ขอบคุณคุณวันดีที่ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้

จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่า นายกุหลาบได้เอ่ยถึงชื่อพระปิ่นเกษมาตั้งแต่ออกสยามประเภทปีแรก จะได้เอ่ยอีกหลายครั้ง แต่ฉบับที่นายกุหลาบเริ่มอธิบายละเอียดมีประวัติพิสดาร คงเป็นฉบับรวมเล่ม เล่ม ๒ ดังที่ได้ยกมาแสดงโดยสังเขปแล้ว และคาดว่า นายกุหลาบคงจะได้เอ่ยถึง พระปิ่นเกษ ในสยามประเภทอีกหลายครั้ง จนในที่สุด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกริ้วนายกุหลาบเรื่อง พระปิ่นเกษ ดังปรากฏพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จำนวน ๒ ฉบับ ซึ่งเป็นเป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้พิสูจน์เปรียบเทียบกับพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ด้วย ดังนี้
สวนดุสิต
มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า นายกุหลาบซึ่งเขียนชื่อตัวเองใช้หนังสือนำว่า ก.ส.ร. ผู้ออกหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่าสยามประเภทได้แต่งเรื่องราว ซึ่งเปนความโกหกแซกแซงลงในความจริงมาช้านาน ปรากฏอยู่แก่ผู้ซึ่งมีความรู้แลมีปัญญาทั่วหน้าแล้วนั้น บัดนี้แต่งข้อความต่อมานอกความจริง โกหกขึ้นใหม่ทั้งเรื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน คำที่โกหกนั้นย่อมอาศรัยเทียบเคียงความที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารบ้าง เทียบเคียงการที่เปนไปอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้อยคำแลทางความคิดแลเรียบใกล้ไปในทางสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งล่วงไปแล้ว แลที่ยังดำรงอยู่เนืองๆ หนักขึ้น จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์ ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน ข้อความทั้งนี้ย่อมปรากฏอยู่แก่ใจคนทั้งปวงว่า ไม่มีความจริงในนั้นเลยโกหกขึ้นทั้งสิ้น แต่กล้าหาญโกหกฟุ้งส้านยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จนถึงมิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ ถ้าจะละเลยให้ฟุ้งส้านต่อไป ก็จะแต่งความเทียบเคียงหยาบช้าหนักขึ้นกว่านี้
แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า นายกุหลาบก็เปนคนมีอายุมากนับว่าชราอยู่แล้ว แลความฟุ้งส้านเดิมของอัทยาศรัยนายกุหลาบใกล้ไปข้างทางเสียจริตนั้น ก็ย่อมปรากฏอยู่แล้ว การที่แต่งถ้อยคำฟุ้งส้านหนักขึ้นครั้งนี้จะเปนด้วยความเสียจริตนั้นกล้าขึ้นก็ได้ จึงดำรัสสั่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจับตัวนายกุหลาบไปส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ
มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่ ๘ กันยายน รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕
สยามินทร
พระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน
ที่ ๒๘/๑๐๐๕
พระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาศน์ เกาะบางปอิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕
ถึง กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์
ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์ ที่ ๑๗๐/๙๗๐๕ ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ส่งเรื่องราวนายกุหลาบขอความกรุณาพ้นจากการคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตมานั้น ได้ตรวจดูแล้ว
เห็นว่าเรื่องราวไม่ฟุ้งส้าน ค่อยสงบระงับลงแล้ว ยอมเชื่อทานบล ให้ปล่อยตัวไป เมื่อไปฟุ้งส้านอีก ก็จะต้องรักษากันอีก
สยามินทร
จากพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับข้างต้น เท่ายืนยันได้ว่า นายกุหลาบถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริต จากกรณีที่เขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ เป็นเวลานาน ๑ เดือนเศษ (๓๓ วัน) ไม่ใช่ ๗ วันตามที่เคยว่าตามกันมา