เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 61388 โรคโบราณของไทย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:14

สืบเนื่องมาจากกระทู้ พระยาราชมนตรี   ดิฉันเลี้ยวออกนอกเรื่อง  เกิดอยากรู้ว่า โรคทุลาวะสา คืออะไร

คุณหลวงเล็กเข้ามาตอบว่า

"ส่งการบ้านครับ    ( กว่าจะเจอคำตอบการบ้านของคุณเทาชมพูได้  รื้อหนังสือมาอ่านเกือบหมดกรุ เป็นการบ้านที่ยากจริงๆ )

".....สิทธิการิยะ    พระอาจารย์เจ้าผู้กรุณาแก่สัตวโลกย์ทั้งหลาย  ท่านจึ่งแต่งคำภีร์อันชื่อว่าทุลาวะสา  คือว่าจะแจกออกเปน  ๓๒ จำพวก  คือทุลาวะสา  (๔)  มุตรฆาฏ ๔ มุตรกฤต ๔ สันทะฆาฏ ๔ องคสูตร ๔ ช้ำรั่ว ๔ อุปะทม ๔ ไส้ด้วน ๔ เป็น ๘ ประการด้วยกันดังนี้  ฯ ๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ  ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ  แพทย์จะแก้ให้เอา  การะบูร ๑ เทียนดำ ๑ ผลเอน ๑ ลำพัน ๑ แห้วหมู ๑ ขิงแห้ง ๑ สิ่งละเสมอภาค  ทำผงละลายน้ำผึ้งรวง  กินแก้โรคซึ่งปัศสาวฃาวดังน้ำเข้าเชดนั้นหายแล ฯ   แก้ปัศสาวะเหลืองดังน้ำขมิ้น  เอาสมอไทย ๑มหาหิง  เจตมูลแดง๑ สารซ่ม ๑ สุพรรณถันแดง ๑ ยาทั้งนี้เอาสิ่งละ ๑ สลึง เทียนดำ ๑ บาท ดอกคำไทย ๒ บาท ตำเปนผงละลายน้ำมะนาวกินแก้ปัศสาวะเหลืองแล  ฯ   แก้ปัศสาวะแดงดังน้ำฝางต้ม  เอาศีศะแห้วหมู ๑ รากมะตูม ๑ เทียนดำ ๑ รากเสนียด ๑ ใบสะเดา ๑ รากอังกาบ ๑ ผลเอน ๑ โกฎสอ ๑ เกลือสินเทาว ๑ ตำเปนผงละลายน้ำอ้อยแดง  กินแก้ปัศาสวะแดง  ดีนักแล ฯ  แก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  เอารากหญ้านาง ๑ เถาวัลเปรียง ๑ รากกะทุงสุนักข์บ้า ๑ ฝาง ๑ แห้วหมู ๑ ศิศะหญ้าชันะกาด ๑ แก่นมูลเหลก ๑ รากตะไคร้หางนาก ๑ ขมิ้นอ้อย ๑ ไพล ๑ รากหนามรอบตัว ๑ รากหวายขม ๑ เอาสิ่งละเสมอภาค  ต้ม ๓ เอา ๑ กินแก้ปัศสาวะดำดังน้ำคราม  หายแล ฯ  ยาทั้งนี้กินแก้โรค ๔ จำพวก  ที่กล่าวมาแต่หลังหายสิ้นแล ฯฯ..."

คัดและถ่ายอักษรจาก คัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา ในหนังสือตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ เล่ม ๒  (ปกแข็งสีน้ำเงิน) จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  หน้า ๒๙๔ - ๒๙๕

คำว่า ทุลาวะสา  ดูรูปคำเป็นคำบาลีก็จริง  แต่เมื่อลองตรวจดูในพจนานุกรมภาษาบาลีดูแล้วไม่ปรากฏคำคำนี้  จึงเข้าใจว่าเป็นคำที่โบราณจารย์ทางแพทย์ท่านคิดตั้งขึ้นสำหรับชื่อโรคจำพวกหนึ่ง  รูปคำเดิมเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่  เพราะคงคัดลอกเลื่อนและเลือนกันมาหลายชั้น  ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ของสำนักพิมพ์ต้นฉบับเขียนว่า ธุลาวะสา  ค้นดูก็ไม่พบความหมายตามรูปศัพท์  เป็นอันว่าไม่ทราบความหมายของชื่อโรคตามรูปศัพท์ในภาษาบาลี 

พิจารณาจากข้อมูลที่ยกมาจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง  เข้าใจว่า  โรคทุลาวะสา  เป็นโรคที่น่าจะเป็นกันเฉพาะผู้ชาย   ส่วนจะเป็นจำพวกโรคบุรุษด้วยหรือไม่นั้น  ไม่กล้าคาดเดา  แต่อาจจะเป็นจำพวกโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือโรคนิ่วก็ได้   คนไทยสมัยก่อนคงเป็นโรคนี้กันมาก  ไม่เว้นแต้เจ้าฟ้าเจ้านาย   วังหน้ารัชกาลที่ ๑ ก็เสด็จทิวงคตด้วยพระโรคจำพวกนี้เหมือนกัน

ไม่รู้ว่าตอบถูกใจคุณเทาชมพูหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:19

คุณเพ็ญชมพูเข้ามาตอบว่า

อ่านจากตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวงที่คุณหลวงยกมา ยังไม่พบตอนไหนที่ว่าเป็นโรคที่เป็นเฉพาะในผู้ชาย

คุณประเสริฐ พรหมณีเป็นหมอแผนโบราณเขียนถึงโรคนี้ไว้ในนิตยสารหมอชาวบ้าน เรียกชื่อโรคนี้ว่า โรคทุราวสา เป็นโรคน้ำปัสสาวะเป็นพิษ แต่ไม่ใช่โรคนิ่ว โบราณบอกว่าเกิดจากการกลั่นกรองของไตทำหน้าที่ไม่ดี

http://www.doctor.or.th/node/6694


คุณหลวงเล็กตอบว่า
อ้างถึง
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ  ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

อนุมานจากคำที่เน้นข้างต้น  ส่วนตัวไม่เรียนมาด้านหมอ  ถ้าผิดพลาดก็ขออภัยด้วยละกัน
...

คุณเพ็ญชมพู
อ้างจาก: luanglek ที่ วันนี้ เวลา 10:40
๑   ทีนี้จะว่าด้วยทุลาวะสา ๔ ประการ คือว่าด้วยน้ำปัศสาวะ ๔ ประการ  คือน้ำมูตรเมื่อออกมานั้นขาวข้นดังน้ำเข้าเชด  ถ้าเหลืองดังน้ำขมิ้นสด  ถ้าเปนโลหิตสดๆ ก็ดีแดงดังน้ำฝางต้มก็ดี  ดำดังน้ำครามก็ดี  ย่อมให้ปวดหัวเหน่าให้แสบองคชาติ ให้สบัดร้อนสบัดหนาวเปนเวลา  มีประการต่างๆ

ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย


คุณหลวงเล็ก
ปวดหัวหน่าวในผู้หญิง และแสบองคชาติในผู้ชาย

ถ้าตีความอย่างที่ว่าก็ได้เหมือนกัน  แต่ตามคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาดูจะให้ความสำคัญในการอธิบายลักษณะโรคจำพวกนี้หนักไปทางบุรุษมากกว่าสตรีนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:28

ชื่อโรคประหลาดๆพวกนี้ เป็นแรงจูงใจให้อยากตั้งกระทู้ใหม่ คุยกัน  เพื่อรวบรวมชื่อและคำอธิบายไว้
เพราะเข้าใจว่ายิ่งวันชื่อพวกนี้ก็ยิ่งจะสูญไปจากความเข้าใจของคนปัจจุบัน
แต่ว่าโรคยังคงอยู่   ไปเรียกชื่อใหม่  หรือไม่ก็ใช้ชื่อฝรั่งกัน
ขออนุรักษ์ชื่อโรคเดิมไว้ในเรือนไทยค่ะ

ไปค้นจากวิกิพีเดีย  มาได้ ๓ โรค  ขอนำมาเจิมกระทู้ใหม่เสียเลย

ประดง
ประดง เป็นชื่อไข้ชนิดหนึ่ง พอไข้ขึ้นสูง จะมีเม็ดผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง  เรียกว่าเกิดอาการไข้ประดงขึ้น
ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยไปตามเนื้อตัว มีอาการสะท้านร้อน สะท้านหนาว ปากแห้ง ลิ้นแห้ง กระหายน้ำ หอบ
และอาจมีอาการสะอึกร่วมด้วย

โรคประดงนั้นยังแบ่งออกไปเป็นอีกหลายชนิดเช่น ประดงมด, ประดงช้าง, ประดงแกลบ, ประดงไฟ เป็นต้น

'ประสานธาตุ  เป็นโรคทางเดินอาหาร มีอาการลงท้องอย่างรุนแรงมาก มีอุจจาระเป็นน้ำใสสีแดง
ลักษณะคล้ายน้ำชานหมากหรือน้ำแตงโม ซึ่งหากถ่ายเป็นน้ำเลือด  มักจะอยู่ได้ไม่เกินเจ็ดวัน

พรรดึก (อ่านว่า พัน-ระ-ดึก)
คือโรคท้องผูกอย่างแรง  จากอาหารคั่งค้างอยู่ภายในท้อง  ผู้ป่วยจะมีอุจจาระที่แข็งมาก และมีลักษณะเป็นเม็ดๆ คล้ายกันกับมูลแพะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:51

โรคป่วง
คือโรคอาหารเป็นพิษ   ปวดท้อง ลงท้องเป็นน้ำ มีลมออกบ้าง อาเจียน   ปวดท้อง
อาการคล้ายอหิวาตกโรค แต่อาการเสียกำลังน้อยกว่ากันมาก เพราะน้ำอาหารที่ย่อยแล้วที่อยู่ในต่อมที่เก็บดูดไว้มิได้ถ่ายออกมาด้วย แต่เป็นเสมหะจึงเป็นพิษ ตามผิวกระเพาะอาหาร และลำไส้ไม่มีตัวโรคที่ทำให้ติดต่อ
โรคป่วงไม่ติดต่อกัน  เมื่อลงท้องมาก   อาการเป็นตะคริวจะจับปลายมือปลายเท้า คือ มีอาการเกร็งมาก เจ็บปวดและเข้าท้องด้วยก็ได้ จึงอาจตายได้ เหมือนกัน
ลงท้องมาก อาเจียนมาก โบราณเรียกว่า สันนิบาตสองคลอง คือ ทั้งลงและ ทั้งราก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:52

ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บ

http://thrai.sci.ku.ac.th/node/617

พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา เป็นตำราที่ว่าด้วยอาการของโรคบุรุษและโรคสตรี รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคบุรุษและสตรี พระคัมภีร์นี้แบ่งอาการของโรคออกเป็น ๘ ประการ ได้แก่

๑. ทุลาวสา เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุรุษเท่านั้น มีอาการผิดปกติเวลาถ่ายปัสสาวะ ลักษณะของทุลาวสาแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๒. มุตคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรี มีอาการของการถ่ายปัสสาวะผิดปรกติ ลักษณะของมตุคาตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๓. มุตกิต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะกับสตรีเช่นกัน เป็นลักษณะที่น้ำปัสสาวะมีความผิดปรกติและรุนแรงกว่ามุตคาต มุตกิตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๔. สันทะคาต เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งกับบุรุษและสตรีที่สำส่อนในทางกาม สันทะคาตแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๕. องคสูตร เป็นโรคที่เกิดเฉพาะในบุรุษ มีอาการเจ็บที่องคชาตและลูกอัณฑะ แบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๖. ช้ำรั่ว เป็นโรคที่เกิดเฉพาะสตรีเท่านั้น ช้ำรั่วเป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก มี ๔ ชนิด
๗. อุปทม เป็นโรคที่เกิดทั้งในบุรุษและสตรี อุปทมแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด
๘. ไส้ด้วน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเฉพาะในบุรุษเท่านั้น ถ้าเกิดในสตรีจะเรียกว่าไส้ลาม ทั้งสองอย่างเป็นอาการเน่าทั้งที่องคชาตและภายใน ถ้าไม่รักษาก็ถึงตายได้ ไส้ด้วนไส้ลามแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด




บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 15:55

ตานขโมย
เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ หลังจากคลอดแล้ว 3-4 เดือน มีเม็ดขึ้นที่เหงือกข้างบนและข้างล่าง มีสีดำแดง บางทีก็สีเหลือง ตัวลายเหมือนเส้นเลือด เจ็บทั่วสรรพางค์กาย เด็กขาดความต้านทานโรค เนื้อหนังเหี่ยวผอม ไม่น่ารัก ตัวมีกลิ่นเหม็นคาว พุงโร ก้นปอด ท้องเดินไม่รู้หยุด เป็นน้ำส่าเหล้าและเป็นน้ำคาวปลา น้ำไข่เน่า เป็นมูก เป็นหนองก็ดี อุจจาระหยาบเหม็นคาวอย่างร้ายกาจ ทำให้ตาฟางเรียกว่า เกล็ดกระดี่ขึ้นตา
ปัจจุบันคงบอกว่าเป็นโรคขาดอาหาร แต่โรคตานขโมยในโบราณบอกว่า โรคตานขโมยนี้ขึ้นในตับ อุจจาระเป็นมูก เป็นโลหิต อกรวบแหลมเหมือนอกไก่ ขึ้นลำไส้อ่อนทำให้อุจจาระเขียวดังใบไม้ และหนังตามตัวจะเป็นเกล็ดเหมือนเกล็ดงู

ต้นเหตุของโรคตานขโมย เกิดจากเด็กเกิดมาแล้วกินอาหารแปลกรสที่ไม่เคยกิน ประกอบกับธาตุของเด็กอ่อนในการย่อยอาหารไม่ดี จึงทำให้เกิดโรคตานขโมยขึ้น
และประกอบกับอาหารนั้นไม่สะอาด จึงทำให้เกิดตัวกิมิชาติ (พยาธิ) ขึ้นในท้องและลำไส้ คือตัวพยาธิไส้เดือนและพยาธิต่าง ๆ แย่งอาหารที่เด็กกินเข้าไปเสียหมด จึงทำให้เด็กท้องป่อง ก้นปอด อุจจาระหยาบเหม็นคาว
เด็กสุขภาพไม่สมบูรณ์ ร้องงอแง ไม่น่ารัก จิตใจเด็กไม่แจ่มใส เป็นเด็กอมโรค ขี้มูกขี้กรัง เด็กชอบอมนิ้วมือและกัดเล็บ

ถ้าไม่พาเด็กไปหาหมอรักษาเด็กจะอมโรค ผอมลง ลักษณะหนังหุ้มกระดูก หัวท้ายเล็ก ตรงกลางท้องป่อง เด็กจะอ่อนแอลง อุจจาระหยาบขาว เหม็นคาวจุด แล้วนัยน์ตามัวมองอะไรไม่เห็น น่าสงสารมาก และเด็กจะตายในที่สุด

โรคตานขโมยมีผู้ปากครองเด็กวิตกกันมากที่สุดในสมัยโบราณ จนถึงปัจจุบันนี้ มีพ่อแม่บางรายยังเสาะหายาโบราณมารักษาโรคตานขโมยกันอยู่ โรคนี้ในสมัยก่อน ๆ คร่าชีวิตเด็กไปเสียมิใช่น้อย ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีเหลืออยู่บ้างแต่ไม่มากแล้ว เพราะสังคมปัจจุบันนี้มีทั้งหมอแผนใหม่ และหมอแผนเก่าช่วยเหลือได้มาก

โรคนี้ต้นเหตุคือโรคพยาธิที่เกิดขึ้นในท้องกับธาตุเด็กเสีย อุจจาระบ่อย ๆ เนื่องจากกินอาหารไม่สมดุลกับร่างกาย และอาหารที่กินไม่สะอาดนั่นเอง ถ้ากินอาหารสะอาด หมั่นถ่ายพยาธิ ให้ยาบำรุงธาตุเด็ก เด็กคงไม่เป็นโรคนี้

โรคตานขโมย ถ้าเกิดขึ้นกับเด็กโบราณจะใช้ยาดังนี้ รากไข่เน่า รากทับทิม รากอีเหนียว รากสะแก ชุมเห็ดไทย ทั้งต้น กะเพราะแดงทั้งต้น รากเล็บมือนาง ลูกขี้กาแดง หัวแห้วหมู มะตูมอ่อน หัวเต่าเกียด หัวเต่านา หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ แก่นจันทร์ แก่นจันทร์แดง หนักสิ่งละ 30 กรัม ใบมะกา 1 กำมือ ใบกระพังโหม 1 กำมือ

วิธีทำ ต้ม เติมน้ำให้ท่วมยาต้มให้เดือด

เด็กโต รับประทานมื้อละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เด็กเล็ก 2 ช้อนกาแฟ รับประทานวันละ 3 เวลา ก่อนอาหารเช้าหรือเย็น

อาการตามัว หนังเป็นเกล็ด โบราณให้ใช้อาหารดังนี้ ใช้ตับไก่ดำหรือตับสัตว์ต่าง ๆ ก็ได้ปรุงเป็นอาหารใช้ตับสัตว์ดังกล่าวผสมกับดอกไม้จีนที่ทำอาหารผสมกัน ผัดให้รับประทานทุกวัน หรือใช้ ไข่ 1 ฟองและใช้ เม็ดในสะแกคือ แกะเอาแต่เมล็ดในประมาณ 30-40 เมล็ด ทอดกับไข่ให้เด็กกินทุกวัน จะช่วยอาการนี้ได้

 http://www.doctor.or.th/node/6678
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 16:05


พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา เป็นตำราที่ว่าด้วยอาการของโรคบุรุษและโรคสตรี รวมถึงยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคบุรุษและสตรี พระคัมภีร์นี้แบ่งอาการของโรคออกเป็น ๘ ประการ ได้แก่

๑. ทุลาวสา เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับบุรุษเท่านั้น มีอาการผิดปกติเวลาถ่ายปัสสาวะ ลักษณะของทุลาวสาแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด


 ยิงฟันยิ้ม ยิ้ม ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 16:14

ลิ้งก์นี้มี่ศัพท์การแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งชื่อโรคโบราณอยู่หลายโรค เอามาฝากคุณเทาชมพู

http://thrai.sci.ku.ac.th/node/523
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 16:22

ขอบคุณค่ะ  เยอะแยะจริงๆ 
แทบจะปิดกระทู้นี้ได้เลย  ยิ้มเท่ห์

ตะพั้น
ชื่อโรคชนิดหนึ่ง มักเกิดแก่เด็กอ่อนหรือเด็กเล็กๆ มีอาการชัก มือเท้ากำ ตามตำราแพทย์แผนโบราณว่า มักเกิดเพราะผิดอากาศเป็นต้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 16:24

เปลี่ยวดำ  
ชื่อโรคอย่างหนึ่ง ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่าเกิดจากความเย็นมาก, เกลี่ยวดํา ก็ว่า.
ผู้ใหญ่เคยบอกว่า เปลี่ยวดำคือปอดบวม  หรือนิวมอเนีย

 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 19:17

ปะกัง :ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่า เป็นโรคลม ที่ทําให้มีอาการ ปวดหัวเวลาเช้า ๆ ปวดกระบอกตา เมื่อเห็นแดดจะลืมตาไม่ขึ้น เรียกว่า ลมปะกัง, ตะกัง ก็ว่า.
เดี๋ยวนี้เราเรียกว่า ไมเกรน ค่ะ

ป้าง : โรคไข้จับสั่นเรื้อรัง    มีตับและม้ามโต มีไข้คลุมเครือเรื้อรัง คือ จุกผาม ก็เรียก.
ปานดง :ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่ามีอาการ เจ็บปวดแล่นไปตามผิวหนัง.
ภคันทลา : [พะคันทะลา]  โรคริดสีดวงทวารหนัก
มองคร่อ   โรคหลอดลมโป่งพอง มีเสมหะแห้งอยู่ในช่องหลอดลม ทําให้มีอาการไอเรื้อรัง ห้ามผู้ที่เป็นโรคนี้บวชเป็นภิกษุ. (อ. bronchiectasis);
บันทึกการเข้า
Rangson Boontham
มัจฉานุ
**
ตอบ: 50



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 19:38

ขอร่วมด้วยคนครับ เคยอ่านพระประวัติตอนหนึ่งของพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ ซึ่งเดิมผู้คนเข้าใจว่าทรงเป็นพระโรคท้องมานแต่สุดท้ายทรงพระครรภ์ เลยได้อ่านเรื่องโรคท้องมานและดูรูปประกอบก็รู้สึกว่าอืม น่ากลัวมาก  ลังเล แต่ปัจจุบันทางการแพทย์ถือว่าไม่ใช่โรคและไม่ค่อยพบแล้ว แต่ก็แหม น่าจัดเข้าทำเนียบ "อาการ" หรือ "ภาวะ" ประหลาดได้นะครับ

ค้นหาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ http://www.doctor.or.th/node/2326



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 22:19

รูปน่ากลัวมาก

หาชื่อโรคมาเพิ่มเติมค่ะ
โรคนี้ชื่อเพราะ   คชราช     [คดชะราด]   ราวกับพญาช้าง  ที่จริงคือโรคคุดทะราด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 22:22

ชิวหาสดมภ์    ชื่อโรคลม ตามตําราแพทย์แผนโบราณว่า ทําให้มีอาการลิ้นกระด้างคางแข็ง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 02 ก.พ. 10, 10:57

        บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จสวรรคตด้วยพระโรค ฝีละลอก (บางที่บอกว่า
เพราะทรงโดนผึ้งต่อย)

       "สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคต ขณะที่พระองค์ทรงยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ เมื่อเสด็จถึงเมืองหาง
พระองค์ทรงประชวรเป็นฝีละลอกขึ้นที่พระพักตร์กลายเป็นพิษ เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๑๔๘
พระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี"

         ละลอก  น.ระลอก; โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เป็นเม็ดมีหนอง.

          สรุปความได้ว่า เป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังประเภทฝีหนอง ในสมัยที่ไม่มียาปฏิชีวนะทำให้เชื้อลุกลามถึงเข้ากระแสเลือด
(กลายเป็นพิษ) จนสวรรคตด้วยพระอาการช็อคจากการติดเชื้อ (septic shock)

         หากเป็นจากผึ้งต่อย ก็จะเป็นการสวรรคตจาก hypersensitivity หรือ anaphylactic shock
ซึ่งเป็นปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงที่ร่างกายแสดงต่อสิ่งแปลกปลอมที่ได้รับ เกิดความดันโลหิตต่ำ หลอดลมเกร็ง หายใจลำบาก
หากได้รับการรักษาไม่ทันก็ถึงแก่ชีวิต
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 20 คำสั่ง