เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 19923 ตำนาน " พริฏิษ แฟกฏอรี่ "
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


 เมื่อ 28 เม.ย. 10, 08:27

เรื่อง   " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ "  เป็นตอนที่ ๕ ของบทความขนาดยาวเรื่อง  รัตนศัพท์สงเคราะห์  เขียนโดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า  ตวันสาย   ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนนักว่าเป็นผู้ใด   


เรื่อง   " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ "   ลงพิมพ์ครั้งแรกในทวีปัญญา  ฉบับประจำเดือนมกราคม  ร.ศ. ๑๒๔  ฉบับที่  ๒๒   ซึ่งต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มใหม่ใน พ.ศ. ๒๕๒๖  ในทวีปัญญา เล่ม ๕   บทความนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติพ่อค้าฝรั่งชื่อ หันแตร  ที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายในสมัยรัชกาลที่ ๓ และประวัติความเป็นมาของตึกแขกหรือตึกราชทูต  ซึ่งเท่าที่ได้เล่าให้ผู้มีใจรักหนังสือเก่าบางท่านฟัง   เขาก็ออกอาการตื่นเต้นว่า  มีข้อมูลบางประการที่เพิ่งเคยได้ยิน   เจ๋ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 เม.ย. 10, 08:40

ในที่นี้   จะขอเก็บความเรื่อง " พริฏิษ   แฟกฏอรี่ " ในทวีปัญญา เล่ม ๕ มาเล่า  บางตอนอาจจะคัดตัวบทมาลงบ้างเท่าที่จำเป็น 


ผู้เขียนเริ่มเรื่องว่า   คำว่า  "แฟกฏอรี่"   (Factory)  นี้   ปรากฏว่ามีใช้ในสยามประเทศนี้มาตั้งแต่คริศต์ศตวรรษที่ ๑๖  ดังที่ปรากฏในเนื้อความจดหมายเหตุของชาวต่างอีรอบ (Europe) ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเรื่อยมาจนถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง   ที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยา   มีชาวปตูกัน วิลันดา ฝรั่งกะแก้ว  เอศปันยอน เป็นต้น   ชาวอีรอบเหล่านี้ได้ตั้งโรงงานรับซื้อขายสินค้า  เรียกว่า  แฟกฏอรี่    โดยมีชาติวิลันดาตั้งแฟกฏอรี่ที่พระประแดง เรียกว่า  แอมซเตอรแดม   และอีกแห่งที่กรุงศรีอยุธยาข้างใต้วัดพะแนงเชิงลงไป  เป็นต้น 

ถึงตอนนี้ผู้เขียนเขียนว่า  "ขอยกไว้ก่อนจะพรรณาก็จะเข้า "แบบกบประดำ" ไป   จึงขอกล่าวแต่ในส่วนกรุงรัตนโกสินทร์นี้   ที่มีหลักฐานพอจะอ้างอิงได้..."   สงสัยว่า  แบบกบประดำ   หมายถึงอะไร?  กันแน่ ฮืม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 เม.ย. 10, 09:12

เยี่ยม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 เม.ย. 10, 09:45


คุณหลวงกรุณาเขียนให้ละเอียดเรื่อง ตึกแขก ด้วยนะคะ   ว่า กว้างยาวลึกเท่าใด

เพราะสะดุ้งใจว่า  นี่คือ การค้นพบของเรือนไทยว่า  ตึกแขกนี่เป็นที่ที่ นางแป้น วิ่งเข้าไปกระมัง

(อกอีแป้นแล่นลึกเข้าตึกแขก)

สงสัยว่าหน้าไม่กว้างแต่ลึกกระมัง

มีบันทึกสองสามฉบับที่เล่าว่า นำสินค้าไปเปิดขายที่บ้านท่านเจ้าคุณ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 เม.ย. 10, 13:18

เรื่อง "พริฏิษ  แฟกฏอรี่"  ในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อกะปิตันหันตรีบาระนีเข้ามาสยามเพื่อขอทำสัญญาทางพระราชไมตรีการค้าขายในสมัยรัชกาลที่ ๓  ในครั้งนั้นได้มีพ่อค้าชาวอังกฤษผู้หนึ่ง  ชื่อ หันแตร  (Hunter)  นำปืนมัสเก็ตคาบศิลาอย่างใหม่ ทำที่เมืองเทศ (อินเดีย) เข้ามาจำนวน  ๑,๐๐๐  กระบอก  พร้อมด้วยสินค้าอังกฤษบางอย่าง  และจะขออนุญาตตั้งห้างทำการค้า   แล้วได้นำปืน  ๑,๐๐๐  กระบอกนั้นไปน้อมเกล้าฯ ถวายผ่านเจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกระลาโหมในกาลนั้น  (สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่)  เจ้าพระยาพระคลังได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณารัชกาลที่  ๓  ทั้ง ๒ เรื่อง  ตามที่นายหันแตรต้องการ   เมื่อรัชกาลที่ ๓ ทรงทราบแล้ว ก็มีพระราชหฤทัยยินดี   และทรงเห็นว่านายหันแตรนี้มีคุณแก่สยามมาก  ด้วยเอาปืนอย่างดี มาน้อมเกล้าฯ ถวายถึง ๑,๐๐๐ กระบอก  อันเป็นเวลาที่สยามกำลังต้องการพอดี  เพราะสยามกำลังทำสงครามกับญวน  จึงรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังรับไว้   และโปรดเกล้าฯ ให้ทาสีแดงที่รางปืนนั้นเป็นเครื่องหมาย   อันเป็นที่มาของชื่อเรียกปืนนั้นว่า  ปืนรางแดง  จัดเป็นปืนเล็กคาบศิลาชนิดหนึ่งในโรงแสงเวลานั้น



นอกจากนั้นรัชกาลที่  ๓ ยังมีรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังได้เป็นธุระจัดการเรื่องที่ทางสำหรับตั้งห้างค้าขายของนายหันแตรตามที่ได้นายหันแตรขอมา   ท่านเจ้าพระยาพระคลังได้กราบบังคมทูลว่า   ถ้าให้นายหันแตรสร้างหอห้างขึ้นเอง  เกลือกว่าต่อไปจะเป็นการยุ่งยากขึ้นในแผ่นดิน   จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นายหันแตรเช่าตึกค้าขายดีกว่า   โดยท่านจะจัดแบ่งที่ดินของท่านที่หน้าวัดประยุรวงศาวาสส่วนหนึ่ง  สำหรับทำที่ให้เช่า   กับขอพระราชทานเงินภาษีไม้ไผ่ที่ขึ้นกับกรมท่า  มาใช้เป็นทุนสร้างตึกและห้างในที่ของท่าน  และขอน้อมเกล้าฯ ถวายให้เป็นของหลวงด้วย   รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงฟังดังนั้นก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านเจ้าพระยาพระคลังขอทุกประการ


ท่านเจ้าพระยาจึงได้จัดการแบ่งที่หน้าวัดประยุรวงศ์  ตอนเหนือถนนสะพานฉนวนหน้าวัดไว้เป็นสนามม้า   ซึ่งที่ตรงนี้    ต่อมาได้เป็นที่ทำเมรุพระราชทานเพลิงศพเจ้าพระยาพระคลังผู้เป็นเจ้าของที่ดินนั้น   หลังจากนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศได้ออกทุนสร้างตึกปั้นหยา  ๒  ชั้น ๑ หลัง  ตึกยาวใหญ่หลังหนึ่ง   ตึกแถว  ๒  ชั้นมีด้านเหนือจดที่ดิของพระราชานุวงษ์  หลังหนึ่ง   โดยเว้นทางระหว่างตึกแขกเพื่อให้พระราชานุวงษ์ใช้เป็นทางเดินขึ้นลงทางแม่น้ำ   และเป็นเขตระหว่างตึกแขกเมืองกับตึกที่ทำใหม่นี้กับโรงสังกะสีหน้าตึกปั้นหยาด้วย   ทำเป็นห้างท่าเรือเจ้าพระยา  ให้หลวงพ่อยิ้มกงสี   (พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ ) ตั้งกงสี   ห้างที่ไว้สินค้านั้นได้น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นส่วนมรดก   ในสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่  เพื่อเป็นประโยชน์แก่พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔   ครั้นหลวงพ่อยิ้ม (พระพิศาลยิ้ม) เลิกการห้างแล้ว  ได้ทำเป็นห้างให้นายมูลเลอร์  ไมสเนอ  เช่า  แล้วต่อมาได้กลายเป็นโรงพิมพ์บางกอกไตมส์   เดี๋ยวนี้  (ในเวลาที่ผู้เขียนเล่าเรื่อง)  ได้ใช้เช่าเป็นโรงเรียนพลตระเวน  ชื่อว่า  ตึกชิรญาณ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 เม.ย. 10, 13:39

ที่ดินที่ต่อจากที่ดินข้างเหนือนั้น  เป็นที่ดินริมแม่น้ำ   หน้ากว้าง  ๑  เส้นเศา  ด้านหลังกว้าง  ๑๙  วา เศษ  ด้านเหนือยาว  ๒ เส้นเศษ   ด้านใต้ยาว  ๓๕  วาเศษ  ก่อสร้างตึกสามชั้นอยู่กลาง  ข้างตึกทำตึกแถวสองชั้น   ทั้งสองข้างมีเฉลียงใหญ่สำหรับไว้สินค้า   กลางเป็นชาลาและมีที่สำหรับเสมียนคนงานอยู่พร้อมสรรพ   มีครัวและกำแพงหน้าตึกสองข้างตึกนั้น   เป็นเขตขอบยกเป็นห้างแฟกฏอรี่ให้หันแตรเช่าทำการค้าขาย   ที่ดินนี้ไปจดคลองคูวัดประยุรวงศ์   ด้านเหนือเป็นฉางเกลือ   หมอบลัดเลได้เช่าที่ดินนี้ทำโรงพิมพ์และมีโรงกลึง   จนกระทั่งต่อมา  ในรัชกาลที่ ๔  รัชกาลที่ ๔ ได้พระราชทานที่ดินปากคลองบางกอกใหย๋ให้หมอบลัดเลอาศัย  หมอบลัดเลจึงได้ย้ายไปอยู่ที่ใหม่   ข้างหลังตึกที่ทำใหม่นี้กับที่ฉางเกลือเป็นบ้านหลวงแก้วอาญัติ  (โต)  บุตรของท่านเจ้าพระยาพระคลัง   --- หลวงแก้วอาญัตินี้ต่อมาเป็นที่พระยาราชานุประพันธ์  ปลัดทูลฉลองกรมท่าคนแรกได้รับพระราชทานพานทอง   คู่กับพระยาพิพัฒโกษา   ซึ่งต่อมาป่วยเป็นโรคหืดเรื้อรัง  รับราชการไม่ได้  รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็นยที่พระราชานุวงษ์  ด้วยมีพระราชดำริว่า  เป็นพระยาไม่ได้  จึงต้องเป็นพระตามตำแหน่งราชนิกูล  อย่างพระพงษอมรินทร ที่พระมหาราชครูปโรหิตาจารย์  เป็นพระพิเศษกินพานทอง  ได้ให้มารับเบี้ยหวัดท้ายหม่อมเจ้า---ที่ดินนี้มาจดถนนหน้ากำแพงวัดประยุรวงศ 

เมื่ปลูกตึกขึ้นแล้วนายหันแตรได้เข้าเช่าอยู่   ฝรั่งในกาลนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า  "พริฏิษ  แฟกฏอรี่"  เป็นศัพท์แก้วแรกมีในสมัยรัตนโกสินทร์ครั้งนั้น

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 08:51

ผู้เขียนได้อธิบายต่อไปอีกว่า

คำว่า "แฟกฏอรี่" (factory) มีมูลศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า  "แฟกตุม" (factum) แปลว่า กระทำการงาน   เดิมนั้นใช้หมายถึงชื่อที่ตั้งทำการของพ่อค้าหรือผู้รับทำการที่ตั้งอยู่ในเมืองต่างประเทศ  และเพื่อป้องกันการรุกรานและความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลของประเทศที่ไปตั้งอยู่  ลักษณะเช่นนี้ชาติปตุกัน (หรือโปรตุเกส) ได้เริ่มตั้งขึ้นแฟกฏอรี่ที่เมืองมาเก๊าในจีนก่อน  แล้วเลยยึดเอาเป็นเมืองขึ้นในกาลต่อมาเป็นเวลา ๓๐๐ ปีเศษ  (นับถึงปี ร,ศ,๑๒๔)   ฝ่ายอังกฤษได้ตั้งแฟกตอรี่ที่กวางตุ้งแล้วเลยยึดเอาเกาะฮ่องกงไว้ครอบครองจนปัจจุบัน  (นับถึงปี ร,ศ,๑๒๔)  ที่อินเดียก็มีเช่นกัน  คือ เดิมพวกฝรั่งเข้ามาขอตั้งแฟกฏอรี่โรงงานก่อน  แล้วจึงค่อยเอิบเอื้อมอำนาจตั้งป้อมปราการป้องกันอำนาจรัฐบาลและพลเมืองของประเทศนั้นไม่ให้มากดขี่ข่มเหง   จนกระทั่งเกิดทะเลาะต่อสู้ลุกลามจนกระทั่งยึดอินเดียได้โดยมาก   เจ้าพระยาพระคลัง (สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย (ดิศ))เล็งเห็นการณ์ไกลและมีตัวอย่างอยู่แล้ว  จึงได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ว่าขอให้พวกฝรั่งนั้นเป็แต่เช่าถือที่ดินทำการไม่ให้ก่อสร้างเอาเอง



ต่อมาในปัจจุบัน  การตั้งแฟกฏอรี่ตามความเข้าใจอย่างเดิมนั้นสิ้นไป  ด้วยว่ามีการติดต่อแก่กันใกล้ชิดมากขึ้น   ความปลอดภัยของพ่อค้าต่างชาติก็มีมากขึ้นด้วย   การปกครองโดยยุติธรรมของรัฐบาลต่างๆ ดีขึ้น   บรรดาลูกค้าที่เข้ามาตั้งห้างค้าขายในประเทศเหล่านั้น  ก็ไม่ได้ตั้งเป็นแฟกฏอรี่อย่างเดิม   แฟกฏอรี่ตามเนื้อความกฎหมายกำหนดไว้หมายเอาว่า  บรรดาตึกรามหรือโรงเรือนในที่ที่มีการกั้นล้อมเป็นเขตใช้แรงเครื่องยนต์ไอน้ำ น้ำ หรือเครื่องยนต์อื่นๆ  ในการทำหัตถกรรมการงานต่างๆ  มีการทำฝ้าย สำลี ขนสัตว์ ผม ไหม ป่าน ปอยู้ต ที่ใช้ทำกระสอบกุหนี่ เป็นต้น   ไม่ว่าจะทำด้วยวัตถุเดียวหรือวัตถุผสมกันหรือแยกกันก็ตาม   มีกิจการที่ทำด้วยมือหรือเครื่องยนต์ต่างๆ ช่วยทำ   นับเป็นแฟกฏอรี่ทั้งนั้น    และมีกฎหมายบังคับกำหนดไว้ด้วย



คำว่า  พริฏิษ (British) เป็นคำคุณศัพท์ของคำว่า  พริษเฏน  คือ อังกฤษ  เมื่อเอามาขยายคำว่าแฟกฏอรี่  มุ่งหมายเอาเฉพาะห้างของชาวอังกฤษ   เพราะนายหันแตรเป็นพ่อค้าชาวอังกฤษ   ฝรั่งทั้งหลายในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงเรียกตำบลที่ตั้งห้างของนายหันแตรนั้นว่า พริฏิษ แฟกฏอรี่  อันเพิ่งเกิดมีในสมัยรัตนโกสินทร์    แต่โดยสามัญคนทั่วไปไม่ได้เรียกว่า  พริฏิษ แฟกฏอรี่   คงเรียกเป็น  ตึกหันแตรบ้าง  ห้างหันแตรบ้าง   และต่อมาบริเวณนั้นก็ได้เป็นตึกแขกเมืองไป

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 12:51

ประวัตินายหันแตร

เมื่อนายหันแตรเข้ามาตั้งการค้าขายในเมืองสยามแล้ว    ก็ได้บันทุกสินค้าอังกฤษต่างๆ  เข้ามาขายและรับสั่งของที่ใช้ในราชการด้วย   มีเครื่องอาวุธต่างๆ ภาชนะ  สิ่งของที่ใช้ในเรือกำปั่นหลวง  เป็นต้น   นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น เช่น กระจกเงาแผ่นใหญ่ เครื่องแก้วเจียระไน  น้ำตะกั่วตัดขาวบ้างสีบ้าง   เครื่องถ้วยชามจานปอสเลน  กระเบื้อง  แพร ผ้าสักหลาด  เป็นต้น  สินค้าเหล่านี้เป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์ในสมัยนั้นมาก   นายหันแตรยังได้ทำการจัดซื้อสินค้าที่มีในเมืองไทย  บรรทุกออกไปส่งขายในเมืองนอกด้วย  เรียกว่าเป็นพ่อค้าสินค้านำเข้าและพ่อค้าสินค้าส่งออก   ในช่วงแรกของการค้าขาย  นายหันแตร  มีกำไรมาก  พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดมาก   และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ด้วยเป็นผู้จัดหาซื้ออาวุธเข้าให้ราชการ   

เรื่องนายเปี่ยมหันแตร

อนึ่ง ในครั้งนั้น   มีนายมหาดเล็กผู้หนึ่งชื่อ  เปี่ยม  เกิดในตระกูลเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  นายเปี่ยมนี้มีรูปร่างสูงใหญ่ขาว   พระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกนายเปี่ยมนี้ว่า  หันแตร  และได้กลายเป็นคำต่อท้ายชื่อนายเปี่ยมนี้ต่อมาว่า  นายเปี่ยมหันแตร  เป็นคำที่สามารถกราบบังคมทูลได้   นายเปี่ยมคนนี้ได้รับราชการต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ ๕ ) เป็นที่พระพิเรนทรเทพ   แล้วต่อเกิดทำผิดต้องโทษถึงถอดออกจากราชการ   (รายละเอียดนั้น  นายกุหลาบได้เขียนไว้  หากมีโอกาสคงได้เล่าต่อไป)

เรื่องนายหันแตรแต่งงานกับท่านผู้หญิงทรัพย์ (คาโรไลน์)

นายหันแตรได้ตั้งการค้าขายจนได้เป็นพ่อค้าใหญ่ในกรุงเทพฯ    ต่อมานายหันแตรได้แต่งงานกับหญิงเชื้อสายปตุกัน  ซึ่งเรียกกันโดยสามัญว่า พวกฝรั่งกะฎีจีน  หญิงคนนี้ชื่อ  คาโรไลน์ ทรัพย์   ผู้คนทั่วไปและบ่าวต่างเรียกภรรยานายหันแตรนี้ว่า  ท่านผู้หญิงทรัพย์   เพราะนายหันแตรมีตำแหน่งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ท่านผู้หญิงทรัพย์แต่งกายแปลกกว่าหญิงฝรั่งกะฎีจีนทั่วไป  กล่าวคือ  ท่านผู้หญิงมักเกล้าผมมวย  นุ่งผ้าจีบ  สวมเสื้อคอ ห่มแพรแถบห้อยคอห่มแพรเพลาะสีนวลบ้าง  สีดำบ้าง   เสมอ   ท่านผู้หญิงเที่ยวจำหน่ายสินค้าตามวังเจ้า  บ้านขุนนาง และยังเข้าในพระราชวังได้ด้วย   ท่านจึงเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย    ต่อมา   นายหันแตรกับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายโรเบิตหันแตร   นายหันแตรได้ส่งไปเรียนที่เมืองนอกแต่ยังเด็กเล็ก   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 13:04

อ่านแล้วสนุกค่ะ    พระพิเรนทรฯคนนี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของสำนวน เล่นพิเรนทร์?
สงสัยว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ เป็นคาธอลิคหรือเปล่า  เธอถึงมีชื่อฝรั่งด้วย  ถ้าใช่ก็แปลว่าได้รับชื่อนี้ตอนรับศีลแบ็พติสม์

วาดภาพแฟชั่นของท่านผู้หญิงทรัพย์ไปด้วยขณะอ่าน    
นุ่งจีบ-นึกออก     ชุดไทยบรมพิมานก็ยังนุ่งจีบอยู่    ตัวนางในละครกรมศิลปากรก็นุ่งจีบ
เสื้อคอ- เดาว่าเป็นเสื้อผู้หญิงที่ตัดคอกลมหรือลึกลงมา   ไม่มีปก  ถ้าคอกลมลึกเหมือนหูกระเช้า เรียกว่าคอกระเช้า
แพรแถบห้อยคอ - เคยเห็นรูปท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีแพรห้อยคอ หรือจะเรียกว่าคล้องคอก็ได้ เป็นแพรผืนเล็กยาว  
ส่วนแพรเพลาะห่ม เป็นแพรผืนกว้างคลุมไหล่ทิ้งชายยาว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 13:26

อ่านแล้วสนุกค่ะ    พระพิเรนทรฯคนนี้หรือเปล่าที่เป็นที่มาของสำนวน เล่นพิเรนทร์?
สงสัยว่าท่านผู้หญิงทรัพย์ เป็นคาธอลิคหรือเปล่า  เธอถึงมีชื่อฝรั่งด้วย  ถ้าใช่ก็แปลว่าได้รับชื่อนี้ตอนรับศีลแบ็พติสม์

วาดภาพแฟชั่นของท่านผู้หญิงทรัพย์ไปด้วยขณะอ่าน   
นุ่งจีบ-นึกออก     ชุดไทยบรมพิมานก็ยังนุ่งจีบอยู่    ตัวนางในละครกรมศิลปากรก็นุ่งจีบ
เสื้อคอ- เดาว่าเป็นเสื้อผู้หญิงที่ตัดคอกลมหรือลึกลงมา   ไม่มีปก  ถ้าคอกลมลึกเหมือนหูกระเช้า เรียกว่าคอกระเช้า
แพรแถบห้อยคอ - เคยเห็นรูปท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร มีแพรห้อยคอ หรือจะเรียกว่าคล้องคอก็ได้ เป็นแพรผืนเล็กยาว 
ส่วนแพรเพลาะห่ม เป็นแพรผืนกว้างคลุมไหล่ทิ้งชายยาว


เรื่องที่มาของคำว่าพิเรนทร์นี้  เท่าที่ฟังมา  ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่ามาจากไหน   แต่พระพิเรนทรเทพ (เปี่ยม หันแตร) คนนี้  ท่านทำผิดเรื่องขัดดาบเข้าใกล้ที่ประทับ

ท่านผู้หญิงทรัพย์นั้น  เข้าใจว่าเป็นพวกเชื้อสายโปรตุเกสที่สืบเชื้อสายต่อมาจากพวกโปรตุเกศในสมัยกรุงเก่า  พวกนี้เมื่อกรุงเก่าเสียแก่พม่าก็ได้ย้ายมาอยู่กรุงธนบุรีด้วย   บรรดาฝรั่งที่เข้ามาเมืองไทยในช่วงต้นกรุงคงแต่งงานกับฝรั่งกะฎีจีนเหล่านี้  เพราะเห็นเป็นเชื้อฝรั่งเหมือนกัน   อันที่จริงฝรั่งโปรตุเกสที่อยู่ชุมชนตามหัวเมืองท่ามีอยู่ในประเทศแถบนี้มากมาย   และคงอยู่ต่อมาแม้โปรตุเกสจะหมดอิทธิพลทางทะเลแล้ว  ท่านผู้หญิงก็น่าจะเป็นคาธอลิกอย่างพวกโปรตุเกสครับ

เรื่องเครื่องแต่งตัวสตรีสมัยก่อน  ผมไม่ถนัด   แต่น่าจะมีผู้อื่นที่ถนัดกว่า  สามารถจะอธิบายได้ชัดเจน  โดยเฉพาะการแต่งตัวอย่างท่านผู้หญิงกลีบ  มหิธร  นึกได้คนหนึ่ง   เดี๋ยวก็คงมาตอบให้
บันทึกการเข้า
JD
มัจฉานุ
**
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 14:07


พวกฝรั่งกะฎีจีน  หญิงคนนี้ชื่อ  คาโรไลน์ ทรัพย์   ผู้คนทั่วไปและบ่าวต่างเรียกภรรยานายหันแตรนี้ว่า  ท่านผู้หญิงทรัพย์   เพราะนายหันแตรมีตำแหน่งเป็นที่หลวงอาวุธวิเศษ   ท่านผู้หญิงทรัพย์แต่งกายแปลกกว่าหญิงฝรั่งกะฎีจีนทั่วไป  กล่าวคือ  ท่านผู้หญิงมักเกล้าผมมวย  นุ่งผ้าจีบ  สวมเสื้อคอ ห่มแพรแถบห้อยคอห่มแพรเพลาะสีนวลบ้าง  สีดำบ้าง   เสมอ   ท่านผู้หญิงเที่ยวจำหน่ายสินค้าตามวังเจ้า  บ้านขุนนาง และยังเข้าในพระราชวังได้ด้วย   ท่านจึงเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งหลาย    ต่อมา   นายหันแตรกับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรชายคนหนึ่งชื่อ นายโรเบิตหันแตร   นายหันแตรได้ส่งไปเรียนที่เมืองนอกแต่ยังเด็กเล็ก   


สับสนนิดหน่อยครับตรงที่ว่า
นายหันแตร+ คาโรไลน์ ทรัพย์ -->นายโรเบิต หันแตร (บุตร)


ส่วนท่อนนี้
     ‘ฝรั่งพุทเกด’ คือ ฝรั่งโปรตุเกศ ว่าภรรยาของหันแตร เป็นเชื้อสายโปรตุเกศ
สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (พอลคอน) สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โน้น
นับถือศาสนาแคทอลิค ชื่อฝรั่งว่าแองเจลิน่า (ชื่อนักบุญ) ชื่อไทยว่า ทรัพย์

ดูล่างสุด ที่ลิ้งค์นี้
http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=1923&stissueid=2517&stcolcatid=2&stauthorid=13


สรุปว่า ภาพนี้ แองเจลินา ทรัพย์ เป็นภรรยาของหันแตรผู้พ่อ หรือผู้ลูกครับ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 14:39

ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๗ - ๒๔๓๘     ท่านผู้หญิงกลีบแต่งงานโดยนุ่งผ้าลายขัดมัน 
คาดเข็มขัดเงินโดยใส่เสื้อมีเอ็นปลายเอวแหลมติดลูกไม้โดยรอบ
ห่มแพรจีบสไบเฉียง  ไม่ได้สวมรองเท้า


ในปี ๒๔๔๙  ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้าฝ่ายใน

ท่านนุ่งผ้ายกไหมอย่างดีโจงกระเบน   ใส่เสื้อแพรอย่างดีแขนยาวคอตั้งติดริบบิ้นและติดลูกไม้อย่างละเอียด
ตัดเย็บด้วยฝีมือประณีตมาก

สะพายแพรสีชมพูปักตราจุลจอมเกล้า  ตามแบบที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้วางระเบียบไว้
สำหรับแพรปักตราจุลจอมเกล้า  เป็นผืนแพรสะพายจากบ่าซ้าย  มารวบสองชายเข้าด้วยกันที่เอวขวา

ที่บ่า  ตัดเนื้อแพรให้คอดและผายออกตอนอกกับตอนหลัง
ส่วนที่รวบตรงเอวนั้นก็ตัดเนื้อแพรให้คอดเช่นเดียวกัน

ชายแพรทั้งสองข้างที่ห้อยลงมานั้น  กว้างเท่ากับตอนหน้าอกและตอนหลัง
และมีรูปดวงตราปักด้วยไหมและดิ้นทั้งสองชาย  ชายละดวง
บนผืนแพรปักด้วยดิ้นเป็นตัวอักษร จ.จ.จ. เป็นระยะ ๆ ตลอดผืน


( หนังสืออนุสรณ์ ท่านผู้หญิง ๒๕๐๔ )
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 15:28

ผมเล่าตามเนื้อความในบทความ ชื่อ รัตนศัพท์สงเคราะห์  ของ "ตวันสาย" ในทวีปัญญา    ส่วนข้อมูลผิดถูกอย่างไร   ต้องขอให้ผู้เข้ามาอ่านช่วยสอบสวนอีกที   
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 16:07

นายหันแตรมักคิดหาสินค้าที่เป็นที่ถูกใจผู้มีบรรดาศักดิ์และคนไทยทั่วไปเข้ามาขายอยู่เสมอ

เรื่องพรมน้ำมันแรกมีในเมืองสยาม


คราวหนึ่งนายหันแตรสั่งพรมน้ำมันเข้ามาขาย  เพราะเป็นของแรกมีในอังกฤษเพิ่งเข้ามาเมืองไทย   เจ้าพระยาพระคลังชอบใจพรมน้ำมันนั้น  แต่ด้วยเป็นของต่างประเทศที่แปลกประหลาดเข้ามาในเมืองไทย   จำต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๓ ได้ทอดพระเนตรเสียก่อน  ต่อเมื่อไม่โปรดแล้ว  เหลือจากนั้นจึงนำออกจำหน่ายแก่ผู้อื่นได้    พรมน้ำมันนั้นมีพระราชดำริว่าจะให้นำไปปูในโบสถ์วิหาร   ก็เห็นจะไม่ทนทานอย่างแผ่นหิน  ครั้นจะนำไปปูท้องพระโรงก็ไม่พอแก่ลายชนิดเดียวกัน  ถ้าจะนำไปปูที่ใหญ่กว้าง  ก็ต้องสั่งโดยวัดขนาดตัดทำจำเพาะพอแก่ลายและขอบอย่างเดียวกัน  

เป็นอันว่า คราวนั้น รัชกาลที่ ๓ ไม่โปรดพรมน้ำมันของนายหันแตร   จึงเป็นโอกาสให้เจ้าพระยาพระคลังกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตรับซื้อพรมน้ำมันนั้นไว้   แล้วถ่ายตัวอย่างเขียนเพดานโบสถ์วิหารการเปรียญบ้าง  (เอาแบบลายพรมน้ำมันนั้นไปเขียนเพดานโบสถ์วิหารการเปรียญ)  และพรมที่สั่งเข้ามานั้นก็ปูที่หอนั่งเก่าของท่าน  จึงได้กลายเป็นตัวอย่างลือเลื่องเรื่องพรมน้ำมันในคราวนั้น


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 09 พ.ค. 10, 19:32

เรื่องรั้วเหล็กแลกน้ำตาลทราย


ครั้งหนึ่ง นายหันแตรได้สั่งรั้วเหล็กบรรทุกเรือกำปั่นเข้ามาบอกขายในกรุงเทพฯ  รั้วเหล็กนั้นเป็นอย่างรั้วเหล็กที่กั้นไฮด์ปาร์กและพระราชวังบักกิงฮัมในกรุงลอนดอน    เจ้าพนักงานได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓   พระองค์ไม่โปรดด้วยว่าราคาแพงนัก  และจะไม่มีใครกล้าซื้อไว้ได้  เมื่อมีพระราชกระแสว่าไม่โปรดรั้วเหล็กแล้ว  นายหันแตรจำจะต้องบรรทุกรั้วเหล็กไปจำหน่ายที่อื่น  อันจะเป็นการขาดทุนทั้งระวางและค่ารั้วเหล็กที่ได้ซื้อมาขาย   แต่เจ้าพระยาพระคลังเห็นเป็นโอกาสและชอบใจใคร่ได้ด้วย    ครั้นจะซื้อไว้  ราคาก็แพงนัก   และเงินที่ท่านมีในขณะนั้นไม่พอซื้อรั้วเหล็กของนายหันแตร   

ในเวลานั้น  เจ้าพระยาพระคลังกำลังทำโรงหีบน้ำตาลอยู่หลายแห่ง   มีที่เมืองนครเขื่อนขันธ์เป็นต้น    ท่านจึงได้เจรจากับนายหันแตรว่า  ท่านจะขอแลกเปลี่ยนรั้วเหล็กของนายหันแตรกับน้าตาลทรายของท่านลำต่อลำ     นายหันแตรคิดเห็นว่าการแลกเปลี่ยนนี้ไม่ขาดทุน   พอที่จะหากำไรได้  จึงตอบตกลงตามที่ท่านเจ้าพระยาพระคลังเสนอมา   เจ้าพระยาพระคลังจึงนำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ว่า  รั้วเหล็กของนายหันแตรนั้น  เมื่อพระองค์ไม่โปรดเกล้าฯ  ให้ซื้อไว้แล้ว   นายหันแตรจำต้องบรรทุกรั้วเหล็กออกไปจากกรุงเทพฯ  เป็นการขาดประโยชน์ของลูกค้าผู้นำสินค้าเข้ามาที่พระนคร   ท่านจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแลกเปลี่ยนรั้วเหล็กกับน้ำตาลอันเป็นสินค้าเมืองสยามผลิตเอง   และขอรับพระราชทานรั้วเหล็กไว้บูชาในพระศาสนา  โดยจะใช้เป็นรั้วกั้นประดับที่วัดประยุรวงศาวาส   รัชกาลที่ ๓  ได้ทรงฟังดังนั้นก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตตามที่ท่านขอ


จากนั้น   ท่านก็ให้นายหันแตรขนรั้วเหล็กขึ้นชั้นกั้นที่หน้ากำแพงปูนอีกชั้นหนึ่ง   และกั้นรอบภุเขาและสระน้ำวัดประยุรวงศาวาส   ทำให้วัดประยุรวงศาวาส ได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วัดรั้วเหล็ก  ส่วนเรือที่บรรทุกรั้วเหล็กเข้ามานั้น   ท่านเจ้าพระยาพระคลังก็ให้บรรทุกน้ำตาลทรายจนเต็มลำเรือออกให้นายหันแตรไปจำหน่ายที่ต่างประเทศ   เป็นอันว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายโดยไม่ต้องซื้อด้วยเงิน   และนายหันแตรก็ได้ค่าระวางเรือและค่ารั้วเหล็ก   นั่นก็นับเป็นครั้งแรกที่มีรั้วเหล็กในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์   "อันเป็นนิยมแฟชชั่นมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓  จนปัตยุบันนี้กั้นประดับตามวัดวังแลบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์อยู่เดี๋ยวนี้"

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง