เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 17353 พระยาโบราณราชธานินทร์
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 15:39

อ้างถึง
แต่ทำไมท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา  ค่อยๆติดตามประวัติไป อาจจะพอสันนิษฐานได้

พ่อคนหนึ่งท่านเล่าให้ลุกฟังว่า

"...ส่วนพ่อเองนั้นได้ระลึกถึงพฤติการของเสด็จในกรมหนหลังมาว่า   เลี้ยงใครพอเป็นใหญ่เป็นโตขึ้นแล้ว  มักจะมีความหวาดระแวงพระทัย   เช่นพระรัชฏภัณฑ์ (ทองอยู่) เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กจนเป็นพระและเป็นข้าหลวงสรรพากรมณฑล   แล้วก็อยู่ไม่ได้     พระพนมสารนรินทร์ (กลึง) เรียกมาจากกรุงเก่าตั้งแต่เป็นหลวงศุภมาตรา  พอได้เป็นเจ้าเมืองนครนายกได้หน่อยถุกกริ้วก็ต้องออก     พระยาเกรียงไกรกระบวนยุทธ (โคม) ก็เช่นเดียวกัน   ตลอดถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ถูกกริ้วอย่างมากเหมือนกัน   หากแต่ความรู้และบารมีท่านแก่กล้า   สมเด็จกรมพระยาดำรงและพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕) โปรดปรานเสียแล้วพระองค์ท่านจึงทำอะไรไม่ได้..."

เสด็จในกรม พระองค์นั้น คือเจ้านายพระองค์ใด  ผู้เคยอ่านหนังสือเล่มนี้ย่อมรู้จักพระนามดี  แม้กระทั่งพ่อคนที่เล่าให้ลูกฟังนี้ก็ถูกเสด็จในกรมพระองค์นี้เบียดเบียนอยู่หลายครั้ง   บางคนอาจจะนึกถึงประโยคเด็ดในหนังสือเล่มนี้ได้ว่า  กำแพงหักทับเอาหรือ      มันทับตรงตีนนิดเดียว  แต่ทำเอาต้องเดินกะเผลกไปบ้าง ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 15:55

คุณหลวงมาเฉลยเสียแล้ว    จะบอกชื่อหนังสือไหมคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 15:58

หนังสืออนุสรณ์ พระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี  ๒๕๐๒      "เล่าให้ลูกฟัง"



รับราชการตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี     ๒๔๔๑   ได้เงินเดือน ๑๐ บาท



อิอิ.....เขียนไว้ในเรือนไทยนานแล้วจ้ะ

"พ่อมีกางเกงจีนผ้าขาวไป ๒ ตัว  ผ้าพื้นสีน้ำเงิน ๑ ผืน  เสื้อชั้นในผ้าขาว ๒ ตัว  ผ้าขาวม้า ๒ ผืน  เสื้อชั้นนอก ๑ ตัว  กับเงิน ๘ บาท........"
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 16:01

ผลงานบางประการของพระยาโบราณราชธานินทร์ เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า  คัดตัดตอนจากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ร,ศ,๑๑๗ (ราชกิจจาฯ  เล่ม ๑๕   หน้า ๕๕๑ - ๕๕๒) เจ๋ง

"...๙๒   แต่ถนนหนทางนั้น  เดิมพระยาไชยวิชิตจางวาง  ครั้งยังรับตำแหน่งเปนผู้รักษากรุง  ได้จัดทำถนนบนสันกำแพงเมืองแลสร้างสพานข้ามคลอง  ระยะทางตั้งแต่พระราชวังจันทรเกษม   จนถึงป้อมเพชรประมาณ  ๗๐  เส้นเศษ   ครั้นเมื่อพระยาไชยวิชิตกราบถวายบังลาออกนอกราชการ   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้หลวงอนุรักษภูเบศรเปนข้าหลวงรักษาราชการกรุงเก่า  ก็ได้จัดทำถนนบนสันกำแพงเมือง   จากพระราชวังจันทรเกษมไปจนถึงวัดธรรมิกราชริมพระราชวังโบราณประมาณทาง  ๘๐  เส้นเศษ   กับขุดคลองลัดตัดแหลมวัดช่องลม  ซึ่งเปนแหลมยื่นขวางปิดทางน้ำแควแม่สัก แลแควลพบุรีไม่ให้ไหลลงทางคลองทราย   ซึ่งเปนเหตุทำให้ลำน้ำในแถวน่าพระราชวังจันทรไหลเชี่ยว   แลเปนวนกัดเซาะเขื่อนบันไดอิฐที่คั่นตลิ่งน่าพระราชวังจันทรพังทำลายนั้น   ให้น้ำไหลลงทางคลองทราย   โดยกว้าง  ๓ วา  ลึก  ๕  ศอก   ยาว  ๓  เส้น  ๘  วา คลองหนึ่ง ..."
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 16:10

อ้างถึง
พระพนมสารนรินทร์ (กลึง) เรียกมาจากกรุงเก่าตั้งแต่เป็นหลวงศุภมาตรา  พอได้เป็นเจ้าเมืองนครนายกได้หน่อยถุกกริ้วก็ต้องออก 

ยังข้องใจข้อเท็จจริงตรงนี้   เพราะอ่านพบว่าพระพนมสารนรินทร์ตั้งใจจะไปทำธุรกิจเรือเมล์  ลงทุนไปแล้วด้วย   จึงลาพักราชการ
เสด็จในกรมฯ ทรงเรียกให้กลับไปทำงาน จะตั้งให้เป็นปลัดมณฑลอุดร  คุณพระก็ไม่ยอม  จะลาออกให้ได้
ก็เลยถูกกริ้ว    ในประวัติก็ระบุว่าคุณพระลาออก  ไม่ได้ "ต้องออก" นี่คะ
คุณวันดี คุณเพ็ญ คุณหลวงมีรายละเอียดมาอธิบายให้หายข้องใจได้ไหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 16:21

ขอเลี้ยวออกทางแยก หน่อย
ชอบพระยาสัจจาภิรมย์มานานแล้ว เรื่องหนังสือ เทวกำเนิด  เลยขอนำรูปจากเว็บที่ไปเจอเข้ามาลง

http://www.pantown.com/board.php?id=20500&area=3&name=board3&topic=3&action=view

เห็นบ้านท่านที่ถูกรื้อไปแล้ว ก็ใจหาย  ร่องรอยกรุงเทพเมื่อวันวาน หายไปไม่เหลือ



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 23 เม.ย. 10, 16:23

คุณหลวงท่านนั่งเฝ้า ตึกเก็บหนังสือโบราณ  อยู่ค่ะ  คุณเทาชมพู

คุณเพ็ญ เธอก็ปกครองห้องสมุด


ดิฉันอ่านแต่เรื่องที่สนุก ตื่นเต้น ผจญภัย เท่านั้น  
จะขัดดาบแลอาวุธทั้งปวงก็ต้องวันอังคารแลวันเสาร์

วิ่งซิกแซกหลบคุณเพ็ญชมพูและคุณหลวงเล็ก อยู่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 29 เม.ย. 10, 08:48

อ้างถึง
ตลอดถึงพระยาโบราณราชธานินทร์ก็ถูกกริ้วอย่างมากเหมือนกัน   หากแต่ความรู้และบารมีท่านแก่กล้า   สมเด็จกรมพระยาดำรงและพระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕) โปรดปรานเสียแล้วพระองค์ท่านจึงทำอะไรไม่ได้..."
เรื่องนี้ยังค้างคาใจอยู่ค่ะ
ก็ในเมื่อ เสด็จในกรมฯยังทำอะไรเจ้าคุณโบราณฯ ไม่ได้    สาเหตุที่ท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา ก็น่าจะมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญกว่านี้

ในวัย ๓๐ ปี  สยามมีพระยาคนใหม่  ชื่อพระยาโบราณบุรานุรักษ์   ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา   
ล่วงมาอีก ๒ ปี   กรมขุนมรุพงศ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา  ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทรงบัญชาการแก้ไขความลำบากในมณฑลปราจีณ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ก็เลยได้กินตำแหน่งผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา แทน    (เดาว่าคือรักษาราชการแทน)
เป็นผู้รั้งอยู่ ๓ ปี ไม่ได้ขยับขึ้นเต็มตัว

จนกระทั่งอายุ ๓๕  ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนี้เต็มตัว   มีลำดับยศเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี
อยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลที่ ๕
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 30 เม.ย. 10, 08:53

เรื่องนี้ยังค้างคาใจอยู่ค่ะ
ก็ในเมื่อ เสด็จในกรมฯยังทำอะไรเจ้าคุณโบราณฯ ไม่ได้    สาเหตุที่ท่านไม่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยา ก็น่าจะมีองค์ประกอบอื่นที่สำคัญกว่านี้

ในวัย ๓๐ ปี  สยามมีพระยาคนใหม่  ชื่อพระยาโบราณบุรานุรักษ์   ปลัดเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา   
ล่วงมาอีก ๒ ปี   กรมขุนมรุพงศ์ฯ สมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา  ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯให้ย้ายไปทรงบัญชาการแก้ไขความลำบากในมณฑลปราจีณ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์ ก็เลยได้กินตำแหน่งผู้รั้งสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา แทน    (เดาว่าคือรักษาราชการแทน)
เป็นผู้รั้งอยู่ ๓ ปี ไม่ได้ขยับขึ้นเต็มตัว

จนกระทั่งอายุ ๓๕  ท่านจึงได้เลื่อนขึ้นรับตำแหน่งนี้เต็มตัว   มีลำดับยศเท่ากับมหาอำมาตย์ตรี
อยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาลที่ ๕


การที่พระยาโบราณฯ  ไม่ได้ยศถึงเจ้าพระยานั้น   มีข้อทางคิดได้อีกประการหนึ่งว่า   พระยาโบราณฯ  รับราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย    ในธรรมเนียมราชการสมัยก่อน  แต่ละหน่วยงานย่อมจะมีเสนาบดีที่รับพระราชทานยศสูงสุดเพียงคนเดียว  ข้าราชการหรือขุนนางในระดับรองๆ  ลงมาก็รับพระราชทานยศพระยา พระ หลวง ขุน ลดลั่นไปตามลำดับ   เท่าที่เคยอ่านหนังสือมา  ยังไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้าพระยาที่สังกัดอยู่ในหน่วยงานเดียวกันถึงสองคน  เพราะถ้าเกิดมีเจ้าพระยาในสังกัดหน่วยงานเดียวกันมากกว่า ๑ คนขึ้นไป   คงจะทำให้แบ่งอำนาจปกครองกันลำบาก   ในกรณีข้าราชการหัวเมือง   ถ้าไม่ใช่หัวเมืองไกลจากเมืองหลวงมากๆ  ก็ได้รับพระราชทานยศสูงที่สุดเพียงพระยาเท่านั้น  (และมีบางกรณีที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเจ้าพระยาแก่เจ้าเมืองชราภาพที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาเป็นเวลานาน  และไม่สามารถว่าราชการต่อไปได้อีก  จึงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งหรือให้กรมการเมืองนั้นๆ ได้นำความกราบบังทูลขอโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งผู้อื่นเป็นเจ้าเมืองแทน  ส่วนเจ้าเมืองเดิมนั้นได้เลื่อนไปกินตำแหน่งที่ปรึกษาราชการหัวเมืองนั้นๆ  อันเป็นตำแหน่งเกียรติยศ   ยศเจ้าพระยาที่ได้รับพระราชทานก็ถือเป็นเกียรติด้วยเหมือนกัน   ดูได้จากกรร๊เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองใหญ่ทางปักษ์ใต้)

 เจ้าคุณโบราณฯ เมื่อได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปประจำหน้าที่ที่กรุงเก่าแล้ว   ก็ไม่ได้กลับเข้ามามีตำแหน่งราชการในกระทรวงมหาดไทยส่วนกลางอีก  ผิดกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น  สุขุม) และเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)  ซึ่งแม้จะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปดำรงตำแหน่งในหัวเมืองแล้ว   ก็ยังได้กลับเข้ามารับราชการที่กระทรวงมหาดไทยส่วนกลาง  จนได้รับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงและได้รับพระราชทานยศสูงสุดเป็นที่เจ้าพระยาตามตำแหน่งเสนาบดี    และถ้าไปดูตำแหน่งเจ้าเมืองกรุงเก่าแล้ว  นับตั้งแต่ตั้งกรุงมาก็ไม่ปรากฏว่า มีเจ้าเมืองกรุงเก่าคนใดก่อนหน้าเจ้าคุณโบราณฯ ได้รับพระราชทานยศเกินพระยาเลยสักคน   ยิ่งถ้าพิจารณาจากยศเจ้าเมืองในแถบภาคกลางด้วยกันก็ไม่มีเจ้าเมืองใดกินยศเป็นเจ้าพระยาเลย   การที่ท่านเจ้าคุณไม่ได้เป็นเจ้าพระยาคงเพราะเป็นไปตามธรรมเนียมราชการ   แม้ว่าเจ้าคุณจะประกอบกิจราชการอย่างมากมายหลายประการ  เป็นที่โปรดของพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์   แต่ด้วยตำแหน่งข้าราชการหัวเมืองทำให้ท่านไม่สามารถก้าวขึ้นไปถึงยศเจ้าพระยาได้  กระนั้นเจ้าคุณโบราณก็ได้ดำรงตำแหน่งหน้าที่สูงสุดของข้าราชการหัวเมือง(ชั้นใน) คือ  ตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑล  นับว่าเป็นเกียรติยศที่สุดของท่านแล้วในชีวิตของข้าราชการหัวเมือง   และยังไม่นับรวมถึงเกียรติยศอื่นๆ ที่ท่านเจ้าคุณได้รับพระราชทานจากการใช้ความรู้ความสามารถของท่านในทางราชการ

ส่วนเรื่องในหนังสือเล่าให้ลูกฟัง   ของพระยาสัจจาภิรมย์  (สรวง  ศรีเพ็ญ)  เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า  ชีวิตเจ้าคุณโบราณฯ  ไม่ได้เป็นปกติสุขดีอย่างที่เราส่วนใหญ่เข้าใจ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 30 เม.ย. 10, 14:50

มหาอำมาตย์ตรี เป็นยศของพลเรือน เทียบได้กับพลตรีของทหาร     คนที่เป็นพลตรีเมื่ออายุ ๓๕ ก็ต้องถือว่าโดดเด่นเป็นพิเศษ  ไม่ธรรมดา

กลับมาทางประวัติ
พระยาโบราณบุรานุรักษ์รับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ได้ ๔ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๕   ตอนนั้นท่านอายุได้ ๓๙  ปี
แม้ว่าเปลี่ยนรัชกาล  ท่านก็ยังอยู่ในอยุธยาถิ่นเดิม  ไม่ได้โยกย้ายไปที่โน่นที่นี่อย่างข้าราชการมหาดไทยทั่วไป
ทั้งนี้เพราะความรู้ทางเรื่องโบราณคดีประวัติศาสตร์อยุธยาของท่าน เชี่ยวชาญหาขุนนางด้วยกันเทียบไม่ได้   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงไม่โปรดให้ย้ายไปประจำที่มณฑลอื่น   มีหลักฐานยืนยันจากพระนิพนธ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า
" ประวัติของพระยาโบราณฯ เมื่อรับราชการหัวเมือง แปลกกับเพื่อนข้าราชการในสมัยเดียวกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง   ที่รับราชการอยู่ในมณฑลเดียว  หรือถ้าว่าให้ชัดยิ่งกว่านั้น   ประจำอยู่แต่ในจังหวัดเดียว    ตั้งแต่เป็นตำแหน่งขั้นต่ำจนถึงเป็นอุปราช    อันเป็นขั้นสูงสุดในข้าราชการหัวเมือง   หาเคยย้ายถิ่นที่รับราชการเหมือนคนอื่นไม่      ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยาโบราณฯ  ทรงคุณวุฒิเฉพาะแก่มณฑลอยุธยาไม่มีใครเหมือน     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ รัชกาลจึงไม่โปรดให้ย้ายไปรับราชการที่อื่น     
คุณวุฒิของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฯ เป็น ๒ อย่างประกอบกัน  คือความสามารถใจการปกครองบ้านเมืองอย่าง ๑    ความรอบรู้โบราณคดีมณฑลอยุธยาอย่าง ๑"
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 30 เม.ย. 10, 15:58

พระยาโบราณบุรานุรักษ์รับตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ได้ ๔ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๕   ตอนนั้นท่านอายุได้ ๓๙  ปี
แม้ว่าเปลี่ยนรัชกาล  ท่านก็ยังอยู่ในอยุธยาถิ่นเดิม  ไม่ได้โยกย้ายไปที่โน่นที่นี่อย่างข้าราชการมหาดไทยทั่วไป
ทั้งนี้เพราะความรู้ทางเรื่องโบราณคดีประวัติศาสตร์อยุธยาของท่าน เชี่ยวชาญหาขุนนางด้วยกันเทียบไม่ได้   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงไม่โปรดให้ย้ายไปประจำที่มณฑลอื่น   มีหลักฐานยืนยันจากพระนิพนธ์  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ว่า


" ประวัติของพระยาโบราณฯ เมื่อรับราชการหัวเมือง แปลกกับเพื่อนข้าราชการในสมัยเดียวกันเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง   ที่รับราชการอยู่ในมณฑลเดียว  หรือถ้าว่าให้ชัดยิ่งกว่านั้น   ประจำอยู่แต่ในจังหวัดเดียว    ตั้งแต่เป็นตำแหน่งขั้นต่ำจนถึงเป็นอุปราช    อันเป็นขั้นสูงสุดในข้าราชการหัวเมือง   หาเคยย้ายถิ่นที่รับราชการเหมือนคนอื่นไม่      ที่เป็นเช่นนั้น เพราะพระยาโบราณฯ  ทรงคุณวุฒิเฉพาะแก่มณฑลอยุธยาไม่มีใครเหมือน     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๓ รัชกาลจึงไม่โปรดให้ย้ายไปรับราชการที่อื่น     คุณวุฒิของพระยาโบราณราชธานินทร์ ฯ เป็น ๒ อย่างประกอบกัน  คือความสามารถใจการปกครองบ้านเมืองอย่าง ๑    ความรอบรู้โบราณคดีมณฑลอยุธยาอย่าง ๑"

มองในทางกลับกัน   คุณวุฒิอันเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของพระยาโบราณราชธานินทร์  ก็เป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของท่านด้วยเช่นกัน   เพราะเจ้าคุณรอบรู้เฉพาะท้องถิ่นที่ท่านไปปกครอง  ซึ่งท่านไม่เคยถูกย้ายไปอยู่ต่างเมืองเลย  อยู่แต่ที่กรุงเก่า  ถ้าจะว่าไป  ดูตำแหน่งหน้าที่มั่นคงดี เพราะผู้บังคับบัญชาเห็นว่าท่านเหมาะที่จะอยู่ที่นี่เลยไม่ให้ย้ายไปไหน  แต่นั่นก็เท่ากับตัดโอกาสในการหาประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ในการทำงานของท่านให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วย    เพราะประสบการณ์จากการได้ย้ายไปประจำหัวเมืองต่างๆ หรือได้ทำราชการในตำแหน่งที่หลากหลายจะเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้ท่านได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งราชการที่สูงกว่านี้    ถ้าพูดอย่างชาวบ้านก็คือ บุญวาสนาของท่านเจ้าคุณโบราณฯ  คงถูกโฉลกกับกรุงเก่าเพียงเมืองเดียว  และบุญวาสนานั้นก็เป็นขีดคั่นให้ท่านเติบโตสูงสุดที่พระยาตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า


ความอุตสาหะของเจ้าคุณโบราณฯ  ที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่างประการหนึ่งคือ  ท่านสนใจศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาอย่างยิ่ง  ศึกษาอ่านแม้หนังสือภาษาต่างประเทศที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา   ท่านศึกษาด้วยตนเอง   จนสามารถนำบรรดาฝรั่งที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองชมโบราณสถานพร้อมทั้งบรรยายไปด้วยได้อย่างมัคคุเทศน์ชั้นหนึ่ง   นอกจากนี้  ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มทำพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุสมัยกรุงศรีอยุธยาให้ฝรั่งและคนไทยชม    และท่านก็ทำได้ดีจนเป็นที่ชื่นชมทั่วไปทีเดียว   และที่ไม่ควรลืมคือ  ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับกรุงเก่าไว้ด้วย  ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับกรุงเก่าของคนในสมัยปัจจุบัน  (ไม่เชื่อก็ลองเข้าไปดูที่บอร์ดชมรมอนุรักษ์จิตรกรรมไทยก็ได้) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 30 เม.ย. 10, 18:57

สมุหเทศาภิบาลซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยนั้น  มีที่ได้รับพระราชสัญญาบัตรเป็นเจ้าพระยาเทียบเท่าเจ้าพระยาประเทศราชเท่าที่ทราบมีอยู่ ๒ ท่านครับ คือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย  กับยาณมิตร) เป็นเจ้าพระยาสัญญาบัตรเมื่อครั้งเป็นข้าหลวงใหญ่รักษาราชการมณฑลพายัพในตอนปล่ยรัชกาลที่ ๕  เมื่อเป็นเสนาบดีมหาดไทยจึงรับพระราชทานหิรัญบัฏตามเกียรติยศเจ้าพระยาเสนาบดี  อีกท่านหนึ่งคือ เจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ (ชม  สุนทราราชุน) สมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครไชยศรี  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเมื่ออายุครบ ๖๐ ปี  จ่อจากนั้นอีกราว ๒ ปี ได้ลาออกจากราชการรับพระราชทานบำนาญ

รายพระยาโบราณราชธานินทร์นั้นแม้จะมิได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นเจ้าพระยาก็ตาม  แต่ก็ได้รับพระราชทานศักดินาถึง ๑๐,๐๐๐ ที่เรียกว่า "พระยานาหมื่น" เสมอด้วยเจ้าพระยาเสนาบดีเลยทีเดียว  การที่ได้เป็นอุปราชมณฑลอยุธยานั้นจะว่าไปก็เป็นเกียรติยศพิเศษเหมือนกัน  เพราะกรุงเก่านั้นเป็นพระนามกรมในรัชกาลที่เมื่อครั้งทรงกรม  และการที่โปรดเกล้าฯ ให้ยกตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าขึ้นเป็นชั้นอุปราช  มียศเป็นจางวางโท (เทียบเท่า นายพลโท) ก็เป็นการพระราชทานกียรติยศเหนือสมุหเทศาภิบาลทั้งปวงที่มียศเพียงนายพลตรี หรือ มหาเสวกตรี หรือจางวางตรี  และตำแหน่งอุปราชทั่วไปนั้นปกติจะมีพื้นที่ปกครองเรียกว่า "ภาค"  ซึ่งมีเขตปกครองอย่างน้อย ๒ มณฑลรวมกัน  เช่น  ภาคพายัพ  ประกอบด้วยมณฑลพายัพ  มณฑลมหาราษฎร์  ภาคตะวันตก ประกอบด้วย มณฑลนครไชยศรี มณฑลราชบุรี หรือภาคใต้ที่เรียกว่า "ปักษ์ใต้" ที่มีสมเด็จชาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ทรงเป็นอุปราช ก็ประกอบด้วย มณฑลสุราษฎร์  มณฑลนครศรีธรรมราช  มณฑลปัตตานี
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 เม.ย. 10, 19:06 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 04 พ.ค. 10, 16:54

ขอบคุณคุณ V_Mee  แวะเข้ามาทีไร ก็มีข้อมูลดีๆ หายากมาฝากกันทุกครั้งค่ะ
ป.ล. ถ้าค.ห.คุณมีหมายเหตุว่าดิฉันแก้ไข  ไม่ได้แก้ที่เนื้อหานะคะ แต่แก้ที่ตัวสะกดบางตัวที่พิมพ์ผิดเท่านั้น
***************
ประวัติของสกุล กัลยาณมิตร ก็น่าสนใจ 
*************
กลับมาที่พระยาโบราณฯอีกครั้ง
ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตั้งคณะเสือป่า    พระยาโบราณฯ ก็เป็นสมาชิกตั้งแต่แรก
เริ่มตั้งแต่เป็น พลเสือป่า    ต่อมาก็เลื่อนยศขึ้นเป็นลำดับจนเป็นนายกองใหญ่

(ยศเสือป่าเป็นยังไง เห็นจะต้องขอรายละเอียดจากคุณ V_Mee)

หน้าที่การงานในเสือป่า ก็นับว่าเจริญด้วยดี   ท่านเลื่อนตำแหน่งในคณะเสือป่า ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกอง  จนถึง
ผู้บัญชาการกองเสนารักษาดินแดนมณฑลอยุธยา   
ท่านได้เป็นราชองครักษ์ และได้รับพระราชทานเหรียญสารทูลมาลาด้วย

เหรียญสารทูลมาลา = เหรียญเสือป่า?    ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่เดาว่ารากศัพท์ สารทูล แปลว่า เสือ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 06:50

ยศเสือป่าเรียงลำดับจากต่ำสุดไปสู่สูงสุด ในช่วงแรกตั้งกองเสือป่า ดังนี้ครับ

พลเสือป่า
นายหมู่ตรี  โท  เอก นายหมู่ใหญ่
นายหมวดตรี  โท  เอก
นายกองตรี  โท  เอก  นายกองใหญ่

ยศตั้งแต่นายหมู่ใหญ่ขึ้นไปจนถึงนายกองใหญ่จัดเป็นยศชั้นสัญญาบัตร  ผู้ที่ได้รับพระราชทานยศตั้งแต่นายหมู่ใหญ่ขึ้นไปได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ถือไม้เท้าเสือป่า (เป็นไม้เท้าสีดำ  ต้นและปลายไม้เท้าเป็นโลหะสีทอง  มีปลอกอักษรพระบรมนามาภิไธย ว.ป.ร.โลหะสีทอง รัดที่ที่ต้นไม่เท้าตอนใต้ปลอกโลหะ  มีพู่ไหมทองสลับดำ) เป็นเครื่องยศแทนกระบี่ด้วย

ในระหว่างปี ๒๔๕๔ - ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระยศ นายกองใหญ่ เพียงพระองค์เดียว  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๘  เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มยศนายพลเสือป่า เป็นชั้นยศเหนือ นายกองใหญ่ อีกยศหนึ่ง  ได้พระราชทานยศนายพลเสือป่าแก่นายเสือป่าชั้นผู้ใหญ่หลายท่าน  และต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้ "ว่าที่นายพลเสือป่า" เปลี่ยนมาใช้ยศนายกองใหญ่แทน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 06 พ.ค. 10, 11:30

รอความรู้อื่นๆเกี่ยวกับเสือป่าจากคุณ V_Mee อีกค่ะ   ยิ้มกว้างๆ

ย้อนกลับมาที่พระยาโบราณฯ   การเลื่อนตำแหน่งในเสือป่า แสดงว่าท่านก็ก้าวหน้าในกิจการนี้ไม่แพ้การรับราชการ
เมื่ออายุ ๔๑   พ.ศ. ๒๔๕๕  ท่านได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเพิ่มเกียรติยศ   เปลี่ยนราชทินนามเป็น พระยาโบราณราชธานินทร์   สยามินทรภักดี  พิริยพาหะ  ถือศักดา ๑๐๐๐๐   
อายุ ๔๒   เป็นมหาอำมาตย์โท  พระยาโบราณราชธานินทร์  สูงสุดในชีวิตราชการของท่าน
ตลอดรัชกาลที่ ๖   พระยาโบราณฯก็ยังอยู่ที่อยุธยา  ทำงานทั้งด้านปกครองและด้านโบราณคดีของท่านต่อไป   

ฝีมือปกครองของพระยาโบราณฯเป็นอย่างไร    อ่านได้จากพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

"...จะกล่าวแต่โดยย่อ ว่า มณฑลอื่นทำได้อย่างไร   พระยาโบราณฯ ก็ทำได้อย่างนั้น    บางเรื่องก็ดีกว่ามณฑลอื่น     จะยกพอเป็นอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง    แรกตั้งพระราชบัญญัติลักษณเกณฑ์ทหารในพ.ศ. ๒๔๔๘   คนพากันหลบหนีเข้าบวชเป็นอันมาก     ถึงกระทรวงมหาดไทยเรียกเทศาฯ มณฑลที่ใช้พระราชบัญญัตินั้น  เข้าไปปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไร     เทศาฯบางคน เห็นว่าการหลบหนีบวชก็เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ   ควรจับเอาตัวมาฟ้องศาล เอาโทษตามกฎหมาย      แต่พระยาโบราณฯเสนอความเห็นว่าคนกำลังตื่น    ถ้าจับกุมก็จะยิ่งตื่นกันหนักขึ้น    ถ้าเห็นว่าวัดคุ้มไม่ได้  ก็คงพากันหนีเข้าป่า     เมื่อหมดเสบียงอาหารก็จะเที่ยวปล้นสดมภ์เลี้ยงชีพ   จะเลยต้องปราบโจรผู้ร้ายด้วยอีกอย่างหนึ่ง     เห็นว่าปล่อยให้บวชอยู่ในวัดดีกว่า   เหมือนกับฝากพระให้คุมไว้     เมื่อคนเหล่านั้นรู้ความตามพระราชบัญญัติ    เห็นว่าที่ต้องเป็นทหารชั่วคราว ไม่เป็นการเดือดร้อนเหลือเกิน ก็คงสึกออกมาเอง    ที่จะทนอดข้าวเย็นเห็นจะมีน้อย     กระทรวงมหาดไทยอนุมัติตามความเห็นของพระยาโบราณฯ    การเกณฑ์ทหารครั้งนั้นก็สำเร็จได้    จึงนับถือกันว่าพระยาโบราณฯอยู่ในเทศาที่มีสติปัญญาคนหนึ่ง.."
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.05 วินาที กับ 19 คำสั่ง