สะพานเหล็กเปลี่ยนเป็นคอนกรีต..ตอนขยายถนนในช่วงหลัง?....โดยไม่ได้ใช้ราวเหล็กเดิมเป็นราวสะพาน?
ทำให้เราข้องใจกันหลายราตรี.....
ประวัติการสร้างอยู่ที่นี่........น่าสนใจ....

สะพานพิทยเสถียร
สะพานเหล็กบน และสะพานเหล็กล่าง
สะพานเหล็ก คือ สะพานเหล็กข้ามคลองรอบพระนคร บริเวณคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานคร
ในปีพุทธศักราช 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้า ฯ ให้ขยายถนนเจริญกรุงและรื้อสร้างสะพานเหล็กใหม่เป็นสะพานโครงเหล็กเปิดได้ การก่อสร้างสะพานเหล็กบนทำให้ต้องมีการย้ายประตูและกำแพงวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ริมถนนเจริญกรุงบางส่วน จึงโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า "สะพานดำรงสถิตย์" เพื่อเป็นเกียรติแด่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำหรับสะพานเหล็กล่าง พระราชทานนามว่า "สะพานพิทยเสถียร" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดาซึ่งมีวังที่ประทับตั้งอยู่ใกล้กับสะพาน
สะพานเหล็กทั้ง 2 สะพานนี้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สิ้นเงิน 23,200 บาท
แรกเริ่มเดิมที ก่อนรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ สะพานข้ามคลองรอบพระนครชั้นใน (คลองบางลำพู-โอ่งอ่าง ซึ่งขุดในรัชกาลที่ ๑) และสะพานข้ามคลองผดุงกรุงเกษม (คลองรอบพระนครชั้นนอกขุดในรัชกาลที่ ๔ พ.ศ.๒๓๙๕) ล้วนเป็นสะพานไม้ทั้งสิ้น
จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๐๔ จึงได้มีการสร้างสะพานเหล็กขึ้นสองแห่งเป็นครั้งแรก คือ สะพานเหล็กบนข้ามคลองบางลำพู-โอ่งอ่าง เชื่อมต่อระหว่างถนนเจริญกรุง ในกำแพงพระนครกับนอกกำแพงพระนคร เป็นสะพานเหล็กไขให้เปิดปิดได้ เพราะสมัยก่อนโน้นยังมีขบวนเรือแห่พระราชพิธีอยู่ กับโปรดฯให้รื้อสะพานหันเดิม ซึ่งเป็นสะพานไม้หันได้ สร้างเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกันอีกสะพานหนึ่ง
สมัยนั้นยังไม่ได้พระราชทานชื่อสะพาน ชาวบ้านจึงเรียกสะพานเหล็กที่สร้างใหม่ (ยังไม่มีบนและล่าง) ว่า ‘สะพานเหล็ก’ บ้าง ‘ตะพานเหล็ก’ บ้าง ส่วนตรงสะพานหันเดิม ยังคงเรียกว่า สะพานหัน-ตะพานหัน ตามที่เคยเรียกกันมา (แม้ต่อมาจะเปลี่ยนรูปสะพานเป็นสะพานโค้งขายของสองฟาก คนก็ยังเรียกกันว่าสะพานหัน จนทุกวันนี้)
ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ จดเรื่องการสร้างสะพานเหล็กสองสะพานนี้ไว้ว่า
“การถนนแล้วยังไม่มีสพาน (คือทำถนนเจริญกรุงเสร็จแล้ว-จุลลดาฯ) ได้บอกบุญขุนนางและเจ๊สัวตามแต่ผู้ใดจะศรัทธา รับทำสพานข้ามคลองที่ตรงถนนใหม่ข้ามท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๕) ที่สมุหพระกลาโหมรับทำสพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงริมวังเจ้าเขมรข้าม คิดทั้งเหล็กสพานค่าจ้าง ค่าไม้ ค่าอิฐ รวมเป็นเงิน ๑๖๐ ชั่ง ที่สะพานหันเก่าข้ามคลองรอบกรุงลงไปวัดจักรวรรดิ์ ทำสะพานเหล็กอีกสะพานหนึ่งเป็นของหลวง ราคาเครื่องเหล็กที่สั่งเข้ามาก็เหมือนกัน”
ต่อมาตอนต้นรัชกาลที่ ๕ สะพานไม้เก่าข้ามคลองผดุงกรุงเกษมตอนใกล้จะออกแม่น้ำเจ้าพระยาตอนปลายๆ คลอง ตำบลสี่พระยา ซึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สร้างถวายเช่นกัน มีพวกฝรั่งร้องเรียนว่าสะพานไม่แข็งแรง พวกฝรั่งต้องนั่งรถม้าบ้าง ขี่ม้าบ้าง ข้ามไปข้ามมาบ่อยๆ เกรงว่าจะเกิดอันตราย พระบาทสมเด็จพระพระพุทธเจ้าหลวงจึงโปรดฯให้เปลี่ยนเป็นสะพานเหล็กแบบเดียวกับสะพานเหล็ก ๒ สะพานแรก ชาวบ้านจึงเรียกสะพานเหล็ก
แห่งนี้ว่า สะพานเหล็กล่าง และเรียกสะพานเหล็กเดิมว่า สะพานเหล็กบนเป็นคู่กัน
ถึงรัชกาลที่ ๕ โดยเหตุที่วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตั้งแต่เริ่มเสด็จออกวังอยู่ตรงที่ริมเชิงสะพานเหล็กบน จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อสะพานเหล็กบนว่า ‘สะพานดำรงสถิตย์’
วังของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ดังกล่าวเป็นที่บ้านของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) ผู้เป็นขรัวตาของสมเด็จฯ ทรงได้รับมรดก และประทับอยู่ ณ วังริมเชิงสะพานดังกล่าว จึงได้สร้างวังวรดิศที่ถนนหลานหลวง และย้ายไปประทับที่วังวรดิศต่อมาจนสิ้นพระชนม์
ส่วนสะพานเหล็กล่างนั้นอยู่ใกล้วังตลาดน้อยของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระราชทานชื่อว่า ‘สะพานพิทยเสถียร’ คล้องจองกัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภ (พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต) เดิมประทับวังอันเป็นที่บ้านของเจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔ (ท้าววรจันทร์) เจ้าจอมมารดาของท่านอยู่ที่ใต้ปากคลองตลาด ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดฯให้ทรงสร้างวังที่ถนนเจริญกรุงตรงตลาดน้อย แลกกับที่วังปากคลองตลาด จึงทรงย้ายไปประทับวังตลาดน้อยตลอดพระชนมายุ
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนพิทยลาภฯ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระชันษาไล่เลี่ยกัน สมเด็จฯ ประสูติ พ.ศ.๒๔๐๕ ฯ กรมขุนพิทยลาภฯ ประสูติ พ.ศ.๒๔๐๖
ทั้งสองพระองค์ต่างทรงเป็นดังที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ลูกโทน’ ของเจ้าจอมมารดา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ ผู้มีนามเดิมว่า ‘ดิศ’ สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงได้พระราชทานพระนามว่า ‘ดิศวรกุมาร’
ทั้งเจ้าจอมมารดาชุ่มและเจ้าจอมมารดาวาด (ท้าววรจันทร์) เป็นพระสนมเอกได้รับพระราชทานพานทองตั้งแต่รัชกาลที่ ๑-๔ พานทองเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้า ฝ่ายในเจ้าจอมชั้นพานทองเป็นพระสนมเอก ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมากกว่าเจ้าจอมชั้นต่ำลงมา ‘พระยา’ ถ้าได้รับพระราชทานพานทอง เรียกกันว่า พระยาพานทอง หรือเจ้าคุณพานทอง มีเกียรติยศสูงกว่าพระยาที่มิได้รับพานทอง ‘หม่อมเจ้า’ ก็เช่นกัน หม่อมเจ้าอาวุโสได้รับพระราชทานพานทองย่อมเป็นผู้มีเกียรติยศกว่าหม่อมเจ้าทั่วๆ ไป
ในพระนิพนธ์ “ความทรงจำ” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าถึง ‘คุณตา’ หรือขรัวตาของท่านพระยาอัพภันตริกามาตย์ เอาไว้ว่า
“คุณตาเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อ เมื่องานพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯลงสรง คุณตาอายุได้ ๗ ขวบ พระยาจันทราทิตย์ ผู้ปู่นำถวายสมโภช จึงได้เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มา ครั้งถึงรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นศักดิพลเสพได้เป็นพระมหาอุปราช ท่านทรงคุ้นเคยกับนายเลี้ยงบิดาของคุณตามาแต่ก่อน จึงโปรดตั้งให้เป็นจมื่นอินทรประพาสในกรมวัง วังหน้า เวลานั้นพระยาจันทราทิตย์ถึงอนิจกรรมแล้ว จมื่นอินทรประพาสจะเอาคุณตาไปถวายตัวทำราชการให้มียศศักดิ์ในวังหน้า คุณตาไม่ยอมไป ว่า “ไม่ขอเป็นข้าสองเจ้า” ถึงจะเป็นอย่างไรก็จะอยู่เป็นข้าแต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯพระองค์เดียว แล้วอยู่สนองพระเดชพระคุณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จึงทรงยกย่องความซื่อตรงของท่าน เล่ากันมาอย่างนี้ และมีความปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ อยู่แห่ง ๑ ทรงบริภาษพวกข้าหลวงเดิมว่า เห็นผู้อื่นมีบุญก็เอาใจออกหาก เคยเห็นใจมาเสียแล้วจะไม่เป็นเช่นนั้นก็แต่ “อ้ายเฒ่าดิศ” (กับใครอีก ๒ คน) พระราชดำรัสนี้ดูประกอบคำที่เล่า ให้เห็นว่าเป็นความจริง”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามพระยาอัพภันตริกามาตย์ คงหมายถึง อำมาตย์ผู้ใกล้ชิดเป็นผู้อยู่ภายในหรือเป็นของพระองค์ เพราะอัพภันดร หรืออัพภันตร-แปลว่า ภายใน ส่วนใน
(ในรัชกาลที่ ๕ ธิดารุ่นเล็กของพระยาอัพภันตริกามาตย์ คือเจ้าจอมมารดาแส ถวายตัวในรัชกาลที่ ๕ มีพระองค์เจ้าชาย ๑ พระองค์เจ้าหญิง ๒ พระองค์เจ้าหญิงพระองค์ใหญ่ได้รับพระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้าอัพภันตรีปชาตามราชทินนามของขรัวตา)
เจ้าจอมมารดาวาด (ต่อมาได้เป็นท้าววรจันทร์ ท้าวนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๕) นั้น หากพูดกันอย่างสำนวนสมัยนี้ ต้องนับว่าท่าน ‘ดัง’ อยู่ในราชสำนักฝ่ายในมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ จนถึงรัชกาลที่ ๕
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ) นัดดาของท่าน ทรงพระนิพนธ์ไว้ในประวัติของท่าน ตอนหนึ่งว่า
“นิสัยคุณย่าเป็นคนที่ภาษาสามัญใช้ว่า หัวโจก มีอัธยาศัยเฉียบขาดรุนแรง แต่ระคนด้วยเมตตากรุณา พยายามคุ้มครองระวังรักษาผู้น้อยใต้บังคับบัญชาไม่ว่าในราชการ หรือในครอบครัวในระหว่างที่เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่สี่ก็เป็นคนกว้างขวาง มีบริวารมาก อันนิสัยเช่นนี้ในทางดีย่อมเห็นกันอยู่แล้ว แต่ในทางร้ายของการมีบริวารมากก็ใช่ว่าไม่มี ท่านเคยเล่าว่าท่านได้ให้ยกพวกบ่าวไพร่เพื่อนฝูงไปตีกันกับบริวารของเจ้าจอมอื่นๆ ก็มี มาถึงตอนรัชกาลที่ ๕ ที่เข้าไปเป็นท้าววรจันทร์ นิสัยหัวโจกดูเหมือนจะช่วยท่านได้มาก ด้วยนิสัยนี้ช่วยให้ท่านรู้เท่าถึงนัยของหัวโจกต่างๆ ที่ตั้งตัวขึ้นในพระบรมมหาราชวังในครั้งนั้น และซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ให้ท่านเข้าไปปราบปรามนั้น ท่านจึงได้ทำการปกครองได้สำเร็จ...”
เมื่อเจ้าจอมมารดาวาดประสูติพระองค์เจ้า สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระนามว่า “พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต” โดยทรงมีพระราชกระแสว่า พระนามนี้ทรงตั้งพระราชหฤทัย พระราชทานอนุโลมตามเรื่อง “โสณนันทชาดก” รับสั่งว่า “ถ้ามีลูกอีกคนหนึ่งข้าจะให้ชื่อว่านนทบัณฑิต และจะให้นิมนต์พระมาเทศน์เรื่องชาดกนี้ให้ฟัง” แต่ท้าววรจันทร์ก็หาได้มีพระโอรสอีกไม่
(โสณ แปลว่า ทองคำ)
เล่าเรื่องสะพานเหล็กบน (ดำรงสถิตย์) และสะพานเหล็กล่าง (พิทยเสถียร) ต่ออีกนิด
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ สะพานเหล็กบนสร้างอยู่ตรงประตูกำแพงพระนคร (ในรัชกาลที่ ๔ ยังเป็นประตูไม่มียอด เพิ่งจะขยายประตูต่อยอดในรัชกาลที่ ๕ สามยอด จึงเรียกว่าประตูสามยอดแต่นั้นมา)
เล่ากันว่า สนุกนัก เพราะในกำแพงพระนครมีโรงหวย โรงหญิงหากิน (ซ่อง) นอกกำแพงมีโรงบ่อน มีร้านขายของขายขนมสารพัด โรงบ่อนมักหาลิเก หางิ้วให้ดูฟรี ล่อให้คนมาเที่ยวบ่อน ตกบ่ายเย็นตลอดค่ำคืนจึงเป็นที่สนุกครึกครื้นของราษฎรสมัยนั้น