เรียนท่านสมาชิกทราบ
ในความเห็นของข้าพเจ้า ชาวจีนทั่วไปแม้จะยากจนเข็ญใจสักเท่าใด การเลือกที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนจะต้องพิจารณาอย่างพิธีพิถัน เนื่องด้วยความเชื่อที่ว่าชัยภูมิอันดีจะส่งผลให้ชีวิตเจริญก้าวหน้า ทั้งนี้การที่พ่อค้าชาวจีน หรือขุนนางชาวจีนเลือกที่ตั้งเมืองมักเลือกเมืองที่มีสายน้ำพาดผ่าน แต่จะเลือกในฝั่งที่สายน้ำโค้งออกไป โดยจะเลือกตั้งบ้านเรือนด้านที่อยู่ในโค้ง เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเชื่อว่าเป็นจุดที่เป็นมงคล หากเป็นมังกรเปรียบเสมือนท้องมังกร อาทิ พระราชวังต้องห้าม จะเห็นว่าก่อนเข้าสู่พระที่นั่งหลังจะมีแม่น้ำจำลองสายเล็กๆทำเป็นรูปโค้งโดยด้านในโค้งจะเป็นส่วนที่ตั้งพระที่นั่ง หรือเมืองโบราณที่ติดกับสายน้ำบางแห่ง ดังเมืองนานกิง ตัวเมืองจะสร้างเข้าไปสู่ด้านในโค้งของสายน้ำ เป็นต้น
ชาวจีนทางใต้เองมีความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยเช่นกัน ดังนั้นการที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแต่ครั้งโบราณ ข้าพเจ้าคิดว่า ชาวจีนโดยเฉพาะกลุ่มขุนนาง พ่อค้า ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองคงไม่เลือกที่ตั้งที่ออกจะเป็นชัยภูมิมดๆปลวกๆเท่าใดนัก คงจะเลือกบริเวณที่มีชัยภูมิเหมาะสม และฮวงจุ้ยดี หากพิจารณาว่าบริเวณดังกล่าวมีสิ่งใดดีงามเหมาะใจแก่ชาวจีนเหล่านั้น และการเลือกที่ตั้งชาวจีนเหล่านั้นใช้ศาสตร์แบบจีนหรือแบบไทย คงตอบได้ยาก เนื่องจากไม่เหลือเอกสารตกทอดมา
อย่างไรก็ตามหากดูตามหลักภูมิศาสตร์แล้ว บริเวณดังกล่าวเป็นส่วนที่อยู่ด้านในโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา หากเทียบกับหลักฮวงจุ้ยถือว่าเป็นชัยภูมิที่ดีมากจุดหนึ่ง ด้วยถือเป็นจุดท้องมังกร ดังนั้นอาจสันนิฐานได้โดยไม่ใช้การเข้านิมิตเจาะเวลาหาคำตอบ ว่าชาวจีนอาจใช้หลักฮวงจุ้ยเลือกที่ดังกล่าวแล้วในการตั้งบ้านเรือน
อนึ่ง...การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกที่ตั้งกรุงเทพมหานคร จะทรงพิจารณาหลังฮวงจุ้ยประกอบหรือไม่เป็นปัญหาที่น่านำมาพิจารณา เพราะลำพังการใช้หลักยุทธพิชัยสงครามเลือกที่แบบนาคนามอาจเพียงพอแล้ว พระองค์จะทรงใช้หลักภูมิสถานแบบจีนประกอบการตัดสินพระราชหฤทัยหรือไม่คงยากที่จะตอบ อาจต้องดูบริบทขุนนาง นักปราชญ์ ราชบัณฑิต ตลอดจนสังคมที่แวดล้อมพระองค์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ว่าจะมีความเกี่ยวพันกับจีนพอที่นำความคิดแบบจีนมาถวายให้ผ่านพระเนตรหรือไม่
อย่างไรก็ตามการสร้างกรุงเทพมหานครข้าพเจ้าคิดของข้าพเจ้าเองว่าหลักฮวงจุ้ยอาจมาเกี่ยวในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องนี้ข้าพเจ้าออกจะนึกฝันนิดๆ เนื่องจากตามธรรมเนียมจีนการสร้างเมืองที่ดีด้านหลังเมืองควรมีเขามาค้ำจุน ของยกตัวอย่างซ้ำคือพระราชวังต้องห้าม ด้านหลังพระราชวังมีการสร้างภูมิเขาจำลอง (ที่ใหญ่พอๆกับเข้าของจริง) หรือในเมืองนานกิงด้านหลังเมืองมีเขาจริงๆลูกใหญ่โต หากเมืองใดไม่มีเขาหลังเมือง และไม่มีปัญญาสร้างเขาขึ้นหลังเมือง (คนจีนโบราณสร้างภูเขาจำลองที่ใหญ่เท่าเขาจริงๆได้ เชื่อเหอะ ตะกายเขาจำลองในสวนที่สูงพอๆกับเนินสูงๆบ้านเราเลย ขนาดแค่ในบ้านขุนนางนะ ไม่ใช่เจ้าเมืองด้วย) บ้านเมืองแห่งนั้นจะสร้างเจดีย์แถนเขาอยู่หลังเมือง ตัวอย่างดังเมืองซูโจว ซึ่งจะมีเจดีย์ใหญ่อยู่หลังเมือง (แต่ด้านหลังของจีนคือทิศเหนือ และด้านหน้าคือทิศใต้)
การสร้างหรือเลือกให้เขาอยู่หลังเมืองหรือหลังอาคาร หากทางวิทยาศาสตร์คือป้องกันลมหนาวจากทางเหนือ แต่หลังๆหมายถึงกันสิ่งร้าย อะไรต่ออะไรไม่ให้เข้ามา ผ่านเข้ามาไทยข้าพเจ้าจำได้ว่านักฮวงจุ้ยบางคนอธิบายว่าช่วยอุปถัมภ์บ้านช่อง บ้านเมืองเป็นอาทิ
อย่างไรก็ตามการสร้างเจดีย์ใหญ่หลังเมือง ข้าพเจ้าจำไม่ผิดตามธรรมเนียมไทยไปปรากฎ (หรือมีตามคติอันใดวานแจ้งด้วยเพราะไม่ทราบจริงๆ ) ด้วยการสร้างเจดีย์ใหญ่มักสร้างอยู่กลางเมือง ด้วยเราถือว่าเราจำลองแบบจากจักรวาล อันมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง อย่างไรก็ตามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างเจดีย์ภูเขาทองขนาดใหญ่มหึมาอยู่หลังเมือง (วัดสระเกศปัจจุบัน) แถมอยู่นอกกำแพงเมืองด้วยซ้ำ

หากคิดไปตามหลักเมืองคือจักรวาล การสร้างนอกกำแพง คือ การสร้างนอกขอบจักรวาล แม้สันนิษฐานว่าสร้างไว้เพื่อให้หายคิดถึงภูเขาทองที่อยุธยา ดูจะเวลาผ่านไปนานเนิ่นไปสักนิดเกินกว่าที่คนในรุ่นดังกล่าวจะมานั่งหวนรำลึกอยุธยาหรือไม่
ดังนั้นส่วนตัวข้าพเจ้าแล้ว หากอิทธิพลแบบฮวงจุ้ยจีนจะเข้ามาในการเลือกที่ตั้งครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชหรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่จากตำรายุทธพิชัยสงครามของไทยมีแนวทางอยู่แล้ว อาจไม่ต้องพึงจีนก็เป็นได้ หากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อาจมีอิทธิพลก็เป็นได้ เห็นได้จากการสร้างเจดีย์ใหญ่หลังเมืองซึ่งไม่ปรากฎในธรรมเนียมไทย (หรือเปล่า) แต่มีอยู่ในหลักฮวงจุ้ยของจีน
ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริงเฉพาะในส่วนธรรมเนียมจีน ส่วนเรื่องอิทธิพลในไทยข้าพเจ้าสันนิษฐานเอา โปรดพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเชื่อ กลัวจะผิดกันไปทั้งหมด

สวัสดี