เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 37035 ขอความรู้เรื่องโคลงของศรีปราชญ์ค่ะ
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


 เมื่อ 29 มี.ค. 10, 13:23

โคลงของศรีปราญช์ที่ว่า

'ดำแต่นอก  ในแผ้ว  ผ่องเนื้อ   นพคุณ'  แบ่งวรรคยังไงคะ  จะขอเอาไปใช้อ้างอิงค่ะ  จึงต้องตรวจสอบความถูกต้องก่อน

 ฮืม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
Moderator
นิลพัท
*****
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 29 มี.ค. 10, 13:55

เป็นวรรคสี่ของโคลงสี่สุภาพ จัดวรรคตอนดังนี้ครับ

ดำแต่นอกในแผ้ว  ผ่องเนื้อนพคุณ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 29 มี.ค. 10, 14:10

ขอบพระคุณสำหรับความกระจ่างค่ะ

Anna ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 20:22

เผอิญค้นในเน็ต เห็นน่าสนใจสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ภาษาไทยอย่างผม จึงมาช่วยเพิ่มผู้เข้าแวะเยี่ยมกระทู้


http://www.gotoknow.org/blogs/posts/405279

ศรีปราชญ์  กวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา
  
     สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนกลาง  นับเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี  มีกวีสำคัญหลายท่าน  เช่น  สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระมหาราชครู  พระโหราธิบดี  และกวีคนสำคัญแห่งยุคนี้ “ศรีปราชญ์” 
     วรรณคดีเรื่องเด่นที่แต่งในสมัยนี้มีหลายเรื่อง  เช่น  สมุทรโฆษคำฉันท์ (พระมหาราชครูแต่งตอนต้น  สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระราชนิพนธ์ตอนกลาง  ส่วนตอนท้ายของเรื่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระราชนิพนธ์ในสมัยรัชกาลที่  3)   จินดามณี  หนังสือแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก  แต่งโดยพระโหราธิบดี  และโคลงกำสรวลศรีปราชญ์  ผลงานของศรีปราชญ์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าใช้ถ้อยคำสำนวนคมคาย  เป็นแบบฉบับของวรรณคดีประเภทโคลงดั้น
    คำประพันธ์ประเภทโคลงสี่สุภาพได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุคนี้  เรียกว่าสามารถเจรจาโต้ตอบกันเป็นโคลงทีเดียว  แม้แต่เด็กชายศรี บุตรชายพระโหราธิบดี ภายหลังได้เป็น "ศรีปราชญ์"ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 7 ขวบ(บางตำราว่า 9 ขวบ บางตำราก็ว่า 12 ขวบ) ยังสามารถต่อโคลงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้
สมเด็จพระนารายณ์              อันใดย้ำแก้มแม่         หมองหมาย
                           ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย         ลอบกล้ำ
ศรีปราชญ์                    ผิวชนแต่จะกราย           ยังยาก
                           ใครจักอาจให้ช้ำ             ชอกเนื้อเรียมสงวน
ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์แต่งโคลงกระทู้แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  เมื่อเดินกลับออกมานายประตูก็ทักทายศรีปราชญ์เป็นโคลง  ส่วนศรีปราชญ์ก็ตอบโต้เป็นโคลงดังนี้
นายประตู                        แหวนนี้ท่านได้แต่               ใดมา
ศรีปราชญ์                       เจ้าพิภพโลกา                   ท่านให้
นายประตู                        ทำชอบสิ่งใดนา                 วานบอก
ศรีปราชญ์                       เราแต่งโคลงถวายไท้          ท่านให้รางวัล
             เมื่อครั้งที่ศรีปราชญ์ได้รับพระราชทานนามว่า “ศรีปราชญ์”  ได้เจรจาโต้ตอบกับพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ดังนี้
พระยาแสนหลวง          รังศรีพระเจ้าฮื่อ                    ปางใด
ศรีปราชญ์                    ฮื่อเมื่อเสด็จไป                      ป่าแก้ว
พระยาแสนหลวง          รังศรีบ่สดใส                          สักหยาด
ศรีปราชญ์                    ดำแต่นอกในแผ้ว                  ผ่องเนื้อนพคุณ
    การโต้ตอบกันด้วยโคลงระหว่างศรีปราชญ์กับพระเยาวราช  เป็นที่มาของบทเพลงสุนทราภรณ์  เพลงพรานล่อเนื้อ  ที่แต่งในเวลา  300 ปีต่อมา 
พระยาเยาวราช          เจ้าอย่าย้ายคิ้วช่ำ          เมลืองมา
                            อย่าม่ายเมียงหางตา             ล่อเหล้น
                           จะมาก็มารา                            อย่าเหนี่ยว  นานเลย
                           ครั้นพี่มาอย่าเร้น                    เรียกเจ้าจงมา
ศรีปราชญ์                 เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้            เรียมเหงา
                           ดูดุจนายพรานเขา                  ส่อเนื้อ
                           จะยิงก็ยิงเอา                           อกพี่  ราแม่
                           เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ                   เงือดแล้วราถอย
 เพลงพรานล่อเนื้อ
              เจ้ายักคิ้วให้พี่   เจ้ายิ้มในทีเหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์        ยั่วเรียมให้เหงามิใช่เจ้าชื่นชม   อกเรียมก็ตรม ตรมเพราะคมตาเจ้า
            เรียมพะวักพะวง   เรียมคิดทะนง แล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อ เงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา    ยั่วใจให้เมา เมาแล้วยิงนั่นแล
            น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง   หากเจ้าหมายยิงก็ยิงซิแม่           ยิงอกเรียมสักแผล   เงื้อแล้วแม่อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ
           เรียมเจ็บช้ำอุรา   เจ้าเงื้อเจ้าง่าแล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด        เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป   เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย  
 
ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์ได้ทักทายพระสนมเป็นโคลงว่า
                         ไยแม่หิ้วนั้นใช่                    จักตก
               เอาพระกรมาปก                            ดอกไม้
              สองมือทาบตีอก                             ครวญใคร่  เห็นนา
              หัวยะยิ้มรอยให้                              พี่เต้าไปหา
พระสนมไม่พอใจจึงตอบโต้ศรีปราชญ์เป็นโคลงเช่นกัน
                       หะหายกระต่ายเต้น               ชมจันทร์
            มันบ่เจียมตัวมัน                                ต่ำต้อย
            นกยูงหากกระสัน                              ถึงเมฆ
            มันบ่เจียมตัวมัน                                ต่ำต้อยเดียรฉาน
ศรีปราชญ์ถูกพระสนมเปรียบเปรยเช่นนั้นจึงใช้โวหารยอกย้อนกลับเป็นโคลง ว่า
                    หะหายกระต่ายเต้น                   ชมแข
           สูงส่งสุดตาแล                                    สู่ฟ้า
          ฤดีฤดูแด                                             สัตว์สู่  กันนา
          อย่าว่าเราเจ้าข้า                                  อยู่พื้นเดียวกัน
                การใช้คารมตอบโต้กับพระสนมในครั้งนั้นทำให้ชีวิตที่กำลังรุ่งโรจน์ของศรีปราชญ์ต้องพลิกผัน   ศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช  และจบชีวิตลงที่นั่น  ฝากไว้เพียงโคลงบทสุดท้ายในชีวิตกวีเอกแห่งกรุงศรีอยุธยา
                    ธรณีนี่นี้                                  เป็นพยาน
         เราก็ศิษย์มีอาจารย์                           หนึ่งบ้าง
         เราผิดท่านประหาร                            เราชอบ
         เราบ่ผิดท่านมล้าง                             ดาบนี้คืนสนอง
 

 
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 21:07

เป็นวรรคสี่ของโคลงสี่สุภาพ จัดวรรคตอนดังนี้ครับ

ดำแต่นอกในแผ้ว  ผ่องเนื้อนพคุณ


ศรีปราชญ์หมายถึงอะไร?

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ส.ค. 12, 21:24

๏ ขนุนสุกสล้างแห่ง           สาขา
ภายนอกเห็นหนามหนา       หนั่นแท้
ภายในย่อมรสา                เอมโอช
สาธุชนนั้นแล้                  เลิศด้วยดวงใจ ๚ะ๛

โคลงโลกนิติ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 16:15

โคลงของศรีปราชญ์ที่คุณ sujitra ยกมาจากเว็บไซต์หนึ่งในอินทรเนตรนั้น  มาจากหนังสือชื่อ ตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์) ในรัชกาลที่ 5 นี้เองค่ะ   จนบัดนี้ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่ามีตัวตนจริงหรือไม่    อาจไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ใช่คนเดียวกับที่แต่งนิราศเรื่อง กำศรวล  หรือก่อนหน้านี้เรียกว่า กำศรวลศรีปราชญ์
เมื่อดิฉันเรียนอยู่ในคณะอักษรฯ   อาจารย์ให้เอกสารมาอ่าน  เป็นหนังสือเล่มเล็กๆของอาจารย์ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  วิเคราะห์เรื่องกำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งมีเนื้อหาอย่างที่คุณ sujitra ยกมา   ในข้อวิเคราะห์ของท่านนแสดงความเคลือบแคลงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับตัวตนจริงของกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์  โดยสอบข้อมูลจากพระราชพงศาวดารต่างๆ    พบว่าไม่มีการสั่งประหารพระยานครศรีธรรมราชในปลายสมัยพระนารายณ์ หรือแม้แต่ในสมัยถัดมา คือพระเพทราชา
นอกจากนี้นักวรรณคดียังมองเห็นความแปลกแยกทางภาษาระหว่างโคลงกำศรวล  ซึ่งใช้โคลงดั้น และโคลงในตำนานศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ   พบว่ากำศรวลใช้ภาษาเก่ากว่ามาก   เป็นคนละยุคคนละสมัยกัน     เนื้อความในกำศรวลก็ไม่ตรงกับเนื้อความในตำนานศรีปราชญ์   กวีผู้แต่งกำศรวล มีภูมิหลังเป็นคนใหญ่คนโต เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาแบบผู้เดินทางอย่างเป็นทางการ มีคนมาส่งมากมาย   ไม่ใช่อย่างข้าราชสำนักที่ถูกเนรเทศ
มีรายละเอียดอีกหลายอย่างค่ะ ทำให้นักวรรณคดีเชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ในตำนาน อาจอยู่แต่ในตำนานเท่านั้น  ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 16:18

นำบทความคุณสุจิตต์ วงษ์เทศมาให้พิจารณา

ศรีปราชญ์

"ศรีปราชญ์"ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง"กำสรวลศรีปราชญ์"

คอลัมน์ สยามประเทศไทย

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ศรีปราชญ์แต่งโคลงกำสรวลศรีปราชญ์และอนิรุทธคำฉันท์ ใครๆ ก็เรียนมาอย่างนี้และรู้มาอย่างนี้ ผมเองก็เรียนและรู้อย่างนั้นไม่ผิดเพี้ยน ยังเคยลงไปสำรวจถึง สระล้างดาบ เล่มที่ฆ่าศรีปราชญ์ เมืองนครศรีธรรมราช

ต่อมาอีกนานถึงได้อ่านหนังสื่อชื่อ กำศรวญศรีปราชญ์-นิราศนรินทร์ โดย พ. ณ ประมวญมารค พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2502 เกือบ 50 ปีแล้ว จนได้เฝ้า หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี "ท่านจันทร์" ถึงได้รู้ว่าเป็นนามปากกาของท่าน แล้วทรงเมตตาให้ถกถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นครั้งคราว
บรรดานักปราชญ์กับนักค้นคว้า รวมถึงนักวิชาการเกือบหมดประเทศ ต่างเชื่อถือ แล้วแต่ง "ตำรา" ใช้สอนในสถาบันทุกระดับว่า ศรีปราชญ์แต่งกำสรวลศรีปราชญ์  แต่ พ. ณ ประมวญมารค (หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี) คัดค้านเรื่องนี้ไว้นานแล้วว่าศรีปราชญ์ไม่ได้แต่งกำสรวลศรีปราชญ์ ทรงมีพระนิพนธ์เป็นหนังสือเล่มโต พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 มีความตอนหนึ่งโดยสรุปว่า

"ข้าพเจ้าจะแสดงจากตัวบทกำสรวญว่าปฏิภาณกวีในสมัยพระนารายณ์ ที่เรารู้จักกันว่าศรีปราชญ์ มิได้แต่งนิราศที่เรารู้จักกันว่ากำสรวญศรีปราชญ์"
พ. ณ ประมวญมารค เรียกชื่อวรรณคดีนี้ว่า กำสรวลสมุทร (ตามชื่อในจินดามณี) แทนชื่อเรียกผิดๆ ว่า กำสรวลศรีปราชญ์ โดยมีพยานหลักฐาน และลักษณะกวีวรโวหาร ฉันทลักษณ์ รวมถึงประวัติศาสตร์โบราณคดีที่กรุงศรีอยุธยา สอดคล้องกันว่า กำสรวล เป็นพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระบรมราชาธิราช (โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ)
หลังทำพจนานุกรมฉบับมติชนเสร็จแล้ว ผมเลยอาราธนาอาจารย์ ล้อม เพ็งแก้ว และคณะ ช่วยเอาเวลาว่างๆ ชำระกำสรวลสมุทรขึ้นใหม่อีกครั้ง เสร็จแล้วได้พิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อ กำสรวลสมุทร หรือ กำสรวลศรีปราชญ์ เป็นพระราชนิพนธ์ยุคต้นกรุงศรีอยุธยา โดยสรุปว่า "ศรีปราชญ์" ไม่มีตัวตนจริง และไม่ได้แต่ง "กำสรวลศรีปราชญ์" โดยรวบรวมเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้องมาพิมพ์รวมไว้หมด

ความทรงจำเรื่องศรีปราชญ์มีขึ้นจากความพยายามยกย่องของ พญาตรัง กวีสมัยต้นกรุงเทพฯ แผ่นดินรัชกาลที่ 1-3 ที่ประวัติส่วนตัวใกล้เคียงกับ "ตำนานศรีปราชญ์" ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) แต่งขึ้นใหม่เมื่อเรือน พ.ศ.2462 แผ่นดินรัชกาลที่ 6 นี้เอง แต่เราเอามายึดเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แล้วบรรจุเป็นตำราว่าถูกต้องทุกอย่างจนปัจจุบัน

สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ควรเผยแพร่แบ่งปันความรู้ที่มีพยานหลักฐานจริงๆ และรอบด้าน ไม่ควร "ยกเมฆ"
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 17:25

โคลงของศรีปราชญ์ที่คุณ sujitra ยกมาจากเว็บไซต์หนึ่งในอินทรเนตรนั้น  มาจากหนังสือชื่อ ตำนานศรีปราชญ์ เรียบเรียงโดยพระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์) ในรัชกาลที่ 5 นี้เองค่ะ   จนบัดนี้ก็ยังเป็นที่เคลือบแคลงว่ามีตัวตนจริงหรือไม่    อาจไม่มี หรือถ้ามีก็ไม่ใช่คนเดียวกับที่แต่งนิราศเรื่อง กำศรวล  หรือก่อนหน้านี้เรียกว่า กำศรวลศรีปราชญ์
เมื่อดิฉันเรียนอยู่ในคณะอักษรฯ   อาจารย์ให้เอกสารมาอ่าน  เป็นหนังสือเล่มเล็กๆของอาจารย์ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  วิเคราะห์เรื่องกำศรวลศรีปราชญ์ ซึ่งมีเนื้อหาอย่างที่คุณ sujitra ยกมา   ในข้อวิเคราะห์ของท่านนแสดงความเคลือบแคลงสงสัยหลายอย่างเกี่ยวกับตัวตนจริงของกวีเอกสมัยสมเด็จพระนารายณ์  โดยสอบข้อมูลจากพระราชพงศาวดารต่างๆ    พบว่าไม่มีการสั่งประหารพระยานครศรีธรรมราชในปลายสมัยพระนารายณ์ หรือแม้แต่ในสมัยถัดมา คือพระเพทราชา
นอกจากนี้นักวรรณคดียังมองเห็นความแปลกแยกทางภาษาระหว่างโคลงกำศรวล  ซึ่งใช้โคลงดั้น และโคลงในตำนานศรีปราชญ์ ซึ่งเป็นโคลงสี่สุภาพ   พบว่ากำศรวลใช้ภาษาเก่ากว่ามาก   เป็นคนละยุคคนละสมัยกัน     เนื้อความในกำศรวลก็ไม่ตรงกับเนื้อความในตำนานศรีปราชญ์   กวีผู้แต่งกำศรวล มีภูมิหลังเป็นคนใหญ่คนโต เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาแบบผู้เดินทางอย่างเป็นทางการ มีคนมาส่งมากมาย   ไม่ใช่อย่างข้าราชสำนักที่ถูกเนรเทศ
มีรายละเอียดอีกหลายอย่างค่ะ ทำให้นักวรรณคดีเชื่อกันว่า ศรีปราชญ์ในตำนาน อาจอยู่แต่ในตำนานเท่านั้น  ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์

ขอบคุณท่านอาจารย์ใหญ่มากครับที่ช่วยชี้แนะ
ผมคิดว่านี่เป็นเส่ห์อย่างมากของเว็บนี้คือช่วยกันพิจารณาวิพากษ์สิ่งที่เข้ามาในเว็บวิชาการนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 18:07

ถ้าคุณ sujittra เจอเรื่องที่น่าสนใจแบบนี้อีก ขอเชิญเข้ามาโพสต์ให้วิเคราะห์วิจารณ์กันอีกนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 20:03

ชื่อ ศรีปราชญ์ นี้มีอยู่ใน คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม 

อัน พระสุริเยนทราธิบดี นั้น พระองค์พอพระทัยเล่นกาพย์ โคลง ฉันท์ ทั้งพระราชนิพนธ์ของพระองค์ก็ดี จึ่งมหาดเล็กคนหนึ่งเปนนักปราชญ์ช่างทำกาพย์โคลงฉันท์ดีนัก พระองค์โปรดปรานแล้วประทานชื่อเสียงเรียกว่า ศรีปราชญ์ เปนสาหรับได้ทำโคลงหลวง ครั้นอยู่มาศรีปราชญ์นั้นทำโคลงให้กับพระสนมข้างใน ครั้นพระองค์ทราบก็ทรงพระโกรธ แต่ไม่ลงโทษทัณฑ์จึ่งส่งไปไว้เมืองนคร

ศรีปราชญ์จึงต้องไปอยู่เมืองนครตามรับสั่ง ศรีปราชญ์จึ่งไปทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้นเจ้าเมืองนครรู้ว่าศรีปราชญ์นี้ ทำโคลงให้กับเมียน้อยของตัวนั้น จึ่งขึ้งโกรธแล้วจึ่งเอาตัวศรีปราชญ์ไปฆ่าเสีย เมื่อจักฆ่าศรีปราชญ์นั้น ศรีปราชญ์จึ่งว่าเรานี้เปนนักปราชญ์หลวง แล้วก็เปนลูกครูบาอาจารย์ แต่องค์พระมหากษัตริย์ยังไม่ฆ่าเราให้ถึงแก่ความตาย ผู้นี้เปนแต่เจ้าเมืองนครจักมาฆ่าเราให้ตาย เราก็จักต้องตายด้วยตามเจ้าเมืองนคร สืบไปเมื่อหน้าขอให้ดาบอันนี้คืนสนองเถิด ครั้นศรีปราชญ์ว่าแช่งไว้ดังนั้นแล้ว ศรีปราชญ์ก็ตายด้วยตามเจ้าเมืองนครสั่ง ที่ศรีปราชญ์เขียนแช่งไว้นั้นเปนคำโคลง เขียนกับแผ่นดินให้เปนทิพยพยาน

ครั้นอยู่มาพระองค์มีรับสั่ง ให้เรียกหาตัวศรีปราชญ์ ก็ไม่ได้ดังพระประสงค์ เสนาจึงกราบทูลว่า พระยานครฆ่าเสีย อันว่าศรีปราชญ์นั้นถึงแก่ความตาย แล้วพระองค์จงตรัสถามเสนาว่า ศรีปราชญ์มีโทษประการใด จึ่งฆ่ามันเสีย เสนาจึ่งทูลว่า ศรีปราชญ์ทำโคลงให้กับภรรยาน้อยเจ้าเมืองนคร ครั้งเจ้าเมืองนครรู้ก็โกรธ จึ่งฆ่าศรีปราชญ์เสีย พระองค์ก็ทรงพระโกรธ แล้วจึ่งตรัสสั่งว่าอันศรีปราชญ์นี้เปนนักปราชญ์ แล้วก็เปนสำหรับเล่นกาพย์โคลงกับกู โทษมันแต่เพียงนี้ แต่กูยังไม่ฆ่ามันให้ตาย อ้ายเจ้าเมืองนครมันไม่เกรงกู มันฆ่าศรีปราชญ์เสียให้ตาย มันทำได้จึงมีรับสั่งกับเสนาให้เร่งออกไป แล้วเอาดาบเจ้าเมืองนครที่ฆ่าศรีปราชญ์นั้นฆ่าเจ้าเมืองนครเสียให้ตาย เสนาก็ถวายบังคมลา แล้วจึงออกไปถึงเมืองนคร ครั้งถึงจึงเอาดาบที่เจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์นั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครฆ่าศรีปราชญ์นั้น ฆ่าเจ้าเมืองนครเสียตาม มีรับสั่งอันเจ้าเมืองนครนั้นก็ถึงแก่ความตายด้วยพระราชอาญา

  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 21:05

พระสุริเยนทราธิบดี  หมายถึง พระเจ้าเสือ  ทรงพระนามอย่างเป็นทางการว่าพระบาทสมเด็จพระสรรเพชญที่ 8  เป็นพระราชโอรสของพระเพทราชา ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ.ศ. 2246-2251  พงศาวดารไม่ได้บันทึกไว้ว่าโปรดเรื่องกวีนิพนธ์  พระราชกรณียกิจหนักไปทางด้านศาสนา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 21:31

เนื้อหาเกี่ยวกับศรีปราชญ์ในคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมตรงกันกับคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด

คุณพุ่มคงทราบตำนานศรีปราชญ์นี้ดีจึงแต่งเอาไว้ใน เพลงยาวเฉลิมพระเกียรติ ตอนหนึ่งดังนี้

ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ         ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร
เป็นพาหนะพระที่นั่งอลังการ             เกิดอาจารย์ท่านครูภู่สุนทร
แกก็แต่งพระอภัยขึ้นไว้ขาย              เรื่องนิยายขี้ปดสยดสยอน
แผ่นดินทุ่งกรุงเก่าเจ้านิกร               อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา
นามพระศรีสุริเยนทร์นเรนทร์ราช        เกิดศรีปราชญ์ปรากฏไว้ยศถา
ครั้งบุรินทร์พระนารายณ์สู้สายฟ้า        เป็นบิดาขุนหลวงเดื่อเชื้อกวี
เกิดมหาราชครูชูฉลาด                   ได้รองบาทบงกชบทศรี
แต่งพระลอดิลกทรงหลงสตรี            กับพระศรีสมุทโฆษก็โปรดปราน

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 22:11

 อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา  ที่คุณพุ่มเรียก หมายถึงพระเจ้าท้ายสระ   พระโอรสของพระเจ้าเสือ   มีพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า ‘สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙’  แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า  ‘ขุนหลวงท้ายสระ’ บ้าง 'ขุนหลวงทรงปลา' บ้าง  เพราะว่ากันว่าโปรดประทับพระที่นั่งท้ายสระสำหรับทรงตกปลา  โปรดเสวยปลาตะเพียนและเพดานปลากะโห้ด้วย
ไม่ได้หมายถึงพระเจ้าเสือ   ซึ่งในนี้คุณพุ่มเรียกว่า ขุนหลวงเดื่อ     นอกจากนี้เธอยังระบุไว้ด้วยว่าพระมหาราชครู(หรือพระโหราธิบดี)ซึ่งในตำนานบอกว่าเป็นบิดาของศรีปราชญ์ เป็นกวีสมัยสมเด็จพระนารายณ์   ถอยหลังไปอีกถึง 2 รัชสมัย     ถ้านับตามอายุแล้วศรีปราชญ์ไม่น่าจะเป็นหนุ่มอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าท้ายสระ  น่าจะวัยกลางคนหรือแก่แล้ว

ความเชื่อเรื่องตำนานศรีปราชญ์มีมาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์   นายนรินทร์ธิเบศร์มหาดเล็กวังหน้าของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นคนแรกที่เอ่ยถึงศรีปราชญ์ในฐานะผู้แต่ง "กำศรวล"  และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในฐานะคนรัก     ทำให้เชื่อกันต่อมาอีกยาวนานกว่านิราศโคลงดั้นเรื่อง "กำศรวล" เป็นผลงานของศรีปราชญ์   ประกอบกับกวีเรียกตัวเองว่า "ศรี" ด้วย  จึงสอดคล้องกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยมาอีกนานนับร้อยปีในสมัยรัตนโกสินทร์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ส.ค. 12, 22:41

อดิศรสุริยวงศ์ที่ทรงปลา นั้น นามพระศรีสุริเยนทร์นเรนทร์ราช หนา  พระเจ้าเสือก็ทรงโปรดการตกปลามิใช่ฤๅ

เป็นไปได้ว่า "ศรีปราชญ์" ตามตำนานมีตัวตนจริง แต่ไม่ได้แต่ง "กำสรวลศรีปราชญ์"

 ยิงฟันยิ้ม
     
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.099 วินาที กับ 20 คำสั่ง