เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6259 ค่าของสยามโบราณในขอบเขต “ประเทศไทย”
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


 เมื่อ 24 เม.ย. 10, 00:03

ประเทศไทยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งมีอู่อารยธรรมเก่าแก่อย่างอินเดียและจีน เป็นแม่แบบหลักๆในการ
นำมาใช้สร้างอารยธรรมของตนเองในสมัยก่อน สำหรับประเทศไทยทวาราวดีดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไกลที่สุดเท่าที่
เราจะเอื้อมไปถึงในปัจจุบัน  แต่ทวาราวดีที่เรารู้จักนั้นยังดูเลือนรางเพราะไม่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์รองรับ
แน่นอน แต่มีหลักฐานยืนยันการมีอยู่เอาไว้ คือกลุ่มโบราณสถานที่ปรากฏร่องรอยชุมชน โบราณวัตถุ และงาน
สถาปัตยกรรมต่างๆ  แต่ทั้งนี้อาณาจักรทวาราวดีก็ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด หรือหลักฐานทางอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่เทียบได้
กับพุกาม มอญโบราณ หรือเขมรโบราณได้เลย ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงเหตุผลการล้มของทวาราวดีไปก่อน หรืออะไร
ก็แล้วแต่

พอมาถึงสุโขทัยเราก็ไม่ได้ มีรูปแบบอารยธรรมที่เกรียงไกรได้เทียบเท่ากับเขมรเมืองพระนคร แม้กระทั่ง
อยุธยาต้น-กลางเองก็ไม่ได้มีศาสนสถานที่ตระการตาอวดความเกรียงไกรได้เท่าเทียม และเหลือหลักฐาน
(แบบอยุธยาจริงๆ)น้อยเกินไปที่อวดชาวโลกได้ว่ายิ่งใหญ่อย่างที่เราชอบเอ่ยถึง ถึงแม้เราอาจจะไม่เรียกอยุธยาว่า
เป็นสยามโบราณแล้ว
แต่สยามโบราณที่ย้อนไปช่วงเขมรโบราณ หรืออาณาจักรพุกาม หรือก่อนหน้า จริงๆแล้วอาจเชื่อได้ว่าไม่ใช่ดินแดนที่
ยิ่งใหญ่มากมายนัก เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องการแนวคิดคือ อะไรคือคุณค่าของสยามโบราณกันแน่ และเราจะศึกษา
งานอารยะธรรมทวาราวดีไปทำไม เมื่อ พุกาม มอญ ชวา เขมร โบราณนั้น
แสดงความยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากฝากไว้มาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่เราเทียบเขาไม่ได้
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 เม.ย. 10, 19:29

คงต้องถามเจ้าของกระทู้ใหม่ก่อนดีกว่านะครับ
ว่าทำไมจึงตั้งชื่อกระทู้แบบนี้ และคิดว่าอยากรู้จักประเทศไทยในระดับไหน

ที่ถามเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะอยากตำหนิ แต่สงสัยนะครับ




วัฒนธรรมมนุษย์มีพัฒนาการกันไปด้วยกันทั้งโลก
เพราะโลกเจริญขึ้นจากการติดต่อค้าขายระหว่างแหล่งอารยธรรมต่างๆ
ถ้าเราไม่เริ่มต้นจากความเข้าใจว่าคนกลุ่มหนึ่งอยู่ในบทบาททางสังคมใดในยุคสมัยใด
คงเป็นปัญหาที่จะรับรู้ต่อไปว่าทำไมเหตุแต่ละอย่างจึงเป็นไปสำหรับคนกลุ่มนั้น


ที่ผ่านมาตำราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยตามการจัดการของกระทรวงศึกษาธิการ
มักมีแต่ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ คือ รู้จักโคตรวงศ์ของพระมหากษัตริย์
แต่ไม่สนใจจะรู้ว่าโคตรวงศ์ของคนแต่งประวัติศาสตร์เป็นใคร
เมื่อวิ่งร้องแร่แห่กระเฌอเพ้อหาแต่ความยิ่งใหญ่เสียแล้ว ส่วนเล็กน้อยก็ไม่เหลือค่า
จึงต้องหลอกตัวเองว่าประเทศไทยนั้นยิ่งใหญ่มาแต่ครั้งบุรพกาลนานนม
และไม่กล้ายอมรับความจริงกับสังคมต่อไปได้ว่าเรา "เคย" เป็น "ใคร" มาก่อน
เหมือนหนึ่งเมียขี้ข้าที่ได้ลุกขึ้นมาเป็นคุณนาย มีกำพืดร้ายๆก็ต้องกลืนกลั้นอั้นไว้



ศิลปะแขนงไหนก็ตามที่มีคำขยายต่อว่า "ไทย" มักต้องล้มหายตายสูญอยู่เสมอ
ทั้งดนตรี-กวี-ศิลป์-จิตรกรรม-สถาปัตยกรรม ไม่เหลือของที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
ที่อยู่ได้คงเหมือน "ผัดไทย" เป็น "อาหารไทย" ให้ "คนไทย" ไว้ "อวดโลก"

ศิลปินที่ลุกขึ้นทำงานไทยก็หาได้มีชีวิตไม่ คงแต่อยู่ไปเยี่ยงผีตายทรากอยู่มะรอมมะร่อ
ประหนึ่งว่าประเทศไทยไม่เคยมีอยู่ในโลก หรือมิฉะนั้นโลกนี้ก็ไม่เคยมีประเทศไทย

หากเรารับรู้เสียใหม่ ว่าประเทศไทยนั้นอยู่ในโลกใบนี้ และมีพัฒนาการไปพร้อมกับโลกใบนี้
อะไรก็ตามที่ "คนไทยทำ" มันจะ "เป็นไทย" เสมอ และมิได้แตกต่างอะไรมากมายจากสังคมอื่นๆเลย
เราอาจจะได้เห็นมุมมองใหม่ๆขึ้นมาอีกมากนะครับ







คำพูดของผมอาจจะรุนแรงไป และทำให้หลายคนรู้สึกว่าตัวเอง "ไม่เหลืออะไรเลย"
ต้องขอโทษด้วยที่มันเป็นเช่นนั้น เพราะก่อนจะพูดก็ทราบดีอยู่แล้วว่าคงมีหลายคนที่รู้สึก

แต่ถ้าไม่ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะระบบการศึกษาที่ล้มเหลวของสังคมนี้ยังครอบงำคุณไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 เม.ย. 10, 20:39

ยังไม่อยากตอบเป็นคนแรก  ขอความเห็นอื่นๆก่อน

ถ้าเป็นดิฉัน อย่างแรกคือจะลบอคติ เรื่อง"ความยิ่งใหญ่" ออกไปก่อน    เพราะเมื่อใดเริ่มต้นด้วยการดูถูกรากเหง้าของตัวเองว่ากระจอกเสียแล้ว  จะเอากะจิตกะใจที่ไหนไปอยากรู้จริงจัง
อาณาจักรทั้งหลายในโลกก็มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก     ถ้าเราวัดความน่าสนใจด้วยขนาด   ก็เหมือนตั้งใจจะขับรถไปเที่ยวเฉพาะเมืองที่มีตึกระฟ้า    เมืองไหนมีแต่บ้านเล็กบ้านน้อย  ก็ขับรถผ่านไปว่ามันไม่เห็นจะมีอะไร
หารู้ไม่ว่า ศิลปวัฒนธรรม ที่หายาก น่าสนใจน่าศึกษาค้นคว้า อาจจะอยู่ในกระท่อมมากกว่าอาคารใหญ่มหึมาก็ได้

คุณค่าของสยามโบราณ หาได้จากการใฝ่รู้     จะเอาด้านไหนขึ้นมาก็ค่อยๆถามไปทีละด้าน    อย่าเพิ่งเหวี่ยงแหไปหมดอย่างที่คุณถาม
เชื่อว่าคงจะมีคนเข้ามาตอบได้โดยไม่ต้องบ่นอะไรยืดยาว
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 เม.ย. 10, 22:15

ขึ้นอยู่กับว่าคุณศึกษาศิลปะไปเพื่ออะไร เพื่อความรู้ หรือเพื่อความภาคภูมิใจ หลายชาติที่มองโบราณสถานอันมหึมาของตัวเองด้วยความหยิ่งทะนง ก็ใช่ว่ารัฐนาวาจะไปรอด ประชาชนปกติสุขเสมอไป

แต่ถ้าทำเพื่อความรู้ งานศิลปะขนาดเล็กเหล่านี้คงจะมีคำถามมากมายให้คุณตอบได้ไม่รู้จักจบ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น

ปัญหาแรกของการศึกษาประวัติศาสตร์เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ การศึกษาโดยแบ่งแยกตามเขตแดนแผนที่ที่ฝรั่งขีดให้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมันไม่มีใครขีด

เราไปคิดว่าเขาเป็นพม่า มอญ เขมร เราก็ตั้งแง่กับเพื่อนบ้านไปหมด ไม่เคยมองคนรอบข้างดี (ทั้งๆที่คนข้างบ้านเขาก็ปลูกบ้านพร้อมๆกับเรานั่นแหละ)

ศิลปะเป็นผลอันแสดงออกจากแรงบันดาลใจต่างๆของมนุษย์ ทั้งความสะเทือนใจ อำนาจ ศาสนา ความเชื่อ ถ้าเราจะศึกษาด้วยหวังสิ่งที่ใกล้เคียงความจริง ก็อย่าเพิ่งให้มันมีอิทธิพลเหนือความคิดของเรา

ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก จะมีใครสักกี่คนที่มองพระพุทธรูปในตู้มิวเซียมเป็นเพียงศิลปวัตถุ ไม่ใช่ตัวแทนพระพุทธองค์ หรือมองพระบรมมหาราชวังเป็นสำนักงานของรัฐ โดยไม่มีความคิดเกี่ยวกับชาติหรือสถาบันกษัตริย์

เคยฟังพวกเรียนธรณีวิทยาเขาคุยกัน เขาก็มองเพชรเป็นก้อนกรวดเป็นคาร์บอนนั่นแหละ หาได้มองที่คุณค่าราคาของมันไม่
บันทึกการเข้า
yutthana
สุครีพ
******
ตอบ: 1599


สุนทรียภาพแห่งศิลปไทย


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 เม.ย. 10, 00:28

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ใช่ผู้มีความรู้ในแง่ประวัติศาสตร์มากนัก   แต่สิ่งที่มองอาจมองที่ขนาดของสถาปัตยกรรมที่มีขนาดใหญ่โตมโหราฬอย่างนครวัต นครธม  สยามเราอาจจะไม่มีสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตขนาดนั้น  แต่ถ้าเรามองมุมมองในแง่การศึกษาความงามและคุณค่าศิลปกรรมของไทยนั้น  ผมคงบอกได้อย่างภาคภูมใจว่างานศิลปกรรมของไทยนั้นมีความงามไม่แพ้ชาติอื่น   ในงานศิลปกรรมนั้นถ้าเราจะศึกษางานศิลปไทยนั้น เราคงต้องกลับไปศึกษารากเหง้าของ อารยธรรม ศิลปกรรมของประเทศต่างๆที่มีอิทธิพลต่องานศิลปปะไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นจีน  อินเดีย  อินโดนีเชีย  เขมร ซึ่งผมถือว่าอินเดียคือครูคนแรกของเราเลยก็ว่าได้  เขมรซึ่งส่งผลต่องานศิลปกรรมอยุธยาอย่างมาก  ครูช่างโบราณของไทยนั้นมิได้เอางานศิลปกรรมมาตรงๆแต่พัฒนาเอามารวมกับความคิด ทางพื้นวัฒนธรรมของไทย จนพัฒนาเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง  ซึ่งจริงๆแล้ว  ศิลปกรรมทวาราวดี   ศรีวิชัย  อโยธยา  สุโขทัย  อยุธยาหรือแม้แต่รัตนโกสินทร์เอง ก็มีคุณค่าทางศิลปกรรมแตกต่างกัน  ครับ  คงต้องมาคุยกันว่าเรามีมุมมองต่อการการมองศิลปกรรมในมุมมองไหน  เราอาจจะน้อยใจว่าคนไทยในปัจจุบันเห็นคุณค่าของงานไทยน้อยลง  เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริง แต่อย่างน้อยพวกเราในชมรมเองก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่ายังมีคนที่เห็นคุณค่าในศิลปไทยบ้าง  ผมคงไม่ไปโทษหน่วยงานหรือบุคคลเพราะไม่มีประโยชน์อันใด  มันคงต้องเป็นหน้าที่ของพวกเรานั่นเเหละที่จะต้องเราเสนอวิธีการที่ทำให้รู้ว่างานศิลปกรรมไทยนั้นงามและยิ่งใหญ่อย่างใร เหมือนอย่างที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าพระสมัยสุโขทัยงามที่สุด เพราะเป็นความงามที่คนทั่วไปรู้สึกได้มากที่สุด  วงพระพักตรและเส้นที่อ่อนหวานใบหน้าที่ยิ้มแย้ม   ต่างกับพระทวาราวดีซึ่งงามในความโอ่อ่าของทรวดทรง  ปริมาตรทางประติมากรรมและมีพลังกว่าพระสุโขทัย  หรือพระอยุธยาซึ่งดูความงามที่ความกระซับของเส้นเเละทรวดทรง   หรือพระรัตนโกสินทร์ซึ่งดูที่ความละเอียดปราณีต   สิ่งเหล่านี้คือวิธีการมองหรือมุมมองทั้งนั้นที่เราจะเข้าถึงความงามเหล่านี้ ควรเปิดใจให้กว้างในการมองศิลปกรรมต่างๆ เพื่อเปิดมุมมองในตนเองครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 เม.ย. 10, 11:53

เข้ามาอ่าน-เข้ามาตอบด้วยความงุนงง

 ว่าต้องการสืออะไรกันแน่ เป็นประเด็นกระทู้การบอกเล่าหรือคำถาม

ยิ่งมาเจอคำว่า สยามโบราณก็ต้องยิ่งตีความกันเข้าไปอีก
 
ว่าไทยสมัยนี้ยังใช่สยามหรือไม่ หรือว่าสยามได้ตายจากไปแล้ว

แวบหนี่งของความคิด นีกถึงท่าน จิตร ภูมิศักดิ์ ขี้นมาโดยพลัน

เกี่ยวประเด็นนี้ต้องท้าวความไปในอดีตอันยาวไกล
มองในทุกมิติโดยรวม เช่น

เชื้อชาติ-ชาติพันธุ์ที่อาศัย ณ ที่ตรงนี้มาก่อน ที่วัฒนธรรม/ความเชื่อ/ประเพณี จะมีผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะและอารยธรรม
พัฒนาการทางสังคม(อาณาจักรรอบข้าง) ที่จะเกิดการแลกเปลี่ยน-ถ่ายเท-ครอบงำ...

มาสู่ปัจจุบันที่เป็นประเทศไทย
ที่ยังไม่รู้ว่าไทยแท้คืออะไร-อย่างไร
เพราะเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์(globlization) ที่วัยรุ่นไทยคลังไคล้เกาหลี

จนไม่รู้ว่ารากเหง้าของตนเองเป็นมาอย่างไร

น่าเศร้าใจ

บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 เม.ย. 10, 09:17

ไม่แน่ใจว่าเจ้าของกระทู้จะได้คำตอบที่ต้องการหรือยัง
เพราะผมก็บ่นมากไปจริงอย่างที่อาจารย์เทาชมพูท่านว่าไว้




เข้าใจว่าคุณ virain นั้นถือ "สัญชาติไทย" และใช้ "ภาษาไทย" ในการดำรงชีวิต
ถ้าใช่ทวารวดีก็เป็นศิลปะแรกที่ "อยู่ในสมัยประวัติศาสตร์" บนแผ่นดินที่คุณเกิดมา
เป็นต้นกำเนิดที่จะบอกคุณได้ ว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน และมีความเป็นมาอย่างไร
และเป็นส่วนหนึ่งใน "ความเป็นตัวตนของตัวคุณเอง"

ถ้าคุณเจ้าของกระทู้ไม่ได้เป็นลูกเศรษฐี แต่มีเพื่อนเป็นลูกเศรษฐี
คุณจะเปรียบเทียบฐานะของครอบครัวคุณ แล้วดูถูกคุณพ่อคุณแม่ว่ากระจอกงอกง่อยไหม ?
ถ้าไม่... ทำไมถึงคิดว่าทวารวดีนั้นสู้ศิลปะอื่นๆไม่ได้ ในเมื่อนั่นคือ "บรรพชน" ของคุณเองล่ะครับ ?







ปล. โดยส่วนตัวยังไม่เห็นว่าคุณเจ้าของกระทู้ควรต้องตัดทอนคำถามลงเหลือเพียงเฉพาะด้านนะครับ
ออกจะดีใจมากด้วยซ้ำ ที่คุณได้ถามคำถามนี้ "ก่อนการเริ่มต้นศึกษา"
เพราะยังมีคนที่ "ศึกษาไปแล้ว" อีกมากลืมที่จะถามตัวเองแบบคุณ
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 เม.ย. 10, 21:26

สวัสดีครับ
ที่จริงเป้าหมายในการตั้งกระทู้เช่นนี้ ก็เพราะตั้งใจจะฝากเอาไว้ เพื่อดึงเอาคุณค่าที่มีอยู่ในความคิดของแต่ละท่านออกมา
ถ้าวันหนึ่งมีคนรุ่นใหม่ตั้งคำถามแบบนี้ขึ้นมาบ้าง จะได้ไม่ต้องค้างคาเพราะยึดติดกับรูปแบบ หรือคุณค่าในเชิงรูปธรรมกันมากไป
หรือกลายเป็นเรื่องที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูกกันต่อไปครับ

ส่วนตัวผมเองก็มีมุมมองในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน สยามโบราณอาจเป็นเพียงกลุ่มอารยธรรมเล็กๆ ที่เป็นพื้นฐานของการเติบโต
ขึ้นมาจนเป็นอารยธรรมที่ค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่ง จนกระทั่งปัจจุบัน จากกลุ่มเล็กๆที่มีการพัฒนาไม่ขาดสาย โดยมีการรับเอา
สิ่งที่ผ่านเข้ามาผสมปนเปกันในระดับที่เสถียรภาพของสังคมนั้นยังรับได้ กล่าวคือภูมิภาคนี้มีกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมอาศัยอยู่
อย่างน้อยที่สุดราวพุทธศตวรรษที่  9 – 11 และรวมตัวเป็นกลุ่มชนที่เปิดรับอารยธรรมภายนอกด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นกลุ่มอารยธรรม
ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง เพราะมีการ รับ ถ่ายและปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ  ถึงจะดูเป็นเรื่องสามัญแต่ก็สามารถพูดได้ว่าเราเองก็มีจุดยืน
ทางอารยธรรมเช่นกัน

ทวาราวดีรับรูปแบบทางความคิด ความเชื่อ ศิลปะ หรืออะไรหลายๆอย่างในระยะแรกมาจากอินเดีย แต่เราก็ไม่สามารถเรียกทวาราวดีนี้
ว่าเป็นอินเดียได้ เพราะการรับรูปแบบเข้ามานั้น ทวาราวดียังคงผูกพันอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ที่มีอยู่ควบคู่กันไป เทียบกับในปัจจุบันการบูชาพระภูมิ
เจ้าที่ ผีเรือน ฯลฯ ที่เป็นการนับถือผีซึ่งยังคงมีอยู่ แต่อาจอยู่ในเงาของความเป็นพราหมณ์ ซึ่งพราหมณ์-ฮินดูในประเทศไทยก็ยังอยู่ในเงาของ
ศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนย่อยที่แสดงออกถึงความสำคัญในระดับภูมิภาค

อย่างเช่นที่คุณติบอเปรียบเทียบมาได้เห็นภาพมากนัก 

ถ้าคุณเจ้าของกระทู้ไม่ได้เป็นลูกเศรษฐี แต่มีเพื่อนเป็นลูกเศรษฐี
คุณจะเปรียบเทียบฐานะของครอบครัวคุณ แล้วดูถูกคุณพ่อคุณแม่ว่ากระจอกงอกง่อยไหม ?
ถ้าไม่... ทำไมถึงคิดว่าทวารวดีนั้นสู้ศิลปะอื่นๆไม่ได้ ในเมื่อนั่นคือ "บรรพชน" ของคุณเองล่ะครับ ?



บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 เม.ย. 10, 21:30

ในทางพระพุทธศาสนาชีวิตมนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เมื่อเกิดขึ้นแล้วดับไปเช่นนั้นเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงเป็นของมันเอง
อุเทสิกเจดีย์ สังเวชนียสถาน รวมไปถึงศาสนสถานทั้งหลาย ในเนื้อแท้ของความคิดไม่ใช่ปราสาทที่เป็นเรือนอยู่ (พุทธาลัย?) ไม่ใช่สถาน
แกนกลางของจักรวาล (จักรวาทิน?) เป็นเพียงสถานที่ให้ระลึกถึงความสังเวช เป็นที่ถวายบูชาต่างๆ และประกอบพิธีกรรม แต่เมื่อศาสนสถาน
จำเป็นต้องใช้ความงามทางศิลปะเข้าไป เพื่อเพิ่มคุณค่าทางสุนทรียะ สร้างความอิ่มเอมใจในทางโลก (โลกธรรม) และแสดงออกถึงรสนิยม
ทางสังคมเพื่อแสดงถึงความเจริญของอารยธรรมนั้นๆ ในเมื่อแต่ละที่แต่ละกลุ่มชนแบ่งความสำคัญในแต่ที่แต่ละจุดไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการ
แข่งขันในระบบความเชื่อหรือศาสนา แม้กระทั้งการแสดงอำนาจทางการเมือง ทำให้เห็นว่าเมื่อความคิดในแต่ละจุดนี้ต่างกัน รูปแบบการแสดงออก
ก็ไม่เหมือนกัน (ยืมคำพูดจากชื่อหนังสือเกี่ยวกับจิตรกรรมสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ของอาจารย์สันติ) ดังนั้นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่อาจไม่ใช่สิ่ง
ที่แสดงผลทางด้านจิตใจ เรื่องนี้อาจารย์เทาชมพูเปรียบเทียบได้กับกระท่อมหลังน้อยกับตึกสูงระฟ้า

เทวรูปในรูปแบบของสุโขทัย หากมองภาพเทวรูปของเขมรเทียบด้วย ก็ทำให้พอจะเห็นความต่างของสังคมได้เหมือนกัน


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 26 เม.ย. 10, 21:32

ความภาคภูมิใจในความเป็นตนเองนั้นเป็นความรู้สึกที่รับรู้ได้ และเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะมี ถ้าพูดถึงในเรื่องของปุถุชน
แต่อย่างไรเราก็ไม่อาจจะลบกฎของการเปลี่ยนแปลงทางโลกไปได้ เพราะเมื่อเกิดการติดต่อสื่อสาร หลายสิ่งที่ผ่านเข้ามาอยู่ตลอด
การเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด ความรู้สึก ฯลฯ ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ  จึงไม่ได้จำเป็นอยู่ที่ว่าอะไรคือสยามจริงๆ หรืออะไรที่เราคิดขึ้นได้จริงๆ
แล้วถึงบอกว่านั่นเป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจ แต่มันคืออะไรที่เราได้ผ่าน ได้ทำ ได้คิด และออกผลเป็นรูปธรรมอะไรขึ้นมา คุณค่าของมันจึงผูกพัน
อยู่กับเวลาและสถานที่ ที่บ่งบอกเรื่องราวของตัวเราเองไว้อย่างหลวมๆ เพราะเรื่องราวทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของโลกทั้งใบ

ภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ฯลฯ เหล่านี้นับเป็นมรดกของบรรพบุรุษที่มีค่าจริงๆ แม้จะมีหลายสิ่งที่เราได้หยิบยืมมา แต่ก็ได้ถูกหลอมรวมแล้ว
จึงเรียกได้ว่าเป็นมรดกของไทย-สยาม เพราะคนในสังคมปัจจุบันนี้ใช้และยอมรับ ในสิ่งที่อารยะธรรมไทย-สยามนี้สืบเนื่องมาโดยตลอด ดังนั้น
ในปัจจุบันแม้จะมีวัฒนธรรมอื่นมาผสมอยู่ในประเทศไทยมาก การรักษาอัตลักษณ์จึงเป็นหน้าที่ของคนปัจจุบัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเหล่านี้ก็
จะตกเป็นมรดกของลูกหลานเช่นกัน



บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 26 เม.ย. 10, 21:33

ต้องขอบคุณทุกท่าจริงๆครับที่เข้าแสดงความคิดเห็นกัน หวังว่าทั้งหมดนี้มันคงจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง

ในหลายๆแง่มุมที่ทุกท่านยกมามีความน่าสนใจมากครับ อย่างเช่นเรื่องหนึ่งที่พี่กุยกมา เรื่องการไหว้พระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์ครับ
เรื่องนี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลอย่างหนึ่ง เพราะผมเองก็เป็นคนหนึ่งครับที่ทำอย่างนั้น แม้กระทั่งเวลาเดินทางผ่านพระบรมมหาราชวัง
และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภูเขาทอง ฯลฯผมก็ยกมือไหว้เสมอ สำหรับผมคิดว่าเป็นเรื่องสากลอย่างหนึ่ง เวลาที่คนในชาติแสดง
ความภาคภูมิใจ บางประเทศอาจยืนตรงเอามือทาบหน้าอก เพื่อแสดงความรพสถานที่นั้นๆ หรือจะเป็นการทำอาการอื่นๆต่างกันออกไป
แต่เงื่อนไขความรู้สึกของคนไทยอาจจะต่างไปในรายละเอียด วัฒนธรรมไทยนั้นการไหว้คิดว่าเป็นการกระทำที่แสดงออกได้ ทั้งความรู้สึก
เคารพ ความภาคภูมิใจ ความศรัทธา เอาไว้ด้วยกัน อย่างเช่นกันแสดงความเคารพพระพุทธรูปของผมนั้น คือการแสดงอาการคาราวะ
แบบคนไทยปกติ คือมีทั้งศรัทธา พยายามรวบรวมสติ (กุศลธรรม)และขอพร หรือถวายอามิสบูชา ทั้งยังเหมือนการไหว้บรรพบุรุษไปในตัว
ในมิลินทปัญหานั้นอธิบายเรื่องการถวายบูชาพระพุทธเจ้าเอาไว้ ผมเชื่อว่าถ้าผมทำได้เช่นนั้น ก็นับว่าจะเกิดประโยชน์ได้มากมาย

สุดท้ายผมเชื่อว่าคนไทยอาจจะยุคก่อนหน้านี้ หรือบางท่านยังมีความเคารพในบรรพบุรุษอยู่ แม้ว่าจะไม่เชื่อในความคิดของคนเหล่านั้นแล้ว
แต่ก็ไม่ได้คิดว่าไร้สาระไปซะทีเดียว และยังคงให้ความเคารพความคิดนั้นอยู่อย่างมีเหตุผล เพราะไม่ได้ดูถูก แต่ไม่รู้ว่าสมัยนี้ที่เรียกกันว่า
คนรุ่นใหม่จะคิดดูถูกว่าไร้สาระไปซะหมดแล้วหรือยัง

ทั้งหมดนี้หากมีข้อผิดพลาดอะไรคงต้องขอความรู้เพิ่มเติมด้วยครับ


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 เม.ย. 10, 00:14

คุณค่าของทุกอย่างในโลกเกิดจากน้ำมือมนุษย์เป็นผู้กำหนด ของดีของงามของวิเศษเกิดจากการยอมรับจากคนหมู่มากแล้วกำหนดเป็นทฤษฎีเป็นวิชาการเล่าขานสืบต่อ มีผู้รู้เคยบอกกับผมว่าเขมรเก่งแสลักหินสยามเก่งแกะสลักไม้ ไอ้ความคงทนของไม้ไฉนจะสู้หิน ความยิ่งใหญ่อย่างอยุธยาจึงไม่หลงเหลือใดมาถึงปัจจุบัน(นอกจากที่โดนพม่าทำลายแล้ว) หากมีให้เห็นถึงปัจจุบันไซ้ร ความยิ่งใหญ่อลังการก็คงไม่เป็นสองรองใคร สืบมาถึงปัจจุบันศิลปวัฒนธรรมของชาติในยุครัตนโกสินทร์นี้ในสายตาผม ถ้าจัดเป็นคุณค่าของสยามโบราณ อย่างวัดพระแก้วนี้ผมก็ว่างดงามเป็นหนึ่งในโลกได้เหมือนกัน(สมันผมเรียนหนังสือจำได้เลยว่ามีหนังสือความรู้รอบตัวเล่มหนึ่งจัดให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกปัจจุบัน1ใน7ทีเดียว)อย่างขบวนเรือพระราชพิธีหนึ่งเดียวในโลกผมก็ถือเป็นสิ่งวิเศษไม่มีใครเสมอเหมือนก็น่าจะนับเป็นคุณค่ามาจากสยามโบราณเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเพียงแค่นี้ก็น่าจะเพียงพอกับค่าของสยามโบราณ แต่ที่น่าเสียดายว่าคนไทยในปัจจุบันนี้มิได้ใส่ใจในในคุณค่าเหล่านี้ มุ่งแต่แสวงหาอำนาจ มุ่งทำลายล้างซึ่งกันและกัน สังคมแตกแยกชิงชัง โทษกันไปมา ปิดกั้นข่าวสารทำบ้านเมืองตัวเองให้เป็นสนามรบ แล้วคุณค่าของสยามในขอบเขต"ประเทศไทย"จะเหลืออะไร "เมื่อคนไทยไม่รักกันเสียแล้ว" ร้องไห้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 เม.ย. 10, 09:47

ขอออกความเห็นว่า อย่าตั้งคำถามในทำนองลบ  เพื่อหวังผลกระตุ้นในทางบวกกับคนอ่าน 
คนอื่นอาจจะไม่ถือสากับวิธีตั้งคำถามแบบนี้    แต่สำหรับดิฉัน เป็นการยอกย้อนและไม่ให้เกียรติคนเข้ามาตอบ
ถ้าอยากเสนอความคิดอะไรก็ถามตรงไปตรงมา แสดงความสุจริตใจดีกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 เม.ย. 10, 10:58

ยังไม่ค่อยเข้าใจประเด็นของเจ้าของกระทู้เท่าไหร่ คิดว่าพยายามจะบอกว่าของเราก็มีดีไม่ด้อยกว่าเขา มีความสวยงาม มีความยิ่งใหญ่ มีประวัติยาวนาน มีๆๆๆๆๆๆๆ แล้วเราก็จะติดกับดักวังวนของประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่รัฐพยายามยัดเยียดให้เราคิดอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ไม่แปลกใจที่เห็นลูกเจ๊กบางคน มีอากงลอยเรือมาจากซัวเถาเมื่อสักร้อยปี แต่ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา คุณอาจจะว่าผมเหน็บแนม แต่มันเป็นปรากฏการณ์หนึ่งทางสังคมต่างหาก (และน่าสนใจมากๆ เพราะประเทศอื่นยังทำไม่ได้ขนาดนี้)


ตราบใดที่เรายังคิดว่าอยุธยาสวย อยุธยายิ่งใหญ่ ยาวนาน เราก็จะมีอคติกับของที่อยู่นอกเหนือบริบท "สวยงาม ยิ่งใหญ่ ยาวนาน" ทั้งๆทุกอย่างมีประวัติ มีเรื่องราว มีความเป็นมาทั้งนั้น ไม่ว่าคุณ ไม่ว่าผม ก็มีเรื่องของตัวเองทั้งนั้น ถ้ามาศึกษาจริงๆก็จะได้หลายกระบุงโกยไม่แพ้อยุธยาหรอก เพราะผมยังนั่งตอบคำถามให้คุณได้ (แต่คุณคงไม่มาศึกษาผมหรอก เพราะผมไม่สวยงาม ยิ่งใหญ่และยาวนาน)


การมีตัวตนของพระพุทธรูปในมิวเซียม เป็นการดึงศิลปวัตถุออกจากบริบททางศาสนา มิใช่ว่าความเป็นศาสนวัตถุจะหายไป เพียงแต่ตัวตนเบาบางลง ขณะที่บริบทเรื่องอื่นๆที่แฝงอยู่กลับแสดงออกมาได้ง่ายกว่าอยู่ในวัด

ดังนั้น การที่เรายังไหว้เคารพ พระพุทธรูปในมิวเซียม อาจแสดงให้เห็นว่า เรายังอยู่ในกรอบความคิดว่า "นี่คือศาสนวัตถุนะ" ทั้งๆที่มิวเซียมก็ไม่ใช่วัด ฟังก์ชันหน้าที่ทางศาสนาของพระพุทธรูปองค์นั้นก็หมดไปแล้ว การที่มาอยู่ในมิวเซียม ก็เพื่อจะแสดงบริบทด้านอื่นๆให้เห็นเด่นชัดขึ้นมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ การเมือง เทคนิคการสร้าง การซ่อม เศรษฐศาสตร์ หากเรามองว่าเป็นศาสนวัตถุเพียงอย่างเดียว มุมมองอื่นๆก็จะถูกละเลยไป (แน่นอนว่าในหัวเราสดุดีศาสนาว่าดีประเสริฐเลิศลอยเท่าไหร่  มุมมองในแง่ลบยิ่งหลุดลอยไปจากสายตาเราง่ายเท่านั้น)
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 เม.ย. 10, 13:46

กลายเป็นกระทู้ไก่เกิดก่อนไหรือไข่เกิดก่อนไข่แล้วน้องเน(ล้อเล่นนะครับ) อย่าไปคิดให้เปลืองสมอง ให้คิดเสียว่าใดๆในโลกล้วนอนิจจัง มุ่งมั่นในสิ่งที่เราต้องการต่อไปเถิด
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง