เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 20007 อภิปรายคำกลอน เรื่อง “คุณค่าภาษาไทย”
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 15 มี.ค. 10, 12:09

บันทึกการอภิปรายคำกลอน เรื่อง “คุณค่าภาษาไทย”
เนื่องในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ
๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ หอประชุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

   เริ่มด้วยการอารัมภบทของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ  ประธานกรรมการจัดงาน
วันภาษาไทยแห่งชาติปี 2544 ซึ่งกล่าวเป็นร่ายยาวดังนี้
        “เรียน     ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา     และท่านผู้มีเกียรติที่มาชุมนุมในวันนี้
        วันที่ ๒๙ กรกฎาคม   แสนชื่นชมที่เรามี วันภาษาไทยแห่งชาติ         ดิฉัน คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ขอโอกาสร่ายยาวกล่าวนำ   กิจกรรมอภิปรายคำกลอนของสโมสรสยามวรรณศิลป์   ขอน้อมดวงจินต์สำนึกในพระมหากรุณา   ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   มีพระเมตตาเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานเปิดงาน   พระมหากรุณาเปรียบปานน้ำทิพย์ชโลมใจ   เป็นนิมิตหมายในสัมฤทธิผล   ที่จะน้อมนำปวงชนให้ตระหนักในความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย  ร่วมมือร่วมใจกันขจัดปัญหาที่เกิดแก่ภาษาของชาติ   ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงกังวล   เป็นผลให้หน่วยงานต่าง ๆ ตื่นตัวสร้างสรรค์กิจกรรม   ทำนุบำรุงภาษาไทยให้งดงาม
   วันนี้ สโมสรสยามวรรณศิลป์ นำจินตกวีล้วนมีชื่อลือขจร   มาอภิปรายด้วยคำกลอน   อันเป็นสุนทรศิลปะวัจนะล้ำเลิศ   เชิดชูความเป็นไทยในแหล่งหล้า   ในหัวข้อเรื่อง คุณค่าของภาษาไทย   รวม ๘ ประเด็น คือ  เป็นสื่อกลาง   เสริมสร้างวัฒนธรรม  สำแดงเอกลักษณ์   พิทักษ์เอกราช   ประสาทวิทยา  พัฒนาความคิด  กอบกิจการงาน  ประสานสามัคคี   ซึ่งศาสตราจารย์ฐะปะนีย์ นาครทรรพ   กวีและครูผู้มีผลงานเด่นประดับวงวรรณล้ำค่า   กรุณาจับประเด็นไว้ไพเราะงดงาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 15 มี.ค. 10, 12:10

กวีทั้ง ๘ แห่งสโมสรสยามวรรณศิลป์   ซึ่งจะร่วมอภิปราย
ฝ่ายชายประกอบด้วย
   ประยอม ซองทอง   กวีมีชื่อเกริกก้องฟ้าเมืองไทย
   ประสพโชค เย็นแข   กวีแห่งสมัยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แจ้ง
   วินัย ภู่ระหงษ์   กวีแห่งวงวรรณกรรมนามขจรมานาน
   อดุล จันทรศักดิ์   กวีผู้เชี่ยวชาญมีผลงานยอดยิ่ง
ฝ่ายหญิง  ปราดเปรื่องลือเลื่อง   ไม่แพ้บุรุษกวี
   ผ่องพรรณ สิงหเสนี      กวีฝีปากคมคายนามกระฉ่อน
   นิภา ทองถาวร   กวีเด่นดีเชิงกลอนอักษรศิลป์ยิ่งยง
   หม่อมราชวงศ์อรฉัตร ซองทอง   เชี่ยวชาญงานร้อยกรองเกริกก้องสมัย
   ดวงใจ รวิปรีชา   ฝากผลงานกวีนิพนธ์ล้ำค่าหลากหลาย

ผู้ดำเนินการอภิปราย คือ ดร.ญาดา อรุณเวช อารัมภีร   ผู้มีเสียงใสใบหน้าสวยหวานชวนพิศ   จบปริญญาดุษฎีบัณฑิตอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เชี่ยวชาญในการอ่านทำนองเสนาะ   ไพเราะจับใจไม่มีใครเทียมทัน   เมื่อเยาว์วัยอายุ ๑๑ ขวบนั้น เคยชนะเลิศการประกวดอ่านทำนอง   ปัจจุบันเป็นอาจารย์ของเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัย   ยามว่างจากการเป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์  เขียนคอลัมน์ว่าด้วย ชื่อ ในนิตยสารสกุลไทยรายสัปดาห์
      ดิฉันหวังว่าการอภิปรายเรื่อง คุณค่าของภาษาไทย   จะน้อมนำให้ทุกท่านประจักษ์   ตระหนักในประโยชน์ยิ่งใหญ่   และร่วมมือร่วมใจทำนุบำรุง   ผดุงภาษาไทยไว้เป็นทรัพย์สินทางปัญญา   งดงามสง่าคู่สยามประเทศ   ขอเชิญชวนคนไทยทุกเพศทุกอาชีพ   จุดประทีปแห่งความรักภาษาไทย   ให้สว่างไสวในดวงกมล   รวมพลังหวังผลให้ภาษาไทยงามพร้อม   น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายสนองพระมหากรุณา      ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช   พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐแก่ชาติและปวงชนชาวไทย
      ขออำนวยพรให้การอภิปรายสัมฤทธิผลสมวัตถุประสงค์   ขอเดชะพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงพระคุณอดุลยเดช   แผ่ปกเกศหนุนนำให้ทุกท่าน   เกษมสำราญเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย   ขอให้ภาษาไทยธำรงอยู่คู่แผ่นดินสยาม   งดงามตราบนิรันดร์ บัดนี้ดิฉันหมดหน้าที่   ขอเรียนเชิญ ดร.ญาดา อารัมภีร ดำเนินการต่อไป”

*  หมายเหตุ    ประยอม ซองทอง ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2548  และอดุล จันทรศักดิ์เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2551
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 มี.ค. 10, 12:12

เมื่อคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ โยนลูกมาให้แล้ว  ดร.ญาดา อารัมภีร ก็เริ่มดำเนินการอภิปรายเป็นคำกลอนโดยออกตัวตอนต้นว่า
   “ฟังคุณหญิงกุลทรัพย์จับใจนัก    เป็นเสาหลักวัฒนธรรมนำสืบสาร
   เป็นนักกลอนนักภาษารุ่นอาจารย์   สู้เพื่องานสุดกำลังทั้งชีวิน
   พาเพื่อนพ้องน้องพี่กวีเอก   ร่วมกันเสกสร้อยขวัญวรรณศิลป์
   แปดนักกลอนมือทองของแผ่นดิน   มาหลั่งรินจินตนาการธารความคิด
   เทิดคุณค่าภาษาไทยแผ่ไพศาล   ร้อยเรียงผ่านพจน์สุนทรกลอนวิจิตร
   เพื่อโน้มน้าวดวงใจไทยทั่วทิศ   หวงแหนสิทธิ์เจ้าของภาษารักษาไว้
   น้อมคารวะแปดกวีฝีปากกล้า   อีกผู้มาร่วมวันอันยิ่งใหญ่
   กราบทุกผู้ที่รู้ค่าภาษาไทย   กราบบาทไท้สมเด็จพระเทพรัตนฯ
   มาดำเนินรายการงานวันนี้              ทั้งทั้งที่เป็นนักกลอนมืออ่อนหัด
   เชิงชั้นการประพันธ์ไม่สันทัด   ความเจนจัดมีน้อยด้อยกว่าใคร
   ขอทบทวนความรู้ครูเคยสอน   เอ่ยแค่กลอนประตูพอสู้ไหว
   คุณครูขาโปรดอำนวยอวยพรชัย   ช่วยศิษย์ผ่านวันนี้ได้ไม่อายเอย”
   ลง “เอย” แล้วก็กล่าวบทต่อไปว่า         
   “ท่านผู้ฟังคะ
         ก่อนจะร่ายลีลาวาดลวดลาย   ขอเรียนผู้อภิปรายทั้งหลายว่า
   ท่านเจ้าภาพได้กำหนดกฎเกณฑ์มา   ใช้เวลาห้านาทีทีละคน
         ขอเริ่มต้นแนะนำตามลำดับ   เริ่มจากชายหญิงสลับไม่สับสน
   หลายสิบปีผ่านมายังน่ายล   ภูมิฐานจนจำไม่ได้หลายท่านเอย“
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 19:33

แล้วก็แนะนำประวัติของผู้อภิปรายทีละคนโดยเริ่มต้นว่า
“ขอเริ่มจากผู้อภิปรายท่านแรก
คุณประยอม หนุ่มอักษรกลอนสร้างสรรค์           สกุลท่าน “ซองทอง” ชื่อก้องทั่ว
เพราะรักงานงานจึงล้นท้นท่วมตัว                   นักเรียนกลัว ครูยอมนักจนรักดี
เด่นผลงานวัฒนธรรมล้ำเลอค่า             เป็นประชาสัมพันธ์นั้นหลายที่
เป็นนายกฯ นักเขียนฯ มาหลายปี               ก่อนหน้านี้เป็นสมาชิกวุฒิสภา”

แล้วก็กล่าวแนะนำต่อไปว่า “ผู้อภิปรายท่านที่สองเป็นสุภาพสตรี

"ท่านผ.อ.ผ่องพรรณ สิงหเสนี          ฝากชีวีไว้กับงานการศึกษา
เป็นเลือดเนื้อจามจุรีศรีจุฬาฯ          เป็นนักกลอนปากกล้าเจ้าคารม
อยู่เบื้องหลังรายการดังฟังทุกบ้าน         ประสบการณ์นานปีที่สั่งสม
งานเขียนบทมากล้นชนชื่นชม           สำนวนคมสมสมัยกว่าใครเอย”

แม้ว่ากลอนจะลง “เอย” แล้วก็แนะนำต่อว่า “มาถึงท่านที่สามแล้วนะคะ

เป็นนักกลอนชั้นครูรุ่นผู้ใหญ่       ทหารเก่าเดินทางไกลไม่หยุดหย่อน
ปฏิบัติการจิตวิทยาไม่ขาดตอน      ท่านดับร้อนพี่น้องไทยให้เบาบาง
คุณประสพโชค เย็นแข อยู่ที่ไหน      มีเสียงเพลงในหัวใจไม่รู้สร่าง
กฎระเบียบเคร่งมากยากปล่อยวาง      ไม้บรรทัดยังหลีกทางถอยห่างเอย”

คุณประสพโชคได้ชื่อว่าเป็นคนเคร่งฉันทลักษณ์ และเป็นกรรมการที่ตรงเป็นไม้บรรทัดทีเดียว

"คุณนิภา เดิมสกุล “บางยี่ขัน”                สมญา “บุษบาท่าพระจันทร์ “อิงอร” ตั้ง
ฝีปากท่านเลื่องลือชื่อโด่งดัง          ตอนหลังใช้สกุลว่า “ทองถาวร”
ใครจะเก่งแค่ไหนไม่ระย่อ          หนึ่งในสี่กวีม.ธ.รุ่นเก่าก่อน
เป็นเล็กพริกขี้หนูผู้เผ็ดร้อน                 สำนวนกลอนคมเฉียบใครเปรียบเอย”
(“อิงอร” นักประพันธ์สำนวนอาบน้ำผึ้ง ให้สมญาคุณนิภาตอนไปว่าสักวาทางโทรทัศน์ช่องสี่ บางขุนพรหม ในรายการ ” ลับแลกลอนสด”)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 19:37

ติดตามด้วย “ผู้อภิปรายท่านที่ห้า
ท่านอาจารย์วินัย ภู่ระหงษ์               เดินทางตรงเรียนรู้เป็นครูเขา
จบตรี-โทจามจุรีเลือดสีเทา                จากนั้นเข้าเป็นอาจารย์ประสานมิตร
จากงานสอนก้าวสู่ผู้บริหาร                รับมอบงานสำคัญสร้างบัณฑิต
ตำแหน่ง “คณบดี” รางวัลทองของชีวิต   ท่านอุทิศทุกทุกด้านเพื่องานเอย

ผู้อภิปรายท่านที่หก
หม่อมราชวงศ์อรฉัตร ซองทอง                ดวงใจของใครก็ไม่รู้อยู่ร่วมบ้าน
นาฏศิลป์ร่ายรำล้วนชำนาญ                ภาระงานหลายด้านเคยผ่านมา
ประชาสัมพันธ์ ครู ผู้บริหาร                 การตลาด การจ้างงาน การศึกษา
เหรัญญิกมูลนิธิราชสุดา                            รองประธานกรรมการสภาวัฒนธรรมฯ

ผู้อภิปรายท่านที่เจ็ด
คุณอดุล จันทรศักดิ์ สิงห์ดำหนุ่ม             ยังกระชุ่มกระชวยด้วยไฟฝัน
รวมผลงาน “ดอกไม้ไฟ” ได้รางวัล          หลากสีสันคมคายให้ความคิด
เรื่องการเมืองวิจารณ์อย่างหาญกล้า          นามปากกาสารพันท่านขอปิด
มีคอลัมน์กลอนประจำวันอาทิตย์             แย้มสักนิดเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน

   ปิดท้ายด้วยผู้อภิปรายสุภาพสตรี
อยู่สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยฯ              คุณดวงใจ รวิปรีชา จบวารสาร
โทรัฐศาสตร์ลูกแม่โดมโฉมสคราญ      โทบริหารเหินฟ้าไกลไปอเมริกา
หนึ่งในสี่กวีมือทองของธรรมศาสตร์      คนขยาดปากคมคารมกล้า
กลอนคือชีวิตจิตวิญญาณ์                           วันนี้มาฟื้นความหลังครั้งก่อนเอย”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 19:43

จบการแนะนำกวีจากสโมสรสยามวรรณศิลป์ทั้งแปดคนแล้ว ดร.ญาดา ก็เชิญคุณประยอมให้อภิปรายเป็นคนแรก ในหัวข้อ คุณค่าของภาษาไทย ในประเด็นแรกคือ “ใช้เป็นสื่อกลาง” คุณประยอมจึงเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู ซึ่งติดมาจากธรรมเนียมการเล่นสักวาว่า
    สวัสดีผู้มีเกียรติที่เคารพ                 อีกน้อมนบครูอาจารย์ท่านสั่งสอน
จนให้ศิษย์คิดอวดกล้ามาว่ากลอน                 ซึ้งพระคุณอันสุนทรแต่ก่อนมา
เพื่อนคนหนึ่งซึ่งล่วงลับดับไปแล้ว                 กล่าวกลอนแก้วจับใจเอาไว้ว่า
ภาษาไทยเป็นหัวใจทุกวิชา”                 เพราะซึ้งในคุณค่าภาษาไทย
เพราะตระหนักรักคุณค่าภาษานี้                  ผมใช้เลี้ยงชีวีจนเติบใหญ่
รักภาษาพาได้มิตรร่วมจิตใจ                เพราะได้ใช้ภาษากลอนเป็นสื่อกลาง
คนเป็นครูจะรู้ค่าภาษายิ่ง                           สอนทุกสิ่งใช้ภาษาไทยทุกอย่าง
ทุกวิชาภาษาไทยให้แนวทาง                 ศาสตร์ต่างต่างแปลเป็นไทยได้ผลดี
ทำหนังสือเขียนหนังสือสื่อมวลชน      ต้องขวายขวนเรียนภาษาสง่าศรี
เขียนกาพย์กลอนโคลงฉันท์การกวี              อย่างเรานี้ชื่อประจักษ์นักสักวา
เพราะสื่อสารด้วยกานท์กลอนกระฉ่อนชื่อ              ใช้ฝีมือด้วยตระหนักรักภาษา
แม้ภาษาต่างประเทศแปลงเพศมา                 ก็ต้องหาภาษาไทยเป็นสื่อกลาง
จะเข้าใจอังกฤษคณิตศาสตร์                 จะสามารถเข้าใจซึ้งถึงทุกอย่าง
ก็ต้องใช้ภาษาไทยไว้นำทาง                 จึงสื่อสร้างสัมพันธ์กันมากมาย
แม้เขมรบาลีสันสกฤต                    แทรกใกล้ชิดสยามพากย์ออกหลากหลาย   
ต้องแปลออกบอกชัดอรรถาธิบาย                 จึงรู้เรื่องเฟื่องความหมายได้เร็วพลัน
แม้ดอกเตอร์เผลอไผลใช้คำเทศ                  ต้องดีเบต เวิร์กช็อป คอรัปชั่น
เบรนสตอร์ม เก็ตไอเดีย ต้อง เคลียร์ กัน               ทำชาวบ้านสามัญงงงันนัก
ถ้าไม่มีภาษาแม่คอยแปลให้                   ก็คงยากจะเข้าใจไม่ประจักษ์
หรือเหล่านักวิชาการท่านทึกทัก                   บัญญัติศัพท์ไม่ตระหนักยากเข้าใจ
ยกตัวอย่าง “วิสัยทัศน์ธรรมาภิบาล”                 อาจกล่าวขานคำไทยง่ายง่ายได้
วิสัยทัศน์” อาจจะเป็นเห็นการณ์ไกล”                อีกคำใช้ “บริหารจัดการที่ดี”
สมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติ                   เสมือนเหยียดภาษาไทยไร้ศักดิ์ศรี
บางคนเป็นถึงรัฐมนตรี                       แต่ควบกล้ำไม่มีน่าละอาย
บ้างปับปุง เปี่ยนแปง แจ้งโคงกาน                  ไปตวดงาน เป็นคั้งคาว ทั้งเช้าสาย
รัดถะมนตี เช่นนี้น่าฆ่าตัวตาย                  อะพิปาย ถ่ายทอดทั่วแดนไทย
ควรอัญเชิญนำพระราชดำรัส                  รับใส่เกล้าฯ ปฏิบัติให้จงได้
ให้ภาษาผ่องผุดพิสุทธิ์ไว้                              อย่าปล่อยให้วัฒนธรรมอื่นย่ำยี
ไทยเรามีถ้อยคำร่ำรวยแล้ว                   ควรพิทักษ์ดั่งแก้วเกิดศักดิ์ศรี
ภาษาไทยไทยต้องรักสามัคคี                      ให้ภาษาไทยนี้อยู่นิรันดร์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 มี.ค. 10, 19:48

ดร.ญาดา กล่าวต่อว่า
คุณประยอมชี้ค่าภาษาไทย      กำหนดไว้เป็นสื่อกลางเพื่อสร้างสรรค์
สร้างความเข้าใจดีมีต่อกัน      ขอเชิญ คุณผ่องพรรณ ท่านต่อไป”

คุณผ่องพรรณผู้รับมอบอภิปรายหัวข้อ คุณค่าของภาษาไทยใช้ “เสริมสร้างวัฒนธรรม”  จึงกล่าวว่า

"ขอขอบคุณที่เชิญมาในครานี้       ด้วยยินดีปรีดาจะหาไหน
รับหัวข้ออภิปรายมอบหมายไว้      ด้วยซึ้งใจในน้ำคำจำนรรจา
ภาษาไทยเป็นแกนกลางช่วยสร้างเสริม   วัฒนธรรมแต่แรกเริ่มเผดิมค่า
เป็นมรดกตกทอดตลอดมา      ช่วยรักษาให้คงไว้ในปัจจุบัน
นับตั้งแต่บรรพชนจนวันนี้       ด้วยเรามีภาษาไทยไว้สร้างสรรค์
วัฒนธรรมหลายอย่างแตกต่างกัน      ล้วนผูกพันในวิถีแห่งชีวิต
ของคนไทยแต่โบราณนานหนักหนา   มีภาษาเป็นแกนก่อให้ต่อติด
เชื่อมประสานร้อยรับกระชับชิด      ต่อสนิทแนบเนื่องทุกเรี่องราว
นับแต่เกิดจนตายไม่วายเว้น      มีให้เห็นในชีวิตคิดสืบสาว
วัฒนธรรมประเพณีที่ยืนยาว      ล้วนบอกกล่าวสื่อภาษาอาศัยกัน
เฉกเช่นเพลงกล่อมเด็กยังเล็กอยู่      เพลงตุ๊ดตู่เพลงกาเหว่าเฝ้าใฝ่ฝัน
เพลงจันทร์เจ้าขอข้าวน้องร้องเล่นพลัน   ล้วนสร้างสรรค์รจนาภาษาไทย
เพลงพื้นบ้านขานขับร้องรับส่ง      ตั้งเป็นวงโต้ตอบกันไม่หวั่นไหว
เพลงเกี่ยวข้าวลำตัดนัดทันใด      พวงมาลัยร้องรำตามทำนอง
ปริศนาคำทายอะไรเอ่ย         มีเฉลยคำตอบไว้ให้แคล่วคล่อง
ต้นเท่าขาใบวาเดียว” น่าเหลียวมอง   คำถามต้องฝึกหัดให้พัฒนา
ครูอะไรใช้ปากกาเพียงด้ามเดียว”   ไม่เฉลียวเลยพ่อขอตอบว่า
ครู ONE PEN” ไม่เขลาเบาปัญญา   ตัวอย่างหามาให้ได้เล่นทาย
ทั้งนิทานพื้นบ้านที่ขานไข      เล่ากันไว้สำนวนล้วนหลากหลาย
มโนราห์ปลาบู่ทองสองนิยาย      ทีวีฉายให้ดูอยู่ทุกวัน
บทละครนอกในมีให้เห็น      ที่โดดเด่นเรื่องอิเหนาเอามาฝัน
รามเกียรติ์สังข์ศิลป์ชัยไกรทองนั้น      เท่าเทียมกันกับพระสังข์ทองทั้งองค์
พระอภัยมณีปี่เป็นเอก         ขุนแผนเสกมนต์ขลังดังประสงค์
ทุกบทตอนเรียงร้อยถ้อยประจง      ถ่ายทอดตรงตามบทอย่างงดงาม
คำพังเพยคำสอนใจให้คติ       เช่นอย่าริมีเมียสองของต้องห้าม
อย่าแกว่งเท้าหาเสี้ยนจะเพี้ยนตาม      หมูจะหามคานอย่าสอดจะปลอดภัย
อย่าซุกหุ้นวุ่นวายซื้อขายเสียง      อย่าหลีกเลี่ยงภาษีหนีไปไหน
อย่ารักพี่เสียดายน้องของต้องใจ      ถ่ายทอดไว้ด้วยภาษามาช้านาน
ศิลปหัตถกรรมเลิศล้ำค่า                 ด้วยภาษาเป็นแกนกลางสร้างสืบสาน
ประเพณีเก่าแก่แต่โบราณ                เช่นสงกรานต์ลอยกระทงไม่หลงทาง
ประเพณีที่สืบเนื่องเรื่องชีวิต      หรือแนวคิดความเชื่อเผื่อมีบ้าง
ศาสนาธรรมะลดละวาง      เรื่องต่างต่างล้วนพึ่งพาภาษาไทย
เป็นแกนกลางสร้างเสริมเพิ่มคุณค่า      วัฒนธรรมก้าวหน้าไม่ล้าสมัย
เป็นมรดกตกทอดตลอดไป      รักษาไว้ให้คงอยู่คู่แผ่นดิน”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 มี.ค. 10, 10:37

ดร.ญาดาฟังคุณผ่องพรรณจบ ก็กล่าวว่า
ผ่านไปแล้ว ๒ ท่านนะคะ  ก็มาถึงท่านที่สามบ้างละ
จาก เสริมสร้างวัฒนธรรม ประเพณี    คุณประสพโชควันนี้มีงานหนัก
ต้องชี้แจง สำแดงเอกลักษณ์   ประกาศศักดิ์ภาษาไทยให้กำจร”

คุณประสพโชคจึงว่า
                                 ขอบคุณครับ              ผมได้รับเกียรติมางานการอักษร
   ได้มากล่าวพจนาภาษากลอน              ยกสุนทรคุณค่าภาษาไทย
   คำบรรยายพูดเป็นกลอนผมอ่อนซ้อม       ถ้าผิดย่อมนำพาขายหน้าได้
   ขอออกตัวล่วงหน้าโปรดอภัย              หากคำใดผมผลิตผิดวาที
   อันคุณค่าภาษาไทยเราใช่ด้อย              มีรูปรอยเอกลักษณ์ชูศักดิ์ศรี
   สื่อสำแดงศิลปะประเพณี                          ไทยเรามีสืบกาลเนื่องนานมา
   พ่อขุนรามคำแหงมหาราช               ทรงประสาทลายสือไทยไว้ล้ำค่า
   เรารุ่นหลังทั้งมวลควรศรัทธา               ร่วมรักษาสมบัตินี้จนนิรันดร์
   นับเวลาเกือบพันปีเรามีชาติ                มีเอกราชวัฒนธรรมดำรงมั่น
   มองประเทศเพื่อนบ้านย่านเคียงกัน   ล้วนถูกควันประเทศราชชาติอื่นคลุม
   ภาษาคือสื่อสร้างอวดอ้างเผย              ไทยไม่เคยแปลกแยกหรือแตกกลุ่ม
   ไม่เคยเป็นข้าให้ใครควบคุม               ทุกแง่มุมอวดใครใครได้สบาย
   เราจึงควรปกปักเอกลักษณ์ชาติ                พิทักษ์ศาสตร์ศิลป์ภาษาก่อนจะสาย
   ภาษาอยู่คู่ชาติไม่คลาดคลาย               อาจเสียหายหากภาษาอื่นมาครอง
   ภาษาไทยไทยเราเจ้าของภาษา               ต้องภาคภูมิใจว่าเราเจ้าของ
   มิได้ยืมภาษาใครมาใฝ่ปอง               เราจึงต้องเทิดค่าภาษาเรา
   ปัจจุบันภาษามามัวหมอง                          คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการของเก่า
   เอกลักษณ์เคยหรูถูกดูเบา                เด็กไม่เข้าใจค่าภาษาไทย
   ภาษาชี้ลักษณะเฉพาะชาติ                สร้างบทบาทวัฒนธรรมตามสมัย
   ภาษาคือสื่อความงามความภูมิใจ                จึงเมื่อใช้พูดเขียนอย่าเปลี่ยนแปลง
   มีบางคนปนภาษาต่างประเทศ                ใช้กันเกินขอบเขตอย่างชัดแจ้ง
   บ้างก็พร้อมยอมรับศัพท์สแลง                นำมาแผลงผิดภาษาจนบ้าบอ
   ภาษาไทยในทีวีก็มีผิด                           ที่พูดทับศัพท์อังกฤษฟุตฟิตปร๋อ
   เคยรำคาญบางครั้งอยากพังจอ                กดเปลี่ยนช่องอื่นก็ผิดพอกัน
   รัฐบาล เขาอ่านว่า รัดทะบาน                กบว.ก็ไม่ค้านการบิดผัน
   การออกเสียง ร.กล้ำ ก็สำคัญ                อ่าน ฉับพลัน เป็น ฉับพัน ผันผิดคำ
   พูด พร่ำเพรื่อ กล่าวคำ เป็น พ่ำเพื่อ        ตัว ร.เรือ กับ ล.ลิง ไยทิ้งกล้ำ
   แต่ละตัวมีกฎให้จดจำ                           ล.ลำเค็ญ คนละลำกับ รำคาญ
   ผู้เขียนข่าวแต่ละคนตัวต้นสื่อ                เขียนหนังสือบางครั้งยังผิดสาร
   ภาษาของเราเองแต่เพรงกาล             ท่านยังขานเขียนไปผิดหลายราย
   คำว่า กลับ หรือ กับ ยังสับสน             สลับจนผิดทางต่างความหมาย
   ภาษาเขียนภาษาปากผิดมากมาย              ผลเสียหายเกิดแก่คนผู้ยลยิน
   แม้เห็นผิดเพียงน้อยอย่าปล่อยผ่าน   เพราะนานนานจะฝังใจไม่ถวิล
   เข้าหูตาเยาวชนนานจนชิน              แล้วทั้งสิ้นผันคำนอกทำนอง
   อย่างเพลงชื่อ คุณลำใย เขียนไม้ม้วน     ลำไย ควรไม้มลายใช้ให้คล่อง
   แม้จะเป็นนามเฉพาะก็ควรตรอง              อย่าให้หมองรูปลักษณ์อักษรา
   ตัวอักษรสูงต่ำจำให้มั่น                         การจะผันวรรณยุกต์ต้องถูกค่า
   อักษรสูงอักษรต่ำห้ามจัตวา              ไม้ตรีก็อย่าเกี่ยวข้องต้องจำไว้
   เราคนไทยใช้ภาษาอย่าวิปริต               ใช้ผิดผิดก็จะพาขายหน้าได้   
   คนไทยพึงซึ้งค่าภาษาไทย               ควรห่วงใยเชิดชูอนุรักษ์
   ขอฝากคำอภิปรายสุดท้ายนี้               ฝากผู้ที่ใช้ภาษาพึงตระหนัก
   อันคุณค่าภาษาไทยยิ่งใหญ่นัก               สิ่งสำแดงเอกลักษณ์ศักดินา
   ภาษาไทยใช้ให้งามสมความหวัง               อย่าระวังเพียงวันนี้ที่ห่วงหา
   ใช่เพียงวันยี่สิบเก้ากรกฎา                เพราะภาษาเรามิใช่ใช้วันเดียว”

   ดร.ญาดา คั่นรายการด้วยการแซวคนดูว่า
   “เป็นอย่างไรบ้างคะท่านผู้ฟัง           หลายท่านนั่งเงียบหนักหนานึกว่าหลับ
   ทำเอาผู้อภิปรายใจหายวับ           กลัวท่านเปลี่ยนใจปุบปับกลับบ้านนอน
   หอประชุมจุฬาฯ นี้เย็นดียิ่ง           ทั้งชายหญิงต่างพร้อมพรักนั่งพักผ่อน
   มัวเพลิดเพลินสู่ภวังค์ลืมฟังกลอน            เดี๋ยวพลาดตอนเด็ดเด็ดไปไม่รู้เอย”
         
   จากนั้นจึงหันมาเข้ารายการต่อไปว่า
   “ภาษาไทยคงอยู่คู่เอกราช            สูญชาติคือสูญสิ้นภาษา
   ชาติอยู่ภาษาอยู่คู่กันมา                      ขอความเห็น คุณนิภา ทองถาวร”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 21:45

คุณนิภาจึงเริ่มอภิปราย ในหัวข้อ “พิทักษ์เอกราช” ดังนี้

   “อันคุณค่าภาษาไทยใจรู้รัก                              เริ่มรู้จักจับใจแต่วัยอ่อน   
   ซึ้งคำหวานขานขับให้หลับนอน                  ซึ้งคำสอนของครูที่บูชา
   ภาษาไทยใช้พิทักษ์เอกราช                 ฟังดูอาจไม่ค่อยซึ้งถึงคุณค่า
   แต่เมื่อเอ่ยเอกราชชาตินานา                 เรียกทุกชาติทุกภาษาคู่กันไป
   ภาษาจึงชี้ให้เห็นความเป็นชาติ                 ถ้าสูญเสียเอกราชลงเมื่อไหร่
   ภาษาพูดภาษาถิ่นก็สิ้นไร้                  ภาษาเขียนก็ต้องใช้ของผู้ครอง
   จะคิดเขียนพูดจาภาษาเขา                 ประสาเราคงจะพูดได้ไม่คล่อง
   อาจสื่อความไม่ตามคิดผิดทำนอง                  เป็นเรื่องของความวิบัติเต็มอัตรา
   จะฟังคำของใครได้ซาบซึ้ง                  ไม่เหมือนหนึ่งคำไทยที่ใฝ่หา
   ทั้งยามสุขยามเศร้าเหงาอุรา                   พรรณนาได้ไม่ถึงครึ่งหัวใจ
   ยามท้อแท้แพ้พ่ายหน่ายชีวิต                    คำปลุกปลอบประกาศิตให้สู้ใหม่
   คือคำไทยจากกมลของคนไทย                  เหมือนสายใยทอถักรักผูกพัน
   ชาติใดเคยอาดูรเจียนสูญชาติ                   เพราะสูญเสียเอกราชย่อมหวาดหวั่น
   ห่วงภาษาของชาติพินาศกัน                     ยิ่งนานวันก็คงวายสลายลง
   จึงเมื่อวันพลิกฟื้นกู้คืนชาติ                   ต้องบำรุงภาษาศาสตร์ให้สูงส่ง
   ทั้งรีบเร่งสร้างสรรค์ให้มั่นคง                 เพื่อยืนยงเอกลักษณ์เป็นหลักใจ
   เพราะภาษาเป็นสื่ออันสำคัญยิ่ง                 รวมน้ำใสใจจริงให้ยิ่งใหญ่
   สามัคคีสมานฉันท์รักกันไว้                     แม้ชีวิตสละได้เพื่อชาติตน
   อาจปลอบปลุกรุกเร้าให้เราสู้                    สลัดใจที่หดหู่สู้อีกหน
   สร้างพลังขลังแข็งแห่งกมล                     ดังเพลงพระราชนิพนธ์ที่ฟังมา
   องค์พระมหาธีรราชเจ้า                        ทรงปลุกเร้าปวงไทยเอาไว้ว่า
   ยอมตายไม่เสียดายแก่ชีวา                 เพื่อรักษาอิสระคณะไทย”
   หรือบทเพลงชาติไทยสมัยหนึ่ง                  เคยอ่านซึ้งถ้อยคำยังจำได้
   ขุนวิจิตรมาตรารจนาไว้                        ล้วนปลุกใจให้พิทักษ์นครา
   แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง                 ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
   สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา      ร่วมรักษาสามัคคีทวีไทย
   บางสมัยศัตรูจู่โจมตี                      ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
   เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงไผท                    สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
   อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย      น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
   เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา                             เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
   รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี                   ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
   เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินไทย                      สถาปนาสยามให้เทอดไทย ไชโย”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 มี.ค. 10, 21:49

คุณนิภาจบลงด้วยเพลงชาติไทยสมัยเก่าแล้ว  ดร.ญาดาจึงดำเนินการอภิปรายต่อไปว่า
   ภาษาไทยคือสะพานการเรียนรู้                  ทอดไปสู่ศิลป์และศาสตร์ที่ปรารถนา
   เป็นสื่อช่วยประสิทธิ์วิทยา                ขอเชิญ อาจารย์วินัย ไขขานกลอน”
   
   คุณวินัยจึงร่ายกลอนในหัวข้อ “ประสาทวิทยา” เป็นลำดับต่อไป
   สวัสดีท่านผู้ฟังที่เคารพ         ขอน้อมนบคุณครูผู้สั่งสอน
   ทั้งวิชาภาษาและกาพย์กลอน      ให้เกิดกล้ามาร่วมบ่อนอภิปราย
   เหมือนมะพร้าวเลือกหามาขายสวน   เพราะทุกท่านต่างล้วนความรู้หลาย
   จะถูกผิดโปรดจิตเมตตาอธิบาย      เพื่อขยายแนวทางสร้างปัญญา
   อันคุณค่าภาษาไทยที่ได้ประจักษ์      คือ สำแดงเอกลักษณ์ แห่งภาษา
   เสริมสร้างวัฒนธรรม นำชีวา      สู่โลกาภิวัตน์อย่างจัดเจน
   เป็นสื่อกลาง ร่วมใจไทยทั้งชาติ       ทั้ง พิทักษ์เอกราช ให้โดดเด่น
   ดำรงไทยเป็นไทยไม่เอียงเอน      เป็นดังเช่นท่านทั้งสี่ที่อภิปราย
   หากกล่าวถึงภาษาไทยให้คุณค่า      ด้วย ประสาทวิทยา ได้หลากหลาย   
   ทุกประเภทวิชาอธิบาย         เข้าใจง่ายได้เนื้อหาวิชาการ
   สอนภาษาต่างประเทศใช้เหตุผล      แปลเป็นไทยซึ้งกมลจนแตกฉาน
   วิทยาศาสตร์การคำนวณควรชำนาญ   จะบวกลบคูณหารต้องอ่านไทย
   อันภาษาบาลีมีธรรมะ         เป็นพาหะนำชนให้สบสมัย
   ทั้งภาษาสันสกฤตสอนจิตใจ      มีมากในฉบับบรรพ์วรรณคดี
   คำเขมรที่ใช้เป็นราชาศัพท์      ต้องลำดับเป็นไทยจนได้ที่
   หากจะสอนลูกศิษย์ความคิดทวี       ก็ต้องมีภาษาไทยถ่ายทอดความ
   ยิ่งตำรับตำราภาษาเทศ         จะรู้เลศนำความรู้สู่สยาม
   จะถ่ายทอดให้หมดจดอย่างงดงาม   ต้องสื่อข้ามสองภาษาจึงจะดี
   ภาษาไทยเรานี้มีเอกลักษณ์      หากรู้จักลึกซึ้งถึงวิถี
   จะชูเชิดสมสง่าในท่าที          ดังบรรเลงดนตรีงามลีลา
   คำโบราณไม่เกินกาลจะอ่านเขียน      พ้นวัยเรียนหากเพียรจะศึกษา
   ก็อาศัยภาษาไทยในตำรา                 พัฒนาตัวตนจนชำนาญ
   อีกข่าวสารบ้านเมืองเรื่องน่ารู้      ภาษาไทยก็คือครูผู้บอกสาร
   เรื่องการเมืองเรื่องเศรษฐกิจเรื่องพิสดาร   ทุกประการอาจนิยามคือความรู้
   ภาษาไทยให้ทุกผู้ได้รู้โลก      ให้รู้สุขรู้โศกที่มีอยู่
   ให้รู้ข้อพุทธธรรมที่ค้ำชู                  ภาษาไทยคือครูให้รู้ธรรม
   อันความรู้มีมากมายอีกหลายข้อ      กล่าวแต่ย่อพอสมที่คมขำ
   เหลือเวลาให้สามท่านขานลำนำ      เพื่อกล่าวย้ำคุณค่าภาษาไทย
   ขอจบประเด็นภาษาไทยประสาทวิทย์   ทั้งข้อคิดสร้างสรรค์ที่ทันสมัย
   กล่าวมาน้อยหากไม่ค่อยจะถูกใจ      ขออภัยอย่าถือโทษโปรดเมตตา”

ทำท่าจะจบแต่ก็หยอดลูกเล่นแถมว่า
   “ยังพอมีเวลาขอสารภาพ                 ให้รับทราบเบื้องหลังและเบื้องหน้า
   รับปากประยอมโดยไม่พิจารณา      นึกให้เล่นสักวามาว่าวอน
   ที่แท้ให้มาอภิปราย         ต้องเอาหน้ามาขายให้อายกระฉ่อน
   เกรงท่านผู้ฟังนั่งง่วงนอน                 ขอจบกลอนสวัสดีวันนี้ครับ”

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 มี.ค. 10, 10:39

จบบทอภิปรายอย่างถ่อมตัวของคุณวินัย เชื้อสายสุนทรภู่เมืองแกลง ซึ่งทำเอาผู้ฟังหัวเราะและปรบมือกึกก้อง  แล้วดร.ญาดาจึงเชิญคนต่อไปว่า
   ท่านผู้ฟังคะ
   ภาษาไทยช่วย พัฒนาความคิด เห็น   ตรงเป้าเข้าประเด็นเห็นกระจ่าง
   เพิ่มความคิดพูนความรู้ทุกลู่ทาง      เป็นเครื่องมือสื่อกลางสร้างปัญญา
   เชิญผู้เป็นกำลังสำคัญงานวันนี้      ร่วมเวทีพลพรรครักภาษา
   กับน้องน้องพี่พี่ที่เชิญมา                 คุณหญิงอรฉัตร ขา  เชิญว่าไป”

   ม.ร.ว.อรฉัตรซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติในวันนั้น จึงเป็นคนอภิปรายในหัวข้อ “พัฒนาความคิด” ดังนี้
   สวัสดีท่านที่รักศักดิ์ภาษา               ฟังสนทนาหลายหัวข้อที่ขานไข
   แต่ดิฉันนั้นค่อนจะอ่อนวัย              จึงเลือกได้ข้อ  พัฒนาความคิด”
   คำนึงครั้งยังเยาว์เฝ้าเรียนร่ำ              เราจดจำ กอ ขอ ค่อยต่อติด
   เรียนสระวรรณยุกต์ทุกชนิด              จนประดิษฐ์ถ้อยคำสำนวนมา
   สมัยก่อนวิชาเลือกนั้นมีน้อย               เราจึงค่อยอ่านเขียนเรียนภาษา
   คัดลายมือเขียนคำบอกลอกตำรา               ไม่ก้าวหน้ากระโดดข้ามตามปัจจุบัน
   สมองคนใช่เครื่องยนต์หรือเครื่องจักร   ที่จะผลักเปิดปิดไม่บิดผัน
   การผสมอักขระสะกดการันต์              รุ่นเก่านั้นจึงผิดน้อยถ้อยคำคม
   ผิดจากคลื่นลูกใหม่สมัยนี้              สื่อที่มีมากมายหลากหลายผสม
   พิธีกรดาราค่านิยม                 ดึงผู้ชมใช้ภาษาผิดท่าทาง
   ภาษาผิดดึงความคิดให้ผิดด้วย              เป็นตัวช่วยให้ผู้เยาว์เอาเยี่ยงอย่าง
   สมัยก่อนครูดีชี้แนะพลาง                         ผู้ใหญ่วางแนวทางไว้ให้คิดดี
   วรรณกรรมรุ่นเก่าของเรานั้น              ท่านผู้รู้ช่วยจัดสรรอย่างถ้วนถี่
   ใช้ถ้อยคำสำนวนกระบวนมี               ประเพณีวัฒธรรมนำความคิด
   ผู้ทำงานสื่อมวลชนคนรุ่นก่อน               ถูกสั่งสอนอบรมให้อ่านไม่ผิด
   ให้รู้จักรับผิดชอบกรอบชีวิต              จึงเหมือนมิตรนำทางสร้างปัญญา
   ทุกวันนี้พวกดาราภาษาวิบัติ             ทั้งลูกครึ่งไม่สันทัดเรื่องภาษา
   ภาษาไทยไม่แข็งแรงแสดงมา             ใช้วาจาวกวนจนพัวพัน
   ชวนไป "ดิ๊น เย็นนี้กินที่ไหน”            เราตกใจเลียบเลียบเคียงเคียงถามเสียงสั่น
   “ดิ๊น ที่แท้แปลว่าอะไรกัน”             เขาตอบพลัน “ก็ ดินเนอร์ นั่นยังไง”
   เยาวชนสมัยใหม่ใช่ไทยแท้              เราต้องแก้เสริมความรู้สู่รุ่นใหม่
   สานความคิดให้เจริญเดินตามวัย            และเลือกใช้คำให้ถูกทุกวันวาร
   ภาษาไทยพัฒนาคุณค่ามนุษย์           ไม่ยั้งหยุดความคิดพิษฐาน
   ก่อปัญญาแก้ปัญหานานัปการ             ถ้ารู้อ่านรู้ฟังทั้งรู้คิด
   หนังสือดีมีประโยชน์เป็นโพธผล             รู้จักค้นรู้จักคว้าหาถูกผิด
   รู้จักคิดพัฒนาเป็นเนืองนิจ             สุภาษิตสอนใจจำให้ดี
   มีความรู้ดีกว่ามีอาวุธ                ใช้แย้งยุทธพัฒนาตามหน้าที่
   เป็นเครื่องป้องกันตนพ้นย่ำยี              โอกาสมีผ่านวิกฤตพิชิตภัย
   รู้จักใช้ภาษาไทยอย่างไทยแท้               อย่าเปลี่ยนแปรผกผันทันสมัย
   อย่าให้คำภาษาอื่นกลืนคำไทย             ทั้งที่ให้ความหมายเหมือนเหมือนกัน
   บัญญัติศัพท์ใหม่ใหม่ให้ถูกต้อง            ตามครรลองแนวทางเพื่อสร้างสรรค์
   พูดไทยคำอังกฤษคำย้ำทุกวัน             คงเข้าขั้นอันตรายขายหน้าตา
   เหมือนขายความเป็นไทยให้ต่างชาติ    เขายิ้มเยาะเพราะเป็นทาสทางภาษา
   ภาษาไทยคงวิบัติไม่พัฒนา              หากประชาไม่รู้จักรักษ์คำไทย
   เราโชคดีมีภาษาประจำชาติ               กระแสพระราชดำรัสนิรัติศัย
   สมควรที่เยาวชนคนทุกวัย              สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
   “วันภาษาไทยแห่งชาติประกาศก้อง   ไทยแซ่ซ้องพระโอบเอื้อทรงเกื้อหนุน
   อนุรักษ์ภาษาไทยละไมละมุน              เอกอดุลย์คุณค่าภาษาไทย”





 
 
 
 
 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 มี.ค. 10, 15:35

เมื่อจบการอภิปรายของม.ร.ว.อรฉัตรแล้ว ดร.ญาดาก็เริ่มแนะนำคนต่อไปว่า
   “ท่านผู้ฟังทั้งหลายทราบดีว่า         
           
          ภาษาคือเครื่องมือข่าวสื่อสาร
   ติดต่องานในวงกว้างเกินอ้างเอ่ย
   หัวข้อนี้ คุณอดุล คงคุ้นเคย   
          วานเฉลยสักนิดอย่าคิดนาน”

   วันนี้คุณอดุลมามาดใหม่  ผิดกับการเล่นสักวาซึ่งมีกลอนมันๆ  ยั่วล้อแสบๆ คันๆ แต่วันนี้มาในมาดนุ่ม ออกหวาน แต่ได้สาระจับใจ แม้ว่าตอนต้นมีการ “แซว” ผู้ดำเนินการอภิปรายนิดหน่อย
         “เมื่อหญิงสาวในเสื้อสีแดงสวย   สั่งการด้วยถ้อยคำกวีขาน
   ข้าผู้น้อยก็รับคำบัญชาการ                       เพราะที่เขียนมาจากบ้านก็พอมี
   ในหัวเรื่องกอบกิจการงาน                       เป็นการเขียนเพื่อสื่อสารตามหน้าที่
   ตามคำสั่ง ดร.ญาดา อารัมภีร              เริ่มต้นแต่นี้เป็นต้นไป…
    เพราะเราต้องสื่อสารด้วยภาษา              ในวงงานไม่ว่าจะวงไหน
   พูดและเขียนต้องหมดจดและหมดใจ   ด้วยคุณค่าภาษาไทยที่เรียนมา
   ไม่มีใครประสบความสำเร็จได้              หากไร้ทักษะทางภาษา
   สร้างความเข้าใจเมื่อเจรจา             สร้างคุณค่าของคำเมื่อจำนรรจ์
   ด้วยเป็นภาษาแม่ประมวลมา             เป็นสร้อยภาษาค่อยรังสรรค์
   เขียนและพูดเพื่อมนุษยสัมพันธ์             เพื่อความเข้าใจกันโดยไมตรี
   แต่ละถ้อยแต่ละคำคิดและเขียน             อาจต้องเวียนอ่านไปในทุกที่
   อาจสร้างความรู้สึกซึ่งแสนดี             ความเชื่อถือก็จะมีติดตามมา
   สร้างจากความเจนจัดและเจนจบ             จนพร้อมรบในทุกกระบวนท่า   
   สั่งสมด้วยความรักอยู่ร้างรา             จนเป็นนายของภาษาอยู่ซ้อนซับ
   คือความหวังความไหวและความหวาน   คือจินตนาการให้ดาลสดับ
   คือความงามอันหยาดอยู่ระยับ             นำไปสู่การยอมรับในฝีมือ
   คือภาษาคือสรรพเสียงสอดประสาน   สร้างงานสำเร็จได้ด้วยตัวหนังสือ
   คือกระแสความรู้สึกซึ่งฝึกปรือ         จนมีผู้นับถือในผลงาน
   ทุกวงงานจึงอยากได้ผู้ใช้ภาษา          มาร่วมสร้างคุณค่าเมื่อสื่อสาร
   อยากได้มืออาชีพผู้เชี่ยวชาญ           มาร่วมสร้างองค์การให้เกริกไกร
   ผู้สามารถสร้างคำจากความรู้สึก   ด้วยความล้ำความลึกความรื่นไหล
   ด้วยภาษาที่งดงามด้วยความเข้าใจ   ความสำเร็จย่อมมีได้เป็นธรรมดา
   จนเป็นแบบเป็นบทให้จดจำ   เป็นนายช่างผู้สร้างคำจากภาษา
   เป็นรางวัลให้ชีวิตเป็นนิจมา   และจะเป็นคุณค่าตลอดไป
   ใช้ภาษาโดยรู้จักรักภาษา   จะรักดอกสร้อยสักวาอยู่แว่วไหว
   จะช่ำชองเชี่ยวชาญในการใช้    จะรู้ค่าภาษาไทยโดยเท่าทัน
   เป็นนักพูดนักเขียนของแผ่นดิน   มิรู้สุดรู้สิ้นที่รังสรรค์
   จะเดินทางไปถึงวันหนึ่งนั้น   ถ้าเคี่ยวกรำความฝันจนเป็นไฟ
   ขอจงคิดเมื่อจะพูดและจะเขียน   ขอจงพากจงเพียรเพื่อเคลื่อนไหว
   ขอจงรู้ค่าภาษาไทย   จนเป็นภาษาใจนิรันดร์กาล”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 15:33

เมื่อเสียงปรบมือให้แก่การอภิปรายของคุณอดุลจบลงอย่างกึกก้องเช่นเคย ดร.ญาดา
ก็เริ่มกล่าวนำว่า
   “ท่านผู้ฟังที่รักคะ มาถึงคุณค่าภาษาไทยลำดับที่แปดแล้วค่ะ   
   กว่าจะถึงท่านสุดท้ายปลายรายการ   นั่งรอนานเกินไปเกือบได้ที่
    ขอเรียนเชิญ คุณดวงใจ ในตอนนี้      ประสานสามัคคี พี่น้องไทย”

   จากนั้น คุณดวงใจ รวิปรีชา จึงอภิปรายในหัวข้อ “ประสานสามัคคี ” ให้ได้ทั้งสาระ และความขบขันดังนี้
   สวัสดีท่านผู้ฟังทั้งชายหญิง       ไม่ทอดทิ้งที่นั่งไปทางไหน
   คุณสมศรี คุณบุญธรรม คุณลำไย      ชื่อไทยใช้คำไทยล้วนชวนยินดี
   เราไม่มีมนต์มืดยึดความคิด      ปลอดจากพิษอานุภาพตะขาบผี
   เรื่อง เวิร์กช็อป ชอบพูดคล่องไม่ต้องมี    ไม่โจมตีด้วยเทปลับให้อับอาย
    เรามีเพียงภาษาไทยไว้เป็นสื่อ      ด้วยนับถือภูมิปัญญามาขยาย
   โดยการพูดการเขียนเพียรภิปราย      เรามุ่งหมายเชิดชูอยู่นิรันดร์
   สามัคคีคือธรรมอันล้ำเลิศ      บ่มเพาะเกิดจากภาษามาสร้างสรรค์
   เริ่มต้นจากกลุ่มเดียวเกลียวสัมพันธ์      ผนึกมั่นเป็นชาติไทยในแผ่นดิน
   ใช้ภาษาเดียวกันไม่ผันแผก      สำเนียงแปลกแปร่งบ้างบางท้องถิ่น
   อิสาน เหนือ กลาง ใต้ ได้คุ้นชิน      รวมจิตวิญญาณไทยยิ่งใหญ่นัก
   เอกราชชาติคงดำรงมั่น         ภาษาพันผูกไว้ไม่แตกหัก
   เราเรียนรู้อยู่อย่างไทยร่วมใจรัก                     จิตประสานสมานสมัครสามัคคี
   หากพูดคนละภาษาพาแตกแยก      เพราะผิดแผกเกินเข้าใจได้เต็มที่
   เป็นดอกเตอร์หรือนายกรัฐมนตรี       โปรดพาทีเป็นไทยให้ชัดชัด
   อย่าฟุตฟิตอังกฤษปนคนต้องแปล      เห่อกระแสฝรั่งล้วนชวนข้องขัด
   คำ ”วิชั่น” ไยมิใช้ “วิสัยทัศน์”   คำ “ มีตติ้ง”  ก็คือนัดจัดประชุม
   สามัคคีพูดไทยไว้คล่องปาก      อย่าลำบากดัดจริตให้คิดกลุ้ม
   ต้องแปลไทยเป็นไทยหลายแง่มุม      คำไทยคลุมความหมายได้ชัดเจน
   สามัคคีแก้วิกฤตร่วมคิดบ้าง      ไม่ต้องจ้างใครมาเป็นว่าเล่น
   ห้าแสนเหรียญฝรั่งพล่ามตามหลักเกณฑ์   สร้างกรรมเวรไทยต้องแปลแก้ไขตาม
   ระดมมันสมองไทยมิได้         หลากหลายชื่อดอกเตอร์ไทยควรไต่ถาม
   เขาพูดไทยจึงไม่ชมนิยมนาม      ท่านมองข้ามคุณค่าปัญญาไทย
   คุณธรรมสามัคคีชี้นำชาติ       เรามีปราชญ์ทางเศรษฐกิจคิดแก้ไข
   พูดภาษาเดียวกันโปรดมั่นใจ      ผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ได้วิชา
   ภาษาไทยสร้างความรักสามัคคี       คิดใหม่ ทำใหม่ดีมีคุณค่า
   นิยมไทยใจเป็นธรรมนำชีวา      โปรดพลิกฟื้นคืนศรัทธาปัญญาชน
   ไม่ต้องใช้ธงเหลืองให้เปลืองผ้า      ใช้แต่ภาษาไทยไม่สับสน
   เรื่องซุกหุ้นปล่อยวางก่อนอย่าร้อนรน   ศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดีแน่นอน
   จึงฝากท่านผู้ฟังนั่งที่นี่          รวมอาจารย์คุณครูชี้เชิงอักษร
   กวดขันเด็กพูดไทยให้อาทร      คิดเสียก่อนพูดควบกล้ำย้ำให้ชัด
   คำสแลงอาจสลายในข้างหน้า      แต่ภาษารากเหง้าไทยไม่วิบัติ
   คำใหม่เกิดชั่วครู่ยามตามลมพัด      เหมือนใบไม้ร่วงแล้วผลัดคือสัจธรรม
   จะหงส์แดงผีแดงมาแผลงฤทธิ์      มาแล้วไปไม่สถิตนานฉนำ
   เราคนไทยไพร่ฟ้าตาดำดำ      ต้องพูดคำไทยชั่วฟ้าอย่าลืมเอย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 15:35

ภายหลังเสียงปรบมือดังกึกก้องของผู้ฟัง หลังการอภิปรายของคุณดวงใจแล้ว ดร.ญาดา
ก็กล่าวว่า
    ท่านผู้ฟังที่เคารพคะ เมื่อเริ่มรายการคุณหญิงกุลทรัพย์ ได้กรุณาเกริ่นนำด้วยร่ายยาวได้อย่างดีแล้ว เพื่อให้การอภิปรายนี้สมบูรณ์ ดิฉันได้ขอร้องให้คุณหญิงท่านทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยการกล่าวกลอนสรุปอีกครั้ง ท่านผู้ฟังคงเห็นด้วยนะคะ….”
   ทำเอาผู้ฟังปรบมือ แล้วคุณหญิงกุลทรัพย์ก็กล่าวกลอนที่รีบๆ แต่งไว้ก่อนหน้านั้นไม่กี่นาทีว่า
   น้องญาดาเพิ่งบอกว่าต้องกล่าวปิด      ไม่ได้คิดกลอนที่ว่ามาจากบ้าน
   จึงต้องรีบยกร่างอย่างลนลาน(๑)      กลอนไม่หวานขออภัยไว้สักที
   จบร้อยกรองของกวีฝีปากกล้า      กลอน คุณค่าภาษาไทย ไว้ศักดิ์ศรี
   เราทุกคนสมถวิลแสนยินดี       เป็นกวีรู้คุณค่าภาษาไทย
   ขอขอบคุณน้องน้องทั้งเก้าคน      ที่ล้วนมีดวงกมลรักฝักใฝ่
   อุทิศตนรักษาภาษาไว้          ให้ ยืนยงคงสมัยตราบนิ รันดร์
   ขอขอบคุณผู้มีเกียรติทุกทุกท่าน      กรุณามาร่วมงานร่วมสร้างสรรค์
   ทั้งที่นี่และทุกแห่งที่พร้อมกัน      ฉลองวันภาษาไทยใจชื่นชม
   คงมิใช่วันนี้เพียงวันหนึ่ง                ที่เราควรซาบซึ้งและสั่งสม
   ภาษาไทยคือมงคลอันอุดม      ใช้ให้ถูกใช้ให้คมตลอดกาล
   กวีบนเวทีฝีปากกล้า         เพราะอยากให้ไทยรู้ค่าภาษาสาร
   ภาษาไทยเรานี้มีมานาน                 งามตระการสื่อได้ไม่อับจน
   ใครไม่เห็นคุณค่าต้องว่ากล่าว      ต้องโน้มน้าวให้แก้ไขไม่สับสน
   เกิดเป็นไทยไม่เป็นทาสรักชาติตน   เราทุกคนขออภัยได้เกินเลย
   ขอขอบคุณอย่างยิ่งไม่อย่างสูง(๒)   ด้วยความรักขอชักจูงขอเฉลย
   ใช้คำไทยอย่ากลัวใครมาว่าเชย      ใช้ให้เคยใช้ให้งามถูกตามนัย
   หมดเวลาขออำลาท่านทั้งหลาย      อภิปรายคำกลอนขจรสมัย   
   ขอทุกท่านที่รู้ค่าภาษาไทย      สุขกายใจสุขสวัสดิ์พิพัฒน์เทอญ”

   แล้วดร.ญาดาก็สรุปว่า
   “ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ สิ่งที่ท่านได้ฟังไปนั้นบอกให้รู้ว่า
   ภาษาไทยเป็นสื่อกลางสร้างวัฒนธรรม   เอกลักษณ์แห่งถ้อยคำอันล้ำค่า
   คือหลักฐานชี้ให้เห็นความเป็นมา      ช่วยรักษาเอกราชชาติยืนยง
   อีกประสาทวิทยาพัฒนาความคิด      กอบกิจงานก้าวรุดจุดประสงค์
   สมานสามัคคีกันไว้ให้มั่นคง      ไทยดำรงคงอยู่คู่ดินฟ้า
   ยี่สิบเก้ากรกฎาคมอุดมศรี       ฟังคารมแปดกวีฝีปากกล้า
   อภิปรายสมศักดิ์ศรีที่จุฬาฯ      หวังทุกท่านซึ้งค่าภาษาไทย
   สูญภาษาของแผ่นดินคือสิ้นชาติ       เอกราชไม่รู้อยู่ ที่ไหน
   จะสู้หน้าบรรพชนท่านได้ฉันใด      หากปล่อยให้ย่อยยับกับมือเรา
   ขอจบการอภิปรายแต่เพียงนี้  สวัสดีค่ะ”
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
   (๑)   เพราะวงอภิปรายคำกลอนขอให้ คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ มากล่าวเปิด จึงเตรียมคำมาเฉพาะเปิด ต้องแต่งกลอนกล่าวปิดระหว่างที่กวีอื่นๆ กำลังอภิปราย
   (๒)  เนื่องจากรายการก่อนหน้านี้ ท่านนายกราชบัณฑิตยสถานแสดงปาฐกถาว่า การขอบคุณ ไม่ควรกล่าวว่า ขอขอบคุณอย่างสูง เพราะขอบคุณไม่มีสูงมีต่ำ มีแต่ มาก หรือ ยิ่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.088 วินาที กับ 19 คำสั่ง