เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4919 ขอความรู้เกี่ยวกับกรมพระยานริศฯ
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


 เมื่อ 29 มี.ค. 10, 14:06

 เจ๋ง

หากท่านใดมีข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับนายช่างใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พระองค์นี้   กรุณาช่วยแบ่งปันความรู้หน่อยค่ะ

ดิฉันได้อ่านพระประวัติของพระองค์ท่านคร่าวๆ  รู้สึกนับถือพระอัจฉริยภาพของพระองค์มาก  อยากตามหาอ่านต่อโดยละเอียดก็ไม่ว่าจะไปหาที่ไหน

และสนใจวังท่าพระกับวังปลายเนินมาก  ทราบมาว่ามีการจัดงานรำลึกถึงพระองค์ท่านที่วังปลายเนิน   ไม่ทราบว่าจัดทุกปีหรือไม่  วันอะไร  และคนนอกสามารถ
จะเข้าร่วมงานได้หรือไม่คะ   
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 มี.ค. 10, 23:41

ดีใจที่มีคนเห็นค่ากรมพระยานริศครับ
เคยมีการพูดกันเล่นๆในวงอาหาร ว่าถ้าอะไรก็ตามที่ชื่อ 'ศิลปากร' เปลี่ยนแก่นความคิด จากยึดถือเอาหลวงวิจิตร คุณธนิต และกรมพระยาดำรงเป็นมาตรฐานมาเป็นกรมพระยานริศได้(คนเดียวก็พอ) ประเทศไทยจะสงบสุขขึ้นอีกโขเชียวครับ



ปล. แนะนำให้ลองหา บันทึกความรู้เรื่องต่างๆ 5 เล่ม
สาส์นสมเด็จ และ จดหมายเหตุระยะทางทั้ง 3 เล่มอ่านดูครับ
ลองหาจากเวบห้องสมุดมหาวิทยาลัยใหญ่ๆดูเพิ่มเติมได้ครับ
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 มี.ค. 10, 01:26

ขอบพระคุณค่ะ  ที่บอกทางให้แกะรอยต่อไปได้ถูก  ดิฉันตั้งใจไว้ว่าจะแต่งนิยายที่โยงไปพูดถึงอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านค่ะ
คงไม่ถือเป็นการบังอาจที่นักเขียนขั้นเตาะแตะคนหนึ่ง  จะคิดการใหญ่  เพราะคิดการใหญ่แต่ใฝ่ดี  ไม่ถือว่าผิด  จริงไหมคะ แลบลิ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 มี.ค. 10, 07:56

อ้างถึง
เคยมีการพูดกันเล่นๆในวงอาหาร ว่าถ้าอะไรก็ตามที่ชื่อ 'ศิลปากร' เปลี่ยนแก่นความคิด จากยึดถือเอาหลวงวิจิตร คุณธนิต และกรมพระยาดำรงเป็นมาตรฐานมาเป็นกรมพระยานริศได้(คนเดียวก็พอ) ประเทศไทยจะสงบสุขขึ้นอีกโขเชียวครับ

ถึงแม้ว่าเป็นการพูดเล่นในวงอาหาร    คนนอกอย่างดิฉันได้ยินก็รู้สึกว่าไม่สมควร
การยกย่องบุคคลหนึ่งโดยเหยียบอีกคนหนึ่งหรือหลายคนลงไป  ไม่ใช่วิสัยของปัญญาชน      โดยเฉพาะถึงขั้นว่า  "ประเทศไทยจะสงบสุข" ถ้าทำตามนี้ละก็    ฟังแล้วยิ่งรับไม่ได้
ถ้าสองคนและหนึ่งองค์ที่วงอาหารของคุณเหยียบลงไป  ก่อความเสียหายถึงขนาดนั้น   คุณก็น่าจะชี้แจงด้วยเหตุผลว่า ท่านทำอะไรลงไปบ้าง สมควรจะถูกประณาม 
คนที่เขาอยู่ในวง "ศิลปากร" จะได้มีโอกาสชี้แจงแสดงเหตุผลบ้าง  หากว่าเขาผ่านมาเห็นกระทู้นี้ 
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 มี.ค. 10, 08:31

กรมนริศนั้น พระองค์ก็ทรงมีผลงานทางการช่างมากเหลือเกิน เสียดายที่ท่านไม่มีบทบาททางการเมือง ใครต่้อใครจึงหลงลืมพระองค์ไป

แต่อีกประการหนึ่งก็คือ กรมศิลปากรดำรงอยู่ได้ และมีบทบาทการจัดการทางวัฒนธรรมในแนวที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ว่าไปยึดมั่นถือมั่นในคนใดหรือพระองค์ใด
หรือเอาอะไรเป็นมาตรฐาน

แต่ไปอยู่ที่คนส่วนหนึ่งที่ "ไม่เคยยึดถือใครเลยเป็นมาตรฐาน" ยกเว้นตัวเขาเอง

เรื่องนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตตาหรือความถือดีใดๆ แต่เป็นเรื่องน่าสงสารกว่านั้น บุคคลทั้งสามท่านที่คุณติบอออกชื่อมานั้น เขาไม่เคยพยายามเข้าไปสัมผัส หรือทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเลย

ไม่ใคร่เห็นด้วยถึงการพาดพิงทั้งสามท่าน เพราะไม่เคยเห็นใครในสมัยนี้ยกย่องท่านขึ้นมาเป็นมาตรฐานจริงๆ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 30 มี.ค. 10, 23:17

ผมคงต้องขอโทษท่านอาจารย์เทาชมพูและผู้อ่านท่านอื่นๆที่รู้สึกว่าวงอาหารของผมเหยียบลงบนปราชญ์สองท่านและเสด็จในกรมอีก 1 องค์นะครับ

โดยส่วนตัวสิ่งที่การสนทนาในวันนั้นของผมพูดถึงไม่ได้อยู่ที่คนที่ตายไปแล้ว เพราะท่านลุกขึ้นมาแก้ต่างให้คนปัจจุบันไม่ได้ แต่อยู่กับคนปัจจุบันที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ชัดก่อนนำออกมาใช้ และไม่ใช่แต่เพียงอะไรก็ได้ที่มีชื่อว่าศิลปากร แต่หมายถึงคนไทยทั่วๆไปทั้งประเทศ ที่มีทั้งกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้นำส่วนหนึ่งในสังคมกลุ่มนี้(ยกเว้นว่าเขาจะไม่อยากเป็นผู้นำนะครับ)

สำหรับผมเองปราชญ์ทั้งสามท่านรวมทั้งกรมพระยานริศก็ฝากผลงานไว้ให้เป็นครูของผมทั้งนั้นครับ เช่นเดียวกับอาจารย์ผู้ใหญ่อีกหลายท่าน ผมไม่เคยมีจุดประสงค์จะล่วงเกินตัวบุคคลแม้แต่น้อย แต่ก็คงต้องเรียนเพิ่มเติมอีกว่า ผมเชื่อว่าการเคารพครูโดยพูดตามครูอย่างมิได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก็มิใช่วิสัยของปัญญาชนเช่นกัน เพราะครูแต่ละท่านที่ทำงานทิ้งไว้ให้เราอ่านท่านก็มีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนเท่าที่เวลาของท่านจะเอื้ออำนวย องก์ความรู้เมื่อร้อยปีก่อนกับความรู้ในปัจจุบันก็แตกต่างกันมากขึ้นทุกวินาที

และถ้าใครรู้จักกับงานเขียนของปราชญ์ทั้ง 4 ท่านมากพอ ก็คงจะเห็นได้ในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าข้อความของกรมพระยานริศเป็นส่วนที่ได้รับการอ้างอิงน้อยกว่าส่วนอื่นๆอย่างที่คุณ kurukula ว่าไว้ ทั้งๆที่พระวินิจฉัยของท่านในหลายๆเรื่องยังคงไม่ล้าสมัยอยู่ในทุกวันนี้ หากสังคมไทยจะหยิบยกขึ้นมาใช้(ไม่ใช่สักแต่พูดๆไปอย่างยอพระเกียรติ) ก็จะเป็นสิ่งที่ดีขึ้นอีกมากครับ




ผมขออนุญาตถือวิสาสะยกข้อความบางส่วนจากลายพระหัตถ์ส่วนพระองค์ที่กรมพระยานริศทรงมีไปถึงหม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา ลงวันที่ 18 เมษายน 2479 ขึ้นมาสนับสนุนคำพูดของอาจารย์เทาชมพูว่า

"...เธอตัดสินฝีมือช่างพะม่ากับช่างไทยว่าไทยดีกว่านั้น เปนการตัดสินอย่างไม่เข้าใครออกใครอยู่หน่อย... ...แท้จริงจะเอาช่างต่องช่างเข้าเทียบฝีมือกันนั้นไม่ได้ ช่างไทยดีที่สุดก็มี เลวที่สุดก็มี พะม่าก็เช่นเดียวกัน แล้วจะจับคู่เข้าแข่งขันกันฉันใดเล่า..."

ถ้าลองมองย้อนมาดูสังคมไทยปัจจุบันกัน ทำไมความคิดทางศิลปศาสตร์ที่ถูกปลูกฝังไว้กับสังคมไทยตั้งแต่เป็นเยาวชนยังเห็นว่า "พระสุโขทัยนั้นงามที่สุด" หรือ "บทเห่ของเจ้าฟ้ากุ้งนั้นไพเราะที่สุด" อยู่ล่ะครับ ? แล้วถ้าเป็นไปเช่นนี้ไทยจะไม่ดีกว่าพม่าอย่างที่เสด็จท่านทรงเตือนไว้หรือครับ ?







หวังว่าอาจารย์เทาชมพูและสมาชิกท่านอื่นๆที่ได้อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจผมบ้าง เพราะผมไม่เคยมีจุดประสงค์จะเหยียบลงบนคนคนไหน แต่กำลังพูดถึงชิ้นงานที่แต่ละท่านได้ทำออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่คนไทยทุกวันนี้กำลังผลิดขึ้นอยู่โดยมีชิ้นงานของท่านเป็นพื้นฐานทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวนะครับ

ส่วนผู้อ่านท่านไหนมิได้เป็นอย่างที่ผมพูดถึงไว้โดยรวมๆ ผมเชื่อว่าแม้ท่านจะทำงานอยู่ในองค์กรที่ผมได้ออกชื่อไปแต่ความไม่เหมาะไม่ควรในคำพูดของผมก็ไม่สามารถหมายถึงท่านอยู่แล้วครับ หวังใจว่าท่านจะให้อภัยในข้อความทั้งหมดนี้นะครับ เพราะผมเชื่อว่าเมื่อท่านมีความคิดอย่างรอบคอบในการดำเนินชีวิตมาแล้วท่านก็ย่อมจะมีจิตใจที่กว้างขวางเป็นพื้นฐานครับผม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 10:35

คุณติบออาจจะต้องใช้เวลา ทบทวนความคิดของตนเองและผู้อื่นอีกหลายๆปี   แล้วจะค่อยๆเข้าใจขึ้นเอง ว่าความคิดอย่างรอบคอบในการดำเนินชีวิต มาถึงตามประสบการณ์เมื่อใด   คุณก็ย่อมจะมีจิตใจที่กว้างขวางเป็นพื้นฐานขึ้นมาเอง
เช่นอย่าไปด่วนตัดสินว่า   การยึดสมเด็จกรมฯนริศขึ้นมาแทนคุณหลวงวิจิตร คุณธนิต และสมเด็จกรมฯดำรง แล้วจะประเทศชาติจะสงบสุขกว่า
ก็ตัวอย่างที่คุณยกมาจากสมเด็จกรมฯนริศ ท่านเองก็ยังไม่เหมารวมเลยว่า  งานช่างไทยดีกว่าพม่า หรือพม่าดีกว่าไทย   ท่านไม่อยากให้เปรียบเทียบ   
อ้างถึง
"...เธอตัดสินฝีมือช่างพะม่ากับช่างไทยว่าไทยดีกว่านั้น เปนการตัดสินอย่างไม่เข้าใครออกใครอยู่หน่อย... ...แท้จริงจะเอาช่างต่อช่างเข้าเทียบฝีมือกันนั้นไม่ได้ ช่างไทยดีที่สุดก็มี เลวที่สุดก็มี พะม่าก็เช่นเดียวกัน แล้วจะจับคู่เข้าแข่งขันกันฉันใดเล่า..."
ฉันใดก็ฉันนั้น     นักปราชญ์ทั้ง ๒ ท่านและ ๒ องค์ที่คุณยกมาเปรียบว่าสามสู้หนึ่งไม่ได้  ก็คงมีบางเรื่องที่ใครคนหนึ่งมีผลงานดีกว่าอีกคน  และด้อยกว่าอีกคนก็ย่อมจะมี
เรื่องไหนสมเด็จกรมฯนริศท่านเลิศกว่าใครเพื่อน ก็ยกขึ้นมาให้เห็นกัน  อย่างนี้จะเป็นการเชิดชูท่านดีกว่าไปเปรียบเทียบเหวี่ยงแห
ดิฉันก็อยากจะอ่านเหมือนกัน

ส่วนเรื่องพระพุทธรูปสุโขทัยหรือพระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งที่คุณยกมา     ในส่วนตัวดิฉันก็เห็นตามนั้น  จะเอาไปซักถามที่ไหนดิฉันก็ยังเห็นพระพุทธรูปสุโขทัยงามกว่ายุคอื่นจริงๆ   พระนิพนธ์เจ้าฟ้ากุ้งดิฉันก็ว่าไพเราะกว่ากาพย์เห่เรือของทุกยุค   
สมมุติว่ามีคนจำนวนมากในประเทศเห็นอย่างดิฉัน   มากกว่าคนที่เห็นต่างจากดิฉัน  แล้วจะไม่ให้แสดงความคิดแบบนี้ออกมาหรือ
หรือต่อให้ใจคิดยังไงก็ต้องยืนยันว่า "เปรียบเทียบกันไม่ได้"  อยู่ดี     งั้นศิลปะมันก็เท่ากันไปหมดน่ะซีคะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 01:45

กราบขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูครับ ที่ยังเห็นว่าโรคคิดไม่รอบคอบของผมใช้เวลาพิจารณาอีกหลายปีอาจจะมีทางรักษาหาย


ขออนุญาตเรียนชี้แจง 2 เรื่องครับ (ที่คิดว่าผู้อ่านอาจจะรำคาญที่จะรับฟัง)
เนื่องจากสำหรับผม งานวิชาการกับการเสพความงามทางศิลปะเป็นคนละเรื่องกัน



ถ้าความคิดตามระเบียบวิธีวิจัย คือการตั้งสมมุติฐาน รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และอภิปรายผลตามลำดับ
นักวิชาการแต่ละท่านก็ย่อมมีบทวิเคราะห์ที่มีอคติต่อชิ้นงานไม่เท่ากันครับ
และเมื่อลองเปรียบเทียบดูแล้วในแต่ละเรื่องแต่ละบทแต่ละตอน
ก็อาจจะทราบได้ว่าท่านไหนมีความคิดที่รอบคอบมากกว่าท่านไหนไม่ยากนัก

ที่ผ่านมากรมพระยานริศเป็นปราชญ์ที่ถูกสังคมไทย(ส่วนใหญ่)ละเลยครับ
งานเขียนและคำสอนที่ผ่านมาจากสถานศึกษาสองสามแห่งที่มีประวัติขึ้นกับกรมศิลปากรเป็นหลัก
มักจะยึดเอาแนวคิดตามทางเดินที่อดีตอธิบดีธนิต และหลวงวิจิตรวาทการปูพื้นไว้ให้เป็นใหญ่
(ลองคิดดูง่ายๆว่าที่กรมศิลปากรถูกตั้งขึ้นมาก็เนื่องจากรัฐบาลยุบกรมมหรสพหลวงทิ้งไปนี่ครับ)
ส่วนแบบเรียนประวัติศาสตร์จากกระทรวงศึกษาธิการและสังคมไทยก็จะไปตกอยู่กับกรมพระยาดำรงเป็นหลักเช่นกัน

และหลายเรื่องก็ไม่เป็นจริงไปในปัจจุบันแล้ว เช่น เรื่องที่ว่าพระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์องค์แรกของประเทศไทย
เพราะอย่างน้อยที่สุด แค่ย้อนกลับไปเพียงยุคปลายกรุงศรีอยุธยาพระปฐมเจดีย์ก็ไม่ได้ชื่อพระปฐมเจดีย์เสียแล้วครับ




ในเมื่อแก่นทางความคิดเดิมมีวี่แววว่าจะง่อนแง่นในการดำเนินต่อไปในอนาคต
เราก็อาจจะต้องหาแก่นทางความคิดอื่นมาปรับใช้เพื่อให้แก่นเดิมยังดำเนินต่อไปได้
ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่าในรอบร้อยปีที่ผ่านมาจะมีปราชญ์องค์ไหนหรือท่านไหนทิ้งบทวิเคราะห์ที่มีค่าไว้ให้เรามากเท่าเจ้าฟ้านริศครับ










เรื่องที่สอง การเสพความงามทางศิลปะเป็นเรื่องของอัตตวิสัยครับ
ความประทับใจในชิ้นงานไหนๆก็เป็นความประทับใจส่วนบุคคล ไม่สามารถนำของใครมาเป็นตัวแทนกันได้

ศิลปะถูกสร้างขึ้นจากการแสดงออกของมนุษย์ โดยมีข้อจำกัดหลวมๆจากบริบททางสังคม
ศิลปะในสังคมแต่ละยุคสมัยก็มีหน้าตาแตกต่างกันไปตามภาวะแวดล้อมทางสังคมอื่นๆ
แต่ถ้ามองลงไปถึงเนื้องานแล้ว ไม้แกะสลักก็ย่อมเป็นไม้แกะสลัก หรือบทกวีก็ยังเป็นบทกวีครับ
จะแตกต่างชั่วดีก็อยู่ที่ความคิดที่รอบคอบ และความตั้งใจในการทำงานเป็นหลัก
(ดังที่กรมพระยานริศท่านว่าช่างที่ชั่วที่สุดก็มี ดีที่สุดก็มีครับ)

ในเมื่องานที่ดีที่สุดจากต่างยุคสมัยกันมีรูปลักษณ์ไม่เหมือนกัน เพราะสภาพสังคมนั้นแตกต่างกัน
ก็คงไม่สามารถจะไปตัดสินได้นี่ครับว่างานชิ้นไหนดีกว่ากันครับ
การจะลุกขึ้นเอาเสียงส่วนมากมาเป็นตัวแทนของทั้งหมด
ก็ย่อมจะเท่ากับเป็นการปฏิเสธว่าเสียงส่วนน้อยที่เหลือมีตัวตนอยู่นะครับ

โดยส่วนตัวผมมองว่าการทำเช่นนี้ก็ย่อมจะเท่ากับการถือเอาระบบเป็นใหญ่ แล้วลุกขึ้นมาผูกขาดทางความคิด
และแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นล้มแหลวนับแต่ขั้นพื้นฐานที่สุด คือการสร้างคนในระบบการศึกษาครับ
เพราะแทนที่ผู้เข้ามาพึ่งระบบจะได้วิธีคิดและการทำความเข้าใจในสิ่งรอบตัว เขาก็จะได้โฆษณาชวนเชื่อจากระบบไปแทน

แต่ถ้าจะปรับคำพูดเสียใหม่เป็นการอธิบายว่าสำหรับผู้พูดนั้นชื่นชมศิลปินคนไหนมากที่สุด เพราะเหตุใด
ผมก็ยังเห็นว่าเหมาะและควรครับ เพราะเป็นการอธิบายความรู้สึกของตนเองเช่นที่นักเสพศิลปะที่ดีพึงกระทำ
โดยไม่ไปถือครองเอาความคิดของคนส่วนใหญ่เป็นตัวแทนคนทั้งหมดครับ
เพราะถ้าทำเช่นนั้นไปแล้วก็เท่ากับว่าระบบได้สร้างคนชายขอบขึ้นด้วยความคับแคบของระบบเองครับ
จะดีกว่าไหมครับถ้าระบบจะมีพื้นที่ไว้ให้กับความแตกต่างทางสังคมด้วย




ลองคิดดูเล่นๆว่า ถ้าเราจะถือเอาเสียงส่วนมากเป็นตัวแทนของสังคมแล้ว ละครโทรทัศน์ก็คงจะเหลือแต่น้ำเน่า
และข่าวก็น่าจะมีแต่รายการนินทาดาราหรือคนดังในสังคม แทนที่ข่าวอื่นๆ เพราะมีเรตติ้งคนดูที่สูงที่สุดมิใช่หรือครับ




ขอบพระคุณสำหรับพื้นที่ที่เรือนไทยยังเปิดไว้ให้กับคำชี้แจงของคนชายขอบเช่นผม ครับผม
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 08:55

ผมคิดว่าการตัดสินว่าศิลปะชิ้นไหนงามที่สุด ก็ไม่ได้เป็นผลงานของกระทรวงศึกษาเสมอไปนะครับ ถ้าเอาตัวเองเป็นที่เปรียบ ผมเองก็ไม่เคยถูกสอนมาว่าศิลปะสุโขทัยงามที่สุด ตรงกันข้าม ตอนที่ผมเรียนศิลปะในชั้นมัธยมต้น ครูท่านกลับยกย่องพระอวโลกิเตศวรที่ไชยาด้วยซ้ำไป

ส่วนบทกวีนั้น ผมไม่เคยเรียนเจ้าฟ้ากุ้งเลยครับ  (หรืออาจจะหลงลืมไปตามกาลเวลา) แต่จำได้ว่าช่วงเวลาที่เรียนภาษาไทย อาจารย์ภาษาไทยของผมกลับยกย่องลิลิตเตลงพ่าย

และผมเชื่อว่าเราเรีัยนภาษาไทยในหลักสูตรมาสิบกว่าปี มีบทกวีหลากหลายในอ่าน ไม่มีใครบังคับได้แน่ๆว่าจะต้องชอบเจ้าฟ้ากุ้ง เวลาสิบกว่าปีมันมากเหลือเกิน ฟุ่มเฟือยเกินกว่าการจะสอนแบบยัดเยียดครับ

คุณติบอบอกว่าตัวเองเป็นคนชายขอบ อาจจะทางความคิดหรือสัมปชัญญะก็แล้วแต่ หมายความว่าคุณเลือกจุดยืนของตัวเองแล้ว ก็เป็นเรื่องที่คุณควรจะรักษาตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองไว้ อย่าให้ใครมาเป็นตัวเราได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 09:50

ทฤษฎีปรัชญาที่ว่าความงามเป็นอัตวิสัย หรือภววิสัย ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ตั้งแต่เพลโตมาจนถึงปัจจุบัน   เช่นเดียวกับคำถามว่า สัจธรรมเป็นอัตวิสัยหรือภววิสัย
ส่วนในสาขาวิจิตรศิลป์ ซึ่งรวมวรรณคดีด้วย     มีการจัดระดับงานชั้นเยี่ยมและงานชั้นรอง   มาแต่ไหนแต่ไร
ถ้าไม่เป็นอย่างนี้   การประกวดงานศิลปกรรมคงเกิดไม่ได้     
ศิลปินที่ได้รางวัล ก็จะไม่มี    มติของกรรมการซึ่งถือเสียงส่วนใหญ่เป็นหลัก ก็จะใช้ไม่ได้ เพราะเท่ากับปฏิเสธเสียงกรรมการส่วนน้อย

คุณติบอต้องแยกให้ออกระหว่างการประทับใจเป็นส่วนบุคคล กับการตัดสินโดยเสียงส่วนใหญ่
ถ้าคุณจะชื่นชมงานสลักไม้แถวถนนประชาราษฎร์ ว่าสวยสุดๆ ก็ไม่มีใครค้านความชื่นชมส่วนตัวของคุณได้
แต่ถึงขั้นบอกว่า   ไม่อาจยกย่องตู้พระธรรมวัดเซิงหวายว่าดีกว่า   เอามาเปรียบไม่ได้  งานศิลปะแต่ละชิ้นก็ดีกันคนละอย่าง

อย่างนี้ดิฉันว่าไม่ถูกแล้วค่ะ

ย้อนกลับมาเรื่องสมเด็จกรมพระยานริศฯ   ไหนๆคุณก็ถือหลักว่า จะเสพความยอดเยี่ยมในพระอัจฉริยภาพของท่าน
ก็ควรเจริญรอยตามหลักการของสมเด็จฯ  ที่ว่าศิลปะไทยกับพม่า ไม่ควรเอามาเปรียบว่าใครดีกว่ากัน
คืออย่าเอาท่านไปเปรียบกับนักปราชญ์อื่น ว่าใครดีกว่าใคร  ใครผิดที่ยกองค์ไหน ท่านไหนขึ้นมาเป็นแบบเรียน มากกว่าท่าน
เสียเวลาเปล่า   จะอ้างคนชายขอบหรืออะไรก็อยู่นอกเส้นทางมากไป
ถ้าสนใจก็ทำกระทู้นี้ให้เป็นตัวอย่างผลงานดีๆของท่าน  อธิบายมาให้คนอื่นๆเขาได้รู้บ้างดีกว่า   บอกแต่สั้นๆว่าท่านเก่ง คนนอกเขาก็ไม่เข้าใจมากกว่านี้หรอกค่ะ
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 06:42

ขอบพระคุณสำหรับคำตอบครับอาจารย์ มีเรื่องต้องเรียนเพิ่มเติมสำหรับคนอ่านกระทู้สองสามเรื่องครับ



เรื่องแรกสำหรับผม ผมเรียนไปแล้วในความคิดเห็นก่อน
ว่าชิ้นงานประกอบด้วยความสามารถในเชิงช่างของผู้ประดิษฐ์ชิ้นงาน
กับความประทับใจส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกัน

ถ้าจะเปรียบเทียบชิ้นงาน สำหรับประการแรกก็ไม่ยาก แต่ประการหลังคงเป็นไปไม่ได้
การประกวดงานศิลปกรรมประเภทไหนๆก็คงตัดสินไม่ได้อีกเช่นกันครับ
เพราะถ้าไม่วัดกันแบบนี้แล้วกรรมการหลักสูตรจะยอมให้การเรียนการสอนศิลปะหลักสูตรผ่านได้หรือครับ ?

ดังนั้นศิลปะฝีมือเอกๆจะเอาไปเปรียบเทียบกับฝีมืออ่อนๆก็ใช่ที่ เพราะอยู่กันคนละชั้น
เป็นต้นว่าเพลงยาวของเจ้าฟ้ากุ้งก็คงจะเอาไปเปรียบกับกลอนฝีมืออ่อนๆที่ไหนไม่ได้
เพราะฝีมืองานห่างชั้นจนเกินไป แต่หากจะเปรียบเทียบกับอุรรุทร้อยเรื่องของคุณสุวรรณ
สำหรับผม(ซึ่งไม่เคยคิดว่าท่านเสียสติ) ผมเห็นว่ามีฝีมือไม่ย่อหย่อนกว่ากัน
ถึงกระนั้นก็ยังเปรียบเทียบความงามกันไม่ได้ เพราะกลอนจีบสาวเพ้อๆ
กับกลอนนินทานางในเล่นเพื่อน ที่แฝงมาในรูปของกลอนบทละครตลกๆ
ก็ยังมีจุดประสงค์ในการแต่งคนละอย่างกันครับ




สำหรับงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยานริศ ถ้าจะพูดถึง คงต้องเริ่มต้นที่การเมืองไทยในยุคที่ผ่านมา
ตั้งแต่หลังยุคล่าอาณานิคมจนราวๆ พ.ศ. 2500 ต้นๆ การแทรกแทรงทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลาครับ
เมื่อปราชญ์แต่ละท่านจะผลิตชิ้นงานขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ออกไป ท่านก็จะต้องระวังตัวกันแจ

เป็นต้นว่า ถ้าต้องการให้นครปฐมเก่าถึงสมัยพระเจ้าอโศกจริง
กรมพระยาดำรงอาจจะต้องปฏิเสธพงศาวดารบางฉบับของภาคเหนือ
ที่อ้างถึงพระเจ้ากาฬวรรณดิศราชสร้างเมืองโบราณนครปฐมหลัง พ.ศ. 1000 มาแล้ว เป็นต้น

ถ้าพูดกันแบบนี้ ฝีมืองานของกรมพระยานริศก็อยู่คนละชั้นกับปราชญ์ท่านอื่นๆครับ
เพราะท่านไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อนำมาตีพิมพ์ ในขณะที่ผลงานของอีก 3 ท่านเขียนเพื่อตีพิมพ์เป็นหลัก
(อาจจะเทียบกับกรมพระยาดำรงบ้าง ในสาส์นสมเด็จ เพราะท่านเขียนจดหมายคุยกัน)
แต่คนในรุ่นหลัง พ.ศ. 2500 ลงมาโชคดีมากนะครับ ที่ลูกหลานของท่านนำงานเขียนของท่านออกมาตีพิมพ์

เพราะฉะนั้น สำหรับผมถ้าจะไม่เปรียบเทียบฝีมืองานระหว่างปราชญ์ทั้ง 3 ท่าน ก็ไม่ใช่เพราะความประทับใจครับ
แต่เป็นเพราะว่าฝีมืองานและกรอบทางสังคมที่ล้อมตัวท่านไว้ในงานแต่ละชิ้นกว้าง-แคบไม่เท่ากัน
แล้วถ้าเป็นอย่างนี้.... เมื่อไหร่สังคมไทยยุคที่ปฏิเสธว่าเราไม่มีกรอบทางสังคมมาบังคับการผลิตงาน
จะลุกขึ้นหยิบงานเขียนฝีมือเอกๆขึ้นอ่านซะทีล่ะครับ ?





เรื่องสุดท้าย ผมเห็นว่ากระทู้นี้มีคนอ่านค่อนข้างมาก
(แต่ประเด็นอาจจะร้อนไปหน่อย เลยไม่ค่อยมีคนเข้ามาตอบกัน)
ขออนุญาตเรียนว่างานเขียนก็เหมือนงานศิลปะประเภทหนึ่ง
ผมจึงขออนุญาตไม่หยิบเอางานของเจ้าฟ้านริศขึ้นมาเล่าใหม่นะครับ
เพราะต้องการให้ผู้สนใจได้เสพอรรถรสของชิ้นงานด้วยตัวของท่านเองจะดีกว่า

แต่หากผู้อ่านท่านไหนมีเรื่องที่สนใจอยู่แล้วเป็นพิเศษ เช่น
ดนตรี ละคร สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม งานพระบรมศพ หรือ งานประณีตศิลป์อื่นๆ
และนึกไม่ออกว่าควรจะอ่านงานเขียนของท่านเล่มไหนส่วนไหน
(เพราะทั้งหมดที่ตีพิมพ์ออกมา ถ้าไม่ใช่จดหมายถาม-ตอบ ก็จะเป็นบันทึกส่วนพระองค์)

ผมอยากขอเรียนว่าท่านสามารถเข้ามาถามคำถามทิ้งเอาไว้ได้ครับ
เนื่องจากสมาชิกเรือนไทยที่เป็นนักอ่านมีอยู่หลายท่านครับ
และจากกระทู้ที่ท่านเขียนทิ้งไว้ให้พวกเราได้อ่านกัน
ผมอ่านแล้วก็เชื่อว่าแต่ละท่านก็ไม่ใช่คนใจคอคับแคบแต่อย่างใด
เชื่อว่าท่านจะได้คำแนะนำว่าควรอ่านในส่วนไหนในเวลาไม่นานนัก

เพราะอย่างน้อยผมก็เป็นคนหนึ่งที่พยายามจะหาคำตอบให้ท่านเท่าที่ทำได้ (ถ้านึกออก)
แต่ถ้านึกไม่ออกผมก็หวังแต่ว่าจะมีคนอื่นๆพอจะนึกให้ท่านได้บ้างครับ





ขอบพระคุณครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 20 คำสั่ง