เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 11593 ตำหนักทองริมคลองด่าน
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



 เมื่อ 01 ก.พ. 10, 08:36

เพิ่งกลับมาจากสุโขทัยครับ แต่ไม่ีค่อยจะมีอะไรใหม่ๆมาให้ชมกัน คงเพราะไม่ได้ไปสถานที่แปลกๆใหม่ๆ ก็เลยลองเอาภาพเก่าๆมานั่งดู บางอย่างเห็นแล้วก็น่าเสียดาย เป็นของดีของงามที่อยู่ใกล้ๆตัว สามารถไปได้ง่ายๆ อย่างคลองด่าน หรือคลองบางขุนเทียน ตรงแถวๆถนนวุฒากาศ นอกจากจะมีวัดโบราณอยู่ทั่วไปแล้ว อาหารยังอร่อยอีกด้วย (ทัวร์ลงพุงครับ)  อายจัง


คราวนี้จะไม่จำเพาะเจาะจงลงไปเป็นวัดๆ แต่จะพาไปดูตำหนักทองที่ตั้งอยู่ในบริเวณริมคลองด่าน อันเป็นคลองลัดสัญจรสำคัญ ที่ไปออกคลองมหาไชย แล้วออกทะเลที่อ่าวไทยได้ เป็นเส้นทางเดินทัพมาตั้งแต่โบราณ เราจึงพบว่ามีัวัดโบราณสมัยอยุธยาตั้งอยู่ริมสองฝั่งคลองมากมาย ที่สำคัญคือ ตำหนักทอง หรือตำหนักไม้จริงที่ลงรักปิดทองเขียนลายรดน้ำทั้งหลัง อยู่้อย่างน้อย 3 หลัง


หลังที่รู้จักกันดีที่สุด ก็คือตำหนักทองวัดไทร ซึ่งกลายเป็นตำนานไปเสียแล้ว สำหรับตำหนักซึ่งเชื่อกันมาตลอดว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ทั้งป้ายของทางวัด ทั้งศาลพันท้ายนรสิงห์ (ทั้งๆที่ในตำนานของวัด บอกแค่ว่าพระเจ้าเสือมาพักพลที่นี่เท่านั้นเอง มิได้เกี่ยวอะไรกับพันท้ายมีชื่อนั้นเลย)


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 08:45

ภาพลายรดน้ำที่ตำหนักทองวัดไทรครับ รูปกินนร ก็คงต้องพิจารณากำหนดอายุกันตามวิจารณญาณนะครับ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 08:52

เรื่องตำหนักทองของพระเจ้าเสือนี้ เป็นมุขปาฐะมานมนานแล้ว นักวิชาการหลายๆท่านก็เห็นคล้อยตามด้วย ซึ่งอาจจะเป็นเพราะตำนานของวัดที่้เล่าสืบๆกันมา

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ในสาส์นสมเด็จว่า

“เมื่อวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2464 กรรมการให้เปิดหอพระสมุดสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ สำหรับภิกษุสามเณรจะได้ชมตามปรารถนา พระครูถาวรสมณวงศ์ วัดไทร อำเภอบางขุนเทียน แขวงจังหวัดธนบุรี ได้มาชมหอพระสมุด มาบอกว่า ที่วัดไทรมีตำหนักฝาเขียนทองลายรดน้ำอย่าง ตู้หนังสือในหอพระสมุด อยู่หลังหนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่ากันสืบมาว่า เป็นตำหนักของขุนหลวงเสือทรงสร้างไว้ ได้ความดังนี้ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2464 ข้าพเจ้าจึงไปดูตำหนักที่วัดไทร เห็นเป็นตำหนักของโบราณจริง และเมื่อมีเรื่องราวพงศาวดารประกอบกัน”


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 08:56

อาจารย์ น.ณ ปากน้ำ ก็ให้ความเห็นว่า ดูจากลวดลายแล้ว อาคารนี้ควรสร้างสมัยพระเจ้าเสือจริงๆ

“ฝาประจันประตูตำหนักที่วัดไทร ฝีมือช่างอยุธยา สมัยพระเจ้าเสือ ลายเป็นกระหนกเปลว แต่ก้านลายคงอยู่ในโครงอันแน่นจนไม่อิสระเหมือนสมัยหลัง”

“ตัวลายเป็นกระหนกเปลว แต่ลักษณะแข็งๆ ด้วยเป็นระยะต้นของศิลปะอยุธยาตอนปลาย”


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 08:58

ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม ก็ได้กำหนดอายุลวดลายกนกแบบเครือเถาของวัดไทรว่าอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 (ราวรัชกาลพระเจ้าเสือ)

เช่นเดียวกันกับความเห็นของ โชติ กัลยาณมิตร ซึ่งกล่าวว่า ตำหนักทองเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ มีอายุถึงปัจจุบันกว่า 250 ปีแล้ว
 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 09:04

กลับมาที่กรมดำรงนะครับ

พระองค์เอง เห็นได้ว่าทรงรับฟังตำนานของวัด แต่ก็ยังมีข้อข้องใจว่า ลวดลายมันสมัยกรุงเทพลงมาแล้ว ทำไมมันจึงเก่าถึงอยุธยา อย่างไรก็ตาม ท่านก็ยังเห็นคล้อยกับตำนานว่า ขุนหลวงเสือทรงสร้างจริง


“ตำหนักของโบราณนั้นอยู่ริมคลองข้างกุฏิสงฆ์ เป็นตำหนักไม้ 3 ห้อง ยาว 4 วาศอก กว้าง 9 ศอก ปลูกยาวตามคลอง ทางด้านใต้กั้นฝาทึบห้องหนึ่ง มีหน้าต่างกรอบจำหลักเป็นซุ้มยอด ทางด้านเหนือฝาเป็นช่องโถงสำหรับผูกม่านไม่มีบาน 2 ห้อง เสาและเครื่องบนของเดิมผุเปลี่ยนใหม่เสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฝา ฝานั้นข้างนอกเขียนทองรดน้ำพื้นดำเป็นกระหนกเครือ แต่ลายทองยังคงเหลืออยู่เพียงด้านข้างบนที่ชายคาบังฝน ตอนล่างที่ถูกแดดถูกฝนนั้นลายทองชำรุดซ่อมทาสีเสียแล้ว เครื่องบนยังมีของเดิมแต่กรอบกระจังจำหลักที่หน้าบรรณเหลืออยู่ท่อนหนึ่ง


ข้างในตำหนักฝารอบทาสีพื้นขาวเขียนสีลายพุ่มข้าวบิณฑ์ สงสัยว่าจะเขียนเปลี่ยนลายเมื่อซ่อมชั้นหลังบ้าง พระบอกว่า เสาเดิมเป็นลายรดน้ำปิดทองเหมือนกับฝาด้านนอก ฝาประจันห้องที่ยังคงเหลืออยู่จนบัดนี้ เขียนทองลายรดน้ำเหมือนฝาด้านนอก มีประตูฝาประจันห้อง 2 ช่องที่บานเขียนทองรูปเทวดา แต่ดูจะเป็นฝีมือช่างกรุงเทพ ซ่อมชั้นหลัง

ลักษณะของตำหนักเป็นดังกล่าวมานี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่าเดิมคงเป็นตำหนักของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างไว้จริง อย่างนี้ที่เรียกว่า ตำหนักทอง ซึ่งผู้อื่นจะสร้างอยู่นั้นไม่ได้ โดยถ้าสร้างถวายวัดเป็นพุทธบูชา ก็ได้แต่เป็นโบสถ์วิหาร หรือหอไตร ที่ผู้อื่นจะทำเป็นเรือนทองถวายเป็นเสนาสนสงฆ์ หรือเป็นศาลาอาศัยนั้น หามีอย่างธรรมเนียมไม่

ความที่กล่าวนี้มีอุทาหรณ์ในพงศาวดารครั้งรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภจะทดแทนทรกรรมที่พระเจ้ากรุงธนบุรีลงพระราชอาญาสมเด็จพระสังฆราชสี เพราะเหตุที่ไม่ยอมถวายบังคม โปรดให้รื้อตำหนักทองของพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกถวายเป็นตำหนักของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นให้เป็นเกียรติยศสถานหนึ่ง ซึ่งเห็นได้ว่าแต่โบราณนับถือตำหนักทองว่าเป็นของสูงศักดิ์เพียงไร

ถ้าเป็นตำหนักเจ้านายภายในพระราชวงศ์ก็เพียงใช้แต่ทาสี ดังเช่นที่เรียกนามตำหนักของสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 1 ว่า ตำหนักเขียวและตำหนักแดงนั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยมีหลักฐานดังอธิบายนี้ จึงเห็นว่าตำหนักทองที่วัดไทรเป็นของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างเป็นแน่”
 ยิ้ม


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 09:05

ท่านตรัสต่อไปว่า

“ในระยะเวลา 55 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2246 ถึง พ.ศ. 2301 คลองสนามชัยนี้เป็นทางที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านไปมาเนืองๆทั้ง 3 รัชกาล คงต้องมีตำหนัก พลับพลาที่ประทับร้อนประทับแรมไว้ในระยะทางหลายแห่ง….แบบอย่างตำหนักทองที่วัดไทร ซึ่งทำเป็นตำหนัก 3 ห้อง และโถง 2 ห้อง ดูสมจะเป็นตำหนักที่ประทับร้อน คงสร้างในครั้งรัชกาลพระเจ้าเสือดังที่พวกชาวบ้านว่า หรือมิฉะนั้นก็สร้างใน 2 รัชกาลหลังต่อมาเมื่อครั้งกรุงเก่าเป็นแน่”

บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 09:13

ลองดูพระดำริของกรมนริศบ้างครับ ท่านเห็นว่าลายที่ตำหนักทองนั้น น่าจะซ่อมสมัยรัชกาลที่ 3

“ตำหนักทองนั้น ลายฉลักเปนฝีมือครั้งกรุงเก่า ลายเขียนทองที่ฝา เปนฝีมือกรุงเทพ ไม่ต่ำลงมากว่ารัชกาลที่ 3 แลเปนฝีมือชั้นคนที่ดีด้วย ผู้ที่ปฏิสังขรณ์ตำหนักทองน่าจะเปนผู้มีวาสนา จึงเรียกช่างฝีมือดีมาทำได้ ไม่ใช่ความสามารถสมภาร ต้องชมพระญาณฝ่าพระบาท”

อย่่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่เคยเห็นตำหนักทองหลังใด ที่ซ่อมลาย (ในสมัยโบราณ) โดยรื้อไม้ลงใหม่แล้วนำมาเขียนลายทองซ่อม แล้วประกอบเข้าไปใหม่ ยิ่งถวายวัดแล้วเหมือนถวายขาด หรือจะทำก็ทำหลังใหม่ถวายดีกว่า เนื่องด้วยไม่ใช่อาคารสำคัญของวัดอย่างโบสถ์ วิหาร การเปรียญขนาดใหญ่โตอย่างไร

อย่างมากก็หาสีมาทา พอไม่ใ่ห้ดูกระดำกระด่างน่าเกลียด อย่างศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 09:16

ในส่วนตัวผมเอง คิดว่าเป็นที่พักตามรายทางของเจ้านายสมัยรัตนโกสินทร์มากกว่าครับ

เพราะเส้นทางคลองด่านไม่เคยร้างราหรือหมดความสำคัญไปแต่อย่างใด แต่เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญในการออกทะเล และเป็นเส้นทางเดินทัพมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ มีบันทึกมากมายกล่าวถึงการเดินทางล่องมาทางคลองด่าน ไม่ว่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเป็นพระเจ้าลูกเธอ  แม้กระทั่งสุนทรภู่ก็ได้แต่งนิราศกล่าวถึงวัดไทร ริมคลองด่านแห่งนี้

สมัยนั้น คลองด่านคงจะรุ่งเรืองมาก ถึงได้มีศิลปะต่างๆซ่อนตัวอยู่เต็มไปหมด
บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 09:20

ค้างไว้ก่อนนะครับ จะไปหาหมอ เดี๋ยวว่างๆจะมาต่อที่เหลือครับ


บันทึกการเข้า
virain
นิลพัท
*******
ตอบ: 1655


AmonRain


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 16:26

สวัสดีครับ คุณKurukula อุตสาห์นำข้อมูลดีๆมาให้ชม ได้รับความรู้แบบพร้อมเพรียง ผมเองไม่รู้มาก่อนว่าย่านนั้นมีตำหนักทองมากถึงสามหลัง
รอลุ้นครับว่าจะมีที่ไหนบ้าง เรื่องลายทองตำหนักวัดไทรนี้ผมเห็นว่าหลายท่านก็คิดต่างกันไป แต่เชื่อว่าตัวตำหนักเองคงมีมาแต่ดิมครั้ง
กรุงศรีอยุธยาแน่นอน อาจเป็นตำหนักทองที่สร้างในสมัยพระเจ้าเสือเมื่อคราวโดยเสด็จย่านนี้แต่อาจมีการซ่อมในสมัยอยุธยาตอนปลายๆ
หรือต้นรัตนโกสินทร์ เพื่อเป็นการใช้รับเสด็จในรัชกาลนั้นๆ เมื่อตำหนักทรุดโทรมลง

 
ผมเองก็ไม่เคยเห็นตำหนักทองหลังใด ที่ซ่อมลาย (ในสมัยโบราณ) โดยรื้อไม้ลงใหม่แล้วนำมาเขียนลายทองซ่อม แล้วประกอบเข้าไปใหม่ ยิ่งถวายวัดแล้วเหมือนถวายขาด หรือจะทำก็ทำหลังใหม่ถวายดีกว่า เนื่องด้วยไม่ใช่อาคารสำคัญของวัดอย่างโบสถ์ วิหาร การเปรียญขนาดใหญ่โตอย่างไร
อย่างมากก็หาสีมาทา พอไม่ใ่ห้ดูกระดำกระด่างน่าเกลียด อย่างศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม

ถ้าหากสันนิษฐานว่าเป็นการรื้อตำหนักจากที่ใดที่หนึ่งมาถวายวัด ผมเองก็เห็นด้วยครับ ว่าไม่น่าจะมีการซ่อมแซมภายหลัง
แต่ผมขอคำอธิบาย เกี่้ยวกับ"มุขปาฐะ"หน่อยนะครับ ว่าแต่ไปพบหมอเป็นอะไรหรือเปล่าครับ

ภาพประกอบหอไตรวัดปากน้ำครับ


บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 17:04

ผมคิดว่าการซ่อมลายรดน้ำเป็นเรื่องใหญ่มาก แทบจะไม่เคยเห็นของโบราณมีการซ่อมแซมเลย ยิ่งเป็นกุฏิโบราณแล้วยิ่งเป็นไปได้ยากครับ นอกจากจะรื้อของเดิม (ซึ่งคงผุพังไปออก) ปรุงเครื่องไม้ขึ้นมาใหม่แล้วรดน้ำ ก็แทบจะเรียกว่าเป็นของใหม่ทั้งหลังทีเดียว


วัดแถวนั้นค่อนข้างบ้านนอกห่างไกลพระนครครับ แม้แต่วัดในพระนครเองก็หลังคารั่วบ่อยๆ จนเขาว่ากันว่าในเมืองมีแต่วัดพระแก้วเท่านั้นที่สภาพดีตลอด ถัดออกไปวัดโพธิ์ก็พังแล้ว การซ่อมก็มิได้ง่ายดายเหมือนสมัยนี้ รื้อออกทำใหม่ เขียนใหม่ตลอด ถ้าเชื่อว่าตำหนักวัดไทรสร้างมาแต่กรุงศรีอยุธยาจริง จากอายุของลายรดน้ำที่เห็น คิดว่าคงเหลือสัก 10 เปอร์เซนต์ที่เป็นของอยุธยา

ซึ่งผมก็ยังไม่เห็นว่า 10 เปอร์เซนต์นั้น ตรงไหนที่เป็นแบบแผนของอยุธยา


ด้านในตำหนักนั้น เป็นภาพเขียนลายก้านแย่งบนพื้นขาวเหมือนลายผ้าครับ เสาเป็นลายเขียนสี เหมือนที่กรมดำรงท่านได้สดับพระท่านเล่า ว่าแต่ก่อนเสาเป็นรดน้ำ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเขียนสี การซ่อมรดน้ำคงทำได้ยากจริงๆ จึงต้องเปลี่ยนไปเขียนสีทับ

บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 17:16

มุขปาฐะ แปลว่า เรื่องราวที่บอกเล่าด้วยปากครับ ไม่ใช่การจดบันทึก เพราะฉะนั้น จึงมีลักษณะเป็นตำนานเสียส่วนใหญ่ ตำนานที่เราได้ยินกัน ส่วนมากก็เป็นนอสตาเกลียของคนกรุงเก่าที่เล่าถึงสมัยบ้านเมืองยังดี อย่างเรื่องพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ (ซึ่งไม่ใช่พระนามจริง แต่อ้างกันเพราะบ้านเมืองสมัยนี้เจริญมาก คล้ายๆกับเราอ้างพระพุทธเจ้าหลวง)

พระเจ้าเสือเองก็ทรงประทับอยู่ในมุขปาฐะหลายๆเรื่อง ที่เห็นได้ชัดคือ กอสซิบ ของพระองค์ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ซึ่งชำระสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นเอง หากพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว ใครมันจะกล้าจดลงไปในพงศาวดารว่าพระเจ้าอยู่หัวกอปรด้วยโมหะจริต ไม่ตั้งพระองค์อยู่ในปัญจศีล โปรดการประทับร่วมกับสตรีไม่มีฤดู รับรองว่าหัวขาดครับ

กอสซิบพวกนี้เป็นเรื่องที่ราชวงศ์จักรีรวบรวมไว้เพื่ออ้างความชอบธรรม ในฐานะราชวงศ์ใหม่ที่ไม่ได้มีเชื้อสายเจ้า จึงต้องป้ายความให้กับเชื้อวงศ์บ้านพลูหลวงว่าเลวอย่างนั้นอย่างนี้ แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องจริง แต่เราก็เห็นน้ำเสียงในพระราชพงศาวดารได้

แต่ในพงศาวดารกรุงเก่าที่ชำระขึ้นต้นๆกรุงรัตนโกสินทร์ บางเรื่อง (ผมจำเล่มไม่ได้) รวมทั้งเทศนาพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นร้อยกรอง ไม่ได้กล่าวถึงพระเจ้าเสือในแง่ร้ายเลย แต่มีกอสสิบสนุกๆเกี่ยวกับพระองค์ในแง่ดีอีกต่่างหาก


ผมเป็นตาอักเสบครับ ไปหาหมอมาเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณที่เป็นห่วงครับ

บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 17:25

ตำหนักทองอีกหลังอยู่ที่ วัดหนัง หลังวัดนางนองครับ ที่นี่มีลวดลายสภาพดีและสันนิษฐานว่ามีขนาดใหญ่กว่าวัดไทรเสียอีก แต่โดนรื้อไปปรุงเป็นกุฏิพระเีสียแล้ว เผอิญผมไปวัดหนัง แล้วเห็นอะไรทองๆแว้บๆอยู่ในกุฏิพระ ขอเข้าไปดูปรากฏว่าเป็นทองทั้งองค์อร่ามตา เสียดายที่ท่านไม่ค่อยเต็มใจให้ดูนัก เนื่องจากเป็นที่พักของท่าน ข้าวของท่านก็มากมายนัก กว่าจะเก็บออกมาถ่ายได้ก็ต้องใช้เวลา ดูรบกวนพระเจ้าเหมือนกันครับ



บันทึกการเข้า
Kurukula
สุครีพ
******
ตอบ: 1303



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 ก.พ. 10, 17:39

ตำหนักทองหลังนี้ ปัจจุบันถูกรื้อประกอบใหม่เป็นกุฏิพระสงฆ์ในคณะเหนือ จากประวัติของวัดกล่าวว่าเดิมตั้งอยู่หลังแขตพุทธาวาส แต่ได้ย้ายไปปลูกเป็นหอไตรกลางน้ำของคณะสระ ต่อมา คณะสระหมดความสำคัญ จึงได้รื้อออกมาประกอบใหม่เป็นกุฏิสงฆ์ ณ คณะเหนือ


อ่านแล้วงงๆว่า สรุปตอนแรกมันเป็นอะไร ท่านก็ไม่ได้บอกให้ละเอียด

แต่จากประตูที่เหลืออยู่ตอนนี้ มีกรอบเป็นลายรดน้ำด้วย และมีถึง 4 บานขนาดใหญ่โต จึงเชื่อว่า เดิมอาจเป็นตำหนักของสมเด็จพระศรีสุราลัย พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ อาจจะมาประทับควบคุมการซ่อมแซม หรือถวายเป็นพระราชกุศลก็เป็นได้ เนื่องจากลวดลายงามและฝีมือช่างสูงมาก จนเชื่อว่าเป็นงานหลวง ลายบนฝานั้น เป็นสิงห์หน้าอัดในกรอบลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ซึ่งถือเป็นลายสูงทีเดียว ทำนองเดียวกับฝาผนังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท หาใช่ลายขอนาค ดอกพิกุลเล็ก ใหญ่ ไม่


ฝีมือช่างหลวงทีเดียวครับ ท่วงท่าเองก็คล้ายคลึงกับวัดไทร แต่เส้นลื่นไหลกว่ากันมากนัก


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง