ในหนังสือของคุณมนันยา ผู้สืบสายโลหิตจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ (คุณมนันยาเรียกตาของยายของเธอในหนังสือว่า ก.ส.ร.กุหลาบ) บันทึกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗
แต่ก็น่าสงสัยต่อไปอีก คือ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖ ถ้าเป็นวันเกิดของนายกุหลาบจริง ก็ไม่น่าจะมีข้อความนี้
เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย) ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น ตามมาด้วย แต่เมื่อมีข้อความนี้มาตามหลัง ทำให้ข้อมูลของคุณมนันยาเป็นไปไม่ได้ทันที เพราะการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยิงปืนอาฏานาฏิยะสูตร จะไม่มีทางจัดในวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เป็นแน่ ถ้าพิจารณาประวัติที่ นายกุหลาบเขียนเองและพิมพ์เองแล้ว ก็น่าจะเชื่อตามนายกุหลาบเจ้าของข้อมูลที่บันทึกไว้ เป็นไปได้เหมือนกันที่นายกุหลาบอาจจะจำวันพลาดไป แต่ขึ้นแรมกี่ค่ำไม่น่าจะพลาด เว้นแต่นายกุหลาบจะจำคลาดเคลื่อนเอง แต่จากข้อมูลที่นายกุหลาบเล่าไว้ตามที่คุณวันดียกมาเล่า แสดงว่านายกุหลาบจดจำรายละเอียดหลายอย่างดีมาก ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ใหญ่ของนายกุหลาบอาจจะจำวันเกิดนายกุหลาบคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ความว่า "เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย) ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น" น่าจะช่วยยืนยันว่า นายกุหลาบเกิดวันสิ้นปีมะเมีย ฉศกพอดี
ขอเสริมเรื่องชื่อของนายกุหลาบ คำนำหน้าชื่อกุหลาบว่า ก.ศ.ร. นี้มาจากสมญาที่ได้รับเมื่อบวชเป็นภาษาบาลีว่า เกสโร ในภาษาบาลีมีแต่ ส. ไม่มี ศ. หรือ ษ.
ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด นายกุหลาบได้เลือกคำนำหน้าว่า ก.ศ.ร. แทนที่จะเป็น ก.ส.ร.

ตรงนี้ ก็น่าสนใจ ถ้าไปอ่านข้อมูลประวัติที่นายกุหลาบเล่าเองจะแปลกใจหนักขึ้นไปอีก คือ นายกุหลาบเคยแต่บวชเป็นสามเณร ไม่เคยบวชเป็นพระภิกษุ ในเมื่อบวชเป็นสามเณร จะมีฉายาบาลีได้อย่างไร ก็ในเมื่อการบวชเป็นเณรไม่มีการขานนาคอย่างบวชพระ ไม่มีการนั่งหัตถบาสในการทำพิธีบวช ฉะนั้นฉายาบาลีที่นายกุหลาบได้มาจากสมเด็จพระอุปัชฌาย์ ได้มาอย่างไร หรือว่าสามเณรสมัยก่อนมีฉายาด้วย

เป็นไปได้ไหมว่า ฉายา เกสโร ที่นายกุหลาบได้มานั้น เป็นฉายาที่เตรียมไว้เมื่อเณรกุหลาบจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพราะตอนที่นายกุหลาบบวชเณรนั้น นายกุหลาบก็อายุ ๒๖ - ๒๗ ปีแล้ว (คุณวันดีกรุณาทักท้วงด้วยถ้าผิดพลาด) ผู้ใหญ่ที่ให้นายกุหลาบบวชคงหมายที่จะให้นายกุหลาบได้บวชเป็นพระด้วย แต่นายกุหลาบยังไม่มีใจพอที่จะบวชเป็นพระตามประสงค์ได้ จึงได้ลาสิกขาเสียก่อน (ตอนนั้นมีเมียแล้วด้วย)
ส่วนเรื่อง ว่า นายกุหลาบ ใช้ ก.ศ.ร. ไม่ใช่ ก.ส.ร. ตามบาลีที่เป็นฉายา หากว่าตามหลักบาลีแล้ว ควรใช้ ส ไม่ใช่ ศ ตามหลักไวยากรณ์บาลีควรเป็นเช่นนั้น แต่นายกุหลาบอาจจะคิดตั้งใช้ให้ต่างจากคนอื่น ถามว่าผิดไหม คงไม่ผิด เพราะชื่อคนเป็นชื่อเฉพาะ เขียนอย่างไรก็ได้ ภาษาไทยสมัยเก่า ท่านมีเกณฑ์การใช้ ส ศ ษ ดังนี้ ส ใช้เป็นพยัญชนะต้น ศ ใช้เป็นตัวสะกด ษ ใช้เป็นตัวการันต์ ดังนั้น โบราณท่านจึงเขียน วงษ์ พงษ์ สาศนา วาศนา พิศม์ พิศณุโลกย์ ด้วยเกณฑ์ดังนี้ (บางคำก็ไม่ตามเกณฑ์นี้ก็มีบ้าง เช่น เกษร เป็นต้น) อย่างชื่อนายกุหลาบ ถ้าว่าตามเกณฑ์อย่างเก่า ไม่เป็น ก.ส.ร. ก็น่าจะเป็น ก.ษ.ร. แต่นายกุหลาบไม่เลือกใช้ทั้งสองอย่างเลือกใช้อีกอย่างที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์นิยม