เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
อ่าน: 19922 ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 11:29

ในสมัยปลายรัชกาลที่ ๔  ทางราชอาณาจักรออสโตรฮังการี  ได้มีบอกล่วงหน้ามายังกรุงสยามว่า  ทางพระเจ้ากรุงออสโตรฮังการี  จะแต่งราชทูตเดินทางด้วยเรือรบเข้ามาเจริญพระราชไมตรีทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยามและญี่ปุ่น  มายังกรมท่า

ฝ่ายสยามได้ทราบความนั้นแล้ว   จึงเจ้าพระยาพระคลังว่าราชการการต่างประเทศครั้งนั้นได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปรับปรุงซ่อมแซมพริฏิษ  แฟกฏอรีเป็นที่รับแขกเมืองนี้อีก  โดยขอใหพระศรีธรรมสาสน (พระยาศรีสรราช (วัน)) เป็นนายด้านผู้จัดการซ่อมตึกหลังกลางใหม่   โดยต่อมุขหน้าตึกเป็นที่นั่งและต่อมุขหลังเป็นที่รับประทานอาหาร   ส่วนตึกแถวด้านใต้  ให้รื้อเครื่องบนลงทำใหม่เป็นเฉลียงให้แคบเข้า  กับทำครัวไปใหม่   ฟากตึกแถวด้านเหนือ  ยังไม่ทันได้ซ่อม  คงเดิมอยู่   ในการซ่อมพริฏิษ  แฟกฏอรีครั้งนั้นได้ใช้เงินภาษีข้าวเป็นทุน  การนี้ทำเมื่อปีมะโรง  สัมฤทธิศก ๑๒๓๐ 

ส่วนคณะราชทูตกรุงกรุงออสโตรฮังการี  กว่าจะเดินทางมาถึงกรุงสยามก็ล่วงรัชกาลที่ ๔ เข้าสู่รัชกาลที่ ๕ แล้ว    อัสมิราลแบรอนฟอนเปดซ์  อรรคราชทูตและเป็นผู้บังคับกองเรือรบที่เข้ามานั้น  ได้เข้าพักที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นตามที่ได้จัดเตรียมไว้จนกระทั่งได้ทำสัญญากับสยามเสร็จ เดินทางกลับออกไป


ครั้นต่อมา  ราชทูตอิศปันยอน (สเปน) โดย ซินยอแปตชอต เป็นอรรคราชทูต  เดินทางเข้ามาเจริญพระราชไมตรีและทำสัญญาการค้าขายกับสยาม  ก็ได้พักที่ที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนี้   ในกาลครั้งนั้น  เรือรบสเปนได้มาทอดสมอจอดในลำน้ำเจ้าพระยาตรงหน้าตึกแขกเมือง   ราชทูตสเปนได้จัดให้นายทหารและกลาสีเรือรบจัดการแสดง " แทงฉลู"  ตามอย่างสเปน  ที่ชาลาหลังตึกแขกเมืองนั้น

การ " แทงฉลู" คราวนั้น มีเจ้านาย  ข้าราชการ และคนต่างประเทศไปดูกันมาก  ผู้เขียนได้เล่าว่า  พวกสเปนได้เอาวัวไปขังในที่มืดเพื่อให้วัวคลั่งเป็นบ้าแล้วปล่อยออกมา ที่สนามแทงฉลู    ในสนามนั้นมีคนสเปนแต่งตัวหรูหรา  ๒ - ๓ คนถือธงสี  และกระบี่ยาว  ล่อวัวให้วิ่งไล่แล้วแทงด้วยกระบี่เป็นเกมกีฬา  การแทงฉลูนั้นถ้าวัวไม่บ้าคลั่งแล้วก็จะไม่วิ่งไล่คนแทง   คนที่ถือกระบี่ก็จะเอากระบี่แทงวัวนั้นให้เจ็บวัวจะได้ไล่ขวิดไล่ทอ  แล้วก็เอากระบี่แทงอีก  ดูเป็นการน่าสังเวช  มากกว่าเป็นการสนุกสนาน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 14:56

หลังจากนั้น   ราชทูตออสโตรฮังการี  ชื่อ  แบรอนการิเจ  เข้ามาเปลี่ยนหนังสือสัญญาที่กรุงสยามอีก  ก็ได้พำนักในพริฏิษ  แฟกฏอรีนี้


อนุวรรตกาลผ่านไป  ครั้นต่อมา   ฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาด้านตะวันออกมีการตัดถนนมากขึ้น   มีการใช้รถม้าสัญจรแทนเรือมากขึ้น   ทำให้ฟากตะวันออก (พระนคร) เจริญยิ่งกว่าฟากตะวันตก ที่ยังเป็นท้องที่อัสดงคตอยู่


ฝ่าย ฯพณฯ เจ้าพระยามหาโกษาธิบดี (ท้วม ?)ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซื้อบ้านเจ๊สัวเสง  ที่ถนนเจริญกรุง  ริมสะพานเล้กคลองผดุงกรุงเกษม  จัดสร้างเป็นตึกรับแขกเมืองใหม่ ให้อยู่ฟากตะวันออก  เพื่อการคมนาคมของทูตสะดวกขึ้น  ซึ่งต่อมาบริเวณนั้นได้กลายเป็นศาลโบริสภาที่ ๑   

ส่วนที่พริฏิษ  แฟกฏอรี ที่เคยเป็นตึกแขกมาแต่เดิม  นั้นทิ้งร้างว่างเปล่าอยู่    บางทีก็มีฝรั่งที่เข้ามารับราชการในสยามมาพักอาศัยบ้าง   ต่อมา   เจ้าพระภาสกรวงศ์ได้รื้อบ้านสร้างใหม่   ท่านเจ้าคุณได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขออาศัยในที่พริฏิษ  แฟกฏอรีนั้น  ด้วยรื้อเรือนสร้างใหม่    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ขอ     ภายหลัง  เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ได้ประกอบกิจราชการมีความชอบมาก  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินตรงพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นให้เป็นบำเหน็จราชการแก่เจ้าพระภาสกรวงศ์  ดังได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้น  ซึ่งกล่าวถึงรายละเอียดความกว้างยาวของพื้นที่  อาณาเขต  และสิ่งก่อสร้างในที่ดินนั้น   ผู้เขียนบทความนี้ได้ไปขออนุญาตเจ้าพระยาภาสกรวงศ์คัดลอกข้อความตามต้นฉบับพระราชหัตถเลขาพระราชทานที่ดินมาลงไว้ด้วย

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 15:18

พระราชหัตถเลขา

           สมเด็จพระปรมินทรมหาจุลาลงกรณ  พระจุลจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยามซึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่  ในรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมวงษ์  วึ่งได้ประดิษฐานแลดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา ณ ประเทศบางกอกนี้
              ขอปรกาศให้ไว้แก่ท่านทั้งปวง   ผู้ควรจะได้รู้ความในหนังสือสำคัญนี้ให้ทราบว่า    ตึกที่หลวงสำหรับรับแขกเมืองชาวต่างประเทศ   ซึ่งเรียกว่าบริติชแฟกฏอรี่น่าวัดประยุรวงษาวาศ  ด้านน่าริมแม่น้ำกว้าง  ๒๐  วา  ๒  ศอก   ด้านหลังกว้าง  ๑๙  วา  ๑  ศอก   ด้านเหนือตั้งแต่กำแพงบ้านลงแม่น้ำยาว  ๓๕  วา  ๑  ศอก   มีตึกใหญ่หลังหนึ่ง  ๓  ห้อง  ยาว  ๗  วา  ๒๐  ศอก  ขื่อกว้าง   ๔  วา  เฉลียงรอบกว้าง   ๕  ศอก   มุขน่าชั้นล่างกว้าง   ๙  ศอก   ยาว  ๑๐  ศอก   มุขหลังชั้นล่าง   ๓  ห้อง  ยาว  ๔  วา   ขื่อกว้าง   ๑๐  ศอก   มีเรือนแถวด้านเหนือหลังหนึ่งยาว  ๒๐  วา  ๒  ศอก  ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก  เฉลียงกว้าง   ๓  วา  เรือนแถวด้านใต้หลังหนึ่งยาว   ๑๙  วา  ๒  ศอก   ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก   เฉลียงกว้าง  ๕  ศอก  ๑ คืบ   ครัวไฟเก่าหลังหนึ่ง  ยาว  ๕  วา  ๑  ศอก   ขื่อกว้าง  ๓  วา  ๑  ศอก   ครัวไฟใฟม่หลังหนึ่ง  ยาว  ๕  วา  ขื่อกว้าง  ๓  วา  มีกำแพงน่าบ้าน   ๓  ด้าน   แลกำแพงสกัดหลังหมดเขตรบ้าน  ที่ดินกับตึกกำหนดที่ว่ามานี้   ข้าพเจ้าได้ยอมให้พระยาภาสกรวงษ์อยู่พักอาไศรยมาประมาณ  ๕  ปีแล้ว   บัดนี้พระยาภาสกรวงษ์มีความชอบ  ได้รับราชการข้อสำคัญเปนคุณประโยชน์แก่แผ่นดินเปนอันมาก    ข้าพเจ้ายอมยกที่ตึกดังว่ามาแล้วนั้น  ให้เปนสิทธิ์เปนทรัพย์แก่พระยาภาสกรวงษ์ชั่วลูกหลาน   ตามแต่พระยาภาสกรวงษ์จะปลูกสร้างเปลี่ยนแปลงตามชอบใจ   และจะขายจะยกให้ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตามแต่ใจเปนอันพ้นจากแผ่นดินแล้ว     ต่อไปภายน่าพระเจ้าแผ่นดินฤาท่านผู้มีอำนาจจะต้องประสงค์ที่ตำบลนี้ด้วยเหตุอันหนึ่งอันใด   ก็ขอให้พระยาภาสกรวงษ์ได้รับราคาตามสมควรแก่ที่นั้น   ขออย่าให้ต้องกฎหมายว่า   ควรจะต้องไล่เสียเปล่าๆ   ดังตำราเก่านั้นเลย   จดหมายประกาศนี้  ข้าพเจ้าได้ให้เขียนเปนสอง ฉบับความต้องกันได้ลงตราราชหัดถเลขาของข้าพเจ้าเปนสำคัญ   แลมอบให้พระภาสกรวงษ์ฉบับ  ๑  มอบให้กรมพระนครบาลฉบับ  ๑  ตั้งแต่วัน ๕  แรม ๖  ค่ำ  เดือน  ๙  ปีมะโรงโทศก  ศักราช  ๑๒๔๒  เปนปีที่  ๑๓  เปนวันที่  ๔๓๐๗  ในรัชกาลปัตยุบันนี้


(พระราชหัดถเลขา) สยามินทร์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 15:35

เมื่อเจ้าคุณภาสกรวงศ์ได้รับพระราขทานที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรีนั้นแล้ว   ท่านก็ขอที่ฉางเกลือซึ่งอยู่ด้านเหนือของที่ดินพริฏิษ  แฟกฏอรี่  และเคยเป็นที่ที่หมอบลัดเลเช่าอยู่  แล้วได้กลายเป็นโรงเลื่อยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าคุณกลาง  แต่เป็นที่ดินชายธง   ข้างหน้าริมแม่น้ำกว้าง  ด้านหลังแคบ   เมื่อได้ที่ดินนั้นแล้วท่านเจ้าคุณก็รื้อตึกด้านเหนือ  รวมพื้นที่กับที่พริฏิษ  แฟกฏอรี่ เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน แล้วก่อสร้างตึกเรือนใหม่   ปรากฏเป็นบ้านเจ้าภาสกรวงศ์ต่อมา  ฯฯ   

ตำนาน"พริฏิษ  แฟกฏอรี่" อันเป็นตอนหนึ่ง  ในบทความยาวเรื่อง  รัตนศัพท์สงเคราะห์   เขียนโดย  ตวันสาย  ลงพิมพ์ในทวีปัญญา  เล่ม ๕   ก็สิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้   แต่การถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาข้อมูลนั้นยังไม่สิ้นสุด   ยังมีเรื่องที่ควรศึกษาอีกมาก  เช่น  เรื่อง ท่านผู้หญิงทรัพย์   เรื่อง  นายหันแตร ทั้งพ่อและลูก   เรื่อง  การต่อเรือในสมัยรัชกาลที่ ๓    เรื่อง  เชื้อสายชาวโปรตุเกสในเมืองไทย  เป็นต้น   เชิญท่านผู้มีข้อมูลฟาดฟันได้ตามสมควร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 25 พ.ค. 10, 15:48

ไม่มีอาวุธจะฟาดฟัน  ได้แต่ขอบคุณคุณหลวงเล็ก สำหรับข้อมูลหายากเรื่องนี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 20 คำสั่ง