เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 26479 ชวนคุยเรื่องพระเจ้าตาก
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 02 ก.พ. 01, 11:20

คุยกันไปนิดหน่อยแล้วครับ ในกระทู้ 317 เห็นคุณเทาชมพู บอกว่า รวบรวมข้อมูลหลายอย่างไว้ เลยสนใจขึ้นมาทันที

ขอคุยต่อจากกระทู้ที่แล้วนะครับ เรื่องของพระยาพิชัยที่จงรักภักดี จนถึงกับตายตามพระเจ้าตาก

ส่วนตัวผมแล้ว รู้สึกว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผลเรื่องของ loyalty เพียงอย่างเดียว แต่น่าจะมีเหตุผลทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย
ไม่มีหลักฐานอะไรหรอกครับ  ว่ากันตามความรู้สึกล้วนๆครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 30 ม.ค. 01, 17:23

พิมพ์ยังไม่เสร็จ  ยังแปะไม่ได้  ขอเวลาถึงพรุ่งนี้อย่างช้าค่ะ
แต่บอกได้ย่อๆว่า...
กรณีการผลัดแผ่นดินจากธนบุรี มาเป็นรัตนโกสินทร์ นักประวัติศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นสนใจคุยกันมีรสชาติกว่าหัวข้ออื่นๆในเน็ต   ดิฉันขอแยกเป็น ๓ ประเด็นใหญ่
๑)พระเจ้าตากเสียพระจริตจริงหรือไม่
๒)เกิดอะไรขึ้นตอนปลายกรุงธนบุรี
๓) ร. ๑ แย่งราชสมบัติพระเจ้าตากหรือไม่
๓ เรื่องนี้มันคนละเรื่องนะคะ แม้จะเกี่ยวโยงกันก็ตาม

เท่าที่อ่านพบ  บางครั้งคุยกันไปคุยกันมา  เมื่อไรเอา ๓ ประเด็นนี้มารวมกันก็จะเกิดการแย้งระหว่างคนvs คน ขึ้นมาได้   ลืมว่าตอนแรกเราพูดแบบเป็น เหตุผล vs เหตุผล

ดิฉันจึงอยากจะพูดถึงประเด็นที่ ๒ ก่อน    ว่ามันเป็นอย่างไร  ถ้าเราพอมองภาพอะไรได้ออกในข้อนี้  ข้อ ๑ และ ข้อ ๓ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องต้องมาถกเถียงกันด้วยอารมณ์อีก  
หรือไม่บางทีคำตอบก็ออกมาให้เห็นได้เหมือนกัน

สำหรับดิฉัน จากหลักฐานที่ค้นๆมาหลายแห่ง   เชื่อแน่ว่าเมื่อปลายกรุงธนบุรี เกิด "อะไรบางอย่าง" ขึ้นจริงๆ
เรียกว่าความไม่สงบก็แล้วกัน
ไม่ใช่ว่าพระเจ้าตากทรงครองราชย์อยู่   แต่เจ้าพระยาจักรี เกิดยึดอำนาจขึ้นมาจนสำเร็จ  เหมือนอย่างที่เคยเกิดมาตอนผลัดแผ่นดินหลายแผ่นดินสมัยอยุธยา
สาเหตุที่เป็นตัวนำ เกิดจากพระเจ้าตาก จะว่าท่านเสียพระจริตหรือไม่ก็ไม่รู้ละ ยังไม่สรุปตอนนี้
แต่ในพงศาวดารบันทึกว่า ทรงมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นรัชกาล จนเป็นที่สังเกตของข้าราชบริพารและข้าราชสำนัก
ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมนี้ ผู้ได้รับผลกระทบกระเทือน มีทั้งมหาดเล็ก เจ้าจอม   ขุนนาง และบาทหลวงซึ่งทำบันทึกส่งไปยังกรุงโรม   มีหลักฐานยืนยันได้ ในกรณีที่เราไม่เชื่อหลักฐานฝ่ายไทยว่าพูดจริง
พฤติกรรมนี้จะมาจากอะไรก็ตาม  ทำให้ทรงหย่อนพระปรีชาสามารถลงทางด้านการรบ และการเป็นผู้นำแผ่นดิน   จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่พระยาสรรค์ ซึ่งก่อกบฎขึ้นมาในเมืองหลวง
ทั้งที่พระยาสรรค์จะว่าไปก็ไม่ปรากฏว่าเป็นขุนนางเก่งฉกาจมีฝีไม้ลายมืออะไร   เทียบกับเจ้าพระยาและพระยาอีกหลายๆคน ก็ไม่เห็นมีเกียรติประวัติระบุไว้
การที่อยู่เฝ้าเมืองไม่ได้ไปรบอย่างขุนนางคนอื่น ก็พอจะบอกได้ว่าคงไม่ใช่แม่ทัพเอก
สู้พระยาสุริยอภัยหลานชายเจ้าพระยาจักรีก็ไม่ได้

การยึดอำนาจที่ทำอย่างง่ายดาย  ย่อมบ่งบอกถึงบารมีที่เสื่อมลงของพระเจ้าตากสิน..อย่างมาก

ฉายหนังตัวอย่างแค่นี้ก่อน เชิญท่านอื่นๆค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 30 ม.ค. 01, 20:08

พระเจ้าตากสินทรงก้าวขึ้นจากสามัญชนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยความเป็นเลิศ ๒ อย่าง อย่างแรกคือฝีมือการรบและการบริหารกองทัพ    อย่างที่สองคือทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์สูงมาก
ทรงเรียกพระองค์เองว่า "พ่อ " เรียกราษฎรว่า "ลูก "  เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหนก็ให้ราษฎรได้เฝ้าชมพระบารมีได้  ไม่ได้ห้าม (ธรรมเนียมห้ามราษฎรมองพระเจ้าแผ่นดิน กลับมาใช้กันอีกในราชวงศ์จักรีตลอด ๓ รัชกาลแรก   จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงทรงยกเลิกธรรมเนียมนี้)
นอกจากนี้เคยทรงให้อภัยทหารไทยที่แพ้พม่า   ไม่ได้ลงโทษ  ให้อภัยนายท้ายเรือและพลเรือที่พาเรือพระที่นั่งไปล่ม ถือว่าเป็นอุบัติเหตุ  จะลงโทษก็แต่คนที่เป็นเสี้ยนหนามการสถาปนาอาณาจักรอย่างกรมหมื่นเทพพิพิธ  และผู้บังอาจฝ่าฝืนพระบรมราชโองการเท่านั้น
แต่เมื่อถึงปลายรัชกาล    ก็เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นหลายอย่าง จะเรียงลำดับให้อ่านนะคะ
-   จดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวี พระขนิษฐาในรัชกาลที่ ๑ (ป็นสตรีผู้ดีสามัญชนในสมัยธนบุรี)   ได้บันทึกไว้ว่า
"วิบัติหนูกัดพระวิสูตร  รับสั่งให้ชิดภูบาล ชาญภูเบศร์ ฝรั่งคนโปรดทั้งคู่มาจับหนูใต้ที่เสวยในที่ด้วย   เจ้าประทุมทูลว่า  ฝรั่งเป็นชู้กับหม่อมอุบลกับคนรำสี่คน เป็นหกคนด้วยกัน   รับสั่งถาม หม่อมอุบลไม่รับ   หม่อมฉิมว่ายังจะอยู่เป็นมเหสีคี่ซ้อนอีกหรือ   มาตายตามเจ้าพ่อเถิด   รับเป็นสัตย์หมด  ให้เฆี่ยนเอาน้ำเกลือราด  ทำประจานด้วยแสนสาหัส ประหารชีวิตผ่าอกเอาเกลือทา  ตัดมือตัดเท้า
ขออธิบายเพิ่มว่ามหาดเล็กที่ว่านี้ไม่ใช่คนไทย เป็นชาวโปรดุเกส  แต่ทรงโปรดปรานให้รับใช้ใกล้ชิด     ส่วนหม่อมอุบลและหม่อมฉิมเป็นพระชายาที่โปรดมากที่สุด   ทั้งสองมีกำเนิดเป็นเจ้า  หม่อมอุบลเป็นพระธิดากรมหมื่นเทพพิพิธพระโอรสในพระเจ้าบรมโกศ   เป็นหัวหน้าหนึ่งในหกก๊กที่พระเจ้าตากทรงปราบปรามได้ก็ประหารตัวหัวหน้าเสียแล้วรับธิดามาเป็นบาทบริจาริกา   ส่วนหม่อมฉิมเป็นลูกเจ้าฟ้าจีด เชื้อสายพระเพทราชา  พ่อถูกเจ้าพระยาพิษณุโลกจับถ่วงน้ำก่อนเสียกรุง เพราะไปก่อความวุ่นวายขึ้นในเมืองพิษณุโลก
ในราชสำนักแบ่งเป็นฝ่ายหน้าฝ่ายใน   มหาดเล็กอยู่ฝ่ายหน้าจะเข้าไปฝ่ายในไม่ได้ เว้นแต่มีพระบรมราชโองการ      เข้าไปแล้วก็ถูกท้าวนางทั้งหลายตามประกบตลอดไม่ให้คลาดสายตาได้พบนางในคนไหนตามลำพัง จนเสร็จธุระตามหน้าที่   ถ้ามหาดเล็กสองคนนี้แอบไปเป็นชู้กับชาววังตั้ง ๖ คน  รวมหม่อมคนโปรดเสีย ๒ คน ก็คงเป็นเรื่องเอิกเกริกไม่น้อย  น่าจะมีพยานรู้เห็นกันมาก   พระเจ้าตากน่าจะทรงสืบสาวราวเรื่องได้ไม่ยากว่าจริงหรือไม่
แต่ในเนื้อความนี้ไม่ได้บอกว่าสืบพยานหลักฐานกันหรือเปล่า   บอกแต่ว่าเจ้าประทุม( ก็พระสนมอีกคนหนึ่ง) ฟ้อง    เท่านั้นหม่อมอุบลก็รับเป็นสัตย์ และวิธีการพูดก็ดูประชดประชันอย่างไรพิกล   คำที่บอกว่า "มาตายตามเจ้าพ่อเถิด" ก็แสดงว่าหม่อมอุบลคงจะไม่ลืมเรื่องเสด็จพ่อถูกสำเร็จโทษ   และคิดว่าน่าจะถึงคิวตัวเองเข้าสักวัน    หม่อมฉิมก็คงรับเช่นกันด้วยความรู้สึกคล้ายๆ  เลยถูกประหารทั้งคู่
ถ้ามองจากกฎมณเฑียรบาล  นางในมีชู้..โทษหนักถึงประหารแน่นอน   ก่อนประหารก็ต้องเฆี่ยนเป็นการลงโทษด้วย    แต่น่าคิดว่าทำไมถึงจะต้องถึงขั้นผ่าอก ตัดมือตัดเท้า   เป็นวิธีลงโทษที่ทารุณมากเมื่อเทียบกับความเมตตากรุณาที่พงศาวดารบันทึกไว้ก่อน
เท่านั้นยังไม่จบเรื่อง   หลังจากประหารหม่อมคนโปรดไปแล้ว  พระเจ้าตากก็ทรงเสียพระทัย แล้วเกิดเรื่องให้สงสัยขึ้นมาว่าเป็นการใส่ร้ายไม่ใช่ความจริง   ในพงศาวดารไม่ได้บอกรายละเอียดว่าทำไมถึงคิดว่าเป็นการใส่ร้าย    ดิฉันจึงขอเดาว่าพยานหลักฐานหลายๆอย่างคงจะค่อยๆเผยออกมาเองว่า ไม่ใช่ตามที่ฟ้อง  เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครจะลอบเข้าไปเป็นชู้กับนางในตั้ง ๖ คนได้   โดยเฉพาะผู้ชายคนนั้นก็แค่มหาดเล็ก ไม่ "บิ๊ก" พอที่มีอำนาจปิดปากหรือติดสินบนท้าวนางจ่าโขลนทั้งหลายได้หมด
นอกจากนี้เพิ่งทรงทราบว่าหม่อมอุบลกำลังตั้งครรภ์อ่อนๆได้ ๒ เดือน ก็เสียพระทัยหนักขึ้น ถึงกับคิดจะตายตาม  รับสั่งกับคนใกล้ชิดว่า
"ใครจะตายตามกูบ้าง"
หม่อมเสมแม่ของหม่อมอุบล กับหม่อมอีก ๓ คนก็ทูลว่าจะตายตาม  พระเจ้าตากจึงพระราชทานเงินให้คนละ ๑ ชั่ง เพื่อเอาไว้บังสุกล   พระราชทานทองให้คนละ ๑ บาทไว้สร้างพระ  แล้วนิมนต์พระเข้ามาบังสุกุล  ตั้งพระทัยจะประหารผู้หญิง ๔ คนนี้ก่อนแล้วจะปลงพระชนม์ตามไป
ทีนี้พวกขุนนางทั้งหลายก็พากันเดือดร้อน    ก็เลยไปขอให้พระท่านนิมนต์ขอชีวิตพระเจ้าตากไว้   พระสงฆ์ท่านคงจะยกเรื่องบาปบุญคุณโทษมาแสดงให้เห็นว่าเป็นบาปจนได้ผล   ก็ทรงเปลี่ยนพระทัย ไม่ตายตามและพระราชทานเงินอีกมากให้ผู้ยอมตายตามไปเป็นการทำขวัญ
ข้อนี้เป็นข้อหนึ่งของความวุ่นวายสมัยปลายกรุงธนบุรี  ทำให้ดิฉันมองว่า พระนิสัยเปลี่ยนไป  จากความสุขุมเยือกเย็นเป็นความวู่วามและเคร่งเครียด  ก็น่าจะเป็นสัญญาณถึงแสดงถึงการเสื่อมพระบารมี  ซึ่งเริ่มมาจากพระองค์ ไม่ใช่อำนาจภายนอก
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 30 ม.ค. 01, 22:13

คุณเทาชมพู มีข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นว่าเป็นไปได้ที่ พระเจ้าตากสินท่านทรงมีปัญหาในการบริหารราชการ ถ้าดูจากบันทึกนี้ก็ค่อนไปในทางเสียพระจริต จริง ๆ แต่ผมมีความรู้สึกอีกอย่างว่า การขึ้นจากสามัญชน ขึ้นเป็นกษัตริย์นั้น แล้วยิ่งเป็นในสมัย ที่บ้านเมืองมีปัญหา ก็อาจจะทำให้ท่านมีความเครียดมาก จนพฤติกรรมเปลี่ยนไปได้บ้าง
ทีนี้มาถึงปัญหา ที่ว่าเกิดกบฎจริง ๆ ถ้าขุนนาง เป็นขุนนางที่ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อราชวงศ์จริง ๆ จะปราบกบฎแล้วก็ สำเร็จโทษ กษัตริย์ ซะเพื่อตั้งตัวเองเป็นใหญ่เหรอครับ ตอนนั้นพระเจ้าตากท่านก็ทรงมีพระโอรสแล้วด้วย จนเจ้าฟ้าเหม็น โอรสท่านต้องมาก่อการในสมัย รัชกาลที่ 2โจโฉ ยังไม่กล้ายึดบัลลังก์ ฮ่องเต้
สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์ ท่านยังเป็นแค่ผู้สำเร็จราชการตลอดชีวิต แล้วทำไม
สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ท่านจึงไม่ชำระความแล้ว เป็นผู้สำเร็จราชการ โดยทำนุบำรุง โอรสของพระเจ้าตาก ล่ะครับ
ผมว่าความเห็นผมคือ เกิดความวุ่นวาย มีการปราบความไม่สงบ แล้วก็ใช้โอกาสนั้น ยึดอำนาจเพราะมีบารมีสั่งสมมาไม่น้อยแล้ว เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
Linmou
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 30 ม.ค. 01, 22:40

แค่เรื่องสังหารภรรยาที่รักมากด้วยความเข้าใจผิด ก็เพียงพอจะทำให้คนเราเสียใจจนเป็นบ้าได้แล้วล่ะค่ะ อย่าว่าแต่ภรรยายังตั้งครรภ์อ่อนๆอีกด้วยเลย

รออ่านหลักฐานชิ้นต่อไปอยู่ค่ะ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 01:07

จากเรื่อง "เจ้าชีวิต" ของพระองค์จุลฯ ตามความทรงจำนะคะ  แต่ถ้าจะให้ค้นก็จะไปขุดกรุมาให้ค่ะ  ดิฉันอาจจะเบลอๆเอาหนังสือเล่มอื่นที่อ่านมาปนกันด้วยก็ไเป็นได้ (โดยเฉพาะหนังสืออาจารย์นิธิ)

แต่ที่จำได้แน่ๆก็คือ  พระองค์จุลฯทรงนิพนธ์ว่า  หลังจากประหารพระเจ้าตากแล้ว  ร 1 เห็นนางในที่เคยเป็นข้าบาทบริจาริกาจของพระเจ้าตากมาก่อน  รำ่ร้องโศกา  ก็ทรงกริ้ว  สั่งให้เอาไปเฆี่ยน  นี่ถ้าเป็นการปรากดาเพื่อความสงบของบ้านเมืองเฉยๆ  ทำไมต้องอาฆาตกันขนาดนี้ด้วยล่ะคะ

ดิฉันจำไม่ได้ว่าข้างล่างนี่เป็นความเห็นของอาจารย์นิธิ หรือของพระองค์จุลฯนะคะ

ท่าน(?)ว่า  ในสมัยนั้นการล้มล้างกษัตริย์เก่าเพื่อแย่งชิงบัลลังก์  เป็นการ "ปราบดาภิเษก" นั้น  ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าอับอายแต่อย่างใด  ในพงศาวดารจึงบันทึกไว้ว่าเป็นการปราบดาภิเษกอย่างเปิดเผย  ต่อมาเมื่อติดต่อกับฝรั่ง  โดยเฉพาะในสมัย ร 4  ที่เริ่มเกิดความไม่มั่นใจในวัฒนธรรมของเราเอง  เพราะมันเริ่มส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ  จึงเกิดความเอนเอียงไปในทางความคิดฝรั่ง  ที่มองว่าการฆ่าฟันแก่งแย่งบัลลังก์กันเป็นเรื่องน่าละอาย  เพราะฝรั่งมองว่าป่าเถื่อน  โดยเฉพาะเจ้านายที่ไปรับการศึกษาอย่างผู้ดีอังกฤษกลับมานิพนธ์ตำราประวัติศาสตร์ต่างๆ  แม้พงศาวดารก็ ชำระกันแล้วชำระกันอีก  อาจจะมีความตั้งใจดีที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ "ดูดี" ขึ้นยในสายตาคนต่างชาติ  ก็ทำให้ข้อมูลสูญหาย  หรือถูก "เปลี่ยนแปลง" ไปในทำนองที่ต่างกันได้

โดยความรู้สึกแล้ว  คิดว่าพระยาจักรีมีความ "ไม่ถูกชะตา" กับพระเจ้าตาก  อาจจะมาเริ่มในปลายรัชกาล   เพราะแม้แต่พระอนุชาที่ทรงรักใคร่ใกล้ชิดกันมาก  ในปลายรัชกาล ร1 ก็ยังทรงระแวงจนบาดหมางกัน  เราต้องไม่ลืมว่า  พระราชวินิจฉัยของผู้ทรงอำนาจ  มิได้เป็นของพระองค์ท่านอย่างโดดเดี่ยว  เพราะเป็นธรรมดาของผู้มีอำนาจ  ย่อมมีบริวารหว่านล้อมเพ็ดทูล  ไปนานๆและเป็นเสียงเดียวกันเข้า  ก็อาจจะมีใจเอนเอียงไปทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ได้  เป็นแง่คิดจากด้านพฤติกรรมมนุษย์เท่านั้นหรอกนะคะ  ว่าเป็นความ "เป็นไปได้"  ไม่ใช่ว่าปักใจลงความไปแล้วอย่างนั้น
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 08:36

เรื่องนี้ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนไว้ในการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างสมบูรณ์มากครับ ถ้าจะเล่า ผมว่าดีที่สุดก็เพียงสรุปความจากหนังสือเล่มนี้เท่านั้น หาอ่านได้จะดีที่สุดครับ
กรณีเรื่องการประหารชีวิตอย่างโหดร้ายนั้น ผมกลับไม่ได้มองว่าเป็นอะไรที่แสดงถึงจริตที่แปรปรวน ลองอ่านดูในพงศาวดารสมัน ร.๑ เมื่อขึ้นครองราชย์ใหม่ๆก็มีการประหาร(ใครผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว)โดยตัดข้อเท้า แล้วห้อยหัวไว้จนเลือดตกหัวตาย เรื่องนี้น่าจะสะท้อนถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อความเด็ดขาดแบบทหารในยุคนั้นมากกว่าครับ
อีกประเด็นหนึ่งซึ่งอยากจะตั้งข้อสังเกตไว้คือ การที่พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้นำทัพออกรบเองเป็นเวลานานๆ ถ้าใช้ขุนพลเอกเพียงคนเดียว คงยากที่จะห้ามความรู้สึกที่ว่า "แผ่นดินนี้น่าจะเป็นของกู" ได้ยาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกือบจะเกิดขึ้นอีกเมื่อกรมพระราชวังบวรฯประชวรหนักถึงสิ้นพระชนม์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 09:00

คุณ CrazyHOrse  พระเจ้าตากไม่ได้ใช้ทหารเอกเพียงคนเดียวคือเจ้าพระยาจักรีค่ะ  แม้แต่ในตอนปลายที่เกิดจลาจล  ก็ทรงแบ่งทหารเอกหลายๆคน แยกย้ายกันออกไปทำหน้าที่ตามเมืองต่างๆ เพราะศึกมีอยู่รอบด้าน
บุคคลที่ไว้วางพระทัย อย่างพระยาพิชัยดาบหัก  ก็มีหน้าที่ไปตีเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตอนที่เกิดจลาจลก็ไปเป็นเจ้าเมืองพิชัย เป็นด่านคอยระวังศึกอยู่ที่นั่น
ส่วนพระราชโอรสคือกรมขุนอินทรพิทักษ์ ทรงตั้งให้ไปครองเขมร คอยระงับศึกทางฝ่ายนั้นไว้ไม่ให้ตั้งตัวมารุกรานไทย
คนที่อยู่ใกล้พระเจ้าตาก คือกรมขุนอนุรักษ์สงครามผู้เป็นหลาน  แต่เมื่อเกิดศึกในธนบุรี  กรมขุนอนุรักษ์อยู่ฝ่ายพระยาสรรค์   รบกับพระยาสุริยอภัยหลานเจ้าพระยาจักรีแล้วสู้ไม่ได้ จึงถูกจับเป็นเชลย

คุณพวงร้อยคะ
"...มองว่าการฆ่าฟันแก่งแย่งบัลลังก์กันเป็นเรื่องน่าละอาย เพราะฝรั่งมองว่าป่าเถื่อน โดยเฉพาะเจ้านายที่ไปรับการศึกษาอย่างผู้ดีอังกฤษกลับมานิพนธ์ตำราประวัติศาสตร์ต่างๆ แม้พงศาวดารก็ ชำระกันแล้วชำระกันอีก อาจจะมีความตั้งใจดีที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ "ดูดี" ขึ้นยในสายตาคนต่างชาติ ก็ทำให้ข้อมูลสูญหาย หรือถูก "เปลี่ยนแปลง" ไปในทำนองที่ต่างกันได้..."
ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของความคิดนี้  แต่จะเป็นใครก็ตาม  ดิฉันถือว่ามันเป็นเพียงสมมุติฐาน (hypothesis) ที่หักล้างได้  
สมมุติฐานนั้นคือ  ผู้ชำระประวัติศาสตร์" อาจจะ"มีความตั้งใจดีที่จะทำให้ประวัติศาสตร์ "ดูดี" ขึ้นในสายตาคนต่างชาติ"
(คนที่ "ตั้งใจดี" ก็คือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นั่นแหละ เพราะในบรรดาผู้ชำระเรียบเรียงประวัติศาสตร์ก็มีพระองค์ท่านเป็นผู้นำ  ถึงจะมีเจ้านายอื่นๆเป็นกรรมการหอพระสมุดอยู่บ้าง กรมพระยาดำรงฯ ก็เป็นประธาน)
งั้นมามองว่า
๑ ประวัติศาสตร์ที่ทรงชำระ เปิดเผยออกมาให้เราได้อ่านอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าพระราชพงศาวดารเล่มไหน  เป็นการสร้างภาพให้ " ดูดี" จริงหรือเปล่า?
ถ้าจะให้ดูดีจริง  ก็ต้องสร้างความชอบธรรมให้เจ้าพระยาจักรีในการขึ้นครองราชย์ใช่ไหม  ว่าเป็นสิ่งสมควรแล้ว เพราะพระเจ้าตากไม่เหมาะจะครองราชย์ต่อไปอีก
นี่ข้อหนึ่งนะคะ

ข้อที่สอง  ถ้าให้ดูดีจริง  ก็ต้องละเว้น หรือกล่าวคลุมๆ
เครือๆ ไม่ระบุชัดเจนว่าร. ๑ ทรงทำอะไรที่ไม่ดีลงไปใช่ไหม

ถ้าใช่  มาพิจารณาดูจากหลักฐานในสมัยธนบุรีและรัชกาลที่ ๑ ก่อน
หลักฐานที่ว่าพระเจ้าตากเสียพระจริต   เป็นหลักฐานที่ยืนยันสอดคล้องกันทั้งบันทึกของไทยและบันทึกของบาทหลวงฝรั่ง    อย่างหลังนี้ก็แปลเป็นไทยในสมัยกรมพระยาดำรงฯทรงชำระนี่ละค่ะ  ไม่ใช่ว่ามาแปลกันทีหลัง
ขอโยงกลับไปสู่ประเด็นเดิมว่า เกิดอะไรขึ้นสมัยปลายกรุงธนบุรี  ถ้าได้เห็นภาพในตอนนั้น  อาจจะพอมองเห็นคำตอบเอง
บันทึกการเข้า
คุณพระนาย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 11:15

แล้วถ้าพระเจ้าตากท่านทรงมีพระโอรส ถ้า เจ้าพระยาจักรี(เมื่อคิดว่าไม่มีตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก) ทำไมไม่จัดการให้เกิดความสงบแล้วเชิญบัลลังก์ ให้กับพระโอรสของพระเจ้าตากล่ะครับ
ถ้าไม่ใช่เรื่องของอำนาจ ตรงนี้ผมยังไม่ได้เห็นความคิดเห็นของคุณเทาชมพูเลย ถึงแม้จะทรงเสียจริตจริง ๆ แต่ พระโอรสก็ยังอยู่ ถ้าพระโอรสทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาจักรี จะเป็นผุ้สำเร็จราชการก็น่าจะได้นะครับ ทหารเอกอย่างพระยาพิชัยดาบหัก ก็คงเต็มใจจะรับใช้ พระโอรสของพระเจ้าตากแน่นอน เพราะทรงซื่อสัตย์ขนาดตายตามได้
แล้วในช่วงที่เกิดการไม่สงบนี่ไม่ทราบว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ ท่านไปอยู่ที่ไหนล่ะครับ แต่คงไม่แปลกที่จะเข้าข้างพี่ชายตัวเอง
บันทึกการเข้า
แจ้ง ใบตอง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 11:40

เพิ่งอ่านการเมืองไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีของอาจารย์นิธิเพิ่งจบ  เห็นด้วยกับคุณ CrazyHOrse
ที่ว่าอาจารย์นิธิเขียนไว้ได้สมบูรณ์มาก แตกต่างจาก"ย่ำอดีต" ที่คุณเชาว์ รูปเทวินทร์เขียนไปตอนๆ
ลงหนังสือพิมพ์  ในย่ำอดีต ผมรู้สึกว่าจะเน้นหนักไปในด้านอภินิหารบรรพบุรุษ  บางตอนก็ถึง
กับถกเถียงกันว่าพระเจ้าตากที่แท้จริงเป็นจีนหรือไม่ บางคนรับไม่ได้ที่เห็นว่าพระเจ้าตากมีเชื้อจีน
ก็พยายามสร้างกระแสใหม่ว่าพระเจ้าตากเป็นโอรสลับของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (บางกระแสก็ว่าเป็น
โอรสของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ) กับนางนกเอี้ยง ก่อนพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระองค์
ก็พอทราบว่าจะมีการแย่งชิงอำนาจเกิดขึ้น เลยได้มอบนางนกเอี้ยงซึ่งมีพระเจ้าตากติดท้องให้กับ
เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีก็มอบให้กับนายหยง แซ่แต้ อีกต่อหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นผลให้เจ้าพระยา
จักรีสนับสนุนให้พระเจ้าตากเจริญในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสมเหตุ
สมผล ยิ่งเมื่อได้อ่านของอาจารย์นิธิด้วยแล้ว ก็ตัดสมมติฐานนี้ไปเป็นศูนย์ได้เลย...

การเมืองในสมัยกรุงธนบุรีนั้นค่อนข้างแปลก  ไม่เหมือนกับระบบราชการสมัยอยุธยาเสียเลยทีเดียว
เนื่องจาก เป็นการเมืองในลักษณะชุมนุม พระเจ้าตากได้สนับสนุนคนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา (ตั้งแต่ครั้ง
ตีฝ่าหนีทหารพม่าออกจากรุง) ให้ได้ตำแหน่งหน้าที่ราชการใหญ่โต ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจจะเรียกได้ว่า
 "ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน"บางคนเป็นจีน บางคนเป็นไพร่ เช่นนายทองดีฟันขาวก็เป็นเพียงไพร่ธรรมดา
ที่มีฝีมือในทางดาบและต่อยมวยตอนหลังก็ได้เลื่อนเป็นพระยาพิชัย  ส่วนที่เป็นข้าราชการยุคกรุงเก่ามีบ้าง
เช่นนายสุดจินดา(เจ้าพระยาสุรสีห์) เกือบทั้งหมดนี้พระเจ้าตากได้แต่งตั้งให้เป็นใหญ่เป็นโตไปควบคุมดูแล
ตามหัวเมืองที่สำคัญต่างๆและทรงให้ความสำคัญกับตำแหน่งในส่วนภูมิภาคมากกว่าในส่วนกลาง ข้าราชการ
ครั้งกรุงเก่าที่มาถวายตัวภายหลังมิได้แต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งที่สำคัญๆ ก็ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจ
จนมองไปว่าการปกครองบ้านเมืองของพระยาตากที่ไม่ยึดขนบแบบแผนในสมัยอยุธยาเป็นการเสียพระจริต
จึงเริ่มเอาใจออกห่างไปอยู่ในสังกัดเจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นเชื้อสายผู้ดีมาแต่ครั้งกรุงเก่ามากขึ้น...  

ช่วงท้ายรัชกาล พระเจ้าตากอาจจะมีแนวคิดที่แปลกออกไปจนแลดูเหมือนเสียพระจริต สังเกตได้จากบันทึก
ของบาทหลวงฝรั่งเศส แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าจะทรงบริหารราชการมิได้  การยึดอำนาจพระเจ้าตากจึงน่า
จะมาจากการเมืองที่ครุกรุ่น พร้อมที่จะปฎิบัติการได้ทันทีที่เวลาและโอกาสเหมาะสมการกล่าวหาว่าพระเจ้าตาก
ทรงมีสติหรือสัญญาวิปลาส จึงเป็นข้อกล่าวอ้างให้การยึดอำนาจครั้งนั้นเป็นไปด้วยความชอบธรรม ยิ่งมีการ
ชำระพงศาวดารให้ถูกใจฝรั่ง (อย่างที่คุณพวงร้อยว่า)เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ก็จะถูกบิดเบือนมากขึ้น..
บันทึกการเข้า
พัดโบก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 12:55

การวิเคราะห์ของคุณเทาชมพูน่าสนใจทีเดียว รออ่านต่อครับ

ผมมีโอกาสอ่านการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีของ อ.นิธิ แล้ว แต่ยังไม่จบ หนาไม่เบาทีเดียว
แต่เห็นด้วยครับ ว่าสมบูรณ์มากจริงๆ
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 12:58

คุณพระนายคะ  อาจารย์นิธิให้เหตุผลว่า  เจ้าพระยาสุรสีห์เป็น "ข้าหลวงเก่า" ของพระยาตากที่ใกล้ชิดกันมาก  พระจาจักรีนั้น  มาทีหลัง  
และไม่ได้อยู่ในกลุ่มข้าราชบริพาร "วงใน" นี่ก็เป็นจุดที่น่าสนใจอีกจุดหนึ่ง  

มาตอบคุณเทาชมพู  ไปค้นกรุมาค่ะ  จากหนังสือ "กรุงแตก, พระเจ้าตาก และประวัติศาสตร์ไทย"  โดยสำนักพิมพ์มติชน  พิมพ์ครั้งที่ ๓  พศ ๒๔๔๐

เกี่ยวกับการ "ชำระ" พงศาวดาร  จากหน้า ๑๒๔
"นอกจากนี้ปัญหาความขัดแย้งกันทางศาสนานี้  ตามที่กล่าวในจดหมายเหตุโหร  ก็มิใช่เป็นสิ่งที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงก่อขึ้น  
หากเป็นข้อวิวาทของพระราชาคณะอยู่แล้ว  ความแตกร้าวในวงการคณะสงฆ์ในสมัยธนบุรีนั้น  มีรุนแรงพอสมควร  
และยังจะมีอยู่สืบมาในต้นรัชกาลที่ ๑ ด้วย  เหตุการณ์ข้อพิพาทและอธิกรณ์ของพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่  ซึ่งพระยาทิพากรได้จดไว้  
ตามกระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเลย์นั้น  ได้ถูกสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ผู้ทรงชำระพระราชพงศาวดารตัดออกหมด"

ตัดตอนจาก "ปราบดาภิเษกน่าแสลงใจแก่ใคร" หน้า ๑๓๘-๑๔๒
"...น่าประปลาดที่ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง  และผู้นำไทยในต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๓ อย่างน้อย  มิได้พยายามจะปิดบังเลยว่า
เจ้าพระยาจักรี "ชิงราชสมบัติ" จากพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งถูกเรียกในสมัยนั้นไว้หลายอย่างเช่น "ขุนหลวงตาก", "อีตาตาก", "เจ้าที่ล่วงไปแล้ว",
"พระยาตาก"  (แต่ไม่เคยพบที่ใดซึ่งเรียกพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ)  
คำเรียกพระนามอันส่อความไม่เคารพเหล่านี้  แสดงให้เห็นว่า  มีเหตุผลอันสมควรที่เจ้าพระยาจักรี  จะต้องแย่งสมบัติจากพระเจ้ากรุงธนบุรี...."

"...การแย่งราชสมบัตินั้น เป็นกลไกสำคัญชิ้นหนึ่งที่มีอยู่ประจำในระบบการเมืองการปกครองของไทยแต่โบราณ  และเหมือนกับกลไกชิ้นอื่นๆ  
ย่อมมีหน้าที่ในอันที่จะจรรโลงให้ระบบนั้นตั้งอยู่และดำเนอนต่อไปได้  เพราะการชิงราชสมบัติคือ  การเลือกสรรตามธรรมชาติ  
ในหมู่ชนชั้นสูงของประเทศ  ในอันที่จะได้บุคคลที่เข้มแข็ง มีความสามารุ และได้รับการสนุบสนุนจากชนชั้นนำเป็นกลุ่มก้อน  
มาไว้เป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง  ในระบบการเมืองการปกครอง  ที่ให้ความสำคัญแก่พระเจ้าแผ่นดิน  
ทั้งในฐานะผู้บริหารองค์กรที่มีอำนาตเด็ดขาด ....  นโยบายที่ไม่ได้ผล ที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายที่กดขี่ การคลังที่ล้มเหลว ฯลฯ จะเปลี่ยนได้อย่างไร
หากพระเจ้าแผ่นดินไม่สวรรคต  หรือเชื้อสายของพระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ถูกขจัดออกจากการกุมอำนาจ ..."

"...เป็นด้วยแนวคิดแบบฝรั่งศึ่งเคยชินกับกษัตริย์ที่ไม่ค่อยมีอำนาจรวมศูนย์ดังเช่นในสมัยกลางของยุโรปต่างหาก  ที่มองเห็นการแย่งชิงราชสมบัติว่า
ทำลายเสถียรภาพทางการเมือง  และเป็นอันตรายต่อรัฐ ..."

"...พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระราชโอรส - นัดดาซึ่งได้เป็นผู้นำไทยในต้นรัตนโกสินทร์  ไม่เคยพยายามปิดบังเลยว่า  พระราชวงศ์จักรี
ได้แย่างราชสมบัติมาจากพระเจ้ากรุงธนบุรี  แต่ประเด็นสำคัญที่บุคคลเหล่านี้ต้องการเน้น  อยู่ที่เหตุผลว่า  ทำไมจึงต้องแย่งราชสมบัติต่างหาก..."

"...ในฐานะนักประวัติศาสตร์  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  อาจมีข้อบกพร่องบางอย่างศึ่งนักเรียนประวัติศาสตร์ในสมัยหลังจะต้องหลีกเลี่ยง  
ข้อบกพร่องเหล่านั้น  อาจจะเกิดจากพระภารกิจด้านอ่ืนของพระองค์  จากภาวะที่ขาดเครื่องมือาำหรับการศึกษาค้นคว้า  
และอาจเกิดขึ้นจากอคติส่วนพระองค์ของท่าน  (ตราบที่ยังเชื่อว่าท่านทรงเป็นมนุษย์  จะแปลกอะไรที่จะพูดว่า  ท่านทรงมีอคติเหมือนเราท่าน)  
แต่ความยิ่งใหญ่ในฐานะนักประวัติศาสตร์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพนั้น  มิได้ถดถอยลงเพียงเพราะข้อบกพร่ืองเหล่านี้  
และความยิ่งใหญ่นี้มีรากฐานมาจากการที่ทรงยอมรับว่า  พระองค์อาจผิดพลาดได้  ทั้งยังทรงเชื้อเชิญให้นักศึกษาคนอื่น  
วิพากษ์วิจารณ์และปรับปรุงพระมติของพระองค์ท่าน..."

เอาพอเป็นเลาๆเท่านี้ก่อนนะคะ  พิมพ์ไม่หวายแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 13:26

ขอต่อถึงเหตุการณ์สมัยธนบุรีนะคะ

ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตากกับบาทหลวงนิกายโรมันคาธอลิก ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะรู้ เพื่อเอามาพิจารณาด้วยเช่นกัน
เมื่อบาทหลวงไปเผยแพร่ศาสนาไม่ว่าส่วนไหนของโลก  เขามีหน้าที่จะต้องเขียนบันทึกเล่าถึงการปฏิบัติงาน  ส่งไปให้ประมุขของพวกเขาคือสันตปาปาที่กรุงโรม     เอกสารถูกเก็บไว้ที่วาติกัน
นอกจากนี้ก็มีจดหมายเหตุ หรือบันทึกส่วนตัวของพวกเขาด้วย
เรื่องราวที่เขาบันทึกก็แน่นอนว่าเป็นเรื่องในสังคมที่เขาประสบ เท่ากับเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของยุคนั้นไปด้วย  
แม้เป็นเอกสารที่อาจจะเจือปนด้วยอคติบางอย่างของมนุษย์ เช่นอคติทางศาสนา  แต่แน่นอนคือเอกสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกเซนเซอร์จากทางการบ้านเมืองที่บาทหลวงพวกนั้นอยู่   เพราะเขียนเป็นภาษาละตินซึ่งเป็นภาษาของพวกพระ (หรืออาจจะภาษาอื่นแล้วแต่ว่าบาหลวงนั้นถือสัญชาติอะไร) เพราะฉะนั้นเรื่องที่เล่า ก็แน่ใจได้ว่าเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง  ไม่ยกเมฆขึ้นมา

บาทหลวงคาธอลิคหลบหนีภัยสงครามตอนกรุงแตกไปอาศัยอยู่ในประเทศใกล้เคียงทยอยกันกลับมาเมื่อสถาปนากรุงธนบุรีได้   ทุกคนต่างได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระเจ้าตากสิน   บาทหลวงหลายคนบันทึกไว้ตรงกันว่าพระเจ้าตากมิได้รังเกียจศาสนาคริสต์  ทรงผูกไมตรีด้วยดีขนาดเสด็จไปเยือนบาทหลวงถึงบ้าน  ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนทำมาก่อน

บาทหลวงคอล์บันทึกไว้ว่า

" เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนพฤศจิกายน ปีนี้ พระเจ้ากรุงสยามเสด็จมาเยี่ยมข้าพเจ้าด้วยพระองค์เอง ซึ่งเป็นการไม่เคยมีตัวอย่างมาเลย  พวกขุนนางผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าจะมาสนทนากับพระสังฆราชที่บ้านบาทหลวง   พระเจ้ากรุงสยามเสด็จมาในครั้งนั้นได้ทอดพระเนตรเห็นว่าที่เราคับแคบมาก  จึงมีรับสั่งให้รื้อศาลาซึ่งอยู่ในที่ของเราลงหลังหนึ่ง  และรับสั่งให้ขุดคูเอาดินมาถมที่ และให้ก่อผนังโบสถ์ซึ่งเปิดอยู่ทุกด้าน
และได้รับสั่งสรรเสริญชมเชยพวกเข้ารีตเป็นอันมาก  คือรับสั่งว่าพวกเข้ารีตลักขโมยปล้นสะดมไม่เป็น  และเป็นคนที่ซื่อสัตย์และกล้าหาญดี  ทั้งศาสนาคริสเตียนก็เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลกนี้
…………………..
ระหว่างที่ข้าพเจ้ากราบทูลอยู่นั้นทรงพลิกหนังสือทอดพระเนตรอยู่  แล้วจึงรับสั่งว่า ศาสนาคริสเตียนจะไม่ดีได้อย่างไร  อะไรของเขาดีไปหมด  จนกระดาษที่เขาใช้ก็ดี

ฟังๆบาทหลวงก็ปลื้มพระเจ้าตากเอามาก   ก็น่าจะให้ปลื้ม เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเป็นที่รังเกียจของราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาตลอดนับแต่สิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์   แม้แต่การเผยแพร่ศาสนาก็ถูกสั่งห้าม  ก่อนกรุงแตก ถึงกับมีพระบรมราชโองการ ประกาศมิให้ชาวไทยฟังคำสั่งสอนของพวกบาทหลวงอีก

แต่พระเจ้าตากทรงดำเนินนโยบายตรงข้ามกับพระเจ้าแผ่นดินก่อนๆนี้ทั้งหมด   หลังจากครั้งนี้ก็โปรดฯให้บาทหลวงได้เข้าเฝ้า   ได้สนทนาธรรม(ของคริสต์)ด้วยเป็นอย่างดี  เป็นกันเองขนาดประทับนั่งบนเสื่อธรรมดากับบาทหลวง   ตั้งพระทัยฟัง  แม้ทรงคัดค้านบ้างในความเชื่อบางข้อก็ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งกัน

เมื่อมีไมตรีกันด้วยดี  พระเจ้าตากก็โปรดว่าพวกคนไทยที่เข้ารีตจะปฏิบัติตัวดี   ซื่อสัตย์ ไม่ลักขโมย ไม่ทำบาป   ก็ทรงยอมให้ทหารขุนนางไทยเข้ารีต ไม่ห้ามปราม เพื่อผลดีของสังคมจะได้สงบราบรื่นด้วย และทรงไว้วางพระทัยถึงกับให้พวกเข้ารีตเป็นทหารรักษาพระองค์
พวกนี้แหละค่ะที่ต่อสู้ปกป้องพระเจ้าตากจนถึงที่สุด เมื่อเกิดกบฎพระยาสรรค์

กลับเข้าเรื่อง

บาทหลวงเผยแพร่ศาสนามาได้เรื่อยอีกหลายปี  จนเกิดเรื่องขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๙
เรื่องนั้นก็คือพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา  ข้าราชการทุกคนต้องเข้าร่วมดื่มน้ำสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน
ส่วนหนึ่งของพิธี ต้องมีพิธีพุทธและพราหมณ์ปะปนด้วย  บาทหลวงผู้ยึดมั่นว่าชาวคริสต์จะมีพระเจ้าได้องค์เดียว  ไม่เคารพรูปบูชาอื่นๆ ก็ไม่ยอมอนุญาต  ขุนนาง ๓ คนก็คล้อยตามบาทหลวง ไม่ยอมดื่มน้ำสาบาน

การไม่ยอมถือสัตย์กลายเป็นเรื่องใหญ่  เพราะไม่ได้หมายความว่าไม่ยอมรับพิธีพุทธหรือพราหมณ์  แต่กลายเป็นว่าไม่ยอมรับพระเจ้าแผ่นดิน  ละเมิดหลัก loyalty ที่ดิฉันเคยพูดมาก่อนหน้านี้ว่าเป็นคุณธรรมซึ่งถือกันว่าสูงมากในระบบ" เจ้ากับข้า"

ผลก็คือขุนนาง ๓ คนกับบาทหลวงอีก ๓ ก็ถูกจับตัว แล้วเอาตัวมาเฆี่ยนหลังเสียตามความผิด  สังฆราชเลอบองซึ่งเป็นหนึ่งในสาม บันทึกไว้ละเอียดว่า ในตอนแรก ทรงให้เฆี่ยนแต่ขุนนางทั้ง ๓ แต่เว้นบาทหลวงไว้ทั้งหมดเพียงแต่ถูกจับมัดกับหลักเฉยๆ  เหมือนจะโดนเฆี่ยนด้วย  เอาเข้าจริงก็เฆี่ยนแต่คนไทย เฆี่ยนเสร็จก็เอาไปจองจำไว้

ดิฉันคิดว่าทรงจับบาทหลวงมา " เชือดไก่ให้ลิงดู" ให้ตกใจจะได้หวาดกลัวเข็ดหลาบไม่กล้ามายุ่งกับพิธีของบ้านเมืองอีก
แต่เมื่อนำตัวออกจากห้องขังมาในวันรุ่งขึ้นเพื่อสอบสวน   บาทหลวงเหล่านี้ก็ยืนกรานไม่ยอมรับให้พวกนับถือคริสต์ทำพิธีถือน้ำแบบในวังอีก  คราวนี้พระเจ้าตากกริ้วจริง เลยสั่งเฆี่ยนสังฆราชและบาทหลวง แล้วจองจำไว้  แต่ก็ไม่มีความคิดจะลงโทษหนักกว่านั้น  เพียงแต่ดำริว่าจะจับตัวส่งลงเรือเนรเทศออกจากพระราชอาณาจักรไป

ขุนนางไทยมาติดต่อให้บาทหลวงเหล่านี้กล่าวขอโทษ และจะไม่ก้าวก่ายกับพิธีทางการของไทย  แต่บาทหลวงก็ยืนกรานไม่ยอมท่าเดียว

ในที่สุด ๑ ปีต่อมาก็หายกริ้ว  ทรงปล่อยบาทหลวงเป็นอิสระ   ไม่อยากจะให้มีเรื่องราวลุกลามไปถึงฝรั่งเศสที่บาทหลวงเหล่านี้ถือสัญชาติอยู่   เพราะทรงเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องคุกคามจากมหาอำนาจเหมือนอย่างสมัยพระนารายณ์
แล้วก็ทรงต้อนรับบาทหลวงด้วยดี  พระราชทานของเสวยให้  ประทับนั่งสนทนาด้วยเหมือนเดิม

มีตอนหนึ่งในบันทึกของบาทหลวงคูแด เล่าเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๒ ( ๓ ปีก่อนสิ้นรัชกาล) เรื่องพระเจ้าตากหายกริ้วและทรงต้อนรับบาทหลวงด้วยดี  ต่อจากนั้นมีข้อความวิจารณ์พระเจ้าตากที่น่าสนใจ ขอลอกมาให้อ่านกันค่ะ

"พระเจ้าตากรับสั่งอยู่เสมอว่าทรงเหาะเหินเดินอากาศได้   พระเจ้าตากเป็นคนที่มีความคิดพลิกแพลงอยู่เสมอ  เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงมีพระราชดำริจะเป็นพระพุทธเจ้า   ในเรื่องนี้ได้มีรับสั่งว่า มีพระราชประสงค์จะเป็นพระพุทธเจ้า  และก็มีคนเรียกพระองค์ว่า พระพุทธเจ้าแล้วก็มี    เพราะในเมืองนี้ไม่มีเลยที่ใครจะไม่ทำให้ถูกพระทัยตามวิธีดำเนินการที่ทรงมีพระราชดำริไว้นั้น

ในชั้นต้นจะได้ทรงเหาะขึ้นไปตามอากาศก่อน  และเพื่อจะเตรียมการที่จะทรงเหาะนี้ ได้ทรงทำพิธีต่างๆในวัดและในวังมาสองปีแล้ว  เพราะฉะนั้นในเวลานี้จะต้องถือว่าพระเจ้าตากไม่ใช่มนุษย์  ไม่ใช่เป็นมนุษย์ในโลกนี้แล้ว  ถ้าเรื่องนี้ใครไปทูลขัดคอหรือในเวลาที่ทรงเข้าพิธี   ใครเข้าไปเฝ้าแล้วคนนั้นก็ถูกเคราะห์ร้าย   เราจึงได้ทูลอยู่เสมอว่าเป็นการที่เป็นไปไม่ได้
เราได้ทูลบ่อยเข้าถึงกับทรงเบื่อไม่อยากฟังเราแล้ว   เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้รับสั่งให้เราไปเฝ้ามาได้ปีหนึ่งแล้ว"

ในที่สุดสถานการณ์ระหว่างบาทหลวงกับพระเจ้าตากก็ตึงเครียดขึ้นเป็นลำดับ  เพราะต่อมาพวกเข้ารีตหลายคนก็ไม่ยอมเข้าพิธีหลวงอื่นๆอีกด้วยเหตุผลเดียวกัน   จะบังคับยังไงก็ไม่ได้ผล

พระเจ้าตากก็ตัดสินพระทัยเนรเทศบาทหลวงออกจากแผ่นดินไทยในที่สุด  แต่มิได้ทรงทำร้ายพวกนี้

บาทหลวงคูเดได้เข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ที่พวกเขาเรียกว่าพระมหาอุปราช  บันทึกการโต้ตอบกันไว้ว่า

" เรา(หมายถึงบาทหลวง)ได้เข้ามาอยู่เมืองไทยแล้ว  และพระเจ้าแผ่นดินก็หาได้ทรงขัดขวางอย่างใดไม่  กลับสร้างวัดพระราชทานเราเสียอีก  พระมหาอุปราชจึงได้รับสั่งว่า ข้อนั้นก็จริงอยู่  แต่พระบิดาของเราได้เปลี่ยนพระอัธยาศัยแล้ว   สังเกตดูพระมหาอุปราชก็ทรงพระกรุณาต่อพวกเราอยู่บ้าง  แต่จะไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินอย่างไรๆก็หาสำเร็จไม่"

ผลก็คือพวกบาทหลวงก็เดินทางออกนอกไทยไป   จบสิ้นสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าตากสินไว้เพียงแค่นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 13:54

คุณพวงร้อยคะ ในหนังสือที่คุณยกมา  ดิฉันขอเรียบเรียงด้วยภาษาของดิฉันเอง โดยไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อความตามที่ผู้เขียนได้บอกไว้
เพื่อแสดงให้เห็นว่าวิธีการเขียนคนละอย่าง ในเรื่องเดียวกัน  ก่อผลแตกต่างกันได้ค่ะ

"พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง และผู้นำไทยในต้นรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๓ มิได้พยายามจะปิดบังเลยว่า เจ้าพระยาจักรีได้ขึ้นครองราชย์ด้วยการได้ราชบัลลังก์มาจากการยึดอำนาจผลัดเปลี่ยนราชบัลลังก์จากพระเจ้ากรุงธนบุรี  
ซึ่งถูกเรียกในสมัยนั้นไว้หลายอย่างเช่น "ขุนหลวงตาก", "อีตาตาก", "เจ้าที่ล่วงไปแล้ว",
"พระยาตาก" (แต่ไม่เคยพบที่ใดซึ่งเรียกพระองค์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า พระพุทธเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ)
คำเรียกพระนามเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า  พระเจ้าตากมิได้เป็นที่เคารพของราชวงศ์จักรี "

ต่อไปนี้คือข้อความเพิ่มเติม ของดิฉันค่ะ

คำว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ใช้กันตอนปลายอยุธยา หมายถึงพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนที่ล่วงไปแล้ว  และการล่วงไปนั้นก็เป็นการสวรรคตตามปกติ  มีการถวายพระเพลิงและเก็บพระบรมอิฐิไว้ในพระโกศ   หรือแม้แต่ยังไม่ได้ถวายพระเพลิง ก็จะอยู่ในพระบรมโกศ
แผ่นดินใหม่นั้นก็คือแผ่นดินของลูกหลานขององค์ที่อยู่ในโกศนั่นละค่ะ
บุคคลที่ชาวบ้านสมัยรัตนโกสินทร์เรียกกันติดปาก คือพระเจ้าบรมโกศ  ด้วยเหตุผลนี้ เพราะว่าเสด็จลงโกศไปจริงๆ และแผ่นดินต่อมาทั้ง ๒ แผ่นดินก็เป็นพระราชโอรส  ไม่ใช่ผลัดเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่
แต่พระนามในพระสุพรรณบัตรของพระเจ้าบรมโกศ ไม่ใช่ชื่อนี้  สมัยของพระองค์ท่านดิฉันก็เชื่อว่าไม่มีราษฎรหรือขุนนางเรียกว่าพระเจ้าบรมโกศ
เพราะฉะนั้น การไม่เรียกพระเจ้าตากในที่ใดว่าพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ก็ถูกต้อง  แต่ไม่ใช่ถูกต้องเพราะเหยียดหยามดูถูก  แต่ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง

อีกเรื่องคือ คำเรียกพระเจ้าตากนั้นก็ไม่ใช่ว่ามีแต่เรียก "อีตาตาก "
ขอสารภาพว่าไม่เคยได้ยินคำนี้  ได้ยินแต่คำว่า "เจ้าตาก"
และเจ้านายในราชวงศ์จักรี ที่บันทึกเรื่องราวสมัยปลายธนบุรี โดยมิได้ลบหลู่ด้วยพระนามต่างๆ  ยังคงกล่าวถึงด้วยราชาศัพท์ ในฐานะท่านทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็มี
ขอยกจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีขึ้นมาอีกครั้ง

" เหตุผลกรรมของสัตว์  พื้นแผ่นดินร้อน  ราษฎรเหมือนผลไม้  เมื่อต้นแผ่นดินเย็นด้วยพระบารมีชุ่มพื้นชื่นผลจนมีแก่น   ปลายแผ่นดินแสนร้อนรุม สุมรากโคนโค่นล้มถมแผ่นดิน   ด้วยสิ้นพระบารมีแต่เพียงนั้น"

ถ้าใครคนหนึ่งใช้คำว่า "ชิง " และ "แย่ง" เสียแล้ว  ดิฉันถือว่านี่คือสมมุติฐานของเขา   ดังนั้นการให้เหตุผลต่างๆก็คือการพิสูจน์ว่า เป็นการ "ชิง " และ "แย่ง" จริง

แต่สำหรับดิฉัน จะมองในแนวว่า...เกิดอะไรขึ้นที่เป็นมูลเหตุ
แล้วมันนำไปสู่ผลอย่างไร
ส่วนผลที่ออกมาเมื่อเป็นอย่างไรแล้ว  ก็แล้วแต่มุมมองของคนอ่าน ว่าเขาจะประเมินอีกทีว่าเป็นอย่างไรค่ะ

การชำระพงศาวดารของกรมพระยาดำรงฯ ที่แตกต่างจากพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีหลายแห่งค่ะ  
ทรงชำระไว้จากหลักฐานหลายๆแห่งแล้วทรงเลือกแห่งที่เห็นว่ามีหลักฐานมากที่สุด  เพราะบางครั้งหลักฐานก็แตกต่างกัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงรวบรวมและเรียบเรียงตามหลักฐานที่มี และทรงวินิจฉัยตามพระปรีชา  เพราะฉะนั้นก็ไม่ทรงผูกขาดว่าพระองค์ท่านจะต้องถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว
ถ้ามีหลักฐานในชั้นหลังเพิ่มเติมมา  คำวินิจฉัยก็เปลี่ยนแปลงได้

แต่เท่าที่ดิฉันเห็น หลักฐานเพิ่มเติมขึ้นใหม่มีน้อยมาก  นอกจากบางเรื่องที่เราได้มาจากฝรั่ง อย่างอ.เทพมนตรีเคยเอ่ยไว้    
นักประวัติศาสตร์ไทยทำกันมากก็คือไปหยิบฉบับที่ทรงอ่านแล้ว แต่ไม่ได้ทรงตัดสินว่าเป็นฉบับหลัก  เอาขึ้นมาใหม่  แล้วยึดฉบับนั้นแหละว่าเป็นหลัก แทน
ดิฉันถือว่าเป็น "การตีความ" ที่แตกต่างกัน ค่ะ
บันทึกการเข้า
ลุงแก่
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 31 ม.ค. 01, 16:51

ยังเชื่อว่าพระเจ้าตากถูกปฏิวัติโดยเจ้าพระยาจักรี เป็นเรื่องธรรมดาของระบบในสมัยนั้น อย่าคิดมาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 19 คำสั่ง