เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 14813 ท่านผู้ใดมีบทสวดคฤหัสถ์?
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


 เมื่อ 08 มี.ค. 10, 14:40

  อายจัง ท่านสมาชิกในประชาคมครับ ผมขอเรียนถามว่า ท่านใดมีบทสวดคฤหัสถ์บ้าง หรือช่วยแนะนำได้ไหมครับว่าจะไปหาได้จากหนังสือเรื่องอะไร แต่ต้องขอบอกว่า หนังสือของอาจารย์ตรีศิลป์ บุญขจร อาจารย์สมาน นภายน และthesis ของมศว. ,ของlondon u ผมค้นแล้วครับ  ผมอยากจะได้เป็นบทสวดจริงๆ ที่ตัวแม่ขึ้นว่าอย่างไร ตัวตุ๊ยว่าตามอย่างไรจนจบบท ยิ่งได้หลายๆเรื่องที่นำมาเล่นก็จะดีครับ ท่านผู้ใดแนะนำได้บ้าง
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 16:01

มี  มีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับการสวดคฤหัสถ์ไว้ด้วย  เดี๋ยวไปค้นมาให้เห็นตัวอย่าง  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 16:32

คุณหลวงเล็กคะ

ดิฉันมีบันทึกว่า  กรมหลวงรักษ์รณเรศได้แวะเล่นสวดกระหัดทั้งคืนที่ราชบุรี 
แสดงว่าท่านเป็นศิลปินตัวจริงเลยนะคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 17:06

          สมัยเป็นเด็กเคยไปฟังสวดนี้ครั้งหนึ่งที่วัดใกล้บ้าน
          ยังพอจำข้อความสองแง่ สามง่ามได้เกือบเต็มชิ้นหนึ่ง

          ที่คุณหลวงจะนำตัวอย่างมาแสดงนั้น ไม่ทราบว่าต้องติดเรท ฉ ที่หน้ากระทู้นี้หรือเปล่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 17:18

มาเติมเกร็ดความรู้ สำหรับคนอ่านที่ไม่เข้าใจว่าสวดคฤหัสถ์คืออะไร

สำหรับคนที่เกิดไม่ทันหรือคาบลูกคาบดอก เกิดทันแต่ไม่เคยเห็นไม่เคยได้ยิน ...



ผมว่าได้อ่านงานเขียนหนังสือของ คุณตาอ้วนใหญ่ หรือ คุณครูสมาน นภายน ที่ผมคัดลอกเอามาให้อ่านอีกครั้งก็จะเข้าใจได้ไม่ยากนักนะครับ เพราะครูท่านเขียนหนังสืออ่านง่ายๆ ไม่ต้องแปล

เรื่องที่ผมหยิบยกมาให้ได้อ่านกันนั้นคือเรื่องของ การละเล่นสวดคฤหัสถ์ ซึ่งผมฟันธงว่าเป็นต้นกำเนิดของ จำอวด นั่นเอง


ครูใหญ่ นภายน ท่านเล่าเอาไว้ว่า


''การที่ผมพูดว่าการแสดงสวดคฤหัสถ์เป็นการละเล่นที่น่ายกย่องมากนัก ก็เป็นเพราะว่ามีผู้แสดงเพียงสี่คนเท่านั้น และก็นั่งแสดงอยู่บนเตียงแคบๆ ตามความสั้นยาวพอเหมาะกับสำหรับสี่คนนั่ง แถมยังต้องเสียเนื้อที่ด้านหน้าสำหรับตั้งหีบพระธรรมพร้อมกับตะเกียงทานหนึ่งดวงตามประเพณีเล่นสวดคฤหัสถ์ ส่วนผู้แสดงนั้นเขาก็จะนั่งเรียงกันเป็นแถวคล้ายพระท่านสวดพระอภิธรรมศพหลังหีบพระธรรม


ผู้ที่นั่งหัวแถวคนแรกเรียกว่า ตัวคุ้ย มีหน้าที่แสดงเป็นตัวหลัก ส่วนนั่งถัดไปเป็นคนที่สองเป็น แม่คู่คอหนึ่ง นั่งถัดไปเป็นคนที่สามเป็น แม่คู่คอสอง ส่วนคนที่สี่สุดท้ายนั้นเขาเรียกว่า ตัวภาษา มักจะทำหน้าที่เป็นตัวพระบ้าง ตัวนางบ้าง แล้วแต่ชุดที่จะแสดง สำหรับตัวตุ้ยกับตัวภาษานั้นจะมีกระเป๋าสำหรับเครื่องแต่งกายชุดต่างๆ วางไว้ที่ข้างหน้าคนละใบ


ท่านที่เคารพ ท่านลองนึกดูซิว่ามีการแสดงอะไรบ้างที่มีพื้นที่จำกัดบังคับให้ผู้แสดงนั้นใช้เพียงแต่ลุกขึ้นนั่งลงเท่านั้น แต่เขาก็สามารถแสดงกันได้อย่างสบายมาก เวลาจะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายตามภาษาที่เล่น เขาก็จะเปลี่ยนและแต่งมันบนเตียงนั่นแหละ เพียงแต่มีตาลปัตรแบบที่พระท่านใช้สวดพระอภิธรรมศพมาบังไว้เท่านั้น เพราะว่าทุกคนมีตาลปัตรคนละหนึ่งอัน


ส่วนการแสดงอื่นๆ เช่น ลิเก จำอวด ลำตัด เพลงฉ่อย เสภารำ เขาจะยกพื้น มีที่กว้างให้แสดงกันอย่างเหลือเฟือ แถมยังมีดนตรีประกอบให้อีกด้วย เช่น ปี่พาทย์ กลองรำมะนา ลูกคู่อีกมากมาย ส่วนการเล่นสวดคฤหัสถ์นั้น เรียกว่าตัวใครตัวมัน ต้องช่วยกันเล่นช่วยกันร้อง บางครั้งเจ้าภาพรู้เท่าไม่ถึงการณ์ดันผ่าหาไปเล่นประชันโขนบ้าง ลิเกบ้าง ก็ต้องช่วยกันร้องตะเบ็งเสียงกันคอแทบแตกเพื่อสู้กับเสียงปี่พาทย์ แล้วอย่างนี้จะไม่ให้ผมยกย่องได้อย่างไร จริงไหมฮะ


ชุดต่างๆ ของการแสดงสวดคฤหัสถ์นี้เท่าที่ผมจำได้มีหลายชุดด้วยกัน อย่างเช่นชุดโนราห์ ผู้ที่แสดงเป็นตัวตลกก็จะต้องถอดเสื้อออก แล้วก็เอาผ้าโจงกระเบนที่นุ่งอยู่ลดลงไปไว้ที่ใต้สะดือ แล้วก็เอาแป้งมาผัดที่ขาอ่อน แล้วไปผัดที่พุง แล้วถึงจะไปผัดที่หน้า เท่านี้ก็เรียกเสียงฮาแล้ว ยังไม่ทันได้ร้องกลอนตลกเลย จากนั้นแม่คู่ก็ซักกันนิดหน่อยแล้วก็ร้องโนราห์''


หลับตานึกภาพจากการบอกเล่าของคุณครูใหญ่ นภายน แล้วน่าสนุกไม่น้อยเลย ไม่ทราบเหมือนกันว่าถ้าจะรื้อฟื้นจัดแสดงสวดคฤหัสถ์ย้อนยุคอีกสักครั้งจะหาใครมาเล่นได้บ้าง

http://www.siamdara.com/ColumnDetail.asp?cid=7945
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 18:05

               คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (อีกแล้ว) กล่าวถึงสวดคฤหัสถ์ไว้เมื่อเร็วๆ นี้ ใน
 
                 ตลก “แห่งชาติ” เป็น “ตลก” ร้ายกาจที่สุด

จากหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันพุธที่ 3 มีนาคม 2553

             บอกเล่าสืบต่อกันมานานมากว่า“ตลกไทย”มีกำเนิดจาก“สวดคฤหัสถ์”ในงานศพ
แล้วเชื่อถือว่าจริงจนถึงทุกวันนี้ บางทีไปไกลว่าตลกไทยเกิดขึ้นจากสังคมนับถือพุทธศาสนา

                 สวดคฤหัสถ์มีรากเหง้าเค้าต้นจากประเพณี“ขับลำ”ของ“หมอมด” หรือ“หมอผี”ในสังคมดึกดำบรรพ์
ราว 3,000 ปีมาแล้ว ที่นับถือศาสนาผี(ตอนนั้นยังไม่มีศาสนาพุทธ-พราหมณ์)

            ต่อมาเมื่อรับพุทธศาสนาแล้วนิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป มาสวดศพ เป็นประเพณีเพิ่งมีไม่นานมานี้
พระสงฆ์ก็เลียนแบบทำนองขับลำที่มีมาก่อน มาสวดเป็นทำนองต่างๆคล้ายเทศน์มหาชาติ พระสงฆ์ก็เอาทำนองจากขับลำ

               ประเพณีศพเก็บไว้หลายวัน มีพระสวด เป็นประเพณีของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ที่สืบมาแต่ศาสนาผี 3,000 ปีมาแล้ว
เป็นอย่างน้อย  ไม่ใช่ประเพณีอินเดีย

              ฉะนั้นสวดคฤหัสถ์จึงไม่เกี่ยวกับพุทธ แต่เกี่ยวกับผี สังคมนับถือพุทธไม่ได้ทำให้เกิดตลก ตลกมีขึ้นในชุมชนนับถือ
ศาสนาอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนับถือพุทธ

                ตลก เป็น“วัฒนธรรมร่วม”ของผู้คนทุกชาติพันธุ์สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์ ทั้งมอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ม้ง-เย้า,
จนถึงไทย-ลาว, ฯลฯ มีกำเนิดร่วมกันไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว
               น่าสงสัยว่าจะมีกำเนิดจากการละเล่นเกี่ยวกับเพศ เช่น พูดด้วยถ้อยคำทางเพศ, “ปั้นเมฆ”, และ“พิธีร่วมเพศ”ในพิธีกรรมขอฝน
เพื่อความอุดมสมบูรณ์ มีร่องรอยทุกวันนี้อยู่กับขบวนเซิ้งบั้งไฟในวัฒนธรรมลาว มีบักกั๊บแก๊บ, และบักแบ้น ทำท่าร่วมเพศ แล้วไล่ทิ่มก้น
ผู้สาวต่างสนุกสนานวี้ดว้ายไม่ถือเป็นผิด

ตลกไทย เป็นส่วนหนึ่งของตลกสุวรรณภูมิ ย่อมมีกำเนิดจากสิ่งเดียวกัน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 มี.ค. 10, 18:07

            หน้าพราน ในละครชาวบ้าน(ละครนอก)เรื่องมโนราห์ เป็นทั้งหน้ากากศักดิ์สิทธิ์ใช้บูชาในพิธีไหว้ครูละคร
กับเป็นหน้ากากตลกในการแสดง

               หน้ากาก เป็นวัฒนธรรมร่วมสุวรรณภูมิ อายุไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้วมีหลักฐานสำคัญคือภาพเขียนสีบนเพิงผา,
ผนังถ้ำ, ฯลฯ ที่ชัดเจนมากอยู่ที่ทิวเขาสามร้อยยอด(ประจวบฯ)

           ราวหลัง พ.ศ. 2000 มีชื่อจำอวดอยู่ในกรมละคร(ขึ้นกับมหาดไทย) มีศักดินา 50 (สูงกว่ำไพร่ ศักดินา 25)
ได้รับยกย่องอยู่ในราชสำนักแล้ว แสดงว่าต้องมีบทบาทสำคัญในชุมชนชาวบ้านมานานมากตั้งแต่ยุคก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์

              จำอวดยุคแรกมีในละครชาวบ้าน(ละครนอก) มีนิทานจำอวดละครชาวบ้านเล่นหน้าพระที่นั่งยุคปลายอยุธยา
ฟ้องเรื่องภาษีผักบุ้ง จนมีเหตุให้ต้องชำระคดีภาษีผักบุ้ง แล้วโขนรับจำอวดจากละครชาวบ้านมาพัฒนาให้มีในโขนสมัยต่อมา

               จำอวดเล่นปนกับสวดคฤหัสถ์ในงานศพ เพิ่งมีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เลียนแบบ“ดิเกร์”ของมุสลิมที่ถูกกวาดต้อน
จากปัตตานี แล้วพัฒนาเป็นเล่นสิบสองภาษาออกภาษาต่างๆ พวกจำอวดสวดคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นชาติภาษานั้นๆ คนดูสนุกสนาน
ชอบอกชอบใจ

              เมื่ออิทธิพลตลกฝรั่งแพร่หลายเข้ามา พวกจำอวดก็รับแบบแผนตลกอย่างฝรั่งมาเล่น เลยเรียกจำอวดกับตลกปนกันไป
ตั้งแต่หลังรัชกาลที่ 5 เพิ่งเลิกเรียกจำอวด แล้วเรียกตลกคำเดียวราว 50 ปีมานี้เอง ทำให้มีคุณภาพสืบมาเรื่อยๆ
           แต่ไม่เคยมี“ตลกแห่งชาติ”มาก่อน อะไรก็ตามที่เป็น“แห่งชาติ” มักเสื่อมสภาพจนไม่มีพลังสร้างสรรค์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 09:06

คุณหลวงเล็กคะ

ดิฉันมีบันทึกว่า  กรมหลวงรักษ์รณเรศได้แวะเล่นสวดกระหัดทั้งคืนที่ราชบุรี 
แสดงว่าท่านเป็นศิลปินตัวจริงเลยนะคะ

อะฮ้า...ข้อมูลสำคัญต้องบันทึกเอาไว้   

ก่อนจะไปถึงตัวอย่างสวดคฤหัสถ์  เล่าความรู้เล็กน้อยถึงปานกลาง   อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง  ท่านสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายประเภท  สวดพระมาลัยได้หลายทำนอง  สวดคฤหัสถ์ก็ได้  ท่านได้กรุณาอธิบายว่า   การสวดศพของคนสมัยก่อน  ท่านจะแบ่งสวดเป็นกะ  คืนละ ๔ กะ  สวดกะแรกประมาณ ๒ ทุ่ม  จากนั้นก็พัก  ไปสวดกะที่ ๒ ราวๆ ๕ ทุ่มเที่ยงคืน    จากนั้นพักอีก เริ่มสวดกะที่ ๓ ราวๆ ตี๒ ตี๓  จากนั้นพักอีก  สวดอีกกะตอนใกล้รุ่งสาง   ช่วงนี้เจ้าภาพก็ให้พ่อครัวแม่ครัวเตรียมหุงข้าวทำแกงสำหรับถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่สวดอภิธรรมศพมาทั้งคืนนั้น  ธรรมเนียมการเลี้ยงพระที่สวดศพกลางคืน  ปัจจุบันคงเหลือแต่เฉพาะพิธีศพของหลวงกระมัง   ส่วนงานศพของชาวบ้านได้ค่อยๆ ลดลงเหลือแต่การสวดศพกะแรกกะเดียวตอน ๒ ทุ่ม  จะสวดกี่จบก็ว่ากันไป  โดยมากอยู่ที่ ๒ จบ   แต่ก็เคยเห้นว่า สวด ๓ จบก็มี

ที่นี้  ในช่วงที่พักสวดระหว่างกะนั้น  เป็นธรรมดาที่คนที่อยู่ในงานต้องหาอะไรทำ  เพื่อไม่ให้เบื่อ ง่วงเหงาหาวนอน  และจะได้อยู่เป็นเพื่อนเจ้าภาพเฝ้าศพตลอดคืน   ถ้ามานั่งอยู่เฉยๆ นอกจากจะทำให้บรรยากาศวังเวงน่ากลัวมากขึ้นแล้ว  ญาติๆของศพจะยิ่งเศร้าโศกคิดถึงคนตายมากขึ้น   เมื่อเป็นเช่นนั้น  ก็เกิดมีคนคิดหาอะไรๆ มาทำเพื่อเป็นการครื้นเครงระหว่างรอฟังสวดกะต่อไป  (สมัยก่อนโน้น อาจจะมีการสวดพระมาลัย  แต่สมัยหลัง ไม่รู้ทำอะไรก็ตั้งวงเล่นการพนันหน้าโลง)  ก็จึงได้เกิดการสวดคฤหัสถ์  การสวดคฤหัสถ์นี้  มีทั้งที่พระสวดเองและชาวบ้านสวด  อยากรู้ว่า พระสวดคฤหัสถ์มีจริงด้วยหรือ  โปรดอ่านจากหนังสือ วิสาสะ เล่ม ๑ (ว่าด้วยสภาพสังคมไทยสมัยก่อนในความทรงจำของนักหนังสือพิมพ์อาวุโส) ของคุณสถิตย์  เสมานิล     (ชุดหนึ่งมี ๒ เล่ม ไปหาซื้อมาอ่านเถิดดีนักหนา   สำนักพิมพ์ต้นอ้อเอามาพิมพ์ใหม่หลายปีก่อน  เล่ม ๒ นี่ว่าด้วยการหนังสือพิมพ์ไทยยุครัชกาลที่ ๕ ,๖ และ ๗ น่าสนใจมาก  จำได้ว่า  ซื้อมา ๒ เล่ม/ชุด ราคา ๑๕๐ บาท  น่าจะหาซื้อได้ที่งานสัปดาห์หนังสือ เร็วๆ นี้)

การสวดคฤหัสถ์คงมีมานานพอสมควรตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๑   พอถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ มีหลักฐานในกฎพระสงฆ์ข้อหนึ่งที่ว่าด้วยห้ามพระสงฆ์สวดแผลงๆ ตามงานศพ  แต่การห้ามนั้นคงเป็นการห้ามอยุ่ชั่วระยะหนึ่งและคงอยู่แต่ในจังหวัดกรุงและปริมณฑล   เพราะหลังจากนั้นการสวดคฤหัสถ์มีมากทั่วแทบหัวระแหง   ความนิยมเรื่องสวดคฤหัสถ์นี้  นับว่าเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งของชาวบ้านสมัยก่อนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้  ไม่มีโทรทัศน์ วิทยุ คอมพิวเตอร์ ตลอดจนเครื่องมือสื่อสารอันใด ที่จะพอระบายความเครียดจากการทำมาหากินประจำวัน    นิยมกันมาก  นอกเหนือจากการเล่นเพลงพื้นบ้านต่างๆ  และการดูละครต่าง ๆที่มีให้ดูเฉพาะในงานผู้มีอันจะกิน  งานนักขัตฤกษ์  งานวัด 

ญาติผู้ใหญ่ของผมท่านหนึ่ง  ซึ่งถึงแก่กรรมไปหลายปีแล้ว  ท่านเกิดปลายรัชกาลที่ ๕   ตอนสาวๆ  ท่านก็เคยเล่นสวดคฤหัสถ์ในงานศพด้วย  นัยว่าสวดสนุกมาก ถึงขนาดคนสวดตำกระทุ้งด้ามตาลปัตรหัก  เสียดายว่าไม่สอบถามรายละเอียดจากท่านไว้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 09:15

สวดคฤหัสถ์ มีผู้หญิงสวดได้ด้วย?
งั้นอาจารย์ที่คุณหลวงเอ่ยถึง ว่าร้องเพลงพื้นบ้านได้ สวดคฤหัสถ์ได้ก็อาจเป็นอ.ผู้หญิงน่ะสิคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 09:50

ถูกต้องครับ  คุณสถิตย์  เสมานิล ผู้หายสาบสูญ ท่านได้เล่าไว้ในหนังสือ วิสาสะ เล่ม ๑ ว่า  ท่านเองเคยได้ยินชื่อเสียงว่าสวดดีนักหนา  นัยว่าเป็นศิษย์ของตาเทิ้ม (นายเทิ้ม  นาฏะคายี)  (ใครพอมีประวัติตาเทิ้มคนนี้  ฝากค้นมานำเสนอหน่อยนะครับ) เรือนอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้โรงพยาบาลศิริราช  นักสวดคฤหัสถ์หญิงสำรับที่ว่า เป็นชาวบ้านขมิ้นมาก่อนจะมาอยู่พระนคร

นอกจากนี้ คุณสถิตย์ ยังเล่าไว้ด้วย  เคยมีนักสวดคฤหัสถ์สำรับเด็กชายและเด็กหญิงด้วย ในราวปี ๒๔๕๘ - ๒๔๕๙  ท่านว่าท่านได้เคยดูสำรับเด็กชายสวดคฤหัสถ์ที่ข้างวัดทิพยวารีวิหาร  ใกล้ตึกแถวที่ท่านอาศัย หลังตลาดบ้านหม้อ   ท่านชมว่าน่ารักน่าเอ็นดูดี และสนุกมากด้วย

อนึ่ง  คุณ overhaul ควรไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านด่วน   เขาเขียนไว้ดีมาก   หนังสือนั้นชื่อ  "การละเล่นและการเล่นจำอวดพื้นบ้าน"  ของนิสา  เมลานนท์ (เป็นอาจารย์อยู่ที่ มรภ.ฉะเชิงเทรา) สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ พิมพ์ เมื่อ ๒๕๔๑   เล่มเดียวอยู่เลย นอกจากนี้  ก็มีหนังสือ "การละเล่นของไทย" ของครูมนตรี ตราโมท  ศิลปินแห่งชาติ ก็เขียนไว้เหมือนกัน   หนังสือของคุณเอนก  นาวิกมูลเล่มไหนจำไม่ได้  (เพลงนอกศตวรรษ?) ก็เคยเขียนเกี่ยวกับการสวดคฤหัสถ์ไว้   มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขียนเรื่องสวดคฤหัสถ์ไว้เหมือนกัน คือ รองศาสตราจารย์ นันทา  ขุนภักดี  เคยฟังท่านสอนเด็กนักศึกษาสวดคฤหัสถ์พอจำได้บ้างบท  ลองไปหาอ่านดูนะครับ

ส่วนที่คุณSILA กลัวว่า ตัวอย่างบทสวดคฤหัสถ์ที่ผมจะเอามาแสดงนั้น จะเป็นกลอนแดง  ไม่ต้องห่วงครับ  ยังไงก็ต้องแดง  สุดแต่จะแดงมากน้อยขนาดไหน  แต่พยายามเอาที่แดงน้อยๆ  อย่างบทสวดแขกตานี นี่ผมยังคิดๆ อยู่ว่าจะเอาลงดีไหม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 15:18


อย่างบทสวดแขกตานี นี่ผมยังคิดๆ อยู่ว่าจะเอาลงดีไหม ยิงฟันยิ้ม

ไทยตานี อย่างผมสนใจครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 16:21

การเล่นสวดคฤหัสถ์ จำอวดและตลกต่างๆ  ผุ้เล่นจะต้องเสกพระคาถา  นะตลก ติดเพดานปาก  และทำผงแป้งผัดหน้าแต่งตัว  เชื่อว่าจะทำให้แสดงและสวดได้ดี  ออกมุขตลกได้สนุก   

นะตลก

๑.นะเฮ  นะเหาะ นะหัวเราะ จำเพาะนะฮา  (ลงอักขระขอมทีหนึ่ง)

๒.นะฮา นะเฮ นะพุทธะเสเส  สัพเพ ชะนา  (ลงอักขระ)

๓.นะเมตตา ประสกที่มา  สีกาที่นั่ง  หัวเราะให้ดังๆ  ประสิทธิ์สวาโหม  (ลงอักขระ)

๔ นะโลน นะเล่น หัวเราะรำเต้น  ปาอุสุชา  มหาพิศวง  โอมหลง  มหาหลง  (ลงอักขระ)

๕ ฤฤา ฦฦา ฦาฦาชื่อ ให้ฦาชา เฮฮาหัวเราะเรา  (ลงอักขระ)

๖.โอม นะโม พุทธายะ สัทธัง อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ เอาฤฤา ฦฦา ฦาชื่อ ให้ฦาชา  (บทนี้ให้เสกแป้งผัดหน้า)

แค่บทนะตลกก็ฮาแล้ว ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 09 มี.ค. 10, 18:35

อื้อฮือเฮะ  คุณหลวง  แหล่มซะ!

ฟันพอระเรื่อ ๆ  เนาะ   อ่านกันสบาย ๆ

ที่บ้านสวนพลูยังยักย้ายไปกลอนสีได้นี่นา
บันทึกการเข้า
overhaul
อสุรผัด
*
ตอบ: 63


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 มี.ค. 10, 16:48

ถึงคุณหลวงเล็กครับ
               ขอบคุณครับที่ช่วยแนะนำหนังสือ ขออนุญาตถามอีกว่า ยังมีหนังสืออื่นๆ อีกไหมครับที่มีบทสวดหลายๆ บท
               ตอนนี้ผมมีเบาะแสว่า คุณดอกดิน กัญญามาล (เจ้าของวลีล้านแล้วจ้า) เคยหัดเด็กๆ สวดคฤหัสถ์ไว้ชุดหนึ่งก่อนพ.ศ. 2540 แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรแล้ว และทราบว่าทุกวันนี้บางวัดในจ.เพชรบุรียังมีสวด แต่จะออกๆเป็นสวดมาลัย หรือสวดรำเสียมาก ผมก็คอยดูจังหวะว่าเจ้าภาพไหนจะจัดบ้าง ยิ้มกว้างๆ                           
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 11 มี.ค. 10, 08:51

ถึงคุณหลวงเล็กครับ
               ขอบคุณครับที่ช่วยแนะนำหนังสือ ขออนุญาตถามอีกว่า ยังมีหนังสืออื่นๆ อีกไหมครับที่มีบทสวดหลายๆ บท
               ตอนนี้ผมมีเบาะแสว่า คุณดอกดิน กัญญามาล (เจ้าของวลีล้านแล้วจ้า) เคยหัดเด็กๆ สวดคฤหัสถ์ไว้ชุดหนึ่งก่อนพ.ศ. 2540 แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันเป็นอย่างไรแล้ว และทราบว่าทุกวันนี้บางวัดในจ.เพชรบุรียังมีสวด แต่จะออกๆเป็นสวดมาลัย หรือสวดรำเสียมาก ผมก็คอยดูจังหวะว่าเจ้าภาพไหนจะจัดบ้าง ยิ้มกว้างๆ                           

             คุณ overhaul ลองไปดูพวกหนังสือที่เกี่ยวกับวรรณกรรมท้องถิ่นหรือวรรณกรรมพื้นบ้านทั้งหลาย  ที่เขาสำรวจวรรณกรรมมุขปาฐะแถบจังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก  ผมเคยอ่านเจออยู่บ้างเหมือนกันแต่จำไม่ได้ว่าเล่มไหน   อนึ่ง  บทสวดคฤหัสถ์บางส่วนก็ไม่ใช่บทสวดคฤหัสถ์โดยเฉพาะ  คือ ไม่ใช่บทสวดที่ใช้สวดคฤหัสถ์มาแต่ต้น  คนสวดอาจจะเอากลอนแหล่ กลอนบทละคร เพลงพื้นบ้านต่างๆ เอาดัดแปลงใส่ทำนองสวดเข้าไป  ส่วนบทสวดที่แต่งเองก็มีเหมือนกัน  หนังสือของนิสา  เมลานนท์  ถ้าคุณได้อ่านแล้วตามไปหาแหล่งข้อมูลตามที่คุณนิสาได้อ้างไว้ในหนังสือ  คุณก็จะได้บทสวดหลายบท  ที่จริงนิสาก็ยกตัวอย่างบทสวดมาให้ดูหลายบทเหมือนกัน

                บทสวดคฤหัสถ์บางบท  บางทีก็มีพระเอาไปแหล่แทรกใส่ไว้ในเทศน์มหาชาติบางกัณฑ์ด้วย   เรียกว่า แหล่เครื่องเล่นมหาชาติ  ของอย่างนี้สามารถประยุกต์หยิบยืมกันได้  อย่างบทสวดแขกตานี  หรืออีกชื่อว่า เพลงแขก หัสตุมารันยี  ซึ่งผมได้ปรึกษากับคนอื่นอยู่ว่าจะเอาลงดีไหม   ท่านขอให้ชะลอไว้ก่อน  เพราะกลอนมันแดง  (คุณคงเข้าใจนะครับ ว่ากลอนแดงหมายถึงอะไร)  แต่ถ้าคุณอยากอ่านบทสวดนี้   คุณไปค้นดูในหนังสือประชุมแหล่เครื่องเล่นมหาชาติ เล่ม ๑-๒ วึ่งรวบรวมและสอบชำระโดยคุณหรีด  เรืองฤทธิ์  บทสวดนี้อยู่ในเล่ม ๑ ซึ่งนอกจากบทนี้แล้ว  คุณได้เห็นแหล่แปลกๆ ทั้งที่แดงและไม่แดง 

                นอกจากนี้  คุณ overhaul ต้องลองไปหาเทปบันทึกการสวดคฤหัสถ์  ทราบว่า ธนาคารกรุงเทพเขาเคยทำไว้ และศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร ตลิ่งชันก็มีอยู่  คุณลองไปหาดูเถิด   หรือถ้ายังไม่พอใจคุณลองหาทางติดต่อกับรองศาสตราจารย์นันทา   ขุนภักดี เพื่อขอสัมภาษณ์เป็นการส่วนตัวก็คงจะได้

                สมัยก่อน  บรรดาพ่อเพลงพื้นบ้าน(และอาจจะมีแม่เพลงลางคน) มักจะสามารถสวดคฤหัสถ์ได้ด้วย   อย่างคุณดอกดินนั่น  ทราบว่าคุณพ่อของท่านเป็นนักสวดคฤหัสถ์มีชื่อเสียง ถ้าคุณดอกดินจะสวดคฤหัสถ์ได้ก็ไม่แปลกหรอกครับ  จำได้ว่าทางช่อง๗ เคยเชิญคุณดอกดินมาเป็นนักแสดงรับเชิญ สวดคฤหัสถ์ในละครเรื่องแม่นาคพระโขนง เมื่อหลายปีก่อน  ผมไม่ได้ดูแต่ได้ยินคนพูดถึงกันมากและหนังสือพิมพ์ก็เขียนถึงอยู่  ส่วนที่เพชรบุรี  คุณว่ามีสวดคฤหัสถ์แต่ออกเป็นสวดรำ สวดมาลัย  ผมจำได้ว่า อ.เสยย์  เกิดเจริญ ท่านเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องสวดรำของเพชรบุรีไว้ในหนังสือ "สมุดเพชรบุรี"  หรืออะไรเทือกนี้นี่แหละ  ถ้าคุณสนใจก็ลองไปหาดู

                ปัจจุบันนี้  การสวดคฤหัสถ์คงจะหาดูยาก  เพราะคนที่สวดเป็นเหลือน้อย  และคนคงนิยมน้อยลง  เนื่องจากความบันเทิงจากการฟังสวดคฤหัสถ์ตามงานศพถูกแทนที่ด้วยละครโทรทัศน์ยามค่ำคืนและตลกคาเฟ่  ที่สามารถหาแผ่นมาดูได้  จะได้ดูสวดคฤหัสถ์ก็คงเป็นตามต่างจังหวัด  ในกรุงเทพฯ สูญพันธุ์ไปแล้ว  แต่ที่เห็นว่ามีการฟื้นฟูขึ้นมา คือการสวดมาลัย  และสวดธรรมบรรยาย   ตามงานศพ  ทราบว่าแถวชลบุรี ฉะเชิงเทราได้ทำอยู่ 

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.102 วินาที กับ 19 คำสั่ง