เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61273 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 12:00

นายกุหลาบไปทำงานเป็นเสมียนที่โรงสีข้าวแห่งหนึ่ง หลายปีอยู่เหมือนกัน
เงินเดือนคงลดไปเยอะเพราะความสามารถในการใช้ภาษาของท่านไม่ได้เป็นที่ต้องการมากนักในสถานที่นี้


เมื่อหลวงนายสิทธิ์ ออกเรือไปเมืองแขก จีน และญี่ปุ่น เพื่อซื้อของมาทำการพระเมรุพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
นายกุหลาบก็ติดเรือไปด้วย

  


ต่อมานายกุหลาบได้เข้าไปใกล้ชิดเจ้าพระยานรรัตราชมานิต
ท่านเจ้าคุณทราบดีว่านายกุหลาบเคยท่องเที่ยวไปต่างประเทศ เคยทำงานกับฝรั่งมานาน  ย่อมคุ้นเคยกับโลกสมัยใหม่ จึงตั้ง
นายกุหลาบให้มีตำแหน่งรองท่าน
ให้ประจำอยู่ห้องสรรพทองคำ เบี้ยหอย  เบี้ยตะกั่ว  เบี้ยทองแดง  เงินกระดาษ  อัฐกระดาษ

กรรมหารร้อยคน ประจำอยู่ร้อยห้อง

ท่านเจ้าคุณวานนายกุหลาบจัดแสดงห้องเครื่องเงินโบราณของท่านด้วย

แน่นอนที่นายกุหลาบมีห้องแสดงหนังสือของตนเอง  หนังสือ ๑๕๐ เรื่อง

บัญชีนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย ในงานพระราชพิธีสมโภชพระนคร ครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕
มีการพิมพ์ต่ออายุแล้วโดย สำนักพิมพ์ต้นฉบับ ของคุณ อ้วนธงชัย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 12:19



อยากจะบอกกับคุณเพ็ญชมพูและคุณหลวงเล็ก ว่า

ที่เมตตาแวะมาแยม..อ่า  แจม กระทู้นี้นั้น  
ข้อเขียนและข้อคิดของท่านทั้งสองเป็นประโยชน์
อย่างยิ่ง


ก.ศ.ร. ทราบว่าตนเองมีความผิดในการลอบคัดลอกหนังสือ  จึงเปลี่ยนแปลงข้อมูล
เพื่อป้องกันตนเอง

ความพลาดเพราะประมาท หรือรู้น้อยไปบางเรื่อง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเติมเรื่องให้วิจิตรพิสดาร
เช่นงานพระศพพระสังฆราช      อาจเป็นเพราะรับฟังมาจากข้าราชการระดับกลางที่อยู่ ณ ที่นั้นแต่มิได้ทราบรายละเอียด
ก็ "ฟุ้ง"  สู้กัน  เพื่อแสดงฐานะว่า "ใกล้ชิด" เป็นต้น


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 12:41

หนังสือ ๑๕๐ เรื่องก็จริง  แต่  ๒,๐๐๐ เล่ม


อภินิหารบรรพบุรุษ  ก็ ถวายในงานนี้


มีประฐมวงษเจ้านายในกรุงเทพ
(รักษาตัวสะกดเดิม)

ประฐมวงษสมเด็จพระอมรินทรามาต

ประถมวงษ์เจ้าตากกรุงธนบุรีมีพิสดาร
(อ่านแล้วก็ไม่สะดุ้งใจเลย  เพราะได้อ่านแบบเดียวกันนี้เปี๊ยบในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม
เริ่มตั้งแต่จีนไหฮอง ชื่อหยง  แซ่อ๋อง       งูเหลือมมาขดอยู่ในกระด้ง   และลักษณะกุมารเป็นพุทธจัตุรัศกาย
สดือนั้นเป็นหลุมลึกลงไป พอจุผลหมากสงทั้งเปลือกได้ผิดสามัญชนทั้งหลาย)

มาตยาวงษพวษาวดารบางช้าง

ปะฐมวงษเจ้าคุณหญิงจัน

เฉกอะหมัด

ลำดับวงษตระกูลเจ้าพระยาสมุหนายกในกรุงเทพ ฯ   ชื่อเดิม  และะตำแหน่งยศ

"                      "     กรมมหาดไทย                  "                 "
"                      "     คลัง                              "                 "
"                      "     พลเทพ                           "                 "

และเรื่องอื่น ๆ อีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 12:43

จากนิทานโบราณคดี

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง และเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัดก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหน และจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกที่ให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน แต่ฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ ในสมัยนั้นนายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่า ลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้น จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

ความผิดของนายกุหลาบ มี ๒ ประเด็นคือแอบขโมยคัดลอกหนังสือที่รู้แล้วว่ามีกฎระเบียบห้ามไว้   กับ ข้อ ๒  ปกปิดความผิดด้วยการบิดเบือนเอกสาร
ข้อหลังนี้คือความผิดมากที่สุดของนายกุหลาบ  ที่ทำให้กริ้ว      เป็นความผิดที่จะเอาวิธีการคัดลอกหนังสือ หรือถ่ายเอกสาร มาเป็นข้อแก้ต่าง ไม่ได้
แม้แต่ในสมัยนี้ก็เถอะ   ถ้าเป็นเอกสารราชการที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามคัดลอกหรือเผยแพร่   เช่นเอกสารลับต่างๆ   ใครไปคัดลอกหรือถ่ายเอกสารเอามาเผยแพร่ ก็ผิดเหมือนกัน  

ข้อเสียของนายกุหลาบมี  ก็ยอมรับไปตามตรงว่ามี  ข้อดีก็มี ก็ยอมรับว่ามี   อย่างนี้จะทำให้เราแยกแยะดีชั่วได้  

อ้างถึง
การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) อันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น   


ขอยกตัวอย่างจากข้อความของคุณหลวงเล็ก  ข้างบนนี้  ถ้าดิฉันลอกเอาไปลงในตำราหรือบทความ หรือพริ้นท์ออกมาแจกชาวบ้าน   โดยอ้างชื่อคนเขียนและลงข้อความครบถ้วน    ก็ไม่เสียหายอะไร
แต่ถ้าดิฉันทำแบบนี้ คือต่อเติม เปลี่ยนแปลงข้อความตามใจตัว   คุณหลวงเล็กเสียหายไหมคะ

การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ดังนั้นจึงเห็นว่าพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กล่าวหานายกุหลาบลอยๆ   ผมจึงเห็นว่าเชื่อถือไม่ได้   ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  ผมขอเข้าข้างนายกุหลาบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม   เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) ของคุณเทาชมพูอันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น   นักวิชาการอย่างคุณเทาชมพูจึงไม่น่าเชื่อถือ


ส่วนที่นายกุหลาบบิดเบือน แต่งเติมความเท็จเข้าไป ก็มีตัวอย่างในเรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง  ไงล่ะคะ
อันที่จริงถ้าอยากจะเคลียร์ชื่อเสียงนายกุหลาบ  ก็เอาพงศาวดารที่เขารวบรวมไว้มาเทียบกับฉบับอื่นๆของทางการที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ก็พอจะมองออกว่า นายกุหลาบปลอมแปลงมากน้อยแค่ไหน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 12:47

ข้อที่ทำให้สับสนกัน คือนักเขียนเรื่องในอดีตหลายท่าน   เอาพงศาวดารที่นายกุหลาบเขียนไว้มาเล่าใหม่  โดยไม่บอกว่ามาจากที่ไหน   แล้วก็อ้างอิงคัดลอกกันต่อๆมาจนกลายเป็นความเชื่อแน่นแฟ้นว่าจริง
มีน้ำหนักเหมือนพงศาวดารที่ศึกษากันในเชิงวิชาการ

ตัวอย่าง เช่นในปฐมวงศ์ และอภินิหารบรรพบุรุษ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 13:35

ขออนุญาต "ลุย"  ประวัติของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ต่อไปก่อน


นายกุหลาบเล่าว่าได้พา ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์(ฟะรัสซิสจิตร)คนบ้านกะฏีจีนมาทำงานเป็นผุ้จัดการโรงไฟก๊าซ
ที่ท่านเจ้าคุณเป็นอธิบดี


เมื่อท่านเจ้าคุณเป็นผู้ตรวจจ่ายการก่อสร้างศาลยุติธรรม   ก.ศ.ร. ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๑ ชั่งในฐานะผู้ตรวจตราการก่อสร้าง


เมื่อเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตได้ตั้งกรมทหารรักษาลำน้ำ  กุหลาบได้ตำแหน่ง แอศยุแตน
ก.ศ.ร. บอกว่าเป็น adjutant general   ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๑๒๐ บาทเป็นเวลา ๘ ปี

ต่อมาก.ศ.ร. ได้ทำงานเป็นนิพันธการีที่หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์  ได้รับเงินเดือน ๑๕๐ บาท  ทำอยู่ ๖ ปี

ลาออกแล้วมาทำหนังสือพิมพ์สยามประเภทอยู่ ๑๐ ปี
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 13:37


ส่วนที่นายกุหลาบบิดเบือน แต่งเติมความเท็จเข้าไป ก็มีตัวอย่างในเรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ไงล่ะคะอันที่จริงถ้าอยากจะเคลียร์ชื่อเสียงนายกุหลาบ  ก็เอาพงศาวดารที่เขารวบรวมไว้มาเทียบกับฉบับอื่นๆของทางการที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ก็พอจะมองออกว่า นายกุหลาบปลอมแปลงมากน้อยแค่ไหน

คุณเทาชมพูทำให้ผมต้องถามกลับว่า  เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์  ผมได้เคยถามคำถามอย่างนี้กับคนที่เขาตามอ่านงานของนายกุหลาบมาหลายปี  เขายืนยันว่า  ยังไม่เคยเจอข้อความที่อ้างถึงนี้ในหนังสือนายกุหลาบสักเล่มเดียว  

โอเค  มันอาจจะมีอยู่ในหนังสือของนายกุหลาบสักเล่มหนึ่ง  แต่เรายังไม่เคยเห็น ยังไม่ได้อ่าน  ในเมื่อยังไม่เจอหลักฐานตามที่อ้างมาต่อๆ กันมา  ก็ต้องผลประโยชน์ให้จำเลยไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์  ไม่ว่าเจ้าของคำพูด "เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง " นั้นจะเป็นใครก็ตาม

ประการต่อมา   ถ้าประโยคนี้ เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   มีอยู่จริง  ไม่ว่าจะอยู่เล่มไหนของนายกุหลาบ  คุณเทาชมพูคงรู้สึกคล้ายๆ กับผมไหมว่า  ข้อความนี้ นายกุหลาบเติมไปโดยมีนัยยะอื่น  ที่นายกุหลาบไม่ได้มุ่งหมายแก้ข้อหาที่ว่า  "คิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง " เท่านั้น   ถ้านายกุหลาบคิดจะป้องกันตัวด้วยข้อความนี้  ก็นับว่านายกุหลาบคิดพลาดไปอย่างยิ่ง    ขอให้อ่านข้อความดังกล่าวให้ดีๆ    ถ้าลำพังนายกุหลาบจะแทรกข้อแปลกจากฉบับหอหลวงเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว   นายกุหลาบสู้เอาข้อความอย่างอื่นใส่ลงไปไม่ดีกว่าหรือ  จะให้ยาวสัก สามสี่หน้าก็ทำได้  

แต่นายกุหลาบเจาะจงใส่ข้อความนี้ลงไป (ถ้าข้อความนี้มีอยู่จริง) คงไม่ใช่ความมุ่งหมายจะแปลงเอกสารประวัติศาสตร์  เพราะถึงนายกุหลาบจะหลุดข้อกล่าวหาที่ว่าคัดลอกหนังสือหอหลวง  (ซึ่งคงโดนลงพระราชอาญาไม่หนักเท่าไร  เพราะไม่ใช่ข้อหาฉกรรจ์  และหนังสือนายกุหลาบคัดลอกมาก็ไม่น่าจะใช่เรื่องความลับทางราชการ  มิฉะนั้นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ คงไม่ประทานพระอนุญาตให้นายกุหลาบยืมไปอ่านแน่นอน)  แต่นายกุหลาบจะถูกข้อหาที่หนักกว่าว่า  หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ผมคงไม่ต้องให้เหตุผลว่าเพราะอะไร  เพราะข้อความที่ยกมามันก็ชัดอยู่ในตัวแล้วว่ามีความหมายถึงใคร   นายกุหลาบต้องการสื่ออะไรบางอย่างกระมัง  เรื่องเสียบ้านเสียเมืองมันเป็นเรื่องใหญ่ในสมัยนั้น   และเป็นเรื่องที่คนสมัยหลังรัชกาลที่ ๕ จำฝังใจมาก  แม้กระทั่งรัชกาลที่ ๖ ก็ยังเคยทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้   ข้อความที่ยกมานั้น  มันอุกอาจอุกฉกรรจ์  เพียงแต่สมเด็จฯ ไม่ทรงว่าตรงๆ ว่า นายกุหลาบหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้นเอง

เรื่องพระราชพงศาวดารนั้น  ผมเห็นอย่างนี้ว่า   ในสมัยนั้น  บรรดาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เป็นกระแสหลักนั้น  มีคนรู้จักกันพอสมควร  เพราะอะไร  เพราะโรงเรียนมหาดเล็กได้คัดมาเป็นตำราเรียน และมีการสอนกันเปิดเผย  เวลาถือน้ำ  เวลามีเทศน์ของหลวงก็มักจะเอาเรื่องพงศาวดารมาเทศน์กันอยู่แล้ว  อันที่จริงถึงนายกุหลาบไม่ไปคัดลอกหนังสือหลวง   นายกุหลาบก็สามารถรู้เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงเก่า จากแหล่งอื่นๆ  เราคงจำได้ว่า นายกุหลาบบวชเณรที่วัดพระเชตุพน  ที่นั่นมีตำรับตำรามากมาย   ตามวัดวาอื่นๆ ก็มีหนังสืออย่างนี้  พระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีหลายฉบับก็จริง  แต่เนื้อความก็เหมือนกันโดยมาก   จะต่างกันก็โดยโวหารพิสดารหรือย่อสังเขป   การจะให้เทียบพงศาวดารที่นายกุหลาบพิมพ์ กับที่ของหลวงพิมพ์นั้น  ลำบากก็เพียงเราหาหนังสือของนายกุหลาบไม่ได้เท่านั้น  

กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 14:01

อ้างถึง
คุณเทาชมพูทำให้ผมต้องถามกลับว่า  เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์  ผมได้เคยถามคำถามอย่างนี้กับคนที่เขาตามอ่านงานของนายกุหลาบมาหลายปี  เขายืนยันว่า  ยังไม่เคยเจอข้อความที่อ้างถึงนี้ในหนังสือนายกุหลาบสักเล่มเดียว  

เคยถามตัวเองด้วยคำถามนี้เหมือนกัน  ได้คำตอบมา ๒ ข้อ ถึงความเป็นไปได้
๑  หาต่อไป  ไม่เจอ ไม่ได้แปลว่าไม่มี   โดยเฉพาะเมื่อมีคำอ้างอิงในพระนิพนธ์   ดิฉันก็ไม่เชื่อว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านจะลงทุน "กุ" เรื่องขึ้นมาเล่นงานนาย "กุ" ซึ่งเป็นคนบ้าสติเฟื่องในสายพระเนตร

นายกุหลาบเองก็ปัญญาชนไม่ใช่ย่อย   ถ้าโดนใส่ร้ายถึงขนาดนี้คงขนหนังสือทั้งหมดที่มีมาถวายฎีกาแล้วว่า ไม่เคยเขียนคำนั้น   หรือท้าให้เอาหนังสือเล่มนั้นมาพิสูจน์กันให้เห็นซึ่งๆหน้า
หรือไม่มีหนังสือแต่มีพยาน ก็เอาพยานมาพิสูจน์กันเลย
แต่ก็ไม่เห็นแกจะเถียงอะไรหรือพยายามเขียนพิสูจน์ความจริงเอาไว้ให้ลูกหลานนำมาเปิดเผยได้

๒  หนังสือนั้น ถูกเก็บไปทำลายแล้ว    เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่น่าจะปล่อยไว้ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ


อ้างถึง
กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนเรื่องเจ้าพระยาทิพากรวงศ์   ควรพิจารณาว่า
๑ เจตนาที่ข้อความเดิมหายไป คืออะไร    เป็นเจตนาแบบเดียวกับนายกุหลาบทำเรื่องพระจุลปิ่นเกษ หรือไม่
หรือว่าเจ้าพระยาท่านทำเพราะมีเหตุผลรองรับอยู่   ข้อนี้ต้องดูที่มาที่ไปก่อนจะนำมาเปรียบเทียบเหมือนเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
๒ ถ้ามีเจตนาแต่งเติมเปลี่ยนแปลงพงศาวดารให้ผิดเพี้ยน ตามใจชอบ  หรือเป็นอุบายหาข้อแก้ตัวไม่ให้ถูกจับได้  ก็ผิด
 หรือเหตุผลอื่นๆที่ท่านทำ มองเห็นได้ว่าทำผิด   ก็ถือว่าผิด  แต่การที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผิด ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องที่นายกุหลาบทำ กลายเป็นไม่ผิดไปได้

เหมือนบอกว่าทีขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร ตำรวจจับว่าทำผิด   ทีไล่ยิงถล่มอาวุธสงครามกัน ตำรวจไม่ยักจับ  เหมือนไม่ผิด  ถือว่าไม่ยุติธรรม  
ข้ออ้างนี้ไม่สมควร     ที่จริงคือต้องบอกว่าผิดทั้งสองกรณี แต่ผิดมากผิดน้อยเท่านั้น    
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 15:47


ส่วนเรื่องเจ้าพระยาทิพากรวงศ์   ควรพิจารณาว่า
๑ เจตนาที่ข้อความเดิมหายไป คืออะไร    เป็นเจตนาแบบเดียวกับนายกุหลาบทำเรื่องพระจุลปิ่นเกษ หรือไม่
หรือว่าเจ้าพระยาท่านทำเพราะมีเหตุผลรองรับอยู่   ข้อนี้ต้องดูที่มาที่ไปก่อนจะนำมาเปรียบเทียบเหมือนเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
๒ ถ้ามีเจตนาแต่งเติมเปลี่ยนแปลงพงศาวดารให้ผิดเพี้ยน ตามใจชอบ  หรือเป็นอุบายหาข้อแก้ตัวไม่ให้ถูกจับได้  ก็ผิด
 หรือเหตุผลอื่นๆที่ท่านทำ มองเห็นได้ว่าทำผิด   ก็ถือว่าผิด  แต่การที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผิด ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องที่นายกุหลาบทำ กลายเป็นไม่ผิดไปได้

เหมือนบอกว่าทีขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร ตำรวจจับว่าทำผิด   ทีไล่ยิงถล่มอาวุธสงครามกัน ตำรวจไม่ยักจับ  เหมือนไม่ผิด  ถือว่าไม่ยุติธรรม 
ข้ออ้างนี้ไม่สมควร     ที่จริงคือต้องบอกว่าผิดทั้งสองกรณี แต่ผิดมากผิดน้อยเท่านั้น     

ประเด็นนี้ คุณเทาชมพูเข้าใจข้อความผมที่ว่า 

กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ยังไม่ตรงตามที่ผมต้องการสื่อความหมายที่แท้จริง  เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเจ้าพระทิพากรวงศ์  แต่เกี่ยวกับคนที่ชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ เพื่อจะพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี ร.ศ. ๑๒๐   กรณีนี้ถ้าจะยกอุปมาให้เห็นภาพเทียบเคียง   มีชายสองคนเห็นชายคนหนึ่งลักของคนอื่น   สมมติชายคนแรกที่เห็นเหตุการณ์ชื่อ นาย ก  ชายคนที่สอง ชื่อ นาย  ข   ชายที่ลักของชื่อ นาย ค   ต่อมาเจ้าของของที่  ค ลักไป นั้น  ทราบว่า  นาย ก นาย ข ได้เห็นเหตุการณ์ว่าใครมาลักของของเขา  จึงเรียกชายทั้งสอง มาถาม  ทั้งสองให้การดังนั้น 

นาย ก ให้การว่า เห็น นาย ค ลักของของเขาไปจริง  แต่แทนที่จะเล่าแต่เท่านั้นกลับเพิ่มเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วย อย่างว่า ก่อนที่นาย ค จะมาลักของ นาย ค ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาด ไปเล่นไพ่  แถมยังเล่าเลยเถิดไปว่า นาย ค ลักของไปกี่อย่าง ทั้งที่ไม่เห็นถึงขนาดนั้น

ส่วนนาย ข ให้การว่า ไม่เห็นว่า ใครมาลักของของเขาเลย 

เจ้าของได้ฟังคำให้การของชายสองคน แล้วนำไปเทียบกับสิ่งที่ได้จากการสืบสวนของตำรวจและพยานคนอื่นๆ แล้ว  ก็รู้ว่า ใครพูดจริง  ใครที่ปกปิดความจริง   ถ้าเป็นอย่างนี้  คุณเทาชมพูคิดว่าใครควรมีโทษ

ย้อนกลับที่เรื่องนายกุหลาบแต่งเติมพงศาวดาร  เอาล่ะ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ควรถามกลับว่า  เมื่อนายกุหลาบพิมพ์หนังสือพงศาวดารโดยแต่งเติม แต่จากนั้นไม่นาน  หอพระสมุดพิมพ์ฉบับที่ไม่ได้แต่งเติมออกมา   และก็พิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อย  ในขณะที่นายกุหลาบพิมพ์ นั้นไม่ได้พิมพ์ซ้ำ   คุณเทาชมพูคิดว่า  หลังจากนั้นฉบับของนายกุหลาบที่แต่งเติมนั้นจะมีคนใช้สักกี่มากน้อย   เอาล่ะ  ในช่วงแรกคนอาจจะเชื่อตามฉบับของนายกุหลาบ เพราะพิมพ์ก่อน ย่อมได้เปรียบ แต่พอฉบับของหอพระสมุดออกมา  ฉบับของนายกุหลาบก็จะถูกเขี่ยทิ้งไปเอง    เพราะคนอ่านเขารู้ว่าตรงใดที่นายกุหลาบเอาข้อความอื่นมาแทรกบ้าง    ขอให้สังเกตว่า  หนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์ไว้  ถ้ามีฉบับของหอพระสมุด คนก็ยึดเชื่อเอาฉบับของหอพระสมุดมากกว่า    ฉบับของนายกุหลาบก็ไม่มีคนอ้าง   แต่การจะไปกล่าวของนายกุหลาบพิมพ์ไม่น่าเชื่อถือไปทั้งหมดคงไม่ได้  เพราะมีความรู้ข้อมูลบางอย่างที่นายกุหลาบพิมพ์ออกมา  ไม่เคยมีพิมพ์ในหนังสือหอพระสมุดเลย  เช่นประวัติตระกูลขุนนางต่างๆ  ซึ่งเดี๋ยวคนที่ค้นคว้าเรื่องต้นตระกูลต่างๆ ก็อาศัยหนังสือของนายกุหลาบกันทั้งนั้น  และใช้กันมานานแล้ว  เพียงแต่สมัยก่อนท่านเล่นเอาของนายกุหลาบมาโดยไม่อ้าง (อาจจะเกรงว่า ถ้าอ้างนายกุหลาบแล้วคนไม่เชื่อถือก็ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลยิ่งกว่านายกุหลาบได้ที่ไหน  จึง.....) ภายหลัง  ชื่อนายกุหลาบเป็นที่ยอมรับทางวิชาการมากขึ้น  เพราะสิ่งที่นายกุหลาบเขียนหลายอย่าง  มีเอกสารหลักฐานรองรับว่าเป็นจริงตามที่นายกุหลาบว่า   กระนั้นก็ยังเป็นวงแคบ  เพราะคนส่วนมากยังมีมายาคติเดิมๆ อยู่  กระทั่งคนที่จะอ้างนายกุหลาบก็ยังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่

ส่วนเรื่องที่ว่ายังหาไม่เจอข้อความดังว่า   ทางกฎหมาย  เราจะไปกล่าวหาใครว่าเป็นโจรเป็นฆาตกร  โดยไม่มีหลักฐาน  ไม่ได้  ผมเชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระองค์คงไม่ทรงโกหกเรา  แต่เราไม่เห็นหลักฐานที่พระองค์ทรงอ้างถึง  ฉะนั้น เราจะรีบสรุปว่า นายกุหลาบผิดแล้วกระนั้นหรือ   ตราบเท่าที่ยังไม่เห็นหลักฐาน  เพียวแต่คนพูดว่าเห็นหลักฐานนั้น  เราคงจะเอามาตัดสินทันทีไม่ได้   และถึงมีจริง  ก็ยังไปตีตราค่าชื่อนายกุหลาบว่า กุไปเสียทุกเรื่องไม่ได้  ถ้ายังไม่ได้อ่านงานของนายกุหลาบเสียก่อน  ผมเองไม่ได้สรุปว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงโกหก  และยังไม่สรุปด้วย  แต่จำเป็นต้องยกประโยชน์แก่นายกุหลาบไว้ก่อน 

ส่วนเรื่องสอบนายกุหลาบ  ไม่ทราบว่าคุณเทาชมพูได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุไต่สวนนายกุหลาบแล้วหรือยัง 


(โฮ้ย  เหนื่อยจัง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 17:22

อยากอ่านค่ะ

อ้างถึง
เจ้าของได้ฟังคำให้การของชายสองคน แล้วนำไปเทียบกับสิ่งที่ได้จากการสืบสวนของตำรวจและพยานคนอื่นๆ แล้ว  ก็รู้ว่า ใครพูดจริง  ใครที่ปกปิดความจริง   ถ้าเป็นอย่างนี้  คุณเทาชมพูคิดว่าใครควรมีโทษ

ผิดทั้งคู่ละค่ะ   ถ้ามีโทษ ก็มีทั้งคู่ 
คนหนึ่งให้การเท็จ อีกคนช่วยปกปิดความผิด  ส่วนโทษมากน้อยแค่ไหน แล้วแต่กฎหมายระบุไว้อย่างไร
แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าตำรวจเล่นงานคนหนึ่ง แล้วไม่เล่นอีกคน  ก็ไม่ควรตำหนิคนแรก   ตรรกะนี้ผิด

ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น  ใครจะเห็นด้วยกับคุณหรือดิฉัน ก็แล้วแต่ใจ    ดิฉันไม่ขัดข้องและไม่คัดค้าน 
แต่ขอไม่เปลี่ยนจุดยืนค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 23 มี.ค. 10, 07:34


เรียน สหายเพ็ญชมพู    สหายคุณหลวงเล็ก(ว่าที่คุณพระ ริชาร์ด ใจสิงห์)  คุณเทาชมพู    และท่านที่เคารพนับถือทั้งปวง

 
         ในฐานะนักอ่านหนังสือเก่า  ผู้พอมีสมบัติอยู่บ้าง    ขอสนับสนุนข้อมูล
ด้วยความเต็มใจ  และจะหารายละเอียดจากต้นฉบับ  มาเสนอ เป็นระยะ ๆ รายทางไป



จดหมายเหตุ
เรื่องไต่สวนนายกุหลาบ
ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าถวาย
......................................................

พิมพ์ในงานพระศพ
พระเจ้าบรมวงศเธอ  พระองค์เจ้าแขไขดวง
ครบศตมาห
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๗๒

......................................

โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร





คำนำ
โดยสมเด็จกรมพระยาดำรง   นายกราชบัณฑิตยสภา
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน  ฑ.ศ. ๒๔๗๒   
๗ หน้า



ขออนุญาตย่อแบบเก็บความ คือ สั้นในที่ซึ่งควรสั้น   และยาวในที่ซึ่งควรยาว
เพราะสำนวนและรายละเอียดของการสอบสวนจริง ๆ นั้น  ไม่มีอะไรเลย

ไม่มีอะไรจริงๆ

เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปฤกษากัน  ในหน้า ๖ - ๗ นั้น  ลงไว้ตามนี้


        คำนำ                                                                                                                                     ตกลงใช้ได้

๑     ว่าด้วยลำดับวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์   หรือเจ้าพระยาวิไชยชำนาญยุทธ
ที่อ้าง  ตำราามุขมาตยานุกูลวงศ์ว่าเปนของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช บุญรอด  ถวายกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิดนรส               ใช้ได้

       เรื่องตระกูลเจ้าขรัวเงิน                                                                                                                   ใช้ได้

       เรื่องใช้คำนำพระนามกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่าพระเจ้าบรมวงศเธอ                                                       ใช้ได้

       เรื่องนายกุหลาบอ้างว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเปนพระอุปัชฌาชย์
       ตกลงจะเรียกนายกุหลาบมาสอบอีกครั้งหนึ่ง                                                                                          ใช้ได้

       ข้อที่นับสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓   ว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓                                                                     ใช้ได้


๒     ว่าด้วยลำดับวงศ์สมเด็จพระสังฆราช                                                                                                   ใช้ได้

๓     ว่าด้วยนายกุหลาบโยงวงศ์สมเด็จพระสังฆราชเข้ากับวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์                                                ใช้ได้

๔     ว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราชเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์อ้น                                                                  ใช้ได้

๕     ข้อที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชสึกจากสามเณรกลับไปอยู่บ้านเดิมบางไผ่ใหญ่                                                           ใช้ได้

๖     ข้อที่ว่าบวชเณรใหม่  ถืออุปัชฌาชย์ในสำนักพระพิมลธรรม(พร)                                                                     ใช้ได้

๗    ข้อที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์อ่อน                                                                 ใช้ได้

๘    ข้อที่ว่าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราชแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                        ใช้ได้


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 23 มี.ค. 10, 07:55

คำวินิจฉัย  ที่เอ่ยมานั้น   ไม่ทราบไปเก็บไว้ที่ไหน   คงจะน่าอ่านมาก



คำนำ          อ่านได้จาก ราชกิจจา เล่ม ๑๘  หน้า ๘๗  ออกเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม  ร.ศ. ๑๒๐(พ.ศ. ๒๔๔๔)


ย่อความ

สำนวนการสอบสวน เดิมเก็บไว้ที่วัดบวรนิเวศ
ร.​๖ ประทานสมเด็จกรมพระยาดำรง ให้รักษาไว้ในหอสมุดสำหรับพระนคร



สมเด็จกรมพระยาดำรง ทรงอยากพิมพ์แต่ลังเลพระทัยว่า

จะเป็นประโยชน์หรือไม่
เป็นแต่เรื่องมุสาวาทของนายกุหลาบ   ใครๆ ในสมัยนั้นก็รู้อยู่ด้วยกันว่า  นายกุหลาบชอบแต่งหนังสือเอาความเท็จมาแทรกหนังสือเก่าบ้าง
แต่งขึ้นใหม่แล้วอ้างอวดว่าได้ฉะบับมาจากที่โน่นที่นี่บ้าง   ลวงผู้อื่นให้หลงเชื่อว่าเปนจริง

หามีแก่นสารซึ่งจะเปนประโยชน์แก่ทางความรู้ไม่
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 23 มี.ค. 10, 08:02



ต่อมามีคนมาขอคัดหนังสือบางเรื่องซึ่งนายกุหลายแต่ง เพื่อจะเอาไปใช้เปนตำราโบราณคดี

สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงเห็นว่า  ถึงเวลาที่จะอธิบายให้คนสมัยนี้รู้ว่า

หนังสือของนายกุหลาบเป็นอย่างไรจึงจะไม่หลงเชื่อ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 23 มี.ค. 10, 08:35

อ้างถึง
จากนิราศยี่สาร  ก.ศ.ร.กุหลาบแต่งเมื่อเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวไปตากอากาศที่เขายี่สาร พ.ศ.๒๔๒๒   (พิมพ์ครั้งแรก ที่โรงพิมพ์ครูสมิธ (คงในหลังจากแต่งเสร็จไม่นาน)  ต่อมาอีก ๑๑๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙) คุณอาจิณ  จันทรัมพร  ได้นำมาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในหนังสือ "สวนหนังสือ" ฉบับที่ ๒๒    ต่อจากนั้น  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ได้พิมพ์ออกเป็นเล่มจำหน่ายอีกครั้ง จำนวน  ๒๐๐๐ เล่ม เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ปัจจุบันยังสามารถหาซื้อมาอ่านได้)

ขอแก้ไขข้อมูล  ที่ถูกต้องคือ  นิราศยี่สาร  พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือจดหมายเหตุสยามไสมย ของครูสมิธ  จากนั้นจึงได้ พิมพ์ออกเป็นเล่มหนังสือที่โรงพิมพ์ครูสมิธ จากนั้น อีก ๑๑๗ ปี คุณอาจิณ จันทรัมพร เอามาพิมพ์ลงใน สวนหนังสือ เล่มที่ ๒๒  และล่าสุดคือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นำมาพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อ ๒๕๔๓   นิราศยี่สารของนายกุหลาบได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว  ๔ ครั้ง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 23 มี.ค. 10, 08:37

คำวินิจฉัย  ที่เอ่ยมานั้น   ไม่ทราบไปเก็บไว้ที่ไหน   คงจะน่าอ่านมาก

คำนำ          อ่านได้จาก ราชกิจจา เล่ม ๑๘  หน้า ๘๗  ออกเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม  ร.ศ. ๑๒๐(พ.ศ. ๒๔๔๔)

นำข้อมูลเกี่ยวกับการกล่าวโทษ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๘  วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ มาเสนอ

พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบเรียบเรียงลงพิมพ์นำขึ้นทูลเกล้าถวาย
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/006/1.PDF

คำวินิจฉัยของกรรมการไต่สวน
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/006/2.PDF

 เจ๋ง

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 20 คำสั่ง