เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4551 ฝากให้คุณเทาชมพูรอบสาม เรื่องของเฉียนหลงค่ะ
Linmou
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 01 ก.พ. 01, 08:23

เฉียนหลงตี้(Qian long di) หงลี่(Hong li)
ชิงกาวจง(Qing gao zong) อ้ายซินเจว๋ลั๋ว หงลี่ เป็นฮ่องเต้องค์ที่ ๔ หลังจากที่ราชวงศ์ชิงปกครองจีน ผู้คนมักเคยชินที่จะเรียกขานพระองค์ว่า “เฉียนหลงตี้” พระองค์ครองราชย์นาน ๖๐ ปี และได้เสริมความเข้มแข็งแก่การปกครองของราชวงศ์ชิง , พัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ตลอดจนสร้างความมั่นคงในการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของประเทศสืบเนื่องจากรัชสมัยของคังซีตี้และยงเจิ้งตี้ และทำให้ราชวงศ์ชิงเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ในขณะเดียวกัน เนื่องจากในท้ายรัชกาล พระองค์ได้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย และการเสื่อมโทรมลงของระบบขุนนาง ทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นได้ทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้ราชวงศ์ชิงเริ่มเข้าสู่ยุคเสื่อม

เส้นทางการครองราชย์
หงลี่เป็นโอรสองค์ที่ ๔ ในโอรสทั้ง ๑๐ องค์ของยงเจิ้งตี้อิ้นเจิน พระมารดาแซ่หนิ่วฮู่ลู่(เป็นชนกลุ่มน้อย) ในบรรดาโอรสที่เหลือรอดมาจนโต หงลี่อยู่อันดับที่ ๒ ผู้ที่แก่กว่าเขามีเพียงโอรสองค์โตหงสือองค์เดียว
หงลี่ประสูติเมื่อเดือน ๑๑ ปีคังซีที่ ๕๐(พ.ศ. ๒๒๕๔) ตอนประสูติ คังซีพระชนมายุมากแล้ว และลุง ๒ อวิ่นเหริง แม้จะไม่เป็นที่โปรดปรานของคังซีตี้อีก แต่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งรัชทายาทอยู่ ส่วนพระบิดาอิ้นเจินนั้น ก็เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นยงชินหวางได้เพียงไม่กี่ปี และพระมารดาเองก็มิได้เป็นที่โปรดปรานของพระบิดามากนัก การประสูติของหงลี่จึงเป็นเพียงการเพิ่มจำนวนหลานขึ้นอีกหนึ่งคนเท่านั้น
ปีคังซีที่ ๕๑ อวิ่นเหริงถูกปลดจากตำแหน่งรัชทายาทอีกครั้ง บรรดาโอรสเริ่มเปิดศึกชิงบัลลังก์กันอีกครา หงลี่ในฐานะหลานคนโปรด ได้ถูกรับตัวเข้าไปเลี้ยงในวังตั้งแต่เล็ก ทั้งยังได้ติดตามเสด็จปู่แปรพระราชฐานหลบร้อนอีกด้วย ไม่นาน คังซีตี้ก็สวรรคต ยงเจิ้งตี้ครองราชย์ เนื่องจากโอรสหงสือไม่รักดี จึงไม่ได้รับการโปรดปราน และเนื่องจากการเป็นหลานคนโปรดของหงลี่ได้ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการได้รับเลือกให้เป็นฮ่องเต้องค์ต่อไปของพระบิดาไม่น้อย ยงเจิ้งตี้จึงได้ตัดสินพระทัยมาแต่หงลี่ยังอายุเพียง ๑๓ ขวบแล้วว่า จะเลือกเขาเป็นรัชทายาท
เนื่องจากปลายยุคคังซี อิ้นเจินมัวแต่ยุ่งกับการขับเคี่ยวในศึกชิงบัลลังก์ จึงไม่มีเวลามาจัดการกับการศึกษาของโอรสองค์นี้ ทำให้หงลี่เข้าเรียนช้ากว่าบรรดาลูกพี่ลูกน้อง โดยเข้าเรียนเมื่อ ๙ ขวบ จวบจนยงเจิ้งตี้ครองราชย์ จึงได้เริ่มหันมาจัดการกับการศึกษาของโอรสที่วางอนาคตไว้ว่า จะให้เป็นฮ่องเต้องค์ต่อไปอย่างจริงจัง โดยให้บรรดาขุนนางชั้นสูงมาสอนวิชาการและวัฒนธรรม และเชิญพี่น้องของพระองค์เองมาสอนวิชาการต่อสู้ ขี่ม้า และยิงธนู เพียงชั่วเวลาไม่กี่ปี หงลี่ก็เก่งทั้งภาษาฮั่นและแมนจู เปรื่องปราดทั้งด้านวิชาการและด้านการต่อสู้
ปียงเจิ้งที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๒๗๖) ยงเจิ้งตี้แต่งตั้งหงลี่เป็นเหอซั่วเป่าชินหวาง นอกจากนี้ยังมอบหมายให้หงลี่เป็นตัวแทนพระองค์ไปปฏิบัติภารกิจต่างๆหลายครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อถือในฐานะของเขาต่อมวลชน และสร้างพื้นฐานอันมั่นคงในการครองราชย์แก่เขา
ปียงเจิ้งที่ ๑๓ (พ.ศ. ๒๒๗๘) เดือน ๘ ยงเจิ้งตี้สวรรคตอย่างกะทันหัน และหงลี่ก็ได้ขึ้นครองบัลลังก์สืบต่ออย่างราบลื่น เปลี่ยนชื่อปีการปกครองเป็น “เฉียนหลง”

ต้นปีการปกครองเฉียนหลง
ในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์ เฉียนหลงตี้ได้พยายามแก้ไขจุดบกพร่องในรัชกาลก่อนๆ โดยเฉพาะในรัชกาลยงเจิ้ง
ความแตกแยกในหมู่พระราชวงศ์ เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของราชวงศ์ชิง โดยเฉพาะในยุคของยงเจิ้งตี้ ได้ทำการปราบปราม คุมขัง เนรเทศ และประหารพระราชวงศ์ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองไปไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกหลานของอวิ่นจี้(องค์ชาย ๘)และองค์ชายบางองค์ยังถูกปลดออกจากฐานันดรศักดิ์จนหมดสิ้นอีกด้วย ทำให้สงครามการแย่งชิงอำนาจดุเดือดอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน(คงแค่หมายถึงในราชวงศ์ชิงน่ะค่ะ เพราะของราชวงศ์ฮั่นดุเดือดกว่านี้อีก)
หลังจากที่เฉียนหลงตี้ขึ้นครองราชย์แล้ว ก่อนอื่นทรงปล่อยอวิ่นถี(องค์ชาย ๑๔)ออกจากคุก และคืนฐานันดรศักดิ์ให้ ไม่นานก็คืนฐานันดรศักดิ์ให้แก่บุตรหลานของอวิ่นจี้(องค์ชาย ๘) และอวิ่นถัง(องค์ชาย ๙) ทุกคน ขณะเดียวกันก็ทรงอภัยโทษให้แก่บรรดาพรรคพวกที่หลงเหลืออยู่ของอวิ่นจี้ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ สามารถสมานรอยร้าวที่รุนแรงขึ้นทุกขณะลงได้ไม่น้อย และสร้างเสถียรภาพแก่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชนชั้นปกครองอย่างได้ผล

ราชกิจต่างๆ
เฉียนหลงตี้ได้ใช้นโยบายต่างๆเพื่อรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง เสริมอำนาจฮ่องเต้ แม้วิธีการเหล่านั้นจะไม่ได้เริ่มมีขึ้นในยุคพระองค์ แต่พระองค์ก็เป็นผู้พัฒนานโยบายเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ในรัชกาลก่อนๆ การถวายรายงานต่อฮ่องเต้จะมี ๒ แบบ คือ ๑. แบบเฟินถีเปิ่น ใช้ในกรณีที่ถวายข้อราชการ ต้องได้รับการประทับตราจากขุนนาง ; ๒. แบบโจ้วเปิ่น ใช้ในการถวายเรื่องส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องมีตราประทับ แต่ทั้งสองแบบต่างต้องผ่านการตรวจตราลงนามจาก “เน่ยเก๋อ” ทั้งสิ้น
ในรัชสมัยซุ่นจื้อตี้(พระบิดาของคังซี) ได้เริ่มให้มีการถวายรายงานในแบบ “โจ้วเจ๋อ” ซึ่งเป็นการถวายต่อฮ่องเต้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านเน่ยเก๋อ แต่มีการจำกัดระดับของขุนนางที่จะถวาย ดังนั้น ผู้ที่จะถวายได้จึงน้อยมาก ถึงรัชสมัยยงเจิ้ง ปริมาณขุนนางที่ถวายแบบ “โจ้วเจ๋อ” ได้มีมากขึ้น มาถึงรัชสมัยเฉียนหลง ได้ทรงประกาศยกเลิกการถวายรายงานแบบ “โจ้วเปิ่น” และยกระดับ “โจ้วเจ๋อ” ขึ้นแทนที่ อันเป็นการทอนอำนาจของเน่ยเก๋อ และเสริมอำนาจของฮ่องเต้ เพราะฮ่องเต้จะได้อ่านคำร้องหรือข้อราชการที่ขุนนางส่งมาโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านการตรวจตราจากเน่ยเก๋อ
เฉียนหลงตี้ยังได้รักษารูปแบบการเลือกรัชทายาทสืบต่อจากยงเจิ้งตี้ คือ เขียนชื่อผู้ที่ถูกเลือกแล้วใส่ลงในกล่อง ซ่อนไว้หลังป้าย “เจิ้งต้ากวงหมิง” ของซุ่นจื้อตี้ จากนั้นพระองค์ยังพัฒนาไปอีกก้าวโดยอธิบายข้อดีข้อเสียของวิธีการนี้อีกด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไปพร้อมด้วยการเติบโตขึ้นทุกทีของบรรดาโอรส เฉียนหลงตี้ก็ได้มองเห็นข้อดีของวิธีการนี้มากขึ้นทุกขณะ และวิธีนี้สามารถขจัดศึกชิงบัลลังก์อย่างได้ผล
การต่อต้านและจัดการกับการแบ่งพรรคแบ่งพวกของบรรดาขุนนาง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการเสริมอำนาจฮ่องเต้ของเฉียนหลงตี้ เนื่องจากขุนนางผู้มีอำนาจมักจะเลือกแต่ญาติสนิทและคนใกล้ชิดของตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญ อันไม่เป็นผลดีต่อความเด็ดขาดในอำนาจของฮ่องเต้อย่างยิ่ง
นอกจากนี้ เฉียนหลงตี้ยังได้ควบคุมพฤติกรรมของบรรดาขันทีและโอรสอย่างเข้มงวด มีการลงโทษขันทีและพระโอรสที่กระทำผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ไม่มีการลดหย่อนผ่อนโทษ ซึ่งก็ทำให้บรรดาขันทีต่างก็ไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงในด้านการเมือง และบรรดาโอรสทั้งหลายก็อยู่ใต้กฎหมาย มีอำนาจด้อยกว่าฮ่องเต้อย่างมากมาย ทำให้อำนาจของฮ่องเต้ถูกเสริมให้สูงขึ้นไปโดยปริยาย
เฉียนหลงตี้ยังได้ดำเนินการควบคุมผลงานเขียนทางด้านต่างๆสืบเนื่องจากรัชกาลก่อนๆอีกด้วย เช่น ห้ามงานเขียนที่เป็นการสนับสนุนให้ฟื้นฟูราชวงศ์หมิงขึ้นมา , ห้ามงานเขียนที่โจมตีชาวแมนจูและราชวงศ์ชิง เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มหัวข้อห้ามเขียนขึ้นอีกมากมาย จนทำให้การจำกัดด้านการเขียนบันทึกต่างๆในยุคของเฉียนหลงตี้มีมากกว่าทุกยุค เช่น แม้แต่การเขียนเสียดสี , ให้ร้ายฮ่องเต้ก็ถูกห้าม
แต่วิธีการต่างๆเหล่านี้ของเฉียนหลงตี้ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคกีดขวางการพัฒนาทางสังคมของประเทศจีนในยุคนั้นทั้งสิ้น จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศจีนในยุคนั้นแปรจากความเจริญถึงขีดสุดเป็นตกต่ำลง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการพยายามเพิ่มอำนาจของฮ่องเต้นับแต่เข้ามาปกครองแผ่นดินฮั่นของฮ่องเต้ในราชวงศ์ชิงจนถึงรัชสมัยของเฉียนหลงตี้ ก็ได้ทำให้สภาพบ้านเมืองสงบสุขอยู่ในสภาวะสงบสุข และการเกษตรกรรมได้รับการพัฒนา อันส่งผลไปถึงการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่

การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย
ในระยะแรกที่ครองราชย์ เพื่อที่จะสร้างเสถียรภาพแก่ฐานะฮ่องเต้ของตน และเพื่อปรับปรุงระบบการปกครองของรัชกาลก่อนๆ เฉียนหลงตี้ได้มุ่งมั่นในการดำเนินนโยบายด้านการปกครอง , เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอย่างจริงจัง อันเป็นการวางรากฐานให้แก่ความสงบของบ้านเมือง ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจ และท้องพระคลังอันเต็มเปี่ยมในหลายสิบปีให้หลังอย่างมั่นคง ทำให้ประเทศจีนในราชวงศ์ชิงมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับแต่ชาวแมนจูผ่านด่านเข้ามาปกครองจีน
แต่ในระหว่างที่การปกครองมีความมั่นคงนั้น เฉียนหลงตี้เองก็ได้ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไม่มีการบันยะบันยัง ทั้งการก่อสร้างสิ่งต่างๆ การเสด็จประพาสที่ต่างๆนับครั้งไม่ถ้วน รวมถึงการปูนบำเหน็จตลอดรายทางไม่มีอั้นระหว่างเสด็จประพาส ทั้งยังลุ่มหลงในนารี ผลจากการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของพระองค์ ทำให้รสนิยมการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยได้ระบาดไปทั่ว และรุนแรงขึ้นทุกวัน ระบบขุนนางก็ตกต่ำลงทุกที การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีขึ้นอย่างเปิดเผย ประกอบกับการกว้านซื้อที่ดินที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเก็บเกี่ยวไม่ได้ผล การดำรงชีวิตของประชาชนเลวร้ายลงทุกที พร้อมกับที่ความไม่พอใจในตัวฮ่องเต้ได้เพิ่มมากขึ้นตามวันเวลาเช่นกัน
ดังนั้น แม้กลางรัชกาลเฉียนหลงตี้ ดูเปลือกนอกแล้วเหมือนประเทศจะเจริญถึงขีดสุด แต่แท้จริงกลับแฝงปัญหาวิกฤติอันจะส่งผลให้ประเทศเข้าสู่ภาวะตกต่ำลงได้ทุกขณะ จนถึงขั้นทำให้เกิดกบฏชาวนาขึ้นในปีเจียชิ่งที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๓๙) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เฉียนหลงฮ่องเต้เพิ่งสละราชสมบัติให้โอรสได้ไม่นาน ทำให้ราชวงศ์ชิงแปรจากยุครุ่งเรืองสู่ยุคเสื่อมอย่างรวดเร็ว
จากช่วงกลางรัชกาลเฉียนหลงเป็นต้นมา การระเบิดปะทุอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายของกบฏชาวนาสร้างความหวาดหวั่นแก่ไท่ซ่างหวง(บิดาของฮ่องเต้ และเป็นฮ่องเต้องค์ก่อน)เฉียนหลงตี้ และฮ่องเต้องค์ใหม่เจียชิ่งตี้เป็นอย่างยิ่ง
เฉียนหลงตี้ได้สละราชสมบัติแก่โอรสองค์ที่ ๑๕ หยงเหยี่ยน(Yong yan) หรือ เจียชิ่งตี้ และแต่งตั้งตนเองเป็นไท่ซ่างหวงตี้(เหนือกว่าฮ่องเต้) โดยยังคงกุมอำนาจทางการทหารและการปกครองอยู่เช่นเดิม ที่สละราชสมบัติ เพียงเพื่อไม่อยากให้เกินหน้าเกินตาคังซีตี้ที่ครองราชย์นาน ๖๑ ปีเท่านั้น แท้จริงแล้วครองราชย์รวมทั้งหมดนาน ๖๔ ปี เป็นฮ่องเต้ที่ครองราชย์นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
วันที่ ๓ เดือนอ้าย ปีเจียชิ่งที่ ๔ เฉียนหลงตี้ผู้ครองราชย์มา ๖๐ ปีและเป็นไท่ซ่างหวงอีก ๓ ปีได้สวรรคตลงด้วยพระชนมายุ ๘๙ พรรษา พระนามในศาลเจ้าประจำราชวงศ์(เมี่ยวเฮ่า) คือ ชิงกาวจง

โปรดสังเกตว่า ในบันทึกประวัติศาสตรืไม่มีบอกว่า เฉียนหลงอ่องเต้มีโอรสธิดากี่องค์ สงสัยว่าคงจะมีมากจนนับไม่ถ้วนล่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
ถ้านฮวา นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 00:39

เป็นจอหงวนไม่ไหว เป็นปางั่นก็ไม่ไหว ขอเป็นบัณฑิตอันดับสาม แค่ถ้ำฮวยพอ (หรืออาจจะแค่ซิ่วไฉเท่านั้นด้วย..)
 
ขอบคุณจอหงวนหญิงตัวจริงที่เข้ามาโพสต์ให้วิทยาทานเสมอๆ ทำให้นักศึกษาสอบตกอย่างผมได้รู้อะไรเพิ่มอีกหลายอย่าง บางอย่างผิดไปจากความเชื่อเดิมของผมทีเดียว

เช่น ที่ว่ายุครัชกาลเฉียนหลง วิเคราะห์จริงๆ แล้วเป็นยุคทองแต่เปลือก อันนี้เป็นความรู้ใหม่มากครับ เพราะผมมีภาพว่าสมัยเฉียนหลง จีนค่อนข้างสงบรุ่งเรือง งิ้ว หรืองิ้วสมัยใหม่ทางทีวีก็ดูจะให้ภาพอย่างนั้น
(เฉียนหลง แต้จิ๋วเรียกเคี่ยนล้ง คังซีเรียกคังฮี แต่ยงเจิ้งผมไม่ทราบ เคยเห็นตำราเล่นเครื่องลายครามจีนในเมืองไทย บางทีก็ระบุพระนามไว้เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว - เพราะเครื่องกังไสพวกนี้ต้องมีการบอกปีผลิตไว้ว่า "รัชกาลเฉียนหลงปีที่..." )
เข้าใจว่าฮ่องเต้ที่เสด็จปลอมพระองค์ลงไปเที่ยวทางใต้ คือกังหนำหรือเจียงหนาน จนไปเจอสาวงามเมืองใต้ ที่ไม่รู้ว่าทรงเป็นฮ่องเต้ปลอมมา ที่งิ้วและหนังชอบเอาไปเล่นเรื่อยๆ นี้ คือเฉียนหลงนี่เอง อย่างเรื่องจอมใจจักรพรรดิก็ดูเหมือนจะเป็นจักรพรรดิเฉียนหลง
ใครจำเพลงจีนรุ่นโบราณมาก ที่คนไทยเอาไปใส่เนื้อเสียเลอะหมด ว่า "ซี้ซั้วฉี่เดี๋ยวตีตายห่- ตามธรรมดาต้องค่อยค่อยฉี่ แบบนั้น มันไม่ดี ถ้าจะให้ดีต้องยองยองฉี่ ..." ฯลฯ ได้บ้างครับ เพลงนี้มาจากเรื่องจอมใจจักรพรรดิ จะว่าเป็นเพลงคู่ก็ไม่เชิง เพราะร้องกันสามคน คือสาวงามเจียงหนานประจำร้านขายเหล้า (นางเอก) คุณชาย ลูกค้าหนุ่มแปลกหน้า (ฮ่องเต้ปลอมมา- พระเอก) และอีตาตัวตลกอีกคน จะเป็นคนขายเหล้าหรือไงนี่แหละ ฮ่องเต้ในหนังเรื่องนั้น ผมคิดว่าเป็นเฉียนหลง

ในประวัติเคยเสด็จเจียงหนานจริงหรือเปล่าครับ และทรงพระเจ้าชู้จริงไหม
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 00:55

จอมใจจักรพรรดิ ภาคไม่เลอะเทอะ ดูเหมือนจะมีเนื้อภาษาไทยว่า
(ญ)...รักของชายคล้ายดังภมร คอยไชชอนดอกไม้หมองหม่น
(ช)..ดอกไม้ ก็เกิดผล ... (ลืม)

ผมสนใจเรื่อง ไท่ซางหวงมาก ด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่ง ผมเคยได้ยินมาจากไหนไม่รู้ว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ปิยมหาราช ทรงเคยมีพระราชดำริจะดำเนินการคล้ายๆ กันนี้ คือ จะสละราชสมบัติพระราชทานสมเด็จพระบรรมโอรสาธิราช (คือ ร. 6) แล้วพระองค์เอง "เกษียณราชการ"  ออกไปทรงอยู่ในพระราชฐานะ "พระเจ้าหลวง"  แต่อย่างไรไม่ทราบไม่ได้ทรงดำเนินการตามนี้ หรืออาจจะทรงเปลี่ยนพระทัย จนกระทั่งเสด็จสวรรคตและ ร.6 ทรงรับราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ตามปกติ
จำรายละเอียดไม่ได้ครับ
สอง คราวนี้ผมไม่ขันแล้ว แต่ทึ่งว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของชาติหนึ่งนั้นยากจะลบได้ ต่อให้เปลี่ยนระบบ ปฏิวัติไปแล้วก็ตาม ดังนั้นการศึกษาประวัติศาสตร์จีนจะช่วยให้เราเข้าใจจีนปัจจุบันด้วย ถึงจะเป็นคอมมะนิดมะหน่อยอะไร จีนก็ยังเป็นจีนอยู่ดี
ตอนปลายอายุขัย เติ้ง เสี่ยว ผิง คนโตตัวเล็กของจีน สละตำแหน่งทางการทุกตำแหน่ง ทั้งในรัฐบาลและในพรรคคอมมิวนิสต์ ดูเหมือนจะเหลืออยู่แค่ตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารกลางเท่านั้น (เข้าใจว่าเมื่อแก่ตัวลงมากๆ ตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้เป็น)
พูดง่ายๆ ก็คือออกไปเป็น ไท่ซางหวง
แต่เติ้งซึ่งไม่มีตำแหน่งอะไรเลย เหลือแค่ตำแหน่งที่ไม่ใหญ่นักตำแหน่งเดียวนี่แหละ คือผู้ชี้นำนโยบายสูงสุดของจีนขณะนั้น คือผู้กุมอำนาจแท้จริง และในที่สุดคือผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ใครจะมีหัวโขนเป็นประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี (ในฝ่ายรัฐ) หรือเลขาธิการพรรค (ในฝ่ายพรรค) หรืออะไรก็แล้วแต่ เด็กของเติ้งทั้งนั้น ถ้าเติ้งไม่ใช่ ไท่ซางหวงสมัยใหม่ แล้ว จะเป็นอะไร
 
เสียงรบกวนคุณหลินค่อยหายไปบ้างแล้วยังครับ ลองสวดคาถายันทุนนิมิตตังฯ มั้ยครับ ใครในเน็ตนี้มีคาถาบทเต็มๆ กับคำแปลบ้าง?
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 03:19

มาคารวะจอหงวนหญิงกับท่านท้ำฮวย คนละสามจอก ผมเป็นเพียงแต่ นักศึกษาที่ไม่กล้าสอบทั้งจอหงวน เพราะกลัวจะไม่ได้สักตำแหน่ง สรุปว่า เฉียนหลงฮ่องเต้นี่ก็ขึ้นต้นดี ตอนปลายร้าย ไปอีกเหรอครับเนี่ยน่าเสียดาย คงครองราชย์นานไปหน่อยเลยใช้จ่ายเพลินไป สงครามฝิ่น ที่จีนแพ้แก่ต่างชาตินี่ สมัยเฉียนหลงฮ่องเต้หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 08:42

ข้าพเจ้าไหนเลยจะเป็นจอหงวนได้?
อย่างดีก็แค่จิ้นซื่อตำแหน่งสุดท้ายเท่านั้นแหละ บรรดาสหายชาวจีนพวกนั้นต่างหาก จอหงวนมาเองตัวจริง
แต่ยังไงก็คารวะ(น้ำชา)กลับสามจอก
อย่างคุณนิลก็เป็นจอหงวนได้สบายแล้ว

บังเอิญละไว้ไม่ได้แปลว่า เฉียนหลงเสด็จเจียงหนานทั้งหมด ๕๒ ครั้งเห็นจะได้ และรวมจำนวนที่ออกประพาสทั้งหมด ร้อยกว่าครั้ง(รวมทั้งที่เป็นไท่ซ่างหวง) และตามรายทาง ก็จะไปกันอย่างเอิกเกริกมาก บรรดาพระราชวงศ์ตามเสด็จเป็นพัน(ที่ปลอมตัวออกไปก็คงมีแน่) และในการเสด็จอย่างเอิกเกริกนั้น ตามรายทางก็จะมีบรรดาพ่อค้ามหาเศรษฐีแข่งกันถวายการต้อนรับอย่างมโหฬาร ฟุ่มเฟือยสุดๆ แล้วเฉียนหลงตี้ก็จะตบรางวัลกันอย่างไม่อั้นน่ะค่ะ
เจ้าชู้จริงไหม ก็ขนาดที่ไม่มีบันทึกว่ามีโอรสธิดาทั้งหมดกี่องค์นี่ ก็เป็นการยืนยันอย่างดีแล้วล่ะค่ะ เพราะคงไม่ลูกนอกสมรสเพียบ

เวลามีไท่ซ่างหวงนี่ มักเกิดปัญหาทุกที เพราะฮ่องเต้ย่อมไม่พอใจที่เป็นฮ่องเต้ทั้งที ก็ยังไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดอีก เลยมักจะเกิดการแบ่งพวกกันขึ้น คือพวกของฮ่องเต้ กับพวกของไท่ซ่างหวง อย่างถังเสวียนจงเอง(เรื่องของหยางกุ้ยเฟยไง) หลังกบฏอานสื่อก็โดยยกขึ้นไปเป็นไท่ซ่างหวงเช่นกัน และเพราะไม่ชินกับการตกเป็นรองใคร ก็เลยยังอยากจะกุมอำนาจอยู่ ลูกชายที่เป็นฮ่องเต้ก็ไม่ยอม แต่ติดที่เป็นลูกน่ะค่ะ เลยก็ทำเอาพ่อลูกตึงๆกันไปเลย

อ่า เสียงมันมาเป็นพักๆล่ะค่ะ ปกติก็ไม่ไปใส่ใจหรอก เพราะก็ได้ยินมาตั้ง๙ ปีแล้ว ตั้งแต่ไม่รู้จนรู้น่ะแหละค่ะ(แต่กว่าจะรู้ก็ปาเข้าไปปีที่ ๕ แล้ว ความรู้สึกช้าน่ะ) ที่ฟิวส์ขาดเพราะมันดันมาดังตอนปิดไฟเข้านอนน่ะค่ะ เลยหนวกหูจนนอนไม่หลับ อันที่จริง พระธุดงค์องค์ที่กล่าวถึงในตอนก่อนบอกด้วยว่า เป็นคนจิตแข็งมากขนาด ไม่มีความจำเป็นต้องสวดมนต์ก่อนนอนเลย(ทั้งๆที่มีผีมุสลิมตามหลังจ้องจะเอาเรื่องอยู่ตั้ง ๕ - ๖ ตนนี่แหละ) ด้วยความที่ถูกใจกับประโยคนี้มาก(เพราะขี้เกียจสวด) เลยฉลองศรัทธาโดยการไม่สวดมนต์ต่อไป(ตอนประถมเคยสวดค่ะ แต่หลังจากเข้าชั้นมัธยมแล้ว โรคขี้เกียจก็ครอบงำเต็มที่) แต่ในห้องก็มีหลวงปู่ทวดอยู่ล่ะค่ะ พี่ชายไปหามาให้ตั้งกะเห็นผีจังๆในห้องนอนตัวเองน่ะ

ตอบคุณพระนาย
สงครามฝิ่นครั้งแรกนั้น ดูเหมือนจะเริ่มปะทุขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๓๘ (พ.ศ. ๒๓๕๑)ซึ่งเป็นยุคของเต้ากวงตี้ที่อยู่ถัดจากยุคของเจียชิ่งตี้ โอรสของเฉียนหลงไปอีกน่ะค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 09:46

ตามมาฟังท่านจอหงวนชายหญิงสนทนากัน ผู้น้อยเป็นยาจกอยู่นอกด่าน  เคยไปปีนกำแพงเมืองจีนมาหนเดียวก็แค่เชิงกำแพง   ไม่มีความรู้จะแลกเปลี่ยน ได้แต่แอบฟังวิทยายุทธ

แต่พอทราบเรื่องนิดๆหน่อยๆใกล้กำแพงเมืองกรุงเทพ
คือ เคยได้ยินเรื่องพระราชดำริในรัชกาลที่ ๕ ว่า เมื่อพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา จะสละราชบัลลังก์เพื่อให้สมเด็จพระบรมโอรสธิราชฯขึ้นครองแทน   เพื่อจะได้ทรงเป็นที่ปรึกษาให้ได้ขณะยังมีพระชนม์ชีพอยู่  อีกอย่างสมเด็จพระบรมฯ ก็มีพระชนม์มากพอสมควรแล้ว
แต่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อนเมื่อพระชนม์ ๕๘ พรรษาค่ะ
บันทึกการเข้า
ด.เด็ก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 17:23

ผมเป็นศิษย์หลวงพ่อทวดคนหนึ่งเพราะที่คอก็ห้อยไว้เป็นประจำและนับถือท่านมาก เคยมีประสพการณ์ทางด้านอุบัติเหตุรถคว่ำ ตอนเกิดเหตุก็อุทานขอให้ท่านช่วย ปรากฏว่าไม่เป็นอะไรเลย ไม่รู้เพราะโชคดีหรือไม่? ผมสังเกตว่าคนรุ่นนี้ไปเรียกว่าหลวงปู่ทวด และวัดช้างให้ ทั้งที่ชื่อของท่านคือหลวงพ่อทวด วัดช้างไห้(ร้องไห้) ทำไมถึงเรียกว่าหลวงพ่อทวด คุณนิลกังขาอาจตอบได้ ผมคิดว่า คำว่า พ่อทวด เป็นภาษาใต้ แต่คำว่า ปู่ทวด เป็นภาษากลาง ผมคิดว่า จะตั้งกระทู้ดีไหมที่เกี่ยวกับหลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด.....
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.พ. 01, 20:23

วัดช้างไห้ ร้องไห้ แน่ๆ ครับ แต่เรื่องหลวง "ปู่" ทวดหรือหลวง "พ่อ" ทวด ผมไม่ทราบจริงๆ ผมเองก็เคารพท่าน เรียกท่านหลวงปู่บ้างหลวงพ่อบ้าง คนภาคกลางที่ถือตัวเป็นลูกศิษย์ท่านอาจจะเห็นว่า ปู่ มีอาวุโสสูงกว่า พ่อ กระมัง

เคยทราบมาว่า ที่เราเรียกหลวงพ่อหลวงปู่กันทางกรุงเทพฯ นี้ ทางใต้เขามีคำเรียกพระเถระผู้ใหญ่ที่เขาเคารพอีกคำหนึ่ง คือคำว่า พ่อท่าน (ชื่อ) เช่น คนกรุงอาจจะเรียก หลวงปู่ ก. หลวงพ่อ ข. คนใต้จะเรียก พ่อท่าน ก. พ่อท่าน ข. ที่นึกออกตอนนี้รูปหนึ่งคือ พ่อท่านคล้าย

แต่เท่าที่ทราบยังไม่ได้ยินใครเรียกหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ว่าพ่อท่านครับ ใครทราบเรื่องมากกว่าผมก็เชิญมาให้วิทยาทานด้วย  อาจจะเอาไปขึ้นเป็นกระทู้ใหม่ก็ดี
เคยคุยกันผ่านๆ เรื่องวิชาเหยียบน้ำทะเลจืด ซึ่งเป็นวิชาของหลวงปู่ทวด ปรากฏเป็นเกร็ดพงศาวดารอยู่ตอนหนึ่งสมัยกรุงธนบุรีด้วย คือตอนที่พระยาพัทลุง ขุน คางเหล็ก ไปราชการทัพ ใช้วิชาเดียวกันนี้เหยียบน้ำทะเลให้จืดให้ทหารเรือได้กินรอดตายไปได้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง