ในสยามประเภทเล่ม ๑ หน้า ๗๕-๗๖ นายกุหลาบได้ลงพิมพ์สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ ไว้ดังนี้
สำแดงเกียรติยศทั้งสองฝ่าย
ผู้ให้และผู้รับ
(สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ)
หอพระสมุดวชิรญาณ
ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ
(ดวงตรา)
ณวันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำปีรกาสัปตศก
๑๘ ๑๒๔๗
ถึง นายกุหลาบแอศยุแตนตืผู้ว่าการกรมทหารกองลาดตระเวรลำน้ำเจ้าพระยาทราบ ด้วยมีรับสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรสภานายก ให้เชิญท่านเข้าไปรับพระราชทานตราตั้ง เปนกรรมสัมปาทิกณะหอพระสมุดวชิรญาณ ณวันพุฒเดือนสิบสองขึ้นห้าค่ำ ปี ๑๒๔๗ เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระแท่น ออกขุนนางณะพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท
(ทรงลงพระนามว่า) โสณบัณฑิตย์
เลขาธิการ
ตามไปตรวจดูข่าวราชการในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ ออกเมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบสอง แรมแปดค่ำ ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ หน้า ๔๒๙ มีข้อความว่า
ข่าวราชการ
วันพุฒ เดือนสิบสอง ขึ้นห้าค่ำ ปีรกาสัปตศก เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว เสดจออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ พระมนตรีพจนกิจนำบอกเมืองอินทบุรี ๑ ฉบับ เมืองไชยนาท ๒ ฉบับ เมืองปาจิณบุรี ๑ ฉบับ รวม ๔ ฉบับ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณากับพระสุรินทรามาตยนำบอกเมืองนครศรีรรมราชขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ๑ ฉบับ
แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งกรรมสัมปาทิกะหอพระสมุดวชิรญาณ ครั้นสิ้นราชการแล้วเสดจขึ้น...
วันเวลาในข่าวราชการตรงกับวันเวลาที่นัดหมายไว้ในสำเนาหนังสือที่นายกุหลาบเอามาลง แต่เพื่อให้แน่ต้องไปตรวจดูในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ ปี ๑๒๔๗ ประกอบด้วย จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๔๘ - ๔๙
วันพุธ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีระกาสัปตสก จุลสักราช 1247 เวลาบ่าย 5 โมงเสส สเด็ดออกประทับห้องออกขุนนางวงปิดทองพระแล้วสเด็ดขึ้นพระแท่นออกขุนนาง ...ฯลฯ... แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยะยสมงกุตสยามชั้นที่ 4 ภัทราภรน์ แก่หลวงอนุรักส์ภูเบสซึ่งได้ตามสเด็ดกรมหมื่นพิชิตปรีชากรไปราชการเมืองเชียงไหม่ 1 และพระราชทานตราตั้งผู้ช่วยจัดการหอสมุดวชิรญาน คือพระองค์ไชยาเปนปติคม 1 พระยาภาสกรวงส์ 1 พระยาสรีสุนทร 1 นายจรพรหมธิบาล 1 ทั้ง 3 นายเปนผู้ช่วยฝ่ายขุนนาง แล้วสเด็ดขึ้นประทับออฟฟิสครู่หนึ่งสเด้ดขึ้น
หมายเหตุ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ นี้ พิมพ์ในช่วงที่บังคับใช้อักขรวิธีตามนโยบายจอมพล ป. พิบูลสงคราม อาจจะอ่านสะดุดบ้างสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย ทั้งนี้ได้ลองตรวจสอบกับต้นฉบับจริงของจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี ๑๘๘๕ แล้ว ข้อความตรงกัน ต่างกันเพียงอักขรวิธีสะกดตามสมัยนิยมเท่านั้น
เมื่อเป็นอย่างนี้ มีข้อสงสัยขึ้นว่า ไหนว่า นายกุหลาบได้รับหนังสือให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณตามที่เลขาธิการหอพระสมุดมีหนังสือมาถึงนายกุหลาบ แต่พอถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งจริง ทำไมกลับไม่มีชื่อนายกุหลาบเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้ง เกิดอะไรขึ้นกันแน่ นายกุหลาบลงพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม? หรือเกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น?
