........จักรพรรดิผู้มี.........................ผู้จอมสุธาสบสกล
   เชิญช่วยบำบัดนิศผล.................อวยสรรพมงคล......................แต่ข้าผู้จองสารา

   แถลงเรื่องกษัตรสืบมา...............โดยนามสมยา........................ท้าวบรมแมนสรวงผู้บาล
   เปนองค์ขัติโยเหี้ยมหาญ..............วิชาชำนาญ..........................ในสิลปสาตราคม
   เนาในพระไทสวงเสวยรมย์............สมบัติอุดม...........................ปรางมาสประดับมณิน      
                มีมิ่งอรรคราชเทพินทร์................เฉกแก้วกินริน........................นามนาฎบุญเหลือโฉมเฉลา
   ปวงสนมเสาวภาคยนงเยาว............นิ่มนวลพัลเหา........................ประเหล้สุรางค์เมืองแมน
   มีหมู่มุขมาตยห้อมแหน................โยธานับแสน........................สำเริงคนองในณรง
   แสะสารสุนธรรูปทรง..................รถรัตนอลง...........................กฏแก้วกหนกไกตรอง
   เมืองออกร้อยเอดสยบสยอง..........นำบรรณาของ.......................วิเศศโสมสรถวาย
   ท้าวมีเอารสเลิศชาย...................สมบุญวรกาย........................อวยนามพระลอแจ่มจันทร์
   ประทานพี่เลี้ยงเลือกสัน...............ขุนแก้วหมื่นขวัน......................อยู่ถนอมพระบาทร่วมใจ
   ท้าวบรมแมนสรวงสิทธิไชย............ปนปิ่นภพใน..........................ประเทศทิศปัจฉิมา
   
   มีกระษัตรฝ่ายบูรพทิศา...............ทรงนามราชา.........................ท้าวพิมสาตรผู้มี
   เสวยราชกรุงสรวงวดี..................มีพระมหิษี............................ชื่อจันทรประภาสุริยวงษ์
   มีสนมเสนาจตุรงค์....................กระษัตรร้อยเอ็ดองค์..................โอนเกล้าเปนข้าขอบคัน
   ท้างทรงทศพิธราชธรรม์..............เสวยราไชสวรรย์......................นัคเรศเกษมสบไสม
   มีราชเอารสยศไกร...................ชื่อท้าวพิไชย..........................พิศนุกรกูมาร
   ครั้นบุตรค่อยวัฒนาการ...............สมเด็จภูบาล..........................ให้จัดพธูเทวี
   นามนางดาราวดี......................อภิเศกสองศรี.........................ให้เสวยสมบัติกึ่งเมือง
   เปนองค์อุปราชรุ่งเรือง................สนมนางนองเนือง.....................นอนเฝ้าบำเรอรักษา
   เสวยศุขจำเนียรนานมา...............มีราชธิดา..............................สององค์ละออพึงใจ
   พระชนักรักษ์ร่วมฤไท................เฉลิมขวันทรามไว้......................อวยนามพระหน่อสองรา
   นามพี่ท้าวเพื่อนพังงา.................พระขนิฐถัดมา.........................ชื่อท้าง?แพนทองเทพี
   จักแถลงโฉมสองกระสัตรี............ทรงลักษณศรี..........................เสาวภาคยเพียงสาวสวรรค์
   ภัคตราตรูแจ่มเจียนจันทร์............จุไรเยียวกรรณ์.........................โมลิษสลวยนวยนิล
   ขอบขนงกงกำพชอินทร์..............ไนยเนตรคือสิลป์.......................แสล้มดูตรูกฤษนา
   นาสิกเฉกขอกามา....................รไบกรรณา.............................เช่นช่ออุบลบานขจาย
   ภพินเพญภาคยเดือนฉาย.............โอฐแย้มพร้องพราย....................คือศรีปทุมกลิ่นขจร
   ทันตเทียมรัตนาพรณ์..................หนุพติสมร............................พิมพาลตรางกระกอง
   คิวากลวาศเคลือบทอง................พาหาสุดสอง...........................รทวยเงื่อนงวงหัศฎี
   นขแดงดุจทับทิมศรี...................ทศาคุลี................................นแหน้งละออนิศกลง
   ทรวงเสมอสถานเทพผจง..............เดาะดวงดั่งบง.........................กชมาศเมื่อตูมบังใบ
   จงเกกลแก้วเจียรไน...................อรุศวิไล...............................ประเล่ลำกัทลี(น)
   ชงคากลมสวยโศภิน...................ประเล่ห์ชังคิน..........................มฤคเมิอเยื้องลิลา
   ขหนองบาทเฉกขนองกัจฉะปา.........พึ้นเพียงเลขา.........................วิจิตรผจงลวดลาย
   สำเนียงวรรณรูปกลิ่นอาย..............เปนที่ชอบชาย.........................สำผัศฤดีลาญสมร
   มฤยาตรย่างเยื้องกรายกร..............เฉกโฉมกินร..........................ในห้องไกรลาศเงอนยอง(ยวง?)

             ฯลฯ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 10:03

ดูจากคำประพันธ์ตอนต้นที่คัดตัดตอนมาให้อ่าน   แสดงว่าแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๕  แต่ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้   


ในช่วงรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา   การนำวรรณคดีเก่ามาแต่ใหม่ด้วยคำประพันธ์ประเภทอื่นเป็นที่นิยมกันมาก   โดยเฉพาะคำฉันท์กับลิลิต  นัยว่าเป็นการแต่งเพื่ออวดฝีมือของผู้แต่ง   ในสมัยรัชกาลที่ ๕  การแต่งฉันท์เป็นที่นิยมพอควรและฉันทลักษณ์ของฉันท์ก็เข้าสู่การใช้ครุลหุตามลักษณะฉันท์บาลีสันสกฤตซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยรัชกาลที่ ๖   

ไม่แน่ใจว่าในวิทยานิพนธ์เล่มโตของ ญาดา  อรุณเวช  จะได้กล่าวถึงฉันท์เรื่องนี้ไว้หรือไม่  แต่ถ้าเป็นวิทยานิพนธืว่าด้วยเรื่องพระลอแล้วยังไม่พบว่ามีใครเคยศึกษาพระลอสำนวนนี้มาก่อน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 10:14

ตรงไหนที่คุณหลวงเล็กเห็นว่าแต่งในรัชกาลที่ ๕ คะ?
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 10:42

อ้างถึง
ถวายกองผกากรชุลี..................บทรัตนภูมินทร์
 ทรงเกรีษฏิกรุงอุกฤฐยิ่ง..............สุวภาคยเมืองอินทร์
ผู้เบจบรมวรนริน......................ทรเทพเหมือนหมาย 
จักถาปันนานิยมกล่าว................พระลอเลิศฦาสาย
กลอนกล่อมประนอมยุบลถวาย......อนุโดยบุราณการ   

ตรงนี้ครับ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 10:51

เบจ  หมายถึง เบญจ หรือคะ
ดิฉันสงสัยตรงนี้
   เสด็จรานณรงคั?รีปูราช..............สูรเดชฦาขจร
   หักโหมมหันตดัษกอร................ก็พินาศประไลลาญ
   รามัญตเลงแลหรพุญ.................ชยยอบ่อห่อรหาญ
   โยธาคณามคตผลาญ.................ริปุปิ่มทุลีลม
   หมายถึงใคร ที่ไปรบกับรามัญ(มอญ) ตเลง(พม่า) หริภุญไชย (ทางเหนือ)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 11:03

เข้าใจว่าเป็นไปตามนั้น  เบจ นั้น คงจะจะคัดลอกตก ญ ไป  ทั้งนี้คงต้องถามเจ้าของฉบับว่าคัดลอกมาอย่างไร

ส่วนที่ว่า
อ้างถึง
ดิฉันสงสัยตรงนี้
   เสด็จรานณรงคั?รีปูราช..............สูรเดชฦาขจร
   หักโหมมหันตดัษกอร................ก็พินาศประไลลาญ
   รามัญตเลงแลหรพุญ.................ชยยอบ่อห่อรหาญ
   โยธาคณามคตผลาญ.................ริปุปิ่มทุลีลม
   หมายถึงใคร ที่ไปรบกับรามัญ(มอญ) ตเลง(พม่า) หริภุญไชย (ทางเหนือ)

ผมว่า   คนแต่งแต่งตามความในร่ายต้นเรื่องลิลิตพระลอครับ  ส่วนความต่อจากนั้นเป็นส่วนที่คนแต่งเติมเข้าไปเพื่อระบุว่าแต่งสมัยรัชกาลที่ ๕  คงจะเอาตีความรวมกันไม่ได้  มิฉะนั้นคงจะต้องถอยเวลาขึ้นไปอีกราวรัชกาลที่ ๑ - ๒ แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะครุลหุในฉันท์แล้ว   เห็นว่า   ไม่เก่าเกินรัชกาลที่  ๕  ขึ้นไปแน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 11:19

เชื่อว่าเรื่องนี้แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ค่ะ  ไม่เก่าจนถึงอยุธยา
มีเรื่องตัวสะกดอีกเรื่องหนึ่ง ที่น่าพิจารณาเหมือนกัน     ภาษาในเรื่องนี้น่าจะประมาณรัชกาลที่ ๖ อย่างช้า ไม่น่าจะถึงรัชกาลที่ ๗
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 20 พ.ค. 10, 11:36

เรื่องถ้อยคำในร้อยกรอง  พิจารณายากครับ   ไม่เหมือนภาษาในร้อยแก้วที่พอจะชี้แบ่งได้ว่าเป็นวรรณกรรมสมัยใด  แต่ก็เป็นการชี้สันนิษฐานได้อย่างกว้างๆ  เท่านั้น   ถ้าวรรณกรรมเรื่องนี้ไม่มีข้อมูลส่วนใดที่พอระบุสมัยได้   เราถึงจะใช้ภาษาในการพิจารณาอายุของวรรณกรรม  และก็มีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก

เพราะภาษามีระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงสมัยไม่เท่ากัน   ยิ่งถ้าเป็นภาษาในร้อยกรองด้วยแล้ว    จากสมัยปลายอยุธยามาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ รัชกาลที่ ๕ ตอนต้น  แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลย  แต่อาจจะมีคำโบราณบางคำที่หายไป   แต่พอเริ่มกลางๆ รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นไป   ภาษาในร้อยกรองจะเปลี่ยนไปพร้อมๆ กับฉันทลักษณ์   และในขณะเดียวกัน  หลังรัชกาลที่ ๕ ไปแล้วความนิยมเอาวรรณกรรมเก่ามาแต่งด้วยฉันทลักษณ์อื่นจะน้อยลง    คำประพันธ์ประเภทฉันท์ยาวๆ  จะมีไม่มาก  แต่ที่แต่งสั้นๆจะเยอะขึ้น   ลีลาการแต่งก็จะเน้นการบรรยายเล่าเรื่อง    การพรรณนาจะน้อยลงจนแทบหาไม่ได้ในคำประพันธ์บางเรื่องทีเดียว
บันทึกการเข้า
dingtech
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 21 พ.ค. 10, 10:17

ขอขอบคุณท่านอจ.เทาชมพู และคุณหลวงเล็กที่กรุณาให้ความเห็น
เรื่องคัดลอกสะกดการันต์ทบทวนนับสิบครั้ง ที่ไม่ชัดหรือสันนิษฐานผมใส่วงเล็บไว้
หากตกหล่นขอให้คิดว่าเป็นตามต้นฉบับไปก่อน ผมยังอัพรูปเข้าเว็บบอร์ดนี้ไม่เป็น

มีประเด็นอยากเรียนถาม 2 ข้อคือ
1. การใช้สมุดข่อย เขียนตัวรงของเรามาเลิกราถึงยุคสมัยใด (มีกระดาษและเท็คนิกการพิมพ์เข้ามาจนสะดวกใช้ทดแทน)
2. คำ "ผู้เบจ" ผมกลับคิดว่าน่าจะเหมือนคำ "ภูเบศร"ในปัจจุบัน
มีคำว่า "ผู้มี" "ผู้บาล" ซึ่งน่าจะเข้าได้กับ "ภูมี" "ภูบาล"  แต่ก็ลักลั่นอยู่ มีคำว่า "ภูบาล"ปรากฏอยู่ด้วย
พอมีเหตุผลไหมครับ

ขอโพสต์บทชมนกให้ดูบ้างครับ :

๑๑
๏    สองนางก็ชื่นชม         ประนมหัถกราบลา
   ปู่เทพจอมผา         ประเสริฐสิทธิเกรียงไกร
   ขึ้นขนองคชาชาญ      สหพฤฒิคลาไคล
   เลียบเชิงพเนินไสล      อนุมารศชุยชาย
   ด้วยอานุภาพเดช         พระปู่เทพฤาสาย
      ป่ากลัวก็กลับสบาย      บริบูรรณ์พึงชม
      เหลียวเลงสถานเถือก      วลูลาษดวงกลม
      ดวงเด่นพยับลม         ลแลบแสงตระหลอดตา
      รอบคันกุฎีแก้ว         ผลพฤกษอาภา
      พิจิตรเลขา         กลฉัตรรกัง(กั้ง?)กัน
      พิศภูมประไพเพียง      พิมานรัตนรังสัน
      ปานปรางวิไชยันต์      ชรอำมราเรือง
      พิศในขจีเจียน         มรกฏประเทืองมเลือง
      ดอกภาคยหลายเหลือง      กลชาติตรูตรู
      ดวงแดงก็แดงปัท-      ทัมราชชมภู
      ศรีเสวตรบริสุทธิ์ดู      ปดุจมุขมณีแนม
      บานเบญจเบงบาน      วนาเนกประกอบแกม
      บาบุศเพจแพลม         รบัดบัติร่วงโรย
รูนู(เรณู?)ขจายปราย      รศเกษราโปรย
ศาโรชรเหยโหย         นรเทวพิศไสม
เสียงสัตวแซร่ร้อง      ก็วิเวกพนัศไพร
คือเสียงสกุณไณ         ทิพจิตรลดาวัน
เมินมิ่งพนมชม         สีลาลาษเปนลันลัน
พื้นเพชรพรายพัรร      รโณภาพทิพากร
พิศพลางก็เพลินเนตร      มโนนาถเอมอร
ล่วงลงพนาดอน         ก็เลงพฤกษนานา
ออกดวงรดูผล         ชเนียนนอม(น้อม?)นุสาขา
ชมชาติปักษา         จจอจับสลับเรียง
โพรโดกดุเวาเขา         กทาท้าผสมเสียง
แขกขวานประเมินเมียง      ขมิ้นหมายทลอนฟาง
คลุ่มคล้านุคลึงโคลง      ก็โคลงเคล้าคณานาง
ขุ้มครวญกระลางคราง      กระลิงลอดกระแหลแล
เปล้าปลอมลปลอบเสา      กระสาสวนกระสังแตร
กฏกฏคับแค         อิลุ้มเลียบประนังรัง
โกกิลก็กินผล         ผลารุกขใบบัง
แซงแซวรวังหวัง         จเชยชู(ชู้?)บเหนโหย
โอดเอียงประแอนออร      กจิบจรกจาบโดย
เขาคูก็ชวนโชย         นเขากุนทกองสี
เสนาะเสียงนุโนเบญ      จวรรณานุโนรี
สัตวาสุวาที         ผสารศรัทซอเซีย
แขกเต้ากตั้วษา         ลิกาโกญจมัวเมีย
ปากป้อนประโลมเลีย      รศภักษเยื่อ(เหยื่อ?)ยาม
ขุนยูงก็ย่องฟอน         กระยอน(ย่อน?)แพนฟฟายงาม
นางยูงกระยับตาม      ยย้ายย่างเฉวียนเวียน
หมู่มฤคกวางทอง      ก็ท่องท้องพนัศเถียน(เสถียน?)
ชายมาศรมั่งเมียน      ก็อเนกโจษจรร
เมินโบกขรนีกล         อโนดาตนัททีสวรรค์
มีมัจฉาหลากพรรณ์      คเคลื่อนเคล้ากระแสสินธุ์
บ้างว่ายชลาเลีย         กระมุ่นมุดธราริน
บ้างกฤษผกาตฤน      ลเลียบเครือสาหร่ายทอง
ฝ่ายฝูงทิ(ชา?)ชาติ      ประสงสินธุเนืองนอง
เปจน้ำก็ลองปอง         จะคอยคาบมัจฉิมปลา
หมู่จากกระพรากพรร      ณห่านหงษ์ก็หรรษา
ลอง(ล่อง?)โลมคณาหา      สกุลกุ้งก็นามเนา
ดอกบัวก็จับบัว         ประทุมบุษพรายเพรา
ใบก้านสลับเสลา         ก็ฟูมฝักรคนปน
สอย(ส้อย?)สัตบัณบง      กชมาศนิโลบล
โกมุทนุลงกล         ก็คลี(คลี่?)คลีบ(กลีบ?)ระบายบาล
กองเกษราร่วง         ก็กลั้วกลิ่นอุทกธาร
แมลงภึ่งวลีลาญ         ก็เอาสาบลอองอึง
บ้างบินประปรบปีก      วว่อนร้องทรหึงหึง
มี่ศรัทอึงคนึง         สถานเทพนมไพร
สองนาฎชมพลาง      เกษมศุขคลาไคล
ช้างล่วงลุะวังใน         อุปรัตนปรางศรี
รับขวันธิดาราช         พระแม่จงสวัสดี
ไยโรคอย่ามี         ประสงค์ใดลุะปราถนา

ฯลฯ

และสำนวนโคลงตอนจบ



๏   ท้าวทูลธิราชไท(ไท้?)      ชนนี
      ไหว้บาทบงกชศรี         ใส่เกล้า
      ขอพระอยู่อย่ามี            ใจเหนื่อย พระเอย
      จะใคร่ลาพระเจ้า            เที่ยวเล่น(เหล้น?)ฟนสน(พนาสน?)      
๏   ออกท้าวฟังลูกท้าว      ทูลลา
      เจ้าแม่เปนใดมา            ดัง(ดั่ง?)นี้
      หมอยา(อยู่?)รักษา         สงวนราช    นพ่อ
      สุดกำลังเขาชี้            ยากแท้ทุกอัน

      ๏   ผีสางเขาส่งซ้ำ         เติมมา   มากนา
มนตรมายายา            ยูกช้ำ
วันใดราชลิลา            ยกย่างไปนา
อกแผนผอมไข(ไข้?)คว้ำ         หล้มล้มพระองค์

๏   พระลอลามได้         ทนทุก(ทุกข?)อยู่นา      
      บัดนิ่งบัดนอนลุก         เสร้าสร้อย
      ไอสวรรยบเปนศุข         เสวยโศก  ไช้นา
            ทรโหยสุดแสนลห้อย         บได้เสบย

๏   นางเมืองแนบแน่นเฝ้า      จอมกรษัตร
      ถนอมบาทบงกชรัตน         ใส่เกล้า
      พระสนมรำเพยพัด         ไกวแกว่ง  พัดนา
      พระราชชนนีเจ้า            ลูบไล(ไล้?)รับขวัน

๏   พระลอบส่างเศ้า         ศรีหมอง   อยู่นา
      ล้มหลับมเมอหา            สองหนุ่มเน้า(หน้า?)
      เคลน(เคล้น?)ไหลหวาดใจปอง      ปองไป่     ลุะเลย
      คิดคำนึงโอ้อ้า            ใคร่กลั้นใจตาย

๏   ตื่นขึ้นวอนว่าข้า         จักไป
      ประพาษไพรพลาง         ไล่ช้าง
      ชมพนมพนาไลพลาง         ไล่มฤคา
      ชมป่าดงพงกว้าง            เถื่อนถ้ำสรศรี

๏   ออกท้าวฟังลูกไท(ไท้?)      ปรารม   อยู่นา
      ป่าว่าจไปชม            ฉ้อไม้
      ครั้นไป(จัก??)ไปสม         สองราช   แลนา
      ไช(ไช่?)เลห์(เล่ห์?)วอนไจไจ้      จักห้ามกลใด


๏   หาโหรหาถ้วนมิ่ง      มนตรี
      หาปู่สิทธิไชลี            ลาศเต้า
      แถลงคำแก้กษัตรี         ทุกสิ่ง   แลนา
      โหรว่าจักห้ามเจ้า         แผ่นหล้าฤาคง

๏   สิทธิไชทูลแต่เจ้า         จอมกรษัตร
      แม้เทพจักมาทัด            บได้
      มนตรีว่าเหนขัด            ทุกสิ่ง   แลนา
      จส่งสารถึงไท(ไท้?)         สืบสองกลขาม

      ๓
๏   ธขอบความมนตรี      กลกล่าวดีชอบแท้
      แก้อื่นบได้แก้            ดั่งนี้เหนควร

      ๒
๏   จึ่งเสดจ์ยูรยาเต้า         กล่าวแก่พระลอเจ้า
      พ่อเอย(เอ้ย?)ปรานี   แม่รา

ร่าย
๏   แม่ฟังคำพ่อว่า     ใคร่เล่นป่าชมเขา   แม่เข้าใจคำจึง     พ่อคำนึงอึ่นไซ(ไซ้?)
พระบอกจริงจริงให้   แม่รู้เตมใจ     นึงรา

      ๒
๏   ข้ารำพึงอึ่นแท้         จะบอกความนั้นแล(แล้?)
      พระห้ามขัดใจ   ลูกนา

๏   สิ่งใดภอใจแก้ว         ยังห่อนฤาให้แคล้ว
      ขัดข้องใจขุ่น   แม่นา

๏   ขุนตามความชอบแล้ว      แต่จตามใจแก้ว
      ห่อนให้เคืองเลย

๏   พระเอยหัวใจข้า         คิดใคร่ไปเหนหน้า
      สองเพื่อนไท(ไท้?)แพงทอง

๏   ความปองลูกบได้      บราง(ร้าง?)เหนหน้าไท(ไท้?)
      ธิราชแล(แล้?)ณหัว   ลูกเอย

      ๏   ลาบัวบาทเจ้าหล้า      ไปสู่สองเจ้าข้า
      จึ่งผาย(ผ้าย?)คืนมา          ๚ะ๛



                   จบพระลอดิลก      ฉันทพากย์บริบูรรณ์      ๚ะ๛


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 21 พ.ค. 10, 10:35

คำถามที่ ๑  ที่ว่า  การใช้สมุดข่อย เขียนตัวรงของเรามาเลิกราถึงยุคสมัยใด
ตอบว่า  น่าจะค่อยๆ ลดความนิยมไปในสมัยรัชกาลที่ ๕  กลางๆ รัชกาล

คำถามที่ ๒ ตอบว่า  การสันนิษฐานของผมที่ผ่านมา  ว่าเป็นรัชกาลที่ ๕ นั้น  ท่าจะเป็นอันตกไป  แต่สังเกตจากรูปแบบฉันทลักษณ์ฉันท์ที่ใช้  ยังพอกำหนดได้ว่าน่าจะอยู่ราวๆ รัชกาลที่ ๕ ประกอบกับช่วงรัชกาลที่ ๕ ยังมีการใช้สมุดไทยเขียนตัวรงอยู่  จึงยังมีความเป็นไปได้   

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ รูปแบบของฉันท์ยังเป็นอย่างฉันท์สมัยอยุธยาโดยมาก  คือใช้เสียงหนักเบาตามลักษณะการอ่านหรือการออกเสียง


เท่าที่อ่านตามที่คุณdingtechคัดบางตอนมาให้อ่าน   คนแต่งฉันท์เรื่องนี้มีฝีมือดี   คงจะได้เรื่องอื่นอีกกระมัง   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 21 พ.ค. 10, 10:57

ตัวอย่างฉันท์สมัยรัชกาลที่ ๖  คือมัทนะพาธา และพระนลคำฉันท์    พอจะยกมาเทียบด้านภาษากันได้   อ่านแล้วคิดว่า พระลอเวอร์ชั่นนี้ภาษาเก่ากว่า
คนแต่ง น่าจะเป็นกวีฝีมือเยี่ยมทีเดียว  ใช้ภาษาเก่าสมัยพระลอได้ไม่ขัดเขินเลย
ที่ไม่คิดว่าสมัยอยุธยา   เพราะไม่คิดว่าสมุดข่อยจะรอดมาได้ในสภาพดีพอจะอ่านข้อความได้หมดทั้งเรื่อง   ถ้ารอดมาได้ต้องมีการเก็บรักษาอย่างดีเยี่ยม    เอกชนที่เป็นเจ้าของมักไม่รู้จักวิธีเก็บรักษา 
ยกเว้นแต่ว่าสมุดข่อยนี้ลอกจากของเก่าสมัยอยุธยามาอีกที

การแต่งร้อยกรองตามขนบโบราณ เช่นในการแต่งฉันท์     เราจะรู้ว่าเป็นรุ่นเก่าหรือใหม่ มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่ากวีรุ่นหลัง  ถึงอย่างไรก็ไม่วายใช้คำร่วมสมัยเข้ามาปนในบางตอน   เพราะเป็นความเคยชินตามสภาพแวดล้อมของท่าน
คำที่"หลุด" เข้ามานี้ อ่านดีๆจะเจอ    เช่นมัทนะพาธา  ท้าวชัยเสนกล่าวกับมัทนา ว่า

   อ้าอนงคะเชิญดำเนินสนิท       ณ ข้างดนูประดุจสุมิตร
   มโนมาน 
  ไปกระทั่ง ณ ฝั่งอุทกอะจีระธาร    และเปล่งพะจีณสัจจะการ   
  ประกาศหมั้น 
  ต่อพระพักตร์สุราภิรักษะอัน       เสด็จสถิตณเขตอะรัณ-
  ยะนี่ไซร้ 
  ว่าดนูและน้องจะเคียงคระไล      และครองตลอด ณ อายุขัย 
  บ่คลาดคลา 
   สมัยโบราณ  ไม่มีการ" ประกาศหมั้น"   มีแต่ "หมั้นหมาย"  แต่ในรัชกาลที่ ๖  การประกาศหมั้นมีแล้ว  มี "พระคู่หมั้น" ด้วย
   ถ้ามีเวลาจะไปหาลิลิตพระลอมาเทียบภาษาดู   แต่บอกได้จากความทรงจำว่าภาษาในลิลิตพระลอเก่ากว่า และมีศัพท์ที่ไม่ใช่ไทยภาคกลางปะปนอยู่มากมาย      พระลอในกระทู้นี้  ใช้ศัพท์ไทยกลาง  แต่มีกลิ่นอายภาษาเดิมจากลิลิตอยู่หลายคำ   กวีใช้อย่างมั่นใจว่ารู้ศัพท์เหล่านี้ ว่าแปลว่าอะไร

ภาษาในนี้  ทำให้นึกถึงนายชิต บุรทัต
บันทึกการเข้า
dingtech
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 พ.ค. 10, 14:46

ขอบพระคุณท่าน อจ.ทั้งสอง ผมเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ แต่ก็รักและสนใจวรรณกรรมไทยมาก
เห็นว่าเรื่องพระลอดิลก ฉันทพากย์นี้ ไพเราะและน่าศึกษา  มีศัพท์เก่าๆที่ท้าทายหลายตัวอยู่ 
หากมีนักศึกษาใคร่อยากทำวิจัย หรือปริญญานิพนธ์น่าจะดี  เป็นการต่อชีวิตหนังสือเก่า 
ยินดีให้ชมและศึกษา ติดต่อผมตามอีเมล์นี้  suravitte@gmail.com

ผมมีสมุดข่อยอีก 2 เล่ม อยู่ในกองเดียวกันคือ  ปถมมาลา และ สุภาสิทธิคำโครง (สะกดตามต้นฉบับ)
ทั้งหมดสภาพมอดกิน แต่อักขระยังชัดเจนเกือบทั้งหมด
บันทึกการเข้า
yyswim
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 22:34

คุณดิ่งครับ

รับหลังไมค์ด้วย...


อ้อ ถ้าจะไว้วางใจ ให้ผมช่วยถ่ายรูปสภาพหนังสือทั้งสองเล่ม

ก็ยินดีช่วยครับ แม้ ฝีมือจะระดับมัธยม....
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง