เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61268 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 16:13

วอน เป็นลูกคนแรกนะคะ

เมื่ออยู่ในท้อง  เสด็จประทานเงินเลี้ยงท้อง เดือนละ ๑๐ บาท

คลอดเมื่อวันจันทร เดิอน ห้า  แรมสิบสามค่ำ  ปีระกา  ตรีศก  จุลศักราช ๑๒๒๓  คือ พ.ศ. ๒๔๐๔
เวลายำ่รุ่งแล้วกับ ๓๐ นาที


เสด็จรับสั่งให้นางข้าหลวงของท่าน  ออกมาเฝ้าไฟหุ่น ๓ คน
อีกสองคนนั้นจะได้ให้ผลัดเปลี่ยนกันเดินอาการ(ภาษาเก่านะคะ)ไปกราบทูลท่านจนออกไฟ

ขณะที่หุ่นคลอดออกมานั้น  ประทานเงินออกมา สำหรับเลี้ยงหมอและพยาบาลด้วย  กว่าจะออกไฟเป็นเงินถึง ๑ ชั่ง

ประทานผ้าทรง  เล่าแล้ว
หาผ้าสะบงพระอุปัชฌาย์ เล่าแล้ว

ยังมีรายละเอียดในความเมตตาของเสด็จที่มีต่อครอบครัวนี้


ข้อมูลเรื่อง วอน  ก.ศ.ร. ไม่น่าสับสน

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 16:22

(หน้า ๓๕)  ภายหลังเสด็จทรงปรารภว่า
มีพระประสงค์ให้นายกุหลาบเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  คัมภีร์พระไตรปิฎก   ให้เชี่ยวชาญชำนาญพิเศษ
เมื่อถึงปีมีอายุจะได้อุปสมบทกรรมเมื่อใด    จะได้เข้าไล่เป็นมหาเปรียญ  จะได้มีชื่อเสียงปรากฎว่า  
เป็นพระมหาเปรียญของพระองค์ที่ทรงเลี้ยงมา  จนได้เป็นเปรียญในพระพุทธศาสนา
โดยพระประสงค์ของท่านนั้น  จะให้นายกุหลาบเป็นเปรียญ  เหมือนเช่น พระมหาเหรียญ เปรียญ วัดอรุณราชวราราม
ผู้เป็นพระของ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้ากินรี
(การคาดคะเน((ของก.ศ.ร.)) ดูเหมือนว่า  ที่เสด็จทรงปรารภนั้น   จะเป็นการแข่งขันให้เป็นคู่ กับ พระมหาเหรียญ  ของกรมหมื่นอัปสราุดาเทพนั้นบ้าง
พระมหาเหรียญนั้น  ภายหลังสึกออกมาได้เป็นหลวงโกษา)
หมดความแต่เพียงนี้ค่ะ

ประวัติมหาเหรียญ พระในอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  (ค้นหาพลิกแผ่นดินจนพบ)

พระราชธนพิทักษ์ (เหรียน) พนักงานบาญชีกลาง  กรมพระคลังมหาสมบัติ  บุตรจีนแชแซ่ตังชาวเมืองเซียงไฮ้  เดิมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ  ถวายตัวอยู่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ   แต่อายุได้ ๑๐ ปี  ครั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์แล้ว ได้มาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดี  ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี โปรดเกล้าฯ ให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาปริยัติธรรมต่อพระธรรมไตรโลกย์ (รอด) วัดโมฬีโลกย์   ครั้นอายุครบอุปสมบท ได้อุปสมบทเป้นพระภิกษุอยู่ที่วัดโมฬีโลกย์นั้น  เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้าสอบไล่พระปริยัติธรรมได้ เป็นเปรียญ ๔ ประโยค  ได้รับพระราชทานนิตยภัตร เดือนละ ๖ บาท  ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ลาสิกขาออกมารับราชการในกรมพระอาลักษณ์   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ขุนสุวรรณ์อักษร  ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๑ ชั่ง  ครั้นมาถึงแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ที่หลวงโกษากรวิจารณ์  ผู้ช่วยราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ  ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๑๐ ตำลึง   ต่อมาได้พระราชทานเงินเดือนเพิ่มอีก ๑ ชั่ง เป็นเดือนละ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง   ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรร์ ช้างเผือกชั้นที่ ๕ (ทิพยาภรณ์)  ถึงปีกุนนพศก ๑๒๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระราชธนพิทักษ์  พนักงานบาญชีกลาง  ในกรมพระมหาสมบัติ  ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒ ชั่ง ตลอดมาจนถึงวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐ ป่วยเป็นโรคบิด  พระยาประเสริฐสาตรธำรงได้รักษาอาการทรงอยู่  รับประทานอาหารไม่ค่อยได้  วันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ อาการทรุดหนักลง  ได้ตามพระสิทธิสารมารักษาประกอบยาให้รับประทาน อาการไม่คลาย  วันที่ ๖ เมษายน ร.ศ. ๑๐๘ เวลาเช้า หอบแลสะอึก  เวลายามเศษ  พระราชธนพิทักษ์ (เหรียน) ถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๕ ปี พระราชทานน้ำชำระศพ หีบทองทึบ เป็นเกียรติยศ

 เจ๋ง ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 16:37

ดิฉันมีหนังสือแทบทุกเล่มที่เขียนถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ และ นายวรรณ

อ่านมาด้วยความเคารพ  มิได้คิดจะเปรียบเทียบกับท่านผู้ใด

เพราะอยากจะพูดถึงหนังสือสำคัญอีกมาก  ที่กำลังจะสูญกับกาลเวลา
ที่ ก.ศ.ร. พิมพ์มากกว่า

ดิฉันอ่านตั้งแต่ สวนหนังสือ
หนังสือชุดพระเกียรติคุณสมเด็จพระสังฆราช เล่มที่มีตาลปัตร และเล่มสีเทา
มี หนังสือการสอบสวนนายกุหลาบ  ที่นายกุหลาบ "จ๋อง"
หนังสือของชัยอนันต์  สมุทวณิช
หนังสืองานนิทรรศการของคุณ อ้วน ธงชัย ที่แสดงว่า ก.ศ.ร. มีหนังสือมาก่อนมากมายมหาศาล
อภินิหารบรรพบุรุษ  ที่ใครเผลอไปพิมพ์เข้าเพราะความรีบร้อน
อายาติวัฒน์

และอีกมากมายที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่

ประวัติศาสตร์บางตอนที่ค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ เป็นภาษาโบราณในต่างประเทศ  ผู้เชี่ยวชาญก็กำลังจะนำมาเขียนเป็นทฤษฎีใหม่

ดิฉันก็เพียงจะวิ่งตามไป ด้วยกระเป๋าเสื่อ และกองเกวียนของดิฉัน

ข้อมูลที่นำมาคุยกันในยามที่อากาศร้อนระอุ    ก็คงนำมาแบ่งปันได้เพียงนี้

เพื่อแสดงข้อมูลอีกด้่านหนึ่งของ ก.ศ.ร.  ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 16:43

โอ้โฮ  คุณหลวง  คุณหลวง  อยู่กระทรวงสืบราชการลับฤานี่

ขออนุญาต จารึกข้อมูล ไว้  ว่ามาจาก เรือนไทย  คุณหลวงเขียน

หวังว่าคงมีโอกาสได้ ตอบแทนความกรุณา ในทำนองเดียวกันในไม่ช้า


     ไปเดินตีรวนร้านหนังสือเก่ากันนะคะ  ในงานหนังสือ
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 05:05

ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมป็นนักวิชาการที่คนๆนี้ทำผิดจรรยาบรรณชนิดี่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 07:24

อ้าว!  ลืมไปว่าตอนนี้โรงเรียนหยุด



มัวปลาบปลื้ม ข้อมูลเรื่องมหาเหรียญ  ว่ามีจริง
ไม่เคยเห็นการค้นที่ว่องไว ถึงปานนี้

ขอความกรุณาให้คุณหลวงตัดตอนไปพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นหลักฐานไว้ก่อน
เขียนเพียง ๔ หน้ากระดาษหรือน้อยกว่านั้นก็ไหว เพราะเดี๋ยวนี้ก็เห็นมีบทความสั้น ๆบ้างเหมือนกัน
เขียนยาวมากก็ต้องรอคิวพิมพ์


รายละเอียดเกี่ยวกับการบวชที่ได้เล่ามาก็ไม่มีมากกว่านั้นอีกแล้ว




ขอแนะนำหนังสือ ของ ก.ศ.ร. สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านงานของก.ศ.ร. มาก่อน


ก.ศ.ร. ได้ทูลเกล้าถวาย อภินิหารบรรพบุรุษต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในงาน นาเชนแนลเอกซฮิบิช่อน   

พิมพ์  บางส่วนของอภินิหารบรรพบุรุษ มาตั้งแต่ ๒๔๔๑ ในสยามประเภท

ก่อนที่จะมามีการพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหม่อมเจ้าปิยนารถ สุประดิษฐ  ในปี ๒๔๗๓

รายละเอียด อ่านได้จาก  บุญเตือน  ศรีวรพจน์  กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เขียนเป็นคำชี้แจง ไว้ใน
ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ  อภินิหารบรรพบุรุษ และ ปฐมวงศ์  พิมพ์ครั้งแรก  เมษายน  ๒๕๔๕   

คุณบุญเตือน ชำระต้นฉบับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 07:47

กลับมาที่ชีวิตของ ก.ศ.ร. ต่อนะคะ



ก.ศ.ร. ทำงานอยู่กับ วิลเซอร์เรศลิกแอนด์กำปะนี  เฉพาะที่นี้  ๑๕ ปีค่ะ 
คิดเป็นเวลาที่ทำงานกับบริษัทฝรั่ง รวม   ๒๘ ปีเศษ
   

ตอนแรกเป็น เมนิเยอร์ ในการก่อสร้างโรงสีข้าวกลไฟ  ทำอยู่ สามปีเศษ
ได้รับเงินเดือน  ๑๕๐ เหรียญ(คิดเป็นเงินไทย สามชั่งเศษ)

เมื่อโรงสีเปิดทำการแล้ว ก.ศ.ร. ก็เป็นเสมียน  เงินเดือน เท่าเดิม

เสมียนเอก คือ มิศเตอร์ ฟิลิเมนโนยิศซุศ    เงินเดือน ๕​ ชั่ง ๗๕ บาท

เสมียนเอกฝ่ายจีน  กิมเฮง  เงินเดือน ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

นายกุหลายเสมียนเอกฝ่ายไทย  เงินเดือน  ๓ ชั่ง ๑๑ บาท


ก.ศ.ร. เล่าว่า ใคร ๆ ก็เรียกว่า "เสมียนกุหลาบฟันขาวห้างสี่ตา"

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 10:46

ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมป็นนักวิชาการที่คนๆนี้ทำผิดจรรยาบรรณชนิดี่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง


Craig J. Reynolds นักประวัติศาสตร์ไทย ชาวอเมริกัน ได้วิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไว้ว่า

"การที่จะมองข้าม ก.ศ.ร.กุหลาบไปโดยพิจารณาแต่เพียงว่าเขาเป็นนักกุ และนักปลอมแปลงนั้นจะเป็นการมองข้ามประวัติศาสตร์ไทยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายประการ และก่อให้เกิดสีสันแก่วงสังคมของชาวสยามในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่อย่างมาก อาทิเช่น ในด้านของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาได้บุกเบิกและขัดเกลาเทคนิคการพิมพ์หนังสือพิมพ์และใช้ความเป็นสื่อมวลชนของเขานั้น พาตนไปสู่ความมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ"

สิริ ประชาลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในเรื่อง "ก.ศ.ร.กุหลาบ : ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ในหนังสือ "หลังเทวาลัย" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า

"เป็นเรื่องประหลาดและน่าเศร้าที่รัฐบาลสยามทำตัวเป็นปฏิปักษ์คอยจองล้างจองผลาญบุคคลผู้ใฝ่ความรู้ท่านนี้ ในทำเนียบ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่  ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่ปรากฏว่ามีนาม "สยามประเภท" อยู่เลย!  รัฐบาลสยามปฏิเสธหนังสือทุกเล่มของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่าไม่ใช่ "หนังสือ" (ทำนองเดียวกับงานเขียน ๒ เล่มของแหม่มแอนนา ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ความพยายามทุกวิถีทางขัดขวางมิให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น) หนังสือของท่านจึงหาอ่านได้ยากจนทุกวันนี้ เพราะมันถูกนำไปใส่หีบลั่นกุญแจ และติดป้าย "ทรงอายัด" ห้ามประชาชนอ่าน!!  เมื่อมีผู้ไปขอค้นคว้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุด ทรงให้พิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง "จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ" ออกมาเผยแพร่แทน ภาพของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเลอะเลือนไป และมีอยู่ ๒ ทางสำหรับอนุชนรุ่นต่อมา นั่นคือทางแรกไม่ทราบและไม่รู้จักว่าท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นใคร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้น,ในทางที่สอง ถ้าจะรู้จักก็รู้จักในฐานะที่ท่านเป็นนัก "กุ" ผู้มีสติไม่สมบูรณ์นัก"

 รูดซิบปาก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 11:32

บทบาทของนายกุหลาบ ควรมองเป็น ๒ ทาง  เพราะมีทั้งทางบวกและลบ
๑   ในฐานะผู้บิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์    ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชี้แจงที่มาที่ไปไว้ชัดเจน   เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ไม่ว่าจะมีเหตุผลน่าเห็นใจยังไง   ผลงานด้านนี้ของนายกุหลาบก่อความเสียหายแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ได้
ถ้าจะมาอ้างว่าการเขียนประวัติศาสตร์คือการเขียนนิยายกันทั้งนั้น อย่างที่นักวิชาการบางคนชอบอ้าง  ก็ขอให้ดูเจตนาเป็นหลัก ว่าตั้งใจโกหกหรือไม่

๒   ในฐานะปัญญาชน ผู้สร้างสรรค์ความรู้ ความคิดอ่านหลายอย่างไว้ให้คนรุ่นหลัง   ข้อนี้เป็นส่วนดีของนายกุหลาบที่ควรนำมาศึกษา อย่างที่คุณวันดีและสมาชิกท่านอื่นๆในกระทู้นี้ทำอยู่

ไม่เห็นด้วยกับฝรั่งข้างบนนี้   แกมองข้ามข้อเท็จจริงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไป  แล้วเทคะแนนไปทางบวกด้านเดียว  
ส่วนหนังสือที่ถูกประทับตราต้องห้าม ก็ด้วยเหตุผลในข้อ ๑  หาใช่ด้วยว่าสมเด็จกรมพระยาฯ ทรงมีเรื่องไม่ถูกชะตากับนายกุหลาบเป็นส่วนตัว   ข้อนี้ต้องพิจารณาแยกแยะให้ออก
ถ้าจะแย้งเพื่อสนับสนุนนายกุหลาบ  ก็ต้องเอางานทั้งหมดมาอ่านให้ละเอียด ว่าตรงไหนเจ้าตัวอ้างอิงหรือคัดลอกจากประวัติศาสตร์จริง   ตรงไหนใส่เองเข้าไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้ว่าไปคัดลอก  แล้วค่อยประเมินคุณค่าของนายกุหลาบ
เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่เห็นใครจับงานทั้งหมดของนายกุหลาบมาอ่านและวิเคราะห์ได้ถึงขั้นนั้นเลยค่ะ  ถ้ามี คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาแนะนำกันด้วย  จะได้ไปตามอ่าน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 20 มี.ค. 10, 12:53

หนังสือพระราชประวัติพระเจ้าตาก (สิน) 

พิมพ์ ร.ศ. ๑๒๘(พ.ศ. ๒๔๕๓)

หนา ๘๘ หน้า  ปกแข็งสีแดงเป็นลายน้ำ  เวลาจะอ่านปกต้องส่องด้วยไฟฉายเพราะลายน้ำ หลอกสายตา



ก.ศ.ร. อ้างหลักฐาน

๑.   ตำราโบราณ  จานเป็นอักษรสยามแต่ครั้งกรุงเก่าโบราณ ในใบลานสั้น ๆ เท่าคัมภีร์สวดมนต์

๒.  ตำราสมุดข่อยขาวชุบตัวอักษรหมึก  ของ พระยาพจนพิมณฑ์(วันรัตทองอยู่)
     แต่ยังเป็นพระมหาเปรียญเอก ๙ ประโยค
     อยู่วัดประดู่โรงธรรมฝั่งตะวันออกนอกกำแพงกรุงเก่า
     แล้วท่านมาเป็นพระวันรัตพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าใหญ่(วัดระฆัง)

๓.  ตำราสมุดไทยข่อยดำ  ชุบตัวอักษรรงเส้นเหลือง  ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)
     จางวางกรมวังในรัชกาลที่ ๑  กรุงเทพฯ  แต่ยังเป็นขุนราชฤทธานนท์ในกรุงเก่า


     ใบลานหนึ่งผูกนี่คงเห็นกันหลายคน  เพราะหนังสือรุ่นหลังเขียนเหมือนที่ ก.ศ.ร. เขียนไว้หลายแห่ง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 21 มี.ค. 10, 10:49

ไม่เห็นด้วยกับฝรั่งข้างบนนี้   แกมองข้ามข้อเท็จจริงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไป  แล้วเทคะแนนไปทางบวกด้านเดียว  

ถ้าจะแย้งเพื่อสนับสนุนนายกุหลาบ  ก็ต้องเอางานทั้งหมดมาอ่านให้ละเอียด ว่าตรงไหนเจ้าตัวอ้างอิงหรือคัดลอกจากประวัติศาสตร์จริง   ตรงไหนใส่เองเข้าไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้ว่าไปคัดลอก  แล้วค่อยประเมินคุณค่าของนายกุหลาบ

เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่เห็นใครจับงานทั้งหมดของนายกุหลาบมาอ่านและวิเคราะห์ได้ถึงขั้นนั้นเลยค่ะ  ถ้ามี คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาแนะนำกันด้วย  จะได้ไปตามอ่าน

คุณเทาชมพูไม่เห็นด้วยกับอาจารย์เครก  แต่ดูเหมือนอาจารย์เครกจะเห็นด้วยกับคุณเทาชมพู   ยิงฟันยิ้ม

เรื่องที่อาจารย์เครกพูดถึง ก.ศ.ร.กุหลาบ จับความสำคัญได้ดังนี้

ก.ศ.ร.กุหลาบ สามัญชนผู้ยกฐานะตัวเองจากประวัติภูมิหลังที่ไม่ทราบชัดเจนนัก ให้ขึ้นมาสู่สถานะที่โดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์สยาม เขาสั่งสมความรู้หลงใหลในประวัติศาสตร์ด้วยการสะสมรวบรวมหนังสือ เอกสารตัวเขียนที่ยังไม่ตีพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นข้อเขียนประวัติศาสตร์ที่เขานิยมชมชื่น จนเกิดเป็นข้อโต้แย้งรุนแรงในเรื่องความถูกต้องแน่นอนของข้อเขียนเหล่านี้ ด้วยหลายเรื่องเหล่านั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ จึงมีผลกระทบพอที่จะทำให้เกิดความตื่นตกใจ จนต้องออกมาต่อต้านอย่างเป็นทางการต่อการกระทำของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในฐานะสามัญชน ก.ศ.ร.กุหลาบคงไม่สามารถทิ้งร่องรอยความน่าประทับใจนั้นให้กับประวัติศาสตร์นิพนธ์สยามได้ หากเขาไม่ได้เป็นเป็นเจ้าของสื่อสมัยใหม่ด้านการพิมพ์ สื่อชนิดที่ให้ความน่าเชื่อถือและอำนาจแก่ตนเองได้.......

การเผชิญหน้าตอบโต้กับองค์เจ้าเหนือหัว การประกาศตำหนิ และผลกระทบสาธารณชนจากการชำระเอกสารหลวงของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ลดคุณค่าเขาลงจากฐานะความเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ในอนาคตยังคงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อไป ที่จะประเมินคุณค่าหนังสือและบทความของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ด้วยมาตรฐานของพวกเขาเอง นอกจากข้อโต้แย้งเหล่านั้นแล้ว อีกด้านหนึ่งล่ะ อะไรคือระดับความสามารถทางประวัติศาสตร์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ แล้วคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ในแบบวิธีการของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ถือเป็นนวัตกรรมในประวัติศาสตร์นิพนธ์สยามหรือไม่? อะไรในงานเขียนของเขาที่ถือเป็นการแตกแขนงออกจากงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์?  คำถามเหล่านี้คงยากที่จะตอบจนกว่าจะมีการเปรียบเทียบงานของ ก.ศ.ร.กุหลาบกับเอกสารต้นฉบับเดิมเสียก่อน

แม้ว่าที่สุดของคำตัดสินได้สร้างภาพให้เขาเป็นเพียงบุคคลผู้เผยแพร่งานเขียนของตัวเองออกสู่สาธารณชน หนังสือและบทความของเขาก็มีคุณค่าควรแก่การมีสถานะพื้นที่อยู่ในประวัติงานเขียนประวัติศาสตร์สยาม เขาอาจดูเหมือนกับคนเจ้าเล่ห์เพทุบายในกระบวนการผสมผสานเรื่องเข้าด้วยกัน แต่ในความเรียงเรื่องหนึ่งของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมอยุธยาในฐานะที่มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์หลากหลายระหว่างกลุ่มชาวสยาม จีน ฮินดู และชาวมุสลิม แต่ละกลุ่มมีผู้นำที่เป็นตระกูลสำคัญ  ก.ศ.ร.กุหลาบได้ใช้ข้อมูลภาษาฝรั่งเศสสำหรับเขียนเรื่องของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และได้ชี้ให้ผู้อ่านของเขาเห็นคุณค่าของเอกสารชาวยุโรป(๑)  งานตีพิมพ์เผยแพร่ของเขาบางชิ้นมีสาระสำคัญที่มีคุณค่าด้านตัวเลขสถิติ แม้ว่าจะมีการแตกข้อมูลแยกพิมพ์เป็นเรื่องย่อยออกจากกัน(๒)  บทประพันธ์อันยิ่งใหญ่ของเขา มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเขียนประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น แสดงถึงความซับซ้อนของชาติวงศ์วรรณาของสายสกุลบุนนาค ตระกูลขุนนางซึ่งมีอำนาจเติบใหญ่ขึ้นจนหาคู่แข่งไม่ได้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙


(๑)  ประวัติเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลบ) เจ้าพระยาบดินเดชา (ม.ร.ว. อรุณ) (กรุงเทพฯ, ๒๔๕๖)

(๒)  ประวัติย่อตามลำดับตำแหน่งยศอัครมหาเสนาบดี (และ) เสนาบดีจตุสดมภ์ หรืออธิบดีและผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกรม หรือกระทรวง ๖ แห่ง (กรุงเทพฯ, ๒๔๘๒) หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเล่มนี้ ประกอบด้วยข้อเขียนคัดสรรของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๑ มีเนื้อหาว่าด้วยตำแหน่งชื่อบุคคล ชื่อบิดา มารดา และประวัติโดยย่อของเสนาบดีในยุคต้นรัตนโกสินทร์

บทความนี้แปลโดย คุณวารุณี  โอสถารมย์  อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ความคิดมีหลายหลาก     ผิดถูกมากน้อยต่างกัน
   ความคิดดีได้นั้น           ก็ด้วยกลั่นจากดวงใจ

   ชีวิตมีหลายหลาก         ผิดถูกมากต่างกันไป
ชีวิตจะยิ่งใหญ่            ก็ด้วยใจให้สังคม

*******************************


สองคนยลตามช่อง           คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม           เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย

ฟ. ฮีแลร์


 ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 10:40


ในความเรียงเรื่องหนึ่งของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมอยุธยาในฐานะที่มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์หลากหลายระหว่างกลุ่มชาวสยาม จีน ฮินดู และชาวมุสลิม แต่ละกลุ่มมีผู้นำที่เป็นตระกูลสำคัญ  ก.ศ.ร.กุหลาบได้ใช้ข้อมูลภาษาฝรั่งเศสสำหรับเขียนเรื่องของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และได้ชี้ให้ผู้อ่านของเขาเห็นคุณค่าของเอกสารชาวยุโรป(๑)

(๑)  ประวัติเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลบ) เจ้าพระยาบดินเดชา (ม.ร.ว. อรุณ) (กรุงเทพฯ, ๒๔๕๖)

มีต้นฉบับของหนังสือที่อาจารย์เครกอ้างไว้มานำเสนอ

http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/HASH012fcba399d6d6b9fd2fafb5/doc.pdf?sequence=1






บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 10:45

ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมเป็นนักวิชาการ  ที่คนๆนี้ทำ  ผิดจรรยาบรรณชนิด ที่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง  ใน  นิทานโบราณคดี  พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ผมคิดว่า  บรรดาผู้ที่แสดงความเห็นในกระทู้นี้แม้กระทั่งคนตั้งกระทู้เองก็คงเคยอ่านมากันคนละหลายๆ ครั้ง  เพราะนิทานโบราณคดีเป็นหนังสือของสมเด็จพระยาดำรงฯ ที่พิมพ์มาแล้วหลายครั้งหลายคราว  มีทั้งที่พิมพ์รวมทั้งหมด ๒๑ เรื่อง  และที่เอาเฉพาะบางเรื่องมาพิมพ์  รวมๆ แล้ว น่าจะพิมพ์มาเกิน ๕๐ ครั้งแล้วกระมัง  นับว่าเป็นหนังสือที่แพร่หลายอยู่

นิทานเรื่องหนังสือหอหลวง  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คงจะทรงพระนิพนธ์เมื่อประทับที่เกาะปีนัง  โดยน่าจะทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดีนี้มาตั้งแต่ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕  จากนั้นทรงพระนิพนธ์เรื่อยมาจนกระทั่งเสด็จกลับมาประทับที่วังวรดิศ  ก็ยังทรงพระนิพนธ์ต่ออีกจนจบนิทาน ๒๑ เรื่อง  พระองค์ทรงพระนิพนธ์จบก่อนสิ้นพระชนม์ใน วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ไม่นาน  (พระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายที่ทรงร่างไว้ คือ เรื่องลักษณะเรียกพระเจ้าแผ่นดิน  ซึ่งทรงค้างไว้อยู่บนโต๊ะทรงพระอักษร) ลักษณะนิทานโบราณคดีนั้น  เป็นเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงประสบด้วยพระองค์เองก็มี เป็นเรื่องทรงทราบมาก็มี  และการที่ทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดก็เป็นการเขียนจากความทรงจำของพระองค์   ก็เป็นทำธรรมดาที่รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมานานจะหายไปบ้างตามพระชันษาที่มากขึ้น  (โอกาสที่จะผิดพลาดก็คงมีอยู่บ้างเช่นกัน)  กระนั้นนิทานโบราณคดีก็เป็นหนังสือที่ควรอ่าน  เพราะเรื่องบางเรื่อง แทบจะหาคนรู้ไม่ได้แล้ว  เช่น  เรื่องจับช้าง (นิทานเรื่องที่ ๒๐ - ๒๑) เป็นต้น  ถ้าไม่ทรงบันทึกไว้  ไหนเลยเราคนรุ่นหลังได้รู้อย่างพระองค์  

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่า คนอ่านหนังสือรุ่นหลังอย่างผมและคนอื่นๆ จะไม่เคารพนับถือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสียเมื่อไร  พระนิพนธ์ ตลอดจนพระกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับหนังสือของพระองค์มีคุณค่าอันเหลือประมาณ   ถ้าขาดพระองค์เสียแล้ว  เราคนรุ่นหลังก็ไม่รู้เหมือนกันว่า  จะค้นคว้าเรื่องเก่าๆ กันต่อไปอย่างไร   ครูอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ที่ผมรู้จัก  ท่านแนะนำเสมอว่า  ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทยต้องเริ่มอ่านจากหนังสือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงทำเป็นอันดับแรก  จากนั้นจึงค่อยอ่านหนังสืออื่นๆ ต่อไป    

เมื่อเราได้อ่านงานที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำไว้แล้ว  ก็ควรจะเข้าใจด้วยว่า  งานบางอย่างที่พระองค์ทรงทำไว้นั้น  มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลเหมือนกัน   ในช่วงเวลานั้น  พระองค์อาจจะทรงค้นข้อมูลได้จำนวนหนึ่ง  แต่หลังจากนั้น  มีคนค้นข้อมูลได้เพิ่มเติม  บางอย่างอาจจะสนับสนุนข้อมูลที่พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้  ในขณะที่บางอย่างก็อาจจะต่างจากที่ทรงทำไว้   ซึ่งก็เป็นธรรมดา  เราคนรุ่นหลังควรจะได้แก้ไขสิ่งที่พระองค์ทำไว้  ให้มีพัฒนาการไปตามข้อมูลที่ค้นพบใหม่  ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นว่าพระองค์ทรงทำถูกต้องไปเสียทั้งหมด   ถ้าใครเคยอ่านหนังสือ "ให้พระยาอนุมานราชธน" ก็จะทราบว่า  พระองค์ทรงพอพระทัยที่คนรุ่นหลังได้ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ และได้แก้ไขในสิ่งที่พระองค์ทรงทำพลาดไว้ให้ถูกต้อง  พระองค์ไม่ได้ถือเลยว่า  งานของพระองค์ถูกต้องแล้ว แก้ไขไม่ได้    การนับถือตัวบุคคล  ควรจะแยกจากงานของเขา  อะไรที่ถูกก็ว่าถูก อะไรที่ว่าผิดก็ต้องแก้ไขให้ถูก  ไม่ใช่ ดื้อถือไปอย่างนั้น   หากทำเช่นนั้น  ก็กลายเป็นผิดหลักกาลามสูตรแล้วความรู้จะงอกงามได้อย่างไร  

(จบตอนที่ ๑)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 11:31

จ้อกแจ้กจอแจ  อิอิ

ขอย่อความชีวิตนายกุหลาบต่อไปเรื่อยๆนะคะ  เรื่องที่คัดลอกต่อกันมานั้นขออนุญาตเว้น

ก.ศ.ร.  ว่างงานอยู่หลายปี
ที่จริงท่านคงตะลอนๆ ออกไปคุยกับคนรู้จัก เพราะโดยธรรมชาติท่านชอบสังคมมาก

ใครว่าก.ศ.ร. คุยโว  อวดอ้าง    คงจะมีส่วนจริงค่ะ
แต่ ไม่เคยที่จะอวดความร่ำรวย หรือ เส้นสายแต่อย่างใด

สิ่งที่ท่านพอใจจะเล่าบ่อยครั้งคือ ไปได้หนังสือมาจากไหน
นาน ๆ ทีท่านก็เบรคแตก เพราะคนที่ยืมหนังสือไปแล้ว  อม  ค่ะ

สมบัติที่ท่านอวดคือหนังสือค่ะ  เงินเดือน ๆ ละ ๒๕๐ บาทนั้นมหาศาล เพราะท่านก็มีบ้านเรือน ภรรยาก็พอมีฐานะไม่ได้เล่นการพนัน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 11:52

กลับมาที่เรื่องหนังสือหอหลวง  

นิทานโบราณคดี เป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก  พิมพ์หลายครั้ง  โดยเฉพาะเรื่องหนังสือหอหลวง ซึ่งมีคนนำไปอ้างต่อมากมาย  และนิทานเรื่องนี้ยังส่งผลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับนายกุหลาบของคนรุ่นหลังอย่างมากด้วย  

จากพระนิพนธ์  เราทราบว่า นายกุหลาบยืมหนังสือจากวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ไปจ้างให้ทหารมหาดเล็กคัดลอกใส่สมุดให้ที่วัดอรุณฯ   ในกลุ่มผู้อ่านหนังสือเก่า  เคยตั้งคำถามทีเล่นทีจริงว่า  นายกุหลาบคัดลอกหนังสือหอหลวงเหล่านั้นไปได้มากน้อยขนาดไหน   ใช้เวลาคัดลอกอยู่นานเท่าไร   และก่อนที่นายกุหลาบจะคัดลอกเอาหนังสือของหลวงไป  นายกุหลาบมีหนังสือเป็นของตัวเองอยู่ก่อนบ้างหรือไม่  หรือว่านายกุหลาบมามีหนังสือเป็นของตัวเองเพราะการคัดลอกครั้งนั้น  มีเสียงตอบกลับมาว่า  นายกุหลาบคงใช้เวลาคัดลอกประมาณ ๑ ปี  และไม่ใช่ว่า นายกุหลาบจะคัดลอกหนังสือเสียทุกเรื่อง   หนังสืออะไรน่าสนใจก็คัดลอก  อะไรไม่น่าสนใจก็ไม่คัดลอก  และนายกุหลาบคงมีหนังสือเป็นของส่วนตัวอยู่บ้างแล้วพอสมควร  

การหนังสือของนายกุหลาบคัดลอกนั้น  ถ้าโดยธรรมเนียมเก่า  การคัดลอกสมุดไทยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด  สุนทรภู่แต่งหนังสือให้คนมาลอกเอาไปอ่านได้ค่าจ้างเรื่องเลี้ยงตัว   บางคนรักกันชอบกันก็ให้ยืมหนังสือไปคัดลอกกันโดยไม่เอาค่าต้นฉบับก็มาก  แล้วหนังสือที่คัดลอกก็ถือเป็นของคนที่คัดลอก   ก็ถ้าว่าผิด   คนสมัยนี้ยิ่งไม่ผิดกว่าหรือ  เล่นถ่ายเอกสารหนังสือกันยกเป็นเล่มๆ ทีเดียว   ถ้าว่านายกุหลาบจะผิด   ก็คงเป็นเพราะไม่ได้ขออนุญาตคัดลอกนั่นเอง

เรื่องผิดจรรยาบรรณนักวิชาการ    เรื่องอย่างนี้   ต้องถามว่า  ถ้านายกุหลาบผิดเรื่องจรรยาบรรณ  ก็ควรจะต้องย้อนถามว่า  แล้วใครบางคนสมัยปัจจุบันที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติบุคคลเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง  ไปลอกข้อความจากหนังสือนายกุหลาบมาโดยไม่อ้างอิง  คนอ่านไม่รู้  เข้าใจว่าคนคนนั้นค้นคว้าได้มาเอง ก็พากันนับถือกัน  พากันอ้างอิงงานของเขาต่อ  อย่างนี้ไม่ผิดจรรยาบรรณยิ่งกว่าหรือ   สมัยนายกุหลาบนั้น  คำว่าจรรยาบรรณนักวิชาการเกิดแล้วหรือ?  คำคำนี้น่าจะเกิดในไทยสมัยปัจจุบันไม่เกิน ๘๐ ปีเป็นอย่างสูงสุด  ก่อนหน้านั้น  แม้เราจะมีเรื่องลิขสิทธิ์เกิดขึ้นจากการพิมพ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย   แต่กว่าลิขสิทธิ์จะเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง  จนเกิดคำว่าจรรยาบรรณทางวิชาการ  ก็อีกหลายสิบปีหลังนั้น  การเอาคำสมัยปัจจุบันไปอ้างเอาผิดกับคนต่างสมัยโดยที่เขาเองยังไม่รู้จักแม้กระทั่งระบบการอ้างอิง   เราควรถือเป็นการทำผิดในสมัยนั้นด้วยหรือเปล่า?  

ถ้าผิด  บรรดากวีที่แต่งโคลงแต่งฉันท์คงต้องทำผิดจรรยาบรรณกันจนไม่อาจจะยกย่องนับถือกันต่อไปแล้วกระมัง  เพราะท่านก็ลอกเลียนงานของกวีรุ่นก่อนกันมากมาย   ความคิดความนิยมของคนสมัยหนึ่งควรใช้เฉพาะกับคนสมัยหนึ่ง  หากจะนำไปใช้กับคนอีกสมัยหนึ่งก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) อันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น  

นิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง ใครๆ ก็ทราบ ใครๆ ก็อ่านกันทั่วไป   ทั้งในประเทศต่างประเทศ   แต่ หนังสือของนายกุหลาบ  พิมพ์ในช่วงนายกุหลาบแล้ว  ก็แทบจะไม่มีใครเอามาพิมพ์อีก  เพราะมันเป็นของที่ถูกตราชื่อว่า กุ  ไปเสียทั้งหมดกรุนั้น  คนที่ไม่เคยเห็นก็เชื่อตามเขาว่าจริงตามนั้น   ปัจจุบันแม้หนังสือของนายกุหลาบที่มีการเอามาพิมพ์ใหม่ลางเล่ม  เช่น อายะติวัฒน์  นิราศยี่สาร  เป็นต้น  ก็ยังไม่ได้ช่วยให้คนเข้าใจนายกุหลาบดีขึ้นกว่าเดิม   หนังสือของนายกุหลาบยังเป็นหนังสือเก่าที่นักสะสมอยากได้อยากอ่านอยู่  และแอบๆ เผยแพร่ประหนึ่งว่าเป็นของผิดกฎหมาย

การที่คุณวันดี เอาเรื่องของนายกุหลาบมาลงให้อ่านไม่ใช่ว่า เราจะค้านสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และรัชกาลที่ ๕ เสียเมื่อไร   แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่านายกุหลาบไม่ได้ กุ ไปเสียทุกเรื่อง  ถ้านายกุหลาบ  กุ  กระทั่งประวัติของตัวเอง   ก็นับว่าประหลาดมนุษย์มากทีเดียว  (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเชื่อตามโวหารทุกถ้อยคำทุกตัวอักษรตามที่นายกุหลาบเขียนไว้ให้ไพเราะเพราะพริ้งเพื่อเป็นอวดตัวในลางแห่งด้ว  ถ้าอ่านแล้วเชื่อถืออย่างนั้นก็สมควรแล้วที่จะให้นายกุหลาบหลอก)  ยังมีหนังสืออีกมากมายที่นายกุหลาบทำไว้ให้คนรุ่นหลังไม่ขาดข้อมูลเก่าๆ  ทั้งนี้เราต้องอ่านพิจารณาโดยละอคติเดิมๆ เสียก่อน   ไม่เช่นนั้น  ถึงอ่านไปก็ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่นายกุหลาบอุตส่าห์มานะทุ่มทุนทำเอาไว้จนเกือบหมดตัว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 20 คำสั่ง