เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 9751 เรื่องของฐาน - ฐานสิงห์มีที่มาจากที่ใด (หรือ)
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



 เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:29

เรื่องของฐาน
   มีเพื่อนชาวเรือนไทยคนหนึ่ง ได้ตั้งคำถามกับข้าพเจ้าว่า “ฐานสิงห์ของไทยอาจได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบจีน” มูลเหตุของคำถามนี้เกิดจากการที่เพื่อนท่านนั้นกำลังคุยกับรุ่นพี่ (ซึ่งคงเป็นสมาชิกเรือนไทยเหมือนกัน) ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ และตั้งขอสันนิษฐานดังกล่าว ข้าพเจ้าฟังแล้วไม่ทราบว่าจะตอบอย่างไร ด้วยข้าพเจ้าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะไทย แต่เคยได้ยินมาว่าได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ส่วนว่าจะได้รับจากจีนข้าพเจ้าเองไม่ทราบ เพราะความรู้เรื่องศิลปะจีนยังไม่ถึงขั้นกระจ่างแจ้งแจ่มภพ
   อย่างไรก็ตามเพื่อนของข้าพเจ้ายืนยันให้ข้าพเจ้าลองไปพินิจดู (กล่าวคือให้ไปค้นๆดู) ว่ามีสิทธิจะได้รับอิทธิพลจากจีนหรือไม่ ด้วยความอยากรู้เป็นส่วนตัวข้าพเจ้าจึงไปลองค้นมาเกี่ยวกับลักษณะฐานอาคารของจีน ให้ท่านทั้งหลายลองๆช่วยพิจารณากันดู ผิดถูกอย่างไรให้ท่านทั้งหลายสันนิษฐานกันเอง ส่วนเรื่องดังต่อไปนี้ข้าพเจ้าเก็บข้อความมาจากหนังสือและเว็ปไซด์ต่างๆ โปรดนำไปค้นคว้าต่อ แต่อย่างนำไปอ้างอิง เพราะข้าพเจ้าเองรู้เรื่องเฉพาะสถาปัตยกรรมจีนนิดหน่อยๆ  อย่างอื่นไม่ทราบ...เดี๋ยวจะพากันผิดหมด
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:31

อาคารแบบจินนั้นจะแบ่งเป็นสามส่วนตั้งแต่โบราณ ได้แก่ ส่วนหลังคา ส่วนผนังอาคาร และส่วนฐาน ส่วนฐานนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองแบบ ได้แก่แบบธรรมดา กล่าวคือ เป็นฐานอาคารเรียบๆ ไม่มีลวดลายอะไร ทำนองว่าขอแค่ตั้งอาคารแล้วมันไม่ถล่มลงมาเป็นพอ โดยนำหินรูปสี่เหลี่ยมมาประกอบรวมกันเข้าเป็นฐานอาคาร หรืออาจใช้อิฐก่อแล้วนำหินมาปิดทับอีกที โดยหินที่นำมาปิดส่วนต่างล้วนเรียกชื่อต่างกัน อาทิ หินที่ใช้ปิดฝังลงเพื่อเป็นแผ่นประกอบผิวหน้าของฐานด้านตั้งเรียกว่า “แผ่นหินชัน” หรือ “陡板石” (Dou dan shi) เป็นต้น ตัวอย่างดังรูปต่อไปนี้
ภาพที่ ๑ ฐานแบบปกติ
ที่มา http://www.hongkongdir.com.hk/arch.html#_Toc226195481


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:32

ฐานหินแบบที่สองคือแบบ “สูมี้จั้ว” เขียนเป็นภาษาจีนว่า “须弥座: xu mi zuo” แปลเป็นไทยแบบเพราะ ๆว่า“สุเมรุอาสน์” ทั้งนี้คำดังกล่าวเป็นภาษาจีนที่ยืมคำมาจากอินเดีย (ต่อไปขอใช้คำที่ข้าพเจ้าแปลเองนะ เพราะฟังดูโก้ดี)
   สุเมรุอาสน์เป็นฐานอาคารซึ่งจีนได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย พร้อมๆกับการเข้ามาของศาสนาพุทธ โดยเริ่มปรากฎในสมัยราชวงศฮั่น พบครั้งแรกพบภายในถ้ำที่ซานซี คำว่าในถ้ำนี้ขอท่านทั้งหลายอย่านึกไปถึงถ้ำหน้าตาหน้ากลัวมีค้างคาวบินว่อน แล้วมี่แท่นตั้งๆ เทียนปักๆ แบบหนังผีนะ แต่เป็นถ้ำที่ได้รับการแกะสลักอย่างงดงามเป็นอย่างดี และฐานแบบนี้พบเป็นฐานพระพุทธรูป แต่ฐานที่เข้ามาในช่วงแรกหาได้งดงามไม่ เป็นเพียงฐานเรียบๆ แบบที่คนไทยเรียกว่าฐานเขียง ดังรูปต่อไปนี้
ภาพที่ ๒ ลักษณะฐานแบบ “สุเมรุอาสน์” รุ่นแรก
ที่มา http://zhangjingchanga.blog.163.com/blog/static/12258368200921554723100


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:35

หลังจากเวลาผ่านไปพักใหญ่ความงามอลังการแบบแกะสลักให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ได้เริ่มต้นขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง(จากราชวงศ์ฮั่นมาราชวงศ์ถังนี้นานพอดูอยู่นะ เป็นร้อยๆปีเชียว) กล่าวคือ เริ่มมีการแกะสลักลายกลีบบัวคว่ำบัว(莲瓣:lian ban) ลายเทวดาแบก(力神: shen li)แกะสลักฐานให้มีเสาคั้นเป็นห้องๆจนถึงทำเป็นซุ้มเล็กๆ (壶门:hu men) เป็นอาทิ (นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงเจดีย์ช้างล้อม หรือแบบมียักษ์แบกกระบี่แบกบ้านเรา) และการใช้งานกับเหล่าอาคารจะใช้เฉพาะอาคารในราชสำนัก ศาสนาสถาน หรือซุ้มประตูใหญ่ๆ เป็นอาทิ
ทั้งนี้แต่การสร้างจะเริ่มเป็นหลักการบังคับตายตัวเมื่อเข้าสู่ราชวงศ์ซ่ง กล่าวคือ บนล่างของฐานจะยื่นออกเป็นขั้นออกมาเรียกกว่า “เตี๊ยเซ่อ” (叠涩:die se) ส่วนตรงกลางจะเว้าเข้ามาเรียกว่า “ซู่เยา” (束腰:shu yao) ตอนบนกับตอนล่างของส่วนที่เว้าเข้ามาจะมีลายสลักกลีบบัว ทั้งนี้ตอนบนของกลีบบัวหงายมักสลักเป็นซุ้มเล็กๆที่เรียกกว่า “หูเมิน” ส่วนตอนล่างสุดให้พึงสังเกตว่าจะมีการแกะสลักรูปแบบคล้ายๆฐานสิงห์ของไทยเรียกกว่า “ยาเจียว” (牙脚: ya jiao) แปลว่า “ฟัน (ของ) เท้า” รูปลักษณะเป็นอย่างไร โปรดดูจากตัวอย่างในภาพต่อไปนี้
ภาพที่ ๔ ฐานแบบสุเมรุอาสน์ในสมัยราชวงศซ่ง
http://zhangjingchanga.blog.163.com/blog/static/12258368200922021731542/?hasChannelAdminPriv=true


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:37

จำเนียรกาลผ่านไปลักษณะฐานในราชวงศ์ซ่งได้เริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง นับแต่ราชวง์หยวนเรื่อยไปส่วนเว้าตรงกลางจะเล็กลง ลายแกะรูปซุ้มประตูน้อยๆ และประดาเทวดาแบกจะหายไป ในทางตรงกันข้ามลายกลีบบัวจะใหญ่ขึ้น ลายพรรณพฤษาจะมากขึ้น และลายที่คล้ายๆกับฐานสิงห์บ้านเราจะยืดยาวขึ้น สุดท้ายลักษณะของฐานแบบนี้ได้พัฒนากลายเป็นแบบมาตรฐานของราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ดังรูปต่อไปนี้
ภาพที่ ๕ ลักษณะฐานในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง
ที่มา: http://zhangjingchanga.blog.163.com/blog/static/12258368200922021731542/?hasChannelAdminPriv=true


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:39

รูปแบบดังกล่าวกลายเป็นแบบหลักสืบมา โดยส่วนประกอบต่างข้าพเจ้าจะไล่นับแต่ล่างขึ้นบนโดยจะเขียนชื่อตามความหมาย ได้แก่ ขาหยก คล้ายฐานสิงห์บ้านเรา (圭角), ฐานแพตอนลาง ดูเหมือนฐานเขียงบ้านเรา (下枋), ฐานนกเค้าตอนล่าง จะว่าไปมันคือกลีบบัวบ้านเรา(下枭)แต่เขาเรียกอย่างนั้นจริงๆ, ส่วนเว้า บ้านเราคงเรียกชั้นรัดประคต (束腰), ฐานนกเค้าตอนบน(上枭)และฐานแพตอนบน(上枋) ทั้งนี้สองส่วนสุดท้ายนี้ถือว่ารวมเป็นชั้นที่เรียกว่า “เตี๊ยเซ่อ” (叠涩)
   ทั้งนี้ลักษณะฐานแบบสุเมรุอาสน์ในยุคราชวงศ์หมิงและชิงยังได้พัฒนาเป็นอีกสามกลุ่มใหญ่ๆ กล่าวคือ แบบที่มีรั้วกันด้านบน (ภาพที่ ๖) แบบที่มีลายสลักรูปหัวมังกรยื่นออกมา (ภาพที่ ๗) และแบบที่นำฐานแบบสุเมรุอาสน์ซ้อนกันไปหลายๆชั้น (ภาพที่ ๘)
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:40

ภาพที่ ๖


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:42

ภาพที่ ๗


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:42

ภาพที่ ๘


บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:44

ที่มาของภาพที่ ๖ ถึง ๘
http://zhangjingchanga.blog.163.com/blog/static/12258368200922021731542/?hasChannelAdminPriv=true
   
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 00:46

ที่มาข้าพเจ้าได้เก็บข้อความจากหนังสือ中国建筑艺术图集 อันเป็นหนังสือรุ่นโบราณตั้งแต่ปีค.ศ. ๑๙๓๕ อันได้รับความนับถือดังพระคัมภีร์ กับเหล่าเว็ปไซด์ต่างๆซึ่งมาเถียงข้อมูลในหนังสือเล่มนี้บ้าง หรือลอกมาเลยบ้าง เรื่อยไปจนถึงเรียกลวดลายเดียวกันแต่ใช้คนละคำกันบ้าง ให้ข้าพเจ้าปวดหัวเล่นต่อน ข้าพเจ้าขอลงไว้สำหรับท่านทั้งหลายค้นคว้าต่อไป เผื่อจะปวดหัวเป็นเพื่อนกันบ้าง ได้แก่ 
http://baike.baidu.com/view/91914.htm
http://www.hongkongdir.com.hk/arch.html#_Toc226195481
http://zhangjingchanga.blog.163.com
หากท่านทั้งหลายพินิจแล้วว่าเหมือนหรือไม่เหมือนอย่างไรโปรดแจ้งด้วย เพราะข้าพเจ้าเองอยากรู้เต็มทีเหมือนกัน ฮืม
อนึ่ง หากท่านใดมีเมตตาเอารูปฐานสิงห์พร้อมประวัติมาลงจะดีมาก เพราะข้าพเจ้าไม่มี และบอกด้วยว่าเก่าที่สุดพบเมื่อยุคใด
ขอท่านที่ทำวิทยานิพนธ์จงโชคดี ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 09:53

ขอบคุณครับสำหรับข้อมูลดีๆ แต่เจอภาษาจีนแบบนี้ไม่ไหวๆ
ว่าแต่ใครกันที่กล้าใช้คุณน้ำแข็งได้ครับ

ปล.ชอบคำว่าสุเมรอาสน์
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 09:56

มีท่านที่ทำวิทยานิพนธ์ฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาเรียบร้อยแล้วครับ แต่มิอาจนำมาอ้างอิงได้เนื่องจากระบบเวปไซต์โง่ๆของมหาวิทยาลัยล่มจม

เรื่องฐานสิงห์นี้มีความเห็นแตกต่างไปเป็นหลายร้อยอย่าง จะมาจากจีน อินเดีย เขมร หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ ต้องถามคุณ han_bing ว่าในจีนเริ่มนิยมฐานสิงห์อย่างแรงกล้าเมื่อใด

ส่วนตัวคิดว่า ไทยอาจจะได้รับมาจากเขมร ซึ่งเขมรก็อาจจะได้จากจีนอีกทอดหนึ่ง ผ่านมาทางเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลายที่นำเข้า คลับคล้ายว่าโจวต้ากวนเคยบันทึกว่าเขมรใช้เตียงจีน เพราะเป็นของเคลื่อนย้ายได้ เลยแพร่หลายง่ายกว่า

ในดินแดนประเทศไทย เริ่มใช้ขาสิงห์กันในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 (คริสตศตวรรษที่ 14 A.D.) อันเป็นช่วงที่อิทธิพลเขมรเ้ข้ามาอย่างมากมาย (ไม่ขอแบ่งแยกสุโขทัย อยุธยานะครับ เพราะเชื่อว่าทั้งหมดเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน เพียงแต่เราเหลือประวัติศาสตร์ที่เขียนไว้แค่ที่สุโขทัย)


หากว่าจีนใช้ขาสิงห์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุใดในดินแดนไทยจึงยังไม่มี ผมเลยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะได้รับผ่านเขมรมามากกว่า
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 10:04

ฐานสิงห์รุ่นแรกๆในไืทย เกิดขึ้นตามเฟอร์นิเจอร์ก่อน จึงคิดว่าน่าจะได้แบบมาจากของเคลื่อนย้ายได้จริงๆ ก่อนจะพัฒนาเอามาไ้ว้ตามฐานอาคารครับ

สัปคับมีขาสิงห์ด้วย แต่ไม่มีรูปใหญ่เพราะไม่เคยถ่ายมา ใครมีช่วยหน่อยครับ

ที่มา http://phranakhonsiayutthaya.blogspot.com/2009/12/blog-post_08.html


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 03 มี.ค. 10, 10:12

ขอแทรกนิดนึงนะครับ ไม่ทราบว่าลักษณะนี้จะเรียกว่าฐานสิงห์ได้หรือเปล่า ฐานพระไมเตรยะศิลปะปาละ  อินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16

ที่มา http://huntington.wmc.ohio-state.edu/public/index.cfm?fuseaction=showThisDetail&ObjectID=1937&detail=large



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.048 วินาที กับ 19 คำสั่ง