เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61274 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 07 เม.ย. 10, 08:53

เล่ากันว่า  หนังสืองานศพของ นายกุหลาบ  ตฤษณานนท์นั้น  เป็นงานพิมพ์ของนายกุหลาบเอง
เมื่อทำงานศพ  ไปกวาดซื้อกลับมา

เป็นตำรายา  ที่คนออกหากันเหมือนกัน

อ้าว!   เกิดความอยากอ่านติดหมัด

เมื่อได้เอกสารมาแล้ว  พบว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร

เรื่องตำรายาแจกงานศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ นี้ หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา - ลูก ก.ห.ชาย) เล่าว่า ก.ศ.ร.กุหลาบพิมพ์จำหน่ายหรืออนุญาตให้คนอื่นนำไปพิมพ์จำหน่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรมลูกหลานกำหนดจะฌาปนกิจภายใน ๓ วัน จึงพิมพ์ตำรายาใหม่ไม่ทัน ต้องไปกว้านซื้อจากที่พิมพ์ขายมาแจกเป็นของชำร่วยงานศพ โดยพิมพ์ใหม่แต่ปกว่าเป็นหนังสือแจกงานฌาปนกิจศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ

มีเกร็ดชีวตของ ก.ศ.ร.กุหลาบก่อนที่จะถึงแก่กรรม  ก.ศ.ร.กุหลาบเจ็บหนัก ลูก ๆ ได้นิมนต์พระมาสวดต่ออายุ เจ้านายหลายพระองค์ทรงทราบข่าวคิดว่า ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรม จึงเสด็จมาพิธีศพ เมื่อทรงทราบว่า ก.ศ.ร.กุหลาบยังไม่ได้เสียชีวิตจึงประทับฟังสวดและคุยกันที่บ้านจนดึก

เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรมจริง เจ้านายหลายพระองค์ได้เสด็จไปงานฌาปนกิจที่วัดสระเกศพร้อมกับรับสั่งเหมือน ๆ กันว่า ต้องมาอโหสิ เคยด่าว่ากันไว้มาก

ปัจจุบันอัฐิของ ก.ศ.ร.กุหลาบบรรจุอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน

ข้อมูลจากหนังสือของคุณมนันยา

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 07 เม.ย. 10, 09:18

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 เจ๋ง

และนี้เป็นคำอำลาผู้อ่านสยามออบเซอร์เวอร์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ลงในสยามประเภท เล่ม ๑



บันทึกการเข้า
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 07 เม.ย. 10, 13:46

คุณwandeeครับ
ผมเคยถามว่า การที่นายกุหลาบใช้รูปไม้กางเขนมาพิมพ์ประกอบไว้ในหนังสือหลายเรื่อง หลายเล่ม มีนัยอะไร
คุณwandeeตอบว่า มี }ตรงจุดนี้ ขอให้ขยายความให้ชัดเจนได้ไหมครับว่า มี เพราะเหตุใด เพื่ออะไร อยากทราบจริงๆครับ ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 07 เม.ย. 10, 14:25


อั้งยี่ เป็น สมาคมลับ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง  จะเพื่อประเทศไหนก็ต้องดูจากตัวสมาชิกคนสำคัญอีกที

ตอนนี้ก็คิดได้เท่านี้ค่ะ

เป็นแค่นักอ่านเท่านั้น 

แค่มิตรยินยอมให้นั่งร่วมกลุ่มเวลาเขาแลกหนังสือกัน ก็ถือเป็นบุญตัวจากชาติก่อนแล้วค่ะ
พวกเราดื่มน้ำอัดลมกัน   เห็นหลายคนดื่มไม่ลงดิฉันยังประหลาดใจว่าหนังสืออะไรจะสำคัญหนักหนา
เล่มสุดท้ายเป็นรูปใครก็ไม่รู้  ไปเฝ้าซูสีไทเฮา  เล่มเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่ะ  เป็นรูปแกะ ซึ่งสำหรับนักอ่านคงไม่ต้องอธิบายต่อ



หนังสือสำคัญหลายเล่มของเรายังพอมีเหลือที่จะเล่าเพื่อเขย่าขวัญกันได้ค่ะ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 07 เม.ย. 10, 14:37

ถ้าคุณ  overhaul   มีโอกาสได้เห็น รูปถ่ายของ ปก  หนังสือชุดนี้มาบ้าง

สังเกตให้ดีนะคะ  ว่า ไม้กางเขนที่พาดขวาง  อยู่ในลักษณะไหน  มีสามแบบค่ะ  ในหนังสือสามเล่ม



ถ้ามีข่าวคราวใดๆเพิ่มเติม  จะกลับมาเล่าต่อค่ะ
แน่นอนที่ข้อมุลจะไม่เหมือนเดิม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 10:16

ระหว่างที่รอความลับจะถูกเปืดเผย  ขอเล่าถึงชีวิตของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในบั้นปลายของชีวิตในสายตาของ กาญจนาคพันธุ์ จากหนังสือ กรุงเทพฯ เมื่อ ๗๐ ปีก่อน

ส่วนถนนตะนาวที่เคยเที่ยวอยู่ในระยะนั้น ชื่อตะนาวอยู่จากทางวัดมหรรณพ์มาถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า แต่เคยเที่ยวเลยต่อไปถึงสี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งท่อนนี้เรียกเป็นถนนเฟื่องนคร  ขอเริ่มจากสี่กั๊กพระยาศรีที่เป็นตึกโดด ๔ มุม ตรงมุมทางตะวันออกเป็นห้างฝรั่งเยอรมันชื่อห้าง ย.ร.อันเดร ขายของเยอรมันต่าง ๆ ตลอดจนเพชรพลอย จากห้าง ย.ร.อันเดรข้ามมาดูเหมือนจะเป็นห้างขายยาอังกฤษ ซึ่งต่อมาดูเหมือนจะเป็นห้างขายยาฝรั่งของไทย ต่อนั้นมาก็เป็นตึกแถวสำหรับเช่า ฝีมือทำออกจะดี แล้วถึงสะพานวัดราชบพิธ ข้ามคลองหลอดเป็นสะพานก่ออิฐถือปูนเป็นรูปโค้งสูงมากดูเหมือนจะชื่อ "เฉลิมพงษ์" ลงสะพรานมาเป็นตรอกเล็ก ๆ ไปออกถนนอุนากรรณ ติดกับตรอกเป็นบ้านเข้าใจว่าเป็นต้นตระกูล "คชนันท์"

ทางด้านริมถนนเป็นตึกแถวราว ๔-๕ ห้อง ถึงทางเข้าบ้าน (คชนันท์) เป็นที่กว้าง ตึกริมทางเข้านี้เป็นตึกหรือโรงพิมพ์ของนาย ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ออกหนังสือ "สยามประเภท" มีชื่อเสียงในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีบุตรชายชื่อ ก.ห.ชาย นับว่าเป็นคนหัวสมัยใหม่สำหรับยุคนั้นที่มีชื่อย่อนำหน้าเหมือนฝรั่ง คำ ก.ศ.ร. ได้ยินว่ามี่ชื่อมาจาก "เกศโร" ตัวนายกุหลาบเวลาเย็นมักเอาเก้าอี้มาตั้งหน้าร้าน รูปร่างผอมเล็ก ๆ คล้ายมหาตมคันธี นุ่งโสร่งใส่เสื้อยืด แจกหนังสือต่าง ๆ ให้คนไปมา (ซึ่งเวลานั้นมีคนเดินไม่กี่คน) ข้าพเจ้าเองเคยแวะไปรับหนังสือแจก และท่านให้เข้าไปนั่งข้างแท่นพิมพ์ หาหนังสือมาให้อ่าน และให้เลยบ้าง เอาคืนเข้าตู้บ้าง ข้าพเจ้านึกแปลกที่ข้าพเจ้าอายุราว ๗-๘ ขวบไปนั่งคุยกับท่านซึ่งอายุราว ๘๐ ซึ่งเป็นเพราะข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือ และหนังสือสยามประเภทของท่านแปลก ๆ และสนุกดี ข้าพเจ้ายังเก็บไว้ได้มากและรักษามาจนไฟไหม้แพร่งสรรพสาตร์หมด

ที่ตั้งโรงพิมพ์สยามประเภทนี้ ต่ออีกนานดูเหมือนสิ้นรัชกาลที่ ๖ จึงตั้งโรงพิมพ์ "ไทยเขษม" ซึ่งข้าพเจ้าเคยเขียนลงมากหลายเรื่องเช่นเรื่องวารุณี แต่หนังสือรุ่นนี้ทั้งหมดไฟไหม้หมดแล้วเหมือนกัน


เด็กอายุ ๗-๘ ขวบกับผู้ใหญ่อายุ ๘๐ ปีคุยกันรู้เรื่อง เพราะทั้งสองมีความสนใจอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ หนังสือ

 ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 12:01


จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  บทที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนท์) โปลิศท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสารเรียกชื่อว่า "สยามประเภท" เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ "วชิรญาณ" ทำเป็นสมุดออกขายเป็นรายเดือน


ก.ศ.ร.กุหลาบเข้ารับราชการเป็นตำรวจน้ำอยู่กับพระยานรรัตนราชมานิต (โต) ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยตั้งให้เป็น "แอดซูแตนท์" ทำหน้าที่นายเวรหรือคนสนิทของผู้บัญชาการ ปฏิบัติงานด้านธุรการเป็นส่วนใหญ่  และในปีเดียวกันนั้นเองหอสมุดวชิรญาณก็ได้รับ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าเป็นสมาชิก

ก.ศ.ร.กุหลาบรับราชการอยู่จนทางการยุบเลิกกรมโปลิศท้องน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔  ในปีเดียวกันนั้นเอง ก.ศ.ร.กุหลาบจึงลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ รวมเวลารับราชการอยู่ ๗ ปี

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 เจ๋ง

ข้อมูลเรื่องนายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ ในปี ๒๔๒๗ นั้น ยังหาเอกสารตรวจสอบไม่ได้  ในหนังสือของคุณมนันยา ว่านายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๒๗  จึงอนุโลมเชื่อตามข้อมูลนี้ไปก่อน

แต่เรื่องนายกุหลาบลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ  มีข้อมูลแย้งว่า นายกุหลาบไม่ได้ลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณในปี ๒๔๓๔  เหตุเพราะกรมโปลิศท้องน้ำยุบเลิกไป   ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ  นายกุหลาบได้ทำหนังสือลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ ตั้งแต่ปี ๒๔๓๐ แล้ว  ดังข้อความใน วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๒ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙  หน้า ๓๗๕  คอลัมน์ขวา ด้านล่าง  มีข้อความว่า


แจ้งความ

          ด้วย  ณ  วัน  ๑  เดือน   ๑๑  ขึ้นค่ำ  ๑  ปีกุนนพศก  ๑๒๔๙  ได้รับหนังสือของนายกุหลาบฉบับหนึ่ง  ความว่า   ขอลาออกจากสมาชิก    กรรมสัมปาทิกได้ปฤกษาเหนพร้อมกัน   ยอมให้นายกุหลาบออกจากสมาชิกแล้ว

กรรมสัมปาทิก



ฉะนั้น   ข้อที่ว่านายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณถึง  ๗  ปีตามระยะเวลาที่นายกุหลาบได้รับราชการอยู่กรมโปลิศท้องน้ำนั้นระหว่างปี ๒๔๒๗ - ๒๔๓๔   ย่อมไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจากเอกสารร่วมสมัย   

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 14:44

ในสยามประเภทเล่ม ๑ หน้า ๗๕-๗๖ นายกุหลาบได้ลงพิมพ์สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ ไว้ดังนี้
สำแดงเกียรติยศทั้งสองฝ่าย
ผู้ให้และผู้รับ


(สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ)

หอพระสมุดวชิรญาณ
ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ

(ดวงตรา)
                ณวันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำปีรกาสัปตศก๑๘  ๑๒๔๗
                   ถึง   นายกุหลาบแอศยุแตนตืผู้ว่าการกรมทหารกองลาดตระเวรลำน้ำเจ้าพระยาทราบ    ด้วยมีรับสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นพิชิตปรีชากรสภานายก   ให้เชิญท่านเข้าไปรับพระราชทานตราตั้ง   เปนกรรมสัมปาทิกณะหอพระสมุดวชิรญาณ   ณวันพุฒเดือนสิบสองขึ้นห้าค่ำ ปี ๑๒๔๗  เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระแท่น    ออกขุนนางณะพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท
(ทรงลงพระนามว่า)  โสณบัณฑิตย์  

                                      
เลขาธิการ


ตามไปตรวจดูข่าวราชการในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๑ ออกเมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบสอง แรมแปดค่ำ ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ หน้า ๔๒๙  มีข้อความว่า


ข่าวราชการ

    วันพุฒ  เดือนสิบสอง  ขึ้นห้าค่ำ  ปีรกาสัปตศก  เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว เสดจออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท  พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ   พระมนตรีพจนกิจนำบอกเมืองอินทบุรี  ๑  ฉบับ   เมืองไชยนาท  ๒  ฉบับ   เมืองปาจิณบุรี  ๑  ฉบับ  รวม  ๔  ฉบับ  ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณากับพระสุรินทรามาตยนำบอกเมืองนครศรีรรมราชขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  ๑  ฉบับ  แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  พระราชทานตราตั้งกรรมสัมปาทิกะหอพระสมุดวชิรญาณ  ครั้นสิ้นราชการแล้วเสดจขึ้น...

วันเวลาในข่าวราชการตรงกับวันเวลาที่นัดหมายไว้ในสำเนาหนังสือที่นายกุหลาบเอามาลง    แต่เพื่อให้แน่ต้องไปตรวจดูในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ ปี ๑๒๔๗  ประกอบด้วย   จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕  หน้า ๔๘ - ๔๙  


วันพุธ  ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีระกาสัปตสก  จุลสักราช  1247

      เวลาบ่าย  5  โมงเสส  สเด็ดออกประทับห้องออกขุนนางวงปิดทองพระแล้วสเด็ดขึ้นพระแท่นออกขุนนาง  ...ฯลฯ...  แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยะยสมงกุตสยามชั้นที่ 4  ภัทราภรน์   แก่หลวงอนุรักส์ภูเบสซึ่งได้ตามสเด็ดกรมหมื่นพิชิตปรีชากรไปราชการเมืองเชียงไหม่  1  และพระราชทานตราตั้งผู้ช่วยจัดการหอสมุดวชิรญาน  คือพระองค์ไชยาเปนปติคม 1  พระยาภาสกรวงส์  1  พระยาสรีสุนทร  1  นายจรพรหมธิบาล  1  ทั้ง  3  นายเปนผู้ช่วยฝ่ายขุนนาง   แล้วสเด็ดขึ้นประทับออฟฟิสครู่หนึ่งสเด้ดขึ้น

หมายเหตุ  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ นี้ พิมพ์ในช่วงที่บังคับใช้อักขรวิธีตามนโยบายจอมพล ป. พิบูลสงคราม  อาจจะอ่านสะดุดบ้างสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย   ทั้งนี้ได้ลองตรวจสอบกับต้นฉบับจริงของจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี ๑๘๘๕ แล้ว  ข้อความตรงกัน  ต่างกันเพียงอักขรวิธีสะกดตามสมัยนิยมเท่านั้น  


เมื่อเป็นอย่างนี้  มีข้อสงสัยขึ้นว่า  ไหนว่า  นายกุหลาบได้รับหนังสือให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณตามที่เลขาธิการหอพระสมุดมีหนังสือมาถึงนายกุหลาบ   แต่พอถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งจริง   ทำไมกลับไม่มีชื่อนายกุหลาบเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้ง   เกิดอะไรขึ้นกันแน่   นายกุหลาบลงพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม?  หรือเกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น?  ตกใจ ลังเล
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 16:20

นายกุหลาบลงพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม?  หรือเกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น?  ตกใจ ลังเล

ก.ศ.ร.กุหลาบ คงไม่กล้าพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม มิฉะนั้นตัวบุคคลที่ป่รากฏในสำเนาหนังสือนี้คงออกมาค้านเป็นแน่

สำเนาหนังสือสำคัญที่ ก.ศ.ร.กุหลาบนำมาแสดงมีอยู่ ๔ ฉบับ





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 16:26

ฉบับที่ ๔


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 16:33

ก.ศ.ร.กุหลาบ ท้าว่าหากใครคิดว่าสำเนาหนังสือเหล่านี้ปลอม ให้ไปดูต้นแบบได้ที่ห้องสมุดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ บ้านใต้วัดราชธิวาส (สมอราย)

เชิญดู! เชิญอ่าน! เทอญ

 ยิ้มกว้างๆ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 08 เม.ย. 10, 16:42

ตื่นเต้นเหมือนกำลังดูหนัง
หมายความว่า เกิดเหตุขัดข้องอะไรสักอย่าง ทำให้รายชื่อนายกุหลาบตกไป ไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 12 เม.ย. 10, 11:39

ตื่นเต้นเหมือนกำลังดูหนัง
หมายความว่า เกิดเหตุขัดข้องอะไรสักอย่าง ทำให้รายชื่อนายกุหลาบตกไป ไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง

ในหนังสือของคุณมนันยา กล่าวไว้ว่า

"...เมื่อท่าน ก.ศ.ร. กุหลาบ  ได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดแล้วองค์สภานายกได้ทรงเสนอหนังสือขอแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ช่วยเหรัญญิกหอสมุด   แต่ก็มีประกาศตอบมาว่า

"แต่ตำแหน่งผู้ช่วยเหรัญญิกซึ่งสภานายกเลือกนายกุหลาบมิใช่เจ้าและมิใช่ขุนนางทั้งมิใช่คนที่ทรงคุ้นเคย   ทรงพระรังเกียจอยู่เป็นอันงดเลิกตำแหน่งนี้"..."

ข้อมูลมีเท่านี้  ยังไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้มากกว่านี้
 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 12 เม.ย. 10, 12:03

เรื่องนายกุหลาบในเอกสารอื่นที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือที่นายกุหลาบแต่งและพิมพ์เอง  และเป็นเรื่องก่อนที่นายกุหลาบจะออกหนังสือสยามประเภทนั้น  เท่าที่พบตอนนี้มี  ๒ เรื่อง   คือ

๑ นายกุหลาบส่งเรื่องสรรเสิญนายจิดช่างถ่ายรูปไปลงพิมพ์ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุ (บางกอกรีคอร์เดอร์)ของหมอบลัดเล เล่มที่ ๒ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลอัฐศก ๑๒๒๘ โยปรากฏชื่อนายกุหลาบ  โดยในข้อความที่นายกุหลาบส่งไปลงพิมพ์นั้น  ได้กล่าวถึงเรื่องพระภิกษุ ๔ รูปประพฤติตนไม่เหมาะสมเรื่องต่างๆกับนายจิด  จากนั้น ในเล่มที่ ๒ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาลอัฐศก ๑๒๒๘  นายวรรณหรือเทียนวรรณได้ส่งเรื่องเตือนผู้สรรเสิญนายจิดไปลงแก้คำของนายกุหลาบในฉบับก่อน   ในบางกอกรีคอร์เดอร์ฉบับเดียวกันยังได้ลงเรื่องคำนายจิด ซึ่งได้กล่าวตำหนินายกุหลาบบ้านอยู่ริมสามเสนซึ่งเป็นผู้เอาข้อความมาลงพิมพ์ทำให้นายจิดเสียหาย  ต่อจากข้อความนี้ เป็นหมอบลัดเล เรื่อง คำตอบความนายจิด    ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะนายกุหลาบเริ่มเป็นคนแรก    และเป็นปฐมของนายกุหลาบที่เริ่มเขียนหนังสือไปลงเผยแพร่อย่างเป็นทางการ  (ในเรือนไทยเคยมีผู้เล่าเรื่องนี้ไว้แล้ว  จึงไม่ขอนำมาเล่าซ้ำอีก)

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 12 เม.ย. 10, 15:19

๒  เป็นเรื่องที่นายกุหลาบได้นำไปให้บรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษลงพิมพ์  ในสมัยที่นายกุหลายยังเป็นสมาชิกของหอพระสมุดวชิรญาณอยู่   มีดังต่อไปนี้


ก. ในวชิรญารวิเศษ เล่ม ๒ แผ่น ๒๕ วันศุกร์  เดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙  ลงพิมพ์ เห่ทำขวัญเข้า (ข้าว) พระยาไชยวิชิต  (เผือก) ผู้แต่ง  ได้ต้นฉบับมาจากนายกุหลาบ  ตั้งแต่หน้า  ๑๙๕ - ๑๙๖

ข. ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๑ แผ่น ๓๑ วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘ ในหัวเรื่องแจ้งความ ของพระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าวรวรรณากร สาราณิยากร  เวรบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษ  แจ้งว่า  "...นายกุหลาบเดิมส่งระยะทางไปเมืองจีนเนื้อความยืดยาว   และไม่สู้มีประโยชน์จึงขอให้ส่งเนื้อความมาใหม่  ได้ส่งนามเสนาบดีแต่ปถมรัชกาลจนถึงร้อยปีได้ลงมาแล้ว..."  และในหน้า  ๓๔๗  คอลัมน์ขวา  ลงเรื่อง  ตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  เนื้อความยาวไปจนถึงหน้า ๓๔๘  คอลัมน์ขวา  แล้วจบด้วยโคลงสีสุภาพว่า

"ตำแหน่งนามยศทั้ง          นามเดิม   ท่านแฮ
รวมรวบเรียบเรียงเติม         แต่ต้น
ห้าสิยสี่นามเฉลิม              ฉนำนับ  ร้อยนา
กุหลาบเพียรคิดค้น            คัดขึ้นทูลฉลอง 
                                                       กุหลาบ"


ค.  ต่อมาในวชิรญาณวิเศษ  เล่ม ๑ แผ่น ๓๒  วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๔  ค่ำ ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  บรรณารักษ์  เวรบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษ    ได้ทรงลงพิมพ์ว่า

แจ้งความ


ด้วย ณ วันอังคาร  เดือนเก้า  แรมสิบค่ำ  ข้าพเจ้าได้รับหนังสือฉบับ ๑  ของผู้ลงชื่อ  (ข.)  ว่าด้วยความวุมุติสงไสย  แลเพิ่มเติมพระนามพระบรมวงษานุวงษซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี   แต่รัชกาลที่ ๒  ถึงรัชกาลปัตยุบันนี้  ขอให้ลงพิมพ์ในเวรข้าพเจ้า   ได้ส่งมาลงพิมพ์ด้วยแล้ว  มีความพิศดารต่อไปนี้   

บรรณารักษ์


หนังสือความวิมุติสงไสยของผู้ลงชื่อว่า (ข.) นั้นยาว  ๑ หน้ากระดาษ  ดูท่าทางจะเป็นเจ้านายชายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  ที่มีพระนามที่ขึ้นต้นอักษร  ข   (จริงๆ  ก็เดาได้ไม่ยากนัก)

ห่างมาอีก หลายสัปดาห์  นายกุหลาบก็ได้ส่งคำแก้วิมุติสงไสยของนาย ข. นั้น  ลงในวชิรญาณ เล่ม ๑ แผ่น ๓๖  วันจันทร์  เดือน ๑๐ แรม ๑๕  ค่ำ ปีจอ อัฐศก  ๑๒๔๘   โยในแจ้งความของบรรณาธิการเวรประจำฉบับ  คือ  พระพรหมธิบาล  (จร) มีข้อความว่า   "...นายกุหลาบขอลงความแก้สงไสย ของผู้ลงชื่อ  (ข.) เรื่องหนึ่ง..." 

ในเล่มเดียวกัน  หน้า ๓๘๖ - ๓๘๗  นายกุหลาบก็ได้ตอบแก้ความวิมุติสงไสยของนาย (ข.)นั้นรวมทั้งหมด ๖ ข้อ(ประเด็นถาม)  ซึ่งวิธีการเขียนของนายกุหลาบนั้นเป็นลีลาอย่างเดียวกับที่นายกุหลาบได้ใช้ในหนังสือสยามประเภทในกาลต่อมา   พร้อมกันนั้นนายกุหลาบยังได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลที่นำมาเรียบเรียงเรื่องตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  จากเอกสารต่างๆ  ที่นายกุหลาบได้อ่านและค้นจากหอพระสมุดวชิรญาณ  แล้วยังได้กล่าวท้าให้คนถามลองมาค้นดูที่หอพระสมุดด้วย   ถ้ามีโอกาสจะนำเนื้อความดังกล่าวมาลงละเอียดต่อไปภายหน้า ยิ้ม



อนึ่ง  เพิ่งนึกได้ว่า มีเรื่องนายกุหลาบในหนังสือสยามไสมยของครูสมิทด้วย   แต่ขอผู้อื่นอย่างคุณวันดีเล่าบ้างจะดีกว่าครับ   เจ๋ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.127 วินาที กับ 19 คำสั่ง