เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 29918 ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 18 เม.ย. 10, 22:26

ข้อมูลเรื่อง  แฟนนี น้อกซ์   หาได้ไม่มากนัก  มีอยู่กระเซ็นกระสาย


เนื่องจากได้อ่านประวัติของ นายโหมดมาพักหนึ่งแล้ว 
ท่านพิมพ์หนังสือกฎหมายเล่มแรกของไทย ๖๐ เล่ม แล้วบรัดเลยกแท่นไปพิมพ์ต่อ ๓๖๐ เล่ม     


เรื่องของพระปรีชากลการ(สำอาง) ก็เป็นที่สนใจของมวลมิตร


จึงขอรวมงานที่อ่านมาเกี่ยวกับ  ยอร์ช  ทอมมาส น้อกซ์ และครอบครัวมาลงให้อ่านกันอย่างบันเทิง
เล่าจากมุมมองของนักอ่าน  จะไม่ลงลึกในเรื่องของ   คดีพระปรีชากลการ เพราะท่านทั้งปวงก็คงคุ้นอยู่แล้ว
จะเล่าเรื่องที่เกี่ยวพันกับแฟนนี เท่านั้น



เรื่องราวทั้งหมดอ่านมาจาก

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน  เล่มปีเถาะ จุลศักราช ๑๒๔๑

หนังสือของ คุณ ณัฐวุฒิ  สุทธิสงคราม  เรื่อง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์,  เรื่องพระนางเรือล่ม

พระประวัติและงานสำคัญ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ามหามาลา  คุรุสภา ๒๕๑๔

 the Peerage.com 

วิมลพรรณ  ปีตธวัชชัย  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  ๒๕๔๗

ประมวลจดหมาย ของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์  สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ๒๕๓๔

สมบัติ  พลายน้อย  เล่าเรื่องนักเขียนในอดีต  สำนักพิมพ์ ฅอหนังสือ  ๒๕๔๖ (ต้นฉบับของซันฟลาวเว่อร์มีครบ)



เรื่องยังขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง  เพราะเราไม่มีข้อมูลของ แฟนนีมากนัก

จะพยายามเล่าเท่าที่อ่านมา  โดยมิได้อ่านนวนิยายใดๆเลย  อาจจะใช้ข้อมูลชิ้นเดียวกันบ้าง เพราะได้รับฟังจากวงการนักอ่านจุดตะเกียงลาน


เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย(ที่จริงมาก)

ผิดพลาดประการใด  ถ้าท่านผู้ผ่านมาอ่านมีข้อมูลที่ลึกซึ้ง  ขอน้อมเชิญออกความคิดเห็น


หากข้อมูลเป็นที่ขัดอกขัดใจ  ขอเรียนว่าอยู่อ่านก่อนเถิดนะคะ



สำหรับท่านที่เคยติดต่อขอไฟล์    เรียนว่าไม่เคยมีไฟล์หรือคาบิเนทอะไรทั้งสิ้น
อ่านไป  ก็เล่าไปเรื่อยๆ  เปิดหนังสืออ่าน


เมื่อคุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็ก แวะมา แหะๆ...แยม(พูดฝรั่งออกเสียงโบราณ)  แล้ว  ดิฉันก็เขียนใหม่ได้เรื่อยๆ


ถือว่าเล่าสู่กันฟัง


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 เม.ย. 10, 22:52

Thomas George Knox


       มีการเข้าใจผิดว่า  น้อกซ์ เป็นผู้ดี         ไม่ใช่แน่นอน(ดูจากความประพฤติที่ไร้มารยาท)
เป็นคนชั้นกลางระดับอ่า...ตำ่กว่ากลางด้วยซ้ำไป  (วัดทางเศรษฐกิจ)

พระปรีชากลการเสียอีกเป็นผู้ดีมาหกเจ็ดชั่วคน  ไม่เห็นนายโหมดท่านจะคุยอะไรที่หรูหรา


ขืนน้อกซ์มีท่านลอร์ด หรือดุ้คสักคนในสายสกุล      ป่านนี้มิช่วยปกครองอินเดียไปแล้วรึ
ลอร์ดซอลส์เบอรี่  Salisbury   ที่เขย่าคอนายน้อกซ์    คงโดนนายน้อกซ์เลิกคิ้วใส่  แล้วพูด "We see no fun."



พ่อของน้อกซ์เป็นนักบวช ชื่อ Reverend James Spencer      ปู่ชื่อ  Rev.Hon. William Knox     ย่าชื่อ แอน สเปนเซอร์

แม่ชื่อ คลารา บาร์บารา  Beresford       ตาชื่อ  Hon. จอห์น  Beresford


สมบัติคงไม่ค่อยมีเหลือ  เพราะไม่เห็นพี่ชายคนไหนได้สืบตระกูล     เห็นแต่ไปเป็นทหารบ้าง หรือ  นักบวชบ้าง


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 เม.ย. 10, 23:14

พี่น้องของนายน้อกซ์

Barbara Ann
Clara Elizabeth
Isabella  Louisa Georgina
Francis Harriet

Thomas George

Reverend Charles Beresford
George Beresford


เกิด            พ.ศ.  ๒๓๖๗
ตาย            พ.ศ. ๒๔๓๐

อายุ            ๖๓


        น้อกซ์ออกผจญชีวิต ไปเป็นทหารราบที่  98th Regiment  เข้าไปสับเปลี่ยนกำลังสมัยกบฎนักมวยในเมืองจีน  และ 65th Regiment อยู่ในอินเดีย

ตำแหน่งก็คงเป็นแค่นายสิบ   ทำไปทำมาหัดแถวทหารใหม่  ก็ได้เลื่อนเป็นนายทหาร  นายพันคนไหนจะใจจืดให้นายสิบผิวขาววิ่งตากแดดทั้งวันลงคอ 
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 เม.ย. 10, 23:27

นายทหารอังกฤษที่มาจากครอบครัวนักบวช  ไม่มีสตางค์ไปซื้อตำแหน่ง

วันๆ ก็ เล่นการพนัน(และโหมโรงด้วยสุรา)
กามโรคสมัยนั้นรักษายาก    ไม่ว่าจะในลอนดอนหรือในอินเดีย
สำนักโสเภณีก็เป็นที่ห้ามสัญจร   
การพนันนั้นน่าจะเป็นไพ่มากกว่าม้า  เพราะม้าคือกีฬาพระราชามิใช่หรือ


นานเข้าก็เป็นหนี้การพนันมากมาย  สุดที่จะดำรงชีพอยู่ได้ เพราะหนี้การพนันเป็นหนี้เกียรติยศ


น้อกซ์ได้ยินว่า ร้อยเอก อิมเป(เคยเห็นรูปถ่าย ดูว่าน่าจะเป็น คนในบังคับอังกฤษมากกว่า) ที่อยู่เมาะลำเลิง
หางานทำในเมืองไทยได้ เมื่อ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๙๔

น้อกซ์ก็แจ้นมาบ้าง  เดินเข้ามาจากอินเดียเลย


ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับอิมเปคือ เป็นคนที่พ้นราชการแล้ว(เกษียณ หรือ ลาออก)    ครูอิมเปมาอยู่เมืองไทยหนึ่งปีแล้วก็จากไป
บอกว่าไม่ได้งานที่เหมาะสมกับเกียรติ   ลูกศิษย์ครูมีอยู่สามคนมั๊ง

มีครูเล็ก  ครูกรอบ  ครูเชิงเลิง  หนังสือประวัติกองทัพไทยมีเอ่ยบ้างเหมือนกัน


อิมเป  กับ น้อกซ์  อาจรู้จักกัน  เพราะเป็นทหารราบด้วยกัน
อิมเปอยู่ที่พม่า   ที่เมาะลำเลิงตอนนั้นเป็นเมืองทหารทั้งเมือง
น้อกซ์อยู่อินเดีย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 00:10

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจ้างน้อกซ์ไว้เป็นครูฝึก

หนังสือฝรั่งบอกไว้ชัดว่า ฐานะของน้อกซ์นั้น  สิ้นไร้ไม้ตอก   

มีตำแหน่งเพียงมหาดเล็กรับใช้  หรือครูฝึกเท่านั้น

ใครจะเป็นครูฝึกทหารนี่ต้อง เสียงดัง   ตวาดก้อง  ฮึดฮัด  ไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา
นิสัยเลวๆอย่างนี้ก็ติดตัวไปจนมีตำแหน่งใหญ่โต  เผลอไปขู่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เข้าหลายครั้ง



ได้ประทานข้าหลวงของพระธิดามาคนหนึ่ง  ชื่อ ปราง  มีบันทึกว่าเป็นละคร
เอกสารรุ่นหลังหน่อยแจ้งว่าชื่อ ประจง

นักอ่านคุยกันจุ๊กจิ๊กแล้วตกลงกันแบบไมตรีจิตมิตรภาพอันซาบซึ้งว่า นางปรางนี่ก่อนเข้าวังมาหัดละคร อาจชื่อประจงมาก่อนก็ได้


บิดาของนางปราง จดไว้ว่าชื่อ พระไวย  แม่ชื่อ เย็น
ไม่มีเอกสารเรื่องขุนนางวังหน้า  จำได้ว่า ไม่น่าจะมีพระไวยวรนารถ หรือพระไวยของนางศรีมาลาแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 00:25

ในปี พ.ศ. ๒๓๙๕  เดือนพฤศจิกายน หรือ ธันวาคม  กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และ
เจ้าพระยายมราชยกไปตีเชียงตุง

น้อกซ์ได้ตามเสด็จในราชการสงคราม



โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์  พระนิพนธ์ ของเสด็จในกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์   ตอนหนึ่ง  ลงว่า


     สมัยนั้นท่านมิสเตอร์                            เซอร์ธอมมัสน๊อกซ์เหี้ยม
นายสิบทหารคลานเตี้ยม                            พึ่งเจ้าเราผงม   แลนา

     สมเด็จอนุราชเลี้ยง                              เพี้ยงมหาดเล็กรับใช้
ตรัสสั่งโดยเสด็จให้                                  พี่เจ้าวงศา ฯ   สนิทเอย

     ยาตร์แสนยายุธะพยุง                           ตีเชียงตุงเมื่อนั้น
แผลงฤทธิ์ผิดเชิงชั้น                                  โชคชั้นหลังฉุน   เฉียวรา

     เป็นกงสุลเยเนอราล                             อังกฤษหาญเห่อฟุ้ง
คนละคนกละกลุ้ง                                     ติดก้ามมังกร    ขันโวย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 06:47

ตำแหน่งและยศของ พ่อ แม่ปรางนั้น  นักเขียนหลายคนสับสน  นักอ่านไม่สับสน
 

บางคนเขียนว่าเป็น ดุ๊กแห่งสามโคก(ดุ้กน่ะระดับพระเจ้าน้องยาเธอนะคะ)

ตำราสกุล บอกว่า  Phwia
ไม่ทราบว่าคุณเพ็ญชมพู  คุณหลวงเล็ก และท่านที่นับถือทั้งปวงจะคิดอย่างไร
ขออนุญาตใช้ว่าพระไวย ไปก่อน


ลูกของ น้อกซ์ กับ ปราง มี ๓ คน

แฟนนี
คาโรไลน์  แต่งงานกับ หลุยส์  ลีโอโนเวนส์
โทมาส (เกิด  พ.ศ. ๒๔๐๒    ถึงแก่กรรม  ๒๔๖๖)


เอกสารของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ บันทึกไว้ว่า แฟนนี เป็น  natural daughter   ของ น้อกซ์
(จดหมายของลอร์ดซอลซ์เบอรี่ถึงควีนวิคตอเรีย)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 07:15



พระราชหัตถ์เลขา ถึง เสด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ (หน้า ๘๓๕ - ๘๔๑ ใน หนังสือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์)  มีว่า

     "ลูกสาวสองคนนี้  คนต่างประเทศไม่มีใครนับถือเลย
ไม่มีใครเอาเป็นภรรยาเป็นแน่

ไปมานอนค้างอยู่ในวังจนคนพูดว่ากงสุลถวายวังหน้าก็มีมาแต่ก่อน 
แต่พูดกันแต่ไทย ๆ  คนฝรั่งไม่พูด

มาในครั้งนี้เขาว่าเมื่อไปกาญจนบุรีนี้ออกหน้ามาก
ไปตามเสด็จวังหน้านั่งที่ไหนก็นั่งเคียงกัน

แลในบางกอกก็มีเถ้าแก่รับส่งเป็นเวลาขึ้นไปนอนวัง

ประทานเข้าของแต่งตัวมากนัก


แต่คำที่คนฝรั่งพูดกันนั้นเป็นการเยาะเย้ยกันมาก
ด้วยเขาไม่นับถือในตัวผู้หญิง
และก็ผิดธรรมเนียมในศาสนาเขามาก"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 07:32

เรื่องการศึกษาของ แฟนนี นั้น  ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด



ตามที่อ้างข้างบน
"ลูกเขานั้นคนใหญ่ที่ไปเรียนหนังสือเมืองนอกคนเดียวเขาจะให้เป็นฝรั่ง
แต่ลูกนอกนั้นตามแต่ภรรยาเขาจะให้มีผัวไทยก็ตาม"


คาโรไลน์นั้นหน้าตาสวยงามคมคาย
รู้และเขียนภาษาอังกฤษถึงญาติ  เป็นภาษาระดับคนมีการศึกษา

แสดงว่าน้อกซ์ก็คงได้หาครูมาสอนให้ที่บ้าน



แฟนนีคงได้ไปใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพราะน้อกซ์เจ้าออกเมืองไทย ๒ ครั้ง ตอนที่ยังเป็น ล่าม และ รองกงสุล
เมื่อเธอหอบบุตรเลี้ยง ๒ คน  หนูสเปนเซอร์  และ สาวใช้ ไป ต่างประเทศ(พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ บันทึกไว้)
หาบ้านอยู่  หาครูมาสอนพิเศษให้ลูกเลี้ยงที่บ้าน  เธอก็สามารถทำได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 10:45

ครอบครัวน็อกซ์ดูจะสนิทกับครอบครัว ก.ศ.ร.กุหลาบมาก ดังที่คุณวันดีเคยเล่าไว้ว่าในงานบวชของ ก.ห.ชาย มี ชาวยุโหรปหญิง  คือ แมดำ  เดอร์ฟรางค์  ภรรยาราชทูตฝรั่งเศส  และ บุตรี, มิศซิด การะโด, มิศซิดแฟนิน๊อก  ธิดาราชทูตอังกฤษ น๊อก และหญิงชาวยุโหรปอีก สี่ นาง

มีข้อมูลของ แฟนนี่ น็อกซ์ อีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะผิดเพี้ยนไปมากเช่นนั้น คือในหนังสือ ก.ส.ร.กุหลาบ ของคุณมนันยา ว่ากันตั้งแต่ชื่อของบิดาคือ โรเบิร์ต น็อกซ์ มีลูกสาวกับคุณปราง ๒ คน คนโตชื่อ มาจอรี่ ได้รับการอบรมอย่างฝรั่ง บิดาส่งไปศึกษาที่อังกฤษ ส่วนแฟนนี่เป็นลูกสาวคนเล็ก คุณมนันยาเล่าว่ามารดาอบรมให้เป็นคนไทย หมอบกราบคล่องแคล่วและพูดไทยได้ แฟนนี่ไปมาหาสู่กับครอบครัวของ ก.ศ.ร.กุหลาบที่บ้านท่าวาสุกรีเป็นประจำ  และได้สอนวิธีทำอาหารให้ลูกสาวของ ก.ศ.ร.กุหลาบหลายชนิด

หลังจากที่พระปรีชากลการถูกตัดสินประหารชีวิต แฟนนี่กับบุตรชายที่เพิ่งคลอดต้องเดินทางไปอังกฤษ และในบั้นปลายของชีวิต แฟนนี่ได้กลับมาเมืองไทย จนได้มี่โอกาสเผาศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ ด้วย

วานคุณวันดีช่วยกรุณาพิจารณา นอกจากชื่อบิดาและพี่สาว มีอข้อมูลอื่นผิดเพี้ยนไปอีกบ้างหรือเปล่า

 เจ๋ง





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 11:10

คุณหมอวิบูล วิจิตรวาทการ เล่าไว้ในหนังสือสตรีสยามในอดีต ว่า แฟนนี่นั้นถูกส่งไปศึกษาเล่าเรียนในประเทศอังกฤษตั้งแต่อายุน้อยกว่าจะกลับมาเมืองไทยก็เป็นสาวเต็มตัวแล้ว เธอเป็นคนสวยงามผิดตาและมีนิสัยร่าเริงน่ารัก ชอบพูดคุย ร้องเพลง เล่นเปียโน เป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มในสมัยนั้น ทั้งคนต่างชาติและเจ้านายไทย กล่าวกันว่าในจำนวนผู้ชายที่มาติดพันเธอนั้น คนหนึ่งคือ นายหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ลูกชายของ นางแอนนา เลียวโนเวนส์ สตรีอังกฤษที่เคยสอนหนังสืออยู่ในพระราชวังของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ อีกคนหนึ่งเป็นหลานชายของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดี และผู้สำเร็จราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕

แฟนนี่สวยงามขนาดไหน เชิญพิจารณา

 ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 11:59

โอ...เรื่องชื่อคงค้นมาถูกแล้ว  เพราะใช้    Burke's Peerage and Baronetage 107th edition



เรื่องกลับมาเมืองไทยเป็นไปได้  แต่ไม่มีหนังสืออนุสรณ์ของคุณจำรัสสเปนเซอร์

เมื่อคุณตระกูล  และคุณอรุณ กลับเมืองไทยเมื่ออายุประมาณ ๑๘ หรือ ๑๙    เมื่อคุณอาไปราชการต่างประเทศแวะไปรับ
คุณตระกูลเข้าเฝ้าพระพันปี และมีหน้าที่เป็นล่ามและรับใช้งานเอกสาร สั่งรถยนต์เข้ามาพระราชทานข้าราชสำนัก
สมรสกับพระยาภูบาลบันเทิง(ประยูร)  ลูกพระยาเพชรพิไชย(เจิม)และ คุณหญิงถนอม

พระยาเพชรพิไชย(เจิม) คือ น้องแท้ๆ ที่คลานตามกันมาของ นายสำอาง(พระปรีชากลการ)





ก.ศ.ร. บันทึกไว้ว่าเคยเข้าพบ พระยากสาปน์กิจโกศล(โหมด) เมื่อกุหลาบอายุ ๒๘ ปี   นายเจิมพาไปพบ

ก.ศ.ร. ยังเขียนเรื่อง   สกุลอมาตยกุล ยาวเหยียดใน สยามประเภท  พิมพ์ออกมาจำหน่ายนานก่อนที่นายโหมดจะเขียนความทรงจำของข้าพเจ้าหลายสิบปี

เมื่ออ่าน ความทรงจำของนายโหมด   ดิฉันรู้สึกคุ้นเคย  และโยงใยสายสกุลได้ทันทีเพราะอ่านมานานมากแล้ว


ก.ศ.ร. เคารพ พระยากสาปน์กิจโกศลมาก  ได้พิมพ์หนังสือขึ้นเล่มหนึ่ง  คำนำเขียนว่า แด่เจ้าพระยากสาปน์กิจโกศลผู้โดนปล้นตำแหน่ง
ในเล่มรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าไร  เพราะจำไม่ได้ค่ะ

เซียนๆ มาตรวจสอบกับดิฉันว่า พระยากสาปน์กิจโกศล  ได้เป็นเจ้าพระยาหรือไม่
ไม่อุกอาจจะวิจารณ์อะไร  คิดเองว่าท่านก็คงเข้าแถวคอยเวลาอยู่  เพราะเวลานั้น สกุลอมาตยกุลก็เป็นพระยากันหลายคน  และ นายโหมดก็ร่ำรวยมหาศาลจากมรดกของคุณน้าพระกลิ่น
ที่เป็นต้นเหตุให้นายโหมดต้องพิมพ์ หนังสือกฎหมายเล่มแรกของประเทศไทย    

ก.ศ.ร. พิมพ์กฎหมายนายโหมด ฉบับสมบูรณ์  ๖๐ เล่ม    และ บรัดเลพิมพ์ต่อจากแท่นที่ไม่ได้รื้อ อีก ๓๖๐ เล่ม
มีชื่อเสียงมากมายว่าพิมพ์หนังสือกฎหมายของไทยถึง ๑๐ หรือ ๑๑ ครั้ง
ก.ศ.ร. จ้างโรงพิมพ์ของบรัดเลพิมพ์ค่ะ  ด้วยขออนุญาตจากนายโหมด  คำนำเขียนไว้ชัดเจน






คุณตระกูลมี บุตร ๓ คน
คือ

คุณหญิงวลี  แต่งงานกับพระยารักษาเทพ

เด็กหญิงไม่มีชื่อ ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเล็ก

คุณหญิงเสมอ  แต่งงานกับพระยาจินดารักษ์



สนใจคุณหญิงเสมอมานานแล้วเพราะท่านเป็นนักแปลสตรีคนแรกของเมืองไทย
คุณหญิงตระกูล ภูบาลบรรเทิง นั้นพูดอ่านเขียนอังกฤษและฝรั่งเศสได้ เพราะ แฟนนีได้ให้การศึกษาอย่างกุลสตรีแก่คุณตระกูล

คุณเสมออ่านหนังสือฝรั่งที่บ้าน เพราะสุขภาพไม่ดี ป่วยประจำ
เธอเป็นสตรีที่งามเก๋   ในงานฤดูหนาวมี่วัดเบญจมบพิตร   คุณเสมอคาดหน้าเพชรปักขนนก
พระยาจินดารักษ์เล่าว่า  งามเด่น
(คงมีโอกาสได้เขียนเรื่องงานแปลของคุณ เสมอ หรือ ซันฟลาวเว่อร์ เพราะได้ตามเก็บงานของเธอไว้หมดแล้ว
รวมทั้งเรื่องไข่มุกด์ที่มีค่า   The Pearl of Great Price   อันเป็นบทความสอนใจที่ดีที่สุด  ไม่ใช่นวนิยาย
นักเขียนลอกต่อกันมาว่าเป็นนวนิยาย)



คุณอรุณ ต่อมาได้เป็นพระยาพิศาลสารเกษตร สมรสกับคุณหญิงเยาวเรศร
เช้า ๆ ท่านดื่มช้อคโคเล็ทร้อนเสมอ
นักอ่าน วรรณกรรมฝรั่งโบราณจะเข้าใจทันทีว่า เป็นอาหารเช้าของ เด็กๆ และ หญิงสาวในตระกูลผู้มีอันจะกิน
แสดงว่า มารดาเลี้ยง  ได้เลียงดูท่านอย่างดีด้วยความรักและเอาใจใส่


แฟนนี คงรัก คุณสำอาง ด้วยใจจริง


ข้อเขียนบางตอน เล่าว่า แฟนนีรักบุตรเลี้ยงทั้งสองมาก เพราะกำพร้าขาดมารดา และต่อมาก็ขาดบิดาอีกด้วย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 12:07

ไม่มีหลักฐานว่า แฟนนีได้ไปเรียนหนังสือในประเทศอังกฤษค่ะ

เรื่องมีเปียนโนนั้น  มีหลักฐานว่าแฟนนีส่งคนไปเก็บเปียนโนมาจากปราจิณ

สหายคนหนึ่งสงสัยว่า มิชชันนารีคนไหนสอนนะ ........แล้วขนเปียนโนกันอย่างไร.......น้อกซ์ซื้อให้มั๊ง
(มีเพื่อนนักอ่านขี้สงสัยปานนี้)


หลุยส์นั้นเป็นคนเจ้าชู้ประตูดิน  รำ่ลือมานานแล้ว
เป็นนักผจญโชค
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 13:23

นายทหารอังกฤษที่มาจากครอบครัวนักบวช  ไม่มีสตางค์ไปซื้อตำแหน่ง
วันๆ ก็ เล่นการพนัน(และโหมโรงด้วยสุรา)
กามโรคสมัยนั้นรักษายาก    ไม่ว่าจะในลอนดอนหรือในอินเดีย
สำนักโสเภณีก็เป็นที่ห้ามสัญจร   
การพนันนั้นน่าจะเป็นไพ่มากกว่าม้า  เพราะม้าคือกีฬาพระราชามิใช่หรือ
นานเข้าก็เป็นหนี้การพนันมากมาย  สุดที่จะดำรงชีพอยู่ได้ เพราะหนี้การพนันเป็นหนี้เกียรติยศ
น้อกซ์ได้ยินว่า ร้อยเอก อิมเป(เคยเห็นรูปถ่าย ดูว่าน่าจะเป็น คนในบังคับอังกฤษมากกว่า) ที่อยู่เมาะลำเลิง
หางานทำในเมืองไทยได้ เมื่อ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีกุน  พ.ศ. ๒๓๙๔

น้อกซ์ก็แจ้นมาบ้าง  เดินเข้ามาจากอินเดียเลย


ข้อมูลที่ได้เกี่ยวกับอิมเปคือ เป็นคนที่พ้นราชการแล้ว(เกษียณ หรือ ลาออก)    ครูอิมเปมาอยู่เมืองไทยหนึ่งปีแล้วก็จากไป
บอกว่าไม่ได้งานที่เหมาะสมกับเกียรติ   ลูกศิษย์ครูมีอยู่สามคนมั๊ง
มีครูเล็ก  ครูกรอบ  ครูเชิงเลิง  หนังสือประวัติกองทัพไทยมีเอ่ยบ้างเหมือนกัน
อิมเป  กับ น้อกซ์  อาจรู้จักกัน  เพราะเป็นทหารราบด้วยกัน
อิมเปอยู่ที่พม่า   ที่เมาะลำเลิงตอนนั้นเป็นเมืองทหารทั้งเมือง
น้อกซ์อยู่อินเดีย


หมอบรัดเล ได้ทำจดหมายเหตุเกี่ยวกับฝรั่งที่เข้ามาในกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ ๓ ๔ ๕  ต่อมามีการแปลลงพิมพ์ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๑๒   มีข้อความดังต่อไปนี้

๑๘๕๑ (๑๒๑๓/๒๓๙๔) ตุลาคม ที่ ๑๑  (ปีแรกในรัชกาลที่ ๔) กัปตันอิมเป เปนนายทหารอังกฤษ เดินบกเข้ามาจากเมืองเมาะลำเลิง  เข้ามารับราชการเปนครูทหารวังหลวง  เปนครูของครูเล้กครูกรอบครูเชิงเลิง ที่เปนครูทหารเมื่อแรกรัชกาลที่ ๕ 

๑๘๕๒ (๑๒๑๔/๒๓๙๕) ธันวาคม  กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง

เสียดายว่า  หาบันทึกตอนที่นายนอกซ์เข้ามาเมืองไทยไม่พบ  สงสัยว่าหมอบรัดเลไม่ได้จดไว้กระมัง

๑๘๖๖ (๑๒๒๗/๒๔๐๘) มกราคม ที่ ๓๐  เรือรบอังกฤษ ชื่อ โคเคต  พาทอมัส  ยอช  นอกส์  เปนกงสุลเยเนอราลอังกฤษเข้ามาถึง   (นายนอกส์ คนนี้เดิมเปนนายทหารอังกฤษ  รับราชการอยู่อินเดีย   ละราชการทหารอังกฤษมาเมืงไทยเมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๑  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จ้างไว้เปนครูทหารวังน่า  จน ค.ศ. ๑๘๕๗  กลับรับราชการอังกฤษเปนล่ามที่ ๑  ในสถานกงสุล)  (คำในวงเล็บนี้สงสัยเป็นคำอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ)

นอกจากนี้ หมอบรัดเลยังได้บันทึกไว้อีกว่า   มีช่วงหนึ่งที่นายนอกส์เดินทางออกไปทำธุระที่อังกฤษ  จึงต้องให้นายอาลบาสเตอร์ทำหน้าที่รักษาราชการกงสุลแทนนายนอกส์   และท้ายๆ บันทึกจดหมายเหตุนี้ มีข้อความว่า  นายอาลบาสเตอร์วิวาทกับนายนอกส์ด้วย

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 เม.ย. 10, 13:41

ขอเล่าเรื่อง สำอาง  หรือพระปรีชากลการ ในเรื่องส่วนตัว



คุณสำอาง เกิด พ.ศ. ๒๓๘๔

ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑

ได้ไปศึกษาต่อในเรื่องวิศวกรรมเหมืองแร่ในสกอตแลนด์
ได้พยายามตรวจสอบรายชื่อจากสมาคมนักเรียนเก่าของวิทยาลัยเหมืองแร่ในสกอตแลนด์  ไม่พบ
ได้ค้นจากชื่อ   Maud  ด้วย  เพราะ แฟนนีเมื่อแต่งงานกับพระปรีชากลการใช้ชื่อนี้  เชื่อว่าคือชื่อ นาย โหมด บิดา

นางปราง  ลูกนางเย็น   ยังใช้ชื่อ ปราง เย็น




ภรรยาแต่งงานคนแรกคือ คุณพลับ  ธิดาพระครูมหิธร  บ้านอยู่ในสำเพ็ง  แต่งกัน ๒๔๐๓
มีลูกชื่อประเสริฐ  ตายตอนเด็ก


ภรรยาคนที่สองที่แต่งงานคือ คุณลม้าย  ธิดาพระอินทราธิบาล(สุ่น) กับ คุณ แจ่ม  แต่ง ๒๔๑๕
คุณอรุณ และ คุณตระกูลเป็นลูกคุณลม้าย


ภรรยาคนที่ ๓  ชื่อเหลี่ยม
มีบุตรชื่อกอน หรือมังกร  ต่อมาเป็นพระยาวินิจวิทยากร
ชาย ชื่อ สำเนียง
หญิงชื่อ อบ  เป็นหม่อมในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ


ภรรยาชื่อสิน     บุตรเป็นชายชื่อใย


บุตรกับจีน  ชื่อประจักษ์


ภรรยาชื่อหลี    บุตรเป็นชายชื่อส่าน
หลีนี่เป็นญาติเกี่ยวดองหลายชั้น เป็นลูกผู้น้อง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.089 วินาที กับ 20 คำสั่ง