เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 33075 จิตรกรรมในพระปรางค์ ภาพเขียนสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


 เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:08

สวัสดีครับ หลายวันก่อนได้มีโอกาสเดินทางไปราชบุรี และได้เข้าไปถ่ายภาพในคูหาพระมหาธาตุ
และโชคดีที่มีคนช่วยให้ความรู้ระหว่างถ่ายภาพ เรียกว่าได้เรื่องราวที่น่าสนใจหลายจุดทีเดียวครับ
ภาพเขียนรูปอตีตพุทธ หรือพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอตีตเหล่านี้ จัดได้ว่าเป็นภาพเขียนประกอบ
พุทธศาสนาสถานที่เก่าแก่ที่สุดหนึ่งของเมืองไทยชิ้นหนึ่ง เพราะในปัจจุบันภาพเขียนที่มีอายุเก่าแก่
นับแต่สมัยอยุธยาตอนกลางขึ้นไป มีเหลือให้ชมอยู่ไม่กี่ที่เท่านั้น กระทู้นี้ผมจึงขอรวบรวมภาพบางส่วน
มาให้ชมกันโดยสังเขป เผื่อมีประเด็นที่ทำให้ท่านไหนอยากจะไปชมบ้างก็ดีครับ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:19

สวัสดีครับ น้องเน อยากให้มีัคนมาเปิดกระทู้วัดมหาธาตุมาเนิ่นนานแล้ว เพราะหารูปชมยากเหลือเกิน

เวลาใครๆพูดถึงจิตรกรรมวัดมหาธาตุ ก็มักพูดกันถึงแต่อดีตพุทธ แต่ไม่ได้รู้เรื่องราวอะไรมากกว่านั้น ทั้งลวดลายประดับ สถาปัตยกรรม คติความเชื่อทางศาสนา

เมื่อก่อนอาจารย์ชมพูนุท เึคยกล่าวถึงเรื่องสีในจิตรกรรมวัดนี้ไปแล้ว ลองไปหาอ่านกัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครกล่าวถึงอีก ยกเว้นอาจารย์สันติ เล็กสุขุม ที่ศึกษาเรื่องแบบพระพักตร์พระพุทธเจ้า

แม้แต่ตัวอย่างจิตรกรรม ก็มีเพียงรูปสองรูปให้ชมกันพอเป็นกษัย น่าน้อยใจนัก ทั้งๆที่สำคัญเหลือเกิน และเหลือสมบูรณ์อยู่ไม่กี่แห่งในไทย เชื่อมโยงได้ทั้งวัดราชบูีรณะและศรีลังกา พม่าพุกามจามเขมร (จามไม่เกี่ยว พูดให้คล้องกันเล่นๆ)

เอารูปใหญ่ๆเลยนะ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:20

ที่วัดมหาธาตุกำลังมีการขุดค้นร่องรอยการทับซ้อนของสิ่งก่อสร้าง ในสมัยต่างๆที่อยู่ลึกลงไปในพื้นที่เดียวกัน
รู้มาว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจมากมาย เห็นทีคงต้องไปคะยั้ยคะยอให้ คนที่ทำทีสิสเรื่องนี้เล่าให้ฟังว่ามีรายละเอียด
อะไรลึกไปกว่าที่เราเห็นๆกัน แต่คร่าวๆอย่างน้อยที่นี่ก็เป็นศาสนสถานที่มีมาตั้งแต่สมัยเขมรเมืองพระนครเรือง
อำนาจ ส่งอิทธิพลมาถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง และปรากฏชิ้นโบราณวัตถุสมัยทวาราวดีด้วย แต่ยังไม่
เห็นสิ่งก่อสร้างทวาราวดีสนับสนุนชัดเจน เลยยังไม่แน่ใจนัก ภูมิสัณฐานของเมืองราชบุรีนั้นเป็นเมืองติดแม่น้ำ
แม่กลอง ปรากฏร่องรอยคูเมืองทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ วัดมหาธาตุตั้งอยู่ภายในคูเมืองฝั่งนี้ เดิมทีอาจเป็น
เมืองที่สร้างคร่อมลำน้ำอย่างเมืองพิษณุโลก แต่ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน ร่องรอยที่ปรากฏ
คล้ายกับเมืองสุพรรณบุรี




บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:31

 ยิงฟันยิ้ม ...
 มาทักกันทันใจจริงๆเลยครับ ต้องขออกตัวก่อนครับว่าภาพที่ผมถ่ายมา เรื่องสีคงดูไม่ได้ชัดเจนนัก
เพราะในนั้นแสงน้อย และเป็นแสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์ ผมถ่ายโดยไม่ใช้แฟลชเลยอาจดูไม่สวยนัก
ขนาดภาพเอาเล็กๆไปก่อนเน้อ เอาไว้อัพแล้วจะลงลิงค์มาให้ แต่สำหรับพี่กุเดี๋ยวไรท์ให้เลยทั้งชุด ไม่ต้องห่วงครับ

จะว่าไปตอนมาไล่ภาพที่หลังผมเองก็งงๆเหมือนกัน เพราะตอนถ่ายก็ไม่ได้ถ่ายมาเป็นระบบระเบียบเท่าไหร่
เรื่องตำแห่นงของภาพอาจเพี้ยนไปบ้าง เชื่อว่าคงมีคนเริ่มบ่นว่าแล้วผมจะมาตั้งกระทู้ทำไม อ่ะ..นะ เหอะๆ



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:34

อิอิ น้องเนเล่าเลยครับ เผื่อบางคนเขาทำทีสิสจะได้ลอกไปทำวิทยานิพนธ์

สำหรับเรื่องประวัติวัดมหาธาตุและสถาปัตยกรรม เอาไว้คุยกันกระทู้เ้ป็นเรื่องเป็นราวดีกว่า เพราะแค่ประวัติจิตรกรรมที่นี่ก็อลังการจนทำทีสิสได้อีกเล่มนึง (จริงๆนะ)

จิตรกรรมฝาผนังวัดมหาธาุตุราชบุรีนี้ ที่เหลือมาจนทุกวันนี้ได้ ต้องยกความดีในกับคุณธนิต อยู่โำพธิ์ อธิบดีกรมศิลปากรสมัย 2500

"อธิบดีกรมศิลปากรได้แจ้งมาให้ทราบว่า วันที่ 7 เมษายนนี้ ได้เดินทางไปสำรวจและถ่ายภาำพสีที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี เห็นว่าจิตรกรรมไทยที่องค์พระปรางค์วัดมหาธาตุ เป็นฝีมือช่างสมัยอยุธยาได้เขียนไว้งดงามมากเช่นเดียวกับโถงชั้นบนพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา"

"ได้ทราบจากเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุว่า กำลังจะกะเทาะภาพออกเพื่อโบกปูนใหม่และดัดแปลงเป็นที่บรรจุของโบราณที่ขุดได้จากวัดเพลง จึงเป็นที่น่าเสียดาย เพราะภาพนั้นงดงาม และเป็นภาพฝีมือที่แสดงความรู้สึกเป็นอย่างยิ่ง ฝีมือเขียนก็ละเอียดอ่อน ควรจะรักษาไว้หรือคัดลอกถ่ายภาพนั้นไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่ตอนกลับไปหาเจ้าอาวาสด้วยคิดจะฝากไว้ให้ช่วยรักษาไว้ก่อน บังเอิญท่านเจ้าอาวาสไม่อยู่ จึงไม่มีโอกาสได้เรียนปฏิบัติในการขอ แต่ได้ยับยั้งการกะเทาะปูนไว้ก่อน"


"ที่ประชุมรับทราบและขอให้กรมศิลปากรแจ้งให้เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ขอให้งดการกะเทาะภาพจิตรกรรมฝาผนังในองค์พระปรางค์วัดมหาธาตุไว้่ก่อน"



อ่านแล้วจะเป็นลม............... ร้องไห้ ขอบคุณคุณธนิตมากครับ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:40

เรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์คงต้องพึ่งพี่กุหรือท่านอื่นๆมาเล่าให้ฟัง เอาเป็นว่าเล่าเท่าที่ผมจำได้แล้วกันนะครับ
ภาพนี้เป็นภาพอดีตพุทธแถวเกือบบนสุด บนผนังทางทิศใต้ ด้านบนสุดสถาพค่อนข้างเลือนและถ่ายภายาก
เลยไม่ได้ถ่ายมา อดีตพุทธที่ฝั่งนี้เขียนเป็นพระปางมารวิชัยบนดอกบัว มีศิระประภาที่พระเศียรประดับด้วยซุ้ม
ครอบแบบต้นไม้เขียนใบไม้เป็นใบๆ คั่นด้วยรูปพระสาวกประนมมือปรากฏเป็นครึ่งองค์ ผิดถูกยังไงขอข้อมูล
แก้ไขด้วยครับ


 ฮืม


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:50

โอ้.... สุดยอด เกือบไปๆ ที่จริงเมืองไทยภาพเขียนสมัยอยุธยานั้นคงมีอยู่หลายที่จริงๆ
แต่คงเจอเหตุการณ์ประมาณนี้เลยทำให้ กลายเป็นไม่เหลือแทน ... ซะอย่างนั้น
แต่ยังไงผนังทั้งสามด้านไม่นับทางเข้านั้น ก็ถูกหล่อคอนกรีตทับที่กึ่งกลางผนัง คล้ายว่าจะทำ
เพื่อเสริมความแข็งแรง ภาพเขียนจึงถูกทำลายโดยขนาดกว้างประมาณ 1 ฟุต กินความยาวตั้ง
แต่พื้นที่ยืนในห้องคูหานั้น จนสุดถึงเพดาน ... T-T

ภาพนี้ผมจำไม่ได้ว่าถ่ายมาจากทางผนังทางทิศใต้หรือทิศเหนือ แต่เป็นภาพในชั้นเดียวกัน
(พี่กุผมลืมว่าเขาเขียนอดีตพุทธไว้กี่ชั้นกันครับ) ที่น่าสังเกตจุดหนึ่งคือภาพต้นไม้ที่อยู่รอบพระเศียรนั้น
มีการเขียนใบต่างๆกันไป บางทีอาจจะซ่อนความหมายถึงต้นไม้หลายๆชนิดที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง
ภายใต้ต้นไม้เหล่านั้นครับ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 09:59

กรุวัดมหาธาตุเกือบกลายเป็นห้องเก็บของไปแล้วไหมล่ะ ได้อ่านแล้วก็เศร้าใจ  ร้องไห้


ส่วนรูปประกอบ อิอิอิ ชอบๆๆ ขอรูปใหญ่ๆๆๆเลยนะ เอากว้างสัก 500 พิกเซลกำลังดี แล้วความสูงเด๊ยวมันเปลี่ยนให้เอง

ในเรื่องของหล่อปูนเป็นคานนั้น ผมคิดว่าอาจจะเป็นเทคนิกมาแต่โบราณกาลแล้ว เดิมอาจจะเป็นคานไม้วางเพื่อรับน้ำหนักอิฐ (หรือเปล่า?ต้องถามวิศวกร) เพราะที่กรุวัดพระรามก็มี เป็นรอยร่องบากกว้างคูณยาวกลางผนังเลย แต่ตัวคานหายไปแล้ว อาจทำด้วยไม้เลยผุไปตามกาลเวลา


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 10:59

ที่วัดมหาธาตุราชบุรีเมื่อปลายปีที่แล้วเข้าไปวัดคงคาแล้วว่าจะแวะก็ทราบว่ากำลังบูรณะอยู่ แล้ววันที่ไปฝนดันตกหนักก็เลยไม่ได้เข้าชม เมื่อคืนยังนั่งคิดถึงอยู่ เช้านี้มาเปิดดูกระทู้ เหลือเชื่อว่ามีน้องเนมาตั้งกระทู้วัดนี้พอดี ปัจจุบันยังบูรณะอยู่รึเปล่าแล้วถ่ายภาพมาครบหรือไม่ ไว้เจอกันจะได้ข้อข้อมูลบ้าง อิอิ
ข้อมูลวัดของจังหวัด
  วัดมหาธาตุราชวรวิหาร  ตำบลหน้าเมือง  อำเภอเมืองราชบุรี  ตั้งอยู่เกือบใจกลางเมืองราชบุรีนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีว่า  แรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยวัฒนธรรมทวารวดี  ราวพุทธศตวรรษที่  ๑๓  ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่  ๑๘  วัฒนธรรมเขมรจากราชอาณาจักรกัมพูชาได้แพร่เข้าสู่ดินแดนราชบุรี  จึงได้มีการก่อสร้างและดัดแปลงศาสนสถานกลางเมืองราชบุรีขึ้นเป็นพระปรางค์และสร้างกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมืองตามคติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลของเขมร  ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้น  ราวพุทธศตวรรษที่   ๒๐ – ๒๑  ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาขึ้งซ้อนทับและสร้างพระปรางค์บริวารขึ้นอีก  ๓  องค์บนฐานเดียวกัน  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้ทรงพระกรุณาโปรกเกล้าฯ  ให้ย้ายเมืองราชบุรีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก  ประชาชนก็ย้ายตามความเจริญไปด้วย  วัดมหาธาตุจึงกลายเป็นวัดร้างไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ใน  พ.ศ.  ๒๓๓๘  พระภิกษุองค์หนึ่งชื่อพระบุญมา  ได้ธุดงค์มาเห็นวัดนี้มีสถานที่ร่มรื่น  เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมจึงได้ขอความร่วมมือจากพุทธศาสนิกชนช่วยกันปัดกวาดซ่อมแซมเสนาสนะต่างๆ  ในที่สุดวัดมหาธาตุจึงกลับมาเป็นศูนย์กลางของศาสนาเช่นเดิม  และยังคงเป็นมาจนถึงปัจจุบัน  สิ่งสำคัญในวัด  ได้แก่
         พระปรางค์ประธาน  เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่  ๑๘  และได้รับการซ่อมแวมเพิ่มเติมในสมัยอยุธยาตอนต้นตรงส่วนที่เป็นซุ้มด้านตะวันออก  และภาพจิตรกรรมภายใน  ประกอบด้วยพระปรางค์ประธานและพระปรางค์บริวาร  ๓  องค์บนฐานเดียวกันมีการตกแต่งองค์พระปรางค์ทั้งหมดด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างงดงาม  ด้านตะวันออกของพระปรางค์ประธานมีบันไดและขึ้นมุขยื่น  ภายในเป็นคูหาเชื่อมต่อกับพระปรางค์  ผนังภายในองค์พระปรางค์ทุกด้านมีภาพจิตรกรรมรูปพระอดีตพุทะเจ้า  สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นในสมัยเดียวกันกับการสร้างองค์พระปรางค์
         พระวิหารหลวง  อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ภายนอกระเบียงคด  เป็นซากอาคารในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ฐานด้านล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง  ด้านหน้ามีมุขยื่น  บนพระวิหารเคยมีเจดีย์ขนาดเล็กตั้งอยู่  แต่พังทลายลงหมด  บนฐานวิหารมีอาคารไม้โล่ง  หลังคาเครื่องไม่มุงสังกะสี  อาคารหลังนี้กล่าวกันว่านายหยินบิดาของขุนสิทธิสุวรรณพงศ์  อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองราชบุรีเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๕๔  พระวิหารนี้เคยเป็นที่ตั้งโรงเรียนพระอภิธรรมราชบุรี  ภายในอาคารพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนหินทรายขนาดใหญ่แสดงปางมารวิชัย  ๒  องค์  ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน  พุทธศิลปะแบบอยะยาตอนต้น  ด้านข้างทั้งสองและด้านหน้าของพระวิหารที่มุมด้านตะวันออกแยงเหนือและด้านตะวันออกเฉียงใต้  มีวิหารขนาดเล็ก  ประดิษฐานพระพุทธรูปหินทรายสีแดงปางมารวิชัยประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกันคล้ายกับพระพุทธรูปบนพระวิหารหลวง
         กำแพงแก้ว  ก่อด้วยศิลาแลงรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ล้อมรอบองค์พระปรางค์ทั้งสี่ด้าน  เหนือกำแพงมีในเสมาทำด้วยหินทรายสีชมพูจำหลักพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว  ลักษณะพุทธศิลปะเขมรแบบบายน  (ราวพุทธศตวรรษที่  ๑๘)  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๕๓๐  ทางวัดมหาธาตุได้ดำเนินการขุดเพื่อก่อสร้างอาคารบริเวณด้านข้างวิหารเล็กที่มุมขนาดย่อมนอกจากนั้นยังพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมส่วนยอดของพระปรางค์  สันนิษฐานว่าคงเป็นอาคารที่สร้างขึ้นคราวเดียวกับกำแพงแก้ว
         ราวบันไดรูปครุฑยุคนาค  พบจำนวน  ๒  ชิ้น  จำหลักจากหินทรายสีแดงตั้งอยู่ที่ทางเข้าภายในระเบียงคดด้านทิศตะวันออก  ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดลบเลือนชิ้นหนึ่งเป็นรูปครุฑจับนาค  ๓  เศียร  ด้านหลังเป็นเศียรนาค  ๕  เศียรแผ่พังพาน  อีกชิ้นหนึ่งเป็นรูปนาคห้าเศียรไม่มีรูปครุฑประกอบ  ทั้งสองชิ้นเป็นศิลปะเขมรแบบบายน  ราวพุทธศตวรรษที่  ๑๘
          พระอุโบสถ  สันนิษฐานจากลักษณะทางสถาปัตยกรรมว่าสร้างขึ้นตอนปลายสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่  ๒๒  ได้รับการซ่อมแซมครั้งล่าสุดเมื่อ  พ.ศ.  ๒๕๐๙  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน  หลังคาลด  ๒  ชั้น  ๓  ตับ  เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง  ด้านหน้าและด้านหลังทำพาไลยื่นรองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนจำนวน  ๓  ตับ  ด้านข้างมีชายคาปีกนกโดยรอบ  ฐานอาคารมีลักษณะศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนปลาย  คือแอ่นโค้งคล้ายท้องเรือสำเภาหรือที่เรียกว่าแอ่นท้องช้าง  ซุ้มประตูหน้าต่างปั้นปูนประดับกระจกเป็นซุ้มหน้านาง  ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับนั่งบนฐานดอกบัว  ด้านนอกโดยรอบมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนล้อมรอบ
          พระมณฑป  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระปรางค์ประธานภายนอกกำแพงแก้วปัจจุบันอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัด  เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงรองรับฐานสิงห์  ผนังรอบด้านมีซุ้มหน้าต่างทรงมณฑปด้านละ  ๑  ซุ้ม  เว้นด้านตะวันออกเป็นซุ้มประตูทางเข้ามีบันไดขึ้น – ลง  เครื่องหลัวคาของพระมณฑปพังทลายลงหมดแล้ว  ภายในพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาททำด้วยหินทรายสีแดง  ฝาผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงส์  และตอนผจญกองทัพพญามาร  ปัจจุบันมีสภาพลบเลือนเกือบหมด  เพราะไม่มีหลังคาคลุมทำให้น้ำฝนชะล้างสีจนภาพเลอะเลือน  พระมณฑปหลังนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
          พระเจดีย์ เป็นเจดีย์รายเรียงเป็นแถวอยู่ด้านหน้าพระมณฑปจำนวน  ๕  องค์  เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังกลมจำนวน  ๔  องค์  และพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองอีก  ๑  องค์  ทั้งหมดเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์  ที่ฐานของพระเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองมีจารึกบนแผ่นหินอ่อนความว่า  พระพุทธศักราช  ๒๔๖๒  สามเณรเซียะเล็ก  พร้อมบุตรทิพ  เจริญ  ฮกเซ่งพิจารณาเห็นว่า  พระเจดีย์เป็นปูชนียวัตถุถาวรจึงได้พร้อมใจกันมีศรัทธาสร้างขึ้นไว้ในพระพุทธศาสนานิพ์พานปัจจ์โยโหตุอนาคตะฯ
           วัดมหาธาตุได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจาเบกษา  เล่ม  ๕๒  ตอนที่  ๗๕  เมื่อวันที่  ๘  มีนาคม  พ.ศ.๒๔๗๘  และได้รับการระวางแนวเขตโบราณในราชการกิจจานุเบกษา  เล่ม  ๑๐๐  ตอนที่  ๘๘  เมื่อวันที่  ๓๑  พฤษภาคม  พ.ศ.๒๕๒๖

 
         




 



 


 


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 11:31

ขอเสริมพี่ยีนส์ินิดหนึ่งนะครับ

แต่เดิมเชื่อกันมาโดยตลอดว่า พระปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี สร้างซ้อนทับปราสาทประธานในวัฒนธรรมพุทธศาสนามหายาน ที่แพร่มาจากเมืองพระนครในพุทธศตวรรษที่ 18 โดยดัดแปลงแก้ไขปราสาทเดิม ให้มีรสนิยมแบบอยุธยาตอนต้นในพุทธศตวรรษที่ 19-20

เมื่อแรกนั้นผมก็เชื่ออย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องคอมมอนเซนส์ ไม่ว่าที่ไหนๆก็สร้างทับขอมทับทวารวดีทั้งนั้น อย่างพระปฐมเจดีย์ พระประโทน มหาธาตุ ลพบุรี เป็นต้น

ต่อมาเมื่อมีการขุดค้นขึ้น ความก็เลยแตก กลายเป็นว่า อยุธยาไปรื้อปราสาทประธานขอมทิ้งหมดเหลือแต่ฐาน แล้วไปก่อวิหารหลวงนั่นแหละ ทับปราสาทประธาน เกยกันอยู่ โผล่มานิดนึง

จากนั้นก็ย้ายศูนย์กลางของวัด คือพระปรางค์ประธาน ไปไว้ด้านหลังวิหารหลวง ตามสไตล์ของอยุธยาต้น มิหนำใจ ก่อกำแำพงวัดใหม่ ต่อจากของขอม ให้ยื่นยาวจนเป็นที่เห็นในปัจจุบัน ขณะที่กำแพงขอมของเดิม หยุดอยู่แค่แนวหลังวิหารหลวงเท่านั้นเอง

ส่วนปรางค์บริวาร 3 องค์นั้น เชื่อว่าเป็นของก่อใหม่สมัยอยุธยาตอนปลาย และแต่เดิมมีถึง 4 องค์เพิ่งจะพังไปในสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง เมื่อพังแล้วก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็เลยก่อมุขให้มันยื่นยาวออกมาซะอย่างนั้น รอยต่อมุขยังปรากฏอยู่ ดูไปดูมาคล้ายมหาธาตุ ลพบุรีบ้าง พุทไธสวรรย์บ้าง ก็เลยเข้ารกเข้าพงกันใหญ่ (ผมก็เข้ามาแล้วกับเขาด้วย) เพราะถ้าดูจริงๆแล้ว มุขนั่นยาวผิดส่วนน่าเกลียดมาก มันทับลงไปบนฐานเดิมของปรางค์บริวารที่พังไป

แผนผังเดิมสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น เชื่อว่าเป็นพระเจดีย์แปดเหลี่ยม 4 องค์ที่อยู่ประจำมุมมากกว่า เพราะต้องตามระเบียบกรุงศรีอยุธยานิยม อิอิ



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 11:40

เจอปราสาทประธานของขอมแล้วจ้า....... ยิงฟันยิ้ม

อยุธยารื้อเสียเละเลย เหลือแต่ฐานย่อมุม แถมสร้างวิหารทับ กลบดินเรียบร้อย ตอนแรกก็ขุดกันกลางวิหารเลย กะเจอแน่ๆ ปรากฏขุดลงไปสามเมตรยังไม่เจออะไร มาขุดใหม่หน้าิวิหาร นิดเดียวเจอเลย

แต่ดูไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 11:52

ภาพสันนิษฐานวัดมหาธาตุ ราชบุรียุคแรกครับ หลังจากรื้อของขอมเสียเละตุ้มเป๊ะแล้ว

เชื่อว่าจิตรกรรมในกรุก็เขียนขึ้นในระยะสมัยนี้ด้วย

ช่างท่านสร้างเจดีย์แปดเหลี่ยมตามสไตล์อโยธยา-สุพรรณภูมิ ไว้ประจำทิศ ยังไม่มีปรางค์บริวาร (เพราะฐานไพทีปรางค์บริวารกินเข้าไปในฐานเจดีย์แปดเหลี่ยม ย่อมสร้างทีหลัง) มีพระปรางค์ประธานองค์เดียว โดดเดี่ยวน่ารัก

สาเหตุที่รื้อของขอม ก็ยังตอบไม่ได้ครับ จะว่าเศรษฐกิจดีขึ้นเพราะตั้งเมืองหลวงที่อยุธยา ใกล้กว่าเมืองพระนคร ก็ใช่ แต่ทำไมต้องย้าย สร้างเพิ่มก็ได้นิ แบบมหาธาตุลพบุรี วัดนครโกษา

หรือฉันจะประกาศตัวไม่เอาพุทธศาสนามหายานก็ใช่ เพราะจากภาพเขียนในกรุ อ้างอิงพุทธวงศ์อันแต่งขึ้นในลังกา ฉันประกาศตัวเป็นเถรวาทเต็มขั้น หรือเปล่า?

ไม่หรอกๆ ไม่ว่าสมัยไหน ก็ไม่มีคนนับถือศาสนาบริสุทธิ์หรอก เราไปวัดยังเจอเจ้าแม่กวนอิมได้เลย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 20:21

สวัสดีครับพี่ยีนส์ สภาพวัดมหาธาตุฯตอนนี้ก็กำลังขุดอยู่ล่ะครับ เพียงแต่องค์พระปรางค์
เขาทีสีขาวเป็นส่วนๆ เฉพาะตรงที่ไม่มีลายปูนปั้นครับ

ตามข้อมูลที่พี่กุ อธิบายมา ทำให้ทึกทักสันนิษฐานเอาว่า เดิมทีศาสนสถานมหายานของเขมรนั้น
เข้ามาตั้งในชุมชนนี้เพื่อ เผยแพร่ความคิดหรือเป็นการกระจายตัวของอารยะธรรมเขมรโบราณ
จนกระทั่งเมื่อเขมรอ่อนแอ ความอยากเป็นอิสระของแต่ละกลุ่มชนอาจทำให้เกิดการรื้อถอน
ศาสนสถานเดิมเหล่านั้นออก เพื่อลบภาพอารยะธรรมเดิมออกไปก่อน ต่อมาเมื่อชุมชนยังเจริญ
ต่อมาไม่ขาดสาย และพื้นที่เดิมยังคงสำคัญอยู่ สมัยอยุธยาตอนต้นเลยเข้าไปสร้างพระปรางค์มหาธาตุ
อันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองสำคัญ แต่การทิ้งห่างของช่วงเวลาระยะหนึ่ง คงทำให้ตำแหน่งของประปรางค์
อยุธยาไม่ทับตรงจุดกึ่งกลางเดิมไปเสียทีเดียว เพราะตามปกติหากจะสร้างทับก็มักจะยึดจุดสำคัญเดิม
แล้วสร้างทับลงไป ตามที่พี่กุอธิบายไว้ แต่อย่างไรก็ดีเมืองราชบุรี ในสมัยอยุธยาตอนต้นนั้น อาจมีความสำคัญมาก
ไม่แพ้เมืองพิษณุโลก และสุพรรณบุรี (พระปรางค์องค์เดียว โดเดี่ยวน่ารัก ... เหอะๆ)

ที่ผนังทางด้านทิศเหนือนั้น มีภาพอดีตพุทธแถวบนๆชั้นหนึ่งเขียนภาพ ประกอบองค์พระแปลกไป คือเขียนแบบ
ฉากมุมตัดกั้นด้านหลังเหมือนฉากจีน มีลายสีขาวคล้ายลายเมฆครับ




บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 20:30

กลับไปที่ผนังทางด้า่นทิศใต้ครับ แถวถัดลงมาเป็นภาพเขียนอดีตพุทธในลักษณะเดียวกัน แต่มีรายละเอียด
เพิ่มเติมเข้ามา คือที่ศิรประภาเขียนลายประดับแบบซุ้มเรือนแก้ว เป็นลายที่เหมือนจะร่วมสมัยกับลายสมัยสุโขทัย
และมีลักษณะคล้ายคลึงในรูปพระพิมพ์บางกลุ่ม


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 13 พ.ค. 10, 20:36

ในภาพนี้จะเห็นร่องรอยของรอยคอนกรีตชัดเจนครับ เป็นคอนกรีตผสมแบบสมัยใหม่ครับ
ที่ทับภาพบางส่วนไป


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง