เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61280 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 15:45

ติดตามอ่านด้วยความสนใจ
ขอถามว่าประวัติศาสตร์สุโขทัยเล่มนี้  นายกุหลาบบอกหรือเปล่าว่าได้มาจากที่ไหน

นายกุหลาบบอกไว้หลายแห่งคล้ายๆ กันว่า

"...บัดนี้จักขออธิบายถึงเรื่องกำเหนิด  ต้นเหตุที่จะบังเกิดชนชาวชาติไทยมีขึ้นในแผ่นดินศยามนี้   ซึ่งจักได้คัดย่อความออกมาจากพระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ผูก   ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี   เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก  ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ  ภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อจึ่งได้คัดข้อย่อความจับเลือกคัดในตอนปลายสุดท้ายในผุกที่ ๑๙ มีใจความตามพระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัยดั่งนี้..."

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ   ที่นายกุหลาบอ้างถึงนี้   น่าจะหมายถึง  ท่านเสนาบดีกรมวังในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นบรรพบุรุษต้นสกุล  บุณยรัตพันธุ์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 16:02

อ้างถึง
พระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ผูก   ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี   เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก  ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ  ภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อ
พระราชพงศาวดารฉบับที่ว่านี้  มีให้อ่านไหมคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 16:25


จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 เจ๋ง



นอกจากนี้  ยังชี้ให้เห็นว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์เรื่องรัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งให้นำตัวนายกุหลาบไปคุมไว้ที่โรงพยาบาลคนเสียจริต เหตุเพราะนายกุหลาบเขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษลงประกาศในสยามประเภท  จากความทรงจำหาใช่จากข้อมูลเอกสาร  ทำให้ข้อมูลบางประการคลาดจากความเป็นจริง  

อีกทั้งทรงผูกเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษของนายกุหลาบใหม่ให้ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย  อันนี้สำคัญเพราะคนรุ่นหลังก็พลอยเชื่อตามพระนิพนธ์ไปหมดโดยไม่ได้ไปตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น    

อย่างไรก็ตาม    นายกุหลาบก็ยังคงไม่สามารถพ้นข้อกล่าวโทษที่ว่า  เป็นผู้แต่งแปลงปลอมหนังสือเอาตามใจ  ไปได้    กระทู้นี้นับตั้งแต่ตั้งขึ้นมาโดยคุณวันดี และมีผม คุณเพ็ญชมพู คุณเทาชมพู แวะเวียนกันเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับนายกุหลาบ    เหตุผลหนึ่งก็เพื่อแสดงให้เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนไทยคนหนึ่งในอดีตที่มีความสำคัญ น่าสนใจศึกษาชีวิต    ถึงแม้ว่าสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ตลอดจนวิธีการได้ครอบครองข้อมูลบางอย่างของนายกุหลาบ จะไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนยุคหลังก็ตาม  (แต่เราก็ยังเห็นนักวิชาการ นักเขียนทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงลอกงานเขียนของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเองอยู่เสมอ)  จนมีคนกล่าวว่านายกุหลาบทำผิดจรรยาบรรณของนักวิชาการ  ซึ่งก็เป็นจริงประการหนึ่ง   กระนั้นเราก็ไม่ควรไปตราเหมารวมว่างานทุกชิ้นของนายกุหลาบเป็นเท็จ  เชื่อไม่ได้ไปเสียหมด  ตราบเท่าที่เราคนรุ่นหลังยังไม่ได้พิสูจน์โดยการได้อ่านเอกสารของนายกุหลาบเสียก่อน   ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เชื่อหรือพยายามคัดค้านต่อต้านพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ และพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   แต่เพราะหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  เราจึงต้องอ่าน  ค้นคว้า และตรวจสอบเพื่อให้เห็นจริง      มิฉะนั้นนายกุหลาบจะถูกหลงลืมไปเหมือนกับที่เราหลงลืมคนไทยในอดีตหลายคนไป  โดยไม่มีใครสามารถค้นหาข้อมูลได้เลย    


ทุกวันนี้สิ่งพิมพ์ของนายกุหลาบทุกชิ้น  เป็นของหายาก  และเป็นที่แสวงหาของนักสะสมหนังสือเก่าและนักวิชาการกันมาก ทุกครั้งที่มีข่าวว่ามีหนังสือของนายกุหลาบสักชิ้นหลุดออกจากกรุหนังสือของผู้ใดมาสู่ท้องตลาด  ก็ย่อมเป็นจะกลายข่าวสะพัดไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนเหล่านี้ แม้อาจจะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคม   แต่นั่นก็เท่ากับยืนยันได้ว่า  สิ่งพิมพ์ของนายกุหลาบได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่งของประวัติสิ่งพิมพ์ในสยามประเทศไปแล้ว   เจ๋ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 17:04

น่าทึ่งมาก  ขอขอบคุณ คุณวันดี คุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็กที่ตามศึกษางานของนายกุหลาบ อย่างจริงจังจนได้คำตอบมา
ในเมื่อมีข้อพิสูจน์ว่า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง    ดิฉันก็ขอถอนความคิดเดิมออกโดยไม่มีข้อแย้ง

คำถามสุดท้าย   นายกุหลาบถูกส่งไปโรงพยาบาล ในฐานะคนไข้สติเฟื่อง     เพราะถูกมองว่าเฟื่องเรื่องปลอมพระราชพงศาวดาร   ไม่ใช่เรื่องแต่งเติมอ้างชื่อพระจุลปิ่นเกษ
ใช่ไหมคะ

ป.ล. ขอความเห็นใจจากหลักกาลามสูตรหน่อยเถิดว่า หลักฐานจากหนังสือนายกุหลาบ หายากเหลือเกิน
ถ้ามีในหอสมุดแห่งชาติ  หรือหอสมุดในมหาวิทยาลัย ป่านนี้นักวิชาการเขาก็คงหาเจอเสียนานแล้ว
แต่ถ้ามีแต่ในคอลเลคชั่นส่วนตัวของท่านนักสะสม   นานๆปี  จะหลุดออกมาสักเล่ม    นักวิชาการส่วนใหญ่ก็จนปัญญา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 03 เม.ย. 10, 19:05

กลับไปอ่านเรื่องนี้แต่แรกอีกครั้ง ด้วยหลักกาลามสูตร  เกิดคำถามให้คุณหลวงเล็กและคุณเพ็ญชมพู รวมทั้งท่านอื่นๆด้วย  ช่วยกันไขข้อข้องใจ
พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯระบุว่า
"จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือ ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษ และพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยราชา(ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นพระยาอิทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดฯให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป

ในเมื่อ สยามประเภทที่หามาได้ในกระทู้นี้   ไม่มีเรื่องพระจุลปิ่นเกษเสียบ้านเมือง     จะให้เข้าใจว่า
๑   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ทรงเล่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง     ถ้าอย่างนั้น เรื่องที่คลาดเคลื่อนคือตรงไหน?
- ตรงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า มิได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือแล้วกริ้ว     อย่างที่สมเด็จฯทรงเล่ามา
- ตรงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทอดพระเนตรเห็นสยามประเภทแล้วกริ้วจริงๆ  แต่มิได้กริ้วเรื่องพระจุลปิ่นเกษเสียบ้านเมือง   อาจจะกริ้วเรื่องอื่น  แต่สมเด็จฯทรงเล่าคลาดเคลื่อนเองว่าเป็นเรื่องนี้  จะเป็นเพราะทรงจำผิดหรืออะไรก็ตาม
๒  สยามประเภทที่ค้นมาลงในกระทู้นี้  ยังมีไม่ครบ  อาจมีพงศาวดารสุโขทัยอีกตอนหนึ่ง ในสยามประเภท เล่มอื่น  ที่เล่าเรื่องพระจุลปิ่นเกษจริงๆ   แต่ไม่อยู่ในเล่มที่หามาได้

อยากถามความเห็นค่ะ ว่า "น่าจะ" เป็นข้อไหน  ตามความเข้าใจของคุณ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 03 เม.ย. 10, 23:35

ผมขออนุญาตชวนคุณเทาชมพูกลับไปอ่านพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ อีกครั้งหนึ่งนะครับ

อ้างถึง
สวนดุสิต

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า     นายกุหลาบซึ่งเขียนชื่อตัวเองใช้หนังสือนำว่า  ก.ส.ร.  ผู้ออกหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่าสยามประเภทได้แต่งเรื่องราว    ซึ่งเปนความโกหกแซกแซงลงในความจริงมาช้านาน    ปรากฏอยู่แก่ผู้ซึ่งมีความรู้แลมีปัญญาทั่วหน้าแล้วนั้น   บัดนี้แต่งข้อความต่อมานอกความจริง    โกหกขึ้นใหม่ทั้งเรื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน    คำที่โกหกนั้นย่อมอาศรัยเทียบเคียงความที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารบ้าง   เทียบเคียงการที่เปนไปอยู่ในปัจจุบันนี้    ถ้อยคำแลทางความคิดแลเรียบใกล้ไปในทางสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งล่วงไปแล้ว    แลที่ยังดำรงอยู่เนืองๆ  หนักขึ้น    จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน   ข้อความทั้งนี้ย่อมปรากฏอยู่แก่ใจคนทั้งปวงว่า   ไม่มีความจริงในนั้นเลยโกหกขึ้นทั้งสิ้น   แต่กล้าหาญโกหกฟุ้งส้านยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน    จนถึงมิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ   ถ้าจะละเลยให้ฟุ้งส้านต่อไป   ก็จะแต่งความเทียบเคียงหยาบช้าหนักขึ้นกว่านี้

แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า   นายกุหลาบก็เปนคนมีอายุมากนับว่าชราอยู่แล้ว   แลความฟุ้งส้านเดิมของอัทยาศรัยนายกุหลาบใกล้ไปข้างทางเสียจริตนั้น   ก็ย่อมปรากฏอยู่แล้ว   การที่แต่งถ้อยคำฟุ้งส้านหนักขึ้นครั้งนี้จะเปนด้วยความเสียจริตนั้นกล้าขึ้นก็ได้   จึงดำรัสสั่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจับตัวนายกุหลาบไปส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕


สยามินทร


โปรดสังเกตดังนี้

ประการแรก  รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งว่า

"...จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน..."  

ในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า  

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือ ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษ และพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ..."

ขอให้พิจารณาข้อความนะครับ  รัชกาลที่ ๕ รับสั่งว่า นายกุหลาบลงข้อความโฆษณาว่า  นายกุหลาบมีบาญชีพระนามพระเจ้าแผ่นกรุงสุโขทัยทุกพระองค์  แล้วบอกว่า  พระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงศ์กรุงสุโขทัยนั้น ทรงพระนามว่า พระจุลปิ่นเกษ  ซึ่งทรงเข้าพระทัยว่า  นายกุหลาบหมายเอาพระนามพระจุลจอมเกล้าของพระองค์ไปแปลงเอาตามชอบ  แล้ววางไว้ท้ายที่สุดของวงศ์กรุงสุโขทัย  ซึ่งในรัชกาลพระจุลปิ่นเกษนั้น กรุงสุโขทัยเสียแก่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เข้าพระทัยต่อไปว่า นายกุหลาบคงจะหมายเอาพระองค์เป็นที่สุดแต่พระราชวงศ์ด้วย   นี่คือที่รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้ว ตรงนี้ครับ  เพราะเข้าพระทัยว่านายกุหลาบหมายถึงพระองค์โดยตรง

ส่วนสมเด็จกรมพระดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้นั้น  คลาดเคลื่อนไปจากข้อความพระราชหัตถเลขาเพียงใด   ก็เห็นกันอยู่ว่า      พระจุลปิ่นเกษไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระปิ่นเกษ  ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของกรุงสุโขทัย  หลังจากที่ทรงอพยพพระราชวงศ์พาไพร่พลจากเมืองเชียงแสนมาตั้งรกรากใหม่ที่กรุงสุโขทัย  ส่วนพระจุลปิ่นเกษเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงศ์ของกรุงสุโขทัยก่อนจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา   ตามที่นายกุหลาบเคยได้ลงไว้ในสยามประเภทตั้งแต่ฉบับแรกๆ เรื่อยมา  นายกุหลาบมักเอ่ยถึงแต่พระปิ่นเกษ ซึ่งเป็นกษัตริย์ต้นวงศ์สุโขทัย  แต่ไม่เคยเอ่ยถึงพระจุลปิ่นเกษไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุในครั้งนี้เลย   (มิฉะนั้น  รัชกาลที่ ๕ คงจะต้องทรงกริ้วมาก่อนหน้านี้   และโปรดสังเกตว่า การที่นายกุหลาบเอ่ยอ้างถึงพระปิ่นเกษมาก่อนหน้านั้น   รัชกาลที่ ๕ ก็ยังหาได้ทรงลงโทษทัณฑ์อย่างใดแก่นายกุหลาบไม่  อันนี้ต้องถามคุณเทาชมพูกลับว่าทำไม?)   นายกุหลาบเล่าไว้ในสยามประเภทหรือหนังสือเล่มอื่นของเขาว่า ตั้งแต่พระปิ่นเกษที่เป็นต้นวงศ์สุโขทัยมาจนที่สุดวงศ์นั้น เป็นเวลายาวนานถึง ๘๐๘ ปี รวมมีพระเจ้าแผ่นดินทั้งหมด ๔๖ พระองค์  (ซึ่งนายกุหลาบไม่เคยได้แจกแจงว่า ทั้ง ๔๖ รัชกาลนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าอย่างไรบ้าง  ได้แต่กล่าวถึงรัชกาลแรกและรัชกาลท้ายเท่านั้น)   ก็ถ้าพระปิ่นเกษเป็นต้นวงศ์สุโขทัย  และพระจุลปิ่นเกษเป็นที่สุดวงศ์สุโขทัย  ซึ่งวงศ์นี้ปกครองกรุงสุโขทัยมานานถึง ๘๐๘ ปีนั้น   ย่อมไม่มีทางที่พระจุลปิ่นเกษจะเป็นพระราชโอรสของพระปิ่นเกษได้เลย  ฉะนั้น  การที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงพระนิพนธ์ว่า  "...เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง..." จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ในเชิงตรรกะ

ประการต่อมา  รัชกาลที่ ๕  มีรับสั่งว่า  "หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน"  แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า "พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง"  ข้อความของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ความหมายในเชิงว่า  นายกุหลาบดูหมิ่นพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ ๕  ด้วย  การที่พระเจ้าแผ่นดินของบ้านเมืองหนึ่งจะทรงเสียบ้านเมืองแก่พระเจ้าแผ่นดินอีกบ้านเมืองหนึ่ง   บางทีก็ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงด้อยพระปรีชาสามารถ  แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไม่อาจจะต้านทานกำลังของข้าศึกได้  เช่น ข้าศึกยกมาล้อมหลายทิศทาง   หรือไม่ข้าศึกใช้กลอุบายในการโจมตีที่แยบคาย  หรือข้าศึกเป็นประเทศมหาอำนาจ  ในขณะที่บ้านเมืองของพระจุลปิ่นเกษเป็นบ้านเมืองน้อยจึงไม่อาจรักษาเอกราชได้  แม้จะได้ต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว  ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น   จากข้อความในพระราชหัตถเลขานั้น  รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้ทรงระบุแม้แต่น้อยว่า นายกุหลาบดูแคลนพระปรีชาของพระจุลปิ่นเกษ   มีแต่ในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เท่านั้น

คำถามต่อมา  ว่า สยามประเภทที่ค้นมาลงในกระทู้นี้  ยังมีไม่ครบ  อาจมีพงศาวดารสุโขทัยอีกตอนหนึ่ง ในสยามประเภท เล่มอื่น  ที่เล่าเรื่องพระจุลปิ่นเกษจริงๆ   แต่ไม่อยู่ในเล่มที่หามาได้  

เป็นคำถามที่ตอบได้ยากอยู่  เท่าที่ได้สอบถามจากคนที่ได้อ่านสยามประเภทมาอย่างโชกโชนคนหนึ่ง   เขาตอบว่า  นายกุหลาบเอ่ยถึงพระปิ่นเกษไว้ในสยามประเภทหลายครั้ง  แต่ละครั้งที่อ้างถึงนั้น  ไม่ปรากฏว่ามีพระจุลปิ่นเกษปรากฏอยู่ด้วยเลย   จึงเข้าใจว่า ในสยามประเภทที่ออกใน ปี ร.ศ. ๑๒๕ ฉบับใดฉบับหนึ่ง  คงจะมีการเอ่ยถึงพระจุลปิ่นเกาขึ้นมา  อันเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้ว  ถ้านายกุหลาบได้เคยเอ่ยมาก่อนหน้านี้  มีหรือที่รัชกาลที่ ๕ จะทรงเก็บเอาไว้มาทรงกริ้วในปีดังกล่าว

อนึ่ง  เรื่องพงศาวดารเกี่ยวกับกรุงสุโขทัยที่นายกุหลาบเล่าไว้ในสยามประเภทก็ดี ในหนังสืออื่นก็ดี  เป็นแต่การเล่าไว้บางตอน น้อยบ้าง มากบ้าง แต่การเล่าเฉพาะที่มีรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบนั้นยังไม่เคยปรากฏว่ามี    สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือ  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ความรู้เกี่ยวกับกรุงสุโขทัยในหมู่คนไทยยังมีน้อยกว่าทุกวันนี้หลายเท่า   ศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักเพิ่งจะมีการรวบรวมและได้พิมพ์เผยแพร่กันสมัยรัชกาลที่ ๖-๗   ในรัชกาลที่ ๕ เรามีแต่ พงศาวดารเหนือ  ที่รวบรวมเรื่องจากคำสอบถามในสมัยรัชกาลที่ ๒   พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ เกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ ๑   อภินิหารการประจักษ์และคำอ่านจารึกสุโขทัยภาษาขอม  พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  นอกจากนั้นก็มีนิทานพระร่วง  ซึ่งก็ยังไม่เป็นข้อมูลที่มากพอที่จะระบุได้ว่า กรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินกี่พระองค์  ตราบจนกระทั่งหลังสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาแล้ว  เราจึงได้มีข้อมูลมาพอที่ระบุว่ากรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินเท่าไร   นายกุหลาบคงเห็นว่า   คนยังไม่รู้เรื่องสุโขทัยตอนนั้นมีมาก  และคนก็กระตือรืนร้นที่จะรู้  แต่ข็อมูลยังมีไม่มากพอ   นายกุหลาบจึงสบโอกาสเหมาะที่แต่งเรื่องสุโขทัยขายให้คนอื่นๆ ในสังคมที่ต้องการใคร่รู้นั่นเอง
บันทึกการเข้า
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 04 เม.ย. 10, 17:04

 :)เรียนถามท่านผู้สันทัดกรณี
ก.ส.ร.กุหลาบใช้รูปไม้กางเขนในหนังสือหลายครั้ง หลายเล่ม ไม่ทราบว่า 1.มีนัยอะไรหรือไม่  2.เกี่ยวข้องอะไรกับสมาคมลับที่ท่านเป็นสมาชิกหรือไม่ครับ ตกใจ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 04 เม.ย. 10, 18:55

มีค่ะ


ถ้าหมายความถึงสมาคมลับคฤศตังอั้งยี่  หรือคฤศตังสมาคม  หรือ คฤศตังอั้งยี่สยาม  
ก.ศ.ร. ไม่ได้เป็นสมาชิกค่ะ
ท่านตั้งขึ้นมาเอง

สหายให้ดูอยู่หลายแว่บเหมือนกัน
หึๆ..........

คำนำดุเดือด   ทั้งเล่มมีตื่นเต้นอยู่ที่คำนำเท่านั้น
เป็นสมาคมลับ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านสมาคมลับอื่นๆ


พิมพ์แต่หนังสือพิมพ์ประวัติศาตร์เก่า ๆเพื่อแจกค่ะ     เผลอพิมพ์พงศาวดารจีนแจก ๑ เล่มด้วย
(นักสะสมติดต่อดิฉันมา  ถามเรื่องพงศาวดารจีนว่ามีจริงไหม  ทำนองนี้ล่ะค่ะ)


รายชื่อสมาชิกก็เป็นอนุรักษ์นิยมกันหลายคน   นักประวัติศาสตร์ก็หลายคน  ตอนนั้นไม่มีซ้ายหรือขวาหรอกค่ะ
ท่าน ๆ พบกันก็คงขัดคอกันเอง


ก.ศ.ร. ชอบพิมพ์หนังสือเป็นที่สุดค่ะ  แท่นว่างท่านก็พิมพ์อะไรต่อมิอะไร
หลายครั้งที่ท่านเก็บกระดาษที่ยังไม่ได้เข้าเล่ม  มาเย็บปกใหม่   ทีนี้ก็ งอม กันเลยค่ะ
เพราะจำนวนหน้าพิมพ์ไว้สามแห่ง คือ บน ล่าง และขวามือบน  ไม่ตรงกัน


เรื่องสยามประเภทที่ว่า      หลักฐานหลังสุดว่ามี ๑๒ เล่ม         ก็ยังไม่ถูกต้องค่ะ
ท่านพิมพ์ฉบับพิเศษทุกปีเลย    อิอิ


หนังสือชุดนี้มีหลายเล่มอีกแล้วค่ะ  จำนวนคงไม่มีใครทราบแน่ชัด


จะอ่านตำรายาที่แจกในงานศพท่านไหมคะ  ตำรายาพิเศษของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศว์ริยาลงกรณ์
พิมพ์ ๒๔๖๓ ค่ะ
หลายคนว่าตำราดี  หายากต่างหาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 05 เม.ย. 10, 14:46


จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 เจ๋ง

ข้อความข้างบนนั้นก็มีความคลาดเคลื่อนเช่นกัน

รออยู่นานเพื่อแก้ไข แต่ไร้คนทัก  ยิงฟันยิ้ม

ขออนุญาตแก้ไขข้อความ

ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ   -----> ในสยามประเภท พระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ

*********************************************************************************************


อยากให้คุณวันดีช่วยกรุณาขยายความเรื่องสมาคมลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ

รายชื่อสมาชิกมีใครบ้างหนอ

 ฮืม








บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 05 เม.ย. 10, 14:49

คนร่วมสมัยเขียนแสดงทัศนะเกี่ยวกับหนังสือสยามประเภทของนายกุหลาบ

"...บันดาเพื่อนบ้านที่เกิดมาชาติเดียวภาษาเดียวกันก็ชวนกันล่วงลับไปแล้ว    ข้าพเจ้าจะลองนับดู  (ใครจะว่ารู้ก่อนเกิดก็ช่าง)   มีรัตนทวารา-พ่อนั่นไม่ถึงขวบสู่ปรโลก.  สารเสวตร์  เถอะพี่นี่ยาวหน่อย   สากล-ถึงวันหรือไม่ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้.  วิทยาจาริย์-ดูเหมือนเอดิเตอร์ขึ้นสวรรค์เสียแล้ว   ลักวิทยา-อ๊ะ  ชาติเดียวกัน  แต่ภาษ-เอาเถอะไทยเหมือนกันก็ภาษาเดียวกัน  ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าได้รับลา    ถลก-มิสเตอร์นั่นฮอลิเดเสียพักหนึ่งแล้ว   นี่กลับมาสะโสสรกันใหม่ขอให้เขาเจริญเถอะ      สยามประเภท-ท่านนี่แก่แล้วแต่ยังไม่โขยกเขยก   ดี ข้าพเจ้าชอบ  จะได้มีเพื่อนบ้านช่วยกันค้ำจุนซึ่งกันและกันบ้าง  ขอให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด   ใครอีกข้าพเจ้านึกไม่ออกเสียแล้ว   ถ้าท่านผู้อ่านของเรานึกออกบ้าง  ก็เชิญนึกต่อไปอีกเถอะ.
ชามภูวราช"

จากทวีปัญญา เล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๒๓ หน้า ๒๑๗ ในหัวเรื่อง เบ็ตเล็ต  

อ้างถึง
ตามความเห็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นั้น พระซื่อเมืองเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมือง เพราะธรรมเป็นที่มาของกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการปกครองอีกทีหนึ่ง ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่ ก.ศ.ร.กุหลาบ หยิบยืมมาจากหลักการปกครองสมัยโบราณที่ปรากฏในพระพิไชยเสนาและเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ความคิดเกี่ยวกับจัตุเทวาภิบาลนี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดทางฮินดู ซึ่งเห็นว่าสังคมประกอบด้วยองคาพยพต่าง ๆ แต่ความคิดนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นของไทยโดยการให้ความสำคัญต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา กล่าวคือตามทฤษฎีองคาพยพของฮินดูนั้นพระมหากษัตริย์เป็นองคาพยพที่สำคัญที่สุด แต่ความคิดของไทยซึ่งเป็นการผสมผสานความคิดฮินดูกันพุทธนั้นได้ให้ความสำคัญแก่หลักธรรมหรือพระไตรปิฎกว่าเป็นองคาพยพที่มีความสำคัญมากกว่าองคาพยพอื่น ๆ

ข้อมูลล่าสุด  คำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม แท้จริงคือเอกสารบางส่วนที่พลัดออกจากชุดเอกสาร  คำให้การขุนหลวงหาวัด   ซึ่งคำให้การขุนหลวงหาวัด นั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระพิมพ์เผยแพร่   พระองค์ได้ทรงเอาข้อความจากคำให้การชาวกรุงมาลงแทนตรงส่วนที่เอกสารคำให้การคำให้การขุนหลวงหาวัดขาดหายไป  เพื่อให้ได้ใจความครบ  คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้พิมพ์กันมาหลายครั้ง    จนกระทั่งล่าสุด  (๒๕๔๗) โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ได้พิมพ์คำให้การขุนหลวงหาวัด  ฉบับสมบูรณ์  ที่ไม่ได้เอาข้อความบางส่วนของคำให้การชางกรุงเก่ามาแทรกเติม  เพราะข้อความของคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ขาดหายแต่เดิมนั้น ก็คือ เอกสารคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ที่นำมาพิมพ์แยกตั้งชื่อเรื่องไปเป็นเป็นคนละเรื่อง   มสธ.ได้ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงวัดฉบับสมบูรณ์มาพิมพ์เผยแพร่  สามารถไปหาอ่านกันได้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 05 เม.ย. 10, 16:18

ข่าวกรองเรื่องหนังสืออั้งยี่คฤศตังสยาม

เฉพาะ สายตาอันคมกริบ ของ   คุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็กที่ นับถือ  
For Your Eyes Only   

        
       ไม่ทราบแน่เลยค่ะ  เพราะก.ศ.ร. ใช้นามปลอม(คล้ายจริง)ทั้งหมด
พยายามถอดรหัสมาหลายปีแล้ว
จำนวนสมาชิก ท่าน อ้างว่ามี ๔๕ คน

สหายๆเห็นกันคนละเล่มสองเล่ม     จริงๆแล้วเจ้าของมีสามคน  ก.  ข.  และ  ค.


ก.  มีสตังค์เป็นธนาคาร และเก็บหนังสือมานาน  ใจคอเปิดเผย  แต่พูดจาโผงผาง
     เขาอยากคุยกับทุกคน เพราะเป็นนักสะสม  

ข .  มีร้านหนังสือของตนเอง  เพื่อนตรึม   ซื้อหนังสือชุดนี้แล้วไม่กล้าบอกผบ.ทบ. มี ๖​ เล่มกระมัง   เอาไปฝากธนาคารไว้
     แบบบัญชีลับ  (เรื่องนี้คนในวงการขำกันมาก...)

ค.  นักเลงหนังสือเก่าคนหนึ่ง   รักเพื่อน ๆ มาก   ใครมาสัมภาษณ์เขาก็พาเพื่อนๆและสมบัติมาด้วย

ง.  นายหน้าขายหนังสือระหว่างประเทศ

จ.  นายหน้าขายหนังสือและเจ้าของกรุ


เรื่องราวทั้งหมดก็ทราบอยู่ระหว่าง ๕ คนนี่ล่ะค่ะ  



ก.พูดกับ ข. นิดหน่อย  และคุยกับ ค. เมื่อเจอกัน  

ข.กับ ค. คุยกันประจำ  แลกหนังสือกันดู แล้วร้อง โอ๊ย ๆ ๆ

ข. กับ ค. ไม่ค่อยมีทรัพย์  แต่มากไมตรี


หนังสือชุดนี้มีเกือบสิบเล่ม  ราคาสูงมาก  มากกว่าสยามประเภทประมาณ ๓๐%


จำได้ว่าท่านใส่นายวรรณเป็นประธานคนที่สองหรืออะไรนี่

     เมื่อ   คนใดคนหนึ่งในกลุ่มนี้ปรากฏตัวในงานหนังสือ  จะโดนจับตามองทันที
เพราะพวกเขาจะคุยกันเอง

ง.  เป็นนักการเมือง

จ.  เป็นนักการเมือง

หมู่นี้หายตัวไป





     ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ  ที่ คนเพียง สามคน จะ กำหนังสือชุดประหลาดของ ก.ศ.ร. ไว้ได้




ห้าคนนี้  ไม่ได้ปล่อยข่าว เรื่องนี้

ดร. ๑ คน ได้เขียนประวัติของสกุล  แล้ว ซื้อหนังสือจาก จ. ไปหนึ่งเล่ม  สภาพดีมาก

ดูไปดูมาเธอไม่เชื่อว่าเป็นหนังสือเก่าจริง  เธอวิ่งนำหนังสือไปให้เพื่อน ๆ ๑๐ คน ดู

หนึ่งในเพื่อน ดร. เป็นฝรั่ง

เลยนำเรื่องนี้ไปเล่าในหมู่เจ้าของร้านของเก่าที่เป็นฝรั่งฟัง


ข่าวก็กระจายออกมาดั่งนี้ล่ะค่ะ

เรื่องนี้แสดงว่า ฝรั่งช่างเล่า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 06 เม.ย. 10, 12:21

วิสัชนาเรื่องสมาคมลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ลับโดยตลอด มีรหัสลับตั้งแต่ ก ถึง จ   ยิงฟันยิ้ม



จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  บทที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนท์) โปลิศท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสารเรียกชื่อว่า "สยามประเภท" เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ "วชิรญาณ" ทำเป็นสมุดออกขายเป็นรายเดือน

เมื่อเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตได้ตั้งกรมทหารรักษาลำน้ำ  กุหลาบได้ตำแหน่ง แอศยุแตน
ก.ศ.ร. บอกว่าเป็น adjutant general   ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๑๒๐ บาทเป็นเวลา ๘ ปี

ต่อมาก.ศ.ร. ได้ทำงานเป็นนิพันธการีที่หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์  ได้รับเงินเดือน ๑๕๐ บาท  ทำอยู่ ๖ ปี

ลาออกแล้วมาทำหนังสือพิมพ์สยามประเภทอยู่ ๑๐ ปี

ก.ศ.ร.กุหลาบเข้ารับราชการเป็นตำรวจน้ำอยู่กับพระยานรรัตนราชมานิต (โต) ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยตั้งให้เป็น "แอดซูแตนท์" ทำหน้าที่นายเวรหรือคนสนิทของผู้บัญชาการ ปฏิบัติงานด้านธุรการเป็นส่วนใหญ่  และในปีเดียวกันนั้นเองหอสมุดวชิรญาณก็ได้รับ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าเป็นสมาชิก

ก.ศ.ร.กุหลาบรับราชการอยู่จนทางการยุบเลิกกรมโปลิศท้องน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔  ในปีเดียวกันนั้นเอง ก.ศ.ร.กุหลาบจึงลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ รวมเวลารับราชการอยู่ ๗ ปี

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 06 เม.ย. 10, 14:31

adjutant  นี่คือ นายเวรสารบรรณ

ตำแหน่งที่สูงกว่านี้คือ  นายเวรพิเศษ

ก.ศ.ร. เขียนเรื่อง กรมตำรวจน้ำไปลงหนังสือสยามไสมย สองสามครั้ง
มีประกาศว่ามีเรือลอยมา  ตำรวจเก็บได้  ใครเป็นเจ้าของมาติดต่อได้

ครูสมิทไม่ว่าอะไรเพราะได้ขอยืมหนังสือของก.ศ.ร. มาลงพิมพ์ไปแล้วสองสามเรื่อง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 06 เม.ย. 10, 15:01

ก่อนที่จะมาอ่านหนังสือของก.ศ.ร.    ก็รับฟังสหายคุยกันในวงสนทนามาไม่น้อย
ขนาดเซียนๆ ก็เล่าแบบจำวาทะอันสุนทร ต่อกันมา

เล่ากันว่า  หนังสืองานศพของ นายกุหลาบ  ตฤษณานนท์นั้น  เป็นงานพิมพ์ของนายกุหลาบเอง
เมื่อทำงานศพ  ไปกวาดซื้อกลับมา

เป็นตำรายา  ที่คนออกหากันเหมือนกัน

อ้าว!   เกิดความอยากอ่านติดหมัด

เมื่อได้เอกสารมาแล้ว  พบว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร


ขอลอก คำอุทิศ ของ นายชาย ตฤษณานนท์ มาฝากเล็กน้อย

หนังสือนี้แจกในการศพ เมื่อปี ๒๔๖๓  เป็นที่รลึกถึงการบำเพ็ญถาวรประโยชน์ ในนามของท่านที่ล่วงลับ
ขอบุญราษีซึ่งได้บำเพ็ญกุศลเจตนามุ่งสาธารณประโยชน์  อุทิศส่วนกุศล ให้กับบิดาข้าพเจ้า
แลเพื่อความกตัญญูกตเวทีฉลองคุณบิดาข้าพเจ้า
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 06 เม.ย. 10, 15:34

เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ  หนา ๗๘ หน้า

เป็นตำรา กำจัดความแก่  แก้โรคชรา  กำลังกายา  มากมายไพบูลย์



ตำราแรก

เครื่องยาหกสิ่ง         เจือแทรกของร้อน
ทำผงปั้นก้อน           เท่าเม็ดพุดรา
เมื่อกินนั้นไซ้            อายุเพียงใด
ร่างกายกายา           คงอยู่เพียงนั้น
ห้ามกันชรา             กำลังเจริญกล้า
เดินคล่องว่องไว        ทิ้งถ่อนตะโกนา
สองสิ่งจงหา            เปลือกมาเตรียมไว้
บรเพ็ชแห้วหมู         หาดูให้ได้
เมล็ดข่อยพริกไทย     หกสิ่งเสมอกัน

พอเห็น ทิ้งถ่อนตะโกนา  ก็เข้าใจว่า เป็นยาสุขภาพสำหรับบุรุษ
อ่านไปเรื่อยๆ


มีอีกตำราหนึ่ง กินบรเพ็ช

เช้าศอกเย็นแขน           วาหนึ่งก็กิน
ไม่ขมติดลิ้น                 กินเหมือนอ้อยตาล


ตำรายานัดถุ์แก้ไข้  มีพิมเสนจากไม้ไผ่เป็นหลัก

แก้ปวดกระทุ้งแรง         แก้ไข้รากสาด
สันนิบาตตาแดง           ไข้สั่นสะท้านแรง
นัดหายกระจายไป

อ่านไปทั่วๆ  เห็นว่าใช้น้ำมุตรเป็นกระสายส่วนใหญ่

มีตำราใช้มะตูมนิ่ม อยู่สองตำรา


อ่านแล้วหลายรอบ 
เลยไปอ่าน เพลงยาวของเจ้าพระยาพระคลังหน  สนุกกว่ามาก 
คุณเพ็ญเห็นแล้วหรือยังคะ

บันทึกไว้ว่าหนังสืองานศพ นายกุหลาบมีจริงดั่งนี้แล
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง