เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 61567 ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 16 มี.ค. 10, 19:08

เมื่อวันตรุษไทย  ๑๗๖ ปีมาแล้ว   ด.ช.คนหนึ่งถือกำเนิดมาในท้องนา  ณ บ้านบางพรหม 
ใกล้วัดประดู่ แถวบางระมาด  แขวงกรุงเทพ ฯ



ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  เป็นปีที่ ๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น


การเล่าเรื่องนี้จะเล่าแบบอ่านหนังสือสองสามเล่มไปพร้อมๆกัน  จะกระโดดข้ามตอนที่เป็นเรื่องลอกต่อๆกันมาโดยไม่มีอ้างอิง

บางครั้งจะยกชื่อหนังสือหายากบางเล่มที่ไม่เป็นที่รู้จักกันดีมาประกอบ
ตัวสะกดนั้นจะรักษาต้นฉบับไว้ตามที่จะทำได้


สนุกมากค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 22:05

แม่ของก.ศ.ร. ชื่อตรุศ    พ่อชื่อเสง

แม่ตรุศเลี้ยงลูกไม่รอดตายเสีย ๑๑ คน  เหลือมาแต่นายเป่า กับนายกุหลาบ

ไม่ค่อยมีคนทราบว่า ก.ศ.ร. มีพี่ชายที่ไปบวชอยู่ต่างจังหวัด  ขนาดพ่อที่ลงเรือนเพราะร้าวฉานกับแม่
แล้วไปแต่งงานใหม่มีลูกอีก ๕ คน   ก.ศ.ร.ยังบันทึกการเกิดการตายคู่สมรสและบุตรของน้องต่างมารดาไว้ค่อนข้างละเอียด

แปลกที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนายเป่า

พ่อเสงถือโอกาสเลิกกับแม่เมื่อ กุหลาบอายุได้ ๔ เดือน โดยลงเรือนไปเฉย ๆ  แล้วไปแต่งงานกับนางทับ
ลาวบ้านแก่งขนุน  ใกล้บ้านสีทาเขาคอก แขวงเมืองสระบุรี

สาวสีทานี่ งาม   ใครจำได้บ้างเอ่ย



จะว่าไปแล้วตรุศเป็นคนมีฐานะ   บ้านก็เป็นของตน  นาก็เป็นของตนอีกนั่นแหละ  บ่าวไพร่ที่ใช้ทำนาก็หลายคน
ท้องแก่แท้ๆ  ยังต้องไปคุมคนทำนา   เลยไปคลอดในโรงนา  พาลูกแดงๆนั่งเรือชะล่าท้องแบนออกมา

ประวัติวงศ์สกุลของแม่นั้นมีการเขียนถึงไว้มากแล้ว   ขอข้ามไป
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 22:18

ป้าสะใภ้ผู้เป็นอดีตชาววัง ได้เป็นคนนำลูกของตรุศไปถวาย พระองค์เจ้าหญิงกินรี พระธิดา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ทรงเลี้ยงไว้เพื่อให้บวชเป็นกุศล

ประวัติของป้ามีเขียนไว้แล้วในหนังสือ ประวัติวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร. กุหลาบ พิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐    ๓๐๐เล่ม

เมื่อลูกชายของป้า หรือพี่ชายของก.ศ.ร. ตาย  ก.ศ.ร. ลงข่าวสั้นในสยามประเภศ ๑ ครั้ง 
เขียนบทความยาวให้อีกหนึ่งครั้ง  ท่านคือ พระยาวิชิตณรงค์(ทรัพย์)
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 22:44

ก.ศ.ร. นั้น เป็นนักบันทึก  เก็บบันทึก  โยงเรื่องราวสกุลวงศ์ของขุนนางได้มากมาย เพราะตนเองมีตำรามากมายมหาศาล
ได้มาจากไหนก็อวดไว้หมด


หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อตำราเหล่านี้  ก็ฮึดฮัดฟาดหางว่า ในเมื่อฉันไม่เคยได้ยิน  ตำราเหล่านี้ก็ไม่มี
วิธีคิดแบบนี้ก็ติดตามมาจนทุกวันนี้



ก.ศ.ร. เป็นนักสังคมวิทยาค่ะ  ท่านชอบสังคม  เพราะท่านเป็นเสมือนเด็กกำพร้า ขาดความอบอุ่นของบิดา 
เติบโตมาในตำหนักพระธิดาพระเจ้าแผ่่นดิน    ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี  เสื้อผ้า เครื่องประดับ  มีพี่เลี้ยงและนางนม

ข้าหลวงที่เสด็จประทานให้เป็นพี่เลี้ยงและแม่นมกุหลาบไม่ใช่สามัญชน  พี่เลี้ยงเป็นธิดาท้าวพระยาเมืองตาล ขึ้นกับเวียงจันท์
แม่นมชื่อจ้าวบุญมี

เมื่อกุหลาบตั้งครอบครัว จ้่าวบุญมีก็ตามมาอาศัยอยู่กับนายกุหลาบด้วยในฐานะ คุณย่า 
ก.ศ.ร.ไม่ได้เน้นเรื่องนี้  แต่เป็นเกร็ดส่วนหนึ่งเมื่อพูดถึงลูก ๆ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 05:48

 ก.ศ.ร. เล่าว่า

     
         "พระจ้าวลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี  ทรงพระปราโมทย์ยินดี  มีพระมหากรุณาธิคุณอดุลยดิเรกอะเนกานุประการ
ทรงรับทารกนั้นไว้แล้ว     ทรงพระกรุณาทำนุกบำรุงปลูกเลี้ยงไว้   เพื่อพระประสงค์จะได้บวชเปนภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

ทรงรับนายกุหลาบทารกเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ ๔ เดือนโดยเต็มพระไทย์(เหมือนบุตรบุญธรรม)"


เรื่องนี้ ก.ศ.ร. เอ่ยไว้เพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น   ไม่เคยอ้างอีกเลย  แสดงว่าเป็นชาววังจริง  เพราะเด็กที่เจ้านายฝ่ายใน
ทรงเลี้ยงดูทั้งหญิงชายก็ไม่มีใครทะลึ่งนับญาติกับเจ้านาย   ทั้งหมดจะเล่าเพียงว่าสายสกุลเกี่ยวพันกับเจ้าจอมมารดาเท่านั้น


เสด็จโปรดประทานเครื่องประดับกายทารกทำด้วยทองคำประดับพลอยและเพ็ชรทั้งสิ้น  รวมราคาไม่ต่ำกว่า ๒๐ หรือ ๓๐ ชั่ง

เมื่อกุหลาบแต่งงานมีลูกแล้ว  เสด็จประทานเครื่องประดับทั้งหมดให้แก่ลูก ๆ นายกุหลาบจนหมด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 06:28

ในจำนวนทรัพย์สมบัติที่เสด็จประทาน รวมไปถึงเงินค่าสรรพตำราและค่าเล่าเรียนกับครูหลายคน

ก.ศ.ร. เล่าถึงสมบัติซึ่งดูจะเล็กน้อยด้อยค่า  คือ อ่างอาบน้ำว่า ได้อาบน้ำในอ่างเปลเคลือบจากเมืองจีนเถาหนึ่งตั้งแต่เด็ก

ต้นเถาสูงสองศอกคืบ ๖ นิ้ว กว้างสองศอกคืบ ๖ นิ้ว ยาวสี่ศอกถ้วน

กลางเถาสูงศอกคืบ ยาวสองศอกคืบ

ปลายเถาสูง ๑๖ นิ้ว  กว้างศอก ๖ นิ้ว


ก.ศ.ร. มองว่าอ่างเคลือบชุดนี้เป็นสมบัติ หรือส่วนสำคัญของชีวิตในวัยเด็กอย่างหนึ่ง
ต่อมาลูก ๆ ก็ได้อาบน้ำและเล่นน้ำในอ่างมรดกนี้กันอย่างสนุกสนาน  ฟาดน้ำใส่กันกระจายไปในยามอากาศร้อน


เคยเห็นของเคลือบจากจีนมาบ้างเหมือนกัน  น่าจะเป็นสีเหลืองอ่อน  ขอบสีเขียว
ของเคลือบสามัญที่ลากถูใช้กันอยู่จำได้ว่าสีน้ำเงิน  ที่รวมเรียกว่า อวยสีเขียว


คิดแล้วก็ขำ    ใครหนอนำมาถวาย  จะรู้บ้างไหมว่า
เด็กน้อยที่ได้เล่นน้ำในอ่างได้เติบโตมาเป็นบุคคลที่มีผู้พูดถึงมากที่สุดคนหนึ่ง จนทุกวันนี้  


หนังสือที่เด็กคนนี้พิมพ์เป็นของมีค่า หายากและเป็นที่ต้องการ  และราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ
ใครที่ได้ไว้ในครอบครองก็ปิดความ  เกรงผู้อื่นจะขอชม
นักอ่านก็แลกข้อมูลกันเพื่อติดตามขออ่าน ขอชม


เด็กคนนี้  ได้เก็บอ่างอาบน้ำสามใบไว้เป็นของมีค่าของตนตลอดมา

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 08:47

เมื่อวันตรุษไทย  ๑๗๖ ปีมาแล้ว   ด.ช.คนหนึ่งถือกำเนิดมาในท้องนา  ณ บ้านบางพรหม  
ใกล้วัดประดู่ แถวบางระมาด  แขวงกรุงเทพ ฯ

ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  เป็นปีที่ ๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น


เทียบวันเกิด ก.ศ.ร. ดูแล้ว  วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  ตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๓๗๗  แต่ไม่ใช่วันจันทร์ เป็นวันศุกร์  เป็นวันก่อนวันสิ้นสิ้นปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  (๒๘ มีนาคม) พอวันที่ ๒๙ มีนาคม เป็นวันขึ้นปีมะแม ยังฉศก ๑๑๙๖  

แต่ถ้าเป็นวันจันทร์ เดือนสี่  ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖ จะตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๗๗ ซึ่งเป็นวันแรม ๑๐ ค่ำ


 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 12:06

ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  

ในหนังสือของคุณมนันยา ผู้สืบสายโลหิตจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ (คุณมนันยาเรียกตาของยายของเธอในหนังสือว่า ก.ส.ร.กุหลาบ) บันทึกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗

ขอเสริมเรื่องชื่อของนายกุหลาบ

คำนำหน้าชื่อกุหลาบว่า ก.ศ.ร. นี้มาจากสมญาที่ได้รับเมื่อบวชเป็นภาษาบาลีว่า เกสโร ในภาษาบาลีมีแต่ ส. ไม่มี ศ. หรือ ษ.

ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด นายกุหลาบได้เลือกคำนำหน้าว่า ก.ศ.ร. แทนที่จะเป็น ก.ส.ร.

 ฮืม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 13:14


ในหนังสือของคุณมนันยา ผู้สืบสายโลหิตจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ (คุณมนันยาเรียกตาของยายของเธอในหนังสือว่า ก.ส.ร.กุหลาบ) บันทึกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗


แต่ก็น่าสงสัยต่อไปอีก  คือ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  ถ้าเป็นวันเกิดของนายกุหลาบจริง   ก็ไม่น่าจะมีข้อความนี้ เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น ตามมาด้วย  แต่เมื่อมีข้อความนี้มาตามหลัง   ทำให้ข้อมูลของคุณมนันยาเป็นไปไม่ได้ทันที  เพราะการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยิงปืนอาฏานาฏิยะสูตร จะไม่มีทางจัดในวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เป็นแน่    ถ้าพิจารณาประวัติที่ นายกุหลาบเขียนเองและพิมพ์เองแล้ว  ก็น่าจะเชื่อตามนายกุหลาบเจ้าของข้อมูลที่บันทึกไว้   เป็นไปได้เหมือนกันที่นายกุหลาบอาจจะจำวันพลาดไป  แต่ขึ้นแรมกี่ค่ำไม่น่าจะพลาด   เว้นแต่นายกุหลาบจะจำคลาดเคลื่อนเอง   แต่จากข้อมูลที่นายกุหลาบเล่าไว้ตามที่คุณวันดียกมาเล่า  แสดงว่านายกุหลาบจดจำรายละเอียดหลายอย่างดีมาก  ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ใหญ่ของนายกุหลาบอาจจะจำวันเกิดนายกุหลาบคลาดเคลื่อนไปบ้าง  แต่ความว่า "เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น" น่าจะช่วยยืนยันว่า นายกุหลาบเกิดวันสิ้นปีมะเมีย ฉศกพอดี

ขอเสริมเรื่องชื่อของนายกุหลาบ  คำนำหน้าชื่อกุหลาบว่า ก.ศ.ร. นี้มาจากสมญาที่ได้รับเมื่อบวชเป็นภาษาบาลีว่า เกสโร ในภาษาบาลีมีแต่ ส. ไม่มี ศ. หรือ ษ.
ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด นายกุหลาบได้เลือกคำนำหน้าว่า ก.ศ.ร. แทนที่จะเป็น ก.ส.ร.ฮืม

ตรงนี้  ก็น่าสนใจ  ถ้าไปอ่านข้อมูลประวัติที่นายกุหลาบเล่าเองจะแปลกใจหนักขึ้นไปอีก  คือ นายกุหลาบเคยแต่บวชเป็นสามเณร ไม่เคยบวชเป็นพระภิกษุ  ในเมื่อบวชเป็นสามเณร จะมีฉายาบาลีได้อย่างไร  ก็ในเมื่อการบวชเป็นเณรไม่มีการขานนาคอย่างบวชพระ  ไม่มีการนั่งหัตถบาสในการทำพิธีบวช  ฉะนั้นฉายาบาลีที่นายกุหลาบได้มาจากสมเด็จพระอุปัชฌาย์  ได้มาอย่างไร   หรือว่าสามเณรสมัยก่อนมีฉายาด้วย     ลังเล

เป็นไปได้ไหมว่า ฉายา เกสโร ที่นายกุหลาบได้มานั้น  เป็นฉายาที่เตรียมไว้เมื่อเณรกุหลาบจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  เพราะตอนที่นายกุหลาบบวชเณรนั้น  นายกุหลาบก็อายุ ๒๖ - ๒๗ ปีแล้ว (คุณวันดีกรุณาทักท้วงด้วยถ้าผิดพลาด)  ผู้ใหญ่ที่ให้นายกุหลาบบวชคงหมายที่จะให้นายกุหลาบได้บวชเป็นพระด้วย   แต่นายกุหลาบยังไม่มีใจพอที่จะบวชเป็นพระตามประสงค์ได้  จึงได้ลาสิกขาเสียก่อน  (ตอนนั้นมีเมียแล้วด้วย)

ส่วนเรื่อง ว่า นายกุหลาบ ใช้ ก.ศ.ร. ไม่ใช่ ก.ส.ร. ตามบาลีที่เป็นฉายา   หากว่าตามหลักบาลีแล้ว  ควรใช้ ส ไม่ใช่ ศ     ตามหลักไวยากรณ์บาลีควรเป็นเช่นนั้น  แต่นายกุหลาบอาจจะคิดตั้งใช้ให้ต่างจากคนอื่น   ถามว่าผิดไหม คงไม่ผิด เพราะชื่อคนเป็นชื่อเฉพาะ  เขียนอย่างไรก็ได้   ภาษาไทยสมัยเก่า  ท่านมีเกณฑ์การใช้ ส ศ ษ ดังนี้ ส ใช้เป็นพยัญชนะต้น  ศ ใช้เป็นตัวสะกด   ษ ใช้เป็นตัวการันต์   ดังนั้น โบราณท่านจึงเขียน วงษ์  พงษ์  สาศนา วาศนา  พิศม์  พิศณุโลกย์  ด้วยเกณฑ์ดังนี้  (บางคำก็ไม่ตามเกณฑ์นี้ก็มีบ้าง เช่น เกษร เป็นต้น) อย่างชื่อนายกุหลาบ ถ้าว่าตามเกณฑ์อย่างเก่า  ไม่เป็น ก.ส.ร. ก็น่าจะเป็น ก.ษ.ร. แต่นายกุหลาบไม่เลือกใช้ทั้งสองอย่างเลือกใช้อีกอย่างที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์นิยม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 14:12

ตั้งหน้าและหน้าตั้งคอยคุณเพ็ญชมพูอยู่เพราะเราเคยคุยกันมาบ้างแล้ว

คุณหลวงเล็กแวะมาเล่าเรื่อสามเณรก็เป็นความรู้อย่างใหญ่หลวงสำหรับคนอ่านที่นั่งอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน
แถมคุณหลวงยังคิดข้างขึ้นข้างแรมแตกฉานถึงปานนี้


อยากเนรมิตคุณเพ็ญให้เป็นตุ้กตาใส่กล่องแก้วพาไปบุกกรุหนังสือด้วยกันจังเลย
ส่วนคุณหลวงนั้นท่านวิ่งไว  ตามทันแน่นอน


ความรู้นั้น  นำมาวางแผ่กลางห้อง  ฟังสหายวิจารณ์     เพลิดเพลินเจริญใจอย่างยิ่ง


ต่อ...

เมื่อ กุหลาบเจริญวัยอายุได้ ๘ - ๙ ขวบ เสด็จโปรดปรานสอนหนังสือกอขอกอกาให้
ก.ศ.ร. เอ่ยถึงเสมอว่าเสด็จเป็นพระบรมบุรพาจาริย์    ที่จริงก.ศ.ร.เขียนไว้ยาวยืด

"หมายจะให้ความดีความเจริญความฉลาด  ประทานให้แก่นายกุหลาบ   จึ่งทรงประทานพระสุนทโรวาทานุสาสนานุกิจ..."




เมื่อนายกุหลาบอายุได้ ๑๐ หรือ ๑๑ ขวบ  เสด็จมีรับสั่งให้เจ้าพนักงาน 
 นำดอกไม้ธูปเทียนและพานายกุหลาบไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓
โดยความที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า  จะให้นายกุหลาบมีชื่อเสียงเป็นคนในราชการบ้าง


เรื่องนี้พระยาท่านหนึ่งเคยเขียนกระทู้มาถึงก.ศ.ร. เล่าว่าเป็นเพื่อนมหาดเล็กไล่กาแต่สูงวัยกว่า
ยังจำได้ว่านายกุหลาบนุ่งผ้าลายอะไร  ได้เลื่อนเมื่อตามเสด็จไปเพชรบุรีเป็นผ้าลายอะไร


ก.ศ.ร.นั้นประพฤติตัวเรียบร้อยมาก  ตอบกระทู้ด้วยความนบนอบ  ไม่ได้ตีตัวเสมอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เลย
และเรียกพระยาชราท่านนี้ว่า  "ใต้เท้ากรุณาเจ้า"   ทุกคำไป

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 14:27

เมื่อนายกุหลาบมีอายุ ๑๒ หรือ ๑๓ ปี    ได้ออกจากพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน

โปรดเกล้าให้ไปอยู่วัดพระเชตุพน      ฝากไว้ในสำนักพระราชมุนี(เอี่ยม)พระราชาคณะ
ให้เรียนหนังสือไทยและขอม



ภายหลังมีรับสั่งให้นางข้าหลวงพานายกุหลาบไปถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนัก สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ได้บรรพชาเป็นสามเณร  สมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เป็นพระอุปัทยาจาริย์
จึงประทานนามว่า  เกศะโร เพราะนายกุหลาบเกิดวันจันทร์

ขอกระโดดข้ามไปตอนนายกุหลาบบวชพระก่อนนะคะ


เดี๋ยวกลับมาเล่าเรื่องการแต่งงาน

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 14:35

นายกุหลาบแต่งงานเมื่ออายุ ๒๕  เมื่อลูกสาวคนแรกเดินได้   คือย่างเข้า ๒ ขวบ  นายกุหลาบก็บวช


เสด็จมีรับสั่งให้ขุนศักดิ์พลรักษ์(คล้อย) บุตรพระนมนากพระนมนางของท่านจัดการบวชนายกุหลาบเป็นที่ครึกครื้นแข็งแรง
มีทำขวัญ   แห่ด้วยม้าเป็นพาหนะ

ไปบวชที่วัดพระเชตุพน
พระราชมุนี(เอี่ยม)พระราชาคณะเป็นพระอุปัชฌาย์
พระธรรมเจดีย์ พระราชาคณะวัดกัลยาณมิตร เป็นอนุสาสน์
พระปลัดปลีวัดพระเชตุพนธ์ เป็นกรรมวาจา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 20:16

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=351.0
เคยคุยกันถึงนายกุหลาบไว้ในกระทู้เก่า   เลยเอามาแจมด้วยค่ะ
ถ้าอยากจะค้นว่าเรื่องราวนายกุหลาบมีไว้ในกระทู้ไหนบ้าง  ก็คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่
http://www.reurnthai.com/index.php?action=search2
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 17 มี.ค. 10, 22:37

มาลงชื่อแจ้งว่าติดตามอ่านอยู่นะครับ
ขอบพระคุณทุกท่านมากๆ ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 18 มี.ค. 10, 06:30

เมื่อนายกุหลาบบวชเป็นภิกษุสงฆ์มหานิกายแล้ว
  
ได้เข้าไปสวดถวายเทศน์ที่ตำหนักกัณฑ์หนึ่ง ว่าด้วยความกตัญญู  เมื่อวันเดือนสี่แรมสิบค่ำ



ได้เข้าไปรับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง  ทุกเวรวันพุธของวัดพระเชตุพน
เสด็จก็ทรงบาตร  ทุกวันพุธเสมอตลอดสิบเดือน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง