เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 13612 สามก๊กคำกลอน หนังสือหายาก
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 05 ก.พ. 10, 13:45

อิอิ   กำลังจะจบแล้วค่ะ  จะได้ไปเฝ้ากระทู้สักวาเฉือนกัน


ซึ่งอาเต๊าหลานเราก็ได้ไว้                                         เขาจะไปก็ช่างเปนไรนั่น
เมื่อไม่มาหาใหม่ก็เหมือนกัน                                     จึ่งว่าท่านจะไปก็ตามใจ
แต่ขอให้มีจิตรคิดปรานี                                          กับพระเล่าปี่ศรีใส
สู้เอาชีวาฝ่าเข้าไป                                                กว่าจะได้ท่านมาเปนภรรยา
การแต่หลังนั้นสิ่งอันใด                                           ท่านรู้อยู่แก่ใจทุกสิ่งสา
ถึงมาอยู่ด้วยกันทุกวันมา                                         พระพี่เราเสน่หาดังดวงใจ
เว้นแต่ตวันกับเดือนดาว                                          สามสิ่งแหละเอาให้ไม่ได้
มิให้อนาทรร้อนใจ                                                 แต่ข้อหนึ่งข้อใดก็ไม่มี
อนึ่งพระองค์ปิ่นปักจักระพาฬ                                     ก็เป็นสมเด็จพระหลานพระเล่าปี่
ถึงท่านได้ไว้เป็นพระสามี                                         ................................
..................................                                  ก็เหนว่าคงรุ่งเจริญผล
ท่านคงเปนยอดหญิงยิ่งสกล                                     ดั่งยุบลข้าพร้องจงตรองดู

ว่าแล้วเตียวหุยก็อุ้มอาเต๊าลงเรือ  จูหลงก็ตามมา

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 09 ก.พ. 10, 09:45 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 05 ก.พ. 10, 13:58

อาจารย์แม้นมาส  ชวลิต  เขียนคำนำไว้เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๑๖


ขุนจบพลรักษ์(ทิม สุขยางค์) เขียนบทละครเรื่องสามก๊ก  เล่นที่ ปรินเทียเต้อ

มีตอน
พระเจ้าเลนเต้ประพาสสวน ไปจนถึงตั๋งโต๊ะไปขู่พระเจ้าเหี้ยนเต้  ตอนอ๋องอุ้นกำจัดตั๋งโต๊ะ
ตอนจิวยี่คิดอุบายเอาเมืองเกงจิ๋ว   ตอนจิวยี่รากเลือด   และตอนนางซุนฮุหยินกลับไป้มืองกังตั๋ง  รวม ๒๒ สมุดไทย
ยังไม่ได้พิมพ์เลย


สำนวนขุนเสนานุชิต(เจด)เริ่มตั้งแต่จิวยี่คิดอุบายเอาเมืองเกงจิ๋วคืนให้ซุนก๋วน  จนม้าเฉียวมาเข้าข้างเล่าปี่  รวม ๑๗ เล่มสมุดไทย


วันหน้าอาจจะได้สนทนาเรื่องขุนเสนานุชิต(เจด) กันอีก  เมื่อมีข้อมูลใหม่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 05 ก.พ. 10, 14:07

ขอบคุณค่ะ
ขุนจบ(ทิม)ฝีมือแต่งไม่เลวเลย   เก็บความในสามก๊กมาได้ครบ 
"ปรินเทียเต้อ" อยู่ที่ไหน คะ  และของใคร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 05 ก.พ. 10, 15:28

 
ปรินซ์เทียเตอร์เป็นโรงละครของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งเคยรับใช้รัชกาลที่ ๔ มาตั้งแต่เด็ก รัชกาลที่ ๔ ทรงรักใคร่จนนับเป็นบุตรเลี้ยง เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ท่านเป็นเจ้าของคณะละครมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แต่เพิ่งมาเป็นหลักฐานมั่นคงในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งแต่เดิมก็แสดงละครนอก ละครใน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ท่านได้เป็นอุปทูตไปอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ ขณะอายุ ๓๖ ปี (เข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย คราวหม่อมราโชทัยเป็นล่าม) ท่านจึงนำแบบละครยุโรปมาปรับปรุงละครนอกของท่าน ให้มีแนวทางที่แปลกออกไป ละครของท่านได้รับความนิยมมากในปลายรัชกาลที่ ๕ และสิ่งที่ท่านได้สร้างให้เกิดในวงการละครของไทย คือได้ริเริ่มแสดงละครเก็บเงิน (ตีตั๋ว) ที่โรงละครเป็นครั้งแรก เนื่องจากแต่เดิมคณะละครนี้เดิมชื่อ Siamese Theatre เป็นละครที่เล่นอยู่กับบ้านตามความพอใจของเจ้าของ เวลามีแขกเมืองมาก็เล่นให้แขกเมืองดู ชาวบ้านก็พลอยได้ดูด้วย จนเมื่องานฉลองกรุง ๑๐๐ ปี (พ.ศ. ๒๔๒๕) เจ้าพระยามหินทรฯ ได้เอาละครไปร่วมแสดงในงานกลางท้องสนามหลวง ซึ่งมีการเก็บเงินคนที่ไปดูด้วย จากนั้นท่านจึงคิดเล่นละครเก็บเงินค่าดูบ้าง แล้วเปลี่ยนชื่อโรงละครเป็น "ปรินซ์เทียเตอร์" หมายถึงละครของพระองค์เจ้าที่เป็นหลานของท่าน (เนื่องจากบุตรีของท่านที่ชื่อ มรกฎ ได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕ มีพระราชธิดา พระราชโอรส ๒ พระองค์) และการแสดงของท่านก่อให้เกิดคำขึ้นคำหนึ่ง คือ "วิก" เหตุที่เกิดคำนี้คือ ละครของท่าน เดิมแสดงเวลาเดือนหงาย เดือนละ ๑ สัปดาห์ หรือ ๑ วีค ชาวบ้านเมื่อไปดูละครของท่าน ก็มักจะพูดกันว่าไปวิก คือ ไปสุดสัปดาห์ด้วยการไปดูละครของท่านเจ้าพระยาฯ เรื่องที่แสดงมีทั้ง ดาหลัง ราชาธิราช และอื่น ๆ การแต่งตัวก็แต่งอย่างสมจริง เช่น เล่นเรื่องจีนก็แต่งชุดจีน เล่นเรื่องพม่าก็แต่งชุดพม่า ทำให้มีผู้ชื่นชอบกันมาก

เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม โรงละครของท่านตกเป็นของบุตร คือ เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (บุศย์) ท่านผู้นี้เรียกละครของท่านว่า "ละครบุศย์มหินทร์" ละครโรงนี้ได้ไปแสดงในยุโรปเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยไปแสดงที่เมืองปีเตอร์สเบิร์ก ในประเทศรัสเซีย เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๓ แต่ล้มเหลว คือขาดทุน เมื่อกลับมาถึงเมืองไทยใน พ.ศ. ๒๔๔๔ ไม่นาน เจ้าหมื่นไวยวรนาถก็ถึงแก่กรรม

http://www.anurakthai.com/thaidances/prince_theatre/index.asp

ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ถ่ายราว พ.ศ. ๒๔๒๕-๒๔๓๗) เป็นภายในโรงละครจะตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม มีชื่อโรงเขียนเป็นภาษาอังกฤษเหนือเวทีไว้ว่า Prince Theatre มีโคมส่องเวทีติดเรียงเป็นแถว มีที่นั่งของผู้ชมทั่งด้านหน้า และด้านข้าง ส่วนตัวละครมีหลายตัวดูคึกคัก นอกจากตัวพระ นาง ทหารหญิง และทหารยักษ์แล้ว ยังมีช้าง (ใช้คนแสดง) อีก ๒ เชือกด้วย



 


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 10:03

เคยอ่านสามก๊กคำกลอนของขุนเสนานุชิต (เจด) ที่คุณหญิงแม้นมาส  ชวลิต เอามาพิมพ์ใหม่ นานแล้ว  เสียดายว่าไม่ได้ ทำสำเนาเก็บไว้  วันหลังต้องหาอ่านอีกสักที  แต่ใจอยากอ่านบทละครเรื่องสามก๊กของขุนจบพลรักษ์ (ทิม สุขยางค์) มากกว่า    ไม่แน่ใจว่าเคยพิมพ์เป็นหนังสือบ้างหรือไม่   เคยแต่อ่านบทละครเรื่องอาบูหะซันของท่านผู้นี้  (ได้มาโดยบังเอิญแท้ๆ ) เจ๋ง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 11:31

ไม่เคยพิมพ์เป็นเล่มค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 11:43

คุณวันดีครับ    ผมเคยเห็นหนังสือ บทละครเรื่องราชาธิราช  พิมพ์โดยโรงพิมพ์ไท (ถ้าจำไม่ผิด) ราวๆ ปี ๒๔๗๐ เศษๆ จำไม่ได้ว่า ๓ หรือ ๔ เล่มจบ   ขายอยู่ร้านขายหนังสือเก่าร้านหนึ่งแถวๆ จตุจักร  หน้าปกไม่รายละเอียดระบุว่าใครแต่ง  เจ้าของร้านห่อถุงพลาสติกอย่างดี  ไม่กล้าขอแกะอ่าน  และเข้าใจว่าจะราคาไม่เบา เพราะสภาพดีนัก (แต่ไม่เห็นมีใครซื้อไป)  อยากถามคุณวันดีว่า คุณวันดีพอจะทราบรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้หรือไม่ครับ ยิงฟันยิ้ม

ป.ล. อาหารที่ทำมาให้ผมเมื่อวันเสาร์ อร่อยดี อิ่มทน  อยากทราบชื่อครับ (จำไม่ได้) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 14:41

ตัวแป้งเป็นขนมปังของอเมริกันใต้ค่ะ  อาหรับก็มีคล้ายกันค่ะ
เนื้อที่ใส่มี สองแบบ คือ พิซ่าเนื้ออบ  ซื้อมา สองขีด  มีวิญญาณมะกอก
อีกอย่างคือขาหมูแบบจีนค่ะ  ซื้อมา สองขีด

แซะขนมปังออก  แล้วใส่ไส้  ไม่ทาเนยค่ะ เพราะเกรงจะแฉะเกินไป
ราคาถูกสตังค์  เก็บได้นาน

ที่ทำออกหน้าออกตาได้คือ แฮมแซนวิช  ใช้เวอร์จิเนียแฮม ซึ่งออกหวานนิดๆ
ไปงานหนังสือก็มีอาหารไปด้วย   บังคับให้เจ้าของร้านหนังสือแถวนั้นกินด้วย
แหะ ๆ  เฮียเก๋าชอบมาก   คุณสุชิตไม่ชอบเท่าไร



ราชาธิราชเป็นหนังสือเพื่อการเมืองที่น่าอ่านมาก  ภาษาลึกซึ้งน่าคิด  เปรียบเปรยได้งามไม่มีหยาบคายระคายเคืองแม้นแต่น้อย

ทำไมเด็กนักเรียนไม่ได้อ่านกันหนอ

เราไม่ได้เก็บประวัติการพิมพ์ราชาธิราชกันเท่าไร  ไม่มีการสนทนาซ้อมรบเรื่องนี้กันเลย
ต้องหาจากหนังสือประกวดหนังสือเก่าที่มีอยู่ประมาณ สองเล่ม เท่านั้น

ร้านใครคะที่จตุจักร    หลานป้อม    น้องดา   คุณสุชิต   ดิฉันจะได้ไปขอยืมดู

คุณหลวงคงรู้จักโรงพิมพ์ไทแล้ว  พี่สมบัติ พลายน้อยเขียนให้โรงพิมพ์ของ คุณ อำนวย จริงจิตร 
(๒๔๗๐  ไม่เก่าเท่าไร   เพราะพวกนวนิยาย จะหารุ่น ๒๔๘๐ กัน   พวกเก่าจริงๆ ต้อง ๒๔๖๐  เก่าที่สุดคือปกสีเดียวค่ะ)
ข้อมูลตรวจสอบแล้วอย่างดีที่สุด เพราะคุณอำนวยมีคลังหนังสือมหาศาล
มีโรงพิมพ์ยักษ์ลอกไปพรืด ๆๆๆๆ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 16:24

ผมเพิ่งไปตรวจสอบข้อมูลจากหอสมุดแห่งชาติ  ได้ความว่า

บทละครเรื่องราชาธิราช  ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง  พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย  มี ๓ เล่ม/ชุด  พิมพ์ระหว่าง ๒๔๕๗ - ๒๔๕๘  ปกเป็นกระดาษสีน้ำตาล 
ร้านหนังสือที่ผมไปเจอหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงตรอกเล็กๆ บริเวณที่ขายของเก่า(ข้ามคลองมาแล้ว) ก่อนข้ามถนนกำแพงเพชรไปถึงที่ตัวตลาดนัดจตุจักร  แถวนั้นมีแผงพระเยอะมาก   ร้านที่ว่านี้มีหนังสือมาเก่ามาขายเยอะ  ไม่รู้ว่าไปเอามาแต่ไหน  สภาพดีโดยมาก   
ไม่รู้ว่า พอจะเป็นข้อมูลให้สืบค้นต่อไปได้มากน้อยเท่าใดก็ไม่ทราบ

เรื่องประวัติการพิมพ์หนังสือราชาธิราช   ในฉบับพิมพ์ของกรมศิลปากรครั้งล่าสุด (ปกสีนวลกับเขียว) จำได้ว่าระบุประวัติการพิมพ์ไว้ละเอียดดีทีเดียว  คุณวันดีลองหาอ่านดูนะครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 08 ก.พ. 10, 18:10

ขอบคุณค่ะ  ที่แนะนำ

บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 09 ก.พ. 10, 08:55

โอโห ไม่เคยเห็นเลยครับ น่าสนุกมากๆ ผมว่าได้กลิ่นอายจีนผิดไปอีกแบบกับนิยายจักรๆวงศ์ๆของไทย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 09 ก.พ. 10, 15:26

ขอบคุณ คุณ kurukula   ค่ะ

ในโอกาสต่อไปจะสรรตอน ฮูหยินด่าทหาร มาฝากค่ะ
หรือพระพันปีด่าลูกชายเพราะอยากได้เล่าปี่เป็นลูกเขยเต็มที

อ่านหนังสือเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นหลัก

อันที่จริงฉบับพิมพ์แรกที่ทำปกใหม่ที่เรียกปกสวย ออกมาได้ ๓ ปีแล้ว  วงการแนะนำว่าไหน ๆ ก็เก็บสามก๊กมาเป็นตู้ เก็บเล่มนี้ไปด้วยเหอะนะ
ป่วยเป็นโรคทรัพย์จาง อันเป็นสามัญโรคาพยาธิ ของกลุ่มนักอ่าน  เลยไม่ได้เก็บ

ฉบับนี้สหายให้ยืมมาค่ะ  ไม่ได้เสียอัฐ

วันก่อนเจอบทของ นายทิม สุขยางค์หลายตอน   งานของนายทิมไม่เคยพิมพ์เลยนะคะ

ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วบ่นกันมาก่อนว่า เสียดายเหลือเกิน  ลูกหลานไม่กล้าพิมพ์
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 09 ก.พ. 10, 16:14

วันก่อนเจอบทของ นายทิม สุขยางค์หลายตอน   งานของนายทิมไม่เคยพิมพ์เลยนะคะ
ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วบ่นกันมาก่อนว่า เสียดายเหลือเกิน  ลูกหลานไม่กล้าพิมพ์

สงสัยลูกหลานนายทิมจะเป็นโรคเดียวกันกับคุณวันดีกระมังครับ (โรคทรัพย์จาง(เป็นบางเวลา โดยเฉพาะช่วงที่มีของ แต่เงินคงคลังขาดแคลน)) ยิ้มกว้างๆ 

จากประวัตินายทิม  สุขยางค์ (หลวงพัฒนพงษภักดี) ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงพระนิพนธ์ และหนังสืออื่นเอามาลงพิมพ์หลายครั้งนั้น ระบุว่า นายทิมแต่งบทละครให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ใช้เล่นละครอยู่หลายเรื่อง แต่คงจะมีเพียงบางเรื่องเท่านั้นที่เคยพิมพ์เป็นหนังสือ  อย่างที่ทราบแน่ๆ คือบทละครเรื่องวงศเทวราช  ซึ่งต่อมาใครก็ไม่ทราบ ได้นำบทลครเรื่องเทวราชที่นายทิมแต่งและพิมพ์เป็นเล่มนั้นไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ ๕ ทรงอ่านเมื่อคราวทรงพระประชวร  ทรงอ่านบทละครนั้นแล้วทรงหงุดหงิดที่คนแต่งคือนายทิม(ตอนนั้นยังไม่ทรงทราบว่าใครเป็นคนแต่ง) แต่งบทละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องนี้โดยไม่ทราบขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง และแต่งไปตามที่ตนเข้าใจ  จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์ต่อเนื้อความบทละครของนายทิมนั้นเป็นการล้อ  ยาวกว่า ๒๐ เล่มสมุด  ซึ่งนับว่าเป็นวรรณคดีล้อที่แปลกเรื่องหนึ่งเพราะแต่งล้อต่อจากเนื้อเรื่องเดิมที่มีอยู่  ไม่ได้แต่งแยกเรื่องต่างหาก 

บทละครเรื่องวงศเทวราชของนายทิม  ได้มีการนำมาพิมพ์อีกครั้งโดยหอพระสมุดวชิรญาณ หลังจากที่ได้ตีพิมพ์บทละครเรื่องวงศเทวราช พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕   ๒ เล่มจบแล้ว  (ส่วนฉบับที่คุรุสภาพิมพ์ขายเล่มเดียวนั้น ไม่จบตามที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์  เพราะพิมพ์ได้เฉพาะครึ่งแรกเท่านั้น ถ้าอยากอ่านจบต้องไปดูฉบับพิมพ์ครั้งแรก   เชื่อหรือไม่ ครูบาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางคนเขียนเรื่องวงศเทวราช  อ่านแต่ฉบับของคุรุสภาพิมพ์  ไม่ได้อ่านฉบับหอพระสมุดพิมพ์ เลยคิดว่าทรงพระนิพนธ์ไม่จบ)

 เอ๊ะ  เอาเรื่องวงศเทวราชมาลงไว้ที่เรือนไทยเห็นท่าจะดีกระมัง เห็นด้วยไหมครับ คุณวันดี;D
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 09 ก.พ. 10, 16:32

ดีค่า  ดีแน่นอน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 09 ก.พ. 10, 20:46

มายกมือ  อยากอ่านวงศ์เทวราชค่ะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง