เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 30000 ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 10:30

หลังจากพระปรีชาโดนประหารเพียง2วัน นางแฟนนีก็หอบลูกเต้าข้าวของลงเรือไปยุโรปพร้อมเงินสดที่สามีนางโอนไว้ให้ทั้งหมด คนทั้งปวงคิดว่านางคงจะไปหานายน็อกซ์ผู้พ่อที่อังกฤษ แต่ผิด นางไปลงที่ฝรั่งเศสอย่างมีจุดมุ่งมั่น การจะได้เงินบัญชีลับของพระปรีชามาใช้บ้างนั้น นางต้องเริ่มต้นที่ปารีส

เงินก้อนใหญ่ พระปรีชาเอาเงินจากที่ไหนไม่ทราบไปลงทุนกับฝรั่งยิวชาวสวิส ที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพเป็นเงินรวมกันถึง 38000 เหรียญสหรัฐ ในลักษณะหุ้นกู้มีดอกเบี้ยรายเดือนๆละ 500 ปอนด์อังกฤษ รายละเอียดมากมายอยู่ในเอกสารข้างล่าง



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 10:34

ผมเข้ามาต่อเรื่องช้าเพราะเอาชื่อฝรั่งเหล่านั้นไปหาข้อมูลต่อในเวปเพลิดเพลินอยู่ นายSiggนั้นคือนายเฮนรี่ ซิกก์ เข้ามากรุงเทพแล้วจดบริษัทชื่อ Sigg & Son หาช่องทางขายเรือเดินทะเลมือสองให้รัฐบาล ในพ.ศ.2425ได้ร่วมกันก่อตั้ง ห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โก กับนายอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ ซึ่งหลังจากนายซิกก์ตายแล้ว ในพ.ศ. 2467 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก

ในช่วงเวลาที่มีเรื่องนี้ ห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โกได้ลงทุนจะทำโรงสีโดยจดบริษัทขึ้นชื่อMalherby, Jullian & CO. ที่พระปรีชาเอาเงินไปลงด้วย ถ้าท่านผู้อ่านงงๆว่าเขาทำอะไรกันทำไมหลายบริษัทนัก ก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า นี่เป็นวิธีการปกติของฝรั่งในการทำธุรกิจ ถ้าธุรกิจไหนมีอันเป็นไปก็จบกันที่บริษัทนั้น  เจ้าหนี้ไม่มีทางสาวถึงผู้ที่ควรจะต้องรับผิดในหนี้สินคงค้างอื่นๆ

การลงทุนของพระปรีชาน่าจะมีปัญหากับนายซิกก์มานานแล้ว เพราะเอกสารของแฟนนีอ้างถึงมร. กูลด์ (นายคนนี้เป็นรองกงสุลใหญ่อังกฤษลูกน้องของพ่อ)ว่าเป็นทนายให้ตน แสดงว่าเกิดความกันแล้วแต่นายซิกก์คงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบอยู่ ทนายจึงแนะนำให้ยอมทำนิติกรรมตามข้อเสนอของนายซิกก์ ผมไม่แจ้งเบื้องหลังว่าอยู่ๆบริษัทได้เอาใบหุ้นของพระปรีชาออกไปขายทอดตลาดได้อย่างไร เพราะนิติกรรมใหม่ก็เป็นการฟอกตัวให้นายซิกก์ที่เข้าไปช้อนซื้อหุ้นของพระปรีชาเสียเอง สมัยนี้เขาเรียกว่าผิดธรรมาภิบาลในฐานะเป็นผู้บริหาร  แต่สัญญาที่ได้มาเป็นแต่เพียงกระดาษ ตัวเงินจริงๆยังไม่ได้ และดูแล้วไม่ใช่ง่ายๆที่จะได้ นายซิกก์ขณะนั้นอยู่ที่ยุโรป ไปๆมาๆระหว่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ นางแฟนนีจึงตามมาทวงหนี้ หวังจะจบได้ที่ปารีสโดยต้องได้ความร่วมมือกดดันจากรัฐบาลไทยด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 10:37

ผมอ่านหนังสือรายงานที่ท่านทูตทรงรายงานเข้าไปกรุงเทพแล้ว ก็มึนในความเขี้ยวของฝรั่ง ผมเข้าใจเลยว่าเหตุใดพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงตัดสินพระทัยปล่อยเลยตามเลย ไม่ติดตามเงินก้อนนี้กลับคืน

แต่ผมคิดเอาเองว่า หลังจากมีเรื่องที่ปารีส และพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเชิญให้นายซิกก์มาพบแล้ว นายซิกก์คงจะต้องจ่ายอะไรให้นางแฟนนีบ้าง มิฉนั้นนางอาจจะไม่ยอมให้เรื่องนี้เงียบไปง่ายๆหลังจากนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 11:39

เป็นไปได้ไหมว่า เงินที่ขโมยมาก็ถูกขมายไปอีกต่อ       แฟนนีจึงกลับมาสยาม ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างลำบากยากจน จนถึงแก่กรรมไปเงียบๆ  แทบไม่มีใครรู้เห็น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 13:19

เป็นไปได้แน่ๆครับ

และดูเถิดครับ
นายเฮนรี่ ซิกก์ มีชีวิตหลังจากนั้นต่อมาไม่นานก็ตาย ลูกชายที่ทำงานกับพ่อในห้างSigg & Son ก็ไม่ทราบว่าไปไหน ปล่อยให้นายอัลเบิร์ต ยุคเกอร์ เข้าครอบครองหุ้นเอาห้างยุคเกอร์ ซิกก์ แอนด์โก ไปแต่ผู้เดียว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก วันนี้ห้างนี้ชื่อนี้ยังอยู่แต่เปลี่ยนเจ้าของไปไม่ทราบว่ากี่ตลบ

ส่วนแฟนนีหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นอกจากเรื่องว่ากันว่าที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ตอนหนึ่งในสูจิบัตรละครเรื่อง King and I ที่อเมริกาโน่น เชิญอ่านเอง

According to R.J. Minney, Fanny Knox fell in love with a Siamese, Phra Preecha, a member of a prominent family which was not friendly to the Kralahome. The latter is portrayed in a very bad light. He wanted Fanny to marry one of his grandsons and, when she married Phra Preecha, Chulalongkorn's friend, he took his vengeance on them both. The bridegroom was arrested on trumped up charges and executed. Fanny stayed in Siam where she lived alone in one room and had few friends among the other Europeans. She devoted her life to good works and was instrumental in some reforms of education and in the formation of trade unions. One of her students helped organize the coup d'état of 1932.. However, much in this book must also be taken with a grain of salt. According to Minney, it was Anna who taught the King English when he had actually learned it many years before. She also got many of the facts about Louis's career in Siam wrong.

Please credit Lyric Opera San Diego when using this material.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 14:24

    Fanny stayed in Siam where she lived alone in one room and had few friends among the other Europeans. She devoted her life to good works and was instrumental in some reforms of education and in the formation of trade unions. One of her students helped organize the coup d'état of 1932.

    น่าสังเกตว่าแฟนนี่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในอังกฤษ อย่างพ่อและเครือญาติฝ่ายพ่อ      แต่ว่ากลับมาอยู่ในสยาม  ทั้งๆก็ไม่เห็นว่ามีอะไรดีกว่าให้เลือก     เป็นไปได้ว่าความเป็นลูกครึ่งทำให้เธอประดักประเดิดที่จะอยู่ในอังกฤษ  ในต้นศตวรรษที่ 19  กระแสการแบ่งผิวและเชื้อชาติแรงกว่าสมัยนี้
     ในสยาม เธอยังมีลูกสาวที่แต่งงานไปกับขุนนาง  ก็อาจจะช่วยเหลือแม่ได้บ้าง    แต่แฟนนี่ก็ไม่ได้ไปอยู่ร่วมบ้านกับลูกเขยอยู่ดี    ที่น่าสังเกตคือไม่ป๊อบในหมู่ฝรั่งในสยามด้วย
     ส่วนลูกศิษย์ที่อยู่ในคณะราษฎร์  คนไหนก็ไม่รู้   แต่น่าจะมีสายเลือดเกี่ยวกับสามีเธอบ้างละมัง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 07 พ.ค. 10, 14:57


แวะมาเรียนท่านที่นับถือและสหายที่เคารพรักว่า

       มีผู้สอบถามหาหนังสือเรื่องแฟนนี พระปรีชากลการ และ นายโหมด กันมากหน้าหลายตาในเวลานี้
โดยเฉพาะเรื่องแฟนนี


แหล่งข่าว   คุณ น.น. แห่งโกดังราบ ๑๑
              เขามีร้านขายหนังสือมือสอง(ขายดีเป็นที่ ๑)และมีโกดังลึกลับ
              ดิฉันเพิ่งไปเยี่ยมเขาเป็นครั้งแรกเมื่อวานซืน
              โกดังแคบมากต้องเดินตะแคงตัวเข้าไปเหมือนปู

              เลยเก็บหนังสือมาสองกระสอบ

คุณ น.น. เปรยๆว่า มิน่าเล่า  มีคนมาถามจังหมู่นี้  คิดอยู่เหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้น

ได้เล่าไปว่า คุณเพ็ญชมพูได้ให้ลิ้งค์ของสยามประเภทเล่ม ๑ และ ๒ ด้วย
คุณ น.น. (ตัวจริงเป็นผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่สองบริษัท) ร้องโอ๊ย !?!!
ไม่ได้สนทนากันมากเพราะเวลาหาหนังสือเป็นเวลาที่มีค่าเหนืออื่นใด

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 08 พ.ค. 10, 10:16

มา: วิบูล วิจิตรวาทการ (น.พ.). สตรีสยามในอดีต. (พิมพ์ครั้งที่สี่). กรุงเทพฯ: บริษัทสร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด. (2543).

           แฟนนี่เองนั้นเต็มไปด้วยความขมขื่นอาฆาตพยาบาท ถึงแม้เธอจะมีเลือดไทยอยู่ครึ่งหนึ่ง ก็ประกาศตัวตัดขาดจากกรุงสยาม เข้าพบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในประเทศอังกฤษ แนะนำยุยงให้อังกฤษส่งกองทัพบกและเรือเข้าโจมตีประเทศไทย เมื่อรัฐบาลอังกฤษไม่แสดงความสนใจที่จะมาตีกรุงสยาม เพราะในขณะนั้นก็ได้ครอบครองแหลมมลายูไว้ในอำนาจของตนแล้ว แฟนนี่จึงเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของฝรั่งเศส ยุยงให้ประเทศฝรั่งเศสรุกรานจากเขตญวนและเขมรเพื่อชิงประเทศไทยเป็นเมืองขึ้น เมื่อความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะทางรัฐบาลฝรั่งเศสไม่คิดว่าเธอมีความสำคัญพอที่จะรับฟัง แฟนนี่จึงเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทย
             
              ในหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง แต่งโดย R.J. Minney ชื่อ Fanny and the Regent of Siam ได้เขียนเล่าชีวิตตอนปลายของแฟนนี่ไว้ว่า เธออยู่ในกรุงเทพฯ อย่างยากจน ลูกติด 2 คนของพระปรีชาฯ นั้นได้ส่งกลับคืนให้ครอบครัวตระกูลอมาตยกุลนำไปเลี้ยงดูต่อไป ส่วนลูกชายที่ชื่อสเปนเซอร์นั้นเป็นคนอายุสั้น ถึงแก่ความตายเมื่ออายุเพียง 21 ปี เธอจึงต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว เพราะเซอร์ ทอมัส นอกซ์ บิดาของเธอก็ได้เดินทางกลับไปประเทศอังกฤษและตายในเมืองนอก ส่วนแคโรไลน์น้องสาวนั้นแต่งงานกับ หลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกของนางแอนนา และไปดำรงชีพที่เชียงใหม่ เอาคุณปรางมารดาไปอยู่ด้วย

              แฟนนี่ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งกดขี่ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยและอังกฤษ ชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย เจ้านายและชาวบ้านพลเมือง โดยมีจุดหมายให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวต้องการแก้ไขความไม่ยุติธรรมในระบบสังคมแห่งกรุงสยาม จนกระทั่งวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2468 เมื่ออายุได้ 69 ปี จึงตายอย่างเงียบๆ โดยไม่ผู้ใดสนใจเหลียวแล
             
            ชีวิตของแฟนนี่ นอกซ์ คิดดูแล้วก็น่าสงสาร เพราะเคราะห์กรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นต่อเธอนั้น มิได้มาจากความผิดของเธอเอง หากโชคชะตาโหดร้ายหลอกให้เธอเดินเส้นทางผิด ถึงแม้จะมีผู้สูงอำนาจวาสนาทั้งอังกฤษและไทยมารักใคร่ติดพัน เธอกลับเลือกแต่งงานกับพระปรีชากลการ ฝืนคำตักเตือนของบิดามารดา กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์ว่า เซอร์ ทอมัส นอกซ์ โกรธถึงกับในวันแต่งงานของเธอนั้น ไม่ยอมเข้าร่วมพิธีด้วย การดื้อดึงปล่อยตนไปตามอารมณ์รักของชีวิตสาว ทำให้ต้องประสบเคราะห์กรรมใหญ่หลวง สามีถูกลงพระราชอาญาประหารชีวิต และตั้งแต่นั้นต่อไป ชีวิตของเธอก็ดับมืด ประทังอยู่ในความขมขื่นพยาบาท หวังร้ายต่อกรุงสยาม ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของตน เมื่อไม่สามารถแก้แค้นแทนสามีได้ ก็ต้องอยู่แบบคนที่ไร้ความหมายจนกระทั่งสิ้นชีพ

           เรื่องของ แฟนนี นอกซ์ สาวสยามครึ่งอังกฤษครึ่งไทย ผู้มีชีวิตรุ่งโรจน์อยู่เพียงระยะเวลาอันสั้น จึงจบลงเพียงเท่านี้


ผมไม่เชื่อบทสรุปข้างบนนี้  Fanny and the Regent of Siam เป็นเพียงนิยายสารคดีอิงประวัติศาสตร์ ผู้เขียนมีอิสระที่จะแต่งเรื่องราวที่ตนพอใจเพื่อไม่ให้เรื่องจืดชืดได้ ดูเรื่อง Anna and The King เป็นตัวอย่าง

เรื่องที่นางแฟนนีจะไปยุยงรัฐบาลอังกฤษให้นำกองทัพบกและเรือเข้าโจมตีประเทศไทยนั้นคงเป็นไปไม่ได้ที่คนสำคัญใดๆจะให้เข้าพบ  พ่อของเธอเป็นกงสุลใหญ่แท้ๆไปรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศแล้วยังถูกปลดออกจากตำแหน่งไปเลย และที่ว่าเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของฝรั่งเศส ยุยงให้ประเทศฝรั่งเศสรุกรานจากเขตญวนและเขมรเพื่อชิงประเทศไทยเป็นเมืองขึ้นก็คงไม่ใช่อีก คงระแคะระคายเรื่องที่นางพยายามหาโอกาสใกล้ชิดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสยามเพื่อหาทางที่จะได้เงินของพระปรีชามาใช้บ้างมากกว่า แล้วเอามาดัดแปลงปะติดปะต่อ

ยิ่งเรื่องที่กลับมาเมืองไทยแล้ว ทำงานสังคมช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบเคราะห์กรรมถูกผู้อื่นกลั่นแกล้งกดขี่ เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ไทยและอังกฤษ ชี้แจงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างคนจนและคนรวย เจ้านายและชาวบ้านพลเมือง โดยมีจุดหมายให้ประชาชนชาวไทยตื่นตัวต้องการแก้ไขความไม่ยุติธรรมในระบบสังคมแห่งกรุงสยาม ยิ่งเป็นเรื่องที่ผมเห็นว่า ฝรั่งโม้ขึ้นเองเพื่อให้นางสมกับเป็นนางเอกของเรื่อง หลักฐานใดๆในเรื่องนี้ฝ่ายไทยไม่เคยมีใครกล่าวถึงเลย
สังคมในกรุงเทพเป็นสังคมเล็กๆ ในระดับปัญญาชนที่เขียนเรื่องสังคมการเมือง พระเจ้าอยู่หัวจะทรงรู้จักทุกคน และมักจะทรง”วิพากษ์”กลับไปบ้างเป็นครั้งคราว ในสมัยรัชกาลหก พระองค์มีพระทัยกว้างมากในการรับฟังความเห็นที่ใครจะเขียนลงหนังสือพิมพ์ บางครั้งจะทรงลงมาตอบเสียเองด้วยโดยใช้พระนามแฝง นางแฟนนีเป็นคนเคยดัง ถ้ามีบทบาทเช่นที่หนังสือเขียนไว้ มีหรือจะหายต๋อมไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทยไปเฉยๆชนิดหาร่องรอยไม่เจอ

จนกว่าจะมีกูรูในเรือนไทยไปค้นบทความใน The Bangkok Times หรือ The Siam Observer หรือ The Siam Free Press สักเรื่องหนึ่งที่พอจะเข้าเค้าว่าจะเขียนโดยนางแฟนนี ผมจึงจะปลงใจเชื่อครับ

บังเอิญเมื่อสองวันก่อนนั่งรถข้ามสพานพระปกเกล้าฯ มองเห็นอดีตบ้านพระปรีชาเด่นอยู่แต่ไกล เลยเอารูปสมัยนั้นมาให้ดูอีกทีว่าพระปรีชานั้นเป็นเศรษฐีระดับไหน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 08 พ.ค. 10, 20:38

ฝรั่งมักจะเขียนนิยายที่มีตัวละครเป็นฝรั่ง ให้เป็นพระเอกนางเอก    ถ้าใช้ฉากตะวันออก พวกชาวตะวันออกก็เป็นฝ่ายผู้ร้าย   หรือต่อให้เป็นฝ่ายดี ก็ต้องด้อยพัฒนากว่าฝรั่งอยู่ดี
จึงต้องอ่านอย่างนิยาย คือเป็นเรื่องสมมุติ    เพียงใช้ชื่อตัวละครจากคนจริงๆ  ดัดแปลงเนื้อเรื่องจากเรื่องจริง  แต่ไม่ใช่เรื่องจริงอยู่ดี

แฟนนี่เป็นลูกครึ่งเอเชีย     ในศตวรรษที่ ๑๙  ลูกครึ่งอังกฤษกับอินเดียมีอยู่เป็นจำนวนมาก   พวกนี้ไม่ได้รับการยอมรับจากคนอังกฤษว่าเท่าเทียมกัน       ยิ่งฝรั่งเศสแล้ว ก็ยิ่งทะนงว่าตัวเองศิวิไลซ์กว่าอังกฤษในหลายๆเรื่อง      ลูกครึ่งอังกฤษ-เอเชียอย่างแฟนนี่จะลอยนวลเข้าไปคบหานักการเมืองระดับชาติ  คงไม่มีทาง

ชีวิตของแฟนนี่ ที่ดิฉันมองจากข้อเท็จจริง คือเป็นหญิงสาวลูกครึ่งที่อาภัพ  เข้าสังคมกับฝรั่งในสยามก็ไม่ได้  เข้าสังคมสาวผู้ดีในสยามด้วยกันก็ไม่ได้       แต่งงานโดยพ่อไม่เห็นชอบ  ไม่ได้เข้าโบสถ์  ซึ่งแสดงว่าเธอไม่ได้แต่งงานอย่างถูกกฎหมายตามหลักศาสนา   และไม่ได้รับพรจากพระเจ้าผ่านทางนักบวชผู้ประกอบพิธี 
เคราะห์ร้ายอย่างที่ผู้หญิงน้อยคนจะเจอคือแต่งได้ไม่กี่วันสามีก็ถูกประหาร  แถมก่อนประหารยังโทษว่าภรรยาเป็นสาเหตุเสียอีก     เงินทองซึ่งเป็นอย่างเดียวที่เธอจะยึดเหนี่ยวได้  ก็หลุดมือไป เพราะได้มาโดยมิชอบก็มีอันเป็นไปโดยมิชอบ    บั้นปลายก็ไม่ได้อยู่กับพี่สาวและแม่ซึ่งเป็นครอบครัวที่เหลืออยู่   ต้องตายไปอย่างลำบากยากจน   
ชีวิตเธอไม่ได้เป็นดราม่า แต่เป็นโศกนาฏกรรม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 23:00


ภายใต้ความรักของแม่แฟน

เขียนโดยคุณหญิงเสมอใจ จินดารักษ์(หรือ ซ้นฟลาวเว่อร์ นักแปลสตรีคนแรก)ธิดาของ คุณ ตระกูล อมาตยกุล(ต่อมาเป็นคุณหญิงภูบาลบรรเทิง)


เล่าโดย ลาวัณย์  โชตามระ  ในหนังสือ


รัดเกล้า  แพร่พิทยา พิมพ์  ๒๕๐๖  ราคา ๓๐ บาท   และ

แก้วชิงดวง  รวมสารคดีเรื่องเยี่ยม  จัดพิมพ์โดย แพร่พิทยา   ไม่ได้แจ้งปีพิมพ์  ราคา  ๓๗ บาท


คุณลาวัณย์ ไม้ได้เล่าว่าเธอพบข้อเขียนของคุณหญิงเสมอใจ จากหนังสือเล่มใด        แต่เธอเคยได้ไปสนทนากับคุณหญิงภูบาลบรรเทิงที่บ้านพัก มากกว่าหนึ่งครั้ง


ขออนุญาตเล่าเรื่องของคุณตระกูล สำหรับ ท่านที่สนใจ   ถ้ามีโอกาสก็จะคุยกันในเรื่อง ซันฟลาวเว่อร์ นักแปล ต่อไป เพราะเก็บงานของท่านไว้ได้ครบแล้ว



     แม่แฟน  ได้พาลูกเลี้ยงทั้งสองไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส ที่ วิลา เดส์ลอเรีย  ที่เมืองเบียร์ริตซ์  อันเป็นเมืองชายทะเลทางทิศใต้ของประเทศฝรั่งเศส

เมื่อมาอยู่ฝรั่งเศส  ก็ต้องเรียนภาษา   จะส่งเข้าโรงเรียนก็ยังเล็ดเกินกว่าโรงเรียนจะรับไว้   ภาษาฝรั่งเศสพื้นเมืองก็ยังรู้ไม่กี่คำ     มาดามแฟนนีจึงจ้าง

Miss Gertrude Bindeloaa  มาเป็น  governess  ให้ คุณ ตระกูล กับ คุณ อรุณน้องชาย     

ในที่นี้ใช้คำว่า ครูพี่เลี้ยง


ในขณะเดียวกัน  มาดามก็สอนภาษาฝรั่งเศสให้ด้วย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 23:14


     ไม่เคยเห็นเอกสารที่ยืนยันว่า ลูกสาวสองคนของน้อกซ์นั้น  ใครได้ส่งไปเรียนหนังสือที่อังกฤษกันแน่

มีแต่เล่าต่อกันมาว่า  เมื่อแฟนนีกลับมาเมืองไทย  มีงานต้อนรับใหญ่โต            การเล่าต่อกันมานี้เป็นเรื่องน่ากลัวมากเพราะสามารถทำลายความมั่นใจของนักอ่านได้ง่าย ๆ

เท่าที่เห็นจดหมายที่น้องสาวแฟนนีเขียนถึงแม่ผัว   ก็ดูงดงามและใช้ภาษาอังกฤษระดับดีมาก



      มาดามยังจ้างครูมาสอนภาษาลาตินให้เป็นเวลาถึงสามปี


     เมื่อมาดามจะกลับมาเยี่ยมเมืองไทย  จึงนำคุณตระกูลไปเช้าโรงเรียนประจำที่กรุงปารีส




บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 23:30


แฟนนีดูแลลูกเลี้ยงทั้งสองอย่างดี  เพราะสงสารที่เป็นกำพร้าขาดมารดามาแต่เล็ก  และยังมาขาดบิดาอีกด้วย

เธอได้จัดให้เด็กเด็กผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ชื่อ อุ๊น ผู้ต่อมาได้เป็นมารดาบุญธรรมของ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร  มาเป็นเพื่อนเล่นพูดภาษาไทยกับคุณตระกูลและคุณอรุณ

คุณ อุ๊น ต่อมาคือ คุณหญิง มหิบาลบริรักษ์(สวัสดิ์  ภูมิรัคน์) อัครราชทูตสยามประจำพระราชสำนักเซนต์ปีเตอร์เบริก


     แสดงว่าแฟนนีเป็นคนละเอียดอ่อนพอใช้   ในการที่ดูแลให้ลูกเลี้ยงทั้งสองไม่ลืมภาษาไทย

ไม่มีเอกสารใดที่กล่าวถึงการเงินของแฟนนีในระยะนี้  เพราะค่าเล่าเรียนของนักเรียนประจำต้องจ่ายเป็นปี 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 13 มิ.ย. 10, 23:39


     ในปี ๒๔๒๙๙   อาของคุณตระกูลและคุณอรุณ  ได้ไปกราบทูลเสนาบดีต่างประเทศ  พระยศในขณะนั้น

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรปการ  ผู้เสด็จไปงาน Gold Jubilee  ของ ควีนวิคตอเรียให้ส่งหลานทั้งสองกลับประเทศไทย

คุณตระกูลและคุณอรุณ กลับมาเมืองไทยในเดือนกันยายน ๒๔๓๐

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 00:08


     เมื่อกลับถึงเมืองไทย  ญาติผู้ใหญ่จัดการให้คุณตระกูลเข้าทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนแด่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา  พระบรมราชเทวี

ทำหน้าที่ล่ามพาหมอฝรั่งไปตรวจเจ้านายฝ่ายใน  ตลอดจนบรรดาเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕  จนเป็นที่สนิทสนมคุ้นเคยกับทุกท่านโดยทั่วหน้า


คุณตระกูลทำราชการฝ่ายในอยู่ระหว่าง ๒๔๓๐ - ๒๔๓๓  ก็กราบลามาแต่งงานกับ คุณประยูร  อมาตยกุล  บุตรเจ้าคุณเพชรพิไชยและคุณหญิงถนอม

ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเธอเอง


คุณวลี  ธิดาคนโต  แต่งงานไปกับพระยามหาเทพ(เชาวน์  อมาตยกุล)

คุณ เสมอ  แต่งงานกับ พระยาจินดารักษ์(จำลอง  สวัสดิ์ชูโต)

คุณหญิงภูบาลบรรเทิง  อายุยืนยาวมาจนถึง ย่าง ๘๑   ถึงแก่กรรมใน พ.ศ. ๒๔๙๕



คุณอรุณ  รับราชการและได้เป็นพระยาพิศาลสารเกษตร

ถึงแก่กรรมในปี ๒๔๘๓
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 14 มิ.ย. 10, 06:38

อ่านแล้วรู้สึกว่า ที่เขียนๆไปนั้นผมจะประเมินค่าของคนต่ำไปแล้ว เพราะการอ่านเรื่องราวแต่ฝ่ายเดียวจากฝ่ายที่บันทึกไว้โดยมีอติต่อแม่แฟน (ตอนแรกงงกับศัพท์นี้อยู่ครู่นึง นึกว่าคือแม่ย่า หรือแม่ยายของใครสักคนนึง อ้าว..กลายเป็นแม่แฟนนีไป)

แสดงว่า การศึกษาอบรมที่เธอได้รับแต่เมื่อเยาว์วัยนั้นเป็นการศึกษาชั้นเลิศที่ให้เธอทั้งความรู้และคุณธรรม สมกับที่เติบโตอยู่ในรั้วในวังหน้า

เธอได้เลี้ยงดูบุตรของสามีเก่าเป็นอย่างดี ที่สำคัญ ยังทำให้เขาเหล่านั้นกลับมากู้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลในบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้อย่างมีศักดฺิ์ศรี มิกลายเป็นโรบินฮู้ดร่อนเร่เป็นพลเมืองชั้นสองอยู่ในยุโรปไปเลย

ผมต้องขอคารวะเธอ และขอบคุณคุณวันดีสำหรับข้อมูลอันมีค่ายิ่งนี้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.068 วินาที กับ 20 คำสั่ง