เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61269 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 11:59

การบวชนายชายครั้งนั้น  นายกุหลาบทำตามพระธรรมวินัย คือ

ไม่มีดุริยางคดนตรี  อันเป็นข้าศึกแห่งพรหมจรรย์

ไม่มีกรวยอุปัชฌาย์

เว้นการวันทาสิมาไชย์

ไม่แห่นาครอบโบสถ์(ก.ศ.ร.รับว่าถ้าจะถือว่าการเวียนรอบโบสถ์ เปนการประทักษิณพระอุโบสถ  พอจะเข้าท่าบ้าง)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 12:15

ตามอ่านหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ ก.ศ.ร.    หนังสือของก.ศ.ร.เองเท่าที่จะหาได้
เมื่อใดที่ก.ศ.ร. ถ่อมตัว     เรื่องราวต่อไปสนุกมาก


     งานรับรองแขกที่มาช่วยในงานบวช  จัดแบบสมัยใหม่  คือมีเลี้ยงโต๊ะ
มีเครื่องดื่มสมัยใหม่ตามสมควร   ด้วยมีท่านที่มีพาศนาบรรดาศักดิ์  มาช่วยงาน



ฝ่ายสยาม  มี

เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (ผู้ขอยืมหนังสือของ ก.ศ.ร. เป็นประจำ)

และพระยาพานทองอีกหลายท่าน

พระยาสามัญ คือพระยาวิชิตณรงค์(ญาติผู้พี่ของนายกุหลาบ   คือลุงของนาค)

พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง

พระยาสมบัตยาธิบาล

และ พระหลวงขุนหมื่นมหาดเล็ก  พ่อค้าพานิชและชาวสยามผู้ดีด้วย

มีด้วยกันร้อยคนเศษ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 12:27

ชาวยุโหรปนั้น คือ  ราชทูตกงซุลหลายชาติ  ทั้งพ่อค้านายห้างฝรั่งชายและหญิงด้วยเป็นอันมาก

มี  มองซิเออ เดอ ฟรางซ์  ราชทูตฝรั่งเศส

มองซิเออฮาดูวิน  อุปทูตฝรั่งเศส

กงซุลฝรั่งเศสที่ ๑, ๒  และ ๓  และเสมียรที่ สฐานทูตฝรั่งเศสอีกหลายคน

และ คอมมันดองผู้บังคับการเรือรบฝรั่งเศส

และขุนนางในเรือรบฝรั่งเศสชื่อ วิแป

มากหน้าหลายตา  ล้วนแต่งกายเต็มยศทุกคน  คือสวมเสื้อเต็มยศ  ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทั้งสิ้นทุกคน


และมิศเตอร์เบกเก็ด  กงซุลอังกฤษ

มิศเตอร์แกแรด  กงซุลอเมริกันเมืองเชียงใหม่

กงซุลฮอลันดา

มิศเตอร์การะโด

มิศเตอร์เยรินี

รวมชาวยุโหรปชาย  ๑๖
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 12:35

ชาวยุโหรปหญิง  คือ

แมดำ  เดอร์ฟรางค์  ภรรยาราชทูตฝรั่งเศส  และ บุตรี

มิศซิด การะโด

มิศซิดแฟนิน๊อก  ธิดาราชทูตอังกฤษ น๊อก

และหญิงชาวยุโหรปอีก สี่ นาง


     ทั้งชายหญิงทั่งสิ้น ๒๔ คน  นั่งเก้าอี้หน้าพระอุโบสถ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 13:46

     เมื่อเจ้านาคแต่งกายนุ่งผ้าเยียระบับพื้นขาว ลายทอง  สรวมเสื้อครุยสำรดทอง
เดินมาถึงหน้าพวกราชทูตกงซุลนายห้างชาวยุโหรป     แขกทั้งปวงก็ลุกยืนขึ้นพร้อมกัน  ก้มศีร์ษะ
คำนับเจ้่านาค   เจ้านาคก็ทำคำนับตอยแทนบ้างเป็นการของคุณ

แล้วเจ้านาคก็เดินผ่านหน้าชาวต่างประเทศ้ข้าไปในโบสถ์ 
ขออุปสมบทกรรมตามวิธีวินัยบรรยัติ


เมื่อกำลังบวชนาคชายอยู่นั้น
มีล่ามแปลภาษาฝรั่งเศส  และภาษาอังกฤษ  ภาษาอิตาลี
ชี้แจงให้ชาวยุโหรปทราบวิธีที่บวชนาคและสวดตลอด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 14:00

งานเผาศพ หุ่น  จัดขึ้นที่วัดราชาธิราช(สมอราย) เมื่อ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๕


ผู้ที่อยู่คอยเผาศพหุ่นมี


หม่อมเจ้าวัชรินทร์


เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต

เจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์

พระยามหาอำมาตย์

พระยาวิชิตณรงค์

พระยาสมบัติธิบาล



หลวงนายเสน่ห์รักษา

หลวงจินดารักษ์

หลวงมหาสิทธิโวหาร

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี

หลวงเทพสมบัติ



ขุนธนสิทธิ

ขุนอภัยพิมล


ของชำร่วย คือ ก๊าศดำ  มีรูปหุ่นด้านหน้า  ข้างหลังมีอักษรสีทอง  แสดงประวัติของหุ่นด้วย
เป็นของแสดงความขอบคุณ เป็นที่ระลึกในการศพ


จบประวัติ  หน้า ๑๓๒
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 15:33

คนสมัยปัจจุบันรู้จักนายกุหลาบจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโดยมาก   มีคนส่วนน้อยที่รู้จักนายกุหลาบจากเอกสารของนายกุหลาบและเอกสารอื่นที่ไม่ใช่พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ต่อไปนี้จะเป็นการแสดงข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างในประวัติของนายกุหลาบ

จากคำนำพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย  พิมพ์ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าแขไขดวง ครบศตมาห  วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒  หน้า (ฃ) ถึงหน้า (ค)

"...ครั้งที่ ๑ นั้น   นายกุหลาบแต่งเรื่องพงศาวดารครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี   พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท  อ้างว่ามีพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยองค์ ๑ ทรงพระนามว่า  "พระปิ่นเกษ"  มีพระราชโอรสได้รับรัชชทายาท   ทรงพระนามว่า  "พระจุลปิ่นเกษ"  และกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระจุลปิ่นเกษครองราชสมบัตินั้น  เสียพระนครแก่กรุงศรีอยุธยาดังนี้   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น   มีพระราชดำรัสว่าเพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จขึ้นแต่งลวงว่าเป็นเรื่องจริง    ก็เป็นการไม่ดีอยู่แล้ว   ยังซ้ำเอาพระนามพระจอมเกล้าไปแปลงเป็นพระปิ่นเกษ    พระจุลจอมเล้าไปแปลงเป็นพระจุลปิ่นเกษแล้วเกณฑ์ให้เสียบ้านเมืองด้วย   จะทรงนิ่งอยู่ไม่ได้   จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงเรียกตัวนายกุหลาบมาไต่สวน   ว่ามีหลักฐานอันใดที่อ้างว่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  พระปิ่นเกษ  อีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ    นายกุหลาบก็รับสารภาพว่าหามีหลักฐานอันใดไม่   เป็นแต่คิดประดิษฐขึ้นเองทั้งสิ้น   พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ส่งตัวนายกุหลาบไปคุมไว้ที่โรงเลี้ยงบ้าคราวหนึ่ง (เห็นจะสัก ๗ วัน) แล้วให้ปล่อยตัวไป..."


จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  ตอนที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย    ตอนเมื่อจะเสียกรุงศรีอยุธยา   พิมพ์ในเรื่องหนังสือสยามประเภท  ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว   พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ"  เสวยราชย์  ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้นตรัสว่า  เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นจริง   ก็ไม่ดีอยู่แล้ว   ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า   ไปแปลเป็นพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ   เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ  สุทัศน์)  เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดี  สีหราชรองเมือง   เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ   นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น   พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า   จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ   โปรดให้ส่วตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน  แล้วก็ปล่อยตัวไป  นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย..."
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 16:21

ทีนี้มาดูเอกสารร่วมสมัยที่เกิดเรื่องดังกล่าว

จากสยามประเภท เล่ม ๒ ตอนที่ ๑๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๘ หน้า ๖๕๙  เรื่อง ต้นเหตุบังเกิดชาวชาติทัยมีขึ้นในแผ่นดินศยาม  ซึ่งมิศเตอร์สิมิท หรือครูสิมิทบางคอแหลม เป็นผู้ถามมา

นายกุหลาบตอบดังนี้ (ย่อเอาแต่ใจความ)

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องกำเนิดชนชาวไทยมีขึ้นแผ่นดินสยาม  ซึ่งนายกุหลาบไดเคดลอกมาจากหนังสือใบลาน ๒๔ ผูกของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) บ้านปากคลองมอญ  กรุงเทพฯ ชื่อว่า คัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก นายกุหลาบได้ตัดข้อความย่อยในปลายผูกที่ ๑๙ ความว่าดังนี้

กรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  มีพระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงราชสมบัติติดต่อกันมาหลายร้อยปี  จนกระทั่งลุหมาศักราช ๙๘๗ มีทัพมอญมาล้อมพระนครศรีพิไชยเชียงแสน  ทัพมอญกับทัพโยนกมารบล้อมพระนครเชียงแสนเป็นช้านานแรมปี  ชาวเมืองไม่ได้ทำมาหากินตามปกติ  จึงเกิดข้าวยากหมากแพง  ฝนฟ้าแล้ง  พระนครจวนเจียนจะเสียแก่ข้าศึก  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  พระนามสมเด็จพระเจ้าปิ่นเกษ  ทรงปกครองพระนครเป็นที่สุดของพระราชวงศ์นั้น  ทรงพระราชดำริว่า  จะไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  ด้วยเหตุต้องถูกเกณฑ์ไปรบกับข้าศึก  ในยามที่บ้านเมืองมีความลำบากอยู่แล้ว   พระองค์เองก็ทรงดำรงราชสมบัติมาได้ ๒๔ ปี แล้ว  จึงได้ทรงอพยพพระราชวงศ์ครอบครัวพลเมืองหนีข้าศึกมอญไปจากกรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  ลงมาทางใต้จนได้พบแม่น้ำใหย่สายหนึ่งชื่อ  แม่น้ำพิษณุราชศาคร  (แม่น้ำกาหลงในภาษาลาว  อันมีประวัติว่า แม่น้ำนี้มีปลาอุดม  กามาหากินปลาแล้วอิ่นหลงจนบินกลับรังไม่ได้  แต่ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินเขมร เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แม่น้ำเจ้าพญา เมื่อ มหาศักราช ๑๓๕๖ (นายกุหลาบว่า ศักราชนี้ยังไม่แน่ เพราะของเดิมจารไว้มัวๆ)) 

ณที่ริมแม่น้ำพิศณุราชศาครนั้น เป็นถิ่นที่ท่าสำเภา  มีสำเภามาจอดค้ากันมาก  แลเป็นที่พวกพราหมณ์มาตั้งถิ่นฐานสืบกันมาหลายร้อยปี   เมื่อพระเจ้าปิ่นเกษเสด็จมาถึงฝั่งน้ำนั้นจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ขุนอำมาตย์เอาช้างมาล้อมตั้งค่ายทั้ง ๔ ทิศ ผลัดเปลี่ยนช้างวันละพันช้าง ตลอด ๗ วัน เจ็ดรอบ  รวมช้างได้ประมาณพันเชือกที่เอามาจากเชียงแสน  แต่ยังไม่ได้ตั้งค่ายไม้ระเนียด   ต่อมาพระเจ้าปิ่นเกษได้ให้เรียกพราหมณ์รามราชชื่อโชฏิกะพราหมณ์  ซึ่งเป็นจ่าบ้านพราหมร์แถบนั้น  (บาปะธานาธิบดี)  มาเฝ้า แล้ววว่า  พระองค์ต้องพระราชประสงค์จะตั้งบ้านเมืองตรงนี้  พราหมร์ยินดีจะให้เราตั้งเมืองตรงนั้นหรือไม่  พราหมณ์นั้นก็กราบทูลตอบว่า ยินดีให้ทรงสร้างเมืองที่นั้น  และจะช่วยพระองค์สร้างเมืองด้วย   พระเจ้าปิ่นเกษได้ทรงสดับดังนั้นก็มีรับสั่งให้มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งไปคุมรี้พลไปสร้างเมืองตรงเมืองร้างเก่า ชื่อ เมืองนะทีนคร  ตรงตำบลบ้านเก่า ชื่อ ตำบลบ้านคำสุก  อันเป็นที่มาภายหลังได้พระราชทานนามเมืองใหม่นั้นว่า กรุงศรีสัชนาลัยศุโขทัยราชธานี  สร้างเมื่อ มหาศักราช ๙๘๗    จากนั้นมาได้ทรงสร้างพระราชมณเฑียรสถานลงบริเวณโป่งดินที่เสือมาดักจับกวางไปกิน  เรียกกันว่า โป่งสิงคะ   โดยทรงสร้างปราสาทชื่อ พระที่นั่งสิงหะไพชย์นต์มหาปราสาท   (เพราะมีชัยภูมิดี ต้องด้วยลักษณะพยัคฆนามในพิชัยสงคราม) แล้วยังให้สร้างวัดชื่อวัดเวฬุวรรณาราม ซึ่งเป็นวัดภายในพระราชวัง ไม่มีพระสงฆ์อาศัยจำวัด 
 นายกุหลาบเล่าต่อไปอีกว่า ตามคัมภีร์นั้นว่า พระเจ้าปิ่นเกษได้ทรงอภิเษกกับนางประทุมวะดีพราหมณ์ ซึ่งเป็นบุตรีของมหาโชฏิกพราหมณ์นั้นนั้น  และทรงสถปนานางเป็นพระประทุมวะดีพระราชเทพีเอก   ส่วนมหาโชฏิกะพราหมณ์ ทรงตั้งให้เป็นพระมหาราชครูประโรหิตาจาริย์  สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการงานเมือง และเป็นอรรคมหาเสนาบดีในแผ่นดิน  และว่าเชื่อสายของพราหมณืครั้งนั้นได้สืบสายลงมาจนได้กลายเป็นคนไทยปัจจุบันนั่นเอง    จากนั้น นายกุหลาบก้ได้อธิบายความเป็นมาของคำว่า ศยาม เสียม ไทย  ไว้ยาวทีเดียว


สยามประเภทเล่มนี้  คงไม่ใช่สยามประเภทที่เป็นที่มาของเรื่อง  เพราะเวลายังดูห่างเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า  นายกุหลาบต้องถูกคุมตัวไว้ดรงเลี้ยงบ้า   เหตุเพราะกล่าวเรื่องพงศาวดารไม่เป็นจริง ไม่มีที่อ้างอิง   ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป....
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 22:49

ในต้นฉบับ สยามประเภท เล่ม ๑  ตอนที่ ๙ ร.ศ. ๑๑๗  หน้า ๕๑๙  ก็มีชื่อ พระปิ่นเกษค่ะ

เล่าเรื่องการแต่งกายของขุนนางสยาม



เล่ม  รวมเล่ม ตอนที่ ๑๓ - ๒๔    ตอนที่คุณหลวงเอ่ยถึง มีชื่อพระปิ่นเกษเอ่ยอยู่ในหน้า ๖๖๐, ๖๖๑, ๖๖๒,​ ๖๖๓, และ ๖๖๕
ก.ศ.ร. อ้างว่าใข้ พระราชพงศาวดารเชียงแสน, เชียงราย, ศุโขทัย  รวม ๒๔ ผูก  คัดบั้นปลายมา


เรื่องแม่น้ำกาหลงนั้น  ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของดิฉันไม่มั่นคงทรงศักดิ์รู้ทีหนีทีไล่
แต่ทำไมไปเหมือนสวนส้มกาหลงของนายโหมดเข้าได้
ที่ว่าสวนกว้างใหญ่จนกามากินแล้วไม่กลับ  หลงนอนอยู่ในสวน


ก.ศ.ร. เป็นคนกว้างขวางมาก  และได้พิมพ์หนังสือสำคัญ ๆ ไว้ไม่น้อย
ต้องหาหลักฐานมาแสดงในโอกาสต่อไป

   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 08:40

ในต้นฉบับ สยามประเภท เล่ม ๑  ตอนที่ ๙ ร.ศ. ๑๑๗  หน้า ๕๑๙  ก็มีชื่อ พระปิ่นเกษค่ะ

เล่าเรื่องการแต่งกายของขุนนางสยาม





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 08:57

"พระปิ่นเกษ" ปรากฏอีกแห่งหนึ่งในหนังสือ "ประวัติ เจ้าพะญาอภัยราชา (ม,ร,ว,ลพ) เจ้าพะญาบดินทรเดชา (ม,ร,ว,อรุณ)"



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 09:18

ขอบคุณคุณวันดีที่ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้ ยิงฟันยิ้ม

จากข้อมูลข้างต้น  แสดงให้เห็นว่า นายกุหลาบได้เอ่ยถึงชื่อพระปิ่นเกษมาตั้งแต่ออกสยามประเภทปีแรก  จะได้เอ่ยอีกหลายครั้ง  แต่ฉบับที่นายกุหลาบเริ่มอธิบายละเอียดมีประวัติพิสดาร คงเป็นฉบับรวมเล่ม เล่ม ๒ ดังที่ได้ยกมาแสดงโดยสังเขปแล้ว  และคาดว่า  นายกุหลาบคงจะได้เอ่ยถึง พระปิ่นเกษ ในสยามประเภทอีกหลายครั้ง  จนในที่สุด  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงกริ้วนายกุหลาบเรื่อง พระปิ่นเกษ  ดังปรากฏพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จำนวน ๒ ฉบับ   ซึ่งเป็นเป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้พิสูจน์เปรียบเทียบกับพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ด้วย  ดังนี้

สวนดุสิต

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า     นายกุหลาบซึ่งเขียนชื่อตัวเองใช้หนังสือนำว่า  ก.ส.ร.  ผู้ออกหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่าสยามประเภทได้แต่งเรื่องราว    ซึ่งเปนความโกหกแซกแซงลงในความจริงมาช้านาน    ปรากฏอยู่แก่ผู้ซึ่งมีความรู้แลมีปัญญาทั่วหน้าแล้วนั้น   บัดนี้แต่งข้อความต่อมานอกความจริง    โกหกขึ้นใหม่ทั้งเรื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน    คำที่โกหกนั้นย่อมอาศรัยเทียบเคียงความที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารบ้าง   เทียบเคียงการที่เปนไปอยู่ในปัจจุบันนี้    ถ้อยคำแลทางความคิดแลเรียบใกล้ไปในทางสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งล่วงไปแล้ว    แลที่ยังดำรงอยู่เนืองๆ  หนักขึ้น    จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน   ข้อความทั้งนี้ย่อมปรากฏอยู่แก่ใจคนทั้งปวงว่า   ไม่มีความจริงในนั้นเลยโกหกขึ้นทั้งสิ้น   แต่กล้าหาญโกหกฟุ้งส้านยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน    จนถึงมิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ   ถ้าจะละเลยให้ฟุ้งส้านต่อไป   ก็จะแต่งความเทียบเคียงหยาบช้าหนักขึ้นกว่านี้

แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า   นายกุหลาบก็เปนคนมีอายุมากนับว่าชราอยู่แล้ว   แลความฟุ้งส้านเดิมของอัทยาศรัยนายกุหลาบใกล้ไปข้างทางเสียจริตนั้น   ก็ย่อมปรากฏอยู่แล้ว   การที่แต่งถ้อยคำฟุ้งส้านหนักขึ้นครั้งนี้จะเปนด้วยความเสียจริตนั้นกล้าขึ้นก็ได้   จึงดำรัสสั่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจับตัวนายกุหลาบไปส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

สยามินทร



พระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน


ที่ ๒๘/๑๐๐๕
พระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาศน์  เกาะบางปอิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

ถึง  กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์

ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์  ที่  ๑๗๐/๙๗๐๕  ลงวันที่  ๑๐  ตุลาคม  ส่งเรื่องราวนายกุหลาบขอความกรุณาพ้นจากการคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตมานั้น   ได้ตรวจดูแล้ว
เห็นว่าเรื่องราวไม่ฟุ้งส้าน   ค่อยสงบระงับลงแล้ว   ยอมเชื่อทานบล  ให้ปล่อยตัวไป  เมื่อไปฟุ้งส้านอีก  ก็จะต้องรักษากันอีก

สยามินทร

จากพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับข้างต้น  เท่ายืนยันได้ว่า  นายกุหลาบถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริต จากกรณีที่เขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕  เป็นเวลานาน ๑ เดือนเศษ  (๓๓ วัน)  ไม่ใช่ ๗ วันตามที่เคยว่าตามกันมา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 10:12


.....จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน ....  

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

สยามินทร


พระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน

ที่ ๒๘/๑๐๐๕
พระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาศน์  เกาะบางปอิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

ถึง  กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์

ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์  ที่  ๑๗๐/๙๗๐๕  ลงวันที่  ๑๐  ตุลาคม  ส่งเรื่องราวนายกุหลาบขอความกรุณาพ้นจากการคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตมานั้น   ได้ตรวจดูแล้ว
เห็นว่าเรื่องราวไม่ฟุ้งส้าน   ค่อยสงบระงับลงแล้ว   ยอมเชื่อทานบล  ให้ปล่อยตัวไป  เมื่อไปฟุ้งส้านอีก  ก็จะต้องรักษากันอีก

สยามินทร

จากพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับข้างต้น  เท่ายืนยันได้ว่า  นายกุหลาบถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริต จากกรณีที่เขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕  เป็นเวลานาน ๑ เดือนเศษ  (๓๓ วัน)  ไม่ใช่ ๗ วันตามที่เคยว่าตามกันมา

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) สยามประเภทดำเนินการมาแล้ว ๙ ปี แสดงว่า พระจุลปิ่นเกษ น่าจะอยู่ในสยามประเภทราวเล่มที่ ๙  หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ก.ศ.ร.กุหลาบก็ยังคงเชื่ออยู่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของสุโขทัยคือ สมเด็จพระจ้าวปิ่นเกษรามาธิราช แต่พระองค์สุดท้ายเปลี่ยนเป็น สมเด็จพระจ้าวเชฐราชบรมนารถบพิตร์พระจ้าวกรุงศุโขทัย ดังปรากฎในหนังสือ "ประวัติ เจ้าพะญาอภัยราชา (ม,ร,ว,ลพ) เจ้าพะญาบดินทรเดชา (ม,ร,ว,อรุณ) พ.ศ. ๒๔๕๖


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 10:18

จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  ตอนที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย    ตอนเมื่อจะเสียกรุงศรีอยุธยา   พิมพ์ในเรื่องหนังสือสยามประเภท  ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว   พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ"  เสวยราชย์  ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้นตรัสว่า  เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นจริง   ก็ไม่ดีอยู่แล้ว   ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า   ไปแปลเป็นพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ   เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ  สุทัศน์)  เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดี  สีหราชรองเมือง   เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ   นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น   พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า   จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ   โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน  แล้วก็ปล่อยตัวไป  นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย..."


จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 เจ๋ง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 02 เม.ย. 10, 11:12

ติดตามอ่านด้วยความสนใจ
ขอถามว่าประวัติศาสตร์สุโขทัยเล่มนี้  นายกุหลาบบอกหรือเปล่าว่าได้มาจากที่ไหน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง