เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37033 ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:01

       เป็นไปได้หรือที่มนุษย์ธรรมดาไม่ว่าจะเก่งกาจปานไหนจะเอาเท้าเขียนบทกวีได้ยาวขนาดนี้แม้แต่มือก็ยังแสนยาก ทั้งเนื้อคำเนื้อความของโคลงก็ดูจะใหม่เกินสมัยศรีปราชญ์ไปสักหน่อยม่งที่น่าสืบสาวต่อไปอีกก็คือ “สระล้างดาบ” ที่ตั้งเป็นอนุสรณ์แก่ศรีปราชญ์ตั้งขึ้นอย่างไรและเมื่อไร หนังสือนครศรีธรรมราชของเรา รวบรวมโดย 5 อาจารย์วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราชพูดถึงสระล้างดาบว่า

        “แต่เดิมเชื่อกันว่าสระศรีปราชญ์เป็นสระใหญ่ยาวมาก มีอาณาบริเวณตั้งแต่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจนถึงหลังโรงเรียนอนุบาลนครศรีธรรมราชทุกวันนี้ ต่อมาเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราชถมสระดังกล่าวเพื่อทำเป็นถนน จึงเหลือสระล้างดาบศรีปราชญ์บริเวณหลังโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

        แต่นักประวัติศาสตร์ชาวนครฯ บางคนแย้งว่าว่าสระบริเวณหลังโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชนั้นไม่ใช่สระล้างดาบศรีปราชญ์ที่แท้จริงเป็นสระพึ่งขุดใหม่เมื่อ พ.ศ.2448 ทั้งนี้เพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกลาเจ้าอยู่หัว ส่วนสระล้างดาบศรีปราชญ์ที่แท้จริงอยู่หลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือหลังศาลาโดทกเป็นสระใหญ่มาก สระดังกล่าวถูกถมเพื่อสร้างที่ทำการภาค 8 และบ้านพักข้าหลวงภาค 8 นครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ.2486”

        จะเห็นได้ว่าแม้แต่คนนครศรีธรรมราชเจ้าของท้องถิ่นยังขัดแย้งกันเอง พร้อมกันปล่อยให้โบราณสถานที่ควรมีค่ายิ่งถูกทำลายคุณค่าลง ข้อที่น่าจะมองเห็นได้อีกข้อคือสระที่ชื่อล้างดาบอาจมีจริงแต่ไม่ใช่สระล้างดาบที่ชื่อศรีปราชญ์สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสับสนของเรื่องศรีปราชญ์ ซึ่งจะกล่าวได้ต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:03

       
กำสรวล (ศรีปราชญ์) กุญแจอันลี้ลับ

            โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) เริ่มต้นด้วยร่ายดั้น และตามด้วยโคลงดั้นบาทกุญชร (ที่ไม่ค่อยจะเคร่งฉันทลักษณ์นัก) ประมาณ 130 บทใน 130 บทนี้ แยกเป็นโคลงที่แต่งซ่อมแซมเกือบ 1 ใน 4 เพราะจากสำนวนที่ไม่ปะติดปะต่อ ทั้งข้อความและสัมผัสไม่เชื่อมรับกัน บางฉบับก็เอาตอนท้ายมาไว้ตอนต้น เอาต้นไว้ท้าย บางทีก็มีโคลงแทรกแปลกแยกไปเส้นทางจึงดูวกวนไปมา

            ถ้าจะจับเอาเส้นทางของศรีปราชญ์จากอยุธยาไปนครศรีธรรมราช ก็ดูจะไม่ได้เค้าเงื่อนเท่าใดนัก แต่มีสาเหตุที่น่าศึกษาคือ ในสมัยพระชัยราชา (2077-2089) มีการขุดคลองลัดจากอยุธยามาคลองบางกอกน้อย เหตุใดกำสรวล (ศรีปราชญ์) จึงไม่ใช้เส้นทางนี้ตัดลัดมาธนบุรี กลับใช้เส้นทางเก่าจากแม่น้ำบางกระจะไปเรื่อยจึงเป็นข้อสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ว่าศรีปราชญ์หรือผู้แต่งกำสรวล เรื่องนี้ต้องพ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และต้องก่อนสมัยพระชัยราชาเป็นแน่

            สิ่งที่แน่ชัดก็คือ ถ้อยคำสำนวนและข้อความในบทกวีนี้เอง ทำให้เราจะเข้าใจหรือเป็นข้อสังเกตได้อีกทางหนึ่ง ขอให้เราพิจารณาข้อต่อไปนี้

            ก. ภาษาและรูปแบบ

            โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) ตามความเห็นของผู้เขียนและผู้วิเคราะห์ยกให้โคลงกำสรวล (ศรีปราชญ์) มีความเก่าแก่ทางภาษารองจากวรรณคดีเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง ซึ่งเป็นตำนานเจืองที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวล้านนา ข่า ล้าน ช้าง ลาว และอีสาน

            กวีศรีสยาม  กล่าวไว้ในโคลงห้า...มรดกทางวรรณคดีไทยว่าท้าวฮุ่งเป็นหนังสือแต่งเป็นโคลงดั้นแบบล้านช้างราวห้าพันบาท สำนวนที่ใช้เป็นภาษารุ่น พ.ศ.1800 – 1900 เป็นภาษาลาวระคนกับภาษาไตลื้อ แต่พระมหาสิลา วีรวงศ์ผู้ชำระกล่าวว่า ประพันธ์ด้วยโคลงดั้นวิวิธมาลี และโคลงห้าดั้น และจารุบุตร เรืองสุวรรณ กล่าวไว้ใน “ของดีอีสาน” หน้า 89-90 “หนังสือเจืองนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชีวประวัติ” มีผู้สันนิษฐานว่า
            “นักปราชญ์ชาวหลวงพระบางเป็นผู้แต่งคำกลอนมีความไพเราะไม่ด้อยกว่าสังขศิลป์ไชยที่นับว่ามีชื่อเสียงที่สุด จุดเด่นของวรรณคดีเองขุนเจืองคือ ท่านผู้ประพันธ์ได้วางระเบียบ กลอนอ่านวิชชุมาลีดั้นภาษาอีสานไว้อย่างดีเลิศถูกต้องตามแบบฉบับโดยแท้จริง แถมยังมีโคลงห้าดั้นและโคลงมหาสินธุมาลีอันเป็นภาษาที่ใช้อ่านทำนองเสนาะได้ด้วย ซึ่งจะหาได้ยากจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ภาษาที่ใช้ก็ล้วนแต่เป็นภาษาโบราณชั้นมาตรฐาน มีโวหารแปลกๆ ลึกซึ้งกินใจน่าเรียนรู้มาก”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:05

        ที่ยกมาให้อ่านนั้น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าประเด็นของโคลงเรื่องท้าวฮุ่ง เป็นเรื่องเก่าจริงๆ ซึ่งตรงกันตามความคิดของนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญแต่ที่ไม่ตรงก็คือประเด็นในเรื่องรูปแบบคำประพันธ์
        ทัศนะของผู้วิเคราะห์ ท้าวฮุ่ง แต่งโดยคำประพันธ์โคลงที่มีรูปลักษณะของโคลงดั้นบาทกุญชร (คือคำสุดท้ายของบาทที่ 3 จะสัมผัสกับคำใดคำหนึ่งของแถวแรก ซึ่งเป็นลักษณะโคลงโบราณที่ยังไม่กำหนดฉันทลักษณ์ตายตัว) ในแบบของโคลงลาวผสม (มีสร้อยอยู่ข้างหน้าวรรคใดวรรคหนึ่งก็ได้) ดังตัวอย่าง

            ฮว่านฮว่านฟ้า                           หัวปี
        ลมพานไบ                                   กิ่งค้อม
        จักหนีกอย                                   ไจฮ่อ
       ไจ ฮ่วมฮ้อม                                  ระวังแหนฯ

          หน้าล้านท่อ                               พายหลัง
   แสนนางปะ                                       ไป่ไว้
    คำฮายัง                                         ดั่งเก่า
 จอมไท้หย่า                                        สนเท

(จากท้าวฮุ่งหรือท้าวเจืองตอน 1 พิมพ์โดยภาควิชาภาษาตะวันออกคณะโบราณคดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ห.38)

       โคลงแบบท้าวฮุ่งนี่เองต่อมากลายเป็นต้นเงื่อนของโคลงห้าในลิลิตโองแช่งน้ำและกำสรวล (ศรีปราชญ์) ส่วนถ้อยคำของกำสรวล (ศรีปราชญ์) นั้นมีความเก่าเทียบได้กับลิลิตโองการแช่งน้ำ (ช่วงที่ไม่ถูกซ่อมแซมโดย ร.4 แห่งรัตนโกสินทร์) คำบางคำเป็นคำตายไปแล้ว

        อย่างไรก็ตามสรุปว่ากำสรวล (ศรีปราชญ์) มีระยะเวลาแต่งหลังลิลิตโองการแช่งน้ำ และน่าจะก่อนหรือไล่เลี่ยกับลิลิตยวนพ่าย (สังเกตได้จากลิลิตยวนพ่ายเริ่มมีรูปแบบของโคลงดั้นบาทกุญชรรัดกุมมากทุกบท ถ้อยคำภาษาก็ปะปนด้วยบาลี-สันกฤตมากมายกว่า)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:09

       ข. ท่วงทีและลักษณะบางประการ

        ผู้แต่งกำสรวล (ศรีปราชญ์) ได้แสดงท่วงทีบ่งบอกไว้หลายตอนว่า ไม่ใช่คนธรรมดาอย่างศรีปราชญ์ตามตำนานเลย แต่เป็นผู้อยู่ในราชสำนักและตำแหน่งศักดินาก็สูงส่งดังเช่น
             บาศรีจุฬาลักษณ์                    เสาวภาค กูเออย
       เรียมเรียกฝูงเข้าใกล้                       ส่งงเทา

     หรือ

             สรเหนาะนิราษน้อง                  ลงเรือ
สาวส่งงเลวงเต็ม                                 ฝ่งงเฝ้า

     หรือ

            เยี่ยมเศศพี้                           บางพลู
ถนัดเหมือนพลูนางเสวอย                       พี่ดิ้น
เรียกรักษ์เมื่อไขดู                                กระเหนยด นางนา
รศรำเพอยต้องมลิ้น                              ล่นนใจลานใจ

     หรือ

บ่ได้กล้ำเข้าแต่                    วันมา

กลืนแต่ยาคูกวน                            กึ่งช้อน

         เป็นไปไม่ได้ที่ศรีปราชญ์จะเรียกผู้หญิงหรือมีสาวๆ มาส่งเต็มฝั่ง เวลาคิดถึงหญิงที่รักก็ไขดูกล่องหมากพลูที่นางฝากมา หรือกินยาคู (แป้งละลายน้ำผสมน้ำตาลแล้วหุง หรือกวนให้สุก) ซึ่งเป็นของที่ต้องใช้ในราชพิธีสำหรับกษัตริย์บางอย่างเช่น พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น ลักษณะนี้จะพบได้บ่อยครั้งในกำสรวล (ศรีปราชญ์)

         ส่วนลีลาในโคลงกำสรวลฯ นั้น แม้จะแต่งด้วยโคลงดั้นซึ่งมีคำน้อย ลักษณะการแต่งแบบโคลงดั้นนั้นในโคลงหนึ่งๆ มีความเข้มข้น เนื้อความแน่นกระชับ มีลีลารัดกุม ค่อนข้างจะห้วนไม่เยิ่นเย้อ แต่เสียงของคำและลีลาจังหวะอ่อนหวาน อ้อยสร้อย และนุ่มนวลมากกว่าเสียงและลีลาจังหวะของอนิรุทธคำฉันท์ ขอยกตัวอย่างแสดงให้เห็นจริงดังนี้ เช่น

                     เยียมาสํดอกแห้ง            ฤทย ชื่นแฮ
         เครงย่อมถงวลถงํอก                    ค่ำเช้า
         เยียมาเยียไกลกลาย                    บางกรูจ
         ถนัดกรูจเจ้าสระเกล้า                   กลิ่นขจรฯ

              รศใดด้าวหน้าดุจ                   รศผํ แม่เลย
        ผมเทพสาวอับษร                        รูปแพ้
        พระเออยเมื่อสองสํ                      สุเกษ นางนา
        บนขอดกลางเกล้าแก้                   จำเลอยฯ

            ลนนลุงสองฟากฟุ้ง                  ผกาสลา
       โดรละอองอบตาง                         กลิ่นเกล้า
       รอยมือแม่ธารทา                          หอมหื่น ยงงเลอย
       จนนทนกระแจะรศเร้า                     รวจขจรฯ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:12

        ตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ผู้แต่งโคลงกำสรวลฯ เป็นคนละคนกับผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์และโคลงเบ็ดเตล็ดในตำนานศรีปราชญ์และในโคลงกวีโบราณผู้แต่งโคลงกำสรวลฯ เป็นคนละคนกับศรีปราชญ์ในตำนานศรีปราชญ์
                 
            ตำนานศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษณ์)(ม.จ.จันทร์ รัชนี, 2511 : 22-71) กล่าวว่า ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระโหราธิบดีผู้แต่งเสือโคคำฉันท์และสมุทรโฆษคำฉันท์ศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ขึ้นเพื่อแสดงว่ามีฝีมือ ต่อมามีเรื่องกับพระสนมจนถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ไปแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีส่งให้ภรรยาเจ้าเมือง เจ้าเมืองนครฯ จึงให้ประหารศรีปราชญ์เสีย ศรีปราชญ์แต่งโคลงแช่งไว้บนทราย ว่า

                     ธรณีภพหนี้                    ทิพญาณ หนึ่งรา
             เราก็ลูกอาจารย์                       หนึ่งบ้าง
            เราผิดท่านประหาร                     เราชอบ
            เราบ่ผิดท่านมล้าง                     ดาบนี้คืนสนอง

            ต่อมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงศรีอยุธยาเรียกหาตัวศรีปราชญ์ ครั้นทรงทราบว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชได้ลุอำนาจประหารศรีปราชญ์เสียแล้ว จึงกริ้วและให้ประหารเจ้าเมืองนครฯ ให้ตายตามสมดังคำในคำแช่งของศรีปราชญ์ ส่วนโคลงกำสรวลฯ นั้น ศรีปราชญ์แต่งขณะถูกเนรเทศ ยังไม่ทันจบก็รีบฝากมาให้หญิงคนรัก ตอนท้ายจึงขาดไป

            ตามประวัติของศรีปราชญ์ เชื่อว่าศรีปราชญ์แต่งโคลงกำสรวลฯ ในขณะถูกนำเนรเทศออกจากกรุงศรีอยุธยาไปอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนและหญิงที่รักของตนโดยไม่มีหวังจะได้กลับมาอีก แต่ปรากฏว่าผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ ได้พรรณนาว่า “ปางจากอยุธยานาน จึงเต้า” หมายถึงว่าการเดินทางครั้งนี้แม้จะต้องจากกรุงศรีอยุธยาไปเป็นเวลานาน แต่ก็จะได้กลับมาอีก เมื่อเรือถูกพายุกระหน่ำอย่างรุนแรง ผู้นิพนธ์ได้อธิษฐานว่า

                เลงแลตลึงแกล้ง                  เกลาสาร แม่ฮา
         นพเทพชํชอมทุก                         ย่านย้งง
         พระเออยจำศรีครวญ                     คืนคอบ สํรา
         อย่ารยกลํให้พล้งง                       พลยกเรืองลงเรือ

                                                                                    โคลงกำสรวลฯ

        โคลงข้างต้นเป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้นิพนธ์หวังอยู่เสมอว่าจะได้กลับคืนมาอยู่ร่วมรักกับนางอีก ฉะนั้นโคลงกำสรวลฯ จึงมิใช่เป็นงานนิพนธ์ของศรีปราชญ์ผู้รับพระราชอาญาให้เนรเทศไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
        นอกจากนั้นในโคลงกำสรวลฯ พรรณนาความสัมพันธภาพระหว่างผู้นิพนธ์กับนางในฐานะสามีภรรยา มิใช่ชู้ซึ่งลอบรักกันอย่างมิดเม้นในฐานะที่นางเป็นพระสนมของพระเจ้าแผ่นดิน เหมือนสัมพันธภาพระหว่างศรีปราชญ์กับพระสนม (ดูรายละเอียดเรื่อง “หางเสียงของผู้แต่ง” ในบทที่ 3) จึงเป็นหลักฐานแน่ชัดว่าศรีปราชญ์มิได้เป็นผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ
       ผู้นิพนธ์โคลงกำสรวลฯ มิใช่ศรีปราชญ์กวีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามประวัติวรรณคดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:14

        ค. ยุคของวรรณคดี

          สำหรับผู้ที่สนใจวรรณคดีแล้วจะจับปรากฏการณ์ของวรรณคดีในยุคต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจรดปัจจุบันได้ไม่ยากในช่วงรัชสมัยพระนารายณ์ โคลงสี่สุภาพบุรุษและฉันท์ก็คือประพันธ์ที่มีผู้แต่งแพร่หลายมาก และดูตามตำนานศรีปราชญ์แล้วโคลงที่เกี่ยวข้องมีแต่โคลงสี่สุภาพทั้งนั้น ไม่มีโคลงดั้นบาทกุญชรพาดพิงถึงเลย ผิดลักษณะของกำสรวล (ศรีปราชญ์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้แต่งมีความเชี่ยวชาญไม่น้อย และถ้าจัดยุคของโคลงดั้นแล้วจัดอยู่ในช่วงอยุธยาตอนต้น วรรณคดีที่ปรากฏมีลิลิตโองการแช่งน้ำ, ลิลิตยวนพ่าย, ทวาทศมาส โดยเฉพาะทวาทศมาส มีถ้อยคำบางคำเหมือนกำสรวล (ศรีปราชญ์) และเป็นโคลงดั้นในลักษณะนิราศทำนองเดียวกัน เพียงแต่ทวาทศมาส เป็นโคลงดั้นวิวิธมาลีและภาษาเก่าน้อยกว่ากำสรวล (ศรีปราชญ์)

         การพิจารณาเกี่ยวกับสมัยที่แต่งโคลงกำสรวลนอกจากจะพิจารณาจากการใช้ถ้อยคำสำนวนดังที่กล่าวมาแล้ว ยังได้มีการพิจารณาถึงเส้นทางการเดินเรืออันเป็นเส้นทางการเดินทางของกวีด้วย จากการศึกษาในแขนงนี้ มานิต วัลลิโภดม ได้สันนิษฐานว่า

         1. ถ้าหากโครงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทำไมกวีจึงไม่กล่าวถึงพระราชวังบางปะอิน ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ทั้งๆ ที่เป็นทางผ่าน
         2. เรือขทิงทองมิได้ผ่านคลองลัดเกร็ดน้อย ซึ่งขุดขึ้นในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ เมื่อ พ.ศ.2265
         3. เรือขทิงทองมิได้ผ่านคลองลัดที่พระเจ้าปราสาทองโปรดเกล้าฯ ให้ขุดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2178 และคลองลัดที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทรงขึ้นราว พ.ศ.2081
         4. เรือขทิงทองไม่ผ่านคลองลัดตรงคลองบางกอกน้อยมาบรรจบกับคลองบางกอกใหญ่ ที่วัดอรุณ ซึ่งขุดในสมัยพระไชยราชาธิราช เมือ พ.ศ.2085

            ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์เหล่านี้พอจะสันนิษฐานได้ว่า โคลงกำสรวลน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยพระไชยราชาธิราช (พ.ศ.2077-2098) แต่จะก่อนเท่าใดนั้นไม่ทราบ (มานิต วัลลิโภดม 2515 : 296-308)

            ในปี พ.ศ.2516 สุนีย์ ศรณรงค์ ได้ทำปริญญานิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์วรรณดีเรื่องโคงกำสรวลศรีปราชญ์ ได้ผลสรุปเกี่ยวกับสมัยเวลาที่แต่งและผู้แต่งโคลงกำสรวลไว้ว่า

            1. โคลงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

            2. ผู้แต่งโคลงกำสรวลคือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระอินทราชา)ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลในคราวที่เสด็จไปวังช้างที่ตำบลไทรย้อย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ ปีเถาะ พ.ศ.2026 โคลงกำสรวลไม่ใช่ศรีปราชญ์แต่งและไม่มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเนรเทศ

            3. โคลงกำสรวลเป็นวรรณคดีร่วมสมัยกับลิลิตพระลอ ลิลิตยวนพ่ายและโคลงทวาทศมาส ซึ่งเป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น

            4. ผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสน่าจะเป็นบุคคลคนเดียวกัน (สุนีย์ ศรณรงค์ 2516 ก. 200-253) นอกจากนี้แล้ว ชลธิรา สัตยาวัฒนา(กลัดอยู่) ยังได้ให้ความเห็นว่า โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาสและลิลิตพระลอเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น (ชลธิรา สัตยาวัฒนา 2524 : 25-51) รวมทั้งสมุทรโฆษคำฉันท์และอนิรุทธคำฉันท์ด้วย ยังเชื่อว่าผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้น ผู้แต่งลิลิตพระลอ และผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์เป็นบุคคลคนเดียวกัน (ชลธิรา กลัดอยู่ 2519 : 86-90)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:15

          พ.ณ ประมวญมารค  (ม.จ.จันทร์จิรายุ  รัชนี, 2511 : 126 – 178 ) เข้าใจว่ากำสรวลฯ  เป็นพระราชนิพนธ์ในขณะที่เสด็จพยุหยาตราทัพทางเรือหรือเสด็จประพาสสมุทร  คร่ำครวญถึงท้าวศรีจุฬาลักษณ์ซึ่งเป็นสนมเอก  โดยอ้างคำบางคำที่แสดงว่าผู้นิพนธ์เป็นเจ้านาย  ได้แก่คำที่มีเครื่องหมายสัญประกาศในข้อความต่อไปนี้

            -  เพล็จพวงดุจดวงถวาย              ทุกกิ่ง  ไส้แฮ

            -  ถนัดม่วงมือนางฝาน                ฝากเจ้า

          คำประพันธ์ข้างบนนั้น  ใช้กริยา “ ถวาย ” กับผู้นิพนธ์  ใช้  “ เจ้า ” ซึ่ง  พ.ณ ประมวญมารคเข้าใจว่า  หมายถึง “ เจ้านาย”  นอกจากนั้นยังใช้คำว่า  “ พระ ” แทนตัวผู้นิพนธ์หลายแห่ง  และเยกนางว่า  “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  อันเป็นชื่อตำแหน่งสนมนเอก  ทำให้คิดว่าผู้นิพนธ์กำสรวลฯ  เป็นกษัตริย์  จึงกล้ารำพึงถึง “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” และตามประวัติของศรีปราชญ์  ศรีปราชญ์เป็นคนที่อารมณ์แรง  ถ้าจะแต่งก็แต่งได้แต่นิราศแสดงอารมณ์  ไม่สามารถแต่งนิราสังวาสประเภทแอลลิกอรี

            ในด้านการเปรียบเทียบสำนวนระหว่างกำสรวลฯ  อนิรุทธคำฉันท์  และโคลงเบ็ดเตล็ดนั้น  พ.ณ ประมวญมารค   เห็นว่าวรณกรรมเหล่านั้นเป็นสำนวนของกวีแต่ละคน  โดยให้ความเห็นว่า  สำนวนของกวีคนเดียวกันต้องสามารถเทยบกันได้  ส่วนเรื่องสมัยที่แต่งกำสรวลฯ นั้น พ.ณ ประมวญมารค  เห็นว่าไม่เห็นผลที่จะยืนยันได้ว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  หากอ้างเอาเรื่อง  “ แตรบอกเวลา ” เป็นหลักฐาน  เพราะที่ว่า  “ แตร ”  เข้ามาพร้อมกับฝรั่งเศสในสมัยพระรนารายณ์ฯ  นั้นเป็นไปไม่ได้  เพราะทหารฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์ฯ 500  คน อยู่ที่บางกอก 200  คน  มะริด  120  คน  ลงเรือไปไล้โจรสลัด  70  คน  นอกนั้นไปเป็นทหารรักษษพระองค์ที่ลพบุรี  ไม่มีอยู่ที่อยุธยาเลย  สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ฯ  เข้าใจว่าทหารรั่งเศสได้ออกจากประเทศไทยไปหมด  ไม่มีเหลือเป่าแตรบอกเวลาในสมัยพระเพทราชา รวมระยะเวลาที่ทหราฝรั่งอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 ปี  และถ้าหากแย้งว่าทหารไทยเป่าแตรบอกเวลาบ้าง  ก็ไมจำเป็นต้องเรียนจากฝรั่งเศส  อาจเรียนมาจากพวกโปรตุเกสซึ่งเข้ามาก่อนสมัยพระนารายณ์ฯ 100  ปี และในสมัยพระไชยราชาก็มีทหารโปรตุเกสรักษาพระองค์ 120 คน  นอกจากนั้นในลิลิตยวนพ่ายก็มีการกล่าวถึง “ แตร ”ไว้ว่า “ แตรตระหลบท้องหล้า  ส่งเสียง ”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:15

          พ.ณ ประมวญมารคได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า  ในโคลงกำสรวลฯ กล่าวถึงเขาสามมุขว่า “ สมมุกข์เงื่อนเขามุกด์          เมียงม่าย ”  แสดงว่าเมื่อแต่งกำสรวลฯ เขาสามมุขยังเป็นเกาะหินอยู่ คงจะต้องใช้เวลานานกว่า 250  ปี  จึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นป่าไปอย่างปัจจุบันนี้ได้  สมกับคำทำนายที่ว่า  “ สมมุกข์จะเป็นป่า  ศรีราชาจะเป็นฝั่ง  สีชังจะเป็นท่าจอดเรือ ” นั่นคือกำสรวลต้องมีอายุมากกว่า 250 ปี  คือแต่งก่อนพระนารายณ์ฯ

            พ.ณ ประมวญมารค  สรุปความคิดว่า  กำสรวลฯ เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมราชาที่ 3  และทรงพระราชนิพนธ์ในระหว่าง พ.ศ.2025 – 2034 โดยอ้างหลักฐานว่า

            1.  จากเหตุผลทางภาษาและโบราณคดี  ทำให้เชื่อว่ากำสรวลฯ แต่งในระยะกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถหรือระยะใกล้เคียง

            2.  ถ้าเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  หรือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 น่าจะมีภาษาเหนือปนอยู่มากกว่านี้  เพราะทั้งสองพระองค์มีพระราชมารดาเป็นเจ้านายทางเหนือ และเคยดำรงพระอิสริยยศเป็นอุปราชที่เมืองพิษณุโลกมาก่อน

            3.  ในกำสรวลฯ กล่าวถึง “ คำหลวง ” ว่า “ ฤากล่าวคำหลวงอ้า  อ่อนแกล้ง เกลาฉันท์”  คำว่า “กล่าว” แปลว่า แต่ง  ฉะนั้นกำสรวลฯ จะต้องแต่งหลังมหาชาติคำหลวง  คือ หลัง พ.ศ. 2025 คำว่า “ เกลาฉันท์ ” คือแต่งฉันท์  การแต่งฉันท์มีมาแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังปรากฎในมหาชาติคำหลวง  มิได้เพิ่งมีใรสมัยสมเด็จพระนารายณ์

            4.  เส้นทางการเดินทางในกำสรวลฯ  เป็นการเดินทางไปทางทิศตะวันออก  แล้วไปกล่าวถึง “ กั่นชาววา” ซึ่งอยู่แถวเขาสามร้อยยอด  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ทำให้เข้าใจว่าเดินทางไปทวาย  เพราะการเดินทางไปทวายต้องไปข้ามด่านสิงขรในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ตามหนังสือของ  “ แซมมวลไว้ท์” ( ม.จ. จันทร์จิรายุ  รัชนี,  2511: 365 – 367) นอกจากนั้นยังได้อ้างข้อความในกำสรวลฯที่ว่า  “ โอยอกครวญเคร่าถ้า  เรือมูล  มากแฮ ”  เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นการไปทัพจริง

            5.  ในกำสรวลฯ มีข้อที่กล่าวถึง  “ บาสรีจุฬาลักษณ์ ” สันนิษฐานว่า “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  เป็นชายาของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3  เป็นเชื่อสายราชวงศ์สุโขทัย  ดังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยจารึกวัดอโศการาม ( คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, 2513 : 41 ) ซึ่งปรากฏชื่อพระมเหสีของพระมหาธรรมราชาลิไท ว่า “ สมเด็จพระราชาเทพศณีจุฬาลักษณ์อัครราชมเหสีเทพธรณีโลกรัตน์” จึงเชื่อว่าชื่อ “ ศรีจุฬาลักษณ์ ”  มีตัวบุคคลจริง  มิได้เป็นนามของนางในนิราศเท่านั้น  ปรากฏว่าในปี  พ.ศ. 2031 อันเป็นปีที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ  “ ศรีจุฬาลักษณ์” จึงมียศสูงขึ้นจาก “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” ของลูกหลวง  เป็น “ ศรีจุฬาลักษณ์ ” ซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระมหากษัตริย์  สมกับความในโคลงที่ 28 ที่ว่า  “ บาศรีจุฬาลักษณ์   ยศยิ่ง  พู้นแม่ ” 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:18

      จะเห็นได้ว่า  พ.ณ  ประมวญมารค  สันนิษฐานว่า  ผู้แต่งกำสรวลฯ  คือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ  พ.ศ. 2031  ในโอกาสที่เสด็จกรีฑาทัพไปตีเมืองทวาย

            ในเมื่อกำสรวล (ศรีปราชญ์) ไม่ได้แต่งโดยศรีปราชญ์ แล้วปัญหาที่ตามมาก็คือ ใครเป็นคนแต่งอนิรุทธ์คำฉันท์ และโคลงที่ตำนานศรีปราชญ์ยกมาตั้งแต่พระนารายณ์ทรงแต่งค้างจนถึงศรีปราชญ์เขียนไว้กับพื้นทรายมาจากไหน?

            ประการแรก เกี่ยวกับอนิรุทธ์คำฉันท์ เป็นฉันท์ที่นักวรรณคดีลงความเห็นว่าแต่งแข่งกับสมุทรโฆษของพระมหาราชครูเพื่อใช้สำหรับพากษ์หนังในงานฉลองพระชนมายุครบเบญจเพส (25 พรรษา) ของพระนารายณ์ ซึ่งขณะนั้นศรีปราชญ์ (ตามตำนาน) อายุเพียง 5-7 ขวบเท่านั้น ดูจะเหลือเชื่อเกินไปสักหน่อย

            มีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งในนักวรรณคดี (รุ่นใหม่) ก็คืออนิรุทธ์คำฉันท์ไม่มีบทไหว้ครู และบางตอนก็พูดถึงพฤติกรรมของกษัตริย์ตรงไปตรงมาเหมือนมนุษย์ทั่วๆ ไป คือตอนที่ว่า

            “เสร็จสว่างเสร็จตื่นจากผธมเสร็จเสียอาจม แล้วก็เสด็จโสรจสรงเสาวคนธกำจรธวรทรง พระภูบนพรายผจง มกุฎรัตนบวง...”

          ผู้วิเคราะห์เชื่อว่า อนิรุทธ์คำฉันท์นี้อาจจะมีบทไหว้ครู แต่ต้นฉบับคงขาดหายไป เพราะดูลีลาแล้วไม่น่าเป็นไปได้ว่าอนิรุทธ์คำฉันท์จะโพล่งขึ้นด้วยฉบัง 16 โดยไม่เกริ่นนำเสียก่อน ส่วนบทพฤติกรรมของเจ้านายชั้นสูงวรรณคดีอื่นๆ ก็มีเพียงแต่ไม่ใคร่มีใครคาดคิดหรืออาจผ่านเลยไปเท่านั้นเอง ตัวอย่างบทสังวาส 2 ต่อ 1 อันโลดโผนของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง หรือแม้แต่สมุทรโฆษคำฉันท์เองก็ดีจากตอนของพระมหาราชครูแต่ง แสดงให้เห็นถึงบทของนางพิมทุมดีที่ร่านราคะเพียงแรกเห็นสมุทรโฆษก็ยอมให้ประคองขึ้นเตียงเสียแล้ว ดังตัวอย่าง

          “นาภีแนบนาภีมล ทรวงแนบชิดชน บรรทับและเบียดบัวศรี นางน้องในใจเปรมปรีดิ์  กรกรรนฤบดี และนำบ่สู่ขัดขาม...จนถึง นมน้องตราติดอกอร เอวองค์พระกร กระหวัดกระเหม่นกามา”

          ประการที่สอง  เกี่ยวกับบทกวีของตำนานศรีปราชญ์นั้น ถ้าพลิกดูประวัติและผลงานของพระยาตรังแล้ว มีผลงานของพระยาตรังเกี่ยวกับเรื่องการรวบรวมไว้ถึง 127 บท มีเกี่ยวข้องถึงศรีปราชญ์ 13 บท ส่วนใหญ่เป็นโคลงที่ปรากฏอยู่ในตำนานแล้วและเมื่อดูจากประวัติของพระยาตรังแล้วรู้ว่าพระยาตรังผู้นี้ (ดูเหมือนจะถนัดแต่งโคลงดั้นยิ่งกว่าบทกลอนอย่างอื่น สำนวนโคลงพระยาตรังเป็นอย่างเช่น เรียกกันว่า โวหารกล้า ผิดกับกวีคนอื่นๆ แลกล่าวว่าเป็นผู้สัญญากล้าเกือบจวนจะถึงวิปลาส) ว่ากันว่าพระยาตรังเป็นผู้แต่งโคลงแทรกลิลิตยวนพ่ายบทที่ 124 กับ 125 เพราะฉบับเดิมขาดอยู่อีก 2 บทด้วย
         ฉะนั้นพระยาตรังผู้นี้เองคงเป็นผู้แต่งแทรกกำสรวล (ศรีปราชญ์) บางบทและแพร่ขยายเรื่องศรีปราชญ์ออกไปจากการค้นพบต้นฉบับประชุมโคลงกวีโบราณในกรมพระราชวังบวรฯ เพราะพระยาตรังได้เอ่ยถึงศรีปราชญ์ไว้ในผลงานของตน ถึง 2 เรื่องคือ นิราศพระยาตรังและนิราศลำน้ำน้อย กอปรกับพระยาตรังคลั่งไคล้ในโคลงดั้น โดยเฉพาะกำสรวล (ศรีปราชญ์) ทวาทศมาสมาก ถึงกับถอดคำและแต่งโคลงเลียนแบบไว้จำนวนมากในผลงาน จนบางครั้งมีผู้เข้าใจไขว้เขวว่า ศรีปราชญ์นอกจากจะแต่งกำสรวล  (ศรีปราชญ์) แล้ว ยังแต่งนิราศลำน้ำน้อยอีกด้วยถึงกับนำมารวมเล่มไว้ในผลงาน รวมเล่มของศรีปราชญ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:20

        ในขณะที่นักวรรณคดี (รุ่นใหม่) มองศรีปราชญ์ด้วยความชื่นชมว่าเป็นกวีคนแรกที่กล้ากบฎต่อกรอบของวรรณคดี และกล้าตอบถ้อยของนางสนมที่ว่า
              ...ฤดูฤดีแด                               สัตว์สู่ กันนา
          อย่าว่าเราเจ้าข้า                              อยู่พื้นเดียวกัน

            กระแสความคิดนี้นับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การมองลึกลงไปในวรรณคดีและการต่อสู้ของประวัติศาสตร์มิใช่แค่ฉาบฉวยเฉพาะหยิบเอาแต่สิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์โดยไม่ไตร่ตรองให้ลึกแล้ว สิ่งนั้นจะกลับมาย้อนแทงตัวเองได้

          ดังได้กล่าวแล้วว่า โคลงบทนี้อยู่ในประชุมโคลงโบราณที่เรียบเรียงโดยพระยาตรัง คำว่าเจ้าข้าเองแปลได้คลุมเครือ เพราะนัยหนึ่งอาจหมายถึงเจ้ากับข้าจริงๆ แยกออกมาได้ แต่ในที่นี้ผู้วิเคราะห์ขอวิเคราะห์ว่าเป็นคำกริยาวิเศษณ์ที่ผู้น้อยร้องบอก กล่าวและเลือนเป็นเจ้าค่ะในภายหลังนั่นเอง

     สิ่งที่ผู้วิเคราะห์ปักใจเชื่อเพราะในสมัยนั้นมาว่าใครที่เกิดมาแล้วเข้ามาอยู่ในรั้วในวังย่อมถูกกฎและสิ่งแวดล้อมครอบจนฝังหัว การที่ศรีปราชญ์ตามตำนานจะเกิดสำนึกขบถขึ้นมาลอยๆ โดยคนเดียวโดดๆ และดูออกจะก้าวหน้าเกิดยุคตามที่ยกย่องกันนั้นมีมูลเหตุน้อยมาก จนยากแก่จะเอนเอียงได้
      มิใช่ว่าการกบฏของคนสมัยก่อนจะไม่มีเลยก็หาไม่ แม้แต่ลาลูแบร์ยังมองเห็นว่า “พลเมืองสยามขณะนั้น (สมัยพระนารายณ์) มีอยู่ประมาณ 1 ใน 9 แสนคน แต่เชื่อว่ายังมีคนหลบหนีไปซุกซ่อนอยู่ในตามป่าเพื่อให้พ้นภัยจากรัฐบาลที่คุกคามบีบคั้นข่มเหงกลายเป็นคนนอกทะเบียนยังมีอีก” แสดว่าคนที่ขบถต่อกฎมณเฑียรบาลอยุธยามีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือแม้แต่การกบฏของผีบุญต่างๆ แถบภาคอีสานซึ่งทนคามคับข้องใจจากกรุงเทพฯ ไม่ได้ก็ดี ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าศึกษาใส่ใจเป็นยิ่งนัก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:21

       และท้ายสุดกำสรวล (ศรีปราชญ์) ก็ยังคงเป็นปัญหาลี้ลับต่อไปว่าใครเป็นผู้แต่ง ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องน่ามหัศจรรย์แต่อย่างใดในวรรณคดีไทย เพราะยังมีอีกหลายต่อหลาเรื่องที่ไม่เคยปรากฏผู้เขียน เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ เป็นต้น ข้อสำคัญอยู่ที่นักวรรณคดีจะเล็งเห็นถึงเป้าหมายและสิ่งที่น่าจะเป็นปะโยชน์ในทางที่ถูกต้องที่สุดหรือไม่ จากวรรณคดีเรื่องนั้นๆ นั่นก็คือการหยิบเอาข้อเท็จจริงมาถกเถียงพูดกัน เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องตกเป็นเหยื่อทางการศึกษาวรรณคดี เพียงแคสอบได้หรือมองด้านเดียวอย่างที่เป็นมาแต่ก่อน

        เพราะวรรณคดีไม่ใช่อาหารที่คนใดคนหนึ่งจะผูกขาดการเสพไว้แต่เพียงกลุ่มเดียว

       ม.ร.ว. สุมนชาติ  สวัสดิกุล  ( 2527 : 144 – 157 )   เห็นว่ากำสรวลฯ  อนิรุทธคำฉันท์ และโคลงต่าง ๆ ที่อ้างถึงในประวัติของศรีปราชญ์นั้นไม่ใช่สำนวนของกวีคนเดียวกัน  กำสรวลฯ  อายุเก่ากว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึง 200  ปี  และกำสรวลฯ เป็นหนังสือที่เห็นได้ชัดว่าแต่งในสมัยอยุทธยาตอนต้น คือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  เทียบถ้อยคำสำนวนได้กับลิลิตยวนพ่าย  ลิลิตพระลอ และมหาชาติคำหลวง  กำสรวลฯ  ไม่ใช่ผลงานของศรีปราชญ์บุตรพระโหราธิบดี  เพราะโหราธิบดีได้ยกโคลง 3 บทต้นของกำสรวลฯ  มาอ้างเป็นตัวอย่างของโคลงดั้นบาทกุญชรในหนังสือจินดามณี  ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของบิดาที่จะยกโคลงของบุตรมาเป็นโคลงครูในงานของตน  เมื่อปรากฏว่าผู้แต่งกำสรวลฯ และอนิรุทธคำฉันท์เป็นคนละคนกัน  และประกอบกับความคิดที่ว่าชื่อศรีปราชญ์ฟังดูไพเราะเกินกว่าจะเป็นชื่อของบุคคลในสมัยก่อนโน้น  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่าศรีปราชญ์เป็นชื่อตำแหน่งกวีเอกในราชสำนัก  อาจมีตัวบุคคลที่ได้รับตำแหน่งนี้หลายคน  ผู้แต่งโคลงที่พระยาปริยัติธรรมธาดานำมาอ้างประกอบประวัติองศรีปราชญ์นั้น   น่าจะเป็นอีกคนหนึ่ง  เพราะสำนวนโคลงต่าง ๆ เหล่านั้นใหม่กว่าอนิรุทธคำฉันท์เป็นอันมาก  เทียบกับสำนวนระหว่างเวลาของเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศรกับพระตรังว่า  ฉะนั้นน่าจะมีศรีปราชญ์  3 คน คือ  ผู้แต่งกำสรวลฯ  ในสมัยอยุธยาตอนต้นคนหนึ่ง  ผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ  คนหนึ่ง  และผู้แต่งโคลงเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ นั้นอีกคนหนึ่ง  นอกจากนั้นยังปรากฏชื่อศรีปราชญ์ในสมัยพระเจ้าสุริเยนทราธิบดีหรือพระพุทธเจ้าเสืออีกคนหนึ่ง  ซึ่งกล่าวถึงในคำให้การของชาวกรุงเก่า  อาจจะเป็นศรีปราชญ์คนเดียวในสใยพระนารายณ์ฯ หรือไม่ก็ได้  ถ้าเป็นคนละคนกัน  ก็รวมศรีปราชญ์ถึง 4 คน นอกจากนั้นยังปรากฏในประเทศอื่น ๆ บางประเทศเช่น ทมิฬ และพม่า  มีการกล่าวถึงกวีเอกที่มีประวัติคล้าย ๆ กับศรีปราชญ์ของไทยอีก  ทำนองเดียวกัน เรื่องศรีธนนชัย   ทำให้เข้าใจว่าประศรีปราชญ์อาจจะเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่น ๆ   ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ในพระราชพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามรการประหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในแผ่นดินพระเพทราชา  มีแต่การกบฏแล้วเจ้าเมืองหนีไปได้  ทำให้เกิดความไม่แน่ใจในประวัติศรีปราชญ์ยิ่งขึ้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:22

     ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้เขียนวิจารณ์กำสรวลศรีปราชญ์ไว้ว่า งานของศรีปราชญ์เท่าที่กล่าวถึงกันมีสามเรื่องคือ กำสรวลโคลงดั้น อนิรุทธคำฉันท์และโคลงเบ็ดเตล็ด แต่เฉพาะเรื่องหลังนี้เมื่อสอบกันดูกับโคลงกวีโบราณที่พระยาตรังรวบรวมไว้ปรากฏว่า บางบทที่เคยคิดกันว่าเป็นของศรีปราชญ์กลับเป็นของศรีธนนชัยไป หากนำเรื่องของศรีปราชญ์มาวินิจฉัยจะเห็นได้ว่าไม่ใช่สำนวนของคนคนเดียวกัน โคลงกำสรวลน่าจะมีอายุมากกว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึงสองร้อยปี น่าจะเป็นโคลงสมัยอยุธยาตอนต้น คือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทั้งถ้อยคำสำนวนก็เทียบได้กับยวนพ่าย ลิลิตพระลอและมหาชาติคำหลวง อีกทั้งในหนังสือจินดามณี ซึ่งเชื่อว่าบิดาศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งนั้น ก็ได้ยกเอาโคลงกำสรวลนี้เป็นตัวอย่างโคลงบาทกุญชรว่า

                     อยุธยายศยิ่งฟ้า              ลงดิน
           อำนาจบุญเพรงพระ                    กอบเกื้อ
           เจดีย์ละอออินทร์                       ปราสาท
          ในทาบทองแล้วเนื้อ                     นอกโสรม

            พรายพรายพระธาตุเจ้า               จยรจันทร์
          ไตรโลกย์เลงคือโคม                     ค่ำเช้า
           รบยงบรรหารสวรรค์                     รุจเรข
          ทุกแห่งห้องพระเจ้า                     นงงเนื้อ

             ศาลาอเนกสร้าง                      แสนเสา
          ธรรมมาสน์จงใจเมือง                    สู่ฟ้า
          วิหารย่อมฉลักเฉลา                     ฉลุแผ่น ไส้นา
          พระมาสเลื่อมเลื่อมหล้า               หล่อแสง

          (น่าจะเข้าใจผิดเพราะจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีนั้นมิได้อ้างโคลงเหล่านี้)  แสดงว่าโคลงกำสรวลจะต้องแต่งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแน่         เมื่อเทียบสำนวนโวหารระหว่างโคลงกำสรวลและจินดามณีหรือสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนที่พระมหาราชครูแต่ง กับตอนพระราชนิพนธ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จะเห็นได้ว่าโคลงดั้นมีสำนวนเก่าแก่กว่าถึงสองร้อยปี ส่วนสำนวนในอนิรุทธคำฉันท์นั้นอาจอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ ถ้าหากจะเชื่อว่างานทั้งสองชิ้นนี้เป็นของศรีปราชญ์ ก็น่าจะเป็นศรีปราชญ์คนละคนกัน กล่าวคือศรีปราชญ์อาจจะเป็นราชทินนามเช่นเดียวกับสุนทรโวหาร ฯลฯ และเมื่อเทียบสำนวนโคลงประกอบประวัติศรีปราชญ์ของพระยาปริยัติธรรมธาดาแล้วปรากฏว่าเป็นสำนวนใหม่เทียบกับสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ถ้าจะถือว่าศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งโคลงเหล่านี้ ก็ย่อมหมายความว่ามีศรีปราชญ์ถึงสามคน และที่กล่าวกันว่าโคลงกำสรวลเป็นทำนองนิราศนครศรีธรรมราชนั้น เนื้อความในโคลงกำสรวลเท่าที่มีปรากฏอยู่ ปรากฏว่าเดินทางไปไกลสุดแค่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น โดยอ้างถึงเกาะสีชัง เกาะไผ่ เกาะคราม ถ้าเดินทางไปนครศรีธรรมราชจริงก็น่าจะมีโคลงที่อ้างถึงฝั่งทะเลตะวันตกของอ่าวไทยบ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย ข้อที่น่าสังเกตก็คือคำให้การชาวกรุงเก่าว่าศรีปราชญ์เป็นกวีเอกในราชสำนักพระเจ้าเสือและเป็นที่โปรดปรานมาก แต่ศรีปราชญ์ได้ลอบส่งเพลงยาวเข้าไปหานางใน จึงถูกเนรเทศไปอยู่ที่นครศรีธรรมราชและถูกประหารชีวิตที่นั่นด้วยเหตุผลตรงกันกับตำนานศรีปราชญ์ ถ้าเป็นจริงเช่นนั้น ศรีปราชญ์จะมีสี่คน คือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสมัยพระเจ้าเสือ และศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประวัติของศรีปราชญ์ยังมีอีกสองประการคือ ประการแรกทางทมิฬและพม่าก็มีกวีเอกที่มีประวัติคล้ายศรีปราชญ์ ทำนองเดียวกับประวัติของศรีธนนชัย ประวัติของศรีปราชญ์จึงอาจเป็นประวัติที่คัดลอกกันมาแบบนิยายอื่นๆ ประการที่สองในพงศาวดารไม่ปรากฏว่ามีเจ้านครคนใดถูกประหารเลย สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นข้อสังเกตชวนให้ศึกษาค้นคว้าต่อไปว่า ใครเป็นผู้แต่งโคลงกำสรวลกันแน่ (ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล 2490 อ้าอิงมาจาก ม.จ.จันทร์จิรายุ รัชนี : 63-71)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:25

          ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้กล่าวถึงศรีปราชญ์และโคลงกำสรวลไว้ว่า โคลงกำสรวลน่าจะมีอายุมากกว่าอนิรุทธคำฉันท์ถึงสองร้อยปี น่าจะเป็นโคลงสมัยอยุธยาตอนต้น คือสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลก- นาถ และศรีปราชญ์นั้นน่าจะเป็นราชทินนามของข้าราชการ และในสมัยอยุธยานั้นน่าจะมีศรีปราชญ์อยู่สี่คน คือศรีปราชญ์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยพระเจ้าเสือ และสมัยบรมโกศ (ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล 2450 : 64-70 อ้างอิงมาจาก ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 63-71)

ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ มีความเห็นแตกต่างไปจาก ม.ร.ว. สุมนชาติ สวัสดิกุล คือกล่าวว่า ศรีปราชญ์เป็นผู้แต่งกำสรวลและมีตัวจริงอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีชีวิตอยู่เรื่อยมาจนถึงสมัยพระเพทราชา แต่ถูกประหารชีวิตีที่นครศรีธรรมราชในรัชสมัยพระเจ้าเสือ (ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ 2501 : 1-37,

193-196)

            ธนิต อยู่โพธิ์ ได้สนับสนุนฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ว่า ศรีปราชญ์แต่งโคลกำสรวลและมีชีวิตอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ถูกประหารชีวิตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นเอง

(ธนิต อยู่โพธิ์ 2521 : 86-94)

            ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี ทรงให้ความเห็นว่า ผู้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลน่าจะได้แกพระบรมราชาธิราชที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ระหว่าง พ.ศ.2025-2035 ปีใดปีหนึ่งในช่วงเวลา 10 ปีนี้ (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 174)

            มานิต วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า โคลงกำสรวลน่าจะแต่งขึ้นก่อนสมัยพระไชยราชาธิราช ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2077-2098 แต่จะก่อนเท่าใดนั้นยังสรุปไม่ได้ (มานิต วัลลิโภดม 2515 : 308)

            สุนีย์ ศรณรงค์ ได้ทำปริญญานิพนธ์ วิเคราะห์วรรณคดีเรื่องกำสรวลศรีปราชญ์ได้ผลสรุปว่า โคลงกำสรวลแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระอิทราชา) ทรงพระราชนิพนธ์ในคราวที่สมเด็จไปวังช้างที่ตำบลไทรย้อย อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เมื่อวันอังคาร เดือนยี่ ปีเถาะ พ.ศ.2026 ไม่ใช่ศรีปราชญ์แต่ง ไม่มีการเนรเทศ และมีความเห็นว่าผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสน่าจะเป็นบุคคลเดียวกัน (สุนีย์ ศรณรงค์ 2516  ภ. 200-235) นอกจากนี้แล้ว ชลธิรา สัตยาวัฒนา ยังให้ความเห็นว่า โคลงกำสรวล โคลงทวาทศมาสและลิลิตพระลอเป็นวรรณกรรมร่วมสมัยอยุธยาตอนต้น (ชลธิรา สัตยาวัฒนา 2524 : 25-51) และชลธิรา สัตยาวัฒนา (กลัดอยู่) ยังเชื่อว่า สมุทรโฆษคำฉันท์ อนิรุทธคำฉันท์ เป็นวรรณกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งยังเชื่อว่าผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนต้น ผู้แต่งลิลิตพระลอและผู้แต่งอนิรุทธคำฉันท์เป็นบุคลเดียวกัน (ชลธิรา กลัดอยู่ 2519 :86-90)

            ด้วยเหตุที่ประวัติผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลงทวาทศมาสยังคลุมเครือหาข้อยุติไม่ได้ดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้การศึกษาวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร เพราะผู้ศึกษาไม่สมารถพิจารณาได้แน่นอนว่า ใครเป็นผู้แต่งวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้กันแน่ แต่งในสมัยใด สภาพแวดล้อมทางสังคม รสนิยม ค่านิยมและอุดมคติของสังคมเป็นอย่างไร ภาษาที่ใช้อยู่ในวรรณคดีควร เป็นภาษาที่ใช้อยู่ในสมันใด ผู้แต่งเข้าไปเกี่ยวข้องในวรรณคดีเพียงใด อย่างไร เพราะเหตุใด มีจุดมุ่งหมายในการแต่งที่แท้จริงอย่างไร เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องศึกษาค้นคว้าอยู่ทั้งสิ้น
           ผู้เขียนได้ศึกษาวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ได้พบว่า การใช้ถ้อยคำ สำนวนโวหาร ในวรรณคดีโบราณทั้งสองเรื่องนี้คล้ายคลึงกันมาก ในบางตอนคล้ายคลึงกันมากจนน่าจะเชื่อได้ว่า เป็นสำนวนโวหารของบุคคลเดียวกัน โดยเฉพาะเนื้อเรื่องหรือเหตุการณ์ในโคลงกำสรวลนั้นมีลักษณะที่สอดคล้อง เชื่อมโยงติดต่อกับเนื้อเรื่องในโคลงทวาทศมาสด้วย ประกอบกับสตรีที่ผู้แต่งโคลงกำสรวลและโคลทวาทศมาสรำพึงถึงคือ “ศรีจุฬาลักษณ์” เช่นเดียวกัน ทำให้น่าเชื่อว่าผู้แต่งวรรณคดีทั้งสองเรื่งนี้เป็นบุคคลเดียวกัน และเมื่อผู้แต่งโคลงทวาทศมาสดำรงฐานันดรศักดิ์เป็น “พระเยาวราช” ผู้แต่งโคลงกำสรวลก็น่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

            ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี กลับมีความเห็นไม่ตรงกันกับฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ และธนิด อยู่โพธิ์ คือเชื่อว่า โคลงกำสรวลไม่น่าจะแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและผู้แต่งโคลงกำสรวลก็ไม่ใช่ศรีปราชญ์ โดยให้เหตุผลดังนี้

            1. ในหนังสือจินดามณีมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ผิจะเอากลอนห้าใส่ ให้เอาด้วยกันทั้งสี่บท อย่าได้ลดโคลงต้น คืออุปาทวาทศ คำสวรสมุทร สมุทรโฆษ พระนนท์ กษัตรีสังวาส ศรีอุมาธิการย พระยศราชาพิลาป อย่าได้เอาคำบูราณนั้นมาใส่ ผิจะดูเยี่ยงให้ดูเยี่ยงกลบท” คำสรวลสมุทร(กำสรวลสมุทร) ที่ปรากฏในจินดามณีก็คือโคลงกำสรวลนั่นเอง แสดงว่าแม้แต่ในสมัยพระนารายณ์มหาราชก็ถือว่าโคลงกำสรวลเป็นโคลงโบราณอยู่แล้ว

            2. ข้อความในโคลงกำสรวลที่ว่า “แตรตระหลบข่าวรู้ ข่าวยาม” นั้นไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นแตรของทหารฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะทหารฝรั่งเศสที่เข้ามานั้นไม่ได้อยู่ที่อยุธยาแต่ที่บางกอก มะริดและลพบุรี อีกประการหนึ่งก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็มีฝรั่งชาติโปรตุเกสเข้ามาก่อนทหารฝรั่งเศสกว่าร้อยปี ในยวนพ่ายซึ่งแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็มีกล่าวว่า “แตรตลบท้องหล้าส่งเสียง” มาก่อนแล้ว

            3. เนื้อความของโคลงไม่ได้กล่าวถึงเหตุของความเดือดร้อนเพราะถูกเนรเทศไม่มีการบ่นถึงนางที่เป็นต้นเหตุ หรือกษัตริย์ที่มีพระบรมราชโองการให้เกิดการพลัดพรากทั้งลักษณะการแต่งก็เป็นโคลงกล มีความคิดลึกซึ้งมากกว่าที่จะเป็นผลงานของปฏิภาณกวีเยี่ยงศรีปราชญ์ โคลงกำสรวลจึงเป็นนิราศธรรมดาของผู้ที่จากคนรักไปเท่านั้น

            4. การใช้คำในโคลงกำสรวลมีการใช้คำราชาศัพท์บางคำ เช่น ถวาย พระ เป็นต้น กับตนเอง แสดงว่าผู้แต่งน่าจะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง กระบวนเรือที่บรรยายไว้ในโคลงนั้น ก็มีลักษณะของขบวนพยุหยาตราทัพทางเรือ หรือขบวนเสด็จประพาสสมุทร ส่วนศรีจุฬาลักษณ์ก็น่าจะเป็นชายาหรือสนมของพระมหากษัตริย์พระองค์นี้

            5. กษัตริย์ผู้ทรงพระราชนิพนธ์โคลงกำสรวลน่าจะได้แก่ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 และทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในระยะเวลาระหว่าง พ.ศ.2025-2035 ในช่วงเวลา 10 ปีนี้ (ม.จ. จันทร์จิรายุ รัชนี 2515 : 132-174)

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 17 ส.ค. 12, 19:26

          เอกสารข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์

1.คำให้การขุนหลวงหาวัด เดิมเรียกว่า พระราชพงศาวดารแปลจากภาษารามัญ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทอำนวยการแปล ต่อมามีผู้อื่นได้ต้นฉบับที่กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงเรียบเรียงนั้นไปแก้ไขตามอำเภอใจ แล้วหมอสมิธได้ไปพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2426 เพิ่งจะมีการค้นพบฉบับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทเมื่อ พ.ศ.2454 คำให้การนี้คล้ายคลึงกับคำให้การชาวกรุงเก่า

2.คำให้การชาวกรุงเก่า หอสมุดวชิรญาณได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่า เมื่อ พ.ศ.2454 ได้ให้มองต่อแปลเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ.2455 เป็นต้นฉบับที่รัฐบาลอังกฤษพบที่หอหลวงในพระราชวังของพระเจ้าแผ่นดินพม่าที่เมืองมันดะเล ตั้งแต่อังกฤษตีพม่าได้เมื่อ พ.ศ.2428

3.คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม คณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้มาจากกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2482 รวมมากับเอกสารอื่นๆ และกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้สมุดข่อยนี้มาจากกรมราชเลขาธิการเมื่อ พ.ศ.2475 เป็นเอกสารจากหอหลวงของไทยที่เหลือรวมมากับหนังสืออื่นๆ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นเอกสารที่ทรงคุณค่าวิเศษประมาณค่ามิได้ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของไทยโดยตรง ที่กล่าวถึงสภาพบ้านเมือง สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในเรื่องต่างๆ อย่างละเอียดและเป็นระเบียบ คล้ายคลึงกับคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ละเอียดและถูกกว่า นายปรีดา ศรีชลาลัย เสนอต่อคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ.2512 และพิมพ์เผยแพร่ในเอกสารประวัติศาสตร์คือ แถลงงานประวัติศาสตร์เอกสารโบราณคดี เมื่อต้นปี พ.ศ.2512 และลงติดต่อกันหลายฉบับ

 
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 18 ส.ค. 12, 11:02

ขอบพระคุณสำหรับความกระจ่างค่ะ

Anna ยิงฟันยิ้ม


กระทู้นี้หยุดไปตั้งแต่ มีนาคม คศ. 2010 บังเอิญผมได้เปิดทบทวนกระทู้เก่าๆ เห็นหลายกระทูที่ถามมาและตอบไปอยู่ 2-3 ท่านแล้วกระทู้ก็ตายไป รู้สึกเสียดายว่าแต่ละกระทู้เป็นเรื่องน่าสนใจแต่ไม่มีคนเติมเต็ม และด้วยกลไกของเว็บทำให้กระทู้นั้นๆถูกทำให้ถอยร่นและหายไปจากความสนใจ ผมเลยค้นในเน็ตเพื่อโพสต์จะได้ต่ออายุกระทู้ ตอนที่โพสต์ลงนั้นยังถูกถามโดยระบบเลยว่าจะโพสต์จริงหรือไม่เพราะไม่มีคนร่วม respond มาตั้ง 150วันแล้ว แต่ก็ตัดสินใจโพสต์ต่อ
นับว่าได้ผลครับเพราะเพิ่มเป็น 3 หน้าแล้ว และทำให้สถิติอาจารย์เทาชมพูใกล้สองหมื่นเข้าไปทุกขณะ เอาใจช่วยครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 19 คำสั่ง