ขยายความเรื่องสะพานหันอีกนิด ไปเที่ยวอิตาลีกันอีกหน่อย

หมอบลัดเลย์ได้บรรยายลักษณะของสะพานหันเมื่อปลายรัชกาลที่ ๓ ว่า "สะพานหันเก่านั้น มีแต่กระดานสองแผ่น ม้า รถ ไปไม่ได้ ไปได้แต่คน กับแพะและสุนัข" คงคล้าย ๆ สะพานหันที่คลองรังสิตของคุณศรีสยาม
สะพานหันได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงลักษณะจากเดิมหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างเป็นสะพานโครงเหล็กพื้นไม้เรียบเสมอกัน ใต้พื้นไม่มีล้อเหล็กแล่นบนราง สามารถแยกสะพานออกจากกันให้เรือผ่านได้ และอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างสะพานหันใหม่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากสะพานอื่น ๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งอดีตและปัจจุบัน เพราะทรงนำแบบมาจากสะพานริอัลโตที่เมืองเวนิส และสะพานเวคคิโอที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี คือเป็นสะพานไม้รูปโค้งกว้างกว่าปกติ เพราะ ๒ ฟากสะพานมีห้องแถวเล็ก ๆ สำหรับให้เช่าขายของ ฟากละ ๗ หรือ ๘ ห้อง ตรงกลางเป็นทางเดินกว้างประมาณ ๑.๕ เมตร ปัจจุบันสะพานหันเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกับสะพานทั่ว ๆ ไป แต่ชื่อสะพานยังคงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงลักษณะสะพานเมื่อแรกสร้าง
สะพานหันในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีพรรณนาไว้ในนิราศ สำเพ็งของนายบุศย์ มีความในนิราศว่า
ถึงสะพานหันผันแปรแลดูแปลก เมื่อแต่แรกขนานนามสะพานหัน
กรมโยธาสามารถฉลาดครัน คิดจัดสรรแนวถนนให้ผลมี
ทำเปลี่ยนแปลงแค่สถานสะพานโค้ง มีร้านโรงสองข้างทางวิถี
พวกแขกเช่าขายผ้าสินค้าดี เจ๊กก็มีที่ขายลูกไม้จีน
